space
space
space
space

คุณค่าวิตามินอีในน้ำมันพืช







วิตามินอี เป็นวิตามินชนิดหนึ่งที่ร่างกายจำเป็นต้องได้รับทุกวัน มีลักษณะเป็นน้ำมันสีเหลืองและละลายได้ดีในไขมัน ในแต่ละวันผู้ใหญ่วัยทำงานควรได้รับวิตามินอีประมาณ 8-10 มก. ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข (Thai RDA)

อาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินอี ได้แก่ นม ไข่ ถั่วลิสง อัลมอนด์ เนื้อสัตว์ ผักโขม และน้ำมันพืชต่าง ๆ อย่างไรก็ตามหลายคนมักหลีกเลี่ยงที่จะรับประทานไขมันพืช โดยเฉพาะผู้ที่กำลังควบคุมน้ำหนัก เพราะเชื่อว่าจะทำให้อ้วน จริงอยู่ที่น้ำมันพืชต่าง ๆ ให้พลังงานสูง แต่ร่างกายยังคงต้องการไขมันเหล่านี้ในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อช่วยในการดูด ซึมวิตามิน

ในบรรดาน้ำมันพืชต่าง ๆ ที่จำหน่ายในบ้านเรามีสัดส่วนปริมาณวิตามินอีมากน้อยต่างกัน โดยน้ำมันที่นิยมรับประทานในครัวเรือนมีดังนี้

น้ำมันข้าวโพด
1 ช้อนโต๊ะให้พลังงาน 120 กิโลแคลอรี มีวิตามินอี 9 มก. เหมาะสำหรับการผัด ทอดหรือเป็นน้ำมันสลัด ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ จึงมีราคาสูงกว่าน้ำมันอื่นเล็กน้อย

น้ำมันเมล็ดฝ้าย
1 ช้อนโต๊ะให้พลังงาน 130 กิโลแคลอรี มีวิตามินอี 4.8 มก. เหมาะสำหรับการทอด เพราะทนความร้อนที่อุณหภูมิสูง 230 องศาเซลเซียส ทำให้อาหารกรอบนาน และยังนำไปผัดและเป็นน้ำสลัดได้ด้วย

น้ำมันมะกอก
1 ช้อนโต๊ะให้พลังงานประมาณ 130 กิโลแคลอรี มีวิตามินอี 4.8 มก. เหมาะสำหรับอาหารผัด และเป็นน้ำมันที่เหมาะกับผู้ควบคุมน้ำหนัก เพราะเป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน
นอกจากนี้ ยังให้โอเมก้า 3 และ 6 เพิ่มปริมาณไขมันดี HDL-C ให้แก่ร่างกาย ราคาค่อนข้างสูงจึงเป็นที่นิยมเฉพาะกลุ่ม

น้ำมันปาล์ม
1 ช้อนโต๊ะให้พลังงาน 130 กิโลแคลอรี มีวิตามินอี 7.8 มก. เป็นน้ำมันพืชที่นิยมใช้ที่สุดในร้านอาหารส่วนใหญ่ เพราะมีราคาไม่แพง หากนำไปทอด อาหารจะมีความกรอบนาน แต่รับประทานมาก ๆ ไม่ดีต่อหัวใจเพราะมีไขมันอิ่มตัวสูง

น้ำมันดอกคำฝอย
1 ช้อนโต๊ะให้พลังงาน 130 กิโลแคลอรี มีวิตามินอี 13.8 มก. เป็นน้ำมันพืชที่ได้รับความนิยมไม่แพ้น้ำมันมะกอก เพราะมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เหมาะสำหรับทำน้ำสลัด อบขนม และปรุงอาหารประเภทผัด

น้ำมันถั่วเหลือง
1 ช้อนโต๊ะให้พลังงาน 130 กิโลแคลอรี มีวิตามินอี 4.5 มก. เป็นน้ำมันที่ได้รับความนิยมเช่นกัน เพราะมีราคาไม่สูงมาก และเป็นไขมันไม่อิ่มตัว

น้ำมันดอกทานตะวัน
1 ช้อนโต๊ะให้พลังงาน 130 กิโลแคลอรี มีวิตามินอี 14.1 มก. เป็นน้ำมันที่กำลังได้รับความนิยม เพราะนอกจากจะมีวิตามินอีสูง ยังไม่เป็นอันตรายต่อการเสี่ยงเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบตัน

วิตามินอีมีประโยชน์หลายอย่าง ทั้งช่วยด้านการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันและอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ ป้องกันการเสื่อมสลายของเยื่อหุ้มเซลล์ที่อยู่ตามผิวหนัง ตา เป็นต้น นอกจากนี้ ยังป้องกันผิวจากการไหม้เกรียม ริ้วรอยเหี่ยวย่น แต่ไม่ควรรับประทานวิตามินอีมากเกิน 1500 IU หรือประมาณ 30 มก. เนื่องจากโอกาสการขาดวิตามินอีโดยเฉพาะผู้ใหญ่ไม่ค่อยพบทั้งชาวไทยหรือต่าง ประเทศ แต่จะพบในเด็กแรกเกิดที่ไม่ครบกำหนดคลอดเสียมากกว่า ดังนั้นจึงควรระวังในเรื่องการบริโภคเกินจำนวนในปริมาณมาก เพราะหากได้รับวิตามินอีมากไปก็เป็นอันตราย เนื่องจากวิตามินอีไม่สามารถละลายในน้ำ ทำให้ขับออกทางปัสสาวะไม่ได้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง จนถึงกล้ามเนื้ออ่อนแรง และปริมาณน้ำมันที่รับประทานเข้าไปจะทำให้น้ำหนักตัวและหลอดเลือดมีผลกระทบ ที่รุนแรงและเห็นได้ชัด วิตามินอีที่ได้จากน้ำมันพืช หรือ ผลิตภัณฑ์จากเมล็ดพืชประมาณ 40% ได้แก่ มาการีน น้ำมันสลัด น้ำมันพืช ส่วนอีก 20% ได้จากการรับประทานผักและผลไม้ และถ้าใครรับประทานอาหารที่มีธัญพืช ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแห้ง ก็จะได้เพิ่มอีก 20% อีก 15% จะได้จากการรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยเมล็ดธัญพืชผสมลงในผลิตภัณฑ์อาหาร ส่วนที่เหลืออีกเพียงเล็กน้อยจะได้จากเนื้อสัตว์ ปลา และไข่ เท่านั้น
คำแนะนำในการปรุงอาหาร

น้ำมันจากพืชถือว่าเป็นแหล่งของวิตามินอีสูง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์แล้วแทบจะไม่มีเลย ด้วยเหตุนี้จึงแนะนำให้ได้รับวิตามินจากเมล็ดพืชก็น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนการเสริมด้วยรูปของวิตามินคงจะต้องนำมาพิจารณาเป็นราย ๆ ไปว่ามีความจำเป็นเพียงใด แต่การที่จะได้รับวิตามินอีให้ได้ประโยชน์สูงสุดคงจะไม่พ้นการปรุงอหารที่ ถูกวิธี ด้วยเหตุที่วิตามินอีจะเสื่อมสภาพด้วยการใช้ความร้อนสูง เช่น ทอด ผัดไฟแดง อบ เจียว และการที่นำน้ำมันกลับมาใช้ซ้ำ อีกทั้งการเก็บรักษาน้ำมันระหว่างการรอใช้ เช่น ภาชนะบรรจุไม่มีฝาปิดสนิท (ฝาหม้อธรรมดา) การทิ้งไว้ในที่มีอากาศร้อน แสงแดดส่องถึง ก็จะทำให้น้ำมันเสื่อมคุณภาพไป วิธีที่นิยมใช้การถนอมวิตามินอีคือ การเติมน้ำมันลงในอาหารก่อนจะยกอาหารขึ้นใส่จาน นึ่ง ต้ม โดยการเติมน้ำมันลงในน้ำ เช่น น้ำซุป เป็นต้น บางคนอาจรับประทานน้ำมันเปล่า ๆ เพื่อให้ได้วิตามินอีเพียงพอ แต่นั่นคือการทำให้ระบบการย่อยและดูดซึมไขมันหนักเกินไป และแม้ว่าวิตามินอีจะค่อนข้างทนต่อความร้อนและไม่ละลายในน้ำ แต่การประกอบอาหารที่ใช้ความร้อนสูง ๆ เช่น การทอด และหากน้ำมันเหม็นหืนก็อาจทำให้วิตามินอีเสียสภาพไปด้วย

อ้างอิง
Nutrition concept and Controversies; Frances Sienkiewicz Sizer and Eleanor Noss Whiting 1994 ( p. 226)
ขอขอบคุณ : ข้อมูลจาก คุณธิติมา ปฏิพิมพาคม โภชนากร และ ท็อปส์ ซูเปอร์มาเก็ต เอื้อเฟื้อผลิตภัณฑ์


คุณธิติมา ปฏิพิมพาคม โภชนากร

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today





 

Create Date : 09 ตุลาคม 2551   
Last Update : 9 ตุลาคม 2551 5:48:35 น.   
Counter : 2913 Pageviews.  
space
space
เมื่อเกิดอาการ...เสียวฟัน และ คอฟันสึก



ท่านมีอาการอย่างนี้บ้างหรือไม่....
เสียวฟันมากเวลา...ดื่มน้ำเย็น...
เสียวฟันมากเวลา...กินขนมหวาน
ถ้าทั้งเย็นและหวานด้วย เลิกเลย อย่ามาชวนทางไอศกรีมเชียวล่ะ ขยาดจริงๆ
อาการเสียวฟันไม่ใช่อาการเจ็บฟัน...แต่เป็นแล้ว เราๆ ท่านๆ จะเข็ดเขี้ยวกับมันจริงๆ





เสียวฟันเกิดจากอะไร?
หากฟันไม่ผุ...ที่พบบ่อยๆ และเป็นกันมากคือ คอฟันสึก ส่วนใหญ่ฟันจะสึกบริเวณคอฟันตรงขอบเหงือก และมักเป็นร่วมกับการมีเหงือกร่น



คอฟันสึกจนถึงชั้นเนื้อฟัน จะเสียวฟันมากเมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง (ของเย็นหรือร้อน) ของหวาน หรือการแปรงฟัน



คอฟันสึกเกิดจากอะไร?

* ดื่มหรือรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัด เช่น ดื่มน้ำมะนาวเป็นประจำ น้ำมะนาวมีฤทธิ์เป็นกรด ทำให้เกิดการละลายตัวของเนื้อฟันวันละเล็กวันละน้อย เริ่มจากเป็นรอยขีดตื้นๆ จนเป็นรอยลึกใหญ่ คล้ายต้นไม้ที่ถูกบาก เมื่อรอยสึกลึกมากก็เสียวฟันมาก

* แปรงฟันผิดวิธี
ใช้ขนแปรงแข็งเกินไป

คอฟันสึกที่เกิดจากการเสียดสี เกิดได้ง่ายถ้าใช้แปรงขนแข็งมาก และแปรงผิดวิธี ปกติฟันเป็นซี่ๆ อยู่ติดกัน แนวที่จะเอาอาหารออกคือแนวที่ไปตามซี่ฟัน เพราะฉะนั้นเวลาแปรงก็ปัดไปตามซี่ฟัน


o ฟันบนปัดลงล่าง
o ฟันล่างปัดขึ้นบน


แต่วิธีการแปรงแบบนี้ บางท่านบอกมันไม่ถนัด ยาก ก็เลยเอาความสะดวกเป็นที่ตั้ง แปรงเข้าแปรงออกไปตามคอฟัน ถ้าอย่างนี้ฟันก็กร่อน สึกเร็ว

* ใช้ ยาสีฟันที่มีผงขัดมาก ผงขัดฟันที่ผสมในยาสีฟันเพื่อใช้ขจัดคราบบางอย่าง ถ้าเป็นผงขัดที่มีลักษณะหยาบมากๆ แล้วใช้ประจำ คราบที่ติดตัวฟันอาจจะออกง่าย แต่ก็ทำให้คอฟันสึกได้ง่ายเช่นกัน



ถ้ามีคอฟันสึกจะแก้ไขอย่างไร?

ถ้าสึกไม่มาก จะลดอาการเสียวฟันโดยใช้ฟลูออไรด์ที่มีความเข้มข้นสูงทาบริเวณนั้น
แต่ถ้าสึกมาก ทันตแพทย์ก็จะอุดบริเวณคอฟัน โดยใช้สารที่เรียกว่า Composite Resin หรือ Glass ionomer



อาการเสียวฟันมีสาเหตุจากคอฟันสึกเป็นส่วนใหญ่ เป็นทีไรก็สร้างความกังวลในการเลือกรับประทานอาหารมากทีเดียว และส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นเพราะเราทำให้เกิด หากเราสามารถลดอาหารที่มีกรดมาก ไม่รับประทานเป็นประจำ หรือแปรงฟันให้ถูกวิธี ไม่ใช้แปรงที่มีขนแปรงแข็งเกินไป เลือกยาสีฟันที่มีผงขัดฟันละเอียด ก็มีโอกาสที่จะช่วยป้องกัน หรือลดอาการคอฟันสึกได้มากทีเดียว

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2551   
Last Update : 7 ตุลาคม 2551 5:28:21 น.   
Counter : 2426 Pageviews.  
space
space
ทานเจอย่างไรให้ได้สุขภาพที่ดี





เทศกาลกินเจ เป็นเทศกาลซึ่งชาวจีนถือปฏิบัติสืบต่อเป็นประเพณีกันมาช้านาน โดยเทศกาลกินเจจะเริ่มตั้งแต่ 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน ซึ่งจะตรงกับเดือนตุลาคมของไทย และในปีนี้เทศกาลกินเจจะตรงกับวันที่ 29 กันยายน - 7 ตุลาคม 2551
ในปัจจุบัน คุณสาวๆ ได้หันมารับประทานเจในช่วงเทศการกินเจกันมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป บางคนทานเพื่อสุขภาพ บางคนทานเพื่อละเว้นการทำกรรม ละเว้นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งหลักสำคัญในการกินเจก็คือ การ งดเว้นการกินเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ เครื่องเทศที่มีกลิ่นแรง เช่น ผักชี กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย รวมทั้งใบยาสูบ เลือกกินเฉพาะพืช ผัก ผลไมั
ทานเจอย่างไรให้ได้สุขภาพที่ดี

1. ต้องทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ โดยเราสามารถทดแทนโปรตีนจากเนื้อสัตว์ได้ด้วยโปรตีนจากถั่ว
2. ทาน ผักให้เยอะกว่าปกติเพราะกากใยจากพืชผักจะช่วยให้ระบบย่อยและระบบขับถ่ายทำ งานได้ดีขึ้น ช่วงเวลากินเจเป็นช่วงเวลาที่ดีเหมาะสำหรับขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
3. ทานอาหารเจจากร้านอาหารที่ปรุงสะอาด สดใหม่
4. เมื่อ รับประทานเป็นประจำจะทำให้ร่างกายปรับตัวอยู่ในสภาวะสมดุล ช่วยในการหมุนเวียนโลหิตและช่วยให้ระบบทางเดินอาหารมีเสถียรภาพมากขึ้น

รู้อย่างนี้แล้วก็ควรจะรับประทานเจให้ถูกวิธี ไม่ใช่ทานตามกระแฟชั่น หรือใช่ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสในการลดน้ำหนัก เพื่อที่คุณจะได้มีสุขภาพที่ดีและอิ่มบุญกันถ้วนหน้าต้อนรับเทศกาลกินเจในปี นี้




 

Create Date : 06 ตุลาคม 2551   
Last Update : 7 ตุลาคม 2551 5:30:52 น.   
Counter : 1322 Pageviews.  
space
space
เคล็ดลับดูแลร่างกาย... เมื่อเลข 5(0) มาเยือน




มนุษย์เราหลีกหนี เกิด แก่ เจ็บ ตาย ไปไม่พ้น เมื่อย่างเข้าสู่วัยเลข 5 เมื่อนั้นความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพอันไม่พึงปรารถนาก็ปรากฏชัดขึ้นเรื่อยๆ เมื่อกายแก่ จิตก็แก่ขึ้นตามไปด้วย แต่เป็น “แก่-กล้า” มิใช่ “แก่ชรา” เหมือนสังขาร บางคนอายุ 70 แต่หัวใจหยุดไว้ที่ 50 ดูกระชุ่มกระชวยรุ่มรวยอารมณ์ขัน สุขภาพจึงแข็งแรงพอที่จะหาความสำราญให้ชีวิตได้อยู่ ตรงกันข้ามบางคนเลขอายุยิ่งมาก ใจยิ่งห่อเหี่ยวขึ้นทุกวัน อย่างนี้เห็นทีจะอยู่ไม่ยึด อันนี้ไม่ได้แช่งแต่อยากแนะนำว่า มาใช้ชีวิตบั้นปลายให้มีความสุขจนหยดสุดท้ายกันดีกว่า

กายภาพเปลี่ยนไปตามวัย

อายุ 40 ความเปลี่ยนแปลงเริ่มมาเยือนเป็นการชิมลาง โดยเฉพาะลายเส้นบนใบหน้าเพิ่มมากขึ้นและดูจะถาวรเพราะเริ่มลึกลบออกยาก ผิวแห้ง ผมเริ่มมีสีเทาแซมและเส้นเล็กลง บางลงด้วย

อายุ 50 ผิวหนังเริ่มลดความยืดหยุ่นดึ๋งดั๋งลง กลายเป็นว่ายืดแล้วไม่ค่อยคืนรูป บางคนจะมีจุดด่างสีน้ำตาลปละปลายบนผิวหนังทั่วไป เป็นสัญลักษณ์ที่หลอกตัวเองยากว่าขณะนี้เรานั้นเข้าสู่วัยตกกระหรือวัย ทองอย่างแท้จริง กล้ามเนื้อยืดหยุ่นน้อยลงเช่นกัน กระดูกเริ่มบางลง เรียกได้เต็มปากว่าเข้าสู่วัยเมโนพอส สำหรับผู้หญิง และแอนโดรพอสสำหรับผู้ชาย

อายุ 70 ระบบประสาทสัมผัสการรับรู้ส่วนต่างๆ เริ่มเชื่องช้า ทั้งสายตา การรับฟัง การคิด การเคลื่อนไหว ตลอดจนการรับรสของลิ้นก็ไม่ดีเหมือนเดิม จนอาจทำให้ไม่เจริญอาหาร การย่อยอาหารก็ช้าลง เส้นเลือดแข็งขึ้น คนช่วงวัยนี้ประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจก็เริ่มไม่ดีเหมือนเดิมด้วย

อายุ 80 การทำงานของระบบปัสสาวะจะควบคุมได้ลำบากขึ้น ความจำต่างๆ ไม่ดีเหมือนเดิม
อย่างไรก็ตามไม่มีใครฝืนธรรมชาติได้ แต่ไม่ว่าอายุจะผ่านไปเท่าใดคนเราก็ควรจะดูแลตัวเอง หรือญาติผู้ใหญ่อย่างดีเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีสุขที่สุดตามวัย เรามีวิธีดูแลตัวเองง่ายๆ ที่คุณอาจลืมนึกถึง มาฝากกัน...

* ผิวพรรณ ทามอยซ์เจอร์ไรเซอร์หลังอาบน้ำเสมอ เพื่อช่วยให้ผิวแห้งชุ่มชื่นขึ้น ปกป้องผิวจากปัญหาต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง เช่น ผิวแห้งอักเสบ ตกสะเก็ด คัน แล้วเผลอเกาเป็นแผล
* หลีกเลี่ยงแสงแดดช่วงกลางวัน
* หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีต่างๆ เช่น ผงซักฟอก ถ้าจำเป็นให้ใส่ถุงมือยางเสมอ

ผม
* ใช้แชมพูอ่อนๆ สระผมทุก 3-4 วัน ใช้ครีมนวดผมเท่าที่จำเป็น
* ใช้น้ำเย็นหรือน้ำอุ่นสระผมเท่านั้น เพราะน้ำร้อนหรือน้ำอุ่นเกินไปจะทำให้รากผมหลุดร่วง
* ถ้าไม่ชอบผมขาว การย้อมสีผมอาจช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นได้บ้าง

ตา
* เมื่อรู้สึกว่าตามีปัญหาควรรีบไปตรวจเช็คสายตากับจักษุแพทย์ รวมทั้งอย่าลืมตรวจวัดสายตาเป็นระยะ ควรเปลี่ยนแว่นสายตาให้พอดีเสมอ
* พบจักษุแพทย์ทุก 2-3 ปี เพื่อตรวจเช็คกระจกตาและความดันโลหิตในตา
* จัดแสงในบ้านให้สว่างพอเพียง

หู
* หลีกเลี่ยงเสียงดัง
* พบแพทย์เมื่อหูหรือการรับฟังมีปัญหา และควรยอมรับการใช้อุปกรณ์ช่วยฟังหากจำเป็น

เซ็กซ์
* มนุษย์ เราสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตลอดอายุขัยไม่ว่าจะอายุเท่าไรตราบที่ยังมีความ ปรารถนา แต่ต้องระวังหากมีโรคประจำตัว เช่นโรคหัวใจ โรคติดเชื้อ หอบหืด เป็นต้น
* สำหรับฝ่ายหญิงหลังวัยเมโนพอสอาจใช้สารหล่อลื่นช่วยได้

ระบบขับถ่าย
* ควรพบแพทย์เมื่อคุณมีปัญหาการขับปัสสาวะ เพราะปัญหาบางอย่างจำเป็นต้องได้รับการรักษา
* การ ใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ อาจมีความจำเป็นในบางรายที่ไม่สามารถควบคุมระบบขับถ่ายได้ ซึ่งน่าจะทำให้สะดวกสบาย ไปไหนมาไหนได้อย่างไม่ต้องกังวล

กล้ามเนื้อและหัวใจ
* ปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนออกกำลังกาย ว่ามีข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
* เลือกบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะส่วนที่เหมาะสมกับวัยสูงอายุ เช่น บริหารแขน ขา ด้วยการแกว่งไปมา หรือยกขึ้นลง
* เลือกการออกกำลังกายที่ไม่หนักเกินไป เพื่อให้กล้ามเนื้อได้เคลื่อนไหว ปอด และหัวใจ ทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น
* การเดิน ว่ายน้ำ รำมวยจีน เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
* เมื่อ เริ่มต้นออกกำลังกาย ให้เริ่มต้นเบาๆ อย่าหักโหม แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นทีละนิดในวันต่อไป ควรออกกำลังกาย 3-5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 15-60 นาที ต่อครั้ง
* หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นเมื่อออกกำลังกาย เช่น หน้ามืด เป็นลม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ฯลฯ ควรพบแพทย์

ข้อต่อต่างๆ
* รักษาข้อต่อต่างๆ ด้วยการบริหารสม่ำเสมอ หมุนคอ ข้อไหล่ ข้อมือ ข้อเข่า ข้อเท้า เอว
- ยืดข้อศอก และเข่า
- บิดหมุนลำตัวไปมา
- ถ้ายัง sit ups ได้ก็ควรทำ
- แกว่งขาหน้า-หลัง
- บริหารนิ้วบ่อยๆ อาจจะด้วย การเล่นดนตรี พิมพ์คอมพิวเตอร์ หรือทำงานอดิเรกอื่นๆ ที่ใช้นิ้วมากๆ
* เล่นโยคะ ไทชี่ จะทำให้ข้อต่อต่างๆ มีความยืดหยุ่นดีขึ้น และทำให้การหายใจ และเลือดลมในร่างกายหมุนเวียนดี มีความสมดุลมากขึ้น
* รักษา มือและเท้าด้วยการใส่ support หรือถุงเท้า ถุงมือในยามนอนตอนกลางคืน เพื่อป้องกันความเย็นทำให้กล้ามเนื้อยึดเกร็งจนเป็นตะคริวได้

กระดูก
* ใน ผู้หญิงมักจะพบปัญหากระดูกบางลงในคนที่อายุ 60 ปีไปแล้ว ดังนั้นควรรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงและเสริมด้วยผลิตภัณฑ์แคลเซียม อื่นๆ
* ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัยทองเมื่อเข้าสู่วัยเมโนพอส เพราะอาจจำเป็นต้องได้รับการบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน

ฟัน
* แปรงฟันให้สะอาดทั้งเช้าและก่อนนอน เลือกยาสีฟันที่มีฟลูออไรด์ ใช้ไหมขัดฟันวันละครั้ง
* ใน ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาเรื่องเหงือกและฟัน คนที่ฟันเหลือน้อยควรใส่ฟันปลอมเพื่อช่วยในการเคี้ยว และควรพบทันตแพทย์ปรับเปลี่ยนฟันปลอมเมื่อรู้สึกว่ามีปัญหา เช่นไม่แน่นพอดี หรือใส่แล้วเจ็บ เป็นต้น
* พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือนเพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟัน

ข้อ ปฏิบัติง่ายๆ เหล่านี้ จริงๆ แล้วล้วนเป็นกิจวัตร ของเราๆ ที่พึงใส่ใจอยู่เสมอโดยเฉพาะอย่างยิ่งวัยผู้ใหญ่สูงอายุ แต่อาจจะลืมนึกถึงไปบ้างด้วยความเคยชิน จากนี้ไปอย่าลืมเติมความใส่ใจตัวเองมากขึ้นอีกนิดนะคะ

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today







 

Create Date : 04 ตุลาคม 2551   
Last Update : 7 ตุลาคม 2551 5:43:19 น.   
Counter : 1344 Pageviews.  
space
space
ใช้ยาระบายติดต่อกันนานๆ จะเป็นอันตรายไหม?




โครงการ “ล้านคำถามเรื่องยา ปรึกษาเภสัชกร” โดยความร่วมมือของสภาเภสัชกรรม กับ อย.

ยาระบายในที่นี้คงหมายถึง “ยาเม็ดเคลือบสีเหลือง” และยาอื่นที่ออกฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ซึ่งเป็นยาที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลาย และมีการใช้กันเป็นประจำเมื่อต้องการถ่ายอุจจาระ

เมื่อมีการใช้ยานี้เป็นประจำ ร่างกายจะมีการปรับตัวด้วยการดื้อยาหรือต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นๆ เรื่อยๆ จึงจะได้ผล เช่น ในกรณีที่เริ่มต้นใช้ยาระบายชนิดนี้โดยทั่วไปจะใช้ครั้งละ 1-2 เม็ด ก่อนนอน แล้วยาจะเริ่มออกฤทธิ์ช่วยให้ถ่ายอุจจาระในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น แต่เมื่อมีการใช้เป็นประจำ ติดต่อกันนานๆ จากครั้งละ 2 เม็ด ก็ต้องเพิ่มเป็น 3, 4, 5, ……และเพิ่มมากขึ้นๆ ตามความถี่และระยะเวลาที่ใช้ยา จากประสบการณ์ของผมเคยพบรายหนึ่งที่ใช้ยาระบายครั้งละ 20 เม็ดเพื่อใช้ระบายหรือถ่ายอุจจาระ 1 ครั้ง เพราะถ้าไม่ใช้ยา ร่างกายจะไม่ถ่ายอุจจาระด้วยตนเองตามปกติ จะต้องใช้ยาระบายกระตุ้นทุกครั้งจึงจะถ่ายอุจจาระได้


ปัญหาหลักๆ ของผู้ใช้ยากลุ่มนี้ คือ มักมีความเชื่อว่า “ควรถ่ายอุจจาระทุกวันเป็นประจำ” เพราะว่าถ้าไม่ได้ถ่ายทุกวันตอนเช้า จะรู้สึกผิดปกติ หรือในบางคนบ่นว่ารู้สึกท้องอืด ท้องเฟ้อ และผายลมบ่อย ด้วยเหตุนี้จึงมีการกินยาระบายอย่างประจำทุกวันก่อนนอน
แต่ในทางการแพทย์พบว่า ความถี่บ่อยของการถ่ายอุจจาระขึ้นอยู่กับลักษณะจำเพาะของแต่ละบุคคล ในบางคนอาจถ่ายอุจจาระทุกวัน แต่ในบางคนวันเว้นวัน หรือวันเว้นสองวัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละคน ไม่จำเป็นที่ทุกคนจะต้องถ่ายทุกวันเหมือนกันหมด นอกจากนี้การถ่ายอุจจาระยังขึ้นอยู่กับลักษณะของอาหารการกิน ปริมาณน้ำที่ดื่ม และการออกกำลังกายอีกด้วย

อาหารที่มีเส้นใยไม่ถูกย่อยในทางเดินอาหาร จะเหลือเป็นกากอาหารและยังคงช่วยดูดซับน้ำในลำไส้ใหญ่ไว้ เป็นการช่วยเพิ่มปริมาณและเพิ่มความเหลวของอุจจาระได้ดีอีกด้วย

ถ้าดื่มมากๆ (มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน) ช่วยให้อุจจาระอุ้มน้ำ พองตัว เหลว ไม่แข็ง และถ่ายได้ง่าย
ส่วนเรื่องการออกกำลังกายนั้น การเคลื่อนไหวเบาๆ ตอนเช้า เช่น การเดิน ก็ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ใหญ่ให้ขับถ่ายอุจจาระออกมาได้ง่ายอีกทาง หนึ่งด้วย

การใช้ยาระบายบางชนิดเป็นประจำ อาจทำให้เกิดการดื้อยา และต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ร่างกายเคยชินไม่ยอมถ่ายอุจจาระด้วยตนเอง และไม่ควรยึดถือความเชื่อที่ว่า “ทุกคนควรถ่ายอุจจาระทุกวัน


ภก.วิรัตน์ ทองรอด
ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2551   
Last Update : 8 ตุลาคม 2551 4:44:58 น.   
Counter : 3011 Pageviews.  
space
space
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  

tanas251235
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]






space
space
[Add tanas251235's blog to your web]
space
space
space
space
space