ขุนยวมเมืองเล็กๆแต่เต็มไปด้วยความหลากหลายของชนเผ่าและวัฒนธรรม เมืองแห่งความพอเพียงคือแม่ฮ่องสอน
Group Blog
 
All Blogs
 

เดินชมธรรมชาติและบ้านเมืองขุนยวม

เดินกินลมชมวิวยามเย็น

สำหรับคนที่มาถึงขุนยวมบ่ายๆเย็นๆ ขอแนะนำให้เดินเล่นชมวิวธรรมชาติและบ้านเมืองเล็กๆนี้ ตามแผนที่นี้เลยนะครับ



รอชมรูปภาพตามเส้นทางเดินเล่นนี้ เร็วๆนี้ครับ


- ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982-3
- อบจ.แม่ฮ่องสอน โทร. 053-611385
- อำเภอขุนยวม โทร. 053-691108
- อบต.ขุนยวม โทร. 053-691248




 

Create Date : 06 กันยายน 2553    
Last Update : 9 กันยายน 2553 18:52:26 น.
Counter : 1466 Pageviews.  

พิพิธภัณฑ์์แห่งสงครามที่ขุนยวม หรือ อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น

ขุนยวม เมืองามแห่งทุ่งบัวตอง หากมาเยือนในฤดูหนาวรับรองไม่ผิดหวัง แต่ถ้าเป็นฤดูนี้แนะให้แวะที่ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นอำเภอขุนยวม หรืออีกชื่อว่า พิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2

ศูนย์วัฒนธรรมฯ แห่งนี้อยู่ตรงข้ามวัดม่วยต่อ ใกล้ตัวอำเภอมาก สามารถเดินจากที่พักในตัวอำเภอไปชมได้

เปิดให้ชมทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. เก็บค่าเข้าชมคนละ 10 บาทเท่านั้น แต่มีข้อแม้ห้ามถ่ายภาพ เนื่องจากในศูนย์วัฒนธรรมฯ มีสิ่งของโบราณของกองทัพทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จำนวนมาก

หากจะถามทางไปศูนย์วัฒนธรรมฯ กับพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยในอำเภอขุนยวมแล้วล่ะก็ ต้องเรียกว่า "พิพิธภัณฑ์แห่งสงคราม" ถึงจะเข้าใจ เพราะในอดีตอำเภอขุนยวมเป็นพื้นที่ฝังศพทหารญี่ปุ่นหลายพันนายหลังพ่ายแพ้สงครามในอินเดียและพม่าเมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพา ทหารญี่ปุ่นใช้วิธีถอยทัพเข้าประเทศไทยทางอำเภอขุนยวม

ปัจจุบันยังหลงเหลืออดีตทหารญี่ปุ่นที่ตกลงปลงใจใช้ชีวิตกับสาวกะเหรี่ยงสัญชาติไทย ตั้งหลักปักฐานเป็นครอบครัว หลายคนเลือกฝังร่างปิดตำนานโกโบริกลางขุนเขาแห่งขุนยวม

ศูนย์วัฒนธรรมฯ มีพื้นที่ไม่มากนัก แต่บอกเล่าเรื่องราวในอดีตเมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพาได้เป็นอย่างดี ตั้งแต่ซากพาหนะหลากหลายชนิด เกวียน และอุปกรณ์การดำรงชีพ ด้านหน้าอาคารเป็นอนุสรณ์ขนาดเล็ก สลักคำไว้อาลัยให้กับทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตในสงคราม ประดับด้วยดอกไม้อย่างสวยงาม ส่วนตัวอาคารศูนย์วัฒนธรรมฯ แบ่งออกเป็น 2 ห้องซ้าย-ขวา เชื่อมทะลุถึงกัน

พื้นที่รูปตัวยูในอาคารไม่กว้างมากนัก ประกอบกับข้าวของเครื่องใช้โบราณของทหารญี่ปุ่นมีมากกว่าพันชิ้น ทำให้ดูแคบไปถนัดตา หากเดินชมวนจากทางซ้ายมือจะเริ่มที่สิ่งของเครื่องใช้พื้นบ้านของชาวขุนยวม ถัดไปเป็นชั้นเหล็กสูง 3-4 ชั้น ตั้งวางกล่องกระสุนปืน ถังน้ำมัน หีบบรรจุของ กล่องบรรจุไปรษณีย์ภัณฑ์ อะไหล่รถ กล่องเครื่องเอกซเรย์ หีบยา ชุดทหารญี่ปุ่น กระติกน้ำ หม้อข้าวสนาม กาต้มน้ำ ถังน้ำมันรถ อิฐทนไฟ แกลลอนน้ำมัน เครื่องกระสุนปืน ระเบิด ปืนและอาวุธสงครามนานาชนิด ทุกชิ้นอยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางชิ้นยังใช้การได้จริงตลอดแนวผนังอาคารเล่าเรื่องราวยุคสมัยแห่งสงครามด้วยภาพถ่ายในอดีต ทั้งสถานที่ และตัวบุคคล

ระหว่างทางเดินหากไม่สังเกตอาจไม่ทราบว่าเป็นทางแยกไปห้องที่สำคัญที่สุดของการชมพิพิธภัณฑ์ครั้งนี้ เพราะมีเพียงผ้าม่านผืนบางกั้นไว้ ตัวอักษรด้านบนขวาระบุว่า "ห้องจักรพรรดิ" ห้องจักรพรรดิ เป็นห้องขนาดคนยืนได้ไม่เกิน 10 คน ประดับด้วยภาพขาวดำหลายขนาด เบื้องหน้าเป็นป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น กว้าง 50 เซนติเมตร ยาว 2 เมตร มีตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นซึ่งเป็นลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโต้ที่พระราชทานให้แก่กองทัพญี่ปุ่น เนื้อความกล่าวถึงเหตุผลที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องเข้าร่วมสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยส่งมาจากประเทศญี่ปุ่นซึ่งชมรมทหารผ่านศึกแห่งประเทศญี่ปุ่นเก็บไว้และส่งมาให้ประเทศไทยในภายหลัง

กล่าวกันว่า ป้ายผ้าไหมญี่ปุ่น ลายพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิฮิโรฮิโต มีทั้งสิ้น 5 ผืน และเป็น 1 ใน 5 ผืน ณ ที่นี่ที่สามารถเรียกน้ำตาชาวซามูไรที่มาเยือนได้ทุกคน







แถมรายงานพิเศษจาก นสพ.มติชน

หลังจากกองทัพญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกที่ จ.สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และที่ ต.บางปู จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 แล้ว กองทัพญี่ปุ่นได้เข้าควบคุมตามจุดที่สำคัญ

ในต้นปี 2485 กองทัพที่ 15 ส่วนหนึ่งได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่สำรวจเส้นทางของทุกจังหวัดที่เชื่อมต่อกับพม่า และได้วางแผนที่จะสร้างทางรถไฟไปยังพม่าซึ่งได้สำรวจไว้แล้ว 8 เส้นทาง นอกจากนั้นยังได้ตัดเส้นทางรถยนต์ขนาดกว้าง 4 เมตร อีกหลายจุดในหลายจังหวัด จุดที่สำคัญในส่วนนี้เส้นหนึ่ง คือ เส้นทางจาก จ.เชียงใหม่ เข้าไป จ.แม่ฮ่องสอน ที่ปากทางแม่มาลัย เขต อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เข้า จ.แม่ฮ่องสอน อ.ปาย อ.ปางมะผ้า อ.ขุนยวม แล้วต่อไปทางบ้านห้วยต้นนุ่น และออกชายแดนพม่าไปต่อกับเมืองตองอูของพม่า ซึ่งเส้นทางนี้เป็นหนึ่งในแปดเส้นทางที่กองทัพญี่ปุ่นเคยคิดจะสร้างทางรถไฟตามที่กล่าวมาแล้ว และในญี่ปุ่นก็ได้ตัดสินใจไปสร้างที่หนองปลาดุก จ.กาญจนบุรี เป็นระยะทาง 415 กิโลเมตร

การก่อสร้างที่บ้านแม่มาลัยได้เดินตามเส้นทางชาวบ้านเป็นหลัก แต่มีการส่องกล้องเส้นทางให้ตรง และลดความลาดชันของภูเขาบางส่วน จากนั้นได้เกณฑ์ชาวบ้านจาก จ.แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และ จ.แพร่ มาทำทางด้วย ทหารญี่ปุ่นได้กระจายกำลังออกเป็นช่วง ช่วงละ 2-3 กิโลเมตร ทุกช่วงจะมีนายทหารญี่ปุ่นเป็นหัวหน้า 1 นาย กับผู้ช่วยอีก 2-3 นาย คอยควบคุมคนงานขุดถนนให้เชื่อมต่อกันตามจุดที่วางไว้เป็นช่วงๆ ตั้งแต่ปากทางแม่มาลัยจนถึงเขตชายแดนพม่าที่ บ้านห้วยตุ้นนุ่น อ.ขุนยวม

เส้นทางที่กองทัพญี่ปุ่นได้สร้างนี้เป็นทางที่ยาวที่สุดและใช้เวลานานที่สุด คือ 4 ปี เพื่อให้เป็นเส้นทางส่งกำลังไปสู้แนวหน้าซึ่งอยู่ในพม่า อินเดีย และจีน ขณะเดียวกันกองทัพญี่ปุ่นก็ได้เคลื่อนทัพเข้าพม่าโดยยกพลขึ้นบกที่วิกตอเรียพอยท์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2484 และที่ปากน้ำอิระวดี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2485 รวมทั้งเคลื่อนทัพเข้าพม่าตามเขตชายแดนไทยอีกหลายจุด จนกระทั่งกองทัพญี่ปุ่นได้เคลื่อนทัพเข้าไปในอินเดียและทางใต้ของจีน เพื่อหวังครอบครองภาคพื้นเอเชียไว้ทั้งหมด

ที่เมืองอิมพาลและโคฮิมาในอินเดีย ซึ่งอยู่ห่างจากพม่าทางตอนเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร ได้มีการสู้รบอย่างหนักระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับกองทัพฝ่ายพันธมิตร มีอังกฤษ อเมริกา อินเดีย จีน และพม่า

ทหารญี่ปุ่นถูกโอบล้อมและถูกตีแตกไม่เป็นขบวนเป็นระยะๆ ทหารที่เจ็บป่วยถูกลำเลียงเข้ามารักษาที่ อ.ขุนยวม ตั้งแต่กลางปี 2487 เป็นจำนวนมาก และญี่ปุ่นใกล้ยอมแพ้ในวันที่ 14 สิงหาคม 2488 ทหารญี่ปุ่นจำนวนแสนได้ทะลักเข้ามาในเขต อ.ขุนยวม ตอนนั้นมีทหารที่บาดเจ็บและล้มตายจำนวนมาก ขาดทั้งอาหารและยารักษาโรค เกิดโรคระบาดเต็มไปหมด ทหารญี่ปุ่นได้เข้ามาอาศัยตามบ้านทุกหลังคาเรือน เหตุผลหนึ่งที่ทหารญี่ปุ่นเข้ามาในเขต อ.ขุนยวม จำนวนมาก ก็เพราะกองทัพญี่ปุ่นถูกปิดล้อมทุกด้าน ทั้งทางบกทางทะเลในพม่า ทั้งทางอินเดียและจีน รวมทั้งที่ จ.กาญจนบุรี สะพานข้ามแม่น้ำแควก็ถูกระเบิด

ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มต้นขึ้น สัมพันธภาพและมิตรภาพระหว่างทหารญี่ปุ่นและชาว อ.ขุนยวมได้เริ่มขึ้น เมื่อมีการเตรียมการก่อสร้างถนนและที่พัก เพื่อใช้เป็นที่พำนักช่วงสงคราม ชาว อ.ขุนยวมเป็นผู้ขายเครื่องอุปโภค บริโภค และข้าวสารให้ชาวญี่ปุ่น ในขณะนั้นทหารญี่ปุ่นบางคนได้พำนักอยู่ในหมู่บ้านใน อ.ขุนยวมและในวัด เมื่อชาวบ้านเจ็บป่วยก็ได้อาศัยทหารญี่ปุ่นที่เป็นหมอช่วยดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นช่วงระยะเวลาที่ตกทุกข์ได้ยากร่วมกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทหารญี่ปุ่นและชาว อ.ขุนยวม เป็นดั่งพี่น้องและญาติมิตรสนิทกัน

ในปี พ.ศ.2587 กองทหารญี่ปุ่นเริ่มโจมตีเมืองอิมพาและโคฮิมาในประเทศพม่าที่อยู่ติดกับทางตอนใต้ของประเทศอินเดีย และสู้รบอย่างรุนแรงในหมู่ทหารพันธมิตร อังกฤษ อเมริกา และอินเดีย มีการประมาณการกันว่า ทหารญี่ปุ่นประมาณ 30,000 นาย เสียชีวิตในพม่า และบริเวณอื่นๆ ที่เกิดสงครามอีก 10,000 นาย และทหารญี่ปุ่นที่บาดเจ็บก็ถูกลำเลียงมารักษาที่ อ.ขุนยวม โดยอาศัยวัดม่วยต่อดัดแปลงเป็นโรงพยาบาล ถึงแม้ขณะนั้น ถนนที่เข้าสู่ประเทศพม่ายังก่อสร้างไม่สำเร็จ

ถนนที่จะเข้าสู่พม่าเริ่มก่อสร้างจากปากทางบ้านแม่มาลัย อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ อ.ปางมะผ้า อ.เมือง ถึงเมืองตองอู ประเทศพม่า ภายใต้เส้นทางที่ชื่อ เมืองเชียงใหม่-ตองอู และภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ฮักโกสุ ไกโด

มีการกล่าวกันว่า มีทหารญี่ปุ่นมากกว่า 5,000 นาย ตายและถูกฝังตามเส้นทางแม่มาลัย จ.เชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน

เมื่อสิ้นสุดสงคราม มีทหารญี่ปุ่นบาดเจ็บล้มป่วยตายจำนวนมาก และได้ฝังศพทหารญี่ปุ่นตามถนนเส้นทางที่เดินกลับ วัดม่วยต่อ อ.ขุนยวม ได้ถูกดัดแปลงเป็นโรงพยาบาล และมีทหารญี่ปุ่นจำนวนมากที่เสียชีวิตที่วัดนี้ ถึงแม้ว่าในขณะนั้นผู้คนใน อ.ขุนยวมจะยากจน แต่ก็จะได้ช่วยกันบริจาคสิ่งของช่วยชาวญี่ปุ่น และทหารญี่ปุ่นก็ได้มอบสิ่งของตนเองแลกเปลี่ยนให้แก่ชาวขุนยวมที่ได้ช่วยเหลือพวกเขาด้วยเช่นกัน และที่นี่ยังมีสิ่งของ เครื่องใช้ของทหารญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากที่ถูกละทิ้งไว้ตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ในปี พ.ศ.2537 พ.ต.ท.เชิดชาย ชมธวัช ได้มาปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้กำกับ สภ.ขุนยวม ได้เล็งเห็นความสำคัญของสิ่งของของทหารญี่ปุ่นที่ถูกทิ้งเอาไว้ จึงเก็บรวบรวมไว้เป็นจำนวนมากกว่า 1,000 รายการ นอกจากนั้น พ.ต.ท.เชิดชาย ยังได้เก็บสะสมรูปภาพ และสอบสวนเรื่องราวที่เกี่ยวกับศพของทหารญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้อีกด้วย

จากนั้น จึงได้ก่อสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ขึ้นเพื่อเก็บสะสมสิ่งของ บริเวณตรงข้ามกับวัดม่วยต่อบนเส้นทางถนนหมายเลข 108 และได้ก่อสร้างอนุสรณ์สถานเป็นที่ระลึกเพื่อรวบรวมกระดูกของทหารญี่ปุ่นที่เสียชีวิตระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ไว้ที่วัดม่วยต่อและที่บ้านห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

ปัจจุบันยังมีอดีตทหารญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ และขอบคุณชาว อ.ขุนยวม ที่เคยช่วยพวกเขาช่วงสงครามโลกและได้บริจาคเงินจำนวนหนึ่งเพื่อช่วยเหลือการศึกษาของเด็กๆ เป็นประจำทุกปี

ในปี พ.ศ.2550 เทศบาลตำบลขุนยวม ได้จัดงบประมาณปรับปรุงซ่อมแซมอาคาร ตกแต่งภายใน และปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบใหม่ ดังที่เห็นเช่นในภาพปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ.2551 นายธงชัย วงศ์เหรียญทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำคณะชาวญี่ปุ่นมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ฯ และเห็นว่าสภาพอาคาร ภูมิทัศน์ โดยรอบมีสภาพคับแคบ ไม่เหมาะสมกับที่เป็นสถานที่ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นอนุสรณ์ระลึกถึงความผูกพันระหว่างคนไทยในพื้นที่กับทหารญี่ปุ่น อันจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในระดับประเทศ จึงมีแนวคิดจะปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ฯขึ้นใหม่ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงอนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ขึ้นเพื่อร่วมกันพิจารณาจัดทำ Master Plan วางผังแบบรูปอาคาร ภูมิทัศน์ วางระบบการประชาสัมพันธ์ ระบบการบริหารจัดการ โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพ มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่ม/คณะองค์กรของชาวญี่ปุ่นทั้งในประเทศไทยและในญี่ปุ่น นายอำเภอขุนยวม บุคลากรจากเทศบาลตำบลขุนยวม และราษฎรตำบลขุนยวม ร่วมเป็นกรรมการ ปัจจุบันมีการประชุมคณะกรรมการปรับปรุงอนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น ไปแล้ว 4 ครั้ง ผลการประชุมที่สำคัญ คือ มีมติให้เปลี่ยนชื่อจากพิพิธภัณฑ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็น อนุสรณ์สถานมิตรภาพไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Japan Friendship Memmorail Hall) เป็นการเน้นภาพความผูกพันของสองประเทศมากกว่าภาพสงคราม การจัดทำโครงการผลิตเพลงประจำจังหวัดและอนุสรณ์ เพื่อจัดจำหน่ายหาทุน การจัดทำ Master Plan ฯลฯ เพื่อจัดหางบประมาณดำเนินการก่อสร้างต่อไป

จึงหวังว่า อนุสรณ์สถานแห่งนี้จะดำเนินการไปอย่างลุล่วงตามวัตถุประสงค์ และเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเป็นอนุสรณ์ที่ระลึกถึงความสัมพันธ์ ความผูกพันที่มีต่อกันระหว่างคนไทยและคนญี่ปุ่นตลอดไป อีกทั้งจะเป็นการเพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงให้กับจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกทางหนึ่ง

จาก นสพ.มติชนรายวัน วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2552



สอบถามข้อมูลการเดินทางและท่องเที่ยวขุนยวมได้ที่ คุณตุ๋ย 086-313-1616

- ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982-3
- อบจ.แม่ฮ่องสอน โทร. 053-611385
- อำเภอขุนยวม โทร. 053-691108
- อบต.ขุนยวม โทร. 053-691248




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2553    
Last Update : 19 ตุลาคม 2553 16:40:50 น.
Counter : 7920 Pageviews.  

มาแหล่ขุนโยมอิ้นค่า , เที่ยวขุนยวม , Visit Khun Yuam.


ขุนยวม อำเภอขนาดเล็กอำเภอหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน อดีตเคยรุ่งเรืองถึงขั้นเรียกว่าเมืองขุนยวมและยังเป็นเมืองการปกครองของย่านนี้ ก่อนที่จะย้ายไปที่เมืองยวมหรืออำเภอแม่สะเรียงในปัจจุบัน และตอนนี้ก็ย้ายศูนย์ราชการทั้งหมดไปที่อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอน
การท่องเที่ยวของอำเภอขุนยวมก็มีหลายสถานที่ที่น่าสนใจถึงจะเทียบไม่ได้เลยกับอำเภอปาย ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางหลักของการท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน




** โปรดติดตามรอรายละเอียดเพิ่มเติม เร็วๆนี้**

สอบถามข้อมูลการเดินทางและท่องเที่ยวขุนยวมได้ที่ คุณตุ๋ย 086-313-1616

- ศูนย์ประสานงานการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982-3
- อบจ.แม่ฮ่องสอน โทร. 053-611385
- อำเภอขุนยวม โทร. 053-691108
- อบต.ขุนยวม โทร. 053-691248




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2553    
Last Update : 19 ตุลาคม 2553 16:41:08 น.
Counter : 1514 Pageviews.  


ขุนยวม
Location :
แม่ฮ่องสอน Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เว็บนี้เป็นแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมให้สำหรับคนที่ต้องการมาท่องเที่ยว อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติม เชิญหลังไมค์เลยนะครับ
Friends' blogs
[Add ขุนยวม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.