Group Blog
 
All blogs
 
จะมีวัคซีนเอดส์ใช้ภายในสิบปีนี้หรือไม่

ตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่แสดงอาการเอดส์รายแรกในปี พ.ศ.2524 จนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองเพื่อค้นหาและทดสอบวัคซีนเอชไอวีมาแล้วมากกว่า 95 การทดลอง ในอาสาสมัครมากกว่า 26,000 คน แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จในการค้นหาวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อหรือรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด

วัคซีนที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในยุคแรกนั้น ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งออกมาจับกับไวรัสและทำลายไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อ โดยโปรตีนที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างมานี้มีความจำเพาะกับเอชไอวีแต่ละสายพันธุ์ แต่เนื่องจากเอชไอวีสามารถกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้บริเวณผิวด้านนอกของไวรัสมีโครงสร้างเปลี่ยนแปลงไป โปรตีนของระบบภูมิต้านทานจึงไม่สามารถจับกับไวรัสและทำลายไวรัสได้ นอกจากนี้เอชไอวียังมีกลไกในการซ่อนโครงสร้างบริเวณผิวของไวรัสเพื่อป้องกันไม่ให้โปรตีนของระบบภูมิคุ้มกันเข้ามาจับได้อีกด้วย จึงเป็นเหตุผลให้วัคซีนในยุคแรกมีประสิทธิภาพไม่ดีตามที่คาดหวังไว้

นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทเมิร์คได้ออกแบบวัคซีนชนิดใหม่ โดยนำยีนของเอชไอวี 3 ยีน ใส่เข้าไปใน แอดีโนไวรัส (Adenovirus) ซึ่งเป็นไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคหวัดในมนุษย์ ยีนของเอชไอวีในแอดีโนไวรัสจะไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาเพื่อต่อต้านเอชไอวี โดยการทดลองในห้องปฏิบัติการและในสัตว์ทดลองพบว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นเซลเม็ดเลือดขาวให้เข้ามาทำลายเอชไอวี โดยครอบคลุมสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์และไม่กลายพันธุ์ รวมทั้งสามารถกำจัดเซลที่ติดเชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นแหล่งเพิ่มจำนวนและแพร่เชื้อไปสู่เซลอื่นๆ ได้

บริษัทเมิร์คจึงร่วมกับสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ทำการทดลองขั้นต่อมาในมนุษย์เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 ในหลายประเทศในทวีปอเมริกา ออสเตรเลียและประเทศในหมู่เกาะแคริเบียน โดยทดลองในอาสาสมัครทั้งหญิงและชายที่มีสุขภาพดีแต่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะติดเชื้อ จำนวน 3,000 คน เพื่อประเมินความปลอดภัยในการใช้วัคซีน, ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อและประสิทธิภาพในการยับยั้งไวรัสในกระแสเลือด

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในระหว่างที่รอผลการทดลองวัคซีนอยู่นั้น วารสารเนเจอร์เม็ดดิซีนซึ่งเป็นวารสารรายเดือนที่ตีพิมพ์ผลงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ชั้นนำของโลก ได้ตีพิมพ์ความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวีและเป็นหัวหน้าทีมวิจัยวัคซีนเอชไอวีของมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อถูกถามว่า วัคซีนเอดส์จะสำเร็จภายในสิบปีนี้หรือไม่? นักวิทยาศาสตร์ทุกคนตอบตรงกันว่า ภายในสิบปีนี้จะยังไม่มีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างได้ผลหรือสามารถใช้รักษาการติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีความหวังว่า วัคซีนของบริษัทเมิร์คที่กำลังทดสอบอยู่ในขณะนั้นจะสามารถยับยั้งไวรัสได้บางส่วนถึงแม้จะมีประสิทธิภาพดีไม่เท่ากับที่คาดหวังไว้ก็ตาม เนื่องจากเซลเม็ดเลือดขาวที่ถูกกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิดนี้ สามารถออกฤทธิ์ต่อเอชไอวีได้เป็นวงกว้างมากขึ้น

กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ได้มีการเปิดเผยผลการทดลองวัคซีนของบริษัทเมิร์คบางส่วน โดยเป็นผลการวัดประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อในอาสาสมัครเฉพาะกลุ่มชายรักร่วมเพศซึ่งมีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การทดลองได้แบ่งอาสาสมัครออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรก 741 คน ได้รับวัคซีนจริง และกลุ่มที่สอง 762 คน ได้รับวัคซีนหลอก เมื่อเวลาผ่านไปสองปี พบว่าอาสาสมัครกลุ่มที่ได้รับวัคซีนจริง ติดเชื้อ 24 คน กลุ่มที่ได้รับวัคซีนหลอก ติดเชื้อ 21 คน บ่งชี้ว่าวัคซีนชนิดนี้ไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ เมื่อตรวจเลือดเพื่อวัดปริมาณไวรัสในกระแสเลือด พบว่าปริมาณไวรัสในกระแสเลือดของผู้ติดเชื้อทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน แสดงว่าวัคซีนไม่สามารถควบคุมปริมาณไวรัสในกระแสเลือดให้อยู่ในระดับต่ำได้ บริษัทเมิร์คจึงได้ประกาศยุติการทดลองวัคซีนในเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นักวิทยาศาสตร์ผิดหวังกับผลการทดลองนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากวัคซีนของบริษัทเมิร์คนี้เป็นวัคซีนตัวแรกที่ถูกออกแบบมาเพื่อกระตุ้นให้ระบบเซลเม็ดเลือดขาวเข้ามาจัดการกับเอชไอวีและกำจัดเซลที่ติดเชื้อเอชไอวี จึงคาดหวังกันว่าวัคซีนชนิดนี้จะมีประสิทธิภาพดีกว่าวัคซีนรุ่นเก่า ถึงแม้จะไม่สามารถกำจัดเอชไอวีได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็น่าจะยับยั้งเอชไอวีได้บางส่วน ความล้มเหลวของวัคซีนตัวนี้จึงอาจจะส่งผลให้การวิจัยและพัฒนาวัคซีนเอชไอวีหยุดชะงัก เนื่องจากบริษัทยาและแหล่งเงินทุนวิจัยชะลอการลงทุนในโครงการทดลองวัคซีนเอชไอวีตัวอื่นๆ ที่ถูกออกแบบมาในลักษณะคล้ายกันนี้ ซึ่งกำลังจะเริ่มทำการทดลองในมนุษย์ เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุที่วัคซีนไม่ได้ผล ก่อนตัดสินใจว่าจะดำเนินโครงการวิจัยต่อหรือไม่ หลายโครงการอาจจะถูกยกเลิกไปเลยหากวิเคราะห์แล้วว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะล้มเหลว

ถึงแม้นักวิทยาศาสตร์จะประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันและรักษาเอชไอวีได้ในอนาคต ผู้ติดเชื้อในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศในอัฟริกาและเอเชียก็ยังมีโอกาสน้อยที่จะได้รับวัคซีน เนื่องจากวัคซีนอาจจะมีราคาสูงมาก เช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการพัฒนายาต้านไวรัสเอแซดที (AZT) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสตัวแรกที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้ใช้รักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีในมนุษย์ได้เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2530 ในช่วงแรกยาเอแซดทีมีราคาสูงมาก แม้แต่ผู้ติดเชื้อในสหรัฐอเมริกาเองก็ยังไม่มีโอกาสได้รับยา กว่าที่ผู้ติดเชื้อในประเทศที่ยากจนจะได้รับยาเอแซดทีก็ต้องใช้เวลาหลังจากนั้นหลายปี และถึงแม้ในปัจจุบันจะมียาต้านไวรัสมากกว่ายี่สิบตัวที่ได้รับอนุญาตให้ใช้รักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่ก็ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ยังไม่มีโอกาสได้รับยาต้านไวรัสเลยแม้แต่ตัวเดียว เมื่อปี พ.ศ.2545 องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทั่วโลก 14,000 คนต่อวัน ปริมาณผู้ติดเชื้อจำนวนมากนี้เป็นอุปสรรคที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถผลิตวัคซีนออกมาได้เพียงพอในระยะเวลาอันสั้น

โดยสรุป ในขณะที่เขียนบทความนี้ (เดือนตุลาคม พ.ศ.2550) นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันการติดเชื้อหรือรักษาโรคติดเชื้อเอชไอวีให้หายขาด จากข้อมูลผลการทดลองวัคซีนเอชไอวีในมนุษย์จากอดีตถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจะยังไม่มีวัคซีนดังกล่าวให้ใช้ภายในระยะเวลาสิบปีนี้ ถึงแม้วัคซีนที่กำลังทดลองอยู่ในปัจจุบันจะยังไม่มีประสิทธิภาพตามที่คาดไว้ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังหวังว่าวัคซีนเหล่านี้จะสามารถยับยั้งเอชไอวีได้บางส่วน ซึ่งหากนำวัคซีนนี้มาใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการควบคุมระดับเอชไอวีในร่างกายผู้ติดเชื้อให้อยู่ในระดับต่ำ เชื้อมีการกลายพันธุ์และดื้อต่อยาต้านไวรัสช้าลง ชะลอการทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายและช่วยยืดระยะเวลาก่อนที่ผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการเอดส์ระยะสุดท้ายออกไปได้นานขึ้น อย่างไรก็ดี ปัจจุบันยังมีการทดลองวัคซีนเอชไอวีชนิดอื่นๆ อีกหลายการทดลองทั่วโลก ในประเทศไทยเองก็มีการทดลองขนาดใหญ่ซึ่งเป็นการทดลองทางคลินิกในระยะที่สาม (Phase III Clinical Trial) โดยบริษัทซาโนฟีและแว็กซ์เจน เพื่อดูประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี การทดลองนี้เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2546 และน่าจะทราบผลการทดลองในอีกไม่นานนี้ ดังนั้นจึงยังพอมีความหวังว่านักวิทยาศาสตร์จะค้นพบวัคซีนที่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีพอที่จะป้องกันการติดเชื้อหรือยับยั้งไวรัสเอชไอวีได้ ถึงแม้จะยับยั้งได้เพียงบางส่วนก็ตาม



Create Date : 26 ตุลาคม 2550
Last Update : 26 ตุลาคม 2550 13:07:17 น. 0 comments
Counter : 767 Pageviews.

dolt
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add dolt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.