โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
บันทึกประสบการณ์การรับบริการของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ

เมื่อเกิดเจ็บไข้ได้ป่วย คนกรุงเทพฯมีโรงพยาบาลให้เลือกเข้ารับการรักษามากมายหลายแห่ง การเลือกโรงพยาบาลนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ปัจจัยหลักสำหรับคนทั่วไปคงเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นประการแรก ตามด้วยความสะดวกในการเดินทางเข้ารักษาและการเยี่ยมไข้ในกรณีที่ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาล จากนั้น ก็อาจเป็นความความพึงพอใจหรือเหตุผลส่วนบุคคลระหว่างคนไข้และนายแพทย์หรือชื่อเสียงกิตติศัพท์เกี่ยวกับตัวโรงพยาบาลเองหรือแพทย์ผู้รักษา

บันทึกนี้ เป็นประสบการที่ได้จากการเข้ารักษาตัวเป็นเวลา 5 วัน 4 คืน ในโรงพยาบาลของบุตรชายอายุย่าง 25 ปี จากวันพุธที่ 14 ถึงวันอาทิตย์ทื่ 18 โรงพยาบาลดังกล่าวนับได้ว่าเป็นโรงพยาบาลชั้นแนวหน้าโรงพยาบาลหนึ่งในกรุงเทพฯ แต่เหตุผลหลักในการเข้ารักษาคือนอกจากความสะดวกเพราะอยู่ใกล้บ้านพักอาศัยแล้ว ก็ยังเพราะเป็นโรงพยาบาลที่คุ้นเคยทั้งในด้านสถานที่และบุคคลคือตัวนายแพทย์เอง จากการติดต่อรักษามาก่อนตั้งแต่รุ่นบิดามารดา

สาเหตุของการต้องเข้าพบแพทย์เกิดจากการมีไข้ขึ้นสูงถึง 38 องศา และอาการปวดเมื่อยบริเวณหลังและเอวโดยไม่ทราบสาเหตุของบุตรชายในวันอาทิตย์ที่ 11 เมื่ออาการปวดหลังและไข้สูงนี้ไม่ลดหายไปหลังจากการทานยาแก้ไข้และหวัด (Decogen) ผมจึงพาลูกชายเข้าพบนายแพทย์ที่เคยให้การรักษามาก่อนในวันจันทร์ที่ 12

การเข้าพบแพทย์คราวนี้ ไม่ต่างไปจากครั้งก่อนๆ เรามาโรงพยาบาลนี้เป็นสิบหรือร้อยครั้งกระมังและแพทย์ที่พบ จะถือว่าเป็นแพทย์ประจำครอบครัวก็ว่าได้ ค่าใช้จ่ายของโรงพยาลบาลทุกครั้ง ประกอบด้วยรายการหลักดังนี้

1 -ค่ารักษาทั่วไปของแพทย์ (หมายถึงค่าวิชาชีพ หรือค่าตรวจนั่นเอง) สำหรับโรคทั่วๆไป ค่าแพทย์อยู่ระหว่าง 4-500 บาท สำหรับการวินิจฉัยโรคและการสั่งยาประมาณ 10 ถึง 15 นาที แล้วแต่กรณี (ขึ้นจาก 300 บาท มาประมาณหนึ่งปีแล้วกระมัง ไม่ได้จำหรือบันทึกไว้) ค่าปรึกษาแพทย์หญิงท่านหนึ่ง เกี่ยวกับอาการปวดข้อมือของภรรยาผม ซึ่งใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที เป็นเงินถึง 600 บาท เมื่อภรรยาผมท้วงถามว่าเป็นการคิดผิดหรือไม่ผ่านพยาบาลผู้ช่วยเหลือ ก็ได้รับคำตอบจากพญ,ท่านนั้นว่า ค่าปรึกษา 600 บาท นั้นถูกต้องแล้ว เพราะเป็นราคาใหม่ (น่าจะสอบถามว่า ราคาเดิมเท่าไร ขึ้นเมื่อไร ด้วยเหตุผลใดและได้ประกาศแจ้งให้คนไข้ได้รับรู้และยินยอมด้วยหรือไม่ –ผู้บันทึก)
2 -ค่าใช้จ่ายรายการต่อมา คือค่ายาผู้ป่วยนอก ซึ่งก็แล้วแต่กรณีเช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่ควรบันทึกคือโรงพยาบาลยอมรับคืนยาในบางกรณี เช่น ยาที่เหลือเพราะนายแพทย์เปลี่ยนยาจากคราวก่อน หรือเหตุผลอื่นๆที่โรงพยาบาลพิจารณาเห็นยินยอมด้วย รวมทั้งขึ้นอยู่กับสภาพและลักษณะของยาที่ต้องการคืนด้วย อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลจะไม่คืนให้ในราคาที่คนไข้ซื้อไป แต่จะต่ำกว่าราคาตอนซื้อประมาณ 10 ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ (จำไม่ได้แน่)
3 -ค่าบริการโรงพยาบาลของผู้ป่วยนอก เข้าใจว่าเป็นราคาคงตัวที่ 80 บาท ค่าบริการดังกล่าว ดูเหมือนว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินไม่สามารถอธิบายให้ชัดเจนได้ว่าหมายถึงอะไร ได้แต่ยืนยันเพียงว่าเป็นค่าบริการทั่วไป ซึ่งก็บังคับให้ต้องตีความเอาเองว่า เป็นค่าที่จอดรถ เพราะถึงจะระบุราคาค่าจอดรถในใบจอดรถที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลออกเมื่อเข้าจอดและซึ่งต้องคืนตอนนำรถออก แต่ผู้มาใช้โรงพยาบาลก็ไม่ต้องจ่ายค่าจอดโดยเพียงแต่ทำการประทับตรา (โดยจะประทับกี่ตรากี่ดวง ในตั๋วจอดกี่ใบ จะประทับกี่ครั้งต่อวัน ก็ทำได้ตามอัธยาศัยเพราะประทับได้เองที่เคาเตอร์ฝ่ายการเงินซึ่งมีอยู่เกือบทุกชั้น) สิ่งที่ควรกล่าวในที่นี้คือ หากส่วนหนึ่งของค่าบริการโรงพยาบาล 80 บาทนี้เป็นการคิดค่าจอดรถแล้ว ก็ออกจะไม่ยุติธรรมต่อคนไข้ที่มาใช้โรงพยาบาลด้วยรถเมล์หรือรถแท๊กซี่ เพราะต้องจ่ายค่าบริการนี้ทุกคน ไม่ว่าจะใช้เนื้อที่จอดรถของโรงพยาบาล ซึ่งมีอยู่ 6-7 ชั้นหรือไม่ก็ตาม

นอกจากเป็นค่าจอดรถแล้ว ค่าบริการโรงพยาบาลนี้ อาจเป็นค่าบริการการใช้ห้องน้ำที่สะอาดพร้อมพรั่งด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกตามมาตรฐานอันควรแก่อารยชนของประเทศไทย ที่โรงพยาบาลได้จัดไว้ให้อยู่ทั่วไปทุกชั้น เกี่ยวกับเรื่องห้องน้ำนี้

นอกจากค่าจอดรถและค่าใช้ห้องน้ำแล้ว ก็ออกจะยากในการคิดแทนว่า โรงพยาบาลต้องการคิดค่าบริการกับผู้ป่วยที่มาใช้บริการโรงพยาบาลในการใช้ลิฟต์ บันไดเลื่อน หรือจะเป็นค่าไฟ ค่าแอร์ ค่าเจ้าหน้าที่ทำนวยความสะดวกอันอาจรวมการใช้โรงอาหาร ร้านกาแฟ หรือร้านค้าจิปาถะอื่นๆ ซึ่งก็เป็นธุรกิจซื้อขายธรรมดาทั่วไปทุกแห่ง ทำไมผู้มาใช้โรงพยาบาล ซึ่งที่แท้ ก็คือคนไข้ที่จะต้องจ่ายค่าตรวจรักษาให้แพทย์ ต้องจ่ายเงินซื้อยาที่จัดจำหน่ายโดยโรงพยาบาล ในราคาที่กำหนดโดยโรงพยาบาลและตัวแพทย์เอง (เราจะมาพูดเรื่องค่ารักษาที่แพทย์เป็นผู้กำหนดเองตามอำเภอใจอีกภายหลังครับ) เป็นที่น่าสังเกตุว่า ค่าบริการที่ผู้ใช้โรงพยาบาลต้องจ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าแพทย์ ค่ายา ค่าบริการโรงพยาบาลและอื่นๆทั้งหมดที่โรงพยาบาลเก็บจากคนไข้นี้ ไม่สามารถต่อรองได้ ไม่มีการแจ้งล่วงหน้าอย่างชัดเจน ผู้ป่วยต้องจ่ายหลังจากรับบริการแล้วโดยไม่อาจแม้แต่พิจารณาว่า ตนมีความสามารถจ่ายค่าบริการเหล่านั้นได้หรือไม่ และก็เป็นที่น่าประหลาดเทียมกันที่ชาวกรุงเทพทุกคนที่มาใช้โรงพยาบาลนี้ (และทุกๆโรงพยาบาลอื่นด้วย) ก็เป็นผู้มีความสามารถ เป็นผู้ก้มหน้าควักกระเป๋าจ่ายอย่างหน้าชื่นตาบาน (ก็น่าจะบานหยอกเสียเมื่อไหร่เล่า) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้จ่ายเป็นเงินสด ก็ยังได้รับผลประโยชน์คุ้มค่าจากการลดให้ร้อยละ 2 ทีเดียว

ยังมีต่อครับ



Create Date : 19 ตุลาคม 2552
Last Update : 19 ตุลาคม 2552 21:21:50 น.
Counter : 1550 Pageviews.

5 comment

Atas
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



Atas เป็นสถาปนิกไทย ที่สนใจในการบันทึกสิ่งที่พานพบลงบนหน้ากระดาษด้วยสี แสง และเงา

Atas is a Thai living in Bangkok, an architect by training and a retireee, by now!
He records what he observes of his last 5 years of travels.
Atas can be reached at asnee.t@gmail.com
.
Places of my sketchbook
Make yours @ BigHugeLabs.com
Make yours @ BigHugeLabs.com
LET'S CONNECT : YOUR COMMENTS ARE MOST APPRECIATED. free counters