การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลกคือ ความสุขของโลก
Group Blog
 
All Blogs
 

ผลของทานในบุคคลต่างๆ

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต - หน้าที่ 315-317

เวลามสูตร

[๒๒๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอารามของท่าน
อนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีเข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูกรคฤหบดีในตระกูลของท่าน ยังให้ทานอยู่บ้างหรือหนอ ฯ

ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในตระกูลของข้าพระองค์ยังให้ทานอยู่ แต่ท่านนั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าว มีน้ำผักดองเป็นที่สอง ฯ

พ. ดูกรคฤหบดี คนให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือไม่เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ ย่อมบังเกิดผลในตระกูลใดๆในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ส่งจิตไปที่อื่นเสีย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ทั้งนี้เป็นเพราะผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพ ฯ

ดูกรคฤหบดี บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของกรรมให้ทาน ทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น ข้อนั้นเพราะเหตุไรทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ ฯ

ดูกรคฤหบดี เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพราหมณ์ชื่อเวลามะ พราหมณ์ผู้นั้นได้ให้ทานเป็นมหาทานอย่างนี้ คือ ได้ให้ถาดทองเต็มด้วยรูปิยะ ๘๔,๐๐๐ ถาดถาดรูปิยะเต็มด้วยทอง ๘๔,๐๐๐ถาด ถาดสำริดเต็มด้วยเงิน ๘๔,๐๐๐ ถาด ให้ช้าง ๘๔,๐๐๐ เชือก มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทองให้รถ ๘๔,๐๐๐ คัน หุ้มด้วยหนังราชสีห์ หนังเสือโคร่ง หนังเสือเหลือง ผ้ากัมพลเหลือง มีเครื่องประดับล้วนเป็นทอง มีธงทอง คลุมด้วยข่ายทอง ให้แม่โคนม๘๔,๐๐๐ ตัว มีน้ำนมไหลสะดวก ใช้ภาชนะเงินรองน้ำนม ให้หญิงสาว ๘๔,๐๐๐ คน ประดับด้วยแก้วมณีและแก้วกุณฑล ให้บัลลังก์ ๘๔,๐๐๐ ที่ ลาดด้วยผ้าโกเชาว์ ลาดด้วยขนแกะสีขาว เครื่องลาดมีสัณฐานเป็นช่อดอกไม้ มีเครื่องลาดอย่างดีทำด้วยหนังชมด มีเครื่องลาดเพดาน มีหมอนข้างแดงทั้งสอง ให้ผ้า๘๔,๐๐๐ โกฏิ เป็นผ้าเปลือกไม้ ผ้าแพร ผ้าฝ้าย เนื้อละเอียด จะป่วยกล่าวไปไยถึงข้าว น้ำ ของเคี้ยว ของบริโภค เครื่องลูบไล้ ที่นอน ไหลไปเหมือนแม่น้ำ

ดูกรคฤหบดี ก็ท่านพึงมีความคิดอย่างนี้ว่า สมัยนั้น ผู้อื่นไม่ใช่เวลามพราหมณ์ผู้ที่ให้ทานเป็นมหาทานนั้น ดูกรคฤหบดี แต่ท่านไม่ควรเห็นอย่างนี้ สมัยนั้น เราเป็นเวลามพราหมณ์ เราได้ให้ทานนั้นเป็นมหาทาน ก็ในทานนั้นไม่มีใครเป็นพระทักขิเณยยบุคคล ใครๆ ไม่ชำระทักขิณานั้นให้หมดจด ดูกรคฤหบดี

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยทานบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญ ให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระสกทาคามีร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญพระอนาคามีผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้พระอนาคามีร้อยท่านบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยท่านบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ผู้เดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันต์ร้อยรูปบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปเดียวบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้าร้อยรูปบริโภค

ทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าบริโภค

การที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์ผู้มาจากจาตุรทิศ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลถวายให้ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขบริโภค

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ มีผลมากกว่าทานที่บุคคลสร้างวิหารถวายสงฆ์อันมาจากจาตุรทิศ

การที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ จากการดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยอันเป็นฐานะแห่งความประมาท มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสถึงพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ

การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ฯลฯ

ดูกรคฤหบดีทานที่บุคคลเชื้อเชิญให้ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยทิฐิผู้เดียวบริโภค มีผลมากกว่ามหาทานที่เวลามพราหมณ์ให้แล้ว ... การที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม มีผลมากกว่าการที่บุคคลมีจิตเลื่อมใสสมาทานสิกขาบท คือ งดเว้นจากปาณาติบาต ... และการที่บุคคลเจริญอนิจจสัญญาแม้เพียงเวลาลัดนิ้วมือ มีผลมากกว่าการที่บุคคลเจริญเมตตาจิตโดยที่สุดแม้เพียงเวลาสูดดมของหอม ฯ

จบสูตรที่ ๑๐




 

Create Date : 02 ธันวาคม 2552    
Last Update : 2 ธันวาคม 2552 13:13:43 น.
Counter : 1859 Pageviews.  

ความคิดของผู้ให้ทาน

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต - หน้าที่ 54-57
ทานสูตร
[๔๙]

ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสกชาวเมืองจัมปา เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมีหรือหนอแลและทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มากพึงมีหรือพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมี และทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมี ฯ

สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย เครื่องให้ทานเช่นนั้นแล
ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มากอะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย
เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ยังมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผล
ให้ทาน มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เขาให้ทาน
คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่อง
อุปกรณ์ แก่สมณะหรือพราหมณ์ ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคล
บางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน
มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังมีผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

ดูกรสารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้ ไม่มีหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่คิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้ แล้วให้ทาน แต่ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์แก่สมณะหรือพราหมณ์ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน ไม่มีจิตผูกพันในผล
ให้ทาน ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้
แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงความ
เป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์ เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว
ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี แต่ให้ทาน
ด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี เขาให้ทาน
คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า
ตา ยายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน
สมณะและพราหมณ์เหล่านี้ ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์
ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต
เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศหมดความเป็นใหญ่ แล้วยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็น
อย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าเราหุงหากินได้
สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์
ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษีวาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี บูชามหายัญ ฉะนั้น เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความ
เป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนก
แจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี ฯลฯและภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า
เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ
ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ
หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้
จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน คือ
ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้ ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์
แก่สมณะหรือพราหมณ์ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลบางคนในโลกนี้
พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน
ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน
ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน
ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้
ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดี
ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายเคยให้เคยทำมา เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้ สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้ จะไม่ให้ทานแก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร
ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น
และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้ จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส

แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้

ดูกรสารีบุตร นี้แลเหตุปัจจัย เป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก

และเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

จบสูตรที่ ๙




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 14:05:26 น.
Counter : 260 Pageviews.  

ทายกและปฎิคาหก

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔ อังคุตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต - หน้าที่ 306-307

๗. ทานสูตร

[๓๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อุบาสิกาชื่อนันทมารดาชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้นถวายทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ ในภิกษุสงฆ์มีพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นประมุข ก็ทักษิณาทานอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย องค์ ๓ ของทายก องค์ ๓ ของปฏิคาหก องค์ ๓ของทายกเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทายกในศาสนานี้ ก่อนให้ทาน เป็นผู้ดีใจ ๑
กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ๑
ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ ๑
นี้องค์ ๓ ของทายก

องค์ ๓ ของปฏิคาหกเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ปฏิคาหกในศาสนานี้ เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจักราคะ ๑
เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ ๑
เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ ๑นี้
องค์ ๓ ของปฏิคาหก

องค์ ๓ ของทายก องค์ ๓ ของปฏิคาหก ย่อมมีด้วยประการดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ทักษิณาทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการย่อมมีด้วยประการอย่างนี้แล การถือประมาณบุญแห่งทักษิณาทานที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการอย่างนี้ว่า ห้วงบุญห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้นำสุขมาให้มีอารมณ์เลิศมีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ดังนี้ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้บุญแห่งทักษิณาทานนั้น ย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงบุญห้วงกุศลที่จะนับไม่ได้ประมาณไม่ได้ เป็นกองบุญใหญ่ทีเดียว เปรียบเหมือนการถือเอาประมาณแห่งน้ำในมหาสมุทรว่า เท่านี้อาฬหกะ เท่านี้ร้อยอาฬหกะ เท่านี้พันอาฬหกะ
หรือเท่านี้แสนอาฬหกะ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้ น้ำในมหาสมุทรย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงน้ำที่จะนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ เป็นห้วงน้ำใหญ่ทีเดียว

ฉะนั้น ฯ ทายกก่อนแต่จะให้ทานเป็นผู้ดีใจ กำลังให้ทานอยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส ครั้นให้ทานแล้วย่อมปลื้มใจ นี้เป็นยัญสมบัติปฏิคาหกผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คือ ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มีอาสวะย่อมเป็นเขตถึงพร้อมแห่งยัญ ทายกต้อนรับปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อมมีผลมากเพราะตน(ทายกผู้ให้ทาน) และเพราะผู้อื่น (ปฏิคาหก) ทายกผู้มีปัญญา มีศรัทธา เป็นบัณฑิต มีใจพ้นจากความตระหนี่ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุขไม่มีความเบียดเบียน ฯ

จบสูตรที่ ๗




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 10:54:57 น.
Counter : 1604 Pageviews.  

ลำดับการให้ทาน

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 391-397

๑๒. ทักษิณาวิภังคสูตร

[๗๐๖] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารนิโครธาราม เขต พระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท. สมัยนั้นแล พระนางมหาปชาบดีโคตมีทรงถือผ้าคู่หนึ่ง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ แล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอประทับนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้าย ทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่ของหม่อมฉันเถิด.

[๗๐๗] เมื่อพระนางกราบทูลแล้วอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนโคตมี พระนางจงถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้ว จักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์ พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้าใหม่คู่นี้ หม่อมฉันกรอด้ายทอเอง ตั้งใจอุทิศพระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์ โปรดรับผ้าใหม่ทั้งคู่นี้ของหม่อมฉันเถิด แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓ แล พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสกะพระนาง แม้ในครั้งที่ ๒ แม้ในครั้งที่ ๓ ดังนี้ว่า ดูก่อนโคตมี พระนางถวายสงฆ์เถิด เมื่อถวายสงฆ์แล้วจักเป็นอันพระนางได้บูชาทั้งอาตมภาพและสงฆ์.

[๗๐๘] เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างนี้ ท่านพระอานนท์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า โปรดรับผ้าทั้งคู่ ของพระนางมหาปชาบดีโคตมีเถิด พระนางมหาปชาบดี โคตมี มีอุปการะมาก เป็นพระมาตุจฉาผู้ทรงบำรุงเลี้ยง ประทานพระขีรรส แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อพระชนนีสวรรคตแล้ว ได้โปรดให้พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงดื่มเต้าพระถัน แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงมีอุปการะมากแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระนางทรงอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงถึงพระพุทธะ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะได้ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงงดเว้น จากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาทจากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงทรงประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธะ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงประกอบด้วยศีลที่พระอริยะมุ่งหมายได้ ทรงอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงเป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัยทุกขนิโรธ ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงมีพระอุปการะมากแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี.

[๗๐๙] พ. ถูกแล้ว ๆ อานนท์ จริงอยู่ บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้วเป็นผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นสรณะได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรมด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขารบุคคลใดอาศัยบุคคลใดแล้ว งดเว้น จากปาณาติบาต จากอทินนาทาน จากกาเมสุมิจฉาจาร จากมุสาวาท จากฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความประมาทเพราะดื่มน้ำเมาคือสุราและเมรัยได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนต่อบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิ กรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร. บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้ประกอบด้วยความเลื่อมใสอย่างไม่หวั่นไหวในพระพุทธะ พระธรรม พระสงฆ์ ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะมุ่งหมายได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร. บุคคลอาศัยบุคคลใดแล้ว เป็นผู้หมดความสงสัยในทุกข์ ในทุกขสมุทัย ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาได้ เราไม่กล่าวการที่บุคคลนี้ตอบแทนบุคคลนี้ด้วยดี เพียงกราบไหว้ลุกรับ ทำอัญชลี ทำสามีจิกรรม ด้วยเพิ่มให้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจยเภสัชบริขาร.

[๗๑๐] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาเป็นปาฏิปุคคลิกมี ๑๔ อย่าง คือ
ให้ทานในตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑.
ให้ทานในพระปัจเจกสัมพุทธะ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๒.
ให้ทานในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๓.
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๔.
ให้ทานแก่พระอนาคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๕.
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๖.
ให้ทานแก่พระสาทกคามี นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๗.
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๘.
ให้ทานในพระโสดาบัน นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๙.
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง นี้ เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๐. ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๑.
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๒.
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล นี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๓
ให้ทานในสัตว์เดียรัจฉานนี้เป็นทักษิณาปาฏิปุคคลิกประการที่ ๑๔.

[๗๑๑] ดูก่อนอานนท์ ใน ๑๔ ประการนั้น
บุคคลให้ทานในสัตว์ เดียรัจฉาน พึงหวังผลทักษิณาได้ร้อยเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีล พึงหวังผลทักษิณาได้พันเท่า
ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีล พึงหวังผลทักษิณาได้แสนเท่า.ใ
ห้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกาม พึงหวังผลทักษิณาได้แสนโกฏิเท่า.
ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้ง พึงหวังผล
ทักษิณาจะนับไม่ได้ จะประมาณไม่ได้ จะป่วยกล่าวไปไยในพระโสดาบันในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำสกทาคามิผลให้แจ้ง ในพระสกทาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอนาคามิผลให้แจ้ง ในพระอนาคามี ในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำอรหัตผลให้แจ้ง ในสาวกของตถาคตผู้เป็นพระอรหันต์ ในปัจเจกสัมพุทธะ และในตถาคตอรหันต์ สัมมาสัมพุทธเจ้า.

[๗๑๒] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์มี ๗ อย่าง คือ
ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๑.
ให้ทานในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย ในเมื่อตถาคตปรินิพพานแล้ว นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๒.
ให้ทานในภิกษุสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๓.
ให้ทานในภิกษุณีสงฆ์ นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๔.
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุและภิกษุณีจำนวนเท่านี้ ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้าแล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ ประการที่ ๕.
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน นี้เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๖.
เผดียงสงฆ์ว่า ขอได้โปรดจัดภิกษุณีจำนวนเท่านี้ขึ้นเป็นสงฆ์แก่ข้าพเจ้า แล้วให้ทาน เป็นทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์ประการที่ ๗.

[๗๑๓] ดูก่อนอานนท์ ก็ในอนาคตกาล จักมีแต่เหล่าภิกษุโคตรภู มีผ้ากาสาวะพันคอ เป็นคนทุศีล มีธรรมลามก คนทั้งหลายจักถวายทานเฉพาะสงฆ์ได้ในเหล่าภิกษุทุศีลนั้น ดูก่อนอานนท์ ทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์แม้ในเวลานั้นเราก็กล่าวว่า มีผลนับไม่ได้ ประมาณไม่ได้ แต่ว่าเราไม่กล่าวปาฏิปุคคลิกทานว่ามีผลมากกว่าทักษิณาที่ถึงแล้วในสงฆ์โดยปริยายไร ๆ เลย

[๗๑๔] ดูก่อนอานนท์ ก็ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณานี้มี ๔ อย่าง. ๔ อย่าง เป็นไฉน.

ดูก่อนอานนท์ ทักษิณาบางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายทายก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก
บางอย่างบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก
บางอย่างฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์ บางอย่างบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก.

[๗๑๕] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร ดูก่อนอานนท์ ในข้อนี้ ทายกมีศีล มีธรรมงาม ปฏิคาหกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายกไม่บริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก.

[๗๑๖] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายกอย่างไร. ดูก่อนอานนท์ ในข้อนี้ ทายกเป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกเป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายปฏิคาหก ไม่บริสุทธิ์ฝ่ายทายก.

[๗๑๗] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์อย่างไร. ดูก่อนอานนท์ ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก ปฏิคาหกก็เป็นผู้ทุศีล มีธรรมลามก อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าฝ่ายทายกก็ไม่บริสุทธิ์ ฝ่ายปฏิคาหกก็ไม่บริสุทธิ์.

[๗๑๘] ดูก่อนอานนท์ ก็ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายก และฝ่ายปฏิคาหกอย่างไร. ดูก่อนอานนท์ในข้อนี้ ทายกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงามปฏิคาหกก็เป็นผู้มีศีล มีธรรมงาม อย่างนี้แล ทักษิณาชื่อว่าบริสุทธิ์ทั้งฝ่ายทายกและฝ่ายปฏิคาหก.

ดูก่อนอานนท์ นี้แล ความบริสุทธิ์แห่งทักษิณา ๔ อย่าง.

[๗๑๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคตศาสดา ได้ตรัสไวยากรณภาษิตนี้ แล้วได้ตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ ต่อไปอีกว่า

(๑) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม
มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลแห่งธรรม
อย่างยิ่ง ให้ทานในคนทุศีล ทักษิณาของ
ผู้นั้น ชื่อว่าบริสุทธิ์ฝ่ายทายก.

(๒) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่
เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมไสไม่เชื่อธรรม
และผลของธรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคน
มีศีล ทักษิณาของผู้นั้นชื่อว่า บริสุทธิ์ฝ่าย
ปฏิคาหก.

(๓) ผู้ใดทุศีล ได้ของมาโดยไม่
เป็นธรรม มีจิตไม่เลื่อมใสไม่เชื่อกรรม
และผลของธรรมอย่างยิ่ง ให้ทานในคน
ทุศีล เราไม่กล่าวทานของผู้นั้นว่า มีผล
ไพบูลย์.

(๔) ผู้ใดมีศีล ได้ของมาโดยธรรม
มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อกรรมและผลของกรรม
อย่างยิ่ง ให้ทานในคนมีศีล เรากล่าว
ทานของผู้นั้นแลว่า มีผลไพบูลย์.

(๕) ผู้ใดปราศจากราคะแล้ว ได้
ของมาโดยธรรม มีจิตเลื่อมใสดี เชื่อ
กรรมและผลของกรรมอย่างยิ่ง ให้ทาน
ในผู้ปราศจากราคะ ทานของผู้นั้นนั่นแล
เลิศกว่าอามิสทานทั้งหลาย.

จบ ทักขิณาวิภังคสูตร ที่ ๑๒




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 10:55:22 น.
Counter : 372 Pageviews.  

เทวดาถามปัญหา

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค - หน้าที่ 36
กินททสูตรที่ ๒
[๑๓๗] เทวดาทูลถามว่า
บุคคลให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้กำลัง ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้วรรณะ ให้สิ่งอะไร
ชื่อว่าให้ความสุข ให้สิ่งอะไรชื่อว่าให้จักษุและบุคคลเช่นไรชื่อว่าให้
ทุกสิ่งทุกอย่าง ข้าพระองค์ทูลถามพระองค์ ขอพระองค์ตรัสบอกแก่
ข้าพระองค์ด้วยเถิด ฯ
[๑๓๘] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
บุคคลให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ให้ยานพาหนะชื่อ
ว่าให้ความสุข ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุและผู้ที่ให้ที่พักพาอาศัย
ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ส่วนผู้ที่พร่ำสอนธรรมชื่อว่าให้อมฤตธรรม ฯ
อันนสูตรที่ ๓
[๑๓๙] เทวดากราบทูลว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งสองพวก ต่างก็พอใจอาหารด้วยกันทั้งนั้น เออ
ก็ผู้ที่ไม่พอใจอาหารชื่อว่ายักษ์โดยแท้ ฯ
[๑๔๐] พ. ชนเหล่าใดมีใจผ่องใสแล้ว ให้อาหารนั้นด้วยศรัทธา อาหารนั้น
แลย่อมพะนอเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้นบุคคลพึงนำ
ความตระหนี่ให้ปราศจากไป พึงข่มความ ตระหนี่ซึ่งเป็นตัวมลทินเสียให้
ทาน เพราะบุญทั้งหลายเป็นที่พึ่งของเหล่าสัตว์ในโลกหน้า ฯ
เอกมูลสูตรที่ ๔
[๑๔๑] เทวดากราบทูลว่า
บาดาล มีรากอันเดียว มีความวนสอง มีมลทินสาม มี เครื่องลาดห้า
เป็นทะเล หมุนไปได้สิบสองด้าน ฤาษีข้ามพ้นแล้ว ฯ

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค - หน้าที่ 37
อโนมิยสูตรที่ ๕
[๑๔๒] เทวดากราบทูลว่า
ท่านทั้งหลายเชิญดูพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้มีพระนามไม่ทราม ผู้ทรง
เห็นประโยชน์อันละเอียด ผู้ให้ซึ่งปัญญาไม่ทรงข้องอยู่ในอาลัยคือกาม
ตรัสรู้ธรรมทุกอย่าง มีพระปรีชาดี ทรงก้าวไปในทางอันประเสริฐ ผู้ทรง
แสวงคุณอันใหญ่ ฯ
อัจฉราสูตรที่ ๖
[๑๔๓] เทวดาทูลถามว่า
ป่าชัฏชื่อโมหนะ อันหมู่นางอัปสรประโคมแล้ว อันหมู่ปีศาจสิงอยู่แล้ว
ทำไฉนจึงจะหนีไปได้ ฯ
[๑๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ทางนั้นชื่อว่าเป็นทางตรง ทิศนั้นชื่อว่าไม่มีภัย รถชื่อว่าไม่มีเสียงดัง
ประกอบด้วยล้อคือธรรม หิริเป็นฝาของรถนั้นสติเป็นเกราะกั้นของรถ
นั้น เรากล่าวธรรมมีสัมมาทิฏฐินำหน้าว่าเป็นสารถี ยานชนิดนี้มีอยู่แก่
ผู้ใด จะเป็นหญิงหรือชายก็ตาม เขา (ย่อมไป) ในสำนักพระนิพพาน
ด้วยยานนี้แหละ ฯ
วนโรปสูตรที่ ๗
[๑๔๕] เทวดาทูลถามว่า
ชนพวกไหนมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและกลางคืน ชน
พวกไหนตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีลเป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ
[๑๔๖] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค - หน้าที่ 38
ชนเหล่าใดสร้างอาราม (สวนไม้ดอกไม้ผล) ปลูกหมู่ไม้(ใช้ร่มเงา)
สร้างสะพาน และชนเหล่าใดให้โรงน้ำเป็นทานและบ่อน้ำทั้งบ้านที่
พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อทั้งกลางวันและ
กลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์ ฯ
เชตวนสูตรที่ ๘
[๑๔๗] เทวดากราบทูลว่า
ก็พระเชตวันมหาวิหารนี้นั้น อันหมู่แห่งท่านผู้แสวงคุณอยู่อาศัยแล้ว
อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระธรรมราชาประทับอยู่แล้ว เป็นแหล่งที่เกิดปีติ
ของข้าพระองค์ การงาน ๑ วิชา ๑ธรรม ๑ ศีล ๑ ชีวิตอย่างสูง ๑
สัตว์ทั้งหลายย่อมบริสุทธิ์ด้วยคุณธรรม ๕ นี้ หาบริสุทธิ์ด้วยโคตรหรือ
ด้วยทรัพย์ไม่ ฯเพราะเหตุนั้นแหละ คนผู้ฉลาด เมื่อเห็นประโยชน์
ของตนควรเลือกเฟ้นธรรมโดยอุบายอันแยบคาย เพราะเมื่อเลือกเฟ้น
เช่นนี้ ย่อมหมดจดได้ในธรรมเหล่านั้น ฯ
พระสารีบุตรรูปเดียวเท่านั้น (เป็นผู้ประเสริฐ) ด้วยปัญญา ศีล และ
ความสงบ ภิกษุใดเป็นผู้ถึงซึ่งฝั่ง ภิกษุนั้นก็มีท่านพระสารีบุตรนั้นเป็น
เยี่ยม ฯ
มัจฉริสูตรที่ ๙
[๑๔๘] เทวดาทูลถามว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขาทำการ
กีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ
วิบากของคนพวกนั้นจะเป็นเช่นไร และสัมปรายภพของเขาจะเป็น
เช่นไร ฯ

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค - หน้าที่ 39
ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาค ไฉนข้าพระองค์จึง จะรู้ความ
ข้อนั้น ฯ
[๑๔๙] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
คนเหล่าใดในโลกนี้ เป็นคนตระหนี่ เหนียวแน่น ดีแต่ว่าเขาทำการ
กีดขวางคนเหล่าอื่นผู้ให้อยู่ ฯ
คนเหล่านั้นย่อมเข้าถึงนรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน หรือยมโลก ถ้าหาก
ถึงความเป็นมนุษย์ ก็เกิดในสกุลคนยากจน ซึ่งจะหาท่อนผ้า อาหาร
ความร่าเริงและความสนุกสนานได้โดยยาก ฯ
คนพาลเหล่านั้นต้องประสงค์สิ่งใดแต่ผู้อื่น เขาย่อมไม่ได้แม้สิ่งนั้น
สมความปรารถนา นั่นเป็นผลในภพนี้ และภพหน้าก็ยังเป็นทุคติอีก
ด้วย ฯ
[๑๕๐] เทวดาทูลถามว่า
ก็ข้อนี้ข้าพระองค์เข้าใจชัดอย่างนี้ (แต่) จะทูลถามข้ออื่นกะพระโคดม
ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้วรู้ถ้อยคำ ปราศจากความ
ตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าพระธรรมและพระสงฆ์ เป็นผู้มีความ
เคารพแรงกล้า วิบากของชนเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร และ
สัมปรายภพของเขาจะเป็นเช่นไร ข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มี
พระภาค ไฉนข้าพระองค์จึงจะรู้ความข้อนั้น ฯ
[๑๕๑] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า
ชนเหล่าใดในโลกนี้ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว รู้ถ้อยคำ ปราศจากความ
ตระหนี่ เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นผู้มี
ความเคารพแรงกล้า ชนเหล่านี้ย่อมปรากฏในสวรรค์อันเป็นที่อุบัติ
หากถึงความเป็นมนุษย์ ย่อมเกิดในสกุลที่มั่งคั่ง ได้ผ้าอาหารความร่าเริง
และความสนุกสนานโดยไม่ยาก พึงมีอำนาจแผ่ไปในโภคทรัพย์ที่ผู้อื่นหา
สะสมไว้ บันเทิงใจอยู่ นั่นเป็นวิบากในภพนี้ ทั้งภพหน้าก็เป็นสุคติ ฯ




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2552    
Last Update : 1 ธันวาคม 2552 11:12:16 น.
Counter : 572 Pageviews.  

1  2  

supatra.p
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก คือ ความสุขของโลก
Friends' blogs
[Add supatra.p's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.