Smiley Hello Hua Hin Smiley
 
 

หัวหิน : ถิ่นราตรีประดับดาว

หัวหิน : ถิ่นราตรีประดับดาว
เรียบเรียง : วศิน สุขเกษม

ใครเลยจะล่วงรู้ว่า หัวหินยามกาลเก่าเมื่อครั้งยังเป็นเพียงชุมชนประมงเล็กๆ ในวันนั้น จะกลับกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอันเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์เฉกเช่นวันนี้

และอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่สามารถจะสะท้อนภาพลักษณ์ของหัวหินในวันนี้ได้ค่อนข้างชัดเจนนั่นคือเสน่ห์แห่งวัฒนธรรมทางดนตรี ถึงแม้วัฒนธรรมที่ว่าในวันนี้จะไม่ได้แสดงความเป็นรากเหง้าของเราคนไทยเองก็ตาม แต่สิ่งนี้ถูกปรุงแต่งให้กับหัวหินจนคล้ายจะเป็นเครื่องหมายการค้าชั้นเยี่ยม โดยเฉพาะช่วงนี้หัวหินต่างคึกคักด้วยบรรยากาศของงานดนตรี หรือคอนเสิร์ตที่จ่อคิวตบเท้าเข้ามาสร้างสีสันให้กับเมืองอย่างไม่เว้นวาย ทั้งจากภาคเอกชนและเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมดนตรีน้องใหม่อย่าง “ฮอนด้า ซัมเมอร์ เฟสต์ @ หัวหิน” ที่ถูกจัดขึ้น ณ เขาตะเกียบ ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืนที่พึ่งจะผ่านพ้นไป หรือพี่ใหญ่อย่าง “หัวหิน แจ๊ส เฟสติวัล” มหกรรมดนตรีที่จัดต่อเนื่องทุกปี บริเวณชายหาดหัวหิน หรือจะเป็นงานดนตรีขนาดย่อมอย่างโครงการดนตรีเพื่อประชาชน ที่จัดขึ้นทุกเย็นวันศุกร์ ตลอดทั้งปี ณ สวนหลวงราชินี (พื้นที่ 19 ไร่) หรือโครงการประกวดดนตรีวัยฮิปอย่าง “Music in Summer 2008” ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลฯ เป็นต้น หากมองหัวหินวันนี้ในแง่สายงานวัฒนธรรมก็คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า หัวหินคือเมืองแห่งดนตรี หรือ แจ๊สทาวน์ ที่ใครหลายๆ คนต่างยอมรับ ประการหนึ่งนั่นมาจากรูปลักษณ์ของวิถีเมืองที่ถูกก่อร่างสร้างฐานมาจากวงสัมคมชั้นผู้นำในอดีต ถูกจับคู่เข้ากับลักษณะความลื่นไหลของแนวดนตรีอย่างแจ๊ส หรือบลูส์ อันแสดงความรู้สึกถึงการปลดปล่อยทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี โดยทั้งสองบริบทที่ยกมานี้ต่างได้รับการพัฒนา ปรับปรุง พร้อมเกิดการยอมรับจนถึงขั้นที่เรียกว่า “อมตะ” หรือ “คลาสสิค” (classic) คุณค่าแห่งความคลาสสิคนี้เอง ที่ดูเหมือนจะเป็นคุณค่าร่วมที่ทั้งสองบริบทสัมพันธ์กัน และพอจะสามารถช่วยยืนยันถึงความเหมาะสมที่หัวหินจะเป็นเมืองแห่งดนตรีได้อย่างมีน้ำหนัก ถึงแม้ว่ากระแสวัฒนธรรมทางดนตรีดังกล่าวจะพึ่งเริ่มต้นกระเพื่อมมาได้ไม่ไกลมากนักก็ตาม

หากลองย้อนเวลาถอยหลังไปเกือบ 80 ปี บนพื้นที่รายรอบติดชายทะเลแห่งเดียวกันก็ปรากฎความงดงามทางวัฒนธรรมดนตรีเช่นกัน แต่ทว่าวัฒนธรรมดนตรีในครั้งนั้นสามารถแสดงความเป็นรากเหง้าของเราคนไทยได้อย่างกระจ่างชัด ใครเลยจะล่วงรู้ว่าความงดงามแห่งโสตนั้นจะยังดังก้องกังวานยาวนานมาไกลจนถึงวันนี้ นับตั้งแต่วังไกลกังวลปรากฎขึ้นตามพระราชประสงค์ เสียงแห่งโสตที่ถูกรังสรรค์ก็ปรากฎขึ้นตาม คล้ายจะคลายความกังวลให้กับผู้ยินยลดังกังวานอยู่รายรอบรั้วเขตวัง นั่นคือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “ราตรีประดับดาว” ปฐมบทแห่งคีตราชา อันสมบูรณ์จับใจด้วยอรรถรสแห่งคีตกรรม หากคุณคือคนหนึ่งที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงดนตรีแบบจารีตนิยม (Thai Classical Music) แล้ว ก็คงมิอาจปฏิเสธถึงความเพราะพริ้งของบทเพลงนี้ได้ หากแต่คุณคือคนหนึ่งที่เดินเวียนวนอยู่ชายขอบของแวดวงดนตรีดังกล่าวแล้ว อาจจะไม่คุ้นหู หรืออาจไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อเพลงก็เป็นได้

บทเพลงพระราชนิพนธ์ “ราตรีประดับดาว” นี้ เป็นพระราชนิพนธ์ลำดับแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ในพุทธศักราช 2472 พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยในการพระราชนิพนธ์เพลงราตรีประดับดาวนี้ จากเพลงแขกมอญบางขุนพรหม พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุลบริพัตร) โดยเพลงแขกมอญบางขุนพรหมนี้ถูกแต่งขึ้นเป็นเพลงเถา ออกสำเนียงมอญ

ด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยดังกล่าว พระองค์จึงได้ทรงปรึกษากับครูดนตรีถึงพระราชประสงค์นั้น โดยนำเพลงมอญดูดาว 2 ชั้น ของเดิมที่นิยมใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงละครพันทาง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ให้เป็นเพลงเถา สำเนียงมอญ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทร้องประกอบด้วยพระองค์เองอีกด้วย เนื้อความว่า

วันนี้...................................................แสนสุดยินดีพระจันทร์วันเพ็ญ
ขอเชิญสายใจเจ้าไปนั่งเล่น.......................ลมพัดเย็นเย็นหอมกลิ่นมาลี
หอมดอกราตรี.....................................แม้ไม่สดสีหอมดีน่าดม
เหมือนงามน้ำใจแม้ไม่ขำคม.....................กิริยาน่าชมสมใจจริงเอย
ชมแต่ดวงเดือน...................................ที่ไหนจะเหมือนได้ชมหน้าน้อง
พี่อยู่แดเดียวเปลี่ยวใจหม่นหมอง..............เจ้าอย่าขุ่นข้องจงได้เมตตา
หอมดอกชมนาด..................................กลิ่นไม่ฉูดฉาดแต่หอมยวนใจ
เหมือนน้ำใจดีปรานีปราศรัย.....................ผูกจิตสนิทให้รักจริงเอย
ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ...................เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง
หอมดอกแก้วยามเย็น...............................ไม่เห็นใจพี่เสียเลยเอย
ดวงจันทร์หลั่นลดเกือบหมดดวง...............โอ้หนาวทรวงยอดชีวาไม่ปรานี
หอมดอกมะลิกลีบซ้อน............................ อ้อนวอนเจ้าไม่ฟังเอย
จวนจะรุ่งแล้วนะเจ้าพี่ขอลา..................แสงทองส่องฟ้าสง่าศรี
หอมดอกกระดังงา....................................ชิชะช่างน่าเจ็บใจจริงเอย
หมู่ภมรร่อนหาช่อมาลี..........................แต่ตัวพี่จำจากพรากไปไกล
หอมดอกจำปี............................................นี่แน่ะพรุ่งนี้จะกลับมาเอย


เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว โดยส่วนใหญ่เราเองจะคุ้นเคยกับพระองค์ในด้านประวัติศาสตร์ทางด้านการปกครอง เช่น การพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย ตลอดจนการสละราชสมบัติของพระองค์เท่านั้น ไม่ค่อยปรากฎเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอัจฉริยะภาพทางด้านคีตกรรมมากนัก สิ่งนี้คล้ายจะเป็นเพียงแค่เกร็ดเล็กๆ ที่หลบซ่อนอยู่ในช่องหลืบแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่ใคร่จะมีผู้คนกล่าวถึง ซึ่งความจริงแล้วพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยทางด้านดุริยางคศิลป์อย่างยิ่งยวด ทรงเป็นเอกทางด้านการทรงซออู้


รัชกาลที่ 7 ทรงซออู้

บทความตอนหนึ่งที่เรียบเรียงไว้ในจดหมายเหตุวังไกลกังวล โดยแพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ
ที่แสดงถึงมูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยดนตรีไทยมาก จนถึงขั้นเริ่มหัดเรียนดนตรีไทยกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และ หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน) โดยพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) เล่าเรื่องนี้แก่ สุจิตต์ วงษ์เทศ และทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์ ไว้ว่า

“ตอนนั้นมีการฉลองช้างเผือก จะต้องมีการอ่านโองการกล่อมช้างอย่างที่เคยมีมานั่นแหละ จะต้องมีโหรอ่านฉันท์ พราหมณ์ไกวบัณเฑาะว์ แล้วนักดนตรีสีซอสามสาย ทีนี้ผมก็บอกหลวงไพเราะฯ ให้ปล่อยฝีมือให้เต็มที่เลยนะ เพราะในห้องมีอยู่ด้วยกันเพียง 2 คน เท่านั้น ได้ผล พอรัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นจากพิธีกล่อมช้างนี่แหละ ท่านมีรับสั่งกับผมว่า เอ...เครื่องดนตรีไทยนี่ก็แปลก มีแค่สามสายแต่ทำได้ทุกเสียง แล้วก็ชัดดีด้วย”

เมื่อย้อนกลับมาที่บทร้องพระราชนิพนธ์เพลงราตรีประดับดาว บทร้องตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ........เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง”

จากเนื้อร้องข้างต้นที่ยกมานั้น อาจทำให้เกิดข้อกังขาว่า แท้จริงแล้วเพลงพระราชนิพนธ์ราตรีประดับดาวนี้ถูกพระราชนิพนธ์ขึ้นขณะประทับที่หัวหินจริงหรือ เพราะเนื้อร้องกล่าวว่าแต่งในวังหลวง

จากข้อสงสัยนี้มีผู้ให้แนวคิดไว้ว่า

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยในการพระราชนิพนธ์เพลงราตรีประดับดาวนี้ จากเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา อย่างที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น ซึ่งเนื้อความตอนหนึ่งของเพลงแขกมอญบางขุนพรหมนั้นกล่าวว่า

“ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมญา.......ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม"

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์เนื้อร้องตอนนี้บรรจุไว้ประกอบการขับร้องเพลงแขกมอญบางขุนพรหม ในอัตราจังหวะชั้นเดียว เพื่อที่จะให้หมายรู้ถึงที่มา หรือผู้ประพันธ์เพลง ซึ่งวังบางขุนพรหมนั้นเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย สี่แยกบางขุนพรหม) นั่นเอง


วังบางขุนพรหม

ในลักษณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอักษรคำว่า “วังหลวง” ไว้ในบทร้องของเพลงราตรีประดับดาวเช่นกัน อันจะหมายล้อกับเพลงแขกมอญบางขุนพรหมประการหนึ่ง นอกจากนี้ยังหมายที่จะแสดงความนัยให้ทราบผู้ประพันธ์หรือที่มาของเพลง โดยความหมายของวังหลวงนั้นก็คือพระบรมมหาราชวัง อันแสดงถึงที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน แม้ความจริงเพลงนี้จะถูกพระราชนิพนธ์ขึ้นที่วังไกลกังวลก็ตาม แต่พระองค์ทรงใช้ภาษาในเชิงเปรียบเทียบ อันแสดงถึงพระอัจฉริยะภาพทางด้านวรรณศิลป์

หลังจากที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งทำนองและเนื้อร้องเพลงราตรีประดับดาวเป็นที่เรียบร้อย พระองค์ทรงพระราชทานต่อเพลงนี้แก่ข้าราชการในกรมพิณพาทย์และโขนหลวงเพื่อให้ได้ซักซ้อม และนำมาบรรเลงถวาย ณ วังศุโขทัย เพื่อทรงตรวจแก้ไข โดยมีผู้เชี่ยวชาญการดนตรี 2 พระองค์ ทรงร่วมฟังด้วยได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายเสรฐวงศ์วราวัตร กรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ (ราชสกุลจักรพันธุ์) ซึ่งในขณะนั้นเพลงราตรีประดับดาวนี้ยังหามีชื่อเรียกตามนี้ไม่ ทำให้เจ้านายหลายพระองค์ต่างถวายชื่อเพลงมากมาย เช่น ดาวประดับฟ้า ดารารามัญ และอื่นๆ เป็นต้น แต่ก็ยังมิได้ปรากฎชื่อใดๆ ในการเรียกเพลงนี้ จวบจนวงมโหรีหลวงได้นำเพลงนี้บรรเลงและร้องออกอากาศ ณ สถานี 1.1 ที่ศาลาแดง โดยประกาศชื่อเพลงนี้ว่า “ราตรีประดับดาว” อันเป็นพระนามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเอง

นับตั้งแต่นั้นมาความอ่อนหวานแห่งท่วงทำนองที่สอดแทรกสำเนียงมอญ คละเคล้าความออดอ้อนแห่งบทกวี ก็กลายเป็นมรดกทางกระแสเสียงที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และถูกกล่าวขานถึงความไพเราะ พร้อมทั้งกลายเป็นบทเพลงที่นิยมบรรเลง และทรงคุณค่าในหมู่แวดวงดนตรีจารีตจวบจนปัจจุบันในนาม “ราตรีประดับดาว”

ถึงแม้ “ราตรีประดับดาว” จะเป็นผลงานเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับแรกของพระองค์ แต่หาได้มีที่ติ หรือข้อบกพร่องเลยไม่ กลับสมบูรณ์จับใจด้วยอรรถรสทางคีตกรรม พรั่งพร้อมด้วยความงดงามแห่งวรรณศิลป์อีกทั้งกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีของชาติที่ปรากฎรากฐานจากเมืองท่องเที่ยวอย่างหัวหินโดยแท้ มนต์เสน่ห์แห่งบทเพลงราตรีประดับดาวนี้ จะยังคงเป็นอีกหนึ่งดวงดาราที่ทอแสงระยิบระยับประดับผืนฟ้าของหัวหินยามราตรีต่อไป หากชาวหัวหินยังคงตระหนักและรับรู้ถึงคุณค่าแห่งบทเพลงอันครอบคลุมถึงรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมดนตรีของตนเอง พร้อมทั้งรู้เท่าทันมายาแห่งกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างชาญฉลาด


---------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, แพทย์หญิง. จดหมายเหตุวังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ 7. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546.
สรศัลย์ แพ่งสภา, ราตรีประดับดาวที่หัวหิน. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี, 2545.
เทศบาลเมืองหัวหิน, เรื่องเล่าของชาวหัวหิน. ประจวบคีรีขันธ์ : บริษัทปราณนิวส์, 2549.

ที่มา //huahin4u.com




 

Create Date : 22 ตุลาคม 2552   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2553 14:14:34 น.   
Counter : 2719 Pageviews.  


พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน

พระประวัติ

พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาวาด ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2424 ขณะทรงพระเยาว์เริ่มศึกษาที่โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ


ปี พ.ศ. 2437 เสด็จไปทรงศึกษาต่อด้านโยธาธิการที่ โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ และทรงศึกษาต่อวิชาวิศวกรรมที่ ตรินีตี้คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และวิชาทหารช่างที่ แชทแฮม จากนั้นเสด็จศึกษาเพิ่มเติมในประเทศฝรั่งเศส ทรงศึกษาการทำทำนบและขุดคลอง ในประเทศเนเธอร์แลนด์ และเสด็จกลับมาทรงงานและศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ จนได้เป็นสมาชิก M.I.C.E. (Member of the Institution of Civil Engineer) (เทียบเท่า วิศวกรรมสถาน)


พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรเสด็จกลับประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. 2447 ทรงรับราชการทหาร เหล่าทหารช่าง กรมยุทธนาธิการทหารบก ทรงดำรงตำแหน่งจเรทหารช่างพระองค์แรกในปี พ.ศ. 2451 และทรงดำรงตำแหน่งนี้เป็นระยะเวลา 17 ปี ทรงนำความรู้ในวิชาการทหารแผนใหม่ตามแบบอย่างประเทศตะวันตกมาปรับปรุงกิจการทหารช่าง จนได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้วางรากฐานกิจการทหารช่างแผนใหม่ และกองทัพ


พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงลาออกจากราชการและเสด็จไปประทับ ณ ประเทศสิงคโปร์ พร้อมกับครอบครัวเมื่อ พ.ศ. 2476 กระทั่งวันที่ 14 กันยายน 2479 พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรได้สิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลในประเทศสิงคโปร์ สิริพระชนมายุได้ 55 ปี


พระกรณียกิจ


ด้านการรถไฟไทย


การดำเนินกิจการรถไฟในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ทรงให้ชาวต่างประเทศเป็นผู้ควบคุมการบริหารกิจการทั้งหมด กระทั่งปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร รักษาการตำแหน่งเจ้ากรมรถไฟสายเหนือ ในปี พ.ศ. 2460 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า "กรมรถไฟหลวง" และให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง และทรงบุกเบิกพัฒนากิจการต่างๆ ของกรมรถไฟหลวง ขยายเส้นทางเดินรถไฟสายเหนือและสายใต้เข้าด้วยกัน สายตะวันออกเฉียงเหนือทรงสร้างทางรถไฟจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี สายตะวันออกจากฉะเชิงเทราถึงอรัญประเทศ และทรงนำรถจักรดีเซลเข้ามาใช้เป็นประเทศแรกในทวีปเอเชีย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยุบรวมกรมทางไปขึ้นกับกรมรถไฟหลวง โดยให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมขุนกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงรับผิดชอบงานสร้างถนนและสะพานทั่วประเทศ เช่น สะพานกษัตริย์ศึก เป็นสะพานลอยข้ามทางรถไฟแห่งแรก และสะพานรัษฎาภิเศก จังหวัดลำปาง สะพานพุทธ สะพานพระราม 6


ในปี พ.ศ. 2464 ขณะทรงดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวง ได้ทรงริเริ่มนำเอาเครื่องเจาะมาทำการเจาะสำรวจหาน้ำมันดิบ ในบริเวณที่มีผู้พบน้ำมันดิบไหลขึ้นมาบนผิวดินที่บ่อหลวง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทรงว่าจ้างนักธรณีวิทยาชาวอเมริกันเข้ามาสำรวจทางธรณีวิทยา เพื่อค้นหาน้ำมันดิบและถ่านหินในประเทศไทย


ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร


พระองค์ทรงริเริ่มนำวิทยาการด้านการสื่อสารเข้ามาใช้การพัฒนาประเทศ ทรงตั้งเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงทดลองขนาดเล็ก และสั่งเครื่องวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นเข้ามาทดลอง ทรงเปิดการกิจการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2473 ใช้ชื่อสถานีว่า "สถานีวิทยุกรุงเทพฯ ที่พญาไท" และถือว่าเป็นบุคคลแรกของสยาม ที่ต้องการให้ประเทศสยาม มีการส่ง เทเลวิชั่น หรือ วิทยุโทรทัศน์ขึ้นครั้งแรกในประเทศสยาม แต่ความคิดที่จะต้องการส่งแพร่ภาพโทรทัศน์ เมื่อขณะดำรงตำแหน่งเป็นเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคมในขณะนั้น ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากสยามได้เปลื่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 ทำให้การกำเนิดโทรทัศน์จึงล้มเลิกไปในระยะหนึ่ง (หากประสบความสำเร็จ ประเทศสยาม อาจเป็นประเทศแรกของเอเชีย ที่มีการส่งโทรทัศน์)


ด้านการสื่อสาร ทรงให้ความสำคัญการสื่อสาร โดยจัดตั้งที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขทั่วประเทศ ให้บริการรับส่งจดหมาย พัสดุ ไปรษณีย์ ธนาณัติ และโทรเลข รวมทั้งการติดต่อสื่อสารทางโทรศัพท์และวิทยุโทรเลขภายในและภายนอกประเทศ


ด้านการคมนาคม ทรงสนพระทัยกิจการบิน โดยทรงทดลองขับเครื่องบินสาธิต จนได้รับการยกย่องว่าทรงเป็นคนไทยคนแรกที่มีโอกาสขึ้นเครื่องบิน และทรงวางรากฐานกิจการการบินขึ้นในประเทศไทย และการจัดการบินพาณิชย์ระหว่างประเทศ จัดตั้งบริษัทเดินอากาศและเปิดเส้นทางพาณิชย์


ด้านอื่น ๆ


1 เมษายน พ.ศ. 2469 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงคมนาคมเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน และให้ นายพลเอก กรมหลวงกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน (พระอิสริยยศในขณะนั้น) รั้งตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม และเป็นนายกสภาเผยแผ่พาณิชย์


21 ตุลาคม พ.ศ. 2474 ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรีสภา ทำหน้าที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทรงปฏิบัติราชการแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในงานพระราชพิธีเป็นครั้งคราว


ที่มา  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี





 

Create Date : 20 ตุลาคม 2552   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2553 14:14:47 น.   
Counter : 724 Pageviews.  


ประวัติเมืองหัวหิน

ประวัติเมืองหัวหิน


ก่อนหน้าที่ชื่อหัวหินยังไม่เกิด มีเรื่องเล่าขานกันว่าราวปี พ.ศ. 2377 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่เกษตรกรรมบางแห่งของเมืองเพชรบุรีแห้งแล้งกันดารมาก ราษฏรกลุ่มหนึ่งจึงทิ้งถิ่นย้ายลงมาทางใต้ จนมาถึงบ้านสมอเรียงซึ่งอยู่เหนือขึ้นมาจากเขาตะเกียบและบ้านหนองแกหรือบ้านหนองสะแก ที่บ้านสมอเรียงนี้มีหาดทรายชายทะเลแปลกกว่าที่อื่น

คือมีกลุ่มหินกระจัดกระจายอยู่อย่างสวยงาม ทั้งที่ดินก็มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำไร่ทำนาการประมง บรรพชนเหล่านี้จึงเป็นเสมือนผู้ที่ลงหลักปักเสาสร้างบ้านหัวหินขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้านที่เรียกกันแต่แรกว่า “ บ้านสมอเรียง ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร ต้นราชสกุลกฤษดากร)
เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สร้างตำหนักหลังใหญ่ชายทะเลด้านใต้ของหมู่หิน (ปัจจุบันอยู่ติดกับโรงแรมโซฟิเทลฯ) และประทานชื่อตำหนักว่า “แสนสำราญสุขเวศน์” ต่อมาทรงปลูกอีกหลังหนึ่งแยกเป็น แสนสำราญ และ สุขเวศน์ เพื่อไว้ใช้รับเสด็จเจ้านาย พร้อมกับทรงสร้างเรือนขนาดเล็กใต้ถุนสูงอีกหลายหลัง ซึ่งต่อๆ มาคือ “บังกะโลสุขเวศน์” ทรงขนานนามหาดทรายบริเวณตำหนักและหาดถัดๆ ไปทางใต้เสียใหม่ว่า “หัวหิน” เป็นคนละส่วนกับบ้านแหลมหินเดิม โดยมีกองหินชายทะเลเป็นที่หมายแบ่งเขต ซึ่งบ้านแหลมหินเดิมมีเขตด้านใต้ถึงเพียงแค่ต้นเกดใหญ่ชายทะเล (ปัจจุบันอยู่หน้าโรงแรมโซฟิเทลฯ มีศาลเทพารักษ์ใหญ่) เท่านั้น ไม่ถึงที่ดินของเสด็จในกรมฯ ครั้นเมื่อวันเวลาผ่านไป ชื่อ “หัวหิน” ก็แผ่คลุมทั้งหาดทั้งตำบลจนขยายเป็นอำเภอหัวหิน

ส่วนที่ดินแปลงที่อยู่ตรงหมู่หินชายทะเล เป็นของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งทรงสร้างตำหนักใหญ่ขึ้นถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือตำหนักขาว ครั้งหลังคือตำหนักเทาและเรือนเล็กอีกหลายหลัง ซึ่งก็คือบ้านจักรพงษ์ในเวลาต่อมา ปัจจุบันคือโรงแรมเมเลีย ซึ่งได้เปลี่ยนผู้ดำเนินการเป็นโรงแรมฮิลตัน
ในช่วงเวลาเดียวกันกับการสร้างพระราชวังไกลกังวล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ต้นราชสกุลบุรฉัตร ก็ได้จัดสร้างตลาดฉัตร์ไชยขึ้นในที่ดินพระคลังข้างที่ โดยออกแบบให้มีหลังคารูปโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 7 โค้ง เพื่อสื่อความหมายว่าเป็นการสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 7 ทั้งตัวอาคารและแผงขายสินค้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัวตลาดโล่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และจัดว่าเป็นตลาดที่ถูกสุขลักษณะที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น ชื่อตลาดฉัตร์ไชยนี้มาจากพระนามเดิมของพระองค์ คือพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรนั่นเอง ต่อมาตลาดฉัตร์ไชยและโรงแรมรถไฟ หรือโฮเต็ลหัวหินก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของชายทะเลหัวหิน ส่วนพระราชวังไกลกังวลนั้นถือว่าเป็นสถานที่อันควรสักการะบูชา มากกว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

นับตั้งแต่มีการสร้างทางรถไฟสายใต้แล้วเสร็จ เชื่อมต่อกับชายแดนของประเทศมาเลเซีย หัวหินก็มีชื่อเสียงว่าเป็นสถานที่พักตากอากาศอันลือชื่อของไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อน ว่ายน้ำ ตกปลา และตีกอล์ฟเนื่องจากมีสนามกอล์ฟ หัวหินรอยัลกอล์ฟ ซึ่งจัดเป็นสนามกอล์ฟระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย
ชื่อเสียงของหัวหินนั้น เติบโตเคียงข้างมากับโรงแรมรถไฟก็ว่าได้ ต่อมามีการสร้างบังกะโลขึ้นคือ เซ็นทรัลหัวหินวิลเลจ ซึ่งได้ถูกคัดเลือกให้เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง “Devil's Paradise” เช่นเดียวกับโรงแรมรถไฟหัวหิน ซึ่งใช้เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง “The Killing Fields” โดยเป็นการจำลองสถานที่คือ โรงแรมชั้นนำในกรุงพนมเปญในยุคสงคราม

ประวัติเทศบาลเมืองหัวหิน

ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเทศบาลตำบลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2480 โดยที่เห็นสมควรยกฐานะตำบลหัวหิน และตำบลหนองแก กิ่งอำเภอหัวหิน อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะในเขตสภาจัดบำรุงสถานที่ชายทะเลติดตะวันตก เป็นเทศบาลตำบล มีพื้นที่รับผิดชอบ 72 ตารางกิโลเมตร

เริ่มแรกในการจัดตั้งเทศบาลตำบลหัวหินมีราษฎรประมาณ 4,000 คน มีบ้านเรือนประมาณ 500 หลัง และมีรายได้ประมาณ 30,000-40,000 บาท และเมื่อ พ.ศ. 2492 กิ่งอำเภอหัวหินยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอหัวหิน เทศบาลตำบลหัวหินจึงอยู่ในเขตพื้นที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลตำบลหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2538 โดยขยายเขตเพิ่มเติมจากเดิม 72 ตารางกิโลเมตร เป็น 86.36 ตารางกิโลเมตร มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งขยายพื้นที่ลงไปในทะเล 500 เมตรด้วย และต่อมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2547 ได้มีการประกาศกระทรวงมหาดไทยเปลี่ยนแปลงฐานะจากเทศบาลตำบลหัวหินเป็นเทศบาลเมืองหัวหิน
ดวงตราเทศบาลเมืองหัวหินเป็นรูปพระนารายณ์ทรงนาค เมื่อได้รับแจ้งจากพระอิศวรไปปราบนนทุกข์ การที่กำหนดดวงตราเช่นนี้ก็ด้วยเหตุที่เขตเทศบาลเมืองหัวหินมีพื้นที่ติดทะเลเป็นส่วนใหญ่ เชื่อกันว่าพญานาคเป็นสัตว์ที่บันดาลให้เกิดน้ำทะเล ด้วยอำนาจและพลังการตีแปลงจนกลายเป็นอ่าวใหญ ส่วนพระนารายณ์เป็นเทวดาที่คอยคุ้มครองมนุษย์ให้ได้รับความสุขสบาย ตามความเชื่อถือในลัทธิพราหมณ์

ที่มา //www.huahin.go.th




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2552   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2553 14:15:31 น.   
Counter : 848 Pageviews.  


โผน กิ่งเพชร

a9


Smiley โผน กิ่งเพชร Smiley


           โผน  กิ่งเพชร  มีชื่อจริงว่า มานะ สีดอกบวบ ชื่อเล่น "แกละ" เป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกในประวัติศาสตร์ โผนเป็นนักมวยรูปร่างผอมบาง มีช่วงขาที่ยาว ถนัดขวา ส่วนสูง 5 ฟุต 6½ นิ้ว และเป็นแชมป์โลกชาวไทยคนแรกที่ได้ครองแชมป์โลกถึง 3 สมัย แต่ด้วยปัญหาส่วนตัว ทำให้โผนติดสุราจนการชกตกต่ำลง จนเสียแชมป์ไปและไม่มีโอกาสชิงแชมป์คืนได้อีก โผนถือเป็นตำนานของวงการมวยสากลคนหนึ่งของไทย วันที่โผนชิงแชมป์โลกได้ถูกกำหนดให้เป็นวันนักกีฬาไทย และมีการสร้างอนุสรณ์สถานของเขาที่หัวหินหลังจากที่เขาเสียชีวิตไปแล้ว 10 ปี


ชีวิตวัยเด็ก


              โผนเป็นบุตรคนที่ 7 ในจำนวน 9 คน ของนายห้อย และนางริ้ว สีดอกบวบ เรียนที่โรงเรียนมัธยมสาธุการจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 แล้วจึงเรียนต่อที่โรงเรียนประจำอำเภอหัวหิน(โรงเรียนหัวหิน) จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากนั้น จึงไปเรียนที่โรงเรียนหัวหินวิทยาลัยจบการศึกษาระดับมัธยมปีที่ 6 ด้วยความเป็นคนรักกีฬา ชอบเล่นกีฬาทุกประเภท แต่ที่ชอบมากที่สุด คือ มวยสากล ถึงขนาดเคยลั่นวาจาต่อหน้าเพื่อน ๆ ว่า เขาจะเป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยให้ได้(เนื่องด้วยก่อนหน้านั้น จำเริญ ทรงกิตรัตน์ เคยชิงแชมเปี้ยนโลกมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จเลย) หลังจากนั้นโผนหันมาชกมวยสากลอาชีพอย่างจริงจัง จนได้ครองแชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวท และได้ขึ้นชิงแชมป์โลกรุ่นฟลายเวทกับ ปาสคาล เปเรซ เจ้าของตำแหน่งในขณะนั้นชาวอาร์เจนตินา ซึ่งโผนชนะคะแนนได้เป็นแชมป์โลกคนแรกของไทยตามที่ตั้งใจไว้ แม้จะเสียตำแหน่งไป โผนก็ยังชิงแชมป์คืนกลับมาได้ ได้เป็นแชมป์โลกถึงสามสมัยก่อนจะแขวนนวมไป


ชีวิตครอบครัว



            หลังจากได้เป็นแชมป์โลกแล้ว โผนจึงรู้จักกับ มณฑา เพชรไทย ซึ่งเป็นบุตรสาวของ พ.ต.ต. พยุง เพชรไทย แต่งงานกันเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ก่อนที่โผนจะไปป้องกันแชมป์โลกกับไฟติ้ง ฮาราด้า โผนมีบุตรสาว 2 คน


บั้นปลายชีวิต



            หลังจากแขวนนวม ชีวิตของโผนตกต่ำอย่างที่สุด เพราะทรัพย์สินเงินทองเมื่อครั้งได้จากการชกมวยก็ร่อยหรอ แม้แต่โรงเรียนมานะวิทยา ที่เคยสร้างไว้ที่บ้านเกิด เมื่อครั้งรุ่งเรือง ก็ต้องขายทิ้ง ประกอบอาชีพค้าขายก็ขาดทุน เพราะไม่เจนจัดเล่ห์เหลี่ยมการค้า ส่วนตัวโผนเองก็มีโรคประจำตัวเรื้อรังคือ โรคเบาหวาน


            ท้ายที่สุด ขณะรับประทานอาหารกับครอบครัวที่บ้านหัวหิน อาหารเกิดสำลักเข้าไปติดอยู่ในหลอดลม ทำให้เกิดการบูดเน่าและโลหิตเป็นพิษ อาการของโผนทรุดหนัก เพราะเป็นหวัดอยู่ด้วยและเป็นโรคปอดแทรกซ้อนเข้ามา ครอบครัวต้องนำส่งโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นการด่วน อาการก็ไม่ดีขึ้น จนในที่สุด เวลา 5 ทุ่ม ของคืนวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 โผนก็จากโลกนี้ไปอย่างสงบ ด้วยวัยเพียง 47 ปี 3 เดือน 19 วัน


ผลงานด้านการชกมวย



            โผนฝึกและขึ้นชกมวยครั้งแรกที่หัวหินบ้านเกิด มีฝีมือดีที่เป็นที่ลือลั่น แต่ สง่า สีดอกบวบ พี่ชายคนโต ไม่เห็นชอบด้วย จึงนำโผนมาฝากไว้กับ นายห้างทองทศ อินทรทัต เจ้าของบริษัทเทวกรรม โอสถ ซึ่งเป็นเจ้าของค่าย "กิ่งเพชร" ในซอยชื่อเดียวกับค่าย ย่านถนนเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. 2497 ซึ่งโผนได้รับการฝึกสอนและขึ้นชกสม่ำเสมออย่างจริงจัง โดยที่มาของชื่อ "โผน" นั้น เป็นชื่อของน้องชายนายห้างทองทศ ซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์กบฏวังหลวง พ.ศ. 2492 ก่อนหน้านี้ (พ.ต. โผน อินทรทัต อดีตเสรีไทย และผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ ในขณะนั้น)


            การชกของโผนดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชนะน็อก กู้น้อย วิถีชัย แชมป์ฟลายเวทของเวทีราชดำเนิน ได้อย่างงดงาม ทั้ง ๆ ที่โผนมีประสบการณ์น้อยกว่าอย่างเทียบไม่ติด และต่อมาเมื่อมีการแก้มือกัน โผนก็ชนะคะแนนไปได้อีกครั้ง ก่อนจะขึ้นครองแชมป์เวทีราชดำเนิน โผนชกชนะนักมวยชื่อดังในรุ่นฟลายเวตและแบนตัมเวทในยุคนั้นมาแล้วหลายคน เช่น บุญธรรม วิถีชัย พร พัลธุมเกียรติ สมยศ สิงหพัลลภ ประยุทธ ยนตรกิจ เป็นต้น ต่อมา โผนได้ขึ้นชิงแชมป์ภาคตะวันออกไกลฯ (OPBF) โดยชนะคะแนน แดนนี่ คิด เจ้าของตำแหน่งชาวฟิลิปปินส์ โผนจึงได้มีชื่อติดอันดับโลก และเป็นการกรุยทางสู่การชิงแชมป์โลก


แชมป์โลกคนแรกของไทย
 
           โผนชกแก้มือกับ ปาสคาล เปเรซการชิงแชมป์โลกของโผนได้กระทำต่อหน้าพระพักตร์ กับ ปาสคาล เปเรซ แชมเปี้ยนชาวอาร์เจนตินา ณ เวทีมวยลุมพินี เมื่อคืนวันเสาร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2503 โดยในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรด้วย การชกในวันนั้นไม่มีการถ่ายทอดทางโทรทัศน์ เนื่องจากประเทศไทยขณะนั้นยังไม่มีสถานีโทรทัศน์ แต่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง และมีการบันทึกการชกเป็นหนังสารคดีฉายตามโรงภาพยนตร์ในภายหลังแทน เริ่มแรกกำหนดการชิงแชมป์โลกของโผน คือ 2 เมษายน แล้วจึงเลื่อนออกมาเป็น 16 เมษายน มีการแต่งเพลงออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงด้วยทำนองเพลงกราวกีฬาว่า


 "วันที่ 2 เมษามหาฤกษ์ ชาวไทยเอิกเกริกกันทั่วหน้า โผนจะได้ชิงมงกุฏสุดโสภา เป็นมิ่งขวัญประชาชาติไทย" 
 


           ก่อนถึงวันชก มีการโปรโมตตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น แต่งเพลงเชียร์โผนเป็นทำนองเพลงมาร์ช ปลุกใจ ตามวิทยุ หรือ รถกระจายเสียง ซึ่งผู้แต่ง คือ สุรพล โทณะวณิก และผู้ขับร้อง คือ มีศักดิ์ นาครัตน์ มีเนื้อร้องบางช่วงว่า


 "เราเชียร์โผน...เราเชียร์โผน...เราเชียร์โผน..โผน...โผน...โผน...โผน เปเรซจะแข็งอย่างไร แต่โผนเลือดไทย....ต้องเชียร์ไว้ดีกว่า....."  
 
แต่ก็มีเด็ก ๆ ไปแปลงเนื้อเป็น "โผน กิ่งเพชร เปเรซ กิ่งไผ่ โผน มือไวต่อยไข่ เปเรซ
 


            สำหรับ ปาสคาล เปเรซ แชมเปี้ยนนั้น เคยครองเหรียญทองโอลิมปิกมาแล้ว จากการแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น ที่กรุงลอนดอน ในปี พ.ศ. 2491 และก่อนหน้าจะมาป้องกันตำแหน่งกับโผนนั้น ได้ป้องกันตำแหน่งไว้ได้แล้วถึง 10 ครั้ง ครองแชมป์อย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 5 ปี โดยอายุของเปเรซขณะนั้นได้ 33 ปี ขณะที่โผนอายุเพียง 25 ปี ผ่านการชกมาแค่ 22 ไฟท์ เมื่อมาถึง คนไทยให้ฉายาเปเรซว่า "ยักษ์แคระ" เพราะเป็นนักมวยรูปร่างเล็ก แต่มีช่วงแขนที่ใหญ่บึกบึน


            ผลการแข่งขันในการชกในครั้งนั้น ปรากฏว่าโผนชนะคะแนนอย่างไม่เป็นเอกฉันท์ โดยกรรมการ โลเรนโซ เทอเลบ้า กรรมการห้ามบนเวทีชาวอาร์เจนตินา ชาติเดียวกับเปเรซ ให้เปเรซชนะ 145 - 143 กรรมการชาวไทย วงศ์ หิรัญยเลขา ให้โผนชนะ 148 - 137 และ แน็ต แฟลชเชอร์ กรรมการจากเดอะ ริง ให้โผนชนะ 146 - 140 ได้ครองแชมป์โลกรุ่นฟลายเวท ของสถาบันเดอะริง (The Ring) เป็นแชมป์โลกคนแรกของไทย ภายหลังการรู้ผลการชก ที่อำเภอหัวหินบ้านเกิดของโผนได้มีการจุดพลุฉลองทั่วทั้งเมืองทันที ต่อมา สมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้ วันที่ 16 เมษายน ของทุกปี เป็น วันนักกีฬายอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ วันนักกีฬาไทยโดยมีการมอบรางวัลถ้วยพระราชทานเป็นประจำทุกปี (คนละวันกับ วันกีฬาแห่งชาติ 16 ธันวาคม ที่กำหนดตามวันที่ในหลวงทรงได้เหรียญทองซีเกมส์)


 
           โผนชนะ ทีเคโอ ปาสคาล เปเรซ ที่ลอสแอนเจลิสในการชกครั้งต่อ ๆ มา เมื่อโผน กิ่งเพชร เสียตำแหน่งไปก็สามารถชิงกลับมาได้ถึง 3 ครั้ง โดยมีหลายไฟท์ในความทรงจำ เช่น การแก้มือกับ ปาสคาล เปเรซ ที่ลอสแอนเจลิส โดยชนะทีเคโอไปอย่างหายสงสัย และชนะคะแนน "เสือหมัดซ้าย" มิตสุโนริ เซกิ ถึงกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น


           โผนเสียแชมป์สมัยแรกให้กับไฟติ้ง ฮาราด้า นักมวยดาวรุ่งจากญี่ปุ่น ก่อนการชก โผนเป็นฝ่ายได้เปรียบทั้งในด้านประสบการณ์และฝีมือ แต่เมื่อชกกันจริง ปรากฏว่าฮาราด้าใช้ความหนุ่มแน่นบุกตะลุยเข้าชกตั้งแต่ยกแรกจนโผนตั้งตัวไม่ติด อ่อนแรงลงและแพ้น็อคไปในที่สุด


           โผนได้ชกแก้มือกับฮาราด้าอีกครั้งที่กรุงเทพฯ เมื่อ 11 มกราคม พ.ศ. 2506 ซึ่งในหลวงได้เสด็จมาทอดพระเนตรด้วย การชกครั้งนั้นจัดที่อาคารยิมเนเซียม 1 หรือที่เรียกว่าอาคารนิมิบุตรในปัจจุบัน เป็นศึกชิงแชมป์โลกครั้งที่ 4 ที่จัดในเมืองไทย ในวันนั้นคนดูเข้าซื้อตั๋วที่สนามจนแน่น ตั้งแต่เวลา 17.00 น. และมีคนดูที่ซื้อตั๋วแล้วแต่เข้าสนามไม่ได้อีกมาก


           การชกในยกแรก ๆ โผนใช้เชิงชกที่เหนือกว่าและหมัดแย็ป เก็บคะแนนไปเรื่อย ๆ ส่วนฮาราด้ายังบุกตะลุยเข้ามาในแบบเดิม จนโผนเริ่มหมดแรง ยืนขาตายหนีไม่ออก ถูกฮาราด้าไล่ถลุง ขณะนั้นในหลวงเสด็จถึงสนามมวยพอดี เมื่อโผนทราบว่าในหลวงเสด็จมาแล้วก็เกิดกำลังใจออกไปชกกับฮาราด้าได้ในรูปแบบเดิมใช้จังหวะฝีมือที่เหนือกว่าหลอกล่อฮาราด้า แทบจะเป็นฝ่ายชกข้างเดียวครบ 15 ยก โผนจึงเป็นฝ่ายชนะคะแนน ได้ครองแชมป์โลกสมัยที่ 2


           หลังจากชิงแชมป์คืนมาจากฮาราด้า โผนว่างเว้นจาการชกไปนานเนื่องจากโผนไม่ยอมเข้าค่ายซ้อม แม้จะมีผู้ท้าชิงจากญี่ปุ่น คือ ฮิโรยูกิ เอบิฮาร่า ติดต่อมา แต่ก็ต้องเลื่อนกำหนดการชกออกไปหลายครั้ง ระหว่างนี้ นิยม ทองชิตร ถอนตัวจากการเป็นเทรนเนอร์ หิรัญ สีดอกบวบ พี่ชายเข้ามาเป็นผู้จัดการแทน ในที่สุดกำหนดการชกระหว่างโผนกับเอบิฮาร่ามีขึ้นเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2506 และโผนเป็นฝ่ายแพ้น็อคแค่ยกแรกเท่านั้นแต่ก็สามารถชกแก้มือ ชิงแชมป์โลกคืนจากเอบิฮาร่า เป็นสมัยที่สาม หลังจากนั้น ชื่อเสียงของโผนเริ่มตกต่ำลง การชกมวยของโผนไม่เป็นที่ราบรื่น เพราะขัดแย้งกับเทรนเนอร์ และผู้จัดการเสมอ ๆ จนต้องมีการเปลี่ยนตัวบ่อยครั้ง ประกอบกับโผนเองก็ติดสุราอย่างหนัก จนเกือบเป็นสุราเรื้อรัง หนีซ้อม ผลการชกก็ตกลงเรื่อย ๆ จนเสียแชมป์ให้กับซัลวาโตเร่ เบอรูนี่ ที่อิตาลี จากนั้น โผนไม่มีโอกาสชิงแชมป์โลกอีกเลย กลับมาชกไต่อันดับก็แพ้คะแนน เบบี้ โรโรน่า (ฟิลิปปินส์) โผนจึงแขวนนวมในปี พ.ศ. 2509 เมื่ออายุได้ 31 ปี


ผลงานการชกครั้งสำคัญ
         
      


ผลงานการชกครั้งสำคัญของโผน ได้แก่



  1. แชมป์ประเทศไทยรุ่นฟลายเวท ชิง 14 ตุลาคม 2499 ชนะคะแนน กู้น้อย วิถีชัย
    สละแชมป์

  2. แชมป์ OPBF รุ่นฟลายเวท (2500)
    ชิง, 6 มกราคม 2500 ชนะคะแนน แดนนี่ คิด ที่ กรุงเทพฯ

  3. ป้องกันครั้งที่ 1, 14 กันยายน 2500 ชนะคะแนน ฮิโตชิ มิซาโกะ ที่ กรุงเทพฯ

  4. แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท (2503 – 2505)
    ชิง, 16 เมษายน 2503 ชนะคะแนน ปาสคาล เปเรซ ที่ เวทีลุมพินี

  5. ป้องกันครั้งที่ 1, 22 กันยายน 2503 ชนะน็อค ปาสคาล เปเรซ ยก 8 ที่ สหรัฐ

  6. ป้องกันครั้งที่ 2, 27 มิถุนายน 2504 ชนะคะแนน มิตสุโนริ เซกิ ที่ ญี่ปุ่น

  7. ป้องกันครั้งที่ 3, 30 พฤษภาคม 2505 ชนะคะแนน เคียว โนกูจิ ที่ ญี่ปุ่น

  8. เสียแชมป์, 10 ตุลาคม 2505 แพ้น็อค ไฟติ้ง ฮาราด้า ยก 11 ที่ ญี่ปุ่น

  9. แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBA, WBC (2506)
    ชิง, 12 มกราคม 2506 ชนะคะแนน ไฟติ้ง ฮาราด้า ที่ กรุงเทพฯ

  10. เสียแชมป์, 18 กันยายน 2506 แพ้น็อค ฮิโรยูกิ เอบิฮาร่า ยก 1 ที่ ญี่ปุ่น

  11. แชมป์โลกรุ่นฟลายเวท WBA, WBC (2507 – 2508)
    ชิง, WBA, WBC 23 มกราคม 2507 ชนะคะแนน ฮิโรยูกิ เอบิฮาร่า ที่ เวทีราชดำเนิน

  12. เสียแชมป์, 23 เมษายน 2508 แพ้คะแนน ซัลวาโตเร่ เบอร์รูนี่ ที่ อิตาลี


เคยชิงแชมป์ต่อไปนี้แต่ไม่สำเร็จ


ชิงแชมป์ OPBF รุ่นแบนตัมเวท 7 กรกฎาคม 2500 แพ้คะแนน เลียว เอสปิโนซ่า ที่ กรุงเทพฯ


ผลงานด้านอื่น
การแสดงภาพยนตร์



            เมื่อยังเป็นแชมป์โลกอยู่นั้น โผน กิ่งเพชร เคยแสดงภาพยนตร์เรื่อง "เทพบุตรนักเลง" ในปี พ.ศ. 2508 ด้วย นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ โดยโผนแสดงเป็นตัวประกอบ เนื่องจากเป็นบุคคลที่โด่งดังอยู่ในเวลานั้น และมี อภิเดช ศิษย์หิรัญ นักมวยไทยชื่อดังร่วมสมัยแสดงด้วย นอกจากนี้ เมื่อโผนเสียชีวิตไปแล้ว ในปี พ.ศ. 2529 กันตนาจึงได้ผลิตละครชีวประวัติของโผน กิ่งเพชร ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5


การฝึกสอนมวยสากล



           โผนเป็นนักมวยที่มีจุดเด่นที่หมัดแยปรวดเร็ว ฟุตเวิร์กคล่องแคล่ว หาจังหวะชกฉาบฉวยได้ดี และมีปฏิภาณไหวพริบในการชก ไม่ใช่มวยหมัดหนักแบบ "โป้งเดียวจอด" เมื่อโผนเลิกชกมวยแล้ว เคยมีนักมวยรุ่นหลังมาฝึกมวยกับโผนหลายคน รวมทั้ง พเยาว์ พูนธรัตน์ ส่วน ชาติชาย เชี่ยวน้อย แชมป์โลกคนที่ 2 เคยมาเป็นคู่ซ้อมของโผนอยู่ระยะหนึ่ง เมื่อราว พ.ศ. 2519 - 2520 มีชาวญี่ปุ่นมาเชิญโผนไปสอนมวยสากลที่ญี่ปุ่น แต่โผนปฏิเสธ โดยกล่าวว่าเขาไม่ต้องการให้วิชามวยนี้ไปอยู่ต่างประเทศ แต่ไม่มีหน่วยงานใด ๆ ในไทยมาเชิญโผนไปสอนมวยสากลอย่างจริงจัง ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีฟิล์มภาพยนตร์บันทึกภาพการชกของโผนไว้ศึกษาในพิพิธภัณฑ์


 กิจกรรมด้านสังคม



          เมื่อโผนได้เป็นแชมป์โลก และเก็บเงินได้จำนวนหนึ่ง โผนได้สร้างโรงเรียนที่อำเภอหัวหินชื่อ "โรงเรียนมานะวิทยา" เพื่อเปิดโอกาสให้คนจนได้เรียน โดยเซ้งกิจการต่อจากโรงเรียนจีนที่ใกล้จะปิดกิจการ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ม.3 แต่เปิดอยู่ได้ไม่นาน ก็ซบเซาจนต้องปิดกิจการ และถูกกระทรวงศึกษาธิการสั่งปิดเมื่อ พ.ศ. 2520


อนุสรณ์สถาน
 
          อนุสาวรีย์ โผน กิ่งเพชร ที่ชายหาดหัวหิน ที่เทศบาลเมืองหัวหินสร้างไว้เป็นอนุสรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2535แนวคิดเกี่ยวกับการสร้างอนุสรณ์สถานของโผน กิ่งเพชรเริ่มขึ้นตั้งแต่โผนเสียชีวิต แต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างมากนัก ต่อมา เมื่อ พ.ศ. 2532 หอภาพยนตร์แห่งชาติ กรมศิลปากร ได้จัดฉายภาพยนตร์การชกระหว่างโผนกับเปเรซ เก็บเงินบริจาคได้จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีการสร้างอนุสรณ์สถาน จนกระทั่ง พ.ศ. 2534 สมาคมกิจวัฒนธรรมได้เคลื่อนไหวเพื่อสร้างอนุสรณ์สถานอีกครั้ง และได้เสนอให้สร้างอนุสาวรีย์ของโผนที่หาดหัวหิน เทศบาลหัวหินได้จัดงานแสดงดนตรีเพื่อระดมทุนก่อสร้างเมื่อ 20 เมษายน พ.ศ. 2534 จากนั้น จึงเริ่มการสร้างและมีพิธีเปิดเมื่อ 16 เมษายน พ.ศ. 2535 ลักษณะรูปปั้น สูง 2 เมตร 20 เซนติเมตร อยู่ในท่ายืน มือขวาชูกำปั้น มือซ้ายถือเข็มขัดแชมป์โลก โดยประติมากรผู้ปั้นรูปโผน คือ นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ศิลปินแห่งชาติ พ.ศ. 2549  
นอกจากนี้ ยังมีสถานที่ที่ตั้งชื่อให้เกียรติกับโผน คือ "น้ำตกโผนพบ" ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย โดยโผนได้เคยมาฟิตซ้อมบนภูกระดึงเพื่อให้เคยชินกับอากาศของต่างประเทศ ก่อนเดินทางไปแข่งขัน จึงได้ตั้งชื่อนี้เพื่อเป็นเกียรติแก่โผน กิ่งเพชร


ที่มา  วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี







 

Create Date : 11 ตุลาคม 2552   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2553 14:15:18 น.   
Counter : 1535 Pageviews.  



 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




hdmi cable
http://www.free-counter-plus.com
คลิกที่นี่เพื่อลงทะเบียนขายภาพถ่ายของคุณครับ
My latest images for sale at Shutterstock:

My most popular images for sale at Shutterstock:

Royalty-Free Vectors and Images View My Portfolio Stock Photos from 123RF Royalty free photos and vectors at Cutcaster Stock photography by KOMKRIT+MUANGCHAN at Alamy
[Add 's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com