If you want to make peace,You don't talk to your friends.You talk to you enemies. ไอ้กลินท์ ไม่ใช่ผู้ดีตีนแดง ตะแคงตีนเดิน !
Group Blog
 
All blogs
 

อำนาจภาษา: ว่าด้วยการจัดระเบียบมนุษย์และสรรพสิ่งในสังคม Langue Power: The Order of Human and Things

“อำนาจภาษา: ว่าด้วยการจัดระเบียบมนุษย์และสรรพสิ่งในสังคม” รูปประโยคที่ประกอบและสร้างความหมายขึ้นใน “ ” เป็นชื่อบทความของผู้เขียนนี้แสดงให้เห็นถึง ความสัมพันธ์ (relation) ของความแตกต่าง (distinction) ของรูปสัญญะภาษา(linguistic signs) ตามกฎเกณฑ์ทางภาษาไทยซึ่งเกิดจากการวางเรียงกันเป็นเส้นตรงที่อยู่ในแต่ละตำแหน่งแห่งที่ของแต่ละรูปสัญญะ(หน้า/กลาง/หลัง/บน/ล่าง…) ในระนาบเดียวกัน (syntagmatic relation) ไปพร้อมๆกับการนำรูปสัญญะที่มีลักษณะคล้ายกันมาจัดไว้เป็นกลุ่มคำชนิดเดียวกันรวมทั้งการเลือกคำเหล่านี้ใช้แทนคำอื่นๆเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นถึงคำอื่นๆที่เกี่ยวข้องกันแม้ไม่ปรากฎให้เห็นแต่ก็ถูกจัดไว้ในระบบการคิดของผู้เขียนและผู้อ่าน(paradigmatic relation)เรียบร้อยแล้วชั่วขณะที่ผู้เขียนและผู้อ่านได้เห็น/ได้อ่าน/ได้ยิน….(ในระบบคิด)ก็สามารถที่จะเชื่อมโยงกับกลุ่มคำเหล่านี้ได้และเมื่อเปรียบเทียบรูปสัญญะภาษาเป็นหน่วยสื่อความหมายที่เรียกว่าสัญญะแบบอื่นๆที่มิใช่ภาษา(the non linguistic signs)อย่างที่ Roland Barthes ใช้เป็นหน่วยพื้นฐานการศึกษาสัญศาสตร์(semiology)เช่น อาหาร/เสื้อผ้า/ภาพวาด/เสื้อผ้า/ภาพยนตร์/การเดินของคนในเมือง…. เป็นต้น ดังนั้นรูปสัญญะภาษา 1 สัญญะ เท่ากับหน่วยสื่อความหมายชนิดหนึ่ง การประกอบและสร้างความหมายเป็นบทความของผู้เขียนนี้จึงเกิดจากการปะทะประสาน (articulation) ระหว่างสัญญะ โดยภาษามีบทบาท/หน้าที่ในการตัด/แบ่ง/ผ่าหน่วยสื่อความหมายเหล่านี้ออกเป็นส่วนๆ ให้เกิดเป็นรูปร่างต่างๆสร้างความไม่ต่อเนื่องให้เกิดขึ้นและแยกออกจากกันเพื่อให้เกิดความหมายใหม่ขึ้นมา( the meaning is above all cutting) ผ่านชุดระเบียบภาษาอย่างหนึ่งในฐานะเป็นวัตถุสิ่งของที่ต้องการสื่อความหมายหรือสร้างความหมายใหม่ที่ไม่รู้จบของสังคม
อะไรคือสิ่งที่เรียกว่า ภาษา (linguistic)? การตั้งคำถามระดับพื้นฐานของผู้เขียนนี้มิได้ต้องการค้นหาคำนิยามความหมายของภาษา เช่นเดียวกับการตั้งคำถามว่า อะไรคือ น้ำ ? การตั้งประเด็นคำถามในลักษณะนี้เพื่อให้เกิดการตระหนักและให้ความสำคัญต่อสรรพสิ่งต่างๆในสังคมที่ถูกกระทำให้เป็นธรรมชาติ/เป็นความปกติ/เป็นความธรรมดา/เป็นความรู้/เป็นความจริง/เป็นความคุ้นเคย/เป็นความเคยชิน… ยอมรับจนอยู่ในฐานะที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามหรือให้ความสำคัญจนมองข้ามหลงลืมไม่ให้ความสนใจอย่างที่ Floyd เรียกว่าจิตไร้สำนึก(the unconscious) /Barthes เรียกว่า มายาคติในสังคม(mythology)/Foucault เรียกว่า สิ่งที่เราคิดไม่ได้(the unthought) ซึ่งตกผลึกตายซากอยู่ในจิตไร้สำนึกของเราอย่างไม่รู้ตัวจนเราเองก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นมาอย่างไร ? เช่นเดียวกับ “ภาษา” ที่ผู้เขียนต้องการชี้ชวนให้เห็นถึงอำนาจ ในการผลิต/สร้าง/จัดระเบียบ/จัดระดับ…อื่นๆต่อมนุษย์และสรรพสิ่งที่ปรากฏและไม่ปรากฏ/รูปธรรมและนามธรรมให้เห็นในสังคมผ่านพลวัตที่ไม่ต่อเนื่องของภาษา (synchronic linguistic) ไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า ภาษาและระบบภาษาด้วย

เมื่อภาษา คือ อำนาจ ดังนั้นภาษาจึงมิใช่เพียงภาพแสดงตัวแทน(representation)ของระบบความคิด หรือกำหนด ระบุชื่อคน สัตว์ สิ่งของและความความคิดของมนุษย์เท่านั้น แต่ภาษาคืออำนาจในการจัดระบบ ระเบียบ ระดับ แยกแยะ แบ่งแยก ลดทอน ขยาย ยุติ…มนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆในสังคม ดังนั้นอำนาจของภาษาจึงอยู่ที่การผลิต/สร้างสรรพสิ่งต่างๆให้กับการรับรู้ของมนุษย์ ขณะเดียวกันภาษาเป็นกฎเกณฑ์ โครงสร้าง จารีตที่มีอำนาจและเป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบของสังคมมนุษย์ซึ่งมิใช่เพียงการจัดระเบียบร่างกาย ชีวิตประจำวัน สรรพสิ่งต่างๆแต่เข้ามาถึงการจัดวาง ควบคุมระบบ ระเบียบความคิดของมนุษย์โดยไม่รู้ตัว ภาษาจึงเป็นอำนาจอีกแบบหนึ่งเป็นการเมืองอีกชนิดหนึ่งที่ควรให้ความสนใจและให้ความสำคัญ
สำหรับในบทความเรื่อง“อำนาจภาษา: ว่าด้วยการจัดระเบียบมนุษย์และสรรพสิ่งในสังคม”นี้ผู้เขียนต้องการ
อธิบายและตอบคำถามสำคัญ คือ ภาษา มีอำนาจในการจัดระบบ ระเบียบ ระดับ ควบคุมต่อมนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆในสังคมได้อย่างไร? ซึ่งในสังคมทั่วไปเราไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งที่เรียกว่า “ภาษา” คืออะไร? ภาษาถูกทำให้กลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา เป็นเรื่องของความรู้จนเรามองไม่เห็นมิติเชิงอำนาจของภาษา โดยทั้งนี้บทความของผู้เขียนตั้งอยู่บนกรอบแนวคิดทฤษฎีการศึกษาและวิธีการหาความรู้ด้านภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้าง(structural linguistics)และสัญวิทยา(semiology)ของ Ferdinand de Saussure (1875-1913)นักภาษาศาสตร์ชาวสวิสซึ่งผู้เขียนเห็นว่าวิธีการศึกษาดังกล่าวนี้ทำให้สามารถการเข้าใจ มองเห็น รับรู้ถึงความปกติ ธรรมดา ธรรมชาติ ความรู้ของอำนาจที่มีความสลับซับซ้อนทางอำนาจในสังคมที่มีต่อการจัดระบบระเบียบควบคุมมนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆผ่านกระบวนการทำงานของภาษา
หาก สังคม คือพื้นที่(space)อย่างหนึ่งที่เป็นไปตามแนวคิดของ Michel Foucault ในเรื่องวิธีคิดเกี่ยวกับพื้นที่/สถานที่ เป็นหน่วยพื้นที่/สถานที่พิเศษ(other space/heterotopia) ซึ่งมีหน้าที่เชื่อมโยง/ตรึงสิ่งที่ขัดแย้งอยู่ด้วยกันในพื้นที่/สถานที่พิเศษเฉพาะชนิดหนึ่งนั้นดังนั้นพื้นที่/สถานที่หนึ่งจะมีลักษณะของพื้นที่จริง(Real Space)และพื้นที่/สถานที่ที่สังคมกำหนดขึ้นเพื่อกิจกรรมเฉพาะชนิด(Utopia) อยู่ด้วยกัน ดังนั้นสังคม จึงเป็นพื้นที่รวมสรรพสิ่งต่างๆที่มีความแตกต่าง ตรงกันข้ามให้เชื่อมโยงอยู่ด้วยกันภายใต้ระเบียบ กฎเกณฑ์ของแต่ละสังคมบางอย่างที่มีความแตกต่างกันอย่างมีความหมาย ภาษาก็เฉกเช่นเดียวกับสังคม
ใน Course in General Linguistics ผลงานชิ้นสำคัญของ Saussure ซึ่งศึกษาความหมายของการกระทำมนุษย์โดยดูที่บทบาทและหน้าที่ของการกระทำต่างๆนั้นในบริบทของสังคมมากกว่าการศึกษาเพียงเฉพาะตัวการกระทำอย่างที่สำนักประจักษนิยมศึกษา โดย Saussure ชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ความหมายของสรรพสิ่งต่างๆมิได้ดำรงอยู่ด้วยตัวเองของสรรพสิ่งนั้น แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งนั้นกับสิ่งอื่นๆภายใต้ระบบเดียวกันในแง่นี้ภาษาจึงเป็นโครงสร้าง/กฎเกณฑ์/ระบบ ชนิดหนึ่ง โดยโครงสร้าง/กฎเกณฑ์/ระบบ ในสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลายนี้ผู้เขียนเห็นว่าต่างดำรงอยู่ในลักษณะของการเชื่อมโยงเครือข่ายโครงสร้าง กฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ(networks of conventions)ที่มีการจัดระดับ(hierarchy)อยู่ภายในแต่ละโครงสร้าง กฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆเข้าด้วยกันด้วยอะไรบางอย่างที่เกี่ยวเนื่องกันให้อยู่ในสภาวะที่ทำให้สังคมสามารถดำรงอยู่ได้
ลักษณะของสังคมที่ประกอบไปด้วยโครงสร้าง กรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ที่มีอยู่อย่างมากมาย โดยแต่ละโครงสร้าง กรอบระเบียบ กฎเกณฑ์เหล่านั้นมีระดับ ลำดับชั้นในการจัดวางมนุษย์ สรรพสิ่งต่างๆตามแต่ละตำแหน่งแห่งที่ที่แตกต่างตรงกันข้ามกัน และความสัมพันธ์ภายในของแต่ละโครงสร้าง กรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ ในขณะเดียวกันแต่ละโครงสร้าง กรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆเหล่านั้นต่างเชื่อมโยงกับโครงสร้าง กรอบระเบียบ กฎเกณฑ์ อื่นๆเข้าด้วยกันด้วยอะไรบ้างอย่างชุดหนึ่ง
เมื่อเราพิจารณาสังคมในเชิงความสัมพันธ์ของการความแตกต่าง ตรงกันข้ามที่ดำรงอยู่ร่วมกันด้วยการศึกษาพฤติกรรม การกระทำของคนภายใต้โครงสร้าง ระบบ ระเบียบกฎเกณฑ์ในสังคมในฐานะเป็นสัญญะและระบบของสัญญะซึ่งไม่แตกต่างไปจากระบบของภาษาที่เป็นระบบของ สัญญะ/ตัวพฤติกรรมการกระทำ/ปรากฏการณ์/เหตุการณ์จะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีกฎเกณฑ์(rule/conventional/code )ชุดหนึ่งกำกับ/กำหนดให้มีความหมายขึ้นมาเสมอ ดังนั้นความสำคัญของการศึกษาจึงมิได้อยู่ที่ตัวกระทำแต่อยู่ที่บรรดากฎเกณฑ์ต่างๆในสังคมที่เป็นตัวกำหนด สร้างความหมายให้กับการกระทำนั้นๆอีกต่อมากกว่า
โดยเครือข่ายโครงสร้าง กฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนด จัดระเบียบ จัดวางมนุษย์ สรรพสิ่งต่างๆตามแต่ละตำแหน่งแห่งที่ที่แตกต่างตรงกันข้ามกันด้วยสิ่งที่ Pierre Bourdieu เรียกว่า Habitus (นิจภาพ) ซึ่งเป็นระบบของความโน้มเอียงที่ยั่งยืนและปรับเปลี่ยนได้เป็นโครงสร้างที่ถูกกำหนดขึ้นแต่ก็พร้อมที่จะเป็นโครงสร้างที่ไปกำกับสิ่งอื่นนิจภาพนั้นเป็นทั้งหลักแห่งการกำเนิด และยังเป็นหลักของการจัดแบบแผนแก่ปฏิบัติการและภาพเสนอต่างๆซึ่งสามารถถูกปรับแปรไปตามวัตถุประสงค์อย่างเป็นภาวะวิสัยโดยไม่มีการตั้งเป้าหมายอย่างมีสำนึกและไม่ต้องมีความช่ำชองอย่างชัดแจ้งในปฏิบัติการทั้งหลายที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายเหล่านั้น การปฏิบัตินี้ถูกกำกับจนกลายเป็นวัตรปฏิบัติโดยมิได้เป็นผลจากการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ระเบียบใดๆ จึงมีความสอดประสานกันโดยไม่ต้องมีคนใดคนหนึ่งมาคอยจัดแบบให้

ดังนั้นการที่มนุษย์ และสรรพสิ่งต่างๆ อยู่ภายใต้การจัดระเบียบ โครงสร้าง กฎเกณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้มนุษย์ และสรรพสิ่งต่างๆ ถูกกระทำให้เป็นธรรมชาติ/เป็นความปกติ/เป็นความธรรมดา/เป็นความรู้/เป็นความจริง/เป็นความคุ้นเคย/เป็นความเคยชิน…และยอมรับจนอยู่ในฐานะที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามหรือให้ความสำคัญจนมองข้ามหลงลืมไปจนกลายเป็นวัตรปฏิบัติ
การให้ความสำคัญกับกฎเกณฑ์มากกว่าตัวเหตุการณ์หรือตัวการกระทำของ Saussure นำไปสู่วิธีคิดที่สลาย/สั่นคลอนฐานะความเป็นองค์ประธานของมนุษย์ ด้วยการชี้ชวนให้เห็นว่า การกระทำชนิดหนึ่งจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีกฎเกณฑ์ชุดหนึ่งกำกับกำหนดให้มีความหมายขึ้นมา ความหมายมิใช่เรื่องของสาเหตุ ผลลัพธ์ แต่ความหมายเป็นเรื่องของความสัมพันธ์เชื่อมโยงของสิ่งนั้นๆในระบบหนึ่งๆมากกว่า
ดังนั้นระเบียบ โครงสร้าง กฎเกณฑ์ต่างๆ แปรเปลี่ยนสภาพฐานะของมนุษย์ในฐานะเป็น Subjective ให้กลายเป็น Objective ที่เรียกว่า “ The Objectivity of Subject” ดังปรากฎให้เห็นในข้อถกเถียงสำคัญระหว่างสัจพจน์ของปรัชญาตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ของ Rene Descartes นักปรัชญาและคณิตศาสตร์ที่ว่า “ฉันคิด เพราะฉะนั้นฉันเป็นฉัน” (I think, therefore, I am) ซึ่งมีอิทธิพลต่อปรัชญาการศึกษาในหลายๆด้านเช่นปรัชญาสายประจักษ์นิยม/ปฏิฐานนิยม(empiricism/positivism),ปรากฎการณ์วิทยา(phenomenology),อัตภาวะนิยม(existentialism), ศาสตร์แห่งการตีความ(hermeneutics) จนถึงวิธีคิดแบบเสรีนิยม(liberalism) ในปัจจุบัน กับแนวคิดจากคำบรรยายที่พิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง Myth and Meaning ในปี ค.ศ. 1978 ของนักคิดโครงสร้างนิยม(structuralism)อย่าง Claude Levi-Strauss ที่ว่า

“ถึงแม้ข้าพเจ้ากำลังจะพูดถึงสิ่งที่ข้าพเจ้าได้เขียน พูดถึงหนังสือเล่มต่างๆและ บทความต่างๆ ของข้าพเจ้า แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าข้าพเจ้าลืมสิ่งที่เขียนไปแล้วอย่างหมดสิ้น ทันทีที่ข้าพเจ้าเขียนเสร็จ สิ่งที่น่าจะเป็นปัญหาอยู่บ้างสำหรับการบรรยายครั้งนี้ อย่างไรก็ตามที่ข้าพเจ้าคิดว่ายังมีบางอย่างที่สำคัญเกี่ยวกับการหลงลืมนี้ด้วยคือข้าพเจ้าไม่มีความรู้สึกอะไรเลยว่าข้าพเจ้าได้เขียนหนังสือ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหนังสือเล่มต่างๆต่างหากที่เขียน ผ่านตัวข้าพเจ้า และทันทีที่หนังสือเหล่านี้ผ่านตัวข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกว่างเปล่าไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่อีกเลย”

การท้าทาย/หักล้างความคิดของสำนักโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยม ต่อปรัชญาตะวันตกกระแสหลักถือเป็นระบบการคิดทวนกระแสโดยเฉพาะในประเด็นของ มนุษย์เป็นผู้กระทำ/ผู้คิดด้วยตัวเองในฐานะเป็นองค์ประธาน(the conscious subject) แต่นักคิดในกลุ่มสำนักโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยมกลับเห็นมนุษย์เป็นเพียง “ร่างทรง” ของภาษาหรือโครงสร้างเฉพาะชุดหนึ่ง(the unconscious subject)เท่านั้น ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าภาษาหรือระเบียบแบบแผน/กฎเกณฑ์เหล่านี้จะแตกต่างกันไปตามเฉพาะสังคม และมีโครงสร้างระบบกฎเกณฑ์กลางอีกชั้นหนึ่งที่จะคอยจัดระเบียบของกฎเกณฑ์ทั้งหมดเหล่านั้นด้วยแต่ต่างมีการเชื่อมโยงเครือข่ายของกฎเกณฑ์ ระเบียบ โครงสร้างด้วยอะไรบางอย่างเช่นกัน
“พระเจ้าได้ตายไปแล้ว”(the god is dead) และ “มนุษย์ในฐานะองค์ประธานได้ตายไปแล้ว”(the death of the human subject) คำประกาศของ Friedrich Nietzsche และ Michel Foucault นักคิดในสายสำนักโครงสร้างนิยมและหลังโครงสร้างนิยมตามลำดับ จึงเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงความตายที่เกิดขึ้นกับสิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า และ มนุษย์ ที่ภาษาได้สร้างขึ้นและกำกับด้วยภาษา พระเจ้า และมนุษย์ ในปัจจุบันอยู่ในฐานะที่เป็นซากใหม่ของภาษาหรือของโครงสร้างเฉพาะชุดหนึ่ง(the unconscious subject)ที่ตายแล้วตายอีกของพระเจ้า และมนุษย์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามในทรรศนะของผู้เขียนนั้นเห็นว่า มนุษย์ นั้นอยู่ในสภาวะที่เรียกว่า”การเลื่อนไหลไปมาระหว่าง Subject และ Object” โดยไม่มีกฎเกณฑ์ ระเบียบ โครงสร้างที่แน่นอนตายตัวกล่าวคือในบางครั้งมนุษย์เป็นผู้คิด กำกับ จัดวาง โครงสร้างต่างๆด้วยตัวของมนุษย์เองทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็เป็นผู้ถูกกำกับ จัดวางไว้ด้วย/ภายใต้เครือข่ายโครงสร้าง กฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆเช่นกันดังนั้นมนุษย์จึงเป็นได้ทั้ง “the Objectivity of Subject” และ “the Subjectivity of Object” ในเวลาเดียวกัน

โครงสร้างกฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ
สำหรับในทางสัญวิทยา ตัวตนของมนุษย์(the self)นั้นถือว่ามีสถานะเป็นสัญญะชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่เป็นสัญญะที่เป็นรากฐานที่สุดเพราะการเข้าใจตนเองแบบหนึ่งของมนุษย์จะนำไปสู่การมองโลกและสรรพสิ่งรอบตัวมนุษย์ในอีกแบบหนึ่งด้วยเสมอ
 ภาษา มีอำนาจในการจัดระบบ ระเบียบ ระดับ ควบคุมต่อมนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆในสังคมอย่างไร?
โดยทั่วไปเมื่อเรากล่าวถึงเรื่องการศึกษาในสิ่งที่เรียก ภาษา เรามักจะนึกถึงการศึกษาภาษาในเชิงของการฝึกฝนทักษะความสามารถใน การพูด(speaking)/ การฟัง(listening)/ การอ่าน(reading)และการเขียน(writing) โดยอัตโนมัติในทุกๆชนิดของภาษาต่างๆทั้งนี้เพื่อให้ผู้เรียนสามารถที่จะสื่อสารใช้ภาษาต่างๆเหล่านั้นได้โดยผ่านในระบบการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา/สถาบันภาษาเอกชน/ตำราเรียน-ทดสอบ เทป ซีดีด้านภาษา/ระบบการเรียนภาษาออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต....เป็นต้นสภาวะที่ ภาษา ถูกทำให้กลายเป็นความรู้ เป็นสถาบันนี้ทำให้เราไม่เคยคิด คิดไม่ได้ คิดไม่ถึงที่จะตั้งคำถามว่าแท้ที่จริงแล้ว ภาษาคืออะไร? กันแน่ ซึ่งทำให้การศึกษาภาษาส่วนใหญ่ให้ความสนใจในการศึกษาเรื่อง คำ(word/vocabulary) เพื่อแปลความหมายของคำต่างๆทั้งในภาษาเดียวกัน ไปจนถึงการแปลความหมายข้ามภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่ง ภายใต้หลักการ กฎเกณฑ์ของแต่ละภาษาซึ่งการศึกษาภาษาในลักษณะดังกล่าวนี้ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นอำนาจ การควบคุม การจัดระเบียบมนุษย์และสรรพสิ่งในสังคมด้วยภาษาได้ เพราะถูกกระทำให้เป็นภาวะปกติ ธรรมดา เป็นความรู้ที่เราไม่ต้องตั้งคำถามแต่เป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องซึมซับเข้าไว้ในตนเองอย่างเงียบๆในระดับจิตไร้สึกนึก เพื่อให้สามารถใช้ภาษาเหล่านั้นได้เท่านั้น

• อำนาจภาษาในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับปัจเจคบุคคลด้วยกระบวนการแยกภาษา
(Langue) กับ การพูด/การใช้ภาษา (parole)
อย่างไรก็ตามการศึกษาภาษาในฐานะเป็นอำนาจในการจัดระบบ ระเบียบ ระดับ ควบคุมต่อมนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆในสังคม นั้นเราสามารถเข้าใจการจัดระเบียบ ควบคุม ระดับของมนุษย์และสรรพสิ่งผ่านภาษาอย่างที่ Saussure กระทำการศึกษาด้วยการแยกระหว่างสิ่งที่เรียกว่า ภาษา (Langue) กับ การพูด/การใช้ภาษา (parole) ออกจากกันกล่าวคือสำหรับ Saussure หน่วยพื้นฐานที่สุดในการศึกษาไม่ใช่คำ (word) เนื่องจากสิ่งที่เรียกว่า“คำ”นั้นมีปัญหาอย่างมากว่าคืออะไร? เช่น อาจจะหมายถึงเสียง , ภาพตัวแทนความคิด หรือการใช้ภาษาก็ได้ โดยเพียงเสียงอย่างเดียวนั้นไม่ถือเป็นภาษาหรือคำพูดที่ต้องอาศัยกฎเกณฑ์ ระบบ ระเบียบ ที่ทำให้เสียงเปล่งออกมามีความหมาย รวมทั้งมี การพูด/การใช้ภาษาก็มีเรื่องของปัจเจคบุคคลเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการใช้ภาษาจึงจำเป็นต้องมีสองด้านพร้อมๆกัน คือ
ด้านสังคมซึ่งถือเป็นเรื่องของระบบระเบียบ กฎเกณฑ์ภาษาและด้านปัจเจคบุคคลที่เป็นเรื่องของผู้ใช้ภาษาไม่สามารถขาดอย่างใดอย่างได้นั่นหมายความว่า เสียง ไม่สามารถเป็นภาษาได้จนกว่าเสียงที่ได้ยินนั้นจะสื่อความหมายบางอย่าง ส่วนความหมายเป็นเรื่องของระบบ ระเบียบที่ตกลงกันในสังคมเพื่อใช้เป็นกรอบในการสื่อความเข้าใจกัน(a system of convention)
ยกตัวอย่างเช่น ถ้ามีคนพูดถึงคำคำเดียวกันและใช้ในความหมายเดียวกันมากกว่าหนึ่งครั้ง เราจะบอกได้อย่างไรว่าคำดังกล่าวเป็นคำเดียวกัน เช่น
ประโยคที่ 1 : ฉันกินข้าว 1 จาน
ประโยคที่ 2 : กินข้าวกับอะไร?
คำว่า ข้าว ใน 2 ประโยคนี้เป็นคำเดียวกันหรือไม่? และเราจะบอกได้อย่างไร ? เนื่องจากลำพังเสียงที่คนเปล่งออกมา แม้เป็นคำๆเดียวกันก็ไม่มีความหมายเหมือนกัน แต่หากเราเข้าใจสิ่งที่พูดออกมาว่าไม่ใช่เสียงแต่เป็น รูปสัญญะ(signifier) ชนิดหนึ่ง เสียง กับรูปสัญญะจึงเป็นคนละเรื่องกัน มิใช่สิ่งเดียวกัน
Saussure อธิบาย ภาษา (langue) ในความหมายของ “ระบบ/องค์รวมที่ความสมบูรณ์ในตัวเองและมี
กฎเกณฑ์ในการจัดประเภทและแยกแยะแบบต่างๆ” และ การพูดและการใช้ภาษา(parole) หมายถึง“ การกระทำทางสังคมอันเป็นผลมาจากความสามารถในการใช้ภาษาของบุคคลรวมกับชุดกฎเกณฑ์จารีตปฏิบัติที่จำเป็นที่สังคมส่วนใหญ่ยอมรับ” เพื่อใช้ในการติดต่อสื่อสารกันได้/พูดคุยเป็นไปได้ดังนั้นภาษาจึงเป็นระบบของสัญญะ (a system of signs)
ส่วน Ludwig Wittgenstein อธิบายว่า “ภาษาคือรูปแบบของชีวิตที่หลากหลาย”(language as forms of life) ดังนั้นความหมายของภาษาจึงไม่ได้อยู่ที่การนิยามคำ หรืออยู่ที่การใช้คำเพื่อแทน/ระบุถึงวัตถุสิ่งของ แต่ความหมายของภาษาอยู่ที่การใช้ในแต่ละบริบทของชีวิตประจำวัน ภาษาจึงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและวัฒนธรรมซึ่งเมื่อกล่าวถึงภาษาจะต้องกล่าวถึงวิธีชีวิตของคนในภาษานั้นไปพร้อมๆ กันด้วย โดยเรานั้นคิด(think)ไม่ได้แต่ต้องดู(look)ที่การใช้ ดังนั้นภาษาในทรรศนะของ Wittgenstein มีลักษณะที่เรียกว่า “the language games” นำไปสู่แนวคิดที่ว่าความหมายของภาษามิได้อยู่ที่คำแต่อยู่ที่การใช้คำ(the meaning of a word is its use in the language)
นักภาษาศาสตร์ให้ความสนใจในการศึกษาภาษามากกว่าการพูดและการใช้ภาษา เพราะการพูดไม่ใช่สิ่งธรรมชาติ /ไม่ใช่วิธีการรูปแบบเดียวในการสื่อสาร มนุษย์สามารถสื่อสารในรูปแบบอื่นๆได้แต่เนื่องมนุษย์สามารถคิดค้นระบบของภาษาขึ้นมา ทำให้การพูดในฐานะที่เป็นเรื่องของการติดต่อสื่อสารเป็นที่ยอมรับและกลายเป็นรูปแบบการสื่อสารที่ทรงพลังที่สุดของมนุษย์ไปซึ่งสำหรับ Saussure แล้วธรรมชาติของมนุษย์มิใช่เรื่องของการพูด/การใช้ภาษาแต่เป็นเรื่องของความสามารถในการคิดค้นสร้างระบบภาษาขึ้นมามากกว่า เพื่อให้การสื่อสารเป็นไปได้
การแยกภาษาออกจากการพูด/การใช้ภาษา จึงถือเป็นการแยกเรื่องสังคมกับเรื่องส่วนตัวออกจากกัน ภาษาจึงมิใช่เครื่องมือของคนพูด แต่เป็นสิ่งที่คนพูด/คนใช้ต้องซึมซับเข้าไว้ในตนเองอย่างเงียบๆในระดับจิตไร้สำนึก เพื่อให้สามารถพูดและใช้ภาษาได้ดังนั้นภาษาในทรรศนะของ Saussure คือด้านสังคมของการพูด/การใช้ อยู่นอกเหนือความสามารถของผู้พูดที่จะสร้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้โดยลำพัง เป็นจารีตปฏิบัติที่คนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับและถือปฏิบัติกันในขณะที่ปัจเจคบุคคลเพียงทำหน้าที่ศึกษา/ทำความคุ้นเคยกับภาษาเพื่อให้ใช้ภาษาเป็นเท่านั้น
สำหรับความสัมพันธ์ในภาษานั้นตามแนวความคิดของ Saussure คือ ความสัมพันธ์ในระดับของการใช้ภาษา(syntagmatic relation)และความสัมพันธ์แบบแนวดิ่งหมวดหมู่หรือกระบวนทัศน์(associative/paradigmatic relation) กล่าวคือ ความสัมพันธ์ในระดับของการใช้ภาษาเป็นความสัมพันธ์ในระดับเดียวกันหรือในแนวระนาบด้วยการนำต่างๆมาเรียงต่อกันเป็นเส้นตรงคำจะมีค่าก็เฉพาะในตำแหน่งแห่งที่ของตนเมื่อเปรียบเทียบกับคำที่อยู่ข้างหน้าหรือคำที่ตามหลังในรูปของประโยคต่างๆ เช่น “ฉันรักคุณ” เป็นความสัมพันธ์แบบปรากฎให้เห็นเรียงกันเป็นชุดส่วนความสัมพันธ์แบบแนวดิ่ง หมวดหมู่หรือกระบวนทัศน์มีลักษณะการนำคำที่มีลักษณะคล้ายกันมาจัดไว้เป็นกลุ่มคำชุดเดียวกันเพื่อเชื่อมโยงให้เห็นกับคำอื่นๆที่เกี่ยวข้องกัน เช่น คำว่าประชาธิปไตย ก็เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันกับคำว่า ประชาชน/อำนาจอธิปไตย/การมีส่วนร่วม/ความเสมอภาค/เสรีภาพ/ภราดรภาพ เป็นต้น ซึ่งความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้จะไม่ปรากฎให้เห็นตรงๆแต่ถูกจัดไว้ในระบบความคิดของเราเมื่อได้ยินคำในกลุ่มนี้ ก็สามารถเชื่อมโยงกับคำอื่นๆในกลุ่มได้โดยในระบบของภาษา ความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยกับส่วนใหญ่ เป็นความสัมพันธ์ในเรื่องระบบของภาษาและความสัมพันธ์ระหว่างส่วนใหญ่กับส่วนย่อย เป็นความสัมพันธ์ในเชิงกระบวนทัศน์เป็นเรื่องของปัจเจคบุคคลในระดับของการใช้ภาษา ที่เก็บสะสมไว้ในระดับจิตความสัมพันธ์ทั้งสองแบบนี้ไปด้วยกัน ไม่สามารถแยกออกจากกันได้รวมทั้งการพูดและการใช้ภาษาต้องอาศัยความสัมพันธ์สองระดับนี้ไปพร้อมๆกัน(คือต้องรู้จักเลือกถ้อยคำและการรู้จักดึงคำที่มีความเกี่ยวข้องกันมาใช้ในประโยค)
การแทนที่คำหนึ่งด้วยคำหนึ่งเป็นความสัมพันธ์แบบกระบวนทัศน์ การเรียงลำดับคำเป็นความสัมพันธ์ในแนวระนาบนำไปสู่ความเข้าใจในเรื่อง “คำอุปมาอุปมัย” หรือการใช้คำแทนที่กันโดยมีความหมายไม่เปลี่ยน(metaphor) เช่น เก้าอี้ แทน ตำแหน่ง เป็นต้น การใช้รูปสัญญะตัวหนึ่งแทนที่ สวมรอยอีกตัวหนึ่งในการสื่อความหมายโดยที่สัญญะตัวที่ถูกแทนที่ยังอยู่มิได้หายไปไหนเพียงแต่ไม่ปรากฎให้เห็นในขณะนั้น การใช้ภาษาแทนที่ สวมรอย และความเข้าใจในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างคำเพื่อสร้างความหมายขึ้นมา(metonymy) เช่น ความยากจนกับกระท่อม/ความรวยกับคฤหาสห์ นั้นคือ metaphor (การแทนที่/สวมรอย)โดยไม่จำเป็นต้องมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน สำหรับ metonymy เป็นการเชื่อมโยงกันโดยความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยกับส่วนใหญ่ องค์รวมจะมีค่าองค์รวมเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์กับส่วนย่อย และส่วนย่อยจะมีค่า มีความหมายเมื่อเป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้

• อำนาจภาษาในการจัดระเบียบการดำรงอยู่ร่วมกันของความแตกต่างตรงกันข้ามของมนุษย์และสรรพ
สิ่งต่างๆด้วยการแยกรูปแบบ (form) และเนื้อหาสาระ (substance)ของสัญญะ(sign)
ภาษาเป็นเรื่องของเอกภาพ/ระบบและความเป็นหนึ่งเดียวในขณะที่การใช้ภาษามีความหลากหลาย การแยกระหว่างภาษาพูด/การใช้ภาษาให้ออกจากกัน เพื่อให้นักภาษาศาสตร์สามารถศึกษาภาษาได้โดยตรงนั้นนำไปสู่ความคิดในการแยกระหว่างรูปแบบ (form) และเนื้อหาสาระ (substance) โดยให้ความสำคัญกับเรื่องของรูปแบบซึ่งรูปแบบในความหมายนี้ไม่ใช่สิ่งที่เป็นวัตถุรูปธรรม แต่เป็นเรื่องของระบบความสัมพันธ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบของความแตกต่าง/ความตรงข้าม (distinction/opposition) ที่เป็นตัวกำหนดเนื้อหาสาระที่เป็นรูปธรรมอีกต่อหนึ่ง
ตัวอย่างที่ทำให้เราสามารถเข้าใจรูปแบบเป็นเรื่องของโครงสร้าง/ระบบที่เป็นตัวกำหนดความเป็นจริงต่างๆที่ดำรงอยู่หรือเนื้อหาสาระสามารถเข้าใจได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นผ่านตัวอย่างเช่นในเรื่องของมูลค่าเงินตราไทยกล่าวคือการที่เงินสกุลเดียวกันแต่มีหลายประเภทสามารถนำมาแลกเปลี่ยนกันได้เพราะว่ามีมูลค่ากลางชุดหนึ่งเช่น


เงิน 1000 บาท
มีค่าเท่ากับ
เหรียญ 1 บาท 1000 เหรียญ
เหรียญ 10 บาท 100 เหรียญ
ธนบัตร 20 บาท 500 ใบ
ธนบัตร 100 บาท 10 ใบ
ธนบัตร 500 บาท 2 ใบ
ธนบัตร 1000 บาท 1 ใบ
สินค้าที่มีราคาเท่ากับ 1000 บาท
เงินชนิดต่างๆเหล่านี้สามารถแลกเปลี่ยนกันได้เนื่องจากมีมูลค่าเท่ากับ 1000 บาทและต่างอยู่ในระบบของมูลค่าเงินสกุลบาท ในกรณีเงินต่างประเทศก็เช่นเดียวกันเพราะว่ามีมูลค่าเงินตราชุดหนึ่งที่ใช้ร่วมกัน (the same monetary value/a system of monetary values) ที่เป็นรูปแบบกำหนดเนื้อหาสาระของเงินตราสกุลต่างๆ นั่นคือเนื้อหาสาระของเงินตราไม่ว่าจะเป็นธนบัตรหรือเหรียญทั้งในรูปร่างใด (วงกลม/สี่เหลี่ยม..)/ขนาด/สี/วัสดุที่ใช้ทำไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ไม่สำคัญ ตราบเท่าที่มีมูลค่า/มาตรฐานชุดหนึ่งกำกับไว้ ตรงกันข้ามเงินจะเป็นเพียงเศษโลหะ เศษกระดาษที่มีรูปร่างแตกต่างต่างกันไปเท่านั้น ไม่มีความหมายและไม่มีมูลค่าอะไรเลย ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะต้องให้ความสนใจคือ กฎเกณฑ์ โครงสร้างที่เชื่อมโยงกันอยู่ซึ่งเป็นตัวกำหนด/สร้างสิ่งต่างขึ้นมา และเป็นตัวกำหนดบทบาทหน้าที่ให้มีความแตกต่างกันจนเราสามารถเข้าใจได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร?
ความแตกต่าง/ความตรงข้าม(distinction/opposition) ของมนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆในสังคมทำให้เราสามารถรู้ เข้าใจ ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ซึ่งในแนวคิดของ Saussure คือ เอกลักษณ์(identity)ซึ่งเป็นเรื่องของระบบของความแตกต่างมากกว่าจะเป็นเรื่องของความเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นรูปของเอกลักษณ์/พหุลักษณ์/หรืออัตลักษณ์ต่างๆ โดยระบบของความแตกต่างทำให้เกิดเอกลักษณ์ เอกลักษณ์เป็นเรื่องของการจัดประเภท แยกแยะแบบหนึ่ง มิได้เป็นเรื่องของคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งนั้นๆ อย่างที่มักเข้าใจกัน ความคิดที่ว่าเอกลักษณ์เป็นเรื่องของระบบความแตกต่าง เป็นเรื่องของความตรงกันข้าม กลายเป็นหลักสำคัญอีกประการหนึ่งของวิธีการหาความรู้แบบโครงสร้างนิยมที่ท้าทาย สลาย และสั่นคลอนวิธีคิดกระแสหลักที่เสนอความเหมือนกัน/เสนอเนื้อหาสาระ/เสนอความเป็นรูปธรรม หรือที่ Descombes เรียกว่า “ตรรกะของเอกลักษณ์”(the logic of identity)
เอกลักษณ์ในภาษาจึงเป็นการเปรียบเทียบและความแตกต่าง(relation identities) ซึ่งต่อมาได้รับการพัฒนาและสานต่อในรูปการศึกษาตัวตน/ความเป็นอื่น(self/other) หรือเอกลักษณ์/ความแตกต่าง(identity/differance) เช่นสัญญะของ “แมว” มีความต่างเพราะไม่ใช่ “หมู”,”ม้า”,”เม่น” แมวเป็นแมวได้เป็นส่วนหนึ่งของระบบการจำแนกแยกแยะสัตว์
“เอกลักษณ์” และความหมายจึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์และความแตกต่างไปพร้อมๆกันซึ่งจะมีค่า (value) เมื่ออยู่ในตำแหน่งแห่งที่เฉพาะของตนในระบบความสัมพันธ์เท่านั้น ดังนั้นเอกลักษณ์และความหมายจึงไม่ใช่เรื่องคุณสมบัติเชิงวัตถุ (material identity) แต่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์และความแตกต่างภายใต้ระบบหนึ่งๆที่ Saussure เรียกว่า a synchronic/relational identity
ความคิดเกี่ยวกับเอกลักษณ์ทำให้เห็นว่าเรื่องของความหมาย(signification) กับเรื่องของการเป็นตัวแทน(representation) เป็นคนละเรื่องกัน ภาษาจึงเป็นเรื่องที่มากกว่าการระบุชื่อ คน สัตว์ สิ่งของหรือเรื่องของการเป็นตัวแทนของวัตถุดังนั้นเนื้อหาสาระเป็นเรื่องของความเป็นอันหนึ่งในรูปความสัมพันธ์แบบเครือข่ายโยงใย(network) เพียงแต่เป็นเครือข่ายโยงใยของความแตกต่างมากกว่าเป็นความเหมือนกัน นอกจากนี้รูปแบบหรือระบบก็มิได้มีความหยุดนิ่งตายตัวแต่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและการเปลี่ยนแปลงของระบบมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบข้ามช่วงเวลาหรือวิวัฒนาการ(diarchromic)อย่างประวัติศาสตร์แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในช่วงเวลาเดียวกัน(synchronic)ที่องค์ประกอบของระบบที่มีความแตกต่างหลากหลายเปลี่ยนแปลงส่งผลให้ระบบโดยรวมเปลี่ยนแปลงจึงเป็นการเปลี่ยนแปลงภายใน(internal)มากกว่าการเปลี่ยนแปลงภายนอก(external)
สิ่งที่จะทำให้เรามองเห็นถึงความแตกต่างตรงกันข้ามของสรรพหนึ่งไปจากสิ่งอื่นๆภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ ระเบียบที่ยอมรับร่วมกันนั้นคือ สัญญะ(sign) โดย Saussure มองว่า ภาษาคือระบบสัญญะแบบหนึ่งที่สื่อถึงความคิดต่างๆ ไม่แตกต่างไปจากระบบของงานเขียน/ตัวหนังสือของคนหูหนวก/ พิธีกรรมเชิงสัญลักษณ์/แบบต่างๆ ของกฎเกณฑ์เกี่ยวกับมารยาททางสังคม/สัญญาณทางทหารและอื่นๆ ดังนั้น สัญญะ คืออะไรก็ได้ที่ก่อเกิดความหมายโดยการเทียบเคียง ให้เห็นถึงความแตกต่างไปจากสิ่งอื่นๆและคนในสังคมยอมรับได้หรือเข้าใจ ซึ่งมีทั้งแบบรูปสัญญะภาษา(linguistic signs)สัญญะแบบอื่นๆที่มิใช่ภาษา(the non linguistic signs) ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันโดยสัญญะในฐานะที่เป็นหน่วยพื้นฐานที่สุดของภาษานั้นเป็นระบบความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนที่เชื่อมโยงอยู่ระหว่าง รูปสัญญะ หรือตัวสื่อ(signifier) กับ ความหมายของสัญญะ หรือความคิดที่มีรูปสัญญะต้องการสื่อ(signified)โดยทั้งสองส่วนนี้ประกอบกันเป็นสัญญะ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้แต่สำหรับสิ่งที่เรียกว่า สัญญะนั้นไม่มีความหมายในตัวเอง แต่เป็นผลมาจากความแตกต่างจากสัญญะตัวอื่นในระบบของภาษา ดังนั้นสัญญะแต่ละตัวจึงเป็นอย่างที่ Darrida อธิบายให้เห็นว่าต่างมีร่องมีรอย (trace) ของกันและกันเต็มไปหมดหาความชัดเจน สมบูรณ์เด็ดขาดไม่ได้ ความหมายจึงเป็นเรื่องของการดำรงอยู่ร่วมกัน(co-presence)ซึ่ง Darrida เรียกว่า differance ซึ่งความหมายของสัญญะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา มิได้อยู่ภายใต้การกำกับของกฎเกณฑ์ของภาษาอย่างแข็งทื่อ/ขณะที่ความหมายมิใช่เป็นเรื่องของความสมบูรณ์เด็ดขาดหยุดนิ่งแต่มีการชะลอ/เลื่อน/เคลื่อน(defer)เสมออันเป็นผลมาจากการประกอบกันขึ้นของสัญญะ
Saussure เรียกความหมายของสัญญะที่เป็นเรื่องของความสัมพันธ์(relation) และความแตกต่าง(distinction) ว่าเป็น “diacritics” เพราะภาษาเป็นระบบที่สร้างขึ้นจากความแตกต่าง/ความตรงข้ามของหน่วยย่อยต่างๆ ความหมายมิได้เกิดจากการมีคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละหน่วยย่อยแต่เป็นผลมาจากความแตกต่างของหน่วยย่อยด้วยกันเองขณะเดียวกันความหมายของหน่วยย่อยเหล่านี้เป็นไปได้เพราะอยู่ภายใต้หรือส่วนหนึ่งของระบบใหญ่เท่านั้น(relation)
ตัวอย่างภาษาที่เป็นระบบความสัมพันธ์ของสัญญะต่างๆ ค่าของสัญญะแต่ละตัวเกิดจากความแตกต่างระหว่างสัญญะที่ถูกกำหนดให้เป็นทั้งในชนิดของรูปสัญญะภาษา(linguistic signs)สัญญะแบบอื่นๆที่มิใช่ภาษา(the non linguistic signs)
ตัวอย่างที่ 1 :รูปสัญญะที่เรียกว่าพยัญชนะในภาษา เช่น ตัว m ที่เปล่งเสียงออกมาว่า “เอ็ม” ในภาษาอังกฤษกับความหมายในรูปพยัญชนะตัว “m” ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกันสัมพันธ์กันโดยตรงยกเว้นถูกทำให้เกี่ยวข้องกันโดยระบบของภาษา แม้แต่รูปสัญญะของตัว “m” ก็สามารถเขียนได้หลายแบบ m /M/ M /m / เพียงแต่ต้องเขียนไม่ให้ซ้ำกับตัวอื่น ส่วนวิธีการในการผลิตสัญญะแต่ละตัวก็แทบไม่มีความสำคัญ เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อระบบเช่น สัญลักษณ์ตัว m จะเขียนด้วยสีอะไร/เขียนลงในสมุด พื้นดิน หรือพิมพ์ในสื่ออิเล็กทรอนิกส์ใดก็ยังอ่านๆได้ว่าเป็น ตัว m ไม่ใช่พยัญชนะตัวอื่น
ตัวอย่างที่ 2 : การทักทายด้วยการกอด/การจูบ/การจับมือ/ ยกมือไหว้ เพื่อแสดงความเคารพ คือสัญญะแบบหนึ่ง แต่การการกอด/การจูบ/การจับมือ/ ยกมือไหว้ในตัวของมันเองก็ไม่มีความหมายใดๆทั้งสิ้น
ตัวอย่างที่ 3 :สิ่งที่เป็นที่ว่าง/ความว่างเปล่า(blankness) เช่น“ ” อัญประกาศ/เครื่องหมายคำพูด และการเรียงหรือจัดลำดับคำในประโยค ก็ล้วนเป็นสัญญะได้ทั้งสิ้น หากสื่อหรือให้ความหมายในลักษณะของการเปรียบเทียบและความแตกต่างกัน เช่น ช่องว่างระหว่างประโยค หรือตำแหน่งของคำในภาษาที่ภาษาไทยเรียกว่า “เว้นวรรค” ต่างก็มีความหมายเฉพาะแบบหนึ่งคือการให้หยุดพักออกเสียงมิใช่ไม่มีความหมาย /ผ้าใบสีขาวในงานศิลปะหมายถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการวาดภาพ/กระดาษเปล่าหมายถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับการเขียนหนังสือ/ที่ว่างริมขอบกระดาษทั้งด้านบนและล่างต่างมีความหมายว่าห้ามเขียน
ตัวอย่างที่ 4 : สัญญะในภาพยนตร์ตามความเห็นของ Scholes ที่ว่าคือหน่วยในอุดมคติของการศึกษาแบบสัญวิทยาเพราะในภาพยนตร์มีทั้งภาพ/เสียง/แสง/สี/การกระทำ/การแสดงและเนื้อเรื่องที่สามารถสร้างความหมายได้ทั้งสิ้น
ตัวอย่างที่ 5: รูปสัญญะหลายตัวสามารถสื่อความหมาย/ความคิดในสิ่งเดียวกัน เช่น ประตูห้องน้ำในฐานะที่เป็นความหมายสัญญะ สามารถมีรูปสัญญะได้มากกว่าหนึ่งตัว เช่น ห้องน้ำสำหรับผู้หญิง/ห้องน้ำสำหรับผู้ชาย/ห้องน้ำสำหรับเพศที่ 2/ห้องน้ำสำหรับคนปกติ/ห้องน้ำสำหรับคนพิการ เป็นต้น
ตัวอย่างต่างๆเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการศึกษาภาษามิใช่เรื่องของการศึกษาเพียงการออกเสียง ตัวสะกด หรือหลักไวยากรณ์โดดๆอย่างมักนิยมเข้าใจกัน แต่จำเป็นต้องศึกษาระบบสังคม-วัฒนธรรมควบคู่ไปพร้อมๆกัน ดังนั้นเราจึงเห็นว่า ภาษาคือระบบของคุณค่าชุดหนึ่งที่สังคมกำหนดขึ้นไม่ใช่ที่รวมสรรพสิ่งที่มีความหมายในตัวเองแต่อย่างใดกล่าวคือเป็น เรื่องของแต่ละภาษา แต่ละจารีตวัฒนธรรม เช่นในตัวอย่างที่ 6 และ ตัวอย่างที่ 7 ดังนี้
ตัวอย่างที่ 6 : การกำหนดสัญญะขึ้นของแต่ละภาษาเช่น รูปสัญญะที่เรียกว่า “สีเขียว” ในภาษาไทย กับรูปสัญญะ “GREEN” ในภาษาอังกฤษมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกันโดยตรงแต่เป็นการกำหนดขึ้นของแต่ละภาษาซึ่งถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ของการเรียนรู้ภาษาอื่น
ตัวอย่างที่ 7 : การแปล การถ่ายทอดจากภาษาหนึ่งไปสู่อีกภาษาหนึ่งโดยในขณะเดียวกันรูปสัญญะในภาษาหนึ่งอาจกลายเป็นความหมายสัญญะในภาษาหนึ่ง เช่น คำว่า “Xerox” ในภาษาอังกฤษคือเครื่องถ่ายเอกสาร
ยี้ห้อหนึ่งแต่รูปสัญญะดังกล่าวเป็นความหมายสัญญะ “การถ่ายเอกสาร”ในสังคมไทย
อย่างไรก็ตามความไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง/ธรรมชาติระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะแต่เป็นการถูกทำให้เกี่ยวข้องกันมิได้มีความหมายว่าเราจะเลือกพูดอะไรได้ตามใจชอบเพราะถ้าเป็นเช่นนั้นการสื่อกันก็ไม่รู้เรื่องต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของสัญญะชุดหนึ่ง ซึ่งต้องหากฎเกณฑ์ที่เป็นตัวกำหนด/สร้างความสัมพันธ์นี้ให้เกิดขึ้น
แม้รูปสัญญะจะเป็นการเลือกโดยจงใจ เพื่อสื่อถึงความคิดหรือจินตภาพเฉพาะแห่งหนึ่งแต่มิได้หมายความว่ารูปสัญญะจะสามารถล่องลอยอย่างอิสระได้(free floating) ตรงกันข้ามรูปสัญญะที่ใช้ต้องขึ้นอยู่กับการยอมรับของสังคมต่างๆที่ใช้ภาษานั้นด้วยยิ่งไปกว่านั้นบรรดาผู้ใช้ภาษาก็มิได้มีส่วนเลือกหรือกำหนดรูปสัญญะ แต่ภาษา/ระบบภาษาต่างหากเป็นผู้เลือกเมื่อเลือกแล้วจะใช้อย่างอื่นแทนไม่ได้ ส่วนการใช้จะต้องใช้ภายใต้กฎเกณฑ์ของภาษานั้นๆเป็นความสำคัญ
ภาษาจึงเป็นเรื่องของการส่งต่อจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นหนึ่งหาฐานรากหรือต้นตอไม่พบ เมื่อเราเกิดมาภาษาก็มีอยู่แล้วทำให้เรามักหลงลืมและคิดไปว่าภาษาเป็น “ธรรมชาติ” บรรดาคำต่างๆในภาษาเป็นธรรมชาติในความหมายของการเป็นตัวแทนของโลกวัตถุ/โลกแห่งความเป็นจริง มองไม่เห็นลักษณะที่ถูกกำหนดให้เป็นของภาษา คือการมองไม่เห็นว่าภาษาเกิดจากการประกอบกันขึ้นของรูปสัญญะกับความหมายของสัญญะ วิธีการสอนภาษาก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เราหลงลืมไปว่าภาษาเป็นธรรมชาติเป็นตัวแทนความคิด,วัตถุ,โลกแห่งความเป็นจริง(the mirror theory of language)

การเข้าใจภาษาผ่านเรื่องของการเป็นตัวแทน(representation)จึงไม่สามารถช่วยให้เราเห็นถึงกระบวนการทำงานของภาษาซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญว่า สัญญะ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปหรือแทนที่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ฝังรากลึกลงในสังคมก่อนเราเกิดเสียอีกขณะเดียวกันเราก็ไม่อาจตระหนักรู้ถึงกฎเกณฑ์ของภาษาเพราะฝังรากลึกอยู่ในระดับจิตไร้สำนึกของเราเมื่อไม่ตระหนักรู้ก็ไม่อยู่ในฐานะที่เปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรได้ ในแง่นี้มิได้หมายความว่าภาษาเป็นเรื่องของความหยุดนิ่งตายตัวตรงกันข้ามภาษามีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาสม่ำเสมอ เนื่องจากสัญญะเป็นระบบของการถูกกำหนดให้เป็น จึงมิได้มีกฎเกณฑ์ใดๆเฉพาะแต่ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ ระเบียบ จารีต วัฒนธรรมของแต่ละสังคม เป็นเรื่องการตกลงกันในสังคม
การเปลี่ยนแปลงภาษามิใช่การเปลี่ยนแปลงแบบเล็กๆน้อยๆ เช่นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของตัวสะกดหรือการออกเสียง แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะกับความหมาย(signifier/signified) ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปอย่างหลวมๆหรือถูกกำหนดให้เป็นดังกล่าวมาแล้วข้างต้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับรูปสัญญะกับความหมายของสัญญะ โดยยิ่งภาษาเป็นเรื่องของความหมายที่แตกต่างกันในแต่ละสังคมแต่ละภาษาและแต่ละยุคสมัยจึงไม่มีความหมายใดที่แน่นอน ถูกต้อง ตายตัวแต่เปลี่ยนแปลงเสมอ เช่นคำว่า Silly ในภาษาอังกฤษ ช่วงแรกหมายถึง ทำตัวสบายๆ ง่ายๆ ในปัจจุบันหมายถึง คนโง่ เป็นต้น แม้ว่ารูปสัญญะเป็นตัวเดิมแต่ความหมายของรูปสัญญะมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากลักษณะการถูกกำหนดให้เป็น/ให้ความสัมพันธ์ระหว่างรูปสัญญะกับความหมายสัญญะนั่นเอง ซึ่งทำให้เห็นว่ามีอิสระต่อกันและกำหนดซึ่งกันและกันดังที่ Darrida เรียกว่ารูปสัญญะที่ล่องลอยอย่างอิสระ( play หรือ free floating signified)
อย่างไรก็ตามทั้งแนวการศึกษาด้านภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของ Saussure ได้สร้างคุณูปการต่อการศึกษาที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อสำนักโครงสร้างนิยม/สำนักหลังโครงสร้างนิยม(post structuralism)และสำนักสัญวิทยา(semiology) โดยต่างพัฒนามาจากแนวการศึกษาด้านภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของ Saussure ซึ่งพัฒนาไปเป็นสายความรู้ที่แตกต่างกันเช่น Roland Barthes กับวิธีการหาความรู้ด้วยสัญวิทยาใช้ในการศึกษาวรรณคดีวิจารณ์(literary criticism) และ วัฒนธรรมศึกษา(cultural study) ซึ่งให้ความสำคัญในสิ่งที่เรียกว่า “ความหมาย” ที่มีลักษณะเป็นพลวัตอันเป็นผลมาจากการผ่า/ตัด/แบ่ง โลกแห่งความเป็นจริงจนก่อให้เกิดระบบของความแตกต่างและการเปรียบเทียบ/เทียบเคียง ดังนั้นความหมายจึงเป็นเรื่องของการปะทะประสานระหว่างสัญญะ โดยภาษามีหน้าที่/บทบาทในการทำการ ผ่า/ตัด/แบ่ง โลกของความเป็นจริงออกเป็นส่วนๆ สร้างความไม่ต่อเนื่องให้เกิดขึ้น ทำให้สรรพสิ่งแยกออกจากกันเพื่อให้เกิดความหมายขึ้นมาและความแตกต่าง/ความตรงข้ามต่างมีส่วนร่วมในการกำหนดความหมายซึ่งกันและกัน รวมไปถึงการมองไม่เห็นความหมาย หรือที่เรียกว่า “ความหมายในระดับที่ 2” (the second-level signification)/สำนักโครงสร้างนิยมอย่างเช่น Claude Levi-Strauss ศึกษาค้นคว้า วัฒนธรรม พิธีกรรมและระบบคิดของมนุษย์พื้นเมืองโบราณจากนิทานปรัมปราในฐานะภาษาแบบหนึ่ง โดยให้ความสำคัญในประเด็นเรื่องของ “โครงสร้าง” ซึ่งเป็นระบบของความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงและตรึงสรรพสิ่งที่มีความแตกต่าง ตรงข้าม ให้อยู่ด้วยกัน โดยแยกระหว่างรูปแบบ(Form) หรือแก่น(essence) กับเนื้อหาสาระ(substance)หรือสิ่งที่ปรากฏเพื่อสร้างความหมายให้เกิดขึ้น(ความหมายมิได้อยู่ที่สรรพสิ่งนั้นแต่โครงสร้างเป็นตัวกำหนดความหมายภายใต้ระบบ/กฎเกณฑ์/ระบบวัฒนธรรมเดียวกันหรือเฉพาะแบบหนึ่ง)และความหมายในระดับลึกหรือระดับจิตไร้สำนึก(the unconscious) ซึ่งทำให้เห็นว่าสำนักคิดเหล่านี้ต่างได้รับอิทธิผลจากการศึกษาด้านภาษาศาสตร์เชิงโครงสร้างของ Saussure แทบทั้งสิ้น และที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น การประกอบสร้างขึ้นของสัญญะภาษาเป็นความหมายของโครงสร้างนิยม/หลังโครงสร้างนิยม/สัญวิทยา ต่างถูกจัดระบบ/ระเบียบของวิธีการศึกษา/ผู้ศึกษา…ผ่านภาษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
“อำนาจภาษา: ว่าด้วยการจัดระเบียบมนุษย์และสรรพสิ่งในสังคม” ได้อธิบายให้เห็นถึงอำนาจของภาษาผ่านการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างสังคมกับปัจเจคบุคคลด้วยกระบวนการแยกภาษากับการพูด/การใช้ภาษา และการจัดระเบียบการดำรงอยู่ร่วมกันของความแตกต่างตรงกันข้ามของมนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆด้วยการแยกรูปแบบและเนื้อหาสาระของสัญญะทั้งในชนิดของรูปสัญญะภาษาและสัญญะแบบอื่นๆที่มิใช่ภาษาโดยภาษาถือเป็นระบบของคุณค่าชุดหนึ่งที่สังคมกำหนดขึ้นไม่ใช่ที่รวมสรรพสิ่งที่มีความหมายในตัวเองแต่อย่างใดแต่เป็นเรื่องของแต่ละภาษา แต่ละจารีตวัฒนธรรม แต่ละโครงสร้าง แต่ละกฎเกณฑ์ซึ่งมนุษย์ และสรรพสิ่งต่างๆ อยู่ภายใต้การจัดระเบียบ โครงสร้าง กฎเกณฑ์ต่างๆ ของภาษา ทำให้มนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆถูกกระทำให้โน้มเอียง รับรู้ เข้าใจ มองเห็น ได้ยิน...ว่าภาษาเป็นธรรมชาติ/เป็นความปกติ/เป็นความธรรมดา/เป็นความรู้/เป็นความจริง/เป็นความคุ้นเคย/เป็นความเคยชิน…และยอมรับเข้ามาอยู่ภายใต้จิตไร้สำนึกจนอยู่ในฐานะที่ไม่จำเป็นต้องตั้งคำถามหรือให้ความสำคัญจนมองข้ามหลงลืมละเลยไปจนกลายเป็นธรรมชาติมองไม่เห็นลักษณะที่ถูกกำหนดให้เป็นของภาษาดังนั้นภาษาจึงมีพลังอำนาจในการระเบียบมนุษย์และสรรพสิ่งต่างๆในสังคมไม่เว้นแม้แต่สิ่งที่เรียกว่า “ภาษา”
ในท้ายที่สุดแล้วสำหรับผู้เขียนบทความนี้หลังจากเขียนบทความจบลงมีความรู้สึกที่ไม่แตกต่างไปจากความรู้สึกของ Claude Levi-Strauss ที่มองมนุษย์เป็นเพียงร่างทรง/ซากของภาษาดังคำกล่าวกล่าวในข้างต้นที่ว่า”ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหนังสือเล่มต่างๆต่างหากที่เขียน ผ่านตัวข้าพเจ้า และทันทีที่หนังสือเหล่านี้ผ่านตัวข้าพเจ้าไป ข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกว่างเปล่าไม่มีอะไรหลงเหลืออยู่อีกเลย” เฉกกัน

บรรณานุกรม

ภาษาไทย
ชนิดา เสงี่ยมไพศาลสุข.(2550).เศรษฐกิจทรัพย์สินเชิงสัญลักษณ์.กรุงเทพฯ:คบไฟ.
ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร.(2544).รายงานวิจัยเรื่องวิธีวิทยาของสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.กรุงเทพฯ:
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
(2545).สัญญวิทยา,โครงสร้างนิยม,หลังโครงสร้างนิยม,กับการศึกษารัฐศาสตร์.กรุงเทพฯ : วิภาษา.
(2549).วาทกรรมการพัฒนา:อำนาจ ความรู้ ความจริง เอกลักษณ์และความเป็นอื่น.ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 4.กรุงเทพฯ:วิภาษา.
(2551).ภาษากับการเมือง/ความเป็นการเมือง.กรุงเทพฯ:มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ภาษาอังกฤษ
Barthes, Roland (1967). Elements of Semiology.Translate from the French by Annette Lavers and Colin
Smith. New York: Hill and Wang.1980.
Descombes. Vincent (1980). “Semiology”.In his Modern French Philosophy. Translated by L. Scott-Fox
and J.M. Harding. Cambridge University Press.
Darrida, Jacques (1982).Margins of Philosophy. Translated, with Additional Note, by Alan Bass Brighton:
The Harvester Press.
Darrida, Jacques (1976). Of Grammatology. Translated by Gayatri Chakravorty Spivak.Baltimore:
The Johns Hopkins University Press. Fourth printing.1980.
Foucault, Michel (1986). “Of other space”. Diacritics 16/1(spring).Huntington, Samuel P.
Foucault, Michel (1970), The Order of Thing: An Archaeology of the Human Science. Translate from the
French Vintage Books.1973.
Nietzsche, Friedrich (1974). The Gay Science. Translated, with commentary by Walter Kaufmann.
New York :Vintage Books.
Saussure, Ferdinand de (1959). Course in General Linguistics. Translated ,with and introduction and
notes by Wade Baskin.New York: McGraw Hill, 1966.
Scholes, Robert (1974).Structuralism in Listerature.New Haven and London: Yale University Press.
Wittgenstein, Ludwig (1953). Philosophical Investigations, Translate by G.E.M Anscombe.Oxford:
Blackwell, 1992.




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2552 22:57:02 น.
Counter : 2574 Pageviews.  


นายกลินท์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add นายกลินท์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.