เบาหวานขึ้นตา ลดอัตราตาบอดลงได้


ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เบาหวาน
ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่ได้รับการรักษาที่ดี หรือคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี มักจะมีภาวะแทรกซ้อนในอวัยวะต่างๆของร่างกาย ที่พบบ่อยได้แก่ ความผิดปกติที่ไต ตา เส้นประสาทชาปลายมือปลายเท้า อัมพฤกษ์หรืออัมพาต

คุณคงเคยได้ยินคำว่า เบาหวานขึ้นตาหรือเบาหวานเข้าตา กันมาบ้างแล้ว เบาหวานมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตาได้หลายอย่าง ที่พบบ่อยได้แก่ ความผิดปกติทางสายตา ต้อกระจก ต้อหิน และที่เป็นปัญหามากที่สุดในขณะนี้คือ เบาหวานที่จอตา เราจะมาทำความเข้าใจถึงโรคต่างๆทางตาในผู้ป่วยเบาหวานว่าเป็นอย่างไร

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เบาหวาน
ความผิดปกติทางสายตาจากเบาหวาน

ในคนที่เป็นเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดมักไม่คงที่ตลอดเวลา การที่ระดับน้ำตาลในเลือดไม่คงที่ จะทำให้น้ำซึมผ่านเข้าหรือซึมออกนอกเลนส์ตา (เลนส์ตามีลักษณะคล้ายเลนส์นูน) ถ้าน้ำซึมเข้าไปในเลนส์ตา ก็จะทำให้เลนส์ตาบวมขึ้น เปรียบเสมือนเลนส์นูนที่มีการรวมแสงมากขึ้น จะเกิดภาวะคล้ายกับคนสายตาสั้น หรือมองไกลไม่ชัด เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดเปลี่ยนไป ขนาดของเลนส์ตาก็เปลี่ยนไป ทำให้สายตาเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยๆ บางวันเห็นชัด บางวันเห็นไม่ชัด ภาวะนี้ไม่ร้ายแรง แก้ไขให้เห็นชัดได้ด้วยการใส่แว่น


ต้อกระจกจากเบาหวานเหมือนหรือต่างจากต้อกระจกทั่วไป
ต้อกระจกคือการที่เลนส์ตาขุ่น ในสภาพปกติตอนที่ยังหนุ่มสาว เลนส์ตาจะใสแจ๋ว แสงก็สามารถผ่านเข้าไปถึงจอตาได้ง่าย เราจะเห็นภาพชัด แต่ในภาวะต้อกระจก เลนส์ตาจะเปลี่ยนจากใสกลายเป็นขุ่นคล้ายกระจกฝ้าหรือในรายที่เป็นมากๆอาจทึบจนแสงผ่านไปได้น้อยมาก ส่วนใหญ่ต้อกระจกมีสาเหตุจากการเสื่อมตามอายุ โรคนี้จึงมักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ต้อกระจกที่เกิดจากเบาหวานก็มีลักษณะเดียวกัน ต่างกันแต่ว่าคนที่เป็นเบาหวานจะเกิดต้อกระจกได้เร็วกว่า บางครั้งอายุ 30-40 ปีก็มีต้อกระจกเกิดขึ้นได้แล้ว ภาวะนี้ไม่ร้ายแรง เพราะหากต้อกระจกทึบมากแพทย์จะผ่าตัดเอาเลนส์ที่ขุ่นออก แล้วใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไป ผลการผ่าตัดมักจะดี (หากจอตายังดี)

เบาหวานที่จอตา
คราวนี้เราจะมารู้จักเบาหวานที่จอตา ซึ่งนับว่าเป็นปัญหามากที่สุด ที่ว่าเป็นปัญหามากที่สุดก็เพราะว่าพบบ่อย และถ้าเป็นมากอาจทำให้ตามัวจนถึงขั้นตาบอดได้ ถ้าตรวจพบโรคนี้ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็จะสามารถลดอัตราตาบอดได้ ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้คำว่า เบาหวานที่จอตา หรือเบาหวานที่จอประสาทตา หรือบางคนเรียกสั้นๆเข้าไปอีกว่า เบาหวานเข้าตา เนื่องจากภาวะนี้เป็นปัญหามากที่สุด เพราะฉะนั้นเราจะให้ความสำคัญกับโรคนี้โดยอธิบายกันมากหน่อย เรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้จึงเป็นเรื่องของเบาหวานที่จอตา

- เบาหวานที่จอตาพบบ่อยแค่ไหน ?
คนที่เป็นเบาหวานนานๆมีโอกาสเป็นเบาหวานที่จอตาได้มากกว่าคนที่เพิ่งเป็นหรือเป็นเบาหวานไม่นาน พบว่าหากเป็นเบาหวานนาน 5 ปี โอกาสที่จะพบเบาหวานที่จอตา ประมาณ 20% หากเป็นเบาหวานนาน 15-20 ปี โอกาสเป็นเบาหวานที่จอตา ประมาณ 60% เบาหวานจะขึ้นตาได้ส่วนใหญ่ต้องเป็นเบาหวานมานานมากกว่า 5 ปี ปัจจุบันวิทยาการสมัยใหม่พัฒนาขึ้นมาก ยาที่ใช้รักษาก็มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิมรวมทั้งผู้ป่วยเองก็เข้าใจและตั้งใจรักษากันมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานมีอายุยืนยาวมากขึ้นกว่าสมัยก่อน เราจึงพบเบาหวานที่จอตามากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เบาหวานขึ้นตา
- ปัจจัยอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานที่จอตา
ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ภาวะน้ำตาลในเลือดคุมได้ไม่ดี กับระยะเวลาที่เป็นเบาหวานมานาน แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่อาจทำให้พบเบาหวานที่จอตาเร็วขึ้น หรือรุนแรงมากขึ้น ได้แก่ ภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไตวายเรื้อรัง ภาวะไขมันในโลหิตสูง รวมทั้งภาวะตั้งครรภ์

- เพิ่งเป็นเบาหวานมาแค่ 2 ปี ทำไมหมอว่ามีเบาหวานที่จอตาได้
ผู้ป่วยบางคนถามว่า หมอบอกว่าต้องเป็นเบาหวานอย่างน้อย 5 ปี จึงจะเป็นเบาหวานที่จอตา ตัวเขาเองเพิ่งเป็นเบาหวานได้แค่ 2 ปี ทำไมถึงมีเบาหวานเข้าตาได้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ป่วยเบาหวานหลายรายไม่ทราบมาก่อนว่าตัวเองเป็นเบาหวาน อาจจะเป็นเพราะอาการผิดปกติไม่มาก มีเพียงอาการหิวน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ก็คิดว่าเป็นปกติธรรมดา ไม่ต้องไปตรวจ จึงไม่ทราบว่าตนเองเป็นเบาหวานแล้ว ต่อเมื่อมีอาการผิดปกติมากขึ้น เช่น ตามัว หรือมีแผลที่รักษายาก จึงไปตรวจ พบว่าเป็นเบาหวาน เพราะฉะนั้นที่คุณเพิ่งทราบว่าเป็นเบาหวานนั้น แท้จริงอาจจะเป็นมานานแล้วก็ได้ ปัจจุบันแพทย์จึงแนะนำให้ตรวจเช็คระดับน้ำตาลในเลือด ในคนที่อายุมากกว่า 40 ปี แม้จะไม่มีอาการใดๆแต่ถ้ามีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน อาจจะเริ่มเช็คเร็วกว่านั้น

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เบาหวานขึ้นตา

- เบาหวานที่จอตาเป็นอย่างไร จะรู้ได้อย่างไรว่ามีเบาหวานที่จอตาหรือยัง
เบาหวานที่จอตาเกิดเนื่องจากมีความผิดปกติที่เส้นเลือดฝอยที่ไปเลี้ยงจอตา จอตาเป็นชั้นของเซลส์ประสาททำหน้าที่รับภาพที่เห็นจากภายนอกไปสู่สมอง ในจอตามีเส้นเลือดฝอยเล็กๆจำนวนมาก เพื่อนำเลือดไปหล่อเลี้ยงเซลส์ประสาทตา ในคนที่เป็นเบาหวานมานาน เส้นเลือดเล็กๆเหล่านี้จะผิดปกติ มีการตีบตันหรือผนังหลอดเลือดเสียไปทำให้มีน้ำหรือไขมันหรือเลือดรั่วออกมานอกเส้นเลือด ทำให้เกิดจอตาบวม เมื่อจอตาบวมก็จะเห็นได้ไม่ชัด ในรายที่โรคลุกลามมากขึ้นจะมีเส้นเลือดผิดปกติและพังผืดในลูกตา เมื่อเส้นเลือดผิดปกติเหล่านี้แตกก็จะทำให้เลือดออกข้างในลูกตา หรือถ้าพังผืดดึงรั้งก็จะเกิดภาวะจอประสาทตาหลุดลอก

ถ้าคุณมีเบาหวานที่จอตาในระยะเริ่มต้น คุณอาจยังไม่มีอาการใดๆเลย หนทางเดียวที่จะรู้ว่ามีเบาหวานที่จอตาหรือยังก็คือต้องไปตรวจตา แต่ถ้าคุณรอให้มีอาการผิดปกติก่อนแล้วค่อยไปตรวจก็อาจสายไปเสียแล้ว เพราะฉะนั้นต้องตรวจตาอย่างน้อยทุก 1 ปี สำหรับคนที่ยังไม่มีเบาหวานที่จอตา (ถ้ามีเบาหวานที่จอตาแล้วก็ต้องตรวจถี่กว่านั้น) อย่าลืมว่าการตรวจพบโรคนี้ในระยะเริ่มแรก และได้รับการรักษาที่เหมาะสม จะช่วยลดอัตราการตาบอดลงได้มาก

- ถ้าเป็นเบาหวานที่จอตา จะต้องรักษาอย่างไร  
คนที่เป็นเบาหวานในระยะแรกมักไม่มีอาการผิดปกติทางตา ตายังมองเห็นได้ชัดเจนเพียงแต่แพทย์ตรวจตาพบความผิดปกติในระยะนี้ยังไม่ต้องให้การรักษาใดๆทางตา นอกจากแนะนำให้คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี เพราะถ้าคุมระดับน้ำตาลในเลือดดี เบาหวานที่จอตาก็จะลุกลามช้าและไม่รุนแรง จนกระทั่งถึงระยะที่แพทย์ตรวจพบว่ามีเส้นเลือดผิดปกติเกิดขึ้นในตา จึงจะพิจารณาว่าควรต้องรักษาด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อป้องกันเลือดออกในตา หรืออีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อจอตาบวมจนทำให้เกิดอาการตามัว แพทย์ก็จะแนะนำให้รักษาด้วยเลเซอร์

- ได้ยินมาว่ามีการรักษาเบาหวานที่จอตา ด้วยการผ่าตัด มีจริงหรือไม่
การรักษาเบาหวานที่จอตามีหลายวิธี แล้วแต่ว่าเป็นระยะไหน อย่างไรก็ตามทุกวิธีต้องร่วมกับการรักษาระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงโรคอื่นๆที่มีร่วมด้วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคไต สำหรับการรักษาเบาหวานที่จอตามีหลายวิธีดังนี้

  1. การรักษาด้วยเลเซอร์ ได้กล่าวไปในหัวข้อที่แล้ว
  2. การรักษาโดยการผ่าตัด จะทำในกรณีที่มีเลือดออกในวุ้นตา หรือกรณีที่พังผืดดึงรั้ง ทำให้เกิดจอตาหลุดลอก
  3. การฉีดยาเข้าลูกตา ยาที่ใช้ฉีดเข้าลูกตามีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของเส้นเลือดผิดปกติ และมีฤทธิ์ลดการบวมของจอตา แพทย์จะพิจารณาฉีดยาเข้าลูกตาในกรณีจอตาบวม ที่ไม่สามารถรักษาด้วยเลเซอร์ได้ หรือใช้ก่อนผ่าตัดเพื่อช่วยให้การผ่าตัดทำได้ง่ายขึ้น ลดการที่จะมีเลือดออกในตาระหว่างหรือหลังการผ่าตัด

ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ เบาหวานขึ้นตา

- จะป้องกันภาวะเบาหวานที่จอตาได้อย่างไร
การป้องกันโรคนี้ก็โดยการคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ซึ่งก็ได้แก่การควบคุมอาหารพวกแป้ง น้ำตาล การออกกำลังกายร่วมไปกับการคุมปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง หรือโรคไต ที่สำคัญและขอเน้นมากๆคือการตรวจตาอย่างน้อยปีละครั้ง ในช่วงที่ยังไม่มีเบาหวานที่จอตา แต่ถ้ามีเบาหวานที่จอตาแล้วจะต้องตรวจบ่อยกว่านั้น อาจจะทุก 1-6 เดือน และต้องตรวจไปตลอดชีวิต แม้จะเคยได้รับการรักษาด้วย เลเซอร์หรือการผ่าตัดไปแล้ว ก็ยังต้องตรวจเป็นระยะกันไปตลอด เพราะเบาหวานที่จอตาอาจลุกลามขึ้นอีกได้


เมื่อไรจะเริ่มให้แพทย์ตรวจตา ถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 (ชนิดที่เป็นตั้งแต่เด็กและมักต้องใช้อินซูลิน) จะเริ่มตรวจตาหลังเป็นเบาหวานมานาน 5 ปี หรือเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น (13-14 ปี) แต่ถ้าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 (ซึ่งก็คือเบาหวานที่เริ่มเป็นตอนอายุมากแล้ว มักไม่ต้องใช้อินซูลิน) ควรตรวจตาตั้งแต่แรกที่ทราบว่าเป็นเบาหวาน เพราะคุณอาจเป็นเบาหวานมานานแล้วโดยไม่ทราบ

- เบาหวานกับคนตั้งครรภ์
ในคนตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายหลายอย่าง ซึ่งมักมีผลทำให้เบาหวานที่จอตารุนแรงและลุกลามมากขึ้น คนตั้งครรภ์จึงต้องได้รับการตรวจตาบ่อยกว่าปกติ อย่างน้อยที่สุดควรได้รับการตรวจทุกไตรมาส (ทุก 3 เดือน) และตรวจติดตามอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งคลอดและ 1 ปีหลังจากคลอด นอกจากนั้นผู้ป่วยเบาหวานที่วางแผนจะมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ว่าสมควรมีบุตรในระยะนี้หรือไม่ หากผู้ป่วยที่มีเบาหวานที่จอตาและอยู่ในช่วงกำเริบรุนแรง แพทย์มักจะยังไม่แนะนำให้มีบุตรในช่วงนี้

เวลาไปตรวจตาเพื่อตรวจเบาหวานที่จอตา ทำไมแพทย์ต้องหยอดยาขยายม่านตาด้วย 
การตรวจตาเพื่อตรวจภาวะเบาหวานที่จอตา หากจะตรวจให้ได้แม่นยำ แพทย์จะหยอดยาขยายม่านตา การขยายม่านตาจะทำให้แพทย์ตรวจจอตาได้ง่ายกว่าและละเอียดกว่า แต่ข้อเสียคือจะทำให้มีอาการตามัว สู้แสงไม่ได้ ยาจะออกฤทธิ์อยู่นาน 3-4 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้แพทย์บางท่านจึงอาจตรวจโดยไม่ขยายม่านตา หรืออาจใช้วิธีถ่ายภาพจอตาด้วยกล้องถ่ายภาพแทน วิธีนี้ก็ใช้ได้ผลพอควร ผู้ป่วยหลายคนชอบวิธีถ่ายภาพด้วยกล้อง เพราะมีภาพบันทึกไว้ให้กลับไปดูที่บ้านได้ด้วย

สรุปก็คือ ภาวะเบาหวานที่จอตาพบได้บ่อย หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็จะป้องกันหรือลดอัตราตาบอดลงได้ แต่ถ้าไม่ได้รับการวินิจฉัยในระยะแรก ไปตรวจพบเมื่อโรคลุกลามเป็นมากแล้ว
การรักษาค่อนข้างยากและบางรายไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ การป้องกันคือ การควบคุมเบาหวานและการตรวจตาเป็นระยะ

เบาหวานรักษาต้อกระจกได้ไหม ?

เป็นเบาหวานก็ทำผ่าตัดได้ แต่ต้องควบคุมเบาหวานให้ดีก่อน เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องการติดเชื้อหลังผ่าตัด หากมีการอักเสบบริเวณตา เช่น กุ้งยิง เปลือกตาอักเสบ หรือ ถุงน้ำตาอักเสบ ก็ต้องได้รับการรักษาให้ดีก่อน เพราะดวงตาติดเชื้อได้ง่ายจากความต้านทานต่อการติดเชื้อมีน้อยกว่าอวัยวะอื่นๆ ดังนั้นหากมีการติดเชื้อใกล้เคียงกับบริเวณแผลผ่าตัด ทำให้มีความเสี่ยงติดเชื้อหลังผ่าตัดต้อกระจกได้ 

ขั้นตอนก่อนการรักษาโรคต้อกระจก

  • ก่อนการผ่าตัดผู้เข้ารับการรักษาควรได้รับการตรวจสภาพตาโดยละเอียดเสียก่อนว่าสภาพตาเหมาะสมกับการรักษาหรือไม่
  • หากแพทย์วินิจฉัยว่าสามารถทำการรักษาภาวะต้อกระจก จะมีการวัดเลนส์ (Intra Ocular Measurement) เพื่อคำนวณว่าผู้เข้ารับการรักษาควรจะเลือกใช้เลนส์ที่มีกำลังการรวมแสงเท่าไหร่
  • ในกรณีที่ผู้เข้ารับการรักษามีสายตาสั้น หรือเอียง จะสามารถเลือกเลนส์ที่มีกำลังการรวมแสงพอดีกับค่าสายตา เพื่อแก้ไขปัญหาความผิดปกติของสายตาได้ทันที
  • หากมีอาการแพ้ยาใด ๆ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ล่วงหน้า
  • ควรมีเพื่อนหรือญาติมารับกลับบ้าน
  • หากวันผ่าตัดมีอาการไม่สบาย จะต้องโทรปรึกษาเพื่อพิจารณาเลื่อนนัดเป็นวันอื่นแทน
  • หากมียาประจำตัวควรนำติดตัวมาให้แพทย์พิจารณาด้วย
  • หยุดการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาสำหรับโรคต้อหิน หรือยาในกลุ่มของยาขยายม่านตาหรือหดม่านตา ซึ่งคนไข้บางท่านอาจจะต้องปรึกษาแพทย์ประจำผู้ดูแลนั้นก่อน
  • ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ไอ หรือเป็นหวัด ควรรักษาหรือควบคุมให้เป็นปกติก่อน

ที่มา : ศูนย์เบาหวานศิริราช โรงพยาบาลศิริราช

ต้อกระจก เลเซอร์วิชั่น




Create Date : 10 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2559 10:34:13 น.
Counter : 1490 Pageviews.

1 comments
  
สวัสดีนะจ้ะ เราแวะมาทักทาย สักคิ้ว 6 มิติ ลบรอยสักคิ้วด้วยเลเซอร์ ลบรอยสักคิ้ว Eyebrow Tattoo Removal เพ้นท์คิ้วลายเส้น เพ้นท์คิ้ว 3 มิติ
ให้ใจหายใจ สุขภาพ วิธีลดความอ้วน การดูแลสุขภาพ อาหารเพื่อสุขภาพ ออกกำลังกาย สุขภาพผู้หญิง สุขภาพผู้ชาย สุขภาพจิต โรคและการป้องกัน สมุนไพรไทย ผู้หญิง ศัลยกรรม ความสวยความงาม แม่ตั้งครรภ์ สุขภาพแม่ตั้งครรภ์ พัฒนาการตั้งครรภ์ 40 สัปดาห์ อาหารสำหรับแม่ตั้งครรภ์ โรคขณะตั้งครรภ์ การคลอด หลังคลอด การออกกำลังกาย ทารกแรกเกิด สุขภาพทารกแรกเกิด ผิวทารกแรกเกิด การพัฒนาการของเด็กแรกเกิด การดูแลทารกแรกเกิด โรคและวัคซีนสำหรับเด็กแรกเกิด เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อาหารสำหรับทารก เด็กโต สุขภาพเด็ก ผิวเด็ก การพัฒนาการเด็ก การดูแลเด็ก โรคและวัคซีนเด็ก อาหารสำหรับเด็ก การเล่นและการเรียนรู้ ครอบครัว ชีวิตครอบครัว ปัญหาภายในครอบครัว ความเชื่อ คนโบราณ
โดย: nokyungnakaa วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:18:17:14 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

salinta
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]



หมีชอบกินปลาแซลม่อนที่ว่ายทวนน้ำ...
All Blog