ความอยากย่อมผลักดัน ให้คนวิ่งวุ่น
Group Blog
 
All blogs
 

รู้จักเมืองเลย



เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม

สภาพทั่วไป
จังหวัดเลยตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับภาคเหนือ มีพื้นที่ 11,425 ตารางกิโลเมตรหรือ 7,140,000 ไร่ จัดเป็นจังหวัดขนาดกลาง ลักษณะรูปร่างของจังหวัดคล้ายกับกระทะใบบัว ปัจจุบันที่ตั้งของจังหวัดนั้นเป็นศูนย์กลางคมนาคมระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภาคเหนือติดต่อไปยังจังหวัดพิษณุโลก อุตรดิตถ์ เชียงราย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่จึงเรียกได้ว่าจังหวัดเลย ถือเป็นประตูสู่ล้านนาและในอนาคตยังจะเป็นประตูสู่ล้านช้างด้วย เพราะขณะนี้มีโครงการสร้างสะพานไทย – ลาว ข้ามแม่น้ำเหืองอำเภอท่าลี่กับเมืองแก่นท้าว แขวงไชยบุรี เพราะระยะทางจากเลยสู่ล้านช้างระยะทางประมาณ 350 กิโลเมตร จังหวัดเลยติดกับชายแดนต่างประเทศ 1 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และจังหวัดใกล้เคียง 6 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู อุดรธานี และหนองคาย
ลักษณะพื้นที่ของจังหวัดเลยโดยทั่วไปเป็นภูเขาสูงและล้อมรอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนลดหลั่นเรียงรายมีลักษณะคล้ายคลื่นทะเล ตัวเมืองมีภูเขา ล้อมรอบคล้ายกระทะใบบัวสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 400 เมตร เขตที่ราบลุ่มบริเวณลำน้ำเลย และลำน้ำโขง ได้แก่บริเวณอำเภอภูหลวง อำเภอวังสะพุง อำเภอเมือง และอำเภอเชียงคาน เป็นเขตที่ราบมีพื้นที่สำหรับทำการเกษตรมาก ดินอุดมสมบูรณ์ ทำการเกษตร เพาะปลูกได้ดีมีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นมากกว่าเขตอื่น ๆ




ชาวไทเลย
1. ไทเลย เป็นชื่อเรียกคนเมืองเลย ในประวัติศาตร์บันทึกไว้ว่าคนเมืองเลยคือกลุ่มชนที่อพยพจากชายแดนตอนเหนืออาณาจักรสุโขทัย ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากไทหลวงพระบาง เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองเซไล (บ้านทรายขาว อำเภอวังสะพุงปัจจุบัน) ในปีพุทธศักราช 2396 ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านแห่ (บ้าแฮ่ปัจจุบัน) ได้ตั้งบ้านเรือนเรียกว่าเมืองเลย นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองเลยก็รวมตัวกันเป็นเมืองใหญ่ โดยการรวมตัวของอำเภอกุดป่อง (อำเภอเมือง) อำเภอท่าลี่ขึ้นกับมณฑลอุดร อำเภอด่านซ้ายขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก เมืองเชียงคานขึ้นกับเมืองพิชัย อำเภอต่างๆ เหล่านี้จึงโอนขึ้นกับเมืองเลยทั้งหมดตั้งแต่พุทธศักราช 2450 เป็นต้นมา


ชาวไทเลย จะมีนิสัยใจคอเหมือนกับชนเชื้อชาติโบราณ ซึ่งไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงไปจากดั้งเดิม มีสำเนียงพูดที่แปลกและนิ่มนวล พูดสุภาพและไม่ค่อยพูดเสียงดัง กิริยามารยาทดีงามอารมณ์เยือกเย็นไม่วู่วาม มีนิสัยรักความสงบเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ รักถิ่นที่อยู่ไม่ค่อยอพยพไปอยู่ที่อื่น ส่วนทางด้านวัฒนธรรมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา ได้แก่ “ฮีตสิบสอง – คลองสิบสี่” คือการทำบุญตามประเพณีทั้งสิบสองเดือนของแต่ ละปี
บ้านชาวไทเลย เป็นเรือนหลังใหญ่ ยกพื้นสูงมีระเบียงหรือชานยื่นออกมาหน้าเรือนและมีเรือนครัวซึ่งส่วนใหญ่จะสร้างแยกต่างหากโดยมีชานต่อเชื่อมติดกัน สำหรับ หลังคาของเรือนนอนมุงด้วยหญ้าคาหรือไม้แป้นเก็ด ฝาเรือน พื้นเรือนนิยมทำด้วยไม้แผ่นเรียกว่าไม้แป้น ส่วนเสาจะใช้ไม้เนื้อแข็งเป็นต้น ๆ หรืออิฐก่อเป็นเสาใหญ่ มีบันไดไม้พาดไว้สำหรับขึ้นลง ส่วนเรือนครัวมุงด้วยหญ้าคา ฝาและพื้นจะนิยมทำด้วยฟากไม้ไผ่สับแผ่ออกเป็นแผ่นและเสาจะทำด้วยไม้เนื้อแข็งเช่นกัน









 

Create Date : 09 ตุลาคม 2550    
Last Update : 9 ตุลาคม 2550 12:14:10 น.
Counter : 460 Pageviews.  

นมัสการพระธาตุศรีสองรัก

พระธาตุศรีสองรัก








พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย สร้างเมื่อ พ.ศ.2103 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2106 ในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์แห่งกรุงศรีอยุธยาเพื่อเป็นสักขีพยานแสดงความสัมพันธ์อันดีงามระหว่างกัน กับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์)ประวัติความเป็นมาของพระธาตุศรีสองรักพระธาตุศรีสองรัก เป็นเจดีย์ที่ก่อด้วยอิฐถือปูนมีฐานเป็นเหลี่ยมจัตุรัส ขนาดกว้างด้านละประมาณ 8 เมตร สูงประมาณ 32 เมตร อยู่ห่างจากที่ตั้งจังหวัดเลยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1กิโลเมตรและอยู่ห่างจากที่ตั้งจังหวัดเลยไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 83 กิโลเมตร องค์พระเจดีย์ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุศรีสองรักบนเนินริมน้ำหมัน ซึ่งเป็นวัดที่ไม่มีพระภิกษุพำนักอยู่ในวัดนอกจากองค์พระเจดีย์แล้ว ถัดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีโบสถ์ 1 หลัง ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูปนาคปรก 1 องค์ และพระพุทธรูปอื่น ๆ อีกบ้าง และถัดองค์พระเจดีย์ไปทางทิศตะวันตกมีศิลาจารึก 1 แผ่น ซึ่งจารึกตำนานการสร้างพระธาตุศรีสองรักด้วยอักษรธรรมอยู่ด้วย

พระธาตุศรีสองรัก ได้สร้างขึ้นในแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ผู้ครอบครองกรุงศรีอยุธยาแห่งอาณาจักรสยามสมัยนั้น และพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชผู้ครองกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทร์) แห่งอาราจักรล้านช้างสมัยนั้น เพื่อเป็นสักขีพยานในการทำสัญญาทางพระราชไมตรี และเป็นด่านกั้นเขตแดนของสองพระนครใสสมัยโน้น ทั้งนี้เนื่องจากในระหว่างที่กษัตริย์ทั้งสองพระองค์ครองราชสมบัติ ตรงกับสมัยที่พม่าเรืองอำนาจ เพราะพม่ามีกษัตริย์ที่เข้มแข็งในการสงครามปกครองคือ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ และพระบุเรงนองได้ยกทัพมารุกรานกรุงศรีอยุธยาและกรุงศรีสัตนาคนหุตหลายคราว สมเด็จพระมหาจักรพรรดิกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช จึงทำไมตรีกัน เพื่อร่วมกันต่อสู้กับพม่าและเพื่อเป็นที่ระลึกในการทำไมตรีกันครั้งนี้ ได้ทรงร่วมกันสร้างพระเจดีย์ขึ้นเป็นสักขีพยานจึงได้ขึ้นชื่อว่า “ พระธาตุศรีสองรัก ” ตามตำนานกล่าวไว้ว่าได้สร้างขึ้น ณ ที่กึ่งกลางระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำน่านบนโคกไม้ติดกัน เริ่มสร้างแต่ พ.ศ. 2103 ตรงกับปีวอก โทศก จุลศักราช 922 และเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2106 ตรงกับปีกุล เบญจศก จุลศักราช 925 ในวันพุธขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และได้ทำพิธีฉลองสมโภชในวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6การสร้างพระธาตุศรีสองรัก นับเป็นสักขีพยานในความรักใคร่ของชนชาติเผ่าลาวในดินแดนล้านช้างสมัยนั้น มาตั้งแต่โบราณการเป็นอย่างดี และพระธาตุศรีสองรักนี้ ประชาชนในท้องที่จังหวัดเลยและจังหวัดใกล้เคียงให้ความเคารพนับถือ เป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในวันเพ็ญเดือน 6 จะการทำพิธีสมโภชและนมัสการพรเจดีย์ขึ้นทุกปีจนถือเป็นประเพณีตลอดมาจนทุกวันนี้ พระธาตุศรีสองรัก นับแต่สร้างมาจนถึงปัจจุบันนี้นับได้ 400 ปีเศษ นอกจากเป็นปูชนียสถานสำคัญของอำเภอด่านซ้าย ยังเป็นปูชนียสถานที่สำคัญที่สุดของจังหวัด







 

Create Date : 09 ตุลาคม 2550    
Last Update : 9 ตุลาคม 2550 12:43:01 น.
Counter : 617 Pageviews.  

เที่ยวงานผีตาโขน


ประเพณีแห่ผีตาโขน
ประเพณีแห่ผีตาโขน จัดเป็นส่วนหนึ่งในงานบุญประเพณีใหญ่หรือที่เรียกว่า "งานบุญหลวง" หรือ "บุญผะเหวด" ซึ่งตรงกับเดือน 7 มีขึ้นที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย และจัดเป็นการละเล่นที่ถือเป็นประเพณีทุกปี เกี่ยวโยงกับงานบุญพระเวสหรือเทศน์มหาชาติประจำปีกับพระธาตุเจดีย์สองรัก ปูชนียสถานสำคัญของชาวด่านซ้าย
ต้นกำเนิดผีตาโขน

กล่าวกันว่า การแห่ผีตาโขนเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่พระเวสสันดรและนางมัทรีจะเดินทางออกจากป่า กลับสู่เมืองบรรดาผีป่าหลายตนและสัตว์นานาชนิดอาลัยรักจึงพาแห่แหนแฝงตัวแฝงตน มากับชาวบ้านเพื่อมาส่งทั้งสองพระองค์กลับเมือง เรียกกันว่า "ผีตามคน" หรือ "ผีตาขน" จนกลายมาเป็น "ผีตาโขน" อย่างในปัจจุบัน
ชนิดของผีตาโขน
ผีตาโขน ในขบวนแห่จะแยกเป็น 2 ชนิดคือ ผีตาโขนใหญ่และผีตาโขนเล็ก
ผีตาโขนใหญ่ ทำเป็นหุ่นรูปผีทำจากไม้ไผ่สานมีขนาดใหญ่กว่าคนธรรมดาประมาณ 2 เท่าประดับตกแต่งรูปร่างหน้าตาด้วยเศษวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น เวลาแห่ คนเล่นจะต้องเข้าไปอยู่ข้างในตัวหุ่น แต่ละปีจะทำผีตาโขนใหญ่เพียง 2 ตัว คือผีตาโขนชาย1ตัวและหญิง1ตัว สังเกตจากเครื่องเพศปรากฏชัดเจนที่ตัวหุ่น ผู้มีหน้าที่ทำผีตาโขนใหญ่จะมีเฉพาะกลุ่มเท่านั้น เพราะคนอื่นไม่มีสิทธิ์ทำ การทำก็ต้องได้รับอนุญาตจากผีหรือเจ้าก่อน ถ้าได้รับอนุญาตแล้วต้องทำทุกปีหรือทำติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี
ผีตาโขนเล็ก ผีตาโขนเล็กเป็นการละเล่นของเด็ก ไม่ว่าเด็กเล็ก เด็กวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ ทั้งผู้หญิงชาย มีสิทธิ์ทำและเข้าร่วมสนุกได้ทุกคน แต่ผู้หญิงไม่ค่อยเข้าร่วมเพราะเป็นการเล่นค่อนข้างผาดโผนและซุกซน
การแต่งกายผีตาโขน
ผู้เข้าร่วมในพิธีนี้จะแต่งกายคล้ายผีและปีศาจใส่หน้ากากขนาดใหญ่ ทำจากกาบมะพร้าวแกะสลักและ สวมศีรษะด้วยกระติ๊บข้าวเหนียว ในขบวนแห่จะประกอบไปด้วยการร้องรำทำเพลงอย่างสนุกสนาน
การละเล่นผีตาโขน



เนื่องจากงานประเพณีผีตาโขนเป็นงานบุญใหญ่ซึ่งเรียกกันว่างานบุญหลวง จัดขึ้นที่วัดโพนชัย อ.ด่านซ้าย โดยมีการละเล่นผีตาโขน มีการเทศน์มหาชาติ มีการทำบุญพระธาตุศรีสองรักและงานบุญต่างๆเข้ามาผสมอยู่รวมๆกัน จึงมีการจัดงานกัน 3 วัน
วันแรก เริ่มพิธีตอนเช้า 04.00-05.00 น. คณะแสนหรือข้าทาสบริวารของเจ้าพ่อกวนจะนำอุปกรณ์ มีด ดาบ หอก ฉัตร พานดอกไม้ ธูปเทียน ขันห้าขันแปด(พานดอกไม้ 5 คู่ หรือ 8 คู่) ถือเดินนำขบวนไปที่ริมแม่น้ำหมัน เพื่อนิมนต์พระอุปคุตต์ พระผู้มีฤทธานุภาพมาก และมักเนรมิตกายอยู่ในมหาสมุทร เพื่อป้องกันภัยอันตราย และให้เกิดความสุขสวัสดี เมื่อถึงแล้วผู้อันเชิญต้องกล่าวพระคาถาและให้อีกคนลงไปในน้ำ งมก้อนหินใต้น้ำขึ้นมา ถามว่า "ใช่พระอุปคุตต์หรือไม่" ผู้ที่ยืนอยู่บนฝั่งตอบว่า "ไม่ใช่" พอก้อนหินก้อนที่ 3 ให้ตอบว่า "ใช่ นั่นแหละพระอุปคุตต์ที่แท้จริง" เมื่อได้พระอุปคุตต์มาแล้ว ก็นำใส่พาน แล้วนำขบวนกลับที่หอพระอุปคุตต์ ทำการทักขิณาวัฏ 3 รอบ มีการยิงปืนและจุดประทัด ซึ่งช่วงเวลานั้นบรรดาผีตาโขนที่นอนหลับหรืออยู่ตามที่ต่างๆก็จะมาร่วมขบวนด้วยความยินดีปรีดา เต้นรำ เข้าจังหวะกับเสียงหมากกระแร่ง ซึ่งเป็นกระดิ่งผูกคอวัวหรือกระดิ่งให้ดังเสียงดัง
วันที่สอง เป็นพิธีแห่พระเวส ในขบวนประกอบด้วย พระพุทธรูป 1 องค์ พระสงฆ์ 4 รูป นั่งบนแคร่หามตามด้วย เจ้าพ่อกวน นั่งอยู่บนกระบอกบั้งไฟ ท้ายขบวนเป็นเจ้าแม่นางเทียม กับบริวาร ชาวบ้าน และเหล่าผีตาโขน เดินตามเสด็จไปรอบเมือง ก่อนตะวันตกดิน สำหรับคนที่เล่นเป็นผีตาโขนใหญ่ ต้องถอดเครื่องแต่งกายผีตาโขนใหญ่ออกให้หมดและนำไปทิ้งในแม่น้ำหมัน ห้ามนำเข้าบ้าน เป็นการทิ้งความทุกข์ยากและสิ่งเลวร้ายไป รอจนปีหน้าฟ้าใหม่แล้วค่อยทำเล่นกันใหม่
วันที่สาม เป็นการรวมเอางานบุญประเพณีประจำเดือนต่างๆของปีมารวมกันจัดในงานบุญหลวง ประชาชนจะมานั่งฟังเทศน์มหาชาติ 13 กัณฑ์ ที่วัดโพนชัย เพื่อเป็นการสร้างกุศลและเป็นมงคลแก่ชีวิต





 

Create Date : 09 ตุลาคม 2550    
Last Update : 12 ตุลาคม 2550 14:36:45 น.
Counter : 192 Pageviews.  

เอกลักษณ์ +คนไทเลย+

>ภาษาไทเลย
ภาษาของคนจังหวัดเลย
มีสำเนียงภาษาแตกต่างจากภาษาพูดของคนในจังหวัดภาคอีสานอื่น ๆ เพราะกลุ่มคนที่อาศัยปัจจุบันนี้มีประวัติการอพยพเคลื่อนย้ายจากเมืองหลวงพระบางแห่งอาณาจักรล้านช้าง ต่อมาต้นพุทธศตวรรษที่ 23 ชาวหลวงพระบางและชาวเมืองบริเวณใกล้เคียงที่อพยพมาเมืองเลยได้นำวัฒนธรรมด้านภาษาอีสานถิ่นอื่น โดยภาษาเลยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มหลวงพระบางอันประกอบด้วยภาษาอำเภอแก่นท้าว เมืองชัยบุรี ภาษาอำเภอด่านซ้าย และภาษาอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ดังนั้นสำเนียงพูดของชาวไทเลยจึงมีลักษณะการพูดเหมือนชาวหลวงพระบางแต่บางพยางค์ออกเป็นเสียงสูงคล้ายสำเนียงพูดของชาวปักษ์ใต้ ฟังดูไพเราะนุ่มนวลจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะคนเมือง
อย่างเช่น
เครื่องใช้ …….(เฮาเอิ้นว่า)
แอบเข้า.......กระติบข้าว
โอ........ ขัน
จอง......ทัพพี
บ่วง...... ช้อน
มีดยับ.......กรรไกร
ก้องแขน........กำไล
ตะเอว....... เข็มขัด
เงี่ยง.........กระโถน
อ่นหล่นซา,อ่นซา...........ชิงช้า
สี
สีซิ่ว..........สีเขียว
สีซิ่วอุ่มหุ่ม.......... สีเขียวเข้ม
สีเขี้ยงๆ.......... สีเหลืองๆ
สีเหลืองเอิ่มเซิ่ม.......... สีเหลืองเข้ม
สีดำคื้อลื้อ.......... สีดำมาก




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2550    
Last Update : 12 ตุลาคม 2550 14:34:37 น.
Counter : 470 Pageviews.  

เว้าเลย 1

ภาษาไทเลย

คำพูดที่ใช้ทั่วๆไป

เอ๊าะเจ๊าะ,แอ๊ะแจ๊ะ.......... มีไม่มาก มีนิดเดียว
เอ่งเต่ง.......... มีมากมีเยอะ
จ่องป่อง ..........รูเล็กๆแต่ไม่ลึกมาก
จ่งโป่ง.......... รูที่มีขนาดใหญ่กลวงมาก
จ่างป่าง .......... รูขนาดใหญ่และสามารถมองเห็นได้ทะลุอีกด้านหนึ่ง
แจ่งแป่ง.......... รูที่อาจมีหลายขนาด หลายรูปทรง
จิ่งปิ่ง.......... รูเล็กแต่มีความลึกมาก
แห้งแก่นแต่น.......... แห้งจนดินแตกระแหงไปทั่ว
เขินเลิกเจิ๊ก .......... ส่วนมากใช้กับ ขากางเกงเขินมาก ใส่กระโปรงสั้นมากก็เรียก หรือน้ำตื้นเขิน
อ่องต่อง .......... ถ้าใช้กับคนก็ หมายถึง คนที่มีเลือดฝาดสมบูรณ์แข็งแรง หน้าตาสดใส ถ้าเป็นสิ่งของก็เป็นของที่ดี และใหม่เอี่ยมอ่องนั่นเอง
ลี้ .......... แอบหรือซ่อน
ไปต่าว.......... ไป-กลับ
มื้ออื่น.......... พรุ่งนี้
มื้อฮือ ..........มะรือ
มื้อตึ่ง ..........มะเรื่อง
กินเข้าหงายแล้วบ่.............ทานข้าวเช้าหรือหยัง
กินเข้าสวยแล้วบ่…………ทานข้าวเที่ยงหรือหยัง
กินเข้าแล้งแล้วบ่..............ทานข้าวเย็นหรือหยัง
ขี้ตะโหลก..........เป็นหลุมเป็นบ่อไม่เรียบ
ขี้โบ้..........โรคเรื้อน
งวก..........หันไปดู
แปแลดแป๊ด..........แบน หรือ บางมาก
แปนเอิดเติล..........โล่งเตียนไม่รกร้าง
ฮกเองเตง..........รกมาก
จักแม่นหยัง..........ไม่รู้เรื่องอะไร
เอ็นสะแม้ง..........เส้นพลิก
มันเลี่ยมยุบๆ..........มันจนขึ้นเงา
มิดออนซอน..........เงียบหายไปเลย
มิดจี่หลี่..........เงียบมาก
เสียงดังเอาแท้เอาหว่า..........เสียงดังมาก
เสียงข่อยแท้..........เสียงค่อยมาก
ส่วนประกอบ บริเวณ ที่อยู่อาศัย

เฮียน........บ้าน
ป่องเอี้ยม.......... หน้าต่าง
ขั้นได๋.......... บันได
เฮียนน้อย..........ห้องครัวอาจอยู่ติดตัวบ้านหรืออยู่คนละหลังแต่ทำชานบ้านเชื่อมหากัน




 

Create Date : 09 ตุลาคม 2550    
Last Update : 12 ตุลาคม 2550 14:43:34 น.
Counter : 187 Pageviews.  

1  2  

fankoong
Location :
เลย Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




อยากมีเพื่อนจังเลย
Google
Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket start myicon
Friends' blogs
[Add fankoong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.