มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ในจักรวาลนี้
Group Blog
 
All blogs
 

การนับปีเริ่มมาจาก


มนุษย์เป็นคนช่างสังเกต ในยามค่ำคืนมีดวงดาวปรากฏอยู่เต็มท้องฟ้า ดวงดาวขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ นั่นหมายความว่าโลกหมุนจากทางทิศตะวันตกไปตะวันออกหรือใช้กฎมือขวา คือกำมือขวาให้นิ้วหัวแม่มือชี้ไปทางทิศเหนือตามแกนของโลก

หากทุกค่ำคืนสังเกตดวงดาว และเปรียบเทียบกันทุกวันจะพบว่าเวลาที่ดวงดาวขึ้นจากขอบฟ้าจะแตกต่างออกไป หากจินตนาการดูในภาพสามมิติโดยมีโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์และดวงดาวฤกษ์อื่น ๆ อยู่กับที่ การที่เห็นดวงดาวยามค่ำคืนเพราะอยู่ในทิศตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ คนโบราณสังเกตดวงดาวและจินตนาการการมองเห็นกลุ่มดาวเป็นรูปร่างต่าง ๆ เช่น เป็นแมลงป่อง เป็นสิงโต และหากพิจารณาในรอบปีโดยสังเกตที่ดวงอาทิตย์ พบว่าดวงอาทิตย์เดินทางผ่านกลุ่มดาวต่าง ๆ (ทั้ง ๆ ที่ดวงอาทิตย์และกลุ่มดาวอยู่กับที่ แต่โลกหมุนเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์) มีการแบ่งกลุ่มดาวออกเป็น 12 กลุ่มตามเส้นทางที่ดวงอาทิตย์เดินผ่าน เส้นทางเดินผ่านนี้เรียกว่า สุริยะวิถี (Ecliptic)

โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบได้รับการกำหนดให้เป็นเวลาหนึ่งปี โลกหมุนทำให้เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็ว 67,000 ไมล์ต่อชั่วโมง การเดินทางของดวงอาทิตย์ผ่านกลุ่มดาวแต่ละกลุ่มครบ 12 กลุ่มจึงเป็นเวลาหนึ่งปี ดังนั้นจึงมีการแบ่งเดือนเป็น 12 เดือนตามจักรราศี (Zodiac) และแบ่งเดือนตามปฏิทินสากล

ดังนั้นในหนึ่งปีจึงมี 12 ราศี และมีรูปของกลุ่มดาวเป็นเครื่องหมายของราศีนั้น ๆ และกำหนดให้มี 12 เดือน โดยเริ่มจากเดือนต่าง ๆ ตามกลุ่มดาว 12 ราศี

ที่มา : รศ. ยืน ภู่วรวรรณ, สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
//web.ku.ac.th/schoolnet/snet2/knowledge_math/oneyear.htm




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2549    
Last Update : 3 มิถุนายน 2549 2:26:02 น.
Counter : 1392 Pageviews.  

การสังเกตที่โลกเป็นจุดศูนย์กลาง



ในระบบสุริยะจักรวาล มีดาวเคราะห์ที่เห็นด้วยตาเปล่าชัดเจนห้าดวง ดังนั้นมนุษย์ตั้งแต่สมัยโบราณได้เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของดาวเคราะห์ ซึ่งจะเห็นว่าทุกขณะที่สังเกต จะเห็นดาวเคราะห์อยู่ในกลุ่มดาวจักรราศี และเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงตำแหน่งไปตามแนวของจักรราศี ส่วนใหญ่เคลื่อนที่ไปข้างหน้าคือ จากราศีเมษ ก็ไป พฤษภ ไปราศี มิถุน... แต่บางขณะเวลาดาวเคราะห์ก็เคลื่อนที่ถอยหลัง การเคลื่อนที่ถอยหลังนี้เกิดจากจุดสังเกตบนโลกที่มองไป ขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์บางขณะ ทำให้มุมมองของโลกที่มองไปมีลักษณะสัมพัทธ์ที่ทำให้ดาวเคราะห์เคลื่อนถอยหลัง

จากรูปภาพของระบบสุริยะจักรวาลที่แสดงทำให้เห็นว่าโลกมองเห็นดาวอังคารอยู่ในราศีมีน เห็นดาวศุกร์อยู่ในราศีพฤษภ เห็นดาวอาทิตย์อยู่ในราศีกรกฎ เห็นดาวพุธอยู่ในราศีสิงห์ เห็นดาวพฤหัสอยู่ในราศีกันย์ และดาวเสาร์อยู่ในราศีพิจิก และถ้าดูดวงจันทร์ด้วยก็ขึ้นอยู่กับวันข้างแรมขณะนั้น

การสังเกตในลักษณะที่โลกเป็นจุดศูนย์กลางจึงเป็นลักษณะที่คนโบราณเชื่อว่า รังสีของดาวเคราะห์ที่แผ่ตรงมายังโลกจะมีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่

ดังนั้นแผนภาพทางโหราศาสตร์ในเรื่องดาว จึงเป็นแผนภาพดาวเคราะห์บนฝากฟ้าที่สังเกตเห็นได้จากพื้นโลก ทำให้เราสามารถเห็นการโคจรของดาว บนแผนภาพนี้ และสามารถดูตำแหน่งของดาวเคราะห์บนฟากฟ้าจริงได้

ที่มา : รศ. ยืน ภู่วรวรรณ, สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

//web.ku.ac.th/schoolnet/snet2/knowledge_math/geocentric.htm




 

Create Date : 03 มิถุนายน 2549    
Last Update : 3 มิถุนายน 2549 2:26:47 น.
Counter : 843 Pageviews.  

ดาวเคราะห์ในเดือนมิถุนายน 2549



ภาพจำลองดาวเคราะห์ในเดือนมิถุนายน 2549 แสดงให้เห็นส่วนสว่างของดาวเคราะห์และขนาดปรากฏเปรียบเทียบ
(ดัดแปลงจาก Solar System Simulator/NASA)

ดาวเคราะห์ในเดือนมิถุนายน 2549

ดาวพุธ หลังจากผ่านตำแหน่งร่วมทิศแนววงนอก (superior conjunction) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ดาวพุธมาปรากฏบนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำตลอดเดือนมิถุนายนนี้ในกลุ่มดาวคนคู่ ใกล้ขอบฟ้ามากกว่าดาวอังคารกับดาวเสาร์ที่อยู่สูงเหนือขึ้นไป วันที่ 27 มิถุนายน อาจเห็นพระจันทร์เสี้ยวบาง ๆ อยู่ทางขวามือของดาวพุธในเวลาที่ท้องฟ้ายังไม่มืดสนิท

ดาวศุกร์ (โชติมาตร -3.9) ขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในเวลาประมาณตี 3 ครึ่ง เกือบตี 4 สังเกตเห็นได้ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นของทุกวัน ดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวแกะจนถึงวันที่ 18 มิถุนายน จากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาววัว ผ่านใกล้กระจุกดาวลูกไก่ในวันที่ 24 มิถุนายน โดยเช้ามืดวันที่ 23 มิถุนายน จะเห็นพระจันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่ ทางซ้ายมือของดาวศุกร์

ดาวอังคาร เข้าสู่กลุ่มดาวปู อยู่บนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ ความสว่างลดลงเล็กน้อยจากโชติมาตร +1.7 ที่ต้นเดือน ไปอยู่ที่ +1.8 ในปลายเดือน ปรากฏสูงจากขอบฟ้าประมาณ 30 องศา ในเวลา 19.40 น. และตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 21.20-22.00 น. วันที่ 15-16 มิถุนายน จะเห็นดาวอังคารผ่านเข้าไปในกระจุกดาวรังผึ้ง และเดือนนี้ดาวอังคารกับดาวเสาร์จะเข้าใกล้กันมากที่สุดในวันที่ 18 มิถุนายน

ดาวพฤหัสบดี (โชติมาตร -2.4) ยังคงเคลื่อนที่ถอยหลังอย่างช้า ๆ ในกลุ่มดาวคันชั่ง สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เวลาหัวค่ำหลังจากดวงอาทิตย์ตก อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันออกเยื้องไปทางทิศใต้ ต้นเดือนดาวพฤหัสบดีจะตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณตี 4 และตกเร็วขึ้นทุกวัน เมื่อถึงปลายเดือนมิถุนายนจะมีเวลาดูดาวพฤหัสบดีได้จนถึงก่อนตี 2 คืนวันที่ 8 มิถุนายน จะเห็นดวงจันทร์สว่างเกือบเต็มดวงอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดี

ดาวเสาร์ (โชติมาตร +0.4) อยู่ใกล้กับกระจุกดาวรังผึ้งในกลุ่มดาวปู ปรากฎบนท้องฟ้าทิศตะวันตกในเวลาหัวค่ำ เดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายที่จะเห็นดาวเสาร์ได้ชัดเจน หลังจากนี้ดาวเสาร์จะเข้าใกล้ขอบฟ้ามากขึ้นในเวลาหัวค่ำของแต่ละวัน ทำให้สังเกตได้ยากขึ้น วันที่ 28 มิถุนายน พระจันทร์เสี้ยวจะปรากฏทางขวามือของดาวเสาร์ สูงจากขอบฟ้าประมาณ 20 องศา ในเวลา 19.40 น.

ดาวยูเรนัส (โชติมาตร +5.8) และ ดาวเนปจูน (โชติมาตร +7.9) อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำและกลุ่มดาวแพะทะเล ตามลำดับ ปรากฏบนท้องฟ้าก่อนเช้ามืด สังเกตการณ์ได้ในช่วง 10 วันแรกของเดือนและสัปดาห์สุดท้ายซึ่งเป็นช่วงที่ไม่มีแสงจันทร์รบกวน โดยต้องอาศัยแผนที่ดาว กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์

ดาวพลูโต อยู่ในกลุ่มดาวงู มีโชติมาตร 14 ต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์ขนาด 8 นิ้วขึ้นไปและแผนที่ดาวแบบละเอียดช่วยในการระบุตำแหน่ง

ดวงจันทร์ สองสัปดาห์แรกของเดือนเป็นช่วงข้างขึ้น จึงเห็นดวงจันทร์ปรากฏเป็นเสี้ยวบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำ ดวงจันทร์อยู่เหนือดาวอังคารกับดาวเสาร์ในวันที่ 1 มิถุนายน จากนั้นสว่างครึ่งดวงในวันที่ 4 มิถุนายน ขณะอยู่ในกลุ่มดาวสิงโต ผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีในคืนวันที่ 8 มิถุนายน และเพ็ญเต็มดวงในคืนวันที่ 11/12 มิถุนายน

เมื่อเข้าสู่ข้างแรม ดวงจันทร์จะมีด้านสว่างลดลงจนกระทั่งเหลือครึ่งดวงในวันที่ 18 มิถุนายน ผ่านใกล้กระจุกดาวลูกไก่กับดาวศุกร์ในวันที่ 23 มิถุนายน ก่อนจะเข้าสู่วันเดือนดับในวันที่ 25 มิถุนายน แล้วกลับมาให้เห็นในเวลาหัวค่ำเมื่อเข้าสู่ข้างขึ้นอีกครั้ง โดยอยู่ใกล้ดาวพุธในค่ำวันที่ 27 มิถุนายน และใกล้ดาวอังคารกับดาวเสาร์ในวันที่ 28 มิถุนายน



ดาวอังคารอยู่เคียงดาวเสาร์ในค่ำวันที่ 18 มิถุนายน ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวศุกร์และกระจุกดาวลูกไก่ในเช้ามืดวันที่ 23 มิถุนายน และดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวอังคารกับดาวเสาร์ ในค่ำวันที่ 28 มิถุนายน

ที่มา //thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/planets/index.html




 

Create Date : 02 มิถุนายน 2549    
Last Update : 3 มิถุนายน 2549 2:27:21 น.
Counter : 756 Pageviews.  

วัตถุท้องฟ้าชนิดใหม่ ครึ่งดาวเคราะห์น้อย ครึ่งดาวหาง


วัตถุท้องฟ้าชนิดใหม่ ครึ่งดาวเคราะห์น้อย ครึ่งดาวหาง9 พฤษภาคม 2549
วิมุติ วสะหลาย (wimut@hotmail.com)

ระบบสุริยะเรามีสมาชิกประเภทใหม่อีกประเภทหนึ่งแล้ว จะว่าดาวเคราะห์น้อยก็ไม่ใช่ จะว่าดาวหางก็ไม่เชิง
เฮนรี เซียห์ และเดวิด จีวิตต์ จากมหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ค้นพบและเผยแพร่ลงในวารสารไซนซ์เอกซ์เพรสส์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคมว่า ดาวเคราะห์น้อยชื่อ 118401 หรือ 1999 อาร์อี 70 (1999 RE70) ปล่อยหางออกมาเหมือนดาวหาง หางนี้จางมากจึงวัดสเปกตรัมเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบไม่ได้ แต่จากการศึกษาความเร็วของอนุภาคและระยะเวลาที่หางคงอยู่เชื่อว่าฝุ่นที่พ่นออกมาเป็นหางนั้นคือไอน้ำที่ระเหิดออกมาจากน้ำแข็งบนพื้นผิวดาวเคราะห์น้อย เช่นเดียวกับหางของดาวหางที่มีไอน้ำเป็นส่วนประกอบเหมือนกัน
ความจริงดาวเคราะห์น้อยทำตัวเป็นดาวหางไม่ได้มีแค่ดวงเดียวเท่านั้น ตอนนี้พบไม่น้อยกว่าสามดวงแล้ว อีกสองดวงคือ พี/2005 ยู 1 และ 133 พี/เอลสต์-ปีซาร์โร ทั้งสามดวงนี้เป็นดาวเคราะห์น้อยหลัก หมายความว่าเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลัก ซึ่งอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารกับดาวพฤหัสบดี
วัตถุในระบบสุริยะมักมีน้ำแข็งเป็นเรื่องปกติ แต่วัตถุที่มีน้ำแข็งมากมักอยู่ห่างไกลจากดวงอาทิตย์มาก เช่นวัตถุในแถบไคเปอร์หรือเมฆออร์ต ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพวกดาวหางต่าง ๆ เมื่อวัตถุพวกนี้เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้นจนถึงระยะวงโคจรของดาวพฤหัสบดี น้ำแข็งข้างในก็จะเริ่มระเหิดออกและหลุดลอยออกจากหัว ทอดยาวออกไปเป็นหาง ดังนั้นถ้าวัตถุจำพวกนี้มีวงโคจรถาวรอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อย นำแข็งก็ควรจะระเหิดไปจนหมดนานแล้ว แต่การที่พบว่ายังมีดาวเคราะห์น้อยปล่อยหางอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยจึงเป็นเรื่องแปลก
ครั้นจะคิดว่าลูกครึ่งดาวหางดาวเคราะห์น้อยทั้งสามนี้เคยเป็นวัตถุในวงนอกมาก่อนแล้วต่อมาเบี่ยงเบนเข้ามาอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักด้วยสาเหตุบางอย่างก็ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะวัตถุที่เพิ่งย้ายวงโคจรจากวงนอกเข้ามาวงในจะมีวงโคจรรีมากและไม่เสถียร แต่วัตถุทั้งสามดวงนี้มีวงโคจรเกือบกลมและเสถียรเช่นเดียวกับดาวเคราะห์น้อยหลักทั่วไป
นักดาราศาสตร์เชื่อว่าดาวเคราะห์น้อยสามดวงนี้น่าจะมีต้นกำเนิดอยู่ในแถบหลักนี้เอง และมีน้ำเป็นองค์ประกอบมาตั้งแต่ต้น แต่อยู่ในรูปน้ำแข็งที่ฝังอยู่ในชั้นหินใต้พื้นผิว จึงคงอยู่ได้นานไม่ระเหิดหายไปไหน แต่การที่เราเห็นการระเหิดขึ้นในช่วงนี้อาจเกิดจากการชนกับวัตถุบางอย่าง ทำให้ผิวหน้าแตกออก เผยน้ำแข็งให้รับแสงอาทิตย์ กระบวนการระเหิดจึงได้เกิดขึ้นและปล่อยหางออกมา
เซียห์และจีวิตต์สันนิษฐานว่า บางทีดาวเคราะห์ดวงอื่นในแถบดาวเคราะห์น้อยหลักอาจมีน้ำแข็งมากเช่นเดียวกัน และมองไปถึงว่าดาวเคราะห์น้อยประเภทนี้อาจช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับแหล่งน้ำบนโลกได้
ปริศนาที่ว่าก็คือ ทฤษฎีเกี่ยวกับต้นกำเนิดน้ำบนโลกตามที่นักธรณีวิทยาตั้งไว้อธิบายว่า น้ำบนโลกส่วนใหญ่มาจากดาวหาง เมื่อดาวหางพุ่งชนโลกแต่ละครั้งก็จะเอาน้ำทิ้งไว้บนโลก แต่ทฤษฎีนี้กลับเจอทางตัน เพราะจากการสำรวจกลับพบว่าน้ำแข็งบนดาวหางกับน้ำในมหาสมุทรบนโลกมีอัตราส่วนของของไอโซโทปต่างกันมาก บางทีดาวเคราะห์น้อยพวกนี้อาจให้คำตอบได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่าวงโคจรในอดีตของวัตถุเหล่านี้เป็นอย่างไร และองค์ประกอบของน้ำบนนั้นเป็นอย่างไร
Sky & Telescope News

ที่มาข้อมูล //thaiastro.nectec.or.th/news/2006/news20060501.html




 

Create Date : 01 มิถุนายน 2549    
Last Update : 3 มิถุนายน 2549 2:27:49 น.
Counter : 863 Pageviews.  


XLmen
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีเพื่อนๆ ทุกท่านครับ สำหรับท่านที่มีความสนใจทางด้านดาราศาสตร์ หรือโหราศาสตร์ถ้าสนใจที่จะเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ หรือเสวนาธรรมเชิญได้นะครับยินดีรับใช้เพื่อนๆ ทุกคนครับ
ก้าวแรกสู่การค้นพบ
Friends' blogs
[Add XLmen's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.