พระคาถาพระสีวลี

คำอาราธนาพระสีวลี
สีวะลี จะ มะหาเถโร เทวะตานะระปูชิโต โสระโห ปัจจะยา ทิมหิ
สีวะลี จะ มะหาเถโร ยักขา เทวาภิปูชิโต โสระโห ปัจจะยา ทิมหิ
อะหังวันทามิ ตังสะทา สีวะลี เถรัสสะ เอตัง คุณัง สวัสดิลาภัง ภะวันตุเม

พระคาถาพระสีวลี (คาถาแม่บุญเรือน)
นะ ชาลีติ ฉิมพา จะ มหาเถโร
สุวรรณะ มามา โภชนะ มามา วัตถุวัตถา มามา
พลาพลัง มามา โภคะ มามาร มหาลาโภ มามา
สัพเพ ชะนา พหู ชะนา ภวันตุเม

น่าจะแปลว่า
นะชาลีติ เป็นคาถาหัวใจมหาลาภ หัวใจเต่าเรือน หัวใจพระสีวลี
ฉิมพลี หรือ สีวลี เป็นนามของพระสีวลี
เทวตา นระ ปูชิโต แปลว่า ผู้ที่ มนุษย์ และ เทวดา ต่างนับถือบูชา
โสระโห ปัจจยา ทิมหิ มหาลาภัง แปลว่า ผู้สงเคราะห์ ผู้เป็นเหตุปัจจัย ให้เปี่ยมไปด้วยมหาโชคลาภ
สะทา โสตถี ภะวันตุเม แปลว่า ด้วยความนอบน้อมแด่พระองค์ ขอจงมาบังเกิดแก่ข้าพเจ้าด้วยเทอญ

ถ้าจะให้เกิดลาภสม่ำเสมอ ให้ท่องสวดพระคาถาตามกำลังวัน ดังนี้:-
วันอาทิตย์ สวด ๖ จบ, วันจันทร์ สวด ๑๕ จบ, วันอังคาร สวด ๘ จบ, วันพุธ สวด ๑๗ จบ, วันพฤหัส สวด ๑๙ จบ, วันศุกร์ สวด ๒๑ จบ และวันเสาร์ สวด ๑๐ จบ

ที่มา :
//board.palungjit.com/showthread.php?t=10600
//www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=869




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2551 12:07:26 น.
Counter : 1752 Pageviews.  

พระสีวลีเถระ : ประวัติ

พระสีวลีเถระ เป็นพระมหาเถระที่มีประวัติค่อนข้างแปลกไปกว่าพระมหาเถระองค์อื่น ๆ ท่านต้องอยู่ในครรภ์พระมารดาอยู่ถึง ๗ ปี กับอีก ๗ วัน ด้วยอำนาจบุรพกรรมตามมาส่งผล และพระพุทธองค์ทรงยกย่องให้เป็นตำแหน่งเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้เลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลาย ในศาสนาของพระองค์ แม้พระมารดาคือ พระนางสุปฺปวาสา ผู้เป็นราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ.ก็ทรงเป็นเอตทัคคะผู้กว่าพระสาวิกาทั้งหลายผู้ถวายสิ่งของอันประณีต การที่พระพุทธองค์ได้ทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะดังกล่าวก็เป็นไปตามความปรารถนาของท่านมาแต่ในอดีต

ความปรารถนาในอดีต

ในกัปที่แสนแต่กัปนี้ ในกาลของพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ ในครั้งนั้น ท่านได้เกิดเป็นกษัตริย์ในพระนครหงสวดี ได้ยินพระพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตั้งสาวกของพระองค์ชื่อสุทัสสนะ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้มีลาภมาก ดังนั้น ทรงปรารถนาในตำแหน่งนั้นบ้าง จึงได้นิมนต์ พระชินสีห์พร้อมทั้งพระสาวก ให้เสวยและฉันถึง ๗ วัน ครั้น ถวายมหาทานแล้วก็ได้ตั้งความปรารถนาว่า ขอให้ท่านเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้มีลาภในอนาคตกาล.พระปทุมุตตระบรมศาสดา จึงทรงพยากรณ์ว่าความปรารถนาของท่านนี้จะสำเร็จในกัปที่แสนแต่กัปนี้ไป ท่านจะบังเกิดในนาม สีวลี ได้บวชในสำนักของพระพุทธเจ้า ทรงพระนามว่าโคตมะ ซึ่งสมภพในวงศ์ของพระโอกกากราช ดังนี้แล้ว เสด็จหลีกไป

ต่อจากนั้น ท่านก็กระทำกุศลจนตลอดชีวิต ครั้นสิ้นชีวิตแล้วก็ท่องเที่ยวไปกำเนิดในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในกาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ท่านได้ถือปฏิสนธิในหมู่บ้านแห่งหนึ่งไม่ไกลพระนครพันธุมดี ในสมัยนั้น ท่านเป็นคนโปรดปรานของสกุลหนึ่งในพระนคร และเป็นคนที่หมั่นขยันขวนขวายในกิจการงาน

สมัยหนึ่งหลังจากที่พระบรมศาสดาเสด็จเที่ยวจาริกไปในชนบท กลับมาสู่พระนครพันธุมดี ครั้งนั้น พระเจ้าพันธุมะซึ่งเป็นพุทธบิดา ได้ทรงเตรียมอาคันตุกทาน เพื่อภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ทรงปรารถนาจะทำมหาทานแข่งกับชาวเมือง ในวันใดที่พระราชาเป็นผู้ถวายทาน เหล่ามหาชนก็จะสังเกตดู และในวันรุ่งขึ้นก็จะเตรียมทานให้ยิ่งกว่านั้น และในวันถัดไป พระราชาก็จะถวายให้ยิ่งขึ้นไปอีก จนกระทั่งถึงวันที่ ๖ ซึ่งเป็นวันของชาวเมือง ชาวเมืองเหล่านั้นทั้งหมดได้จัดเตรียมสิ่งของไว้ทุกสิ่ง โดยตั้งใจจะไม่ให้มีสิ่งใดที่ขาดแม้สักสิ่งเดียว จึงได้ตรวจดูทานที่ตนได้เตรียมไว้ก็ไม่เห็นน้ำผึ้งสด มีเพียงน้ำผึ้งที่เคี่ยวแล้ว ชนเหล่านั้นจึงให้คนถือเอาทรัพย์คนละ ๑ พันกหาปนะแล้วส่งไปเฝ้ายังประตูพระนครทั้ง ๔ เพื่อขอซื้อจากผู้ที่มาจากชนบทนอกพระนคร

ในวันนั้นเอง ท่านเดินทางเข้ายังพระนครด้วยปรารถนาจะเยี่ยมนายบ้าน ในระหว่างทางท่านเห็นรวงผึ้งที่ปราศจากตัวอ่อน ขนาดเท่างอนไถ จึงไล่ตัวผึ้งให้หนีไป แล้วตัดกิ่งไม้ถือรวงผึ้ง ด้วยตั้งใจว่าจะนำไปให้แก่นายบ้าน ฝ่ายผู้ที่ชาวเมืองมอบเงินไปเพื่อหาซื้อน้ำผึ้ง พบท่านถือรวงผึ้งสดเข้ามาจึงขอซื้อในราคาหนึ่งกหาปนะ

ท่านเกิดความคิดว่า ธรรมดารวงผึ้งนี้ย่อมไม่ถึงค่าน้อยกว่าหนึ่งกหาปนะมาก แต่บุรุษนี้ให้ทรัพย์กหาปณะหนึ่ง เห็นจะมีเหตุเบื้องหลังอยู่ จึงตอบปฏิเสธไป บุรุษนั้นจึงขึ้นราคาให้เป็นสองกหาปนะ ท่านก็ยังปฏิเสธอีก บุรุษนั้นก็ขึ้นราคาไปเรื่อย ๆ จนถึงพันกหาปนะ

ท่านได้พิจารณาเห็นเป็นเรื่องผิดปกติมากที่ขอซื้อรวงผึ้งสดด้วยราคาถึงพันกหาปนะ จึงได้สอบถามถึงเหตุผล บุรุษผู้นั้นจึงให้เหตุผลว่า พวกชาวพระนครได้ตระเตรียมมหาทาน เพื่อถวายพระวิปัสสีสัมมาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้มีสมณะ ๖ ล้าน ๘ แสนเป็นบริวาร ในมหาทานนั้นยัง ไม่มีน้ำผึ้งดิบอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น เขาจึงขอซื้อ ในราคาเช่นนั้น.

ท่านเห็นเป็นโอกาสที่จะได้ทำบุญอันยิ่งใหญ่ จึงขอมีส่วนร่วมในมหาทานนั้น บุรุษนั้นไปบอกเนื้อความแก่ชาวเมือง. ชาวเมืองทราบในศรัทธาของเขาจึงอนุโมทนา ท่านจึงได้เอากหาปณะที่ตนเก็บไว้เพื่อเสบียงเดินทางจากบ้านไปซื้อเครื่องเทศ ๕ อย่างแล้ว ทำให้ป่น นำเอาน้ำส้มมาจากนมส้มแล้ว คั้นรังผึ้งลงในนั้น ปรุงด้วยจุณเครื่องเทศ ๕ อย่างแล้ว ใส่ลงในบัวตระเตรียมสิ่งนั้นเรียบร้อยแล้ว ถือไปนั่งในที่ไม่ไกลพระทศพล เมื่อมหาชนเป็นอันมากนำเอาสักการะไป เขามองดูวาระที่จะถึงแก่ตนในลำดับ รู้ช่องทางแล้วจึงเข้าเฝ้าพระศาสดา กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ สักการะอันยากไร้นี้เป็นของข้าพระองค์ ขอพระองค์โปรดอาศัยความอนุเคราะห์ข้าพระองค์ รับสักการะนี้เถิด พระศาสดาทรงอนุเคราะห์เขา ทรงรับสักการะนั้นด้วยบาตรศิลา อันท้าวมหาราชทั้ง ๔ ถวายแล้ว ได้ทรงอธิษฐานให้ไทยธรรมที่ถวายเพียงพอแก่ภิกษุ ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้า.น้ำผึ้งนั้นก็มีเพียงพอแก่พระสาวกทั้งสิ้น

ครั้นแล้วท่านถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้กระทำภัตกิจ เสร็จแล้วยืนอยู่ ณ ส่วนข้างหนึ่ง กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ ด้วยผลแห่งกรรมนี้ ขอข้าพระองค์ พึงเป็นผู้ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยความเป็นผู้มีลาภ ในภพที่เกิดแล้ว ๆ ดังนี้ พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนกุลบุตร ความปรารถนาของท่านจงสำเร็จอย่างนั้น ดังนี้แล้ว ทรงกระทำภัตตานุโมทนาแก่เขาและชาวเมืองแล้วเสด็จหลีกไป.

บุรพกรรมที่นำไปสู่อเวจีและต้องอยู่ในครรภ์พระมารดา ๗ ปี ๗ วัน

เมื่อท่านได้สิ้นอายุในสมัยนั้นแล้ว ท่านก็ได้ไปบังเกิดในเทวโลก ท่องเที่ยวอยู่สิ้นกาลนาน ต่อมาในสมัยหนึ่งท่านได้จุติจากเทวโลก บังเกิดเป็นราชโอรสแห่งพระเจ้ากาสี (อรรถกถาบางแห่งว่า พระเจ้าพรหมทัต) ผู้ครองกรุงพาราณสี ต่อมาพระเจ้าโกศลทรงกรีธากองพลใหญ่มายึดกรุงพาราณสี ทรงปลงพระชนม์พระเจ้ากาสีและได้สถาปนาพระอัครมเหสีของพระราชานั้นให้เป็นอัครมเหสีของพระองค์. ฝ่ายพระราชโอรสของพระเจ้าพาราณสี ในเวลาที่พระบิดาถูกปลงพระชนม์ ได้ทรงหนีออกทางประตูระบายน้ำ รวบรวมญาติมิตรและพวกพ้องของพระองค์ไว้เป็นอันเดียวกัน รวมกำลังโดยลำดับแล้วเสด็จมายังกรุงพาราณสี ตั้งค่ายใหญ่ไว้ในที่ไม่ไกล ทรงส่งพระราชสาสน์ถึงพระราชาองค์นั้นว่า จะคืนราชสมบัติหรือจะรบ.

พระมารดาได้สดับสาสน์ของพระราชกุมารแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับแนะนำไปว่า จงอย่ามีการต่อสู้ จงตัดขาดการสัญจรทั่วทุกทิศ โดยการล้อมกรุงพาราณสีไว้ พวกคนในกรุงก็จะพากันลำบากเพราะหมด ไม้ น้ำและอาหาร และจะจับพระราชามาถวายเอง พระราชกุมารได้สดับสาสน์ของพระมารดาแล้ว จึงล้อมประตูใหญ่ทั้ง ๔ ด้านไว้ ๗ ปี.แต่การณ์ก็มิได้เป็นอย่างที่ทรงดำริ เนื่องจากพวกคนในกรุงพากันออกทางประตูเล็ก นำเอาไม้และน้ำเป็นต้น มาทำกิจทุกอย่าง.

ครั้นพระมารดาของพระราชกุมารทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงส่งพระราชสาสน์ลับถึงพระโอรส ตำหนิพระโอรสว่า ลูกเราโง่เขลาไม่รู้อุบาย จงปิดประตูน้อยล้อมกรุงไว้. พระราชกุมารทรงสดับพระราชสาสน์ของพระมารดา จึงได้ทรงกระทำอย่างนั้นถึง ๗ วัน ชาวพระนครเมื่อออกไปข้างนอกไม่ได้ วันที่ ๗ จึงได้เอาพระเศียรของพระราชานั้นไปมอบแต่พระราชกุมาร พระราชกุมารได้เสด็จเข้ากรุงยึดราชสมบัติ.

ท่านได้กระทำกรรมนี้แล้ว ในกาลที่สุดแห่งอายุ ไปบังเกิดในอเวจี หมกไหม้อยู่ในนรกตราบเท่ามหาปฐพีนี้หนาขึ้นได้ประมาณโยชน์หนึ่ง

เพราะผลกรรมที่ล้อมพระนครไว้ถึง ๗ ปีในครั้งนั้น บัดนี้พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภี กล่าวคือพระครรภ์ของมารดา ๗ วัน. แต่เพราะล้อมกรุงไว้ถึง ๗ วันโดยเด็ดขาด จึงถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง๗ วัน. ส่วนในอรรถกถาชาดกท่านกล่าวว่า เพราะผลกรรมที่ล้อมกรุงยึดไว้ถึง ๗ วัน. พระองค์จึงอยู่ในโลหิตกุมภีถึง ๗ ปีแล้วถึงความเป็นผู้หลงครรภ์ถึง ๗ วัน. ก็พระองค์เป็นผู้เลิศด้วยลาภเพราะอานุภาพที่ถวายมหาทานแล้วตั้งความปรารถนาที่บาทมูลของพระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และที่ถวายน้ำอ้อยและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐กหาปณะพร้อมชาวเมือง แล้วได้ตั้งความปรารถนาในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี. ฝ่ายพระนางสุปปวาสา อุ้มครรภ์อยู่ถึง๗ ปี หลงครรภ์อยู่ถึง ๗ วัน เพราะที่ส่งสาสน์ไปว่า พ่อจงล้อมพระนครยึดไว้. พระมารดาและบุตรเหล่านั้น ได้เสวยทุกข์เช่นนี้อันสมควรแก่กรรมของตน ด้วยประการฉะนี้.

กำเนิดในพุทธกาล

ครั้นพ้นจากนรกอเวจีแล้ว ก็เที่ยวเกิดไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย จนถึงสมัยพระพุทธเจ้าของเรานี้ จึงได้ถือปฏิสนธิในครรภ์ของ พระนางสุปปวาสา ราชบุตรีของเจ้าโกลิยะ กษัตริย์พระนครโกลิยะ ซึ่งทรงอภิเษกกับเจ้าศากยวงศ์พระองค์หนึ่ง พระนางนั้นพระบรมศาสดาได้ทรงสถาปนาพระนางไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสิกาผู้ถวายของมีรสประณีต และได้ทรงปฏิบัติธรรมจนบรรลุโสดาบันปัตติผล

ด้วยกุศลกรรมแห่งการที่ท่านเป็นผู้เลิศด้วยลาภเพราะอานุภาพที่ถวายมหาทานแล้วตั้งความปรารถนาในสมัยแห่งองค์พระปทุมุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า ขอเป็นผู้เลิศด้วยลาภ และอานิสงส์ที่ถวายน้ำอ้อยและนมส้มมีค่า ๑,๐๐๐กหาปณะพร้อมชาวเมือง แล้วได้ตั้งความปรารถนาในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าวิปัสสี.นับแต่วันที่ท่านถือปฏิสนธิ ก็มีคนถือเอาเครื่องบรรณาการมาให้พระนางสุปปวาสา วันละร้อยเล่มเกวียน ทั้งในเวลาเย็นและในเวลาเช้า

ครั้งนั้น คนทั้งหลายด้วยความปรารถนาจะลองบุญนั้น จึงให้นางเอามือจับกระเช้าพืช.พืชแต่ละเมล็ด ผลิตผลออกมาเป็นพืชตั้งร้อยกำ พันกำ พืชที่หว่านลงไปในที่นาแต่ละกรีส (หน่วยวัดที่นาในสมัยพุทธกาล) ก็เกิดผลประมาณ ๕๐ เล่มเกวียนบ้าง ๖๐ เล่มเกวียนบ้าง แม้ในเวลาขนข้าวใส่ยุ้ง คนทั้งหลายก็ให้นางเอามือจับประตูยุ้ง ด้วยบุญของราชธิดาเมื่อมีคนมารับของไป ของที่พร่องไปนั้นก็กลับเต็มเหมือนเดิม เมื่อคนทั้งหลายพูดว่า บุญของราชธิดา แล้วให้ของแก่ใคร ๆ จากภาชนภัตรที่เต็มบริบูรณ์ ภัตรย่อมไม่สิ้นไป จนกว่าจะยกของพ้นจากที่ตั้ง

ด้วยผลกรรมของพระนาง ที่ได้ส่งสาส์นลับไปแนะนำพระราชโอรส ร่วมกับวิบากกรรมของพระโอรสในอดีตที่ได้ล้อมกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลาถึง ๗ ปี ทำให้เวลาล่วงไปถึง ๗ ปี.ก็ยังไม่มีพระประสูติกาล

ครั้นเมื่อครบกำหนด ๗ ปีแล้ว ด้วยวิบากกรรมร่วมกันของพระนาง กับ พระโอรสที่ได้ปิดล้อมประตูเล็กของกรุงพาราณสีไว้เป็นเวลา ๗ วัน ทำให้ชาวเมืองไม่สามารถออกจากเมืองมาหาอาหารและสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ได้รับความลำบากมาก ทำให้พระนางเสวยทุกข์หนักตลอด ๗ วัน

พระนางปรารภกับพระสวามีปรารถนาจะถวายทานก่อนที่จะตาย จึงส่งพระสวามีไปเฝ้าพระศาสดาเพื่อไปกราบทูลเรื่องนี้ แล้วนิมนต์พระบรมศาสดา และถ้าพระบรมศาสดาตรัสคำใด ขอให้ตั้งใจจดจำคำนั้นให้ดีแล้วกลับมาบอกพระนาง พระสวามีจึงเดินทางไปแล้วกราบทูลข่าวแด่พระพุทธองค์ พระบรมศาสดาทรงตรัสว่า พระนางสุปปวาสาโกลิยธิดาจงมี ความสุข จงมีความสบาย ไม่มีโรค จงคลอดบุตรที่หาโรคมิได้เถิด พระสวามีได้ยินดังนั้นจึงถวายบังคมพระศาสดา ทรงมุ่งหน้าเสด็จกลับพระราชนิเวศน์

ในเวลาเมื่อพระบรมสุคตตรัสเสร็จ พระกุมารก็คลอดจากพระครรภ์ของพระนางสุปปวาสาอย่างสะดวก เหล่าพระญาติและบริวารที่นั่งล้อมอยู่เริ่มหัวเราะ ทั้งที่หน้านองด้วยน้ำตา มหาชนยินดีแล้ว ร่าเริงแล้ว ได้ไปกราบทูลข่าวที่น่ายินดีแด่พระสวามีที่กำลังเดินทางกลับ พระราชาทรงเห็นอาการของชนเหล่านั้นทรงดำริว่า พระดำรัสที่พระทศพลตรัสเห็นจะเป็นผลแล้ว พระองค์จึงกราบทูลข่าวของพระทศพลนั้นแด่พระราชธิดา พระราชธิดาตรัสให้พระสวามีไปนิมนต์พระทศพล ตลอด ๗ วัน พระสวามีทรงกระทำดังนั้นและได้มีการถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานตลอด ๗ วัน การประสูติของทารก ได้ดับจิตที่เร่าร้อนของพระประยูรญาติทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระประยูรญาติจึงเฉลิมพระนามของกุมารนั้นว่า “สีวลีทารก”

พระสีวลีบวชเมื่อเกิดได้ ๗ วัน

ตั้งแต่เวลาที่ได้เกิดมาแล้ว ทารกนั้นได้เป็นผู้แข็งแรง อดทนได้ในการงานทั้งปวง เพราะค่าที่อยู่ในครรภ์มานานถึง ๗ ปี ครั้นถึงวันที่ ๗ พระนางสุปปวาสาตกแต่งพระสีวลีกุมารผู้โอรส ถวายบังคมพระศาสดา และพระภิกษุสงฆ์ เมื่อพระกุมารถูกนำเข้าไปสักการะพระสารีบุตรเถระเจ้านั้น พระเถระเจ้าได้กระทำปฏิสันถารกับเธอว่า สีวลี เธอยังจะพอทนได้หรือ ? สีวลีกุมาร ได้ตรัสตอบพระเถระเจ้าว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้เจริญ กระผมจะมีความสุขที่ไหนได้เล่า กระผมนั้นต้องอยู่ในโลหกุมภีถึง ๗ ปี

พระเถระได้กล่าวกะสีวลีทารกนั้นอย่างนี้ว่า ก็ถ้าเธอได้รับความทุกข์ถึงขนาดนั้นแล้ว บวชเสียไม่สมควรหรือ สีวลีตอบว่าถ้าบวชได้ก็จะบวช พระนางสุปปวาสาเห็นทารกนั้นพูดอยู่กับพระเถระ ก็คิดว่าบุตรของเราพูดอะไรหนอกับพระธรรมเสนาบดี จึงเข้าไปหาพระเถระถามว่า บุตรของดิฉันพูดอะไรกับพระคุณเจ้า เจ้าคะ พระเถระกล่าวว่า บุตรของท่านพูดถึงความทุกข์ที่อยู่ในครรภ์ที่ตนได้รับ แล้วกล่าวว่า ถ้าท่านอนุญาต ก็จะบวช

พระนางสุปปาวาสาตรัสว่า ดีละเจ้าข้า โปรดให้เขาบรรพชาเถิด พระเถระนำทารกนั้นไปวิหาร ให้ ตจปัญจกกัมมัฎฐาน (กรรมฐาน 5 กอง คือ เกศา โลมา นขา ทันตา ตโจ) และได้กล่าวว่า สีวลี เราไม่จำต้องให้โอวาทดอก เธอจงพิจารณาทุกข์ ที่เธอเสวยมาถึง ๗ ปีนั่นแหละ ในขณะที่โกนผมปอยแรก พระสีวลีก็บรรลุโสดาปัตติผล และในขณะโกนปอยที่ที่ ๒ ก็บรรลุสกทาคามิผล และในขณะโกนผมปอยที่ ๓ ก็บรรลุอนาคามิผล และก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมกันกับที่โกนผมหมด

ส่วนอาจารย์บางพวก กล่าวถึงการบรรลุพระอรหัตของพระเถระนี้ไว้ดังนี้ว่า เมื่อพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ให้โอวาทโดยนัยดังกล่าวแล้วข้างต้น เมื่อสีวลีกุมารกล่าวว่า กระผมจักรู้กิจกรรมที่กระผมสามารถจักกระทำได้ (ด้วยตนเอง) ดังนี้ แล้วจึงบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เห็นกุฏิหลังหนึ่งว่าง (สงบสงัด) จึงเข้าไปสู่กุฏินั้นในวันนั้นแหละ ระลึกถึงทุกข์ที่ตนเสวยแล้วในท้องมารดาตลอด ๗ ปี แล้วพิจารณาทุกข์นั้น ในอดีตและอนาคต โดยทำนองนั้นแหละอยู่ ภพทั้ง ๓ ก็ปรากฏว่า เป็นเสมือนไฟติดทั่วแล้ว สีวลีสามเณรหยั่งลงสู่วิปัสสนาวิถี เพราะญาณถึงความแก่รอบ ทำอาสวะแม้ทั้งปวงให้สิ้นไป ตามลำดับมรรค บรรลุพระอรหัตแล้ว ในขณะนั้นเอง ส่วนพระเถระก็เป็นผู้แตกฉานในปฏิสัมภิทา ได้อภิญญา ๖

พระสีวลีทดลองบุญ

ในเวลาต่อมา พระบรมศาสดาได้เสด็จไปยังพระนาครสาวัตถี พระสีวลีเถระถวายอภิวาทพระบรมศาสดาแล้ว กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักทดลองบุญของข้าพระองค์ ขอพระองค์จงมอบภิกษุ ๕๐๐ รูปแก่ข้าพระองค์ พระศาสดาตรัสสั่งว่า จงรับไปเถิด สีวลี.ท่านพาภิกษุ ๕๐๐ รูป เดินทางบ่ายหน้าไปสู่หิมวันตประเทศ เดินทางผ่านดง เทวดาที่สิงอยู่ที่ต้นไทร ที่ท่านเห็นเป็นครั้งแรก ได้ถวายทานตลอด ๗ วัน เทวดาทั้งหลายได้ถวายทานทุก ๆ ๗ วัน ในสถานที่ทั่ว ๆ ไป ที่ท่านเห็นต่างกรรม ต่างวาระ กันดังนี้ คือ

ท่านเห็นต้นไทรเป็นครั้งแรก เห็นภูเขาชื่อว่าปัณฑวะเป็นครั้งที่ ๒ เห็นแม่น้ำอจิรวดี เป็นครั้งที่ ๓ เห็นแม่น้ำวรสาครเป็นครั้งที่ ๔ เห็นภูเขาหิมวันต์เป็นครั้งที่ ๕ ถึงป่าฉัททันต์ เป็นครั้งที่ ๖ ถึงภูเขาคันธมาทน์เป็นครั้งที่ ๗ และพบพระเรวตะ เป็นครั้งที่ ๘.

ประชาชนทั้งหลาย ได้ถวายทานในที่ทุกแห่งตลอด ๗ วันเท่านั้น.ก็ในบรรดา ๗ วัน นาคทัตตเทวราช ที่ภูเขาคันธมาทน์ ได้ถวายบิณฑบาตชนิดน้ำนม (ขีรบิณฑบาต) สลับวันกับ ถวายบิณฑบาตชนิดเนยใส (สัปปิบิณฑบาต) วันเว้นวัน ลำดับนั้นภิกษุสงฆ์จึงถามท่านเทวราช ว่า ของที่ท่านนำมาถวายนั้นเกิดขึ้นได้อย่าไร ในเมื่อ แม่โคนมที่เขารีดนมถวายแด่เทวราชนี้ก็มิได้ปรากฏ การบีบทำน้ำนมส้มก็มิได้ปรากฏ .เนาคทัตตเทวราชตอบว่า นี้เป็นอานิสงส์แห่งการถวายสลากภัตรน้ำนมในกาลแห่งพระกัสสปทศพล.

ในกาลต่อมา พระศาสดาทรง เอาเหตุแห่งการที่พระขทิรวนิยเถระจัดการต้อนรับ ให้เป็นอัตถุปบัติ (เหตุเกิดแห่งเรื่อง) ในการที่ทรงแต่งตั้งพระสีวลีเถระไว้ในตำแหน่งแห่งภิกษุผู้เลิศ ในบรรดาภิกษุผู้เลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลาย ในศาสนาของพระองค์ ในเรื่องนี้ มีเหตุเกิดขึ้นอย่างนี้

เหตุเกิดแห่งเรื่องที่ทรงแต่งตั้งพระสีวลีเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะในบรรดาภิกษุผู้เลิศด้วยลาภ และเลิศด้วยยศทั้งหลาย ในศาสนาของพระองค์

ในสมัยหนึ่ง พระขทิรวนิยเรวตเถระ ซึ่งเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ได้หนีการแต่งงานที่บิดามารดาจัดการให้ มาขอบวชในสำนักพระภิกษุ ซึ่งมีภิกษุอยู่ประมาณ ๓๐ รูป เหล่าพระภิกษุสอบถามดู ทราบว่าเป็นน้องชายของพระสารีบุตร ที่ท่านได้เคยแจ้งไว้ก่อนว่าถ้าน้องชายมาขอบวชก็อนุญาตให้บวชได้ จึงได้ทำการบวชให้แล้วส่งข่าวมายังท่านพระสารีบุตร

ครั้งนั้น เมื่อพระสารีบุตรทราบข่าวดังนั้น จึงกราบทูลพระศาสดาเพื่อขอไปเยี่ยม พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงทราบว่าพระเรวตะเริ่มทำความเพียรเจริญวิปัสสนา จึงทรงห้ามพระสารีบุตรถึง ๒ ครั้ง ในครั้งที่ ๓ เมื่อพระสารีบุตรทูลอ้อนวอนอีก ทรงทราบว่า พระเรวตะบรรลุพระอรหัตแล้วจึงทรงอนุญาตและตรัสว่าจะทรงไปด้วยพร้อมเหล่าพระสาวกอื่น

ดังนั้น พระศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่เป็นบริวาร ก็ได้เสด็จออกไปด้วยพระประสงค์ว่าจะไปเยี่ยมพระเรวตะ.ครั้นเดินทางมาถึง ณ ที่แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นหนทาง ๒ แพร่ง

พระอานนเถระกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญตรงนี้มีหนทาง ๒แพร่ง ภิกษุสงฆ์จะไปทางไหน พระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสถามว่า อานนท์หนทางไหน เป็นหนทางตรง

พระอานนท์กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญหนทางตรงมีระยะประมาณ ๓๐ โยชน์ แต่เป็นหนทางที่มีอมนุษย์ ส่วนหนทางอ้อมมีระยะทาง ๖๐ โยชน์ เป็นหนทางสะดวกปลอดภัย มีภิกษาดีหาง่าย.

พระศาสดาตรัสว่า อานนท์ สีวลีได้มาพร้อมกับพวกเรามิใช่หรือ

พระอานนท์กราบทูลว่า ใช่ พระสีวลีมาแล้วพระเจ้าข้า

พระศาสดาตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นพระสงฆ์จงไปตามเส้นทางตรงนั้นแหละ เราจักได้ทดลองบุญของพระสีวลี.

พระศาสดามีพระภิกษุสงฆ์เป็นบริวาร เสด็จขึ้นสู่เส้นทาง ๓๐ โยชน์ เพื่อจะทรงทดลองบุญของพระสีวลีเถระ.

จำเดิมแต่ที่ได้เสด็จไปตามหนทาง หมู่เทวดาได้เนรมิตพระนครในที่ทุกๆ โยชน์ ช่วยกันจัดแจงพระวิหารเพื่อเป็นที่ประทับและที่อยู่แด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข

พวกเทวบุตร ได้ถือเอาข้าวยาคูและของเคี้ยวเป็นต้น ไปเที่ยวถามอยู่ว่า พระผู้เป็นเจ้าสีวลีไปไหน ดังนี้แล้ว จึงไปหาพระเถระ พระเถระจึงให้นำเอาสักการะและสัมมมานะเหล่านั้นไปถวายพระศาสดา พระศาสดาพร้อมทั้งบริวารเสวยบุญของพระสีวลีเถระผู้เดียว ได้เสด็จไปตลอดทางกันดารประมาณ ๓๐ โยชน์

ฝ่ายพระเรวตเถระทราบการเสด็จมาของพระศาสดา จึงนิรมิต พระคันธกุฎีเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า นิรมิตเรือนยอด ๕๐๐ ที่จงกรม ๕๐๐ และที่พักกลางคืนและที่พักกลางวัน ๕๐๐ พระศาสดาประทับอยู่ใน สำนักของเรวตะเถระนั้นสิ้นกาลประมาณเดือนหนึ่งแล แม้ประทับอยู่ ในที่นั้น ก็เสวยบุญของพระสีวลีเถระนั่นเอง แม้พระศาสดาทรงพาภิกษุสงฆ์ไป เสวยบุญของพระสีวลีเถระ ตลอดการประมาณเดือนหนึ่งนั่นแลอีก เสด็จเข้าไปสู่บุพพาราม ลำดับ

ในกาลต่อมา พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับนั่งในท่ามกลางหมู่พระอริยเจ้าแล้ว ทรงสถาปนาพระเถระนั้นไว้ในตำแหน่งอันเลิศว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พระสีวลีเป็นผู้เลิศกว่าพวกภิกษุสาวกของเราผู้มีลาภ

ที่มา : //board.palungjit.com/showthread.php?t=10600




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2551 11:16:26 น.
Counter : 499 Pageviews.  

คาถาบูชาพระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม

การตั้งบูชา นิยมการตั้งบูชาบนฐานรองรับ อยู่กลางภาชนะใส่น้ำ เป็นการจำลองคล้ายกับท่านจำพรรษาอยู่ในมหาสมุทร แล้วใช้ดอกมะลิลอยในน้ำบูชา และต้องตั้งต่ำกว่าพระพุทธ เนื่องจากเป็นพระอรหันต์ สาวกของพระพุทธเจ้า

คำบูชาพระอุปคุต (เกิดโชคลาภและคุ้มกันภัยภิบัติอันตรายทั้งปวง)
อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร สัมพุทเธนะ วิยากะโต มารัญจะ มาระพะลัญจะ โส อิทานิ มะหาเถโร นะมัสสิตะวา ปะติฎฐิโต อะหัง วันทามิ อิทาเนวะ อุปะคุตตัง จะ มาหาเถรัง ยัง ยัง อุปัททะวัง ชาตัง วิธัง เสติ อะเสสะโต มะหาลาภัง ภะวันตุเม ฯ

คำบูชาพระอุปคุต : แบบย่อ
อุปะคุตโต จะ มะหาเถโร ยักขาเทวา นะระปูชิโต โสระโห ปัจจะ ยาทิมปิ มะหาลาภัง ภะวันตุเม ฯ


คำบูชาพระมหาอุปคุต (นิยมสวดบูชาพระบัวเข็ม หรือ พระธาตุอุปคุต)
นโม ๓ จบ..
พระมหาอุปคุตโต พระมหาอุปคุตตัง จะมหาเถโร สัพเพชะนา พะหูชะนา อิถีชะนา มามังพุทธะจิตตัง จะมหาลาโภ พุทธะธัมโม จะมหาลาภัง พุทธะสังฆัง จะมหาสัจจัง สัพพะลาภัง ภะวันตุเม ฯ
อุปคุตตะ จะมหาเถโร สัพพะเสน่หาปุพชิโต โสระโห อุปะคุตะ ปัจจะยา ธิมะหิ อุตตะโม โหติ สัพพะทุกขะ สัพพะภะยะ สัพพะโรคะ พุทธา ธัมมา สังฆา อานุภาเวนะ วินาสสันติ

คำบูชาพระบัวเข็ม
นโม ๓ จบ
กิจจะมาคะอุปคุตโต อะมะหาเถโร สัมพุทเธวิยาคะโต มาระรัญจะ โสอิทานิ จะมะหาเถโร นะมัดปะสิทตะวาปะ ถิติโกอหัง วันทามิ พาเนวะอุปคุตตัง จะมะ หาเถรัง ยังยังอุปัทธะวังชาติ วิทังเสนติ อะเสสะโต นโมพุทธายะ
พระบัวเข็มจะมะหาเถโร สัพพะลาภังภะวันตุเม อิติปิโสภะคะวา พุทโธชัยโย ธัมโมชัยโย สังโฆชัยโย เมตตา ฉิมพาลีจะมะหา เถโร สัพพะลาภัง ตะวันตุเม ฯ
ชัยยะตัง ปัตถะพีตับภัง สามินโท โสราชาปูเชมิ ฯ

คำบูชาพระบัวเข็ม : ฉบับย่อ
จิตติจิตติ มิตติเอหิมะมะ อุปปะคุตโต จะมะหาเถโร นานาปาระมิ สัมมะปัณโน อิติปิโสภะคะวา มะอะอุเมตตา จะมะหาราชา สัพพะสะเนหา จะปูชิตา สัพพะทุกขัง มะหาลาภัง สัพพะโกพัง วินาสสันติ

คำบูชาขอลาภพระอุปคุต
มหาอุปคุตโต จะมหาลาโภ พุทโธลาภัง สัพเพชะนา พะหูชะนา ราชาปุริโส อิถีโยมานัง นะโมโจรา เมตตาจิตตัง เอหิจิตติจิตตัง ปิยังมะมะ สะเทวะกัง สะพรหมมะกัง มะนุสสานัง สัพพะลาภัง ภะวันตุเม ฯ
เอหิจิตติ จิตตังพันธะนัง อุปะคุตะ จะมหาเถโร พุทธะสาวะกะ อานุภาเวนะ มาระวิชะยะ นิระภะยะ เตชะปุญณะตา จะเทวะตานัมปิ มะนุสสานันปิ เอหิจิตตัง ปิยังมะมะ อิมังกายะ พันธะนัง อะทิถามิ ปะอัยยิสสุตัง อุปัจสะอิฯ

วิธีสวดขอลาภ
จุดธูปเทียนบูชา พร้อมกับดอกไม้หอม เครื่องหอมน้ำหอมต่างๆ เทหยดใส่ในขันน้ำมนต์ ณ ที่บูชาพระในร้านค้าขาย หรืออาคารสำนักงาน แล้วอธิษฐานขอให้กลิ่นควันธูปเทียน ลมพัดไปทางไหน ขอให้ดลใจผู้คนเข้ามาอุดหนุนตลอด ขอให้ดำเนินกิจการด้วยความราบรื่น มีความสำเร็จสมปรารถนาทุกประการ
เมื่ออธิษฐานจุดธูปเทียนบูชาแล้ว ให้สวด นะโม ๓ จบ และสวดคำบูชาขอลาภพระอุปคุต ๑ จบ แล้วทำน้ำมนต์สวดด้วย คำบูชาขอลาภพระมหาอุปคุต อีก ๑ จบ เสร็จแล้ว เอาน้ำมนต์ประพรมร้านค้า และสินค้าในร้านค้า หรือทำธุรกิจ ก็ให้เอาน้ำมนต์ประพรมภายในสำนักงานและอุปกรณ์ต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการทำธุรกิจนั้นทั้งหมด

คาถาพระมหาอุปคุตผูกมาร
นโม ๓ จบ..
มหาอุปคุตโต มหาอุปคุตตัง กายะพันทะนัง อมยิสะ พุทธังทะเถโร ธัมมังทะเถโร สังฆังทะเถโร ปะอัยยะสุตัง อุปัจสะอิ อิมังกายะพันทะนัง อะทิถามิ ฯ
(คาถาพระมหาอุปคุตผูกมาร มีอานุภาพความศักดิ์สิทธิ์มาก เสกด้วยสายสิญจน์ทำเป็นมงคลสวมคอ หากปลุกเสกครบ ๑๐๘ ครั้งสามารถป้องกันภูตผีปีศาจทั้งปวง และป้องกันอุปัทวอันตรายต่างๆ ถ้าเสก ๓ - ๗ คาบ ผูกคอหรือคล้องคอคนถูกผีเจ้าเข้าสิง จะเจ็บปวดร้องครวญครางโหยหวยอย่างน่าเวทนา ถ้าจะให้ผีที่สิงอยู่ออกไป ให้ถอดหรือแก้ด้ายผูกคอออก แล้วเอาด้ายนี้ตีปัดตามตัวคนที่ถูกผีสิงอยู่ ผีจะอยู่ไม่ได้จะเผ่นออก และไม่กล้ากลับมารบกวนคนในบ้านอีก และยังมีการปลุกเสกในทางพิชิตโรคาพาธได้วิเศษนัก)

ที่มา : //www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php?topic=1427.msg8723




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2551 11:03:17 น.
Counter : 3549 Pageviews.  

พระอุปคุต หรือ พระบัวเข็ม : ประวัติความเป็นมา

ประวัติพระอุปคุต ( พระบัวเข็ม )

ตามตำนานกล่าวไว้ว่าพระอรหันต์อุปคุตเถระท่านอยู่ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ในครั้งนั้นพุทธศาสนาเสื่อมถอยลงเนื่องจาก มีเดียรถีแฝงมาอาศัยผ้าเหลืองหากิน ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่เสื่อมศรัทธาในพระศาสนา พระอรหันต์อุปคุตเถระท่านจึงปลีกวิเวกไปเข้าสมาบัตินิโรจอยู่ที่สะดือทะเล

ร้อนจนถึงพระเจ้าอโศกมหาราชทนไม่ได้จึงได้มีพระราชดำรัสที่จะชำระพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์ ตามเจตนารมณ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วางการดำเนินแนวทางไว้ให้

จึงจำเป็นที่จะต้องมีพระอรหันต์เถระที่ทรงคุณทางปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวทเป็นผู้ชำระสังคายนา คณะสงฆ์จึงแจ้งแก่มหาบพิตรองค์อโศกมหาราชว่ามีพระอรหันต์มหาเถระผู้หนึ่งมีนามว่าพระอุปคุต มีคุณสมบัติยอดเยี่ยมหาใครเทียมได้ยาก ถ้าได้นิมนต์ท่านให้เป็นประธานสงฆ์ในการสังคายนาพระไตรปิฎกนี้คงสำเร็จได้เป็นแน่แท้

องค์มหาบพิตรอโศกจึงได้อธิฐานจิตอาราธนาพระอุปคุตมหาเถระ พระอุปคุตเถระท่านเมื่อทราบด้วยญาณวิเศษท่านจึงรับนิมนต์ในครั้งนี้ เมื่อท่านก้าวเดินขึ้นมาจากทะเล ปรากฎว่ามีสาหร่ายติดมากับร่างกายท่านเต็มไปหมด

เมื่อสังคายนาพระไตรปิฎกเรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชจึงได้ขจัดเดียรถีที่แฝงมาในพระพุทธศาสนาจนหมดสิ้นไป นำความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนากลับคืนมา

พระอุปคุตเถระปางบัวเข็มนี้จึงเป็นปางที่ท่านเข้านิโรจสมาบัติในสะดือทะเลนั่นเอง

เรื่องราวของท่านยังไม่จบเพียงเท่านั้น จะกล่าวพญามารที่เคยมาขัดขวางพระโพธิ์สัตว์เจ้าชายสิทธัตถะใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ จนเจ้าชายสิทธัตถะกล่าวให้พระแม่ธรณีเป็นพยาน พระแม่ธรณีท่านจึงบีบมวยผมปรากฎว่ามีน้ำที่เกิดจากการสั่งสมบารมีของพระโพธิสัตว์โดยให้พระแม่ธรณีเป็นพยานนั้น ไหลบ่าท่วมพัดกองทัพพญามารจนแตกพ่ายไป และในวันนั้นเองเจ้าชายสิทธัตถะก็บรรลุธรรมเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า องค์พระศาสดาจึงได้บังเกิดขึ้นในโลก

พญามารท่านนี้เองเป็นที่เกรงกลัวของเหล่าเทวดา พรหม พระอุปคุตเถระท่านจึงทรมานพญามารด้วยอภิญญาของท่าน จนพญามารสิ้นฤทธิ์ยอมรับความพ่ายแพ้

พญามารท่านนี้จึงเปลี่ยนจากมิจฉาทิฏฐิกลายเป็นสัมมาทิฏฐิจนสำเร็จ พระอุปคุตเจ้าท่านจึงเป็นที่สรรเสริญของเหล่าโยนิสี่ทั้งหลายตั้งแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน

พระเกจิคณาจารย์ทั้งหลายจึงมักสร้างพระบูชาพระอุปคุตเถระเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของท่านที่สร้างไว้ เป็นแบบอย่างที่ดีงามที่สืบเนื่องกันมาจวบจนทุกวันนี้

ในอดีตกาลนับพันปีนั้นมีกิ่งไม้ทางทิศใต้ของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยาเกิดหักลงมา พระเถระที่นั่นเห็นว่าปล่อยไว้ก็สูญเปล่า จึงได้นำมาแกะเป็นพระพุทธรูปและเรียกพระนี้ว่า"พระทักขิณะสาขา" และนำไปประดิษฐานที่วัด เพราะคนสมัยโบราณนั้นไม่นิยมนำพระพุทธรูปเข้ามาไว้ในบ้าน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจึงนิยมนำไม้โพธิ์มาแกะสลักเป็นพระพุทธรูป หากต้องการให้เกิดความรู้สึกขลังยิ่งขึ้นก็จะใช้กิ่งไม้จากหน่อศรีมหาโพธิ์ที่ตายพรายเองที่ชี้ไปทางทิศใต้มาแกะสลัก บางตำราก็ว่าให้ใช้กิ่งที่ชี้ไปทางทิศตะวันออก

ชาวพม่ารามัญนับถือพระอุปคุตเถระกันเป็นจำนวนมาก จึงมีการสร้างรูปบูชาของท่านขึ้นมา เห็นได้จากพระบูชาพระอุปคุตที่มีศิลปะแบบพม่าอยู่มากมาย ทั้งแบบปางบัวเข็ม และแบบปางจกบาตร

หลวงพ่ออุตตมะ แห่งวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี แต่เดิมท่านก็เป็นชาวมอญ ท่านจึงได้สร้างพระอุปคุตปางบัวเข็ม และปางจกบาตร ไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหาได้เช่าไปบูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งการบูชาพระอุปคุตนี้มีความหมายเป็น 2 นัย คือ 1 พระอุปคุตท่านเป็นพระอรหันต์ผู้มีฤทธิ์ปราบมาร จึงช่วยปกป้องคุ้มครองให้ผู้ที่บูชาห่างไกลจากภัยอันตรายต่าง ๆ ส่วนนัยที่ 2 คือท่านจำศีลอยู่ในน้ำ จึงช่วยให้ผู้บูชาอยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ บรรดาผู้ที่นับถือศรัทธาหลวงพ่ออุตตมะที่ทราบในข้อนี้ จึงนิยมที่จะหาพระอุปคุตปางต่าง ๆ ของท่านไว้บูชาติดบ้านเพื่อความสงบร่มเย็น


ที่มา : //www.ubmthai.com/leksoundsmf3/index.php?topic=1427.msg8723




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2551    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2551 10:55:11 น.
Counter : 2183 Pageviews.  

1  2  

bongboeaw
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add bongboeaw's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.