ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
กรณีศึกษา : ค่าธรรมเนียมรถติดของมหานครลอนดอน: London Congestion Charge



บทความ : ค่าธรรมเนียมรถติดของมหานครลอนดอน: London Congestion Charge

โดย อาจารย์ ปีดิเทพ อยู่ยืนยง

สมาชิกสมาคมการผังเมืองไทย/ นักเรียนทุนพัฒนาบุคลากรสายวิชาการอาจารย์(ผู้สอน) 

ระดับปริญญาเอกประเภททุนสำหรับบุคคลภายนอกตามความต้องการของคณะนิติศาสตร์ 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อีเมลล์: pedithep.youyuenyong@email.dmu.ac.uk

มหานครขนาดใหญ่ย่อมประกอบไปด้วยพื้นที่ชุมชนเมืองที่ไม่เพียงจะต้องถูกออกแบบหรือวางผังเมืองให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้พอต่อความต้องการของประชาชนที่อาศัยหรือมีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองแต่มหานครขนาดใหญ่ยังจะต้องถูกออกแบบมาให้รองรับกับผู้คนที่เดินทางมาจากทั่วทุกสารทิศเพื่อประกอบกิจกรรมทางด้านธุรกิจ พาณิชยกรรม อุตสาหกรรม สังคม วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

แม้ว่าประชาชนโดยทั่วไปจะมีเสรีภาพในการเดินทางจากสถานที่แห่งหนึ่งไปยังสถานที่อีกแห่งหนึ่ง(freedom of movement) โดยวิธีการต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเดินทางโดยขนส่งสาธารณะและการเดินทางโดยใช้ยานพาหนะส่วนตัว แต่ทว่าการ ที่ รัฐหรือท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษระดับมหานครปล่อยให้ประชาชนสามารถใช้ยวดยานพาหนะส่วนตัวโดยไม่จำกัดหรือไร้กลไกมาควบคุมปริมาณยวดยานพาหนะของประชาชนแล้วย่อมอาจทำให้พื้นที่ชุมชนเมืองขนาดใหญ่มีการจราจรที่แออัด (Urban Traffic Congestion) อันอาจนำมาซึ่งปัญหาและผลกระทบในด้านลบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและสิ่งแวดล้อม หากปล่อยให้ประชาชนสามารถนำยานพาหนะส่วนตัวมาเดินทางในพื้นที่ชุมชนเมืองได้อย่างอิสระ เช่นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถโดยสารส่วนบุคคลมลพิษทางเสียงที่เกิดจากการใช้งานรถยนต์อันก่อให้เกิดสภาวะที่มีเสียงรบกวนและการไร้ซึ่งความสะดวกในการเคลื่อนย้ายยานพาหนะติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยในกรณีมีประชาชนต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนให้ทันท่วงทีกับสาธารณะภัยที่กำลังจะเกิดหรือได้เกิดขึ้นมาแล้วเป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับการจัดการจราจรในพื้นที่ชุมชนเมือง การวางผังเมืองการจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมืองและนักเศรษฐศาสตร์ จึงพยายามแสวงหามาตรการเท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนมาบังคับใช้กับประชาชนที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ชุมชนเมืองขนาดใหญ่หรือมหานครขนาดใหญ่หากประชาชนที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่มหานครขนาดใหญ่ประสงค์ที่จะนำยานพาหนะส่วนตัวมาสัญจรในพื้นที่การจราจรบริเวณมหานครขนาดใหญ่

มหานครลอนดอน (GreaterLondon) ถือเป็นมหานครหนึ่งซึ่งเผชิญกับปัญหาการจราจรติดขัดหรือรถติดมาเป็นเวลาช้านานนั้นอาจะเป็นเพราะมหานครลอนดอนเป็นเมืองที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศเพราะความที่ลอนดอนเป็นศูนย์กลางทางราชการของประเทศประกอบกับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของโลกและเป็นสถานที่ตั้งของสำนักงานทางธุรกิจและห้างร้านขนาดต่างๆเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนจากภายในประเทศที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดหรือผู้คนจากทั่วโลกอยากมาติดต่อราชการ ท่องเที่ยวติดต่อทางธุรกิจและใช้บริการจากสถานบันเทิงหรือห้างร้านต่างๆในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมือง

นอกจากนี้ การที่ลอนดอนมีพื้นที่ชุมชนเมืองและมีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในจำนวนที่จำกัดทำให้มหานครลอนดอนจึงต้องพยายามแสวงหาแนวทางหรือมาตรการที่อำนวยประโยชน์ต่อทั่วผู้ที่ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวจับจ่ายใช้สอย ติดต่อธุรกิจ และติดต่อราชการในมหานครลอนดอนได้ในขณะเดียวกันแนวทางหรือมาตรการดังกล่าวต้องส่งผลดีต่อการจัดการพื้นที่ชุมชนเมืองในระยะยาวกับได้สัดส่วนกับผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตชาวลอนดอนและสิ่งแวดล้อมของมหานครลอนดอนที่จะต้องสูญเสียไปเพียงเพื่อแลกกับความสะดวกสบายในการสัญจรด้วยยวดยานพาหนะไปมาในพื้นที่ชุมชนเมืองมหานครลอนดอนของผู้ที่มาจากต่างถิ่น

ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงได้พยายามแสวงหาแนวทางที่สร้างสมดุล (balance) ระหว่างการใช้เสรีภาพของประชาชนในการเดินทางเข้ามาจับจ่ายใช้สอยท่องเที่ยวและพบปะติดต่อธุรกิจในพื้นที่ชุมชนเมืองกับความรับผิดชอบของประชาชนหากประชาชนที่นำเอารถยนต์หรือยานพาหนะอื่นๆ ที่อาจปล่อยมลพิษได้มาใช้งานในพื้นที่ชุมชนเมืองอันทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองเกิดความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้งานยานพาหนะดังกล่าวและมหานครลอนดอนอันเป็นท้องถิ่นในรูปแบบพิเศษ (ระดับเทศมลฑลขนาดใหญ่) จำต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับระวังภัยกับป้องกันผลกระทบอันเนื่องมาจากการนำเอายวดยานพาหนะที่สามารถก่อมลพิษทางเสียและมลพิษทางอากาศจากการนำเอามาสัญจรในพื้นที่ชุมชนเมืองรวมไปถีงอาจทำให้พื้นที่ชุมชนเมืองมีการจราจรที่แออัดมากยิ่งขึ้นอันส่งผลเสียต่อทั้งผู้ที่อาศัยอย่ในพื้นที่มหานครลอนดอนและผู้ที่เข้ามาสัญจรในพื้นที่ลอนดอนเป็นการชั่วคราว

รัฐบาลอังกฤษได้พยายามหาแนวทางต่างๆ มาสร้างสมดุลดังกล่าวในเวลาต่อมาศาสตราจารย์ Reuben JacobSmeed นักสถิติการจราจรและนักวิจัยด้านการจราจรของอังกฤษได้ทำการศึกษาวิจัยข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการจราจรและข้อแนะนำที่นำไปสู่การจัดทำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมและการจราจรที่สำคัญในเวลาต่อมาศาสตราจารย์ Reuben ได้เสนอเอกสารวิจัยเรื่อง "Road Pricing: The Economic and Technical Possibilities"หรือเรียกสั้นๆว่า "Smeed Report" รายงานฉบับนี้ได้นำเสนอหลักการของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการใช้งานถนนในพื้นที่ชุมชนเมือง(road pricing) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการใช้งานทางด่วนพิเศษหรือการใช้งานพื้นที่ชุมชนเมืองที่มีปัญหารถติดบ่อยๆประชาชนที่ต้องการใช้งานพื้นที่เช่นว่านี้เป็นพิเศษหรือประชาชนที่เดินทางมาจากต่างถิ่นที่สร้างภาระให้กับผู้ที่เดินทางสัญจรเป็นประจำในพื้นพื้นที่ดังกล่าวและสร้างภาระให้มหานครขนาดใหญ่อย่างเช่นลอนดอนย่อมต้องเสียค่าธรรมเนียมจากการกระทำกันอาจสร้างผลกระทบให้กับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมืองหรือสร้างภาระให้กับมหานครในการจัดการจราจรและสภาวะแวดล้อมบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองจากการเผชิญปัญหาด้านรถติด

ด้วยแนวความคิดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดหรือค่าธรรมเนียมการนำยานพาหนะส่วนตัวเข้ามาในมหานครลอนดอนจากการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์ท่านดังกล่าว ในเวลาต่อมารัฐบาลอังกฤษจึงได้พยายามนำเอาหลักจากการศึกษาวิจัยมากำหนดยุทธศาสตร์และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ด้านการจราจรและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญผ่าน "โครงการ Central LondonCongestion Charging Scheme" หรือ"โครงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในมหานครลอนดอน"โดยรัฐบาลอังกฤษได้ทำการปฏิรูปกฎหมายบริหารจัดการผังเมืองและกฎหมายควบคุมการจราจรบนท้องถนนได้แก่ กฎหมาย Road Traffic ReductionAct 1997 อันมีวัตถุประสงค์ให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจราจรในการลดความแออัดของรถยนต์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนน กับ กฎหมาย Greater London Authority Act 1999อันมีวัตถุประสงค์ให้อำนาจแก่เทศบาลลอนดอนอันเป็นเทศบาลมหานครขนาดใหญ่ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดแล้วนำเอาค่าธรรมเนียมจากการจัดเก็บมาบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมสรรค์สร้างและสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติในมหานครลอนดอนการกำหนดวัตถุประสงค์ของกฎหมายทั่วสองฉบับนี้ย่อมส่งผลดีอย่างยิ่งยวดต่อการบริหารจัดการผังเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจราจรในเวลาต่อมาเพราะกฎหมายทั้งสองฉบับได้สถาปนาอำนาจของท้องถิ่นให้ท้องถิ่นมีโอกาสใช้อำนาจและกลไกที่รัฐได้มอบให้มาบริหารจัดการจราจรและมีอำนาจในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมาชดเชยความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและผังเมืองกันเนื่องมาจากการใช้เสรีภาพการเดินทางของผู้คนที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองเข้ามาเดินทางในพื้นที่ชุมชนเมืองเป็นการชั่วคราวโดยบุคคลที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ชุมชนเมืองมีสิทธิที่จะนำเอายวดยานพาหนะที่สามารถสร้างปัญหารถติดในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองได้และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมืองแต่ต้องแลกกับการจ่ายค่าธรรมเนียมรถติดที่ท้องถิ่นมีหน้าที่ในการจัดเก็บตามอำนาจที่ได้รับจากกฎหมายทั่งสองฉบับที่ได้กล่าวเอาไว้ในข้างต้น


รูปที่ 1: แผนที่แสดง "พื้นที่ London Inner Ring Road" หรือ"พื้นที่ถนนวงแหวนชั้นในมหานครลอนดอน" ซึ่งหากบุคคลใดนำรถโดยสารมาสัญจรในบริเวณพื้นที่ชุมชนเมืองระหว่างช่วงเวลา7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นของวันธรรมดาย่อมต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรถติดให้กับมหานครลอนดอนตามอัตราที่มหานครลอนดอนได้กำหนดเอาไว้

อ้างอิง: Transport for London,Seeking your views about proposed changes to the Congestion Charging Scheme,https://consultations.tfl.gov.uk/roads/congestioncharging


อนึ่ง ด้วยการบังคับใช้กฎหมายทั้งสองฉบับผ่านการปฏิบัติงานตามยุทธศาสตร์ของ"โครงการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในมหานครลอนดอน"ทำให้มหานครลอนดอนจำต้องจัดวางผังเมืองให้สอดคล้องกับกลไกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดมหานครลอนดอนจึงได้วางผังเมือง โดยกำหนด "พื้นที่ London Inner Ring Road" หรือ"พื้นที่ถนนวงแหวนชั้นในมหานครลอนดอน"ให้เป็นพื้นที่พิเศษที่มหานครลอนดอนมีอำนาจจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดได้(จัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดระหว่างช่วงเวลา 7 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นยกเว้นวันเสาร์อาทิตย์ที่การจราจรเบาบางและวันหยุดราชการที่มหานครลอนดอนอนุโลมให้สามารถนำรถยนต์มาวิ่งได้)เหตุผลที่มหานครลอนดอนได้กำหนดให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่จัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดนั้นก็เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหารถติดพื้นที่ชุมชนเมืองในชั่วโมงเร่งด่วนหากมหานครอนุญาตให้ยวดยานพาหนะวิ่งกันอย่างอิสระโดยปราศจากกลไกการควบคุมย่อมทำให้ปริมาณรถยนต์ในพื้นที่ชุมชนเมืองมีมากและก่อให้เกิดผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนเมืองการลำเลียงผู้ป่วยที่ต้องการการจราจรที่คล่องตัวสูงในพื้นที่ชุมชนเมืองการบรรเทาสาธารณะภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองที่ต้องการความสะดวกในการลำเลียงอุปกรณ์ป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยและการกระตุ้นให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในมหานครลอนดอนกับผู้คนที่เดินทางเข้ามาประกอบกิจกรรมต่างๆในมหานครลอนดอน หันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะแทนที่จะเลือกใช้ยานพาหนะส่วนตัวเข้ามาสัญจรในพื้นที่ชุมชนเมืองระดับมหานครขนาดใหญ่


รูปที่ 2: ป้ายแสดงว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็น"พื้นที่ถนนวงแหวนชั้นในมหานครลอนดอน"มหานครลอนดอนจะติดตั้งป้ายนี้บริเวณรอบพื้นที่วงแหวนชั้นในมหานครลอนดอนทำให้เป็นการเตือนให้ผู้นำรถเข้ามาสัญจรภายในพื้นที่ดังกล่าวต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรถติด

อ้างอิง: Transport for London,Congestion Charge, https://www.tfl.gov.uk/modes/driving/congestion-charge


สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมนั้น ผู้คนที่ต้องการนำเอารถโดยสารส่วนบุคคลเข้ามาสัญจรในบริเวณ "พื้นที่ถนนวงแหวนชั้นในมหานครลอนดอน"ต้องเสียค่าธรรมเนียมรถติดเป็นจำนวนเงินถึงสิบปอนด์ (£11.50) หรือตกเป็นเงินไทยประมาณห้าร้อยบาทต่อวันซึ่งหากผู้ใดไม่ได้นำรถโดยสารส่วนบุคคลออกจากพื้นที่ชุมชนเมืองนอกเหนือเวลาจากที่ได้รับอนุญาตให้นำรถยนต์เข้ามาในพื้นที่ชุมชนเมืองดังกล่าวผู้นั้นย่อมต้องเสียค่าปรับเป็นจำนวนเงินถึงหนึ่งร้อยสามสิบปอนด์ (£130) หรือตกเป็นเงินไทยประมาณหกพันหน้าร้อยบาท


รูปที่ 3: ตู้ชำระค่าธรรมเนียมรถติดที่มหานครลอนดอนติดตั้งไว้บริเวณรอบๆ พื้นที่ชุมชนเมืองชั้นในหรือบริเวณสถานีขนส่งสาธารณะทำให้ผู้นำรถเข้ามาจอดหรือนำรถเข้ามาใช้งานในพื้นที่ชุมชนเมืองขั้นในของลอนดอนสามารถจ่ายค่าธรรมเนียมรถติดได้โดยง่ายเมื่อได้ตั๋วชำระค่าธรรมเนียมรถติดมาจากตู้ชำระค่าธรรมเนียมแล้วต้องเอาไปติดไว้บริเวณกระจกหน้ารถยนต์ เพื่อให้ง่ายต่อการตรวจของเจ้าพนักงานบังคับจราจรหากผู้ใดไม่ได้ติดตั๋วชำระค่าธรรมเนียมเอาไว้เจ้าพนักงานบังคับจราจรก็จะออกใบสั่งให้ไปชำระค่าปรับ

อ้างอิง: BBC News, Congestioncharge cuts traffic levels, //news.bbc.co.uk/1/hi/england/2772583.stm


สำหรับในประเทศนั้น ในบรรดานักการเมืองหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคม แวดวงวิชาการนโยบายสาธารณะด้านผังเมืองและประชาชนทั่วไป ได้ถกเถียงกันมาเป็นเวลานานแล้วว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะนำเอามาตรการทางเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจราจรบนท้องถนนและมาตรการทางเศรษฐศาสตร์ด้านผังเมืองมาปรับใช้กับประเทศไทยที่ยังขาดปัจจัยหลายประการมาส่งเสริมและสนับสนุนให้การบังคับใช้มาตรฐานดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพตัวอย่างเช่น ทัศนคติของผู้คนในสังคมเกี่ยวกับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดการขัดต่อเสรีภาพการเดินทางของประชาชนในต่างจังหวัดที่ต่อการเดินทางเข้ามายังกรุงเทพมหานครการสูญเสียประโยชน์จากกลุ่มอิทธิพลกับกลุ่มผลประโยชน์ในธุรกิจอุตสาหกรรมรถยนต์โดยสารส่วนบุคคลปริมาณและความปลอดภัยของสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จะมารองรับการเดินทางในชีวิตประจำวันของประชาชนโดยทั่วไปและวัฒนธรรมการใช้รถยนต์ของคนไทย เป็นต้น

จึงอาจเป็นการยากที่จะทำให้ทัศนคติและเจตคติของประชาชนคนไทยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวกับผังเมืองจราจรเป็นไปในแนวทางเดียวกันในเรื่องของการผังเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเติบโตของชุมชนเมืองที่ชาญฉลาดแต่ทว่าเมื่อพลวัตรของมาตรฐานคุณภาพชีวิตประชาชนทั่วโลกเปลี่ยนไปการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ผังเมืองและเศรษฐศาสตร์จราจรที่เพิ่มมากขึ้นและมุมมองของผู้คนทั่วไปต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมผังเมืองที่มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้นก็อาจทำให้มีการตระหนักถึงความสำคัญของการนำเอากลไกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดมาบังคับใช้ในอนาคต

เอกสารอ้างอิง

Hill, P., (1993). ‘Roadcongestion pricing: when is it a good policy? A comment’, Journal of TransportEconomics and Policy, vol.27, pp.91-98.

Jones, P., (1991), UKPublic Attitudes to urban traffic problems and possible countermeasures: pollof polls. Environment and Planning C: Government and Policy 9, pp 245-256.

Jones, P., (2002),Alternatives to Congestion Charging, published proceedings of a seminar held bythe Transport Policy Committee of the Greater London Authority.

MVA (1995), The LondonCongestion Charging Research Programme, Final Report, Volume 1, Government Office for London, HMSO:London.

Smeed, R.J., (1964), RoadPricing: The Economic and Technical Possibilities, (The Smeed Report), HMSO,London.

นโยบายสาธารณะและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

Transport for London,Congestion Charge, available fromhttps://www.tfl.gov.uk/modes/driving/congestion-charge

The National Achieves,Road Traffic Reduction Act 1997, available from//www.legislation.gov.uk/ukpga/1997/54/contents

The National Achieves,Greater London Authority Act 1999, available from //www.legislation.gov.uk/ukpga/1999/29/contents

ท่านใดสนใจ แนวความคิด Smarth Growth (การวางผังเมืองพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนตามแนวทางการเติบโตอย่างชาญฉลาด)เข้าไป กด like fanpage ตามลิ้งก์ Facebook นี้ครับ //www.facebook.com/smartgrowththailand

อ่านบทความ “ย้อนหลัง” ลิ้งก์ตามที่อยู่ด้านล่างนี้(เพื่อจะได้รับทราบข้อมูล “ผังเมือง” ในระดับโลกเค้าไปถึงไหนกันแล้ว //www.oknation.net/blog/smartgrowth




Create Date : 24 กันยายน 2557
Last Update : 24 กันยายน 2557 20:11:34 น. 0 comments
Counter : 1800 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.