space
space
space
space

10 วิธีง่ายๆ ในการเผาผลาญพลังงาน






การที่แต่ละวันคุณมีโอกาสได้ทำกิจกรรมต่างๆ บ้างเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้คุณได้ใช้พลังงานส่วนเกินที่สะสมจากอาหารที่กินเข้าไปได้ แม้คุณจะไม่ได้ออกกำลังกายหนักหน่วงจริงจังอย่างการเล่นกีฬา แต่อย่างน้อยก็ได้ออกแรง ขยับกล้ามเนื้อแขนขา ช่วยควบคุมน้ำหนัก แถมยังลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจและกระดูกพรุนอีกต่างหาก


เราได้สรรหากิจกรรมง่ายๆ ที่บางทีคุณอาจมองข้ามไป มาแนะนำให้คุณลองมาดูกันว่ากิจกรรมใดใช้พลังงานสักเท่าใดกัน และแบบไหนที่คุณน่าจะทำได้บ้าง



1. ลุกขึ้นมาเดินคุยโทรศัพท์แทนที่จะนั่งเฉยๆ
สำหรับคนที่ทำงานนั่งโต๊ะ ระหว่างโทรศัพท์เป็นโอกาสดีที่คุณจะได้ลุกจากที่นั่งที่คุณจุมปุ๊กมาทั้งวัน แม้จะไม่ได้ใช้พลังงานมากนักแต่อย่างน้อยก็ทำให้คุณได้ขยับแข้งขา เพิ่มการไหลเวียนของเลือดทั่วร่างกาย การเลือกโทรศัพท์ประเภทไร้สายมาใช้จะช่วยได้มาก

2. เดินไปส่งเอกสารข้ามออฟฟิศด้วยตัวเอง
มีบางครั้งที่คุณต้องการจะยื่นเอกสารไปแผนกข้างๆ หรือต้องเดินข้ามชั้นหากที่ทำงานมีขนาดใหญ่ แทนที่จะใช้คนอื่นทำแทน คุณอาจลองหาช่วงเวลาเหมาะๆ แล้วลุกขึ้นเดินไปส่งเอกสารเหล่านั้นด้วยตัวเอง นอกจากจะได้ออกแรงเดิน หรือขึ้นลงบันไดแล้ว ยังได้ของแถมเป็นโอกาสเชื่อมสัมพันธไมตรีกับเพื่อนร่วมงานอีกต่างหาก

3. หาเวลาว่างไปเดินช้อปปิ้ง
การไปเดินตามห้างสรรพสินค้า หรือตลาดนัดเป็นทางออกของหลายๆ คนในการใช้เวลาว่างวันหยุด ไม่เพียงเพลินตาสบายใจเท่านั้น แต่เป็นโอกาสที่คุณจะได้ออกกำลังกายแบบไม่รู้ตัว ลองคิดดูว่าถ้าไปเดินห้างตลอดบ่ายวันเสาร์ นั้นเท่ากับคุณเดินไม่หยุดถึง 4-5 ชั่วโมงเลยทีเดียว จะให้ดีน่าจะสวมเสื้อผ้าที่สบายๆ ใส่ถุงเท้ารองเท้ากีฬาด้วยเสียเลย จะช่วยให้การเดินของคุณสนุกยิ่งขึ้น

4. ทาสีบ้าน
เชื่อไหมว่าการทาสีบ้านจะผลาญพลังงานคุณได้อย่างน้อยๆ ก็ประมาณ 300 แคลอรีต่อชั่วโมง แถมยังช่วยให้คุณได้ออกกำลังแขน และลำตัวได้อีกต่างหาก

5. ทำความสะอาดบ้านให้เอี่ยมอ่อง
วันหยุดสุดสัปดาห์ หากคุณได้ลงมือทำความสะอาดบ้านให้หมดจด ทั้งกวาด ทั้งถู ดูดฝุ่น เช็ดหน้าต่าง นอกจากจะทำให้บ้านสะอาดน่าอยู่แล้ว ยังได้ออกกำลังผลาญพลังงานถึง 420 แคลอรีต่อชั่วโมงโดยประมาณด้วย

6. ทำสวนตัดหญ้า
สำหรับคนที่บ้านมีบริเวณ การใช้เวลาขลุกอยู่ในสนามหญ้าหน้าบ้าน ทำสวน พรวนดิน ปลูกต้นไม้ จะได้ใช้พลังงานถึง 360 แคลอรีต่อชั่วโมง พอๆ กับการเล่นแบดมินตัน หากสนามกว้างหน่อยเดินไถรถตัดหญ้าบ้างก็ดี ก็จะช่วยผลาญพลังงานได้ถึง 420 แคลอรีต่อชั่วโมง หนักพอๆ กับเล่นเทนนิสเลยทีเดียว

7. เดินหาที่กินไกลๆ ออฟฟิศ
ใช้เวลาพักกลางวันให้เป็นประโยชน์กับสุขภาพและการออกกำลังกาย ด้วยการเดินไปหาของกินอร่อยๆ ไกลออฟฟิศขึ้นอีกนิด แทนที่จะพึ่งพาแต่โรงอาหารประจำอาคารเหมือนทุกวัน อย่างน้อยๆ ก็ช่วยให้คุณได้โอกาสเดินมากขึ้น ใช้พลังงานจากอาหารที่กินเข้าไป ลดการสะสมไขมันไม่มากก็น้อย

8. ถือตะกร้าจ่ายตลาดในซูเปอร์มาร์เก็ตแทนใช้รถเข็น
หากคุณต้องการซื้อสิ่งของเพียงไม่กี่ชิ้นที่คิดว่าพอถือไหว ก็ควรใช้ตะกร้าแทนรถเข็น เพื่อให้แขนได้ออกแรงยกของระหว่างเดิน อย่างน้อยๆ ก็ช่วยเผาผลาญพลังงานเสมือนกับการเล่นเวท และอย่าลืมสลับข้างเพื่อให้แขนและไหล่ทั้ง 2 ข้างได้ออกแรงเท่าเทียมกัน

9. เดินขึ้นบันไดแทนขึ้นลิฟท์
การขึ้นบันไดแต่ละครั้งคุณจะใช้พลังงานประมาณ 10 แคลอรีต่อชั้น เป็นโอกาสง่ายๆ ที่จะใช้เผาผลาญพลังงาน แล้วยังได้ออกกำลังขาอีกต่างหาก

10. โดยสารรถประจำทาง/รถไฟฟ้าแทนการขับรถ
เมื่อคุณต้องไปพบเพื่อน หรือลูกค้านอกออฟฟิศ หากเส้นทางที่จะไปอยู่ในเส้นทางเดินรถไฟฟ้า หรือมีรถประจำทางวิ่งผ่าน คุณลองจอดรถของคุณไว้แล้วใช้บริการขนส่งมวลชนดูบ้าง ไม่เพียงประหยัดค่าน้ำมัน ยังเป็นโอกาสที่จะได้เดินมากขึ้น ขึ้นลงบันได ใช้พลังงาน แถมยังได้สัมผัสชีวิตริมทางที่คุณไม่ค่อยได้เห็นได้อีกด้วย


10 วิธีที่กล่าวมานี้คงเป็นเพียงตัวอย่างกิจกรรมที่คุณเลือกทำได้ง่ายๆ นอกเหนือจากการออกกำลังกาย เพราะชีวิตประจำวันของคุณมีอะไรต้องทำมากมายไม่ซ้ำกัน ลองสรรหาสิ่งแปลกใหม่ให้ตัวเองทำ โดยตั้งใจจริงว่าจะต้องใช้พลังงานให้เป็นประโยชน์ แล้วคุณจะพบว่าตัวเองได้สุขภาพแข็งแรงเป็นผลตอบแทนกลับคืนมาที่คุ้มค่าจริงๆ


ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2551 5:58:14 น.   
Counter : 1019 Pageviews.  
space
space
กินดี...ต้านโรคได้








HealthToday ฉบับนี้ว่าด้วยเรื่อง “การกิน” ไม่ใช่กินอย่างไรให้อร่อย แต่เน้นเรื่อง “กินดี” เพื่อต้านโรค เพราะเล็งเห็นว่าคนยุคนี้มีโรคภัยมากมายเกาะกุมรุมเร้าอันมีสาเหตุมาจากอาหารการกิน ผู้ใหญ่และวัยรุ่นยุคนี้คุ้นเคยกับอาหารจานด่วนมากกว่าน้ำพริกผักจิ้ม ส่วนเด็กยุคใหม่เรียกได้ว่าโตมาจากนมผงและอาหารจานด่วน แถมดูอ้วนท้วนสมบูรณ์แกล้มกลมแสนน่ารัก แต่อนาคตทำนายได้ยากว่าจะรอดพ้นจากภัยโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดตีบ โรคมะเร็งได้แค่ไหน แล้วอาหารมีผลอย่างไรที่ทำให้เกิดโรคได้ ?

เมื่ออาหารเข้าสู่ร่างกายของเราแล้วจะถูกย่อยเป็นโครงสร้างเล็กๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเผาผลาญ หรือ เมตาบอลิซึม ที่ทำให้เซลล์เล็กๆ ในร่างกายสามารถนำสารอาหารไปใช้ประโยชน์และเป็นพลังงาน แต่เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารในสัดส่วนที่ไม่สมดุลเหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ทำให้มีแนวโน้ม ของการได้รับสารอาหารบางประเภทมากเกิน โดยเฉพาะแป้ง น้ำตาล และไขมัน ยกตัวอย่างเช่นแป้ง น้ำตาล ที่มักพบในอาหารจานด่วนและขนมต่างๆ เมื่อได้รับมากเกินไปจะทำให้ร่างกายหลั่งอินซูลินเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือด และเมื่อมีปริมาณไม่เพียงพอจะนำไปสู่การเป็นเบาหวานได้ นอกจากนี้แป้งและน้ำตาลที่เหลือใช้จะเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมตามส่วนต่างๆ ของร่างกายทำให้เกิดโรคอ้วน ซึ่งเมื่อเกิดการสะสมมากขึ้นระบบการทำงานของร่างกายจะเริ่มแปรปรวนและทำงานบกพร่องจนนำไปสู่โรคต่างๆ เช่น ไขมันที่ไปเกาะอยู่ตามหลอดเลือดจะทำให้หลอดเลือดสูญเสียความยืดหยุ่น ปิดกั้นการไหลเวียนของ เลือด จนอาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยง

การป้องกันย่อมดีกว่าแก้ไข “การกินดี เพื่อต้านโรค” จึงต้องเริ่มจากการเลือกอาหารในแต่ละวันให้มี สัดส่วนและริมาณที่เหมาะสม ลดและเลี่ยงอาหารบางชนิดโดยมีหัวใจหลักดังนี้

เลือกกินอาหารที่หลากหลาย
เนื่องจากอาหารแต่ละชนิดจะมีองค์ประกอบของสารอาหารไม่เหมือนกัน โดยจะมีปริมาณที่ แตกต่างออกไปตามหมวดหมู่ของอาหาร เช่น ส้มจะเป็นแหล่งของวิตามินซี แต่มีวิตามินบี12 อยู่น้อย ในขณะที่ ชีส จะมีปริมาณของวิตามินบี12 อยู่มากกว่า การกินอาหารชนิดเดียวกันทุกๆ วัน จะทำให้ร่างกายได้สารอาหาร ที่ให้คุณประโยชน์ต่อร่างกายไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะผู้ที่กินมังสวิรัติมีแนวโน้มที่จะขาดโปรตีน วิตามินบี แคลเซียม และธาตุเหล็กได้ง่าย จึงอาจจำเป็นต้องรับประทานวิตามินหรืออาหารเสริม ในหนึ่งวันจึงควรเลือกอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ ธัญพืช ผัก ผลไม้ นม เนื้อสัตว์และถั่ว ตามปริมาณที่เหมาะสมกับแต่ละคน

คุมปริมาณพลังงานและสัดส่วนสารอาหารในแต่ละวัน
คุณควรเลือกกินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ให้พลังงานต่ำ การหมั่นสังเกตฉลาก แสดงปริมาณสารอาหารที่เป็นองค์ประกอบในอาหารนั้นๆ จะทำให้เข้าใจ และสามารถกำหนดสัดส่วน การกินในแต่ละมื้อได้ดีขึ้น โดยเฉลี่ยพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน 50% ควรมาจากกลุ่มคาร์โบไฮเดรต ซึ่งควรเน้นอาหารที่เป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าว และธัญพืชต่างๆ อาหารกลุ่มโปรตีนได้แก่ เนื้อสัตว์ ไข่ และถั่วต่างๆ ควรได้รับ ประมาณ 15% ส่วนที่เหลือ 35% มาจากไขมันชนิดดี หรือไขมันที่ไม่อิ่มตัว

กินธัญพืช ผัก และผลไม้ เป็นหลัก
อาหารจำพวกธัญพืช ผัก และผลไม้ นอกจากจะเป็นแหล่งของวิตามิน แร่ธาตุ และคาร์โบไฮเดรต เชิงซ้อนที่มีคุณค่าแล้ว ยังเป็นกลุ่มของอาหารที่มีไขมันต่ำมาก ทำให้อิ่มนานเพราะมีใยอาหาร ปริมาณสูง จึงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก นอกจากนี้ ใยอาหารซึ่งมีคุณสมบัติอุ้มน้ำได้ดีจะช่วย ในการขับถ่าย และดูดซึมสารพิษในลำไส้โดยขับออกมาพร้อมกับอุจจาระ จึงช่วยป้องกันการสะสมของสารพิษ และลดอาการท้องผูก ริดสีดวงทวารและอัตราเสี่ยงของมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ได้

เลือกกินแต่ไขมันชั้นดี
ไขมันไม่ได้มีโทษไปเสียทุกชนิด ร่างกายยังต้องการไขมันเพื่อใช้เป็นพลังงาน สร้างความอบอุ่น ช่วยในการทำงานของสมอง และเป็นองค์ประกอบของฮอร์โมนต่างๆ รวมทั้งช่วยในการดูดซึมวิตามินเอ ดี อี เค ไขมันที่ดีคือไขมันที่ไม่อิ่มตัว มีมากในน้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก และน้ำมัน ดอกคำฝอย และปลาทะเล ฯลฯ ส่วนไขมันชนิดเลวคือไขมันอิ่มตัวจะทำให้ระดับโคเลสเตอรอล ในร่างกาย เพิ่มขึ้น อาจสะสมอุดตันในเส้นเลือด น้ำมันชนิดนี้มักพบในกะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม ไขมันจากสัตว์ และนม แต่ในเมื่อนมเป็นอาหารที่มีประโยชน์สูง คุณอาจเปลี่ยนมาดื่มนมไขมันต่ำแทนก็ได้

ลดน้ำตาลลง
อาหารในกลุ่มคาร์โบไฮเดรตซึ่งได้แก่ แป้งและน้ำตาล เมื่อเข้าสู่ร่างกายและผ่านกระบวนการ ย่อยจะได้ กลูโคส ซึ่งก็คือน้ำตาลชนิดหนึ่ง กลูโคสเป็นสารที่ให้พลังงานกับร่างกาย ในขณะเดียวกันหากมีมากเกินไป จะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสม จึงไม่เป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักตัว นอกจากนี้การมีน้ำตาลอยู่ในร่างกาย ปริมาณสูงจะทำให้การสร้างอินซูลินที่ช่วยรักษาระดับ น้ำตาลในเลือดเสียสมดุลไป เป็นสาเหตุทำให้เกิด โรคเบาหวานได้ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงขนม หวานหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน การเลือกกินข้าวกล้องที่เป็น คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะทำให้ร่างกาย ค่อยๆ สลายกลูโคสออกมาอย่างช้าๆ จะช่วยรักษาระดับ น้ำตาลใน เลือดให้คงที่ได้

เลี่ยงรสเค็ม
อาหารส่วนใหญ่มีเกลือโซเดียมเป็นองค์ประกอบในปริมาณสูง มีอยู่ในอาหารทั่วไปเกือบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นซอสปรุงรส น้ำปลา ขนมกรุบกรอบ อาหารหมัก ดอง อาหารสำเร็จรูป และอาหารที่มีรสเค็ม ทุกชนิด จึงเป็นไปได้ว่าเรามักจะได้รับโซเดียมเกินความต้องการของร่างกาย แม้ว่าโซเดียมจะมีประโยชน์ ช่วยควบคุมปริมาณน้ำ และความดันเลือดในร่างกาย แต่การได้รับโซเดียมมากเกินไปจะก่อให้ เกิด ความดันโลหิตสูงได้ โดยในผู้ใหญ่แนะนำว่าควรได้รับประมาณวันละไม่เกิน 1,100-3,300 มิลลิกรัม

ระวังภัย 7 โรคร้าย …ด้วยการกินให้ถูกวิธี
ถ้าคุณเป็นคนกินไม่เลือก ตามใจลิ้นอยู่ร่ำไป เมื่อร่างกายที่อยู่ในภาวะโภชนาการไม่ดีไปนานๆ ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรังต่างๆ ขึ้นตามมาได้ ซึ่งโรคหลักๆ จากอาหารมีอยู่ไม่มากตามที่เกริ่นไว้แต่ต้น ดังนั้นถ้าสายเสียแล้วที่จะแก้ไข การเลือกวิธีโภชนบำบัด (diet therapy) ก็เป็นอีกทางหนึ่งที่ได้รับการยอมรับอย่าง แพร่หลาย เพื่อให้การรักษาได้ผลอย่างเต็มประสิทธิภาพ ร่วมไปกับการรักษาทางการแพทย์

เป็นเบาหวานต้องคุมน้ำตาล :
โรคเบาหวานเป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ทำให้เซลล์ต่างๆ ทำงาน ได้น้อยลง รวมทั้งเกิดความผิดปกติในการเผาผลาญสารอาหารด้วย ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก เบาหวานสามารถ ควบคุมได้ด้วยการควบคุมอาหาร ซึ่งสำคัญมากกว่าการรักษาด้วยยา ควรงดเว้นอาหารที่มีส่วนประกอบ ของน้ำตาลทุกชนิด จำกัดปริมาณผลไม้ และธัญพืชต่างๆ รวมทั้งข้าว เพราะจะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด รับประทานผักประเภทใบที่มีใยอาหารสูงให้มากขึ้นในปริมาณไม่จำกัด เช่น ผักบุ้ง ผักกาดขาว ส่วนอาหาร จำพวกโปรตีนยังสามารถกินได้ปกติ แต่ควรระมัดระวังเรื่องน้ำหนักตัว เพราะจะส่งผลโดยตรงกับ อาการของเบาหวาน การคุมอาหารควรทำไปพร้อมไปกับการควบคุมน้ำหนัก และออกกำลังกาย อย่างสม่ำเสมอ

อาหารกับโรคหลอดเลือดแข็งและโคเลสเตอรอล: ภาวะไขมันในเลือดสูงจะมีผลให้ไขมันไปเกาะตามผนังหลอดเลือด จนขาดความยืดหยุ่นและอุดตันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ถ้าเกิดการอุดตันจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย (myocardial infarction) และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว ไขมันที่พบว่าเกิดการสะสม คือ โคเลสเตอรอล เพื่อความปลอดภัยองค์การอนามัยโลก ได้เสนอให้ควบคุมปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดให้ต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 มิลลิลิตร เมื่อโคเลสเตอรอลได้จากอาหาร การควบคุมโดยลดการกินไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ ไข่แดง นม น้ำมันพืช บางชนิด เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม เพิ่มปริมาณอาหารที่มีใยอาหารให้มากขึ้น เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวโอ้ต เพราะใยอาหารจะจับกับโคเลสเตอรอลในลำไส้เล็กทำให้ถูกดูดซึมได้น้อย และจะถูกขับออกมาทางอุจจาระ นอกจากนี้แหล่งไขมันที่ควร ได้รับในแต่ละวันควรมาจากไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันรำ อย่างน้อย 10-12% ของพลังงานทั้งหมด









ควบคุมสัดส่วนอาหารต้านโรคอ้วน :
น้ำหนักตัวเกินมาตรฐานเกิดจากร่างกายได้รับพลังงานมากเกินความต้องการ จึงเกิดการสะสมในรูป ของไขมัน จนอาจทำให้การทำงานของร่างกายผิดปกติและเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมา เช่น โรคหลอด เลือดหัวใจ เบาหวาน ข้ออักเสบ และระบบทางเดินหายใจ การรักษาจะต้องเริ่มจากสาเหตุ คือควบคุม ปริมาณ การกินอาหารให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมและออกกำลังกายให้มากขึ้น ในส่วนของอาหาร นั้นจำเป็นต้องกินอาหารให้ครบทุกมื้อ แต่ลดพลังงานลงวันละ 500 แคลอรี่ จะสามารถลดน้ำหนักลงได้สัปดาห์ละ ½ กิโลกรัม เช่นเปลี่ยนจากกินข้าวมาเป็นผักที่มีใยอาหารสูงเพื่อให้อิ่มนานขึ้น งดอาหารที่มีไขมันมาก เช่น เนื้อติดมัน อาหารทอดๆ และงดอาหารที่มีน้ำตาลสูง อาหารทุกมื้อควรมีปริมาณโปรตีนที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอ เช่น ถั่วชนิดต่างๆ แทนที่จะเป็นเนื้อสัตว์ที่มักจะมีไขมันสูง

โปรตีนต่ำเพื่อพยุงโรคไต :
ไต ทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย แต่ส่วนใหญ่จากการเผาผลาญของโปรตีน ดังนั้นอาหาร ที่ทำให้ไตต้องทำงานหนักมากขึ้นในการขับถ่ายของเสีย คือโปรตีน โรคเกี่ยวกับไตมีอยู่มากมายหลายชนิด แต่โดยสรุปก็คือทำให้ไตไม่สามารถทำหน้าที่อย่างปกติได้ หลักสำคัญในการรักษาด้วย อาหาร คือช่วยให้ไต ทำงานน้อยลง เพื่อให้ไตได้มีโอกาสพักหรือฟื้นตัว และลดการคั่งของของเสีย อาหารที่รับประทานควรจะมี ปริมาณโปรตีนน้อย แต่เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง เช่น เนื้อสัตว์ นม ไข่ เพื่อนำไปช่วยเสริมสร้างทดแทน เนื้อเยื่อต่างๆ ที่สูญเสียไป แต่สำหรับผู้ที่เป็นไตวายเรื้อรังจะมีระดับฟอสเฟตในเลือดสูง จำเป็นต้องงดโปรตีน ที่มาจากนม ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ และไข่ เพราะเป็นอาหารที่มีปริมาณฟอสเฟตสูง เมื่อจำกัดปริมาณโปรตีน ในอาหารแล้ว พลังงานส่วนใหญ่ที่ได้รับจึงมาจากน้ำตาล ไขมัน และแป้งที่มีโปรตีนน้อย เช่น วุ้นเส้น แป้งมัน ข้าวโพด มันสำปะหลัง วุ้น ลูกชิด สาคู เป็นต้น รวมทั้งจำกัดการได้รับโซเดียม โดยหลีกเลี่ยงสารปรุงรสที่มี เกลือโซเดียมเป็นองค์ประกอบทั้งสิ้น

โรคความดันโลหิตสูงต้องระวังเกลือ :
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากแรงดันภายในหลอดเลือดแดงสูงตลอดเวลา โดยแรงดันค่าสูงสุด (systolic blood pressure) และแรงดันค่าต่ำสุด (diastolic blood pressure) มีค่าสูงกว่า 160/95 โรคความดันโลหิตสูงจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตามมามากมาย คือหลอดเลือดแดงไม่แข็งแรง เลือดไปเลี้ยงไม่สะดวก โดยเฉพาะถ้าเกิดขึ้นในบริเวณอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ไต หรือจอตา ก็จะส่งผล ให้เกิดอันตรายหรือถึงแก่ชีวิตได้ หลักการรักษาโรคความดันโลหิตสูงคือการควบคุมอาหาร การลดน้ำหนักลง ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกาย สม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงความเครียด การดื่มเหล้า และสูบบุหรี่ อาหารที่ควรจำกัดคืออาหารที่มีเกลือหรือโซเดียมอยู่มาก เพราะโซเดียมที่อยู่ในเกลือจะทำหน้าที่ในการควบคุม สมดุลแรงดันของผนังเซลล์ และปริมาณน้ำในร่างกาย อาหารที่มีเกลือโซเดียมมาก ได้แก่ น้ำปลา ซอสปรุงรสต่างๆ อาหารทะเล และยาบางชนิด นอกจากนี้ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงควรหลีกเลี่ยง อาหารที่มี น้ำตาล และไขมันมากเพราะจะทำให้การควบคุมน้ำหนักเป็นไปได้ยาก โดยน้ำหนักที่เกินมาตรฐานจะทำให้ หัวใจทำงานหนักมากขึ้นด้วย

โรคเกาต์กับกรดยูริค:
โรคเกาต์เกิดจากการที่ร่างกายมีระดับกรดยูริค (uric acid) ในเลือดสูง ร่างกายได้รับกรดยูริคจากอาหาร และจากการสังเคราะห์ขึ้นในร่างกายโดยการสลายตัวของเซลล์ต่างๆ โดยจะมีอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบ ของบริเวณที่มีการสะสมของกรดยูริคโดยเฉพาะบริเวณเนื้อเยื่อข้อต่อของกระดูก ทำให้ข้อกระดูกเสื่อม และกระดูกบริเวณนั้นผิดรูปได้ อาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคเกาต์จะต้องมีสัดส่วนของสารอาหารครบทั้ง 5 หมู่ โดยหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นแหล่งของกรดยูริค เช่น เครื่องในสัตว์ ถั่วต่างๆ ไข่ปลา ชะอม กะปิ ปลาซาดีน กระป๋อง สัตว์ปีก กุ้งชีแฮ้ หอย น้ำต้มกระดูก ซุปก้อน ปลาขนาดเล็ก เห็ด กระถิน ยีสต์ ปลาอินทรีย์ เป็นต้น ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ควรกินอาหารที่มีไขมันน้อยลงเพื่อให้น้ำหนักลดลง ถ้ากินไขมันมากเกิน ไปจะทำให้ขับถ่าย กรดยูริคได้ไม่ดี แต่อย่างไรก็ดีไม่ควรได้รับอาหารที่มีพลังงานต่ำจนเกินไป เพราะร่างกายจะมีการสลายไขมัน จากเนื้อเยื่อออกมาใช้ ทำให้มีปริมาณกรดยูริคสะสมเพิ่มขึ้นและขับถ่ายออกจากร่างกายลดลง น้ำตาล และเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ก็ควรงดเพราะมีผลต่อการขับถ่ายกรดยูริคด้วยเช่นกัน

ระวังอาหารหนีห่างโรคมะเร็ง :
มะเร็ง (cancer) เป็นเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตผิดปกติ โดยจะขยายเซลล์ไปทำลายเนื้อเยื่อที่อยู่ใกล้เคียง รวมทั้งกระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ด้วย พบว่าอัตราการเสียชีวิตของประชากรโลกจากมะเร็งเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก ปัจจัยภายนอกที่เป็นตัวกระตุ้น ได้แก่ มลพิษจากสภาพแวดล้อมและอาหาร ข้อมูลต่างๆ จากการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการกินอาหารมีผลกับการเกิดโรคมะเร็งมาก เพื่อป้องกันการ เกิดโรคมะเร็งจึงควรปฏิบัติ ดังนี้

จำกัดอาหารที่มีปริมาณโคเลสเตอรอลสูง เนื่องจากพบว่ามะเร็ง ในลำไส้ใหญ่มักเกิดในกลุ่มผู้ที่กินอาหารที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลสูงเป็นเวลานานๆ

หลีกเลี่ยงอาหารหมักดองหรือรมควันที่จะก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร

กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น โดยเฉพาะผักที่มีสารซึ่งมีฤทธิ์ยับยั้งมะเร็ง ได้แก่ อินดอล (indole) อะโรมาติกไอโซไทโอ ไซยาเนต (aromatic isothiocyanate) ในดอกกะหล่ำม่วง บร็อคโคลี่ รวมทั้งผักและผลไม้ที่เป็นแหล่งของวิตามินซี และอี เช่น มะเขือเทศ ส้ม มะนาว จมูกข้าวสาลี ดอกคำฝอย ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่จะช่วยลดการทำลายของเนื้อเยื่อ ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง

สำหรับแนวทางการจัดอาหารสำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งคือให้มีสารอาหารครบสัดส่วนตามที่ร่างกาย ต้องการ โดยอาจจำเป็นต้องแบ่งอาหารออกเป็นหลายมื้อ ดัดแปลงอาหารให้น่ากิน รสชาติดี เนื่องจากความบกพร่องของระบบย่อยอาหารและปัญหาด้านจิตใจ ที่สำคัญควรเป็นอาหารที่ปรุงสุก

จะเห็นได้ว่าอาหารที่ดีนอกจากปรุงแต่งรสชาติได้อร่อยถูกใจแล้ว การเลือกสรรสารอาหารให้ได้สัดส่วนและเหมาะสมกับแต่ละคนยังเป็นการป้องกันโรคได้ หรืออย่างน้อยการระวังในการกินสักหน่อยก็ทำให้คนเราอยู่กับโรคต่างๆ ได้อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ลำบากมากนัก ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญกับอาหารที่คุณกินในแต่ละมื้อ เพื่อการมีสุขภาพที่ดี เพราะ You Are What You Eat…ก็ยังคง เป็นจริง เสมอ...


เอกสารอ้างอิง:

Gallagher-Allfred CR, Voss AC, Finn SC, McCarnish MA. Malnutrition and clinical outcomes: The case for medical nutrition therapy. J Am Diet Assoc. 1996;96(4): 361-366.

Williams S, Anderson S. Nutrition & Diet Therapy. Seventh Edition. Mosby, 1993.

Oster G, Thompson D. Estimated effects of reducing dietary saturated fat intake on the incidence and costs of coronary heart disease in the United States. J Am Diet Assoc. 1996;96: 127-131.



ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 02 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2551 5:50:16 น.   
Counter : 1216 Pageviews.  
space
space
เมนูจานเด็ดสำหรับสาววัยทอง









ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญกับอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆ เมื่อเข้าสู่วัยทอง อาการของแต่ละคนอาจแตกต่างกันไป ผู้หญิงส่วนมากมีอาการร้อนวูบวาบ รู้สึกหงุดหงิด มีส่วนน้อยที่รู้สึกคลื่นไส้ ปวดศีรษะ หรือเหงื่อแตกช่วงกลางดึก

ไม่ว่าจะเป็นอาการใดก็ตาม อาหารบางชนิดและการมีโภชนาการที่ดีอาจช่วยให้อาการช่วงเข้าสู่วัยทองนี้ทุเลาลงได้ คำแนะนำเรื่องโภชนาการสำหรับผู้เข้าสู่วัยทองนี้ อาจดูไม่แตกต่างกับคำแนะนำเรื่องโภชนาการสำหรับคนทั่วๆ ไปซึ่งเหมาะกับทุกคน เพราะนอกจากอาจช่วยทุเลาอาการต่างๆ แล้ว ยังช่วยปกป้องโรคหัวใจและกระดูกอีกด้วย

. รับประทานถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองให้มากขึ้น
มีงานวิจัยบางชิ้นที่พบว่าถั่วเหลืองอาจช่วยลดอาการร้อนวูบวาบได้ ถึงแม้ว่ายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ก็ตาม แต่ประโยชน์ของถั่วเหลืองนั้นมีมากมาย โดยเฉพาะป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยลด LDL-โคเลสเตอรอล หรือโคเลสเตอรอลที่ไม่ดีลง
แนะนำให้รับประทานอาหารประเภทถั่วเหลืองวันละ 2 ที่ เสิร์ฟต่อวัน อาหารประเภทนี้ใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ กว่าจะส่งผลประโยชน์แก่ร่างกาย

วิธีง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณได้รับถั่วเหลืองในแต่ละวัน

- ดื่มน้ำนมถั่วเหลือง หรือใช้ใส่ซีรีอัล ปั่นกับผลไม้ ใช้ทำแกงเผ็ดแทนกะทิ
- ผัดเต้าหู้กับผัก
- ใช้เต้าหู้แทนเนื้อสัตว์เวลาประกอบอาหาร
- ต้มถั่วแระ รับประทานเป็นอาหารว่าง

. รับประทานผัก ผลไม้มากๆ
เราทราบดีว่าผัก ผลไม้ มีประโยชน์มากมาย โดยเฉพาะมีเส้นใยอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุ นอกจากนี้ยังมีสารไฟโตเอสโตรเจนซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับเอสโตรเจนในร่างกาย ที่พบในพืชเท่านั้น เมื่อร่างกายได้รับสารนี้จากพืชผัก ผลไม้ จะเหมือนเป็นการล่อลวงร่างกายว่ามีฮอร์โมนเอสโตรเจนมากกว่าที่มีอยู่จริง จึงทำให้อาการต่างๆ ช่วงเข้าสู่วัยทองลดลง

(หมายเหตุ : นักวิจัยยังไม่ทราบแน่ชัดว่าไฟโตเอสโตรเจนทำให้เป็นมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิงหรือไม่ ผู้ที่เป็นเนื้องอกในมดลูกหรือรังไข่ ไม่ควรรับประทานอาหารพืช ผัก ผลไม้ที่มีไฟโตเอสโตรเจนสูงเป็นประจำ)

ผักผลไม้มีธาตุโบรอน (boron) ที่มีส่วนช่วยกักฮอร์โมนเอสโตรเจน และลดการสูญเสียแคลเซียม จึงช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนได้อีก

ผลไม้ที่มีโบรอนสูงได้แก่ ลูกพรุน สตรอเบอรี แอปเปิ้ล องุ่น ส้ม และราสเบอรี ส่วนผักนั้น ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง แขนงผัก บร็อคโคลี ดอกกะหล่ำ หัวหอม บีทรูท พริกหวาน แตงกวา หัวไชเท้า แครอท ผักกาดหอม และมันเทศ

. รับประทานเมล็ดถั่ว ธัญพืช ให้มากขึ้น
เมล็ดถั่วเป็นอาหารที่มีประสิทธิภาพมาก เพราะให้ประโยชน์หลายอย่าง มีเส้นใยอาหารสูง น้ำตาลกลูโคสที่ย่อยสลายจากแป้งจะค่อยๆ ถูกดูดซึม จึงทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น มีวิตามิน แร่ธาตุสูง โดยเฉพาะแคลเซียม โฟเลต วิตามินบี 6 และมีโปรตีนสูงไขมันต่ำ

วิธีเพิ่มเมล็ดถั่ว ธัญพืชในอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน

- เติมเมล็ดถั่ว ธัญพืชในข้าวต้ม แกงจืด ซุป
- ทำซุปถั่ว ซุปลูกเดือย
- ต้มถั่วเขียว รับประทานเป็นอาหารว่าง
- เติมเมล็ดถั่วในสลัด หรือ ทำสลัดถั่ว
- นำเมล็ดถั่วมาปั่นกับน้ำมันมะกอก ใช้จิ้มกับผัก แบบดิป (dip)

. เลือกรับประทานไขมันที่ดี
เราอาจจะเคยได้ยินมาว่าให้หลีกเลี่ยงไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว อาหารที่มีไขมันสูงหลายชนิดมักมีพลังงานหรือแคลอรีสูงและคุณค่าต่ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หญิงเข้าวัยทองควรเลี่ยงให้มากที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าควรเลี่ยงไขมันโดยสิ้นเชิง มีไขมันที่ดีที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและมะเร็งบางชนิด โดยเฉพาะน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลา น้ำมันถั่วเหลือง+น้ำมันรำข้าว ใช้ในอัตราส่วน 1:1 น้ำมันงา ถั่วเปลือกแข็งต่างๆ อะโวคาโด และกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่ได้จากปลาทะเล

อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ด ขนมอบเบเกอรี แครกเกอร์ต่างๆ มันฝรั่งทอดกรอบ เนื้อสัตว์ที่มีมันมาก เป็นแหล่งของไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานซ์ ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดี

วิธีที่จะช่วยให้คุณได้รับไขมันที่ดีทำได้ง่ายๆ โดย

- ใช้น้ำมันที่ดีมาประกอบอาหาร
- รับประทานปลาทะเลมากขึ้น
- เลือกเนื้อสัตว์ไม่ติดหนังติดมัน
- เลือกมาการีนที่มีส่วนผสมของน้ำมันคาโนลา หรือน้ำมันมะกอก

. ฉลาดเลือกเครื่องดื่ม
เครื่องดื่มที่คุณเลือกเพื่อดับกระหายอาจเพิ่มประโยชน์ หรือเป็นตัวดึงเอาสารอาหารที่มีประโยชน์ออกจากร่างกายได้ทั้งสิ้น เราทราบดีว่าควรดื่มน้ำวันละ 8 แก้ว แต่มีคนส่วนน้อยที่ทำเช่นนี้ น้ำช่วยชำระล้างสารพิษออกจากร่างกาย ทำให้ผิวพรรณดูมีน้ำมีนวล และทำให้ไตแข็งแรง

ในทางตรงกันข้าม แอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ได้แก่ กาแฟ ชา น้ำอัดลม เป็นตัวขับน้ำออกจากร่างกาย ซึ่งอาจทำให้เกิดการกระหายน้ำได้โดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ เครื่องดื่มพวกนี้กีดขวางการดูดซึมของแคลเซียม และเพิ่มการสูญเสียแคลเซียมโดยขับออกทางไต

ลองดื่มน้ำผลไม้วันละ 1 แก้วแทน น้ำส้มที่มีเนื้อส้มอยู่ด้วยมีสารไฟโตเคมิคอล หรือสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย ซึ่งมีคุณสมบัติป้องกันมะเร็งบางชนิด วิตามินซีในน้ำผลไม้ยังช่วยดูดซึมธาตุเหล็กจากอาหาร ป้องกันโรคโลหิตจาง

น้ำผลไม้ที่ควรมีไว้ในตู้เย็นได้แก่

- น้ำส้ม นอกจากวิตามินซี และโฟเลตแล้ว บางชนิดยังเสริมแคลเซียม ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับการดื่มนม
- น้ำแครอท หลายคนอาจไม่ชินกับรสชาติ แต่แครอทมีสารไฟโตเคมิคอลที่มีประโยชน์ 3 ชนิด ได้แก่ กรดเฟโนลิก (phenolic acid) เทอร์ปีน (terpenes) และแคโรเทอนอยด์ ที่รวมไปถึงเบต้าแคโรทีน
- น้ำองุ่นแดง มีสารต้านอนุมูลอิสระที่พบในไวน์แดง

. แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ
มีคนส่วนมากรับประทานอาหารมื้อเย็นเป็นมื้อที่ใหญ่ที่สุด แต่กลับรับประทานน้อยในมื้อเช้าและมื้อเที่ยง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายต้องการพลังงานมากที่สุด การรับประทานมื้อเย็นมากๆ อาจมีผลทำให้ร่างกายสะสมพลังงานเป็นไขมัน เพราะอาหารที่รับประทานเข้าไปจะถูกย่อยช่วงที่ร่างกายใช้พลังงานน้อยที่สุด คือ ช่วงนอนหลับ

มีงานวิจัยพบว่าการรับประทานน้อยๆ แต่บ่อยครั้งช่วงตลอดวันจะทำให้ได้พลังงานหรือแคลอรีและปริมาณไขมันทั้งหมดน้อยกว่า ระบบเผาผลาญทำงานได้ดีกว่า และการได้รับอาหารบ่อยๆ จะป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ ซึ่งจะทำให้มีแรงกระฉับกระเฉงตลอดทั้งวัน

นิสัยการบริโภคมื้อใหญ่ช่วงเย็นนี้อาจเปลี่ยนได้ยาก สำหรับคนในครอบครัวที่มักรับประทานพร้อมหน้าพร้อมตากัน อาจลองใช้วิธีต่อไปนี้เพื่อให้คุณได้ร่วมรับประทานอาหารกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

- เลือกอาหารไขมันต่ำที่ย่อยง่าย เช่น ยำ สลัด แกงจืด ปลา
- ตักอาหารน้อยๆ หรือพอประมาณ
- เลี่ยงมื้อดึกและขนมหวานช่วงดึก ลองหาอย่างอื่นทำ เช่น อ่านหนังสือ ทำสปาที่บ้าน ฟังเพลง คุยโทรศัพท์กับเพื่อนแทน

. เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูงทุกวัน
ผู้หญิงเข้าสู่วัยทองต้องการแคลเซียมวันละ 1,000-1,500 มิลลิกรัม แคลเซียมมีส่วนช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน และโรคความดันโลหิตสูง ถ้าใครไม่ชอบดื่มนมหรือดื่มไม่ได้ ลองหาวิธีที่จะได้แคลเซียมจากอาหารอื่นบ้าง ดังนี้

- ดื่มนมถั่วเหลืองเสริมแคลเซียม
- รับประทานผักใบเขียว บร็อคโคลี งา และเมล็ดถั่ว
- เลือกรับประทานโยเกิร์ตพร่องไขมัน หรือเนยแข็ง (cheese)
- เลือกดื่มน้ำส้มเสริมด้วยแคลเซียม
- ดื่มคาปูชิโนหรือลาเต้ที่ทำด้วยกาแฟไร้คาเฟอีน (decaffeinate)
- ทำซุปข้นโดยใส่นม
- เสริมด้วยแคลเซียม+วิตามินดี

. เลี่ยงอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูง
การป้องกันไม่ให้น้ำหนักตัวเพิ่มเป็นสิ่งสำคัญที่ควรทำในช่วงวัยทองเป็นอย่างยิ่ง จึงควรเลี่ยงอาหารที่ให้คุณค่าทางอาหารน้อยแต่มีแคลอรีสูง ได้แก่ อาหารที่มีไขมันและน้ำตาลสูงนั่นเอง

การได้รับน้ำตาลมากๆ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งจะกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งอินซูลินมามาก ซึ่งจะเป็นตัวที่ทำให้น้ำตาลเปลี่ยนเป็นไขมันและสะสมไว้ในร่างกาย

วิธีลดไขมันและน้ำตาล

- ทำของหวานเอง โดยใช้น้ำตาลเทียมแทน เช่น ต้มถั่วเขียว จนสุกดี ยกลงจากเตาแล้วจึงใส่น้ำตาลเทียม
- ใช้นมหรือนมถั่วเหลืองแทนกะทิ
- นำน้ำผลไม้ใส่พิมพ์ไปแช่แข็ง รับประทานแทนไอศกรีม
- ปั่นผลไม้กับโยเกิร์ตดื่มเป็นอาหารว่าง

. ออกกำลังกาย ออกกำลังกาย ออกกำลังกาย
การออกกำลังกายช่วยผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทองหลายด้าน ได้แก่ ช่วยลดโคเลสเตอรอลไม่ดีในเลือด ป้องกันการสูญเสียแคลเซียม เพิ่มมวลกระดูก ระบายความเครียด ช่วยให้โลหิตไหลเวียนได้ดี ให้ร่างกายได้ใช้ออกซิเจนและสารอาหารอย่างเต็มที่ และป้องกันน้ำหนักตัวเพิ่ม เมื่ออายุมากขึ้นระบบเผาผลาญจะช้าลง การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะให้ร่างกายเผาผลาญอาหารได้มากขึ้น

แนะนำให้จัดการออกกำลังกายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันจนเป็นนิสัย ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มการออกกำลังกายใดๆ

1 day menu สำหรับผู้หญิงวัยทอง

เช้า ข้าวต้มทรงเครื่อง 1 ถ้วยตวง (ใส่ลูกเดือย ถั่วแดง แป๊ะก๊วย)
ไข่ตุ๋น ใส่เห็ด 1 ฟอง
น้ำส้ม ½ ถ้วยตวง (แก้วเล็ก)

เที่ยง เย็นตาโฟ 1 ชาม
มะม่วงดิบ 1 ผล

ว่าง น้ำเต้าหู้ใส่งาดำ 1 ถ้วย
ผักนึ่งราดน้ำสลัดญี่ปุ่น 1 ช้อนโต๊ะ

เย็น ซุปข้าวโพดใส่นม 1 ถ้วยตวง
ปลาย่างเทอริยากิ 1 ชิ้น
ข้าวกล้อง 1 ทัพพีเล็ก
สลัดแตงกวา ½ ถ้วยตวง

รวมพลังงานที่ได้รับ 1,315 แคลอรี

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today












 

Create Date : 31 ตุลาคม 2551   
Last Update : 31 ตุลาคม 2551 6:12:10 น.   
Counter : 1359 Pageviews.  
space
space
ป้องกันกระดูกพรุนด้วยผักตระกูลคะน้า

แคลเซียมมีอยู่ในอาหารหลายชนิด ที่ขึ้นชื่อคือนม แต่ถ้าจะดื่มนมก็ควรเลือกที่มีไขมันต่ำประเภทนมพร่องมันเนย ซึ่งก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไม่ถูกกับนม ผศ.วงสวาท โกศัลวัฒน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการวิจัยโครงการพัฒนาตำรับอาหารไทยที่มีแคลเซียมสูง ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กำลังทำการศึกษาอาหารพื้นบ้านไทยสี่ภาค เพื่อสนับสนุนการกินอาหารแบบไทยๆ ก็สามารถได้แคลเซียมในปริมาณเพียงพอ เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุน










จากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้องพบว่าพืชในตระกูลคะน้า (Brassica) เช่น บรอคโคลี่ คะน้า ผักกวางตุ้ง กระหล่ำปลี และผักกาดเขียว มีแคลเซียมสูง ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ง่ายพอๆ กับนม เพราะมีปริมาณออกซาเลทอยู่น้อยเมื่อเทียบกับพืชตระกูลอื่น มีการศึกษาพบว่าพืชบางชนิดมีแคลเซียมสูงแต่ก็มีสารไฟเตท(Phytate) และออกซาเลท (Oxalate) รวมอยู่ด้วยในปริมาณสูง ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถของร่างกายในการดูดซึมแคลเซียมไปใช้ โดยสารเหล่านี้จะจับตัวกับแคลเซียม และขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในอาหาร



สารไฟเตทจะมีอยู่มากในส่วนเปลือกด้านนอกของพืชเมล็ด และพืชตระกูลถั่วต่างๆ ส่วนออกซาเลทจะอยู่ในพืชผักใบเขียวเข้ม เช่นผักโขมฝรั่ง ผักปวยเล้ง และปริมาณปานกลางในมันเทศ ถั่วเมล็ดแห้ง และในถั่วเหลือง ผศ.วงสวาท แนะนำว่าการปรุงอาหารด้วยวิธีทอด คั่ว จะช่วยลดสารไฟเตท และออกซาเลทในอาหารเหล่านี้ลงได้มากที่สุด ส่วนการต้มกับนึ่งช่วยลดลงได้บ้าง ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมจากอาหารเหล่านี้ไปใช้ได้ดีขึ้น



นอกจากนี้น้ำต้มกระดูกไม่ว่าจะเป็นกระดูกหมูหรือกระดูกไ ก่ ถ้าต้มรวมกับผักนานกว่า 12 ชั่วโมง หรือข้ามวันจะยิ่งทำให้มีปริมาณแคลเซียมเพิ่มขึ้น...เหล่านี้ เป็นเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ของภูมิปัญญานักวิจัยไทยมาแนะนำให้เราท่านได้ทำอาหารไทยรับประทานอย่างถูกหลักคงคุณค่าโภชนาการ


ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 29 ตุลาคม 2551   
Last Update : 29 ตุลาคม 2551 5:57:42 น.   
Counter : 1368 Pageviews.  
space
space
อาหาร ตีกับ ยา ???


เรื่อง : ภญ.อัมพร จันทรอาภรณ์กุล


“ยา” มีไว้รักษาโรคยามเจ็บไข้ได้ป่วย “อาหาร” มีไว้เพื่อยังชีพ ทั้งยาและอาหารต่างก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการในการดำรงชีวิตที่มนุษย์ อาหารในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอาหารที่เรากินในแต่ละมื้อเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอาหารเสริมสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีขายทั่วไป เช่น สารสกัดจากสมุนไพร วิตามิน และแร่ธาตุต่างๆ ด้วย ในช่วงหลายปีมานี้สื่อต่างๆ ได้นำเสนอข้อมูลในด้านประโยชน์และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกลไกการทำงานของสารสำคัญที่ออกฤทธิ์เป็นยาในอาหารมากขึ้น โดยเผยแพร่ผลงานของบรรดานักวิจัยจากสถาบันต่างๆ ทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไป มีความตื่นตัวในเรื่องการดูแลสุขภาพมากขึ้น แนวความคิดเรื่องการแพทย์ทางเลือกเกิดขึ้นมากมาย มีการสรรหาอาหารต่างๆ มาบำรุงร่างกายมากขึ้น เหล่านี้คงจะไม่เป็นภัยหากอาหารชนิดนั้นๆ ไม่ได้ไปทำปฏิกิริยาอะไรกับยาที่คุณกินอยู่



เมื่อ “อาหารตีกับยา” การเกิดปฏิกิริยาระหว่างอาหารกับยาที่ว่านี้อาจทำให้ผลการออกฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้น ลดลง หรือไม่ออกฤทธิ์เลยก็ได้





อาหารตีกับยา ได้อย่างไร ???

อาหารสามารถเกิดปฏิกิริยากับยาได้หลายวิธี ได้แก่

การรบกวนหรือชะลอการดูดซึมของยา ทำให้ยาเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่าปกติ ซึ่งพบกับยาส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การกินแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล หากรับประทานขณะท้องว่างจะทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วกว่า บรรเทาปวดลดไข้ได้เร็วกว่ารับประทานร่วมกับอาหาร


การเพิ่มการดูดซึมของยา ทำให้ยาเข้าสู่ร่างกายมากกว่าปกติ ได้แก่ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงร่วมกับยา Theophylline ซึ่งเป็นยาขยายหลอดลมที่ใช้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด จะทำให้ปริมาณยา Theophyllineในร่างกายสูงขึ้นจนอาจเกิดพิษจากยาได้


การเกิดปฏิกิริยาเคมีกันระหว่างอาหารกับยา ได้แก่ ปฏิกิริยาระหว่างอาหารที่มีแคลเซียมเป็นส่วนประกอบ เช่น นม โยเกริ์ต ไอศกรีม หรือยาลดกรด กับยาTetracycline ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะที่บางท่านอาจเคยได้เพื่อรักษาสิว เมื่อกินร่วมกัน ตัวยาจะถูกจับไว้จนไม่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้


อาหารออกฤทธิ์เสริมฤทธิ์กับยา ได้แก่ การกินยาแก้หวัดที่ทำให้ง่วง เช่น Chlorpheniramine ร่วมกับแอลกอฮอล์ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ จะทำให้อาการง่วงซึมเพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการควบคุมตนเองลดลง


อาหารตีกับยา มีความรุนแรงเท่ากันทุกคนหรือเปล่า???

ความรุนแรงของการเกิดปฏิกิริยากันระหว่างอาหารกับยาในคนแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ความรุนแรงนั้นขึ้นกับหลายๆ ปัจจัย ได้แก่



ข้อบ่งใช้ของยาที่ได้รับ: กรณีที่ยานั้นใช้รักษาโรคที่ร้ายแรง หากเกิดปฏิกิริยากับอาหารจนไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ทำให้การรักษาด้วยยาตัวนั้นล้มเหลว คุณก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แต่ถ้ายานั้นใช้รักษาโรคที่ไม่รุนแรงมากคุณก็อาจจะเจ็บป่วยนานขึ้นเท่านั้น



ขนาดของยาที่ได้รับ: การเกิดปฏิกิริยาระหว่างอาหารกับยาจะรุนแรง หากได้รับยาในขนาดสูง หรือมีความแรงของยาสูง



อายุ: ปฏิกิริยาระหว่างอาหารกับยาในคนสูงอายุจะมีความรุนแรงมากกว่าในคนที่อายุน้อยกว่า เนื่องจากความเสื่อมถอยของหน้าที่การทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายของคนสูงอายุนั่นเอง ทำให้การกำจัดสารพิษออกจากร่างกายช้ากว่าคนที่อายุน้อย



สภาวะสุขภาพ: เมื่อร่างกายเจ็บป่วยก็ไม่ต่างอะไรกับคนสูงอายุนั่นเองการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายอาจจะสูญเสียหน้าที่ไปได้ชั่วขณะ ทำให้การกำจัดสารพิษออกจากร่างกายช้ากว่าคนที่แข็งแรงกว่า ดังนั้นความรุนแรงของปฏิกิริยาระหว่างยากับอาหารในคนที่สุขภาพไม่แข็งแรงก็ย่อมรุนแรงกว่าแน่นอน



แนวทางปฏิบัติง่ายๆ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ อาหารตีกับยา

การซื้ออาหารหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สมุนไพรต่างๆ มาเสริมสุขภาพนั้นเป็นเรื่องง่าย การกินยาก็ดูเหมือนไม่ยากสักเท่าไหร่ แต่สำหรับการกินทั้งอาหารและยาร่วมกันเพื่อให้ได้มาซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดจากการรักษาด้วยยานั้นดูยุ่งยากซับซ้อน แต่อย่างไรก็ตามยังพอมีแนวทางปฏิบัติง่ายๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตีกันระหว่างอาหารกับยาที่ทุกคนสามารถปฏิบัติตามได้ ดังนี้

อ่านฉลากยาให้ละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดของ วิธีใช้ยา คำเตือน ข้อควรระวังต่างๆ หากมีข้อสงสัยอะไรอย่ารับประทานยาด้วยวิธี “เดา” เด็ดขาด ควรสอบถามเภสัชกรหรือแพทย์ผู้สั่งจ่ายยาก่อนทุกครั้ง


ไม่ควรผสมยากับอาหารหรือเครื่องดื่ม เพราะความเป็นกรด ด่าง เกลือแร่ และความร้อน ในอาหารหรือเครื่องดื่มอาจมีผลกับยาได้


ยาที่เป็นแคปซูลไม่ควรแกะแคปซูล หากไม่ได้รับการแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรให้ทำ


หลีกเลี่ยงการกินยากับเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ กาแฟ หรือนม ควรกินยากับน้ำเปล่า


ไม่ควรกินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มวิตามิน และเกลือแร่ ร่วมกับยา เพราะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเหล่านั้นอาจจะเกิดปฏิกิริยากับยาได้


คำแนะนำเหล่านี้เป็นแนวทางทั่วไปเท่านั้น ซึ่งยังมีรายละเอียดอีกมาก ดังนั้นหากมีข้อสงสัยว่า “อาหารอะไรบ้างที่ตีกับยาที่ต้องกินอยู่” ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานทุกครั้งค่ะ

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today




 

Create Date : 28 ตุลาคม 2551   
Last Update : 28 ตุลาคม 2551 5:54:52 น.   
Counter : 1364 Pageviews.  
space
space
1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  

tanas251235
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]






space
space
[Add tanas251235's blog to your web]
space
space
space
space
space