Group Blog
 
All blogs
 

นกอีวาบตั๊กแตน

พบนกชนิดนี้ครั้งแรกที่พุทธมณฑลบริเวณป่าไผ่ริมน้ำ รู้สึกว่านกชนิดนี้สีสวยจริงๆ หัวและหน้าอกเป็นสีเทา ท้องเป็นสีส้มอมน้ำตาล ตาสีแดง ขาและเท้าสีเหลือง เล็บสีดำ

เปิดเบิร์ดไกด์หาก็ไม่เจอว่าเป็นนกอะไร

คว้าไบน็อคมาส่องอีกที อ้าวเห็นลายขวางๆที่หางด้านในเกิดเอะใจ เลยเปิดไปที่หน้าคัคคู เจอจริงๆ







เป็นนกที่ชื่อว่า plaintive cuckoo ( cacomantis merulinus) หรือในพากย์ไทยว่า นกอีวาบตั๊กแตน (มีด้วยเหรอชื่อแบบนี้.)
มีขนาดตัว 21.5-23.5ซม ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันลวดลายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยตัวเมียจะมีขนสีน้ำตาลเข้มด้านบนลำตัว และสีอ่อนกว่าด้านล่าง มีลายสีดำกระจายทั้งตัวทำให้ดูเป็นนกตัวลายๆ







นกชนิดนี้เป็นนกที่หาพบได้ง่ายๆ และทั่วไปในประเทศไทย(แต่น่าแปลก ก่อนที่จะมาดูนกกลับไม่เคยเห็นมาก่อนเลย) หลังจากได้พบที่พุทธมณฑลแล้วก็มาพบว่าแถวบ้านตัวเองก็มี ได้ยินเสียงเค้าร้องบ่อยๆแต่ไม่รู้ว่าเป็นเสียงของเค้า ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูจับคู่ ผสมพันธุ์ นกอีวาบตั๊กแตนจะร้องมากเป็นพิเศษเพื่อประกาศอาณาเขต และร้องเรียกตัวเมีย โดยเสียงร้องของเค้าถ้าได้ยินจะจำได้ง่าย ประมาณ วี้ด วี้ด วี้ด วิ่ว วิ่ว วิ่ว วิ่ว (หรืออะไรใกล้เคียงนี้)







สำหรับนกอีวาบตั๊กแตน ฤดูจับคู่ ไม่ใช่ฤดูทำรัง เพราะนกชนิดนี้ ไม่ทำรังของตัวเองเพื่อวางไข่ เป็นนกเบียนเหมือนกับนกกาเหว่าที่ไข่ให้แม่กาฟัก และนกคัคคูอื่นๆ


นกอีวาบตั๊กแตนมักวางไข่ในรังของนกกระจิบตัวเล็กๆ และเขี่ยไข่ของเจ้าของรังทิ้ง เจ้ากระจิบก็หลงรักคิดว่าลูกในอุทร คาบข้าวมาเผื่อ คาบเหยื่อมาป้อน จนลูกอีวาบตัวโตกว่าแม่ เวลาป้อนอาหาร เหมือนลูกนกจะกินแม่นก เพราะเค้าจะอ้าปากให้แม่นกกระจิบมุดหัวเข้าไปป้อน







โดยปกติ นกชนิดนี้มักชอบเกาะกิ่งโล่งๆ พบได้ง่ายแม้ตามสวนสาธารณะในเมือง ทุ่งหญ้าชานเมือง หรือบนเสาอากาศโทรทัศน์บ้านคน แต่ที่พุทธมณฑล นกชนิดนี้นิยมชมชอบเกาะต้นมะขามเทศเป็นพิเศษ เป็นเหตุให้ไม่เคยได้ภาพดีๆของเค้าเลย เพราะต้องถ่ายภาพจากใต้ต้นมะขามเทศผ่านใบเล็กๆหร็อมแหร็มขึ้นฟ้าเสมอ







นกอีวาบตั๊กแตนไม่ใช่นกที่ไม่มีประโยชน์ อาหารของเค้าเป็นตัวบุ้ง ตัวแก้ว ที่มีขนเยอะๆ หากเราไปจับโดนขนจะติดและทำให้คันได้ ไม่มีนกอะไรกินตัวบุ้ง แต่อีวาบตั๊กแตนกิน เค้าจะโฉบลงมาจับตัวบุ้ง ตัวแก้ว ไปตีๆขูดๆขนให้หลุดกับไม้ แล้วก็กินเป็นอาหาร อร่อยเค้าหละ แถมยังช่วยลดปริมาณศัตรูพืชให้เกษตรกรได้ด้วย




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2548    
Last Update : 15 มิถุนายน 2553 17:49:15 น.
Counter : 5485 Pageviews.  

นกกระแตแต้แว้ด VS นกน้อยต้อยตีวิด

นกกระแตแต้แว้ด Vanellus indicus (red-wattled lapwing)

ค้น : กระแตแต้แว้ด
คำ : กระแตแต้แว้ด
เสียง : กฺระ-แต-แต้-แว้ด
คำตั้ง : กระแตแต้แว้ด
ชนิด :
ที่ใช้ :
ที่มา :
นิยาม :
ภาพ :
อ้างอิง : ดู ต้อยตีวิด
ปรับปรุง : 98/4/2


ค้น : ต้อยตีวิด
คำ : ต้อยตีวิด
เสียง : ต้อย-ตี-วิด
คำตั้ง : ต้อยตีวิด
ชนิด : น.
ที่ใช้ :
ที่มา :
นิยาม : ชื่อนกชนิด Vanellus indicus ในวงศ์ Charadriidae ตัวขนาดนกเขาใหญ่ หัวสีดำ ขนบริเวณหูสีขาว มีเนื้อติ่งสีแดงยาวยื่นจากขอบตาด้านหน้า ปากยาว ขายาวสีเหลือง ตีนมี ๓ นิ้ว ร้องเสียงแหลม "แตแต้แว้ด" กินสัตว์ขนาดเล็ก วางไข่ในแอ่งตื้นๆ บนพื้นดิน, กระต้อยตีวิด กระแตแต้แว้ด หรือ แต้แว้ด ก็เรียก.
ภาพ :
อ้างอิง :
ปรับปรุง : 98/4/2

จาก เครือข่ายพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน

ไม่คิดเลยว่ากระแตแต้แว้ดจะเป็นนกต้อยตีวิดที่ในเพลงบอกว่า "ตัวนิดๆร้องต้อยตีวิดเป็นนิจศีล"







เพราะนกชนิดนี้มีขนาดถึง 33 ซม. เราจะพบเค้าอยู่ค่อนข้างเป็นฝูงใหญ่ เดินหากินตามพื้นดิน ที่พุทธมณฑลมีนกชนิดนี้อยู่เป็นฝูงใหญ่เดินหากินกระจายทั่วไป นับเป็นนกชนิดแรกๆที่ได้ "หัดดู" เพราะเป็นนกประจำถิ่นที่พบมากเกือบทั่วประเทศ เว้นก็เพียงภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ โดยจะพบได้ในพื้นที่เกษตรกรรม แม่น้ำ หรือแอ่งน้ำที่ท่วมขัง และพื้นที่ที่โล่งเตียนในป่า บนภูเขาสูง


นอกจากลักษณะภายนอกที่ทำให้จำแนกชนิดได้ง่ายดายแล้ว เสียงร้องแต แต แต้แว้ดของเค้าก็เป็นเอกลักษณ์ โดยเค้ามักจะร้องในขณะที่บินวนไปมาเพื่อบอกกล่าวว่ามีผู้บุกรุก เสียงเจี๊ยวจ๊าวไปหมด ในบางครั้งเราจะหงุดหงิดมากกับการร้องของเค้าจนเรียกว่า เจ้านกปากมาก เพราะบางทีกำลังเฝ้านกแปลกๆอยู่ และกำลังค่อยๆหาทางเข้าใกล้ ถ้ากระแตแต้แว้ดมองเห็นเราเข้าก็จะส่งเสียงร้องขึ้นมาทันใด ทำให้นกเป้าหมายแตกตื่นหนีไปเสียเฉยๆ








นกกระแตแต้แว้ดทำรังวางไข่ ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมิถุนายนแต่มักจะทำรังวางไข่มากตั้งแต่เดือน มีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม โดยในช่วงเวลานี้จะเจอเจ้าตัวเล็กออกเดินหากินใกล้ๆแม่ ทีละ3-4ตัว โดยธรรมชาติแล้วเราจะมองหาเค้าได้ยากอยู่แล้วเพราะสีของเค้าจะกลมกลืนกับใบไม้แห้งๆมากทีเดียว








ใครมองเห็นนกบ้าง

หากมีอันตราย พ่อแม่นก(ซึ่งมีหน้าตาเหมือนกัน)จะบินวนส่งเสียงร้องเพื่อไล่ศัตรูและลูกก็ไปหลบซ่อนตัวตามที่ที่พอจะหลบได้ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เห็นกระแตแต้แว้ดมีขางอกออกมาจากใต้ปีกถึง6ขา ที่แท้ก็เป็นแม่นกให้ลูกซุกอยู่ใต้ปีกเพื่อซ่อนตัวนั่นเอง เป็นภาพที่อบอุ่นก็อบอุ่น ตลกก็ตลก น่ารักมากๆ









ข้อมูลจาก : บ้านนก - lapwing




 

Create Date : 28 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 13 พฤษภาคม 2552 19:46:03 น.
Counter : 7231 Pageviews.  

นกยางกรอกพันธุ์ชวา

นกยางกรอกพันธุ์ชวา Ardeola speciosa (javan pond heron)


ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์จะดูคล้าย นกยางกรอกพันธุ์จีน มากจนแทบจะแยกไม่ออก คือเป็นนกที่มีสีน้ำตาลๆ ขาวๆ ดูเป็นขีดๆลายๆ ไม่ค่อยน่าสนใจ แต่เวลาบินจะเห็นเหมือนเป็นนกสีขาวทั้งตัว และมีขนาดตัวเท่ากัน คือประมาณ46ซม. จากปลายปากจรดปลายหาง
แต่เมื่อเข้าฤดูผสมพันธุ์แล้ว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป








นกยางกรอกพันธุ์ชวา จะมีหัว และ คอ สีน้ำตาลออกเหลือง หลังสีน้ำตาลเข้ม อก สีส้มอมแดง ขนบริเวณท้ายทอย และ ไหล่สีเทาปนดำ แต่เวลาบิน ยังเห็นเป็นนกที่มีสีขาว เป็นส่วนใหญ่ บริเวณท้ายทอยมีขนเปียสีน้ำตาลออกเหลือง 2 เส้น , มีสีฟ้าอมเขียว บริเวณตั้งแต่โคนปาก ถึง รอบดวงตา (จากบ้าน-นก)








เรียกว่าถอดรูปกันเลยทีเดียว การผลัดขนนี่คงมีข้อดีอย่างหนึ่งคือทำให้พวกเค้าไม่สับสนกับยางกรอกพันธุ์อื่น ทำให้เกิดการผสมข้ามสายพันธุ์กันไป


นกยางกรอกพันธุ์ชวาเป็นนกที่หาพบได้ง่ายมากๆตามแถบชานเมืองของกรุงเทพ และภาคกลางตอนล่าง เป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย พบเค้าได้มากตามนาข้าว บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยจะพบทั้งบริเวณที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย เพื่อคอยจับกินปลาและสัตว์น้ำเล็กๆ โดยอาจพบเค้ายืนนิ่งๆ นาน จนคิดไปเองว่าเป็นรูปปั้นที่ใครเอามาวางประดับไว้







ยางกรอกตัวนี้กำลังหาเหยื่อในแอ่งน้ำชั่วคราวในพุทธมณฑลอย่างตั้งอกตั้งใจทีเดียว



ด้วยคอที่ยืดหดได้มาก ความอดทนต่อการรอคอย และปากที่แหลม และยาว ทำให้เค้ามีความสามารถในการล่าเหยื่อได้ดี แม้บางครั้งอาจต้องใช้เวลานาน ในรูปนี้ เค้าจับปลาขึ้นมาจากแอ่งน้ำข้างทางขึ้นมาทานข้างบน ขยับตัวปลาให้หันหัวเข้า แล้วหม่ำ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เงี่ยงหรือเกล็ดปลาติดคอ ฉลาดจริงๆ






ถ้าใครคิดว่าในท้องนาข้างทางมีแต่นกยางสีขาวๆ เกาะหลังควาย กรุณาหันกลับไปดูใหม่ ในคราวหน้า เพราะบางที อาจจะเห็นนกยางกรอกพันธุ์ชวาในชุดเหลืองอ่อน ยางกรอกพันธุ์จีนในชุดแดง และเห็นยางควายในชุดแต่งงานสีทอง กำลังหากินอย่างขะมักเขม้นอยู่ก็เป็นได้

ข้อมูล : บ้าน-นก มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับยางกรอกเพียบ




 

Create Date : 26 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 13 พฤษภาคม 2552 19:51:22 น.
Counter : 4998 Pageviews.  

นกปรอดหัวสีเขม่า

นกปรอดหัวสีเขม่า : Pycnonotus aurigaster (sooty-headed bulbul)
มีขนทรงพังค์เล็กๆสีดำบนหัว โดยส่วนที่เป็นสีดำนี้จะไล่ลงมาถึงตาทำให้ดูเหมือนใส่ที่ครอบตาแบบจอมโจรโซโร ปากสีดำ แก้มสีเทาออกขาว โดยเป็นสีเดียวกันไปจนถึงท้อง ขนปีกและหลังสีน้ำตาลออกเทา ขนใต้หางบริเวณก้นสีเหลืองส้ม หรือสีแดง ตามแหล่งที่อยู่อาศัย โดยจะพบพวกเค้าได้ทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ มีขนาดตัว20 ซม. ตัวผู้ตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน
หากินหนอน แมลงตามสุมทุมพุ่มไม้เป็นฝูง โดยจะอาศัยอยู่ทั้งในสวน ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ และภูเขาสูง








ปรอดหัวสีเขม่าที่พบที่พุทธมณฑล ที่กำแพงเสน มีขนใต้หางสีเหลือง แบบนี้







ที่พุทธมณฑล พวกเค้าชอบอยู่รวมเป็นกลุ่มเล็กๆ โดยพบได้ประจำที่บริเวณหอกลอง เวลาบ่ายๆเย็นๆ







บางทีก็จะเห็นพวกเค้าทำตัวพองๆอย่างที่เห็น




















 

Create Date : 16 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 13 พฤษภาคม 2552 19:54:25 น.
Counter : 12561 Pageviews.  

นกพญาไฟเล็ก

พญาไฟ :

ชื่อนกขนาดเล็กในวงศ์ Campephagidae มีเสียงร้องไพเราะและสีสันสวยงาม ตัวผู้สีแดง ตัวเมียสีเหลือง บางชนิดเป็นสีเทาทั้งตัวผู้และตัวเมีย รวมกันอยู่เป็นฝูงตามยอดไม้ มีหลายชนิด เช่น พญาไฟสีกุหลาบ (Pericrocotus roseus) พญาไฟเล็กคอเทา (P. cinnamomeus) พญาไฟใหญ่ (P. flammeus) พญาไฟสีเทา (P. divaricatus).


จาก:เครือข่ายพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน




นกพญาไฟเล็ก(Pericrocotus cinnamomeous) มีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16 ซม.


ตัวผู้มีหัวและคอสีเทา ลำตัว สะโพก หางด้านใน มีสีส้มออกเหลือง ขนหางเมื่อมองจากด้านหลังของตัวนกเป็นสีเทา และมีมาร์กที่ปีกสีส้มออกเหลืองเช่นเดียวกัน






ตัวเมียหัวและหน้าผากสีเทา คอสีขาวไล่ลงมาเป็นสีเหลืองที่ท้อง สะโพกสีส้ม มีมาร์กที่ปีกเหมือนตัวผู้


นกพญาไฟชนิดนี้เราจะพบเค้าเป็นครั้งคราวที่พุทธมณฑล โดยเพิ่งมาทราบทีหลังว่า นกที่เราเจอนั้นเป็นนกอพยพ ไม่ใช่นกอพยพที่มาจากประเทศอื่น แต่มาจากภาคอื่นของประเทศ เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะเจอเค้าที่พุทธมณฑลสักประมาณ4-5วัน แล้วเค้าก็จะไป จึงไม่เจอเค้าอีก บางทีเค้าก็อยู่นานกว่านั้น แต่ย้ายที่หากินไป (ก็พุทธมณฑลน่ะ มีพื้นที่ถึง2500ไร่เชียวนะ) บางทีก็พบเค้ามาพร้อมๆกับนกพญาไฟสีเทาซึ่งมีสถานะเป็นนกอพยพที่พบได้ทั้งประเทศ หากินอยู่บนต้นเดียวกันเลยก็มี

ปกติแล้วนกพญาไฟจะหากินตามยอดไม้เป็นฝูง มองไปก็จะเห็นเป็นสีแดงๆเหลืองๆบนยอดไม้





แต่ก็มีบางทีที่เค้าตามพวกแมลงซึ่งเป็นอาหารลงมากิ่งล่างๆให้เราได้ชื่นชมกับสีแสบสันชัดๆ





นอกจากที่พุทธมณฑลแล้ว ตามสวนสาธารณะอย่างสวนรถไฟ หรือวัดชานเมืองที่มีต้นไม้มากๆ อย่างวัดเฉลิมพระเกียรติก็มีรายงานการพบนกพญาไฟเล็กทั้งนั้น ดังนั้น คราวหน้า ถ้าไปในที่ที่มีต้นไม้มากสักหน่อยก็อย่าลืมแหงนหน้าขึ้นดู อาจได้เจอพวกเค้ากำลังหาอาหารรับประทานอยู่ก็เป็นได้


สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนกพญาไฟเล็ก เชิญที่บ้านนกเช่นเคยค่ะ




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 15 กรกฎาคม 2548 14:03:08 น.
Counter : 3063 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

จันทร์น้อย
Location :
ปทุมธานี Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Friends' blogs
[Add จันทร์น้อย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.