สมาคมคนไทยใน Eskilstuna
 

ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง ตั้งอยู่บนคาบสมุทรสแกนดิเนเวียทางตอนเหนือของทวีปยุโรป ทิศเหนือติดกับประเทศนอร์เวย์และฟินแลนด์ ทิศตะวันออกติดกับอ่าวบอทเนีย ทิศใต้ติดกับทะเลบอลติก ทิศตะวันตกติดกับประเทศนอร์เวย์

พื้นที่ 486,601 ตารางกิโลเมตร
ประชากร 8.9 ล้านคน กลุ่มชนชาติ ชาวซอมิ (แลปป์) เป็นชนพื้นเมืองกลุ่มน้อยประมาณ 15,000 คน
ภาษา ภาษาสวีเดนเป็นภาษาราชการ นอกจากนี้ ใช้ภาษาซอมิและภาษาฟินแลนด์เป็นส่วนน้อย
ศาสนา ร้อยละ 80 นับถือศาสนาคริสต์นิกาย Lutheran State Church
เมืองหลวง กรุงสตอกโฮล์ม (Stockholm)
สกุลเงิน Swedish Krona (SEK) อัตราแลกเปลี่ยน 1 โครน ประมาณ 5.00 บาท 9 โครน ประมาณ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
วันชาติ 6 มิถุนายน
ระบบการเมือง ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาเดียว โดยมีกษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ

ซึ่งสวีเดนมีรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป ประกอบด้วยกฎหมายขั้นมูลฐาน รวม 4 ฉบับ เริ่มใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1809

ประมุขสมเด็จพระราชาธิบดีคาร์ลที่ 16 กุสตาฟ (King Carl XVI Gustaf)
นายกรัฐมนตรี นาย Goran Persson (21 มีนาคม ค.ศ. 1996)
รัฐมนตรีต่างประเทศ นาง Laila Freivalds (10 ตุลาคม ค.ศ. 2003)

สถาบันการเมือง ระบบรัฐสภาใช้ระบบสภาเดียว (Unicameral) เรียกว่า “รีคสด๊าก” (Riksdag) ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง 349 คน มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐสภาต้องได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 4 จากการลงคะแนนเสียงทั่วประเทศ ประธานรัฐสภาเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรี สำหรับฝ่ายตุลาการแยกเป็นอิสระจากฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

ขอบคุณเว็ปบ้านไทยเอื้อเฟื้อข้อมูล




 

Create Date : 21 มกราคม 2550    
Last Update : 10 เมษายน 2550 16:32:59 น.
Counter : 1695 Pageviews.  

ความสัมพันธ์ของสวีเดนและไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับราชอาณาจักรสวีเดน

1. ความสัมพันธ์ทางการทูต
ไทยกับสวีเดนได้มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน นับตั้งแต่ที่ไทยกับสวีเดนได้ทำสนธิสัญญาทางไมตรี การพาณิชย์และการเดินเรือ (The Treaty of Friendship, Commerce and Navigation of 1868) เมื่อปี 2411 (ค.ศ. 1868) และนับตั้งแต่ปี 2425 (ค.ศ. 1882) เป็นต้นมา ไทยได้แต่งตั้งอัครราชทูตประจำประเทศในยุโรป ให้ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวีเดนด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง อาทิ หม่อมเจ้าปฤษฎางค์ ชุมสาย อัครราชทูตประจำกรุงลอนดอน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวีเดนคนแรก ในปี 2487 (ค.ศ. 1944) ได้มีการเปิดสถานอัครราชทูตฯ ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงสตอกโฮล์มในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ต่อมาในปี 2497 (ค.ศ. 1954) ไทยได้ปิดสถานอัครราชทูตฯ และให้อัครราชทูต ณ กรุงโคเปนเฮเกน ดำรงตำแหน่งอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวีเดน จนกระทั่งปี 2502 (ค.ศ. 1959) ไทยกับสวีเดนได้ยกฐานะความสัมพันธ์ระหว่างกันขึ้นเป็นระดับเอกอัครราชทูตฯ โดยที่สถานเอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศพม่า กัมพูชา และลาว ต่อมาในปี 2506 (ค.ศ. 1963) ไทยได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตฯ ขึ้นที่กรุงสตอกโฮล์มและปัจจุบันมีเขตอาณาครอบคลุมประเทศฟินแลนด์และเอสโตเนีย
เอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศสวีเดนคนปัจจุบัน คือ นายอภิชาติ ชินวรรโณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงสตอกโฮล์ม มีที่อยู่ คือ Royal Thai Embassy,Floragatan 3 , Box 26220, 10040 Stockholmม Tel 46-087917340 Fax 46-087917351
เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทยคนปัจจุบัน คือ นายยูนัส ฮาฟสเตริม (Mr. Jonas Hafstrom) เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2547

ล่าสุด ทางการสวีเดนได้เปิดสถานกงสุลใหญ่สวีเดนประจำจ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2548 เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนแก่ผู้ประสบภัยชาวสวีเดนจากเหตุการณ์ภัยพิบัติธรรมชาติจากคลื่นยักษ์บริเวณ
จังหวัดภาคใต้ของไทย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 และขณะนี้ ทางการไทยกำลังอยู่ในขั้นตอนของการให้ความเห็นชอบต่อการแต่งตั้งกงสุลใหญ่สวีเดนประจำจ.ภูเก็ต ตามข้อเสนอของทางการสวีเดน

ประเทศไทยได้มีกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยประจำประเทศสวีเดนมาตั้งแต่ปี 2431(ค.ศ. 1888) โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแต่งตั้งนาย Axel Johnson เป็นกงสุลสยามคนแรกประจำประเทศ
สวีเดนเมื่อปี 2426 (ค.ศ. 1883) และหลังจากนั้นครอบครัว Johnson ได้ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ไทยต่อมาเป็นเวลา 4 ชั่วอายุคน ปัจจุบันนาง Viveca Ax:son

Johnsonดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่กิตติมศักดิ์ไทยประจำกรุงสตอกโฮล์มคนใหม่สืบแทนนาย Bo Axelson Johnson บิดา ซึ่งถึงแก่กรรมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 (ค.ศ. 1997) นอกจากนี้แล้ว ฝ่ายไทยยังได้แต่งตั้งนาง Frances Broman ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำกรุงสตอกโฮล์ม
ปัจจุบันสวีเดนมีสถานกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำประเทศไทย จำนวน 3 แห่ง คือ

1. สถานกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนประจำจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ วันที่ 2 พฤษภาคม 2534 (ค.ศ. 1991) โดยมีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ
10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และอุตรดิตถ์ โดยมีนายวรกิจ กัณฑะกาลังค์ เลขาธิการสมาคม YMCA จังหวัดเชียงใหม่ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ และล่าสุด กงสุลกิติมศักดิ์สวีเดนประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งในขณะนี้ ทางการสวีเดนกำลังพิจารณาสรรหาบุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนี้อยู่
2. สถานกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนประจำเมืองพัทยา ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2536 (ค.ศ. 1993) มีเขตอาณาครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ปัจจุบันนายแพทย์สัญญา วีระไวทยะ ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนประจำเมืองพัทยา ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2547 สืบแทนนายสติก วากต์-แอนเดอร์เซน (Mr. Stig Vagt-Andersen) ชาวเดนมาร์ก ผู้อำนวยการ และหุ้นส่วนของบริษัทท่องเที่ยว Ben Adisti Co. Ltd. ซึ่งได้ขอลาออกจากตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนฯ
3. สถานกงสุลกิตติมศักดิ์สวีเดนประจำจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเปิดทำการตั้งแต่ วันที่ 23 พฤศจิกายน 2539 (ค.ศ.1996) โดยมีนายวิจิตร ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งกงสุลกิตติมศักดิ์ฯ
เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2542 ได้มีพิธีเปิดอาคารพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ เมือง Bispgarden เขต Ragunda มณฑล Jamtland เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสครบรอบ 100 ปี แห่งการเสด็จพระราชดำเนินเยือนหมู่บ้าน Utanede เมือง Bispgarden เมื่อวันที่19 กรกฎาคม 2440 (The Thai Pavilion as memorial to the 100th anniversary of the Royal Visit to Bispgarden of H.M. King Rama V in 1897) ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในสวีเดนประมาณ 12,000 คน และมีวัดไทย คือ วัดพุทธาราม

ขอบคุณเว็ปบ้านไทยเอื้อเฟื้อข้อมูลค่ะ




 

Create Date : 21 มกราคม 2550    
Last Update : 21 มกราคม 2550 4:28:02 น.
Counter : 1478 Pageviews.  

การต่างประเทศและเศรษฐกิจการค้า

การต่างประเทศ

การสิ้นสุดของยุคสงครามเย็นและการแบ่งแยกทางการเมืองในยุโรป ทำให้ช่วงทศวรรษ 1990 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายต่างประเทศและความมั่นคงของสวีเดน โดยสวีเดนได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมในกระบวนการรวมตัวของยุโรปตะวันตก ซึ่งสวีเดนได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (European Union - EU) เมื่อปี ค.ศ.1991 และได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1995 โดยได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนในการลงประชามติเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1994 ถึงร้อยละ 52.3 และในฐานะของสมาชิกสหภาพยุโรป สวีเดนจะยังธำรงไว้และจะไม่เป็นพันธมิตรทางการทหาร

โดยสวีเดนจะไม่พิจารณาเข้าร่วมเป็นพันธมิตรทางการป้องกันใด ๆ ของสหภาพยุโรป นอกจากนี้ สวีเดนเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association - EFTA) เมื่อปีค.ศ. 1960
อย่างไรก็ดี ภายหลังที่สวีเดนเข้าเป็นสมาชิก EU ในปี ค.ศ.1995 ก็มิได้เป็นสมาชิกของ EFTA อีกต่อไป และสวีเดนยังเป็นประเทศสมาชิกคณะมนตรีกลุ่มนอร์ดิก (Nordic Council) และเข้าร่วมในโครงการพันธมิตรเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace - PFP) ขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) บทบาทด้านการต่างประเทศของสวีเดนมีความโดดเด่นมากขึ้น เมื่อสวีเดนได้เข้าเป็นประธานสหภาพยุโรป
ระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน ค.ศ.2001 (EU Presidency) โดยสวีเดนได้มุ่งเน้นความสำคัญในประเด็นด้าน
การขยายสมาชิกภาพ (enlargement)การจ้างงาน (employment) และสิ่งแวดล้อม (environment) หรือเรียกโดยย่อว่า
นโยบาย 3Es

เศรษฐกิจการค้า

สวีเดนเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรปโดยมีพื้นที่ 486,601 ตารางกิโลเมตร
แต่มีประชากรเพียง 8.9 ล้านคน จึงทำให้สวีเดนมีตลาดภายในขนาดเล็กและ มีระบบเศรษฐกิจแบบพึ่งพาการส่งออก
โดยในปี ค.ศ. 2002 รายได้จากการส่งออกมีมูลค่าร้อยละ 40 ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) และมากกว่าร้อยละ 80 ของสินค้าออกเป็นสินค้าอุตสาหกรรม โดยมีทั้งอุตสาหกรรมดั้งเดิมได้แก่ อุตสาหกรรมป่าไม้และเหล็ก และอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง อาทิ อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ อากาศยาน โทรคมนาคม การผลิตอาวุธ
และการผลิตเวชภัณฑ์ สาเหตุที่สำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้สวีเดนมีความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง

เนื่องจากบริษัทของสวีเดนสนับสนุนการลงทุนในด้านการวิจัยและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอัตราที่สูงมาก จึงทำให้บริษัทสวีเดนอยู่ในแนวหน้าของโลก และบริษัทสวีเดนยังมีบทบาทสูงมากในการลงทุนต่างประเทศ ทำให้อัตราการลงทุนต่างประเทศของสวีเดนเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรหรือต่อผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ
สูงที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งของเศรษฐกิจสวีเดน คือ ภาครัฐบาลมีบทบาทมากในเศรษฐกิจภาคบริการ การขยายเศรษฐกิจภาครัฐบาลเป็นการสร้างงานใหม่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่งงานสำหรับสตรี ตลาดสินค้าออกสำคัญที่สุดของสวีเดนอยู่ในยุโรปตะวันตก มากกว่าครึ่งหนึ่งของสินค้าออกส่งไปยังสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศนอร์ดิก ซึ่งประกอบด้วย เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ ฟินแลนด์ และนอร์เวย์ กลุ่มประเทศดังกล่าวนำเข้าสินค้าจากสวีเดนหนึ่งในห้าของปริมาณการส่งออกทั้งหมด

การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจเป็นผลมาจากประสิทธิภาพการผลิตที่ตกต่ำและอัตราเงินเฟ้อที่สูงในช่วงทศวรรษ 1980 รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจ อาทิ การปรับปรุงโครงสร้างภาษีใหม่เพื่อกระตุ้นให้มีการออมและการจ้างงานเพิ่มขึ้น นโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การที่สวีเดนสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU) ในปี ค.ศ. 1995 นอกจากนั้นรัฐบาลได้ออกกฎหมายป้องกันการผูกขาด (Competition Act) และได้ยกเลิกกฎระเบียบที่ไม่สนับสนุนการค้าเสรี รวมทั้งปรับปรุงระบบการประกันสังคมและระบบบำนาญใหม่ นโยบายการคลัง ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อรายได้ภาครัฐบาล ในปี ค.ศ. 1989

ภาครัฐบาลมีรายรับเกินรายจ่ายร้อยละ 5.4 ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ ซึ่งจัดว่าต่ำสุดในกลุ่มประเทศ OECD ในปี ค.ศ. 1993 รัฐบาลขาดดุลงบประมาณถึงร้อยละ 12.3 ของผลผลิมวลรวมในประเทศ ซึ่งจัดว่าสูงสุดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศ OECD นโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน แต่เดิมค่าเงินโครนาสวีเดนถูกกำหนดไว้ตายตัวเมื่อเทียบกับเงินสกุลสำคัญ แต่ในปี ค.ศ. 1992 ธนาคารชาติสวีเดนจำต้องยกเลิกระบบดังกล่าวและปล่อยให้ค่าเงินโครนาสวีเดนลอยตัว ผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายดังกล่าว ทำให้นโยบายทางการเงินของรัฐบาลต้องเปลี่ยนแปลงไปด้วย ธนาคารชาติในปัจจุบันมีภารกิจหลัก คือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกินร้อยละ 2 ต่อปี
ปัญหาแนวทางด้านเศรษฐกิจที่สำคัญในปัจจุบัน คือ สวีเดนควรเข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจและการเงิน (EMU) ของสหภาพยุโรปในขั้นตอนของการใช้เงินสกุลเดียว (single currency) ในช่วงเวลาใด ซึ่งสวีเดนได้ตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วม EMU ในกลุ่มประเทศแรก ในปี ค.ศ. 1999 แม้ว่า ระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจจะผ่านเกณฑ์ทางเศรษฐกิจ(convergence criteria) ที่สหภาพยุโรปกำหนดไว้ก็ตาม

ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ.2003 รัฐบาลสวีเดนได้จัดการลงประชามติตัดสินใจว่า สวีเดนจะเข้าร่วมการใช้เงินสกุลเดียว (เงินยูโร –euro) หรือไม่ ผลปรากฏว่า มีประชาชนไปลงประชามติร้อยละ 81.2 โดยร้อยละ 56.1 ลงคะแนนเสียง : ไม่เห็นด้วยให้สวีเดนเข้าร่วมการใช้เงิน euro ขณะที่ร้อยละ 41.8 ลงคะแนนเสียง : เห็นด้วย และร้อยละ 1.9 ไม่ตัดสินใจ

ดรรชนีทางเศรษฐกิจ

1 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) : 230.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ GDP ต่อหัว : 26,000 ดอลลาร์สหรัฐ
2 งบประมาณ : เกินดุล 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
3 รายได้/รายจ่าย : 119 และ 110 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
4 International reserve : 178 ล้านโครนสวีเดน
5 อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ : ร้อยละ 1.9
6 อัตราเงินเฟ้อ : ร้อยละ 2.2
7 อัตราการว่างงาน : ร้อยละ 4 (จำนวนแรงงาน 4.4 ล้านคน)
8 ดุลการค้า : ได้ดุล 6.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
9 นำเข้า/ส่งออก : 96 และ 89.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
10 หนี้ต่างประเทศ : 66.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
11 เงินให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ (ODA) : 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
12 ประเทศคู่ค้าสำคัญ : เยอรมนี สหราชอาณาจักร เดนมาร์ก ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ฟินแลนด์ นอร์เวย์
13 สินค้าเข้าสำคัญ : น้ำมัน รถยนต์ เครื่องจักร พลังงาน และเสื้อผ้า
14 สินค้าออกสำคัญ : ไม้ เยื่อกระดาษ กระดาษรถยนต์ รถบรรทุก เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้าและโทรคมนาคม ผลิตภัณฑ์เคมี เหล็กและเหล็กกล้า




 

Create Date : 21 มกราคม 2550    
Last Update : 21 มกราคม 2550 4:26:54 น.
Counter : 732 Pageviews.  

การเมืองการปกครอง

การเมืองการปกครอง

รัฐสภา นับตั้งแต่ปี ค.ศ.1971 สวีเดนมีรัฐสภา เรียกว่า รีคสด๊าก (Riksdag) เป็นระบบสภาเดียว โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสวีเดนเมื่อปี ค.ศ.1968-1969 ได้ยกเลิกระบบ 2 สภา ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1860 สมาชิกรัฐสภามีจำนวน 349 คน ดำรงตำแหน่งวาระ 4 ปี โดยได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนชาวสวีเดนทุกคนที่มี
อายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาของสวีเดนเป็นการเลือกตั้งในระบบสัดส่วน(proportional representation) ทั้งนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีการกระจายที่นั่งระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ ไปตามสัดส่วนของคะแนนเสียงที่พรรคต่าง ๆ ได้รับทั่วประเทศและป้องกันมิให้เกิดพรรคการเมืองเล็ก ๆ ขึ้นมากมาย พรรคการเมืองที่จะมีสมาชิกในรัฐสภาได้ จะต้องได้รับคะแนนเสียงในการเลือกตั้งทั่วประเทศไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4
รัฐสภาสวีเดนประกอบด้วย ประธานสภา 1 คน และรองประธานสภา 3 คน กรรมาธิการ 15 คณะ สมัยประชุมรัฐสภาจะมีอยู่ประมาณปีละ 8 เดือน โดยจะมีการปิดสมัยประชุมตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน-กันยายน คณะกรรมาธิการจะมีการประชุมทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี ส่วนการประชุมรัฐสภาจะมีทุกสัปดาห์ตั้งแต่วันอังคาร-วันพฤหัสบดี

พรรคการเมือง

พรรคการเมืองที่สำคัญของสวีเดนที่มีที่นั่งในสภาในปัจจุบันมีอยู่ 7 พรรค คือ พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democratic Party) พรรคโมเดอเรท (Moderate Party) พรรคเสรีนิยม (Liberal Party) พรรคเซนเตอร์ (Center Party) พรรคคริสเตียนเดโมแครท (Christian Democratic Party) พรรคกรีน (Green Party) พรรคเลฟท์ (Left Party)

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1998

สำหรับการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 กันยายน ค.ศ.1998 (2541) ปรากฏว่า พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี Goran Persson ยังคงได้รับเลือกตั้งมากที่สุด 131 ที่นั่ง (เมื่อปี ค.ศ.1994 ได้รับเลือกตั้ง 162 ที่นั่ง) อย่างไรก็ตาม แม้ว่า พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยจะไม่ได้รับคะแนนเสียงข้างมากในสภาก็ตาม นายกรัฐมนตรี Persson ก็ได้จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยในสภาและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ค.ศ.1999
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.2002
ผลปรากฏว่า พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยของนายกรัฐมนตรี Goran Persson ยังคงได้รับคะแนนเสียงมากที่สุด 144 ที่นั่ง และได้จัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเสียงข้างน้อยในสภา และนายกรัฐมนตรี Goran Persson ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกัน

การปรับคณะรัฐมนตรีสวีเดน

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2546 สำนักนายกรัฐมนตรีสวีเดนได้ประกาศปรับคณะรัฐมนตรีในบางตำแหน่ง โดยแต่งตั้งให้
นาง Laila Freivalds ( ไลลา ไฟรวัลด์) ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวีเดนคนใหม่สืบแทน
นาง Anna Lindh ซึ่งได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2546 และแต่งตั้งให้นาง Barbro Holmberg ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลกิจการนโยบายผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมือง นาง Carin Jamtin ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีดูแลกิจการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสืบแทนนาย Jan O. Karlsson ซึ่งเป็นรัฐมนตรีดูแลกิจการความร่วมมือเพื่อการพัฒนา นโยบายผู้ลี้ภัยและคนเข้าเมือง กระทรวงการต่างประเทศสวีเดน
ในสมัยที่นาง Anna Lindh ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
(2541-2546) นอกจากนี้ นาง Margareta Winberg รองนายกรัฐมนตรีก็ได้ออกจากตำแหน่งในการปรับคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ด้วยและจะไปดำรงตำแหน่ง
เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำบราซิล ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2546

รัฐบาล

อำนาจทางการเมืองเป็นของรัฐบาลและพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะรัฐมนตรีมีจำนวน 22 คน (เป็นชาย 11 คน หญิง 11 คน) มีนายกรัฐมนตรี 1 คน
ในการจัดตั้งรัฐบาลภายหลังจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ.1998 นายกรัฐมนตรี Persson ได้ปรับปรุงโครงสร้างการบริหารราชการกระทรวงต่าง ๆ ใหม่ ดังนี้
- ยุบกระทรวงการขนส่งและคมนาคม กระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า และกระทรวงมหาดไทย เพื่อรวมกันเป็นกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์
- แบ่งความรับผิดชอบในกระทรวงต่าง ๆ ใหม่ อาทิ สำนักนายกรัฐมนตรีดูแลเรื่องการเป็นประธานสหภาพยุโรปของสวีเดนในปี ค.ศ.2001 กระทรวงการต่างประเทศดูแลเพิ่มเติมนโยบายด้านการค้าและกิจการเกี่ยวกับประเทศในภูมิภาคบอลติก และกระทรวงอุตสาหกรรมและพาณิชย์ ทำหน้าที่หลักในการประสานนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล

การปกครองส่วนท้องถิ่น

ก่อนปี ค.ศ.1971 สวีเดนถูกแบ่งออกเป็น 850 เทศบาล (Kommun) แต่ปัจจุบันได้ลดจำนวนลงเหลือเพียง 288 เทศบาล โดยแต่ละเทศบาลต่างมีสภาที่มาจากการเลือกตั้งอำนาจและหน้าที่ของเทศบาลเกี่ยวข้องกับการให้บริการและการอำนวย
ความสะดวกต่าง ๆ ระหว่างรัฐบาลกลางและเทศบาลมีการปกครองในระดับภูมิภาคประกอบด้วย 24 มณฑล โดยรัฐบาลกลางมีข้าหลวงมณฑลเป็นผู้แทนและมีคณะกรรมการบริหารมณฑล ข้าหลวงมณฑลได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลกลางให้ดำรงตำแหน่งวาระ 6 ปี โดยมักจะคัดเลือกมาจากนักการเมือง แต่บุคคลเหล่านี้จะต้องลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งหน้าที่สำคัญของการบริหารมณฑล
ดำเนินงานโดยคณะกรรมการบริหาร ซึ่งข้าหลวงเป็นประธาน และสมาชิกคณะกรรมการบริหารมณฑลได้รับการแต่งตั้งจากสภามณฑล ภารกิจส่วนใหญ่ของการบริหารมณฑลมีลักษณะเป็นงานส่วนท้องถิ่นเป็นหลัก แต่ละมณฑลมีสภามณฑลที่มาจากการเลือกตั้ง สภานี้มีหน้าที่รับผิดชอบหลักในด้านอนามัยและสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงการให้บริการในโรงพยาบาล การจัดการศึกษาบางประเภทและ การฝึกอาชีพ สภามณฑลมีสิทธิที่จะเก็บภาษีรายได้มาใช้เป็นงบประมาณรายจ่ายได้ นับตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี ค.ศ.1976 คนต่างชาติที่มีถิ่นที่อยู่ในสวีเดนตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปมีสิทธิที่จะออกเสียงเลือกตั้งและสมัครเข้ารับเลือกตั้งระดับท้องถิ่นทั้งในสภาเทศบาลและสภามณฑล

ขอบคุณเว็ปบ้านไทยเอื้อเฟื้อข้อมูลค่ะ




 

Create Date : 21 มกราคม 2550    
Last Update : 21 มกราคม 2550 4:25:49 น.
Counter : 1102 Pageviews.  

 
 

jaruwan_2520
Location :
Eskilstuna Sweden

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




สมาคมคนไทยใน Eskilstuna ได้ทำการจัดตั้งขึ้นเมื่อเดือน มกราคม 2551(2008) โดยการรวมตัวของคนไทยที่อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งในสวีเดน ติดตามต่อไปนะค่ะว่าคนไทยใน Eskilstuna เขาทำอะไรกันมั้งนะค่ะ
Vi startade Thaiförening som heter Mälardarens Eskilstuna Thaiförening i Jaruary 2008 för att du kan ser vad vi göra om thaiförening. Vi ses då!
Mvh.
Jaruwan
[Add jaruwan_2520's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com