Smiley Hello Hua Hin Smiley
 
หัวหิน : ถิ่นราตรีประดับดาว

หัวหิน : ถิ่นราตรีประดับดาว
เรียบเรียง : วศิน สุขเกษม

ใครเลยจะล่วงรู้ว่า หัวหินยามกาลเก่าเมื่อครั้งยังเป็นเพียงชุมชนประมงเล็กๆ ในวันนั้น จะกลับกลายเป็นเมืองท่องเที่ยวอันเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์เฉกเช่นวันนี้

และอีกหนึ่งมนต์เสน่ห์ที่สามารถจะสะท้อนภาพลักษณ์ของหัวหินในวันนี้ได้ค่อนข้างชัดเจนนั่นคือเสน่ห์แห่งวัฒนธรรมทางดนตรี ถึงแม้วัฒนธรรมที่ว่าในวันนี้จะไม่ได้แสดงความเป็นรากเหง้าของเราคนไทยเองก็ตาม แต่สิ่งนี้ถูกปรุงแต่งให้กับหัวหินจนคล้ายจะเป็นเครื่องหมายการค้าชั้นเยี่ยม โดยเฉพาะช่วงนี้หัวหินต่างคึกคักด้วยบรรยากาศของงานดนตรี หรือคอนเสิร์ตที่จ่อคิวตบเท้าเข้ามาสร้างสีสันให้กับเมืองอย่างไม่เว้นวาย ทั้งจากภาคเอกชนและเทศบาล ไม่ว่าจะเป็นมหกรรมดนตรีน้องใหม่อย่าง “ฮอนด้า ซัมเมอร์ เฟสต์ @ หัวหิน” ที่ถูกจัดขึ้น ณ เขาตะเกียบ ตั้งแต่เที่ยงวันยันเที่ยงคืนที่พึ่งจะผ่านพ้นไป หรือพี่ใหญ่อย่าง “หัวหิน แจ๊ส เฟสติวัล” มหกรรมดนตรีที่จัดต่อเนื่องทุกปี บริเวณชายหาดหัวหิน หรือจะเป็นงานดนตรีขนาดย่อมอย่างโครงการดนตรีเพื่อประชาชน ที่จัดขึ้นทุกเย็นวันศุกร์ ตลอดทั้งปี ณ สวนหลวงราชินี (พื้นที่ 19 ไร่) หรือโครงการประกวดดนตรีวัยฮิปอย่าง “Music in Summer 2008” ที่จัดขึ้นโดยเทศบาลฯ เป็นต้น หากมองหัวหินวันนี้ในแง่สายงานวัฒนธรรมก็คงไม่ผิดนักที่จะบอกว่า หัวหินคือเมืองแห่งดนตรี หรือ แจ๊สทาวน์ ที่ใครหลายๆ คนต่างยอมรับ ประการหนึ่งนั่นมาจากรูปลักษณ์ของวิถีเมืองที่ถูกก่อร่างสร้างฐานมาจากวงสัมคมชั้นผู้นำในอดีต ถูกจับคู่เข้ากับลักษณะความลื่นไหลของแนวดนตรีอย่างแจ๊ส หรือบลูส์ อันแสดงความรู้สึกถึงการปลดปล่อยทางอารมณ์ได้เป็นอย่างดี โดยทั้งสองบริบทที่ยกมานี้ต่างได้รับการพัฒนา ปรับปรุง พร้อมเกิดการยอมรับจนถึงขั้นที่เรียกว่า “อมตะ” หรือ “คลาสสิค” (classic) คุณค่าแห่งความคลาสสิคนี้เอง ที่ดูเหมือนจะเป็นคุณค่าร่วมที่ทั้งสองบริบทสัมพันธ์กัน และพอจะสามารถช่วยยืนยันถึงความเหมาะสมที่หัวหินจะเป็นเมืองแห่งดนตรีได้อย่างมีน้ำหนัก ถึงแม้ว่ากระแสวัฒนธรรมทางดนตรีดังกล่าวจะพึ่งเริ่มต้นกระเพื่อมมาได้ไม่ไกลมากนักก็ตาม

หากลองย้อนเวลาถอยหลังไปเกือบ 80 ปี บนพื้นที่รายรอบติดชายทะเลแห่งเดียวกันก็ปรากฎความงดงามทางวัฒนธรรมดนตรีเช่นกัน แต่ทว่าวัฒนธรรมดนตรีในครั้งนั้นสามารถแสดงความเป็นรากเหง้าของเราคนไทยได้อย่างกระจ่างชัด ใครเลยจะล่วงรู้ว่าความงดงามแห่งโสตนั้นจะยังดังก้องกังวานยาวนานมาไกลจนถึงวันนี้ นับตั้งแต่วังไกลกังวลปรากฎขึ้นตามพระราชประสงค์ เสียงแห่งโสตที่ถูกรังสรรค์ก็ปรากฎขึ้นตาม คล้ายจะคลายความกังวลให้กับผู้ยินยลดังกังวานอยู่รายรอบรั้วเขตวัง นั่นคือพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว “ราตรีประดับดาว” ปฐมบทแห่งคีตราชา อันสมบูรณ์จับใจด้วยอรรถรสแห่งคีตกรรม หากคุณคือคนหนึ่งที่โลดแล่นอยู่ในแวดวงดนตรีแบบจารีตนิยม (Thai Classical Music) แล้ว ก็คงมิอาจปฏิเสธถึงความเพราะพริ้งของบทเพลงนี้ได้ หากแต่คุณคือคนหนึ่งที่เดินเวียนวนอยู่ชายขอบของแวดวงดนตรีดังกล่าวแล้ว อาจจะไม่คุ้นหู หรืออาจไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อเพลงก็เป็นได้

บทเพลงพระราชนิพนธ์ “ราตรีประดับดาว” นี้ เป็นพระราชนิพนธ์ลำดับแรกที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น ขณะประทับอยู่ที่วังไกลกังวล ในพุทธศักราช 2472 พระองค์ทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยในการพระราชนิพนธ์เพลงราตรีประดับดาวนี้ จากเพลงแขกมอญบางขุนพรหม พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ต้นราชสกุลบริพัตร) โดยเพลงแขกมอญบางขุนพรหมนี้ถูกแต่งขึ้นเป็นเพลงเถา ออกสำเนียงมอญ

ด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยดังกล่าว พระองค์จึงได้ทรงปรึกษากับครูดนตรีถึงพระราชประสงค์นั้น โดยนำเพลงมอญดูดาว 2 ชั้น ของเดิมที่นิยมใช้บรรเลงและขับร้องประกอบการแสดงละครพันทาง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มาทรงพระราชนิพนธ์ใหม่ให้เป็นเพลงเถา สำเนียงมอญ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงพระราชนิพนธ์บทร้องประกอบด้วยพระองค์เองอีกด้วย เนื้อความว่า

วันนี้...................................................แสนสุดยินดีพระจันทร์วันเพ็ญ
ขอเชิญสายใจเจ้าไปนั่งเล่น.......................ลมพัดเย็นเย็นหอมกลิ่นมาลี
หอมดอกราตรี.....................................แม้ไม่สดสีหอมดีน่าดม
เหมือนงามน้ำใจแม้ไม่ขำคม.....................กิริยาน่าชมสมใจจริงเอย
ชมแต่ดวงเดือน...................................ที่ไหนจะเหมือนได้ชมหน้าน้อง
พี่อยู่แดเดียวเปลี่ยวใจหม่นหมอง..............เจ้าอย่าขุ่นข้องจงได้เมตตา
หอมดอกชมนาด..................................กลิ่นไม่ฉูดฉาดแต่หอมยวนใจ
เหมือนน้ำใจดีปรานีปราศรัย.....................ผูกจิตสนิทให้รักจริงเอย
ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ...................เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง
หอมดอกแก้วยามเย็น...............................ไม่เห็นใจพี่เสียเลยเอย
ดวงจันทร์หลั่นลดเกือบหมดดวง...............โอ้หนาวทรวงยอดชีวาไม่ปรานี
หอมดอกมะลิกลีบซ้อน............................ อ้อนวอนเจ้าไม่ฟังเอย
จวนจะรุ่งแล้วนะเจ้าพี่ขอลา..................แสงทองส่องฟ้าสง่าศรี
หอมดอกกระดังงา....................................ชิชะช่างน่าเจ็บใจจริงเอย
หมู่ภมรร่อนหาช่อมาลี..........................แต่ตัวพี่จำจากพรากไปไกล
หอมดอกจำปี............................................นี่แน่ะพรุ่งนี้จะกลับมาเอย


เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว โดยส่วนใหญ่เราเองจะคุ้นเคยกับพระองค์ในด้านประวัติศาสตร์ทางด้านการปกครอง เช่น การพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ปวงชนชาวไทย ตลอดจนการสละราชสมบัติของพระองค์เท่านั้น ไม่ค่อยปรากฎเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระอัจฉริยะภาพทางด้านคีตกรรมมากนัก สิ่งนี้คล้ายจะเป็นเพียงแค่เกร็ดเล็กๆ ที่หลบซ่อนอยู่ในช่องหลืบแห่งประวัติศาสตร์ที่ไม่ใคร่จะมีผู้คนกล่าวถึง ซึ่งความจริงแล้วพระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยทางด้านดุริยางคศิลป์อย่างยิ่งยวด ทรงเป็นเอกทางด้านการทรงซออู้


รัชกาลที่ 7 ทรงซออู้

บทความตอนหนึ่งที่เรียบเรียงไว้ในจดหมายเหตุวังไกลกังวล โดยแพทย์หญิงกรรณิการ์ ตันประเสริฐ
ที่แสดงถึงมูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระราชหฤทัยดนตรีไทยมาก จนถึงขั้นเริ่มหัดเรียนดนตรีไทยกับหลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) และ หลวงไพเราะเสียงซอ (อุ่น ดุริยชีวิน) โดยพระมหาเทพกษัตรสมุห (เนื่อง สาคริก) เล่าเรื่องนี้แก่ สุจิตต์ วงษ์เทศ และทรงวิทย์ ดลประสิทธิ์ ไว้ว่า

“ตอนนั้นมีการฉลองช้างเผือก จะต้องมีการอ่านโองการกล่อมช้างอย่างที่เคยมีมานั่นแหละ จะต้องมีโหรอ่านฉันท์ พราหมณ์ไกวบัณเฑาะว์ แล้วนักดนตรีสีซอสามสาย ทีนี้ผมก็บอกหลวงไพเราะฯ ให้ปล่อยฝีมือให้เต็มที่เลยนะ เพราะในห้องมีอยู่ด้วยกันเพียง 2 คน เท่านั้น ได้ผล พอรัชกาลที่ 7 เสด็จขึ้นจากพิธีกล่อมช้างนี่แหละ ท่านมีรับสั่งกับผมว่า เอ...เครื่องดนตรีไทยนี่ก็แปลก มีแค่สามสายแต่ทำได้ทุกเสียง แล้วก็ชัดดีด้วย”

เมื่อย้อนกลับมาที่บทร้องพระราชนิพนธ์เพลงราตรีประดับดาว บทร้องตอนหนึ่งกล่าวว่า

“ขอเชิญเจ้าฟังเพลงวังเวงใจ........เพลงของท่านแต่งใหม่ในวังหลวง”

จากเนื้อร้องข้างต้นที่ยกมานั้น อาจทำให้เกิดข้อกังขาว่า แท้จริงแล้วเพลงพระราชนิพนธ์ราตรีประดับดาวนี้ถูกพระราชนิพนธ์ขึ้นขณะประทับที่หัวหินจริงหรือ เพราะเนื้อร้องกล่าวว่าแต่งในวังหลวง

จากข้อสงสัยนี้มีผู้ให้แนวคิดไว้ว่า

เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้รับแรงบันดาลพระราชหฤทัยในการพระราชนิพนธ์เพลงราตรีประดับดาวนี้ จากเพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา อย่างที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้น ซึ่งเนื้อความตอนหนึ่งของเพลงแขกมอญบางขุนพรหมนั้นกล่าวว่า

“ชื่อแขกมอญบางขุนพรหมนามสมญา.......ฉันได้มาจากวังบางขุนพรหม"

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงพระนิพนธ์เนื้อร้องตอนนี้บรรจุไว้ประกอบการขับร้องเพลงแขกมอญบางขุนพรหม ในอัตราจังหวะชั้นเดียว เพื่อที่จะให้หมายรู้ถึงที่มา หรือผู้ประพันธ์เพลง ซึ่งวังบางขุนพรหมนั้นเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทย สี่แยกบางขุนพรหม) นั่นเอง


วังบางขุนพรหม

ในลักษณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงอักษรคำว่า “วังหลวง” ไว้ในบทร้องของเพลงราตรีประดับดาวเช่นกัน อันจะหมายล้อกับเพลงแขกมอญบางขุนพรหมประการหนึ่ง นอกจากนี้ยังหมายที่จะแสดงความนัยให้ทราบผู้ประพันธ์หรือที่มาของเพลง โดยความหมายของวังหลวงนั้นก็คือพระบรมมหาราชวัง อันแสดงถึงที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน แม้ความจริงเพลงนี้จะถูกพระราชนิพนธ์ขึ้นที่วังไกลกังวลก็ตาม แต่พระองค์ทรงใช้ภาษาในเชิงเปรียบเทียบ อันแสดงถึงพระอัจฉริยะภาพทางด้านวรรณศิลป์

หลังจากที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ทั้งทำนองและเนื้อร้องเพลงราตรีประดับดาวเป็นที่เรียบร้อย พระองค์ทรงพระราชทานต่อเพลงนี้แก่ข้าราชการในกรมพิณพาทย์และโขนหลวงเพื่อให้ได้ซักซ้อม และนำมาบรรเลงถวาย ณ วังศุโขทัย เพื่อทรงตรวจแก้ไข โดยมีผู้เชี่ยวชาญการดนตรี 2 พระองค์ ทรงร่วมฟังด้วยได้แก่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายเสรฐวงศ์วราวัตร กรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ (ราชสกุลจักรพันธุ์) ซึ่งในขณะนั้นเพลงราตรีประดับดาวนี้ยังหามีชื่อเรียกตามนี้ไม่ ทำให้เจ้านายหลายพระองค์ต่างถวายชื่อเพลงมากมาย เช่น ดาวประดับฟ้า ดารารามัญ และอื่นๆ เป็นต้น แต่ก็ยังมิได้ปรากฎชื่อใดๆ ในการเรียกเพลงนี้ จวบจนวงมโหรีหลวงได้นำเพลงนี้บรรเลงและร้องออกอากาศ ณ สถานี 1.1 ที่ศาลาแดง โดยประกาศชื่อเพลงนี้ว่า “ราตรีประดับดาว” อันเป็นพระนามที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้นเอง

นับตั้งแต่นั้นมาความอ่อนหวานแห่งท่วงทำนองที่สอดแทรกสำเนียงมอญ คละเคล้าความออดอ้อนแห่งบทกวี ก็กลายเป็นมรดกทางกระแสเสียงที่ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น และถูกกล่าวขานถึงความไพเราะ พร้อมทั้งกลายเป็นบทเพลงที่นิยมบรรเลง และทรงคุณค่าในหมู่แวดวงดนตรีจารีตจวบจนปัจจุบันในนาม “ราตรีประดับดาว”

ถึงแม้ “ราตรีประดับดาว” จะเป็นผลงานเพลงพระราชนิพนธ์ลำดับแรกของพระองค์ แต่หาได้มีที่ติ หรือข้อบกพร่องเลยไม่ กลับสมบูรณ์จับใจด้วยอรรถรสทางคีตกรรม พรั่งพร้อมด้วยความงดงามแห่งวรรณศิลป์อีกทั้งกลายเป็นมรดกทางวัฒนธรรมดนตรีของชาติที่ปรากฎรากฐานจากเมืองท่องเที่ยวอย่างหัวหินโดยแท้ มนต์เสน่ห์แห่งบทเพลงราตรีประดับดาวนี้ จะยังคงเป็นอีกหนึ่งดวงดาราที่ทอแสงระยิบระยับประดับผืนฟ้าของหัวหินยามราตรีต่อไป หากชาวหัวหินยังคงตระหนักและรับรู้ถึงคุณค่าแห่งบทเพลงอันครอบคลุมถึงรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมดนตรีของตนเอง พร้อมทั้งรู้เท่าทันมายาแห่งกระแสโลกาภิวัฒน์อย่างชาญฉลาด


---------------------------------------------
เอกสารอ้างอิง
กรรณิการ์ ตันประเสริฐ, แพทย์หญิง. จดหมายเหตุวังไกลกังวล สมัยรัชกาลที่ 7. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546.
สรศัลย์ แพ่งสภา, ราตรีประดับดาวที่หัวหิน. พิมพ์ครั้งที่2. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี, 2545.
เทศบาลเมืองหัวหิน, เรื่องเล่าของชาวหัวหิน. ประจวบคีรีขันธ์ : บริษัทปราณนิวส์, 2549.

ที่มา //huahin4u.com



Create Date : 22 ตุลาคม 2552
Last Update : 12 กรกฎาคม 2553 14:14:34 น. 0 comments
Counter : 2726 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




hdmi cable
http://www.free-counter-plus.com
คลิกที่นี่เพื่อลงทะเบียนขายภาพถ่ายของคุณครับ
My latest images for sale at Shutterstock:

My most popular images for sale at Shutterstock:

Royalty-Free Vectors and Images View My Portfolio Stock Photos from 123RF Royalty free photos and vectors at Cutcaster Stock photography by KOMKRIT+MUANGCHAN at Alamy
[Add 's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com