ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) ตอนที่ 2

สวัสดีครับ หายหน้าหายตาไปนานเลยติดค้างเรื่องประวัติ ตุตันคาเมน ไว้ วันนี้มีโอกาสเลยเข้ามาเขียนตอนจบครับช่วงที่ห่างหายไปก็ได้ข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับข่าวการตรวจสแกนมัมมี่ของ ตุตันคาเมน จนเป็นที่ทราบกันว่าจริงๆ แล้วว่า ตุตันคาเมน ไม่ได้ถูกปลงพระชนม์อย่างที่เชื่อกันมานาน เพราะตั้งแต่เริ่มมีการเปิดโลงพระศพของฟาโรห์องค์นี้ ได้พบรอยที่กระโหลกเหมือนถูกของแข็งกระแทกจนเป็นรอยลึกต่างวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดว่าฟาโรห์ตุตันคาเมน ต้องถูกลอบปลงพระชนม์แน่ๆ จนล่าสุดผลตรวจชี้ชัดว่าตุตันคาเมนสิ้นพระชนม์ด้วยโรคมาลาเรียนั่นเอง ส่วนรอยที่กระโหลก ซึ่งอาจเกิดจากการเลื่อนล้มในขณะที่กำลังประชวรอยู่ หรือเกิดความเสียหายในขณะที่มีการเคลื่อนย้ายมัมมี่


ฟาโรห์ตุตันคาเมน และพระนางอังเคเซนามุน

ฟาโรห์ตุตันคาเมน หรือ ตุตันคามุน (Tutankhamun) เป็นโอรสของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 (Amenhotep IV) หรือ อัคเคนาเตน (Akhenaten) ซึ่งผลดีเอ็นเอล่าสุดก็นั่งยันนอนยันชัดเจนว่า เป็นพ่อลูกกันแน่นนอน ส่วนมารดาผลดีเอ็นเอยืนยันว่ามีมัมมี่อยู่ร่างนึงซึ่งเคยถูกค้นพบเมื่อปี 1898 เป็นมารดาของตุตันคาเมน แต่ไม่มีทราบพระนามของพระนางครับ และที่สำคัญจากผลดีเอ็นเอ พระมารดาของตุตันคาเมน ก็คือพระธิดาในฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 (Amenthotep III) และราชินีตียี หลายคนร้องเอะ! มารดาตุตันคาเมน ทำไมถึงมีพระบิดาและพระมารดาองค์เดียวกันกับ อัคเคนาเตนล่ะ! เข้าใจถูกแล้วครับ พระมารดาของตุตันคาเมน ก็คือ พระขนิษฐาของฟาโรห์อัคเคนาเตน ซึ่งก็คือพระบิดาของ ตุตันคาเมน นั่นเอง อียิปต์โบราณการแต่งงานกันระหว่างพี่น้องถือว่าเป็นเรื่องปกติครับจึงได้ข้อสรุปว่า ตุตันคาเมน ไม่ใช่บุตรของพระนางเนเฟอร์ติตี (Queen Nefertiti) ตามที่สันนิษฐานกันไว้ก่อนหน้านี้

ฟาโรห์อัคเคนาเตน มีพระมเหสีเอก คือ พระนางเนเฟอร์ติตี มีธิดาด้วยกันหลายองค์ (หนึ่งในนั้นมีพระนามว่าอังเคเซนามุน) มีพระนางคิยา (Kiya) พระชายาอีกพระองค์ แต่ก็ยังไม่สามารถให้โอรสแก่อัคเคนาเตนได้ อัคเคนาเตนจึงทรงได้พระขนิษฐาเป็นพระชายาและให้กำเนิดพระโอรสชื่อ ตุตันคาเมน ในที่สุดครับ ส่วนเครือญาติของฟาโรห์ตุตันคาเมน มีปู่ชื่อ ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ย่าชื่อพระนางตียี และพระนางตียี เป็นบุตรของตูยู และยูยาซึ่งเป็นสมัญชนธรรมดา โอเคถ้าใครงงก็ดูรูปด้านล่างประกอบนะครับ


ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) เป็นฟาโรห์ในราชวงศ์ที่ 18 ของอียิปต์

พระนามฟาโรห์ราชวงศ์ที่ 18 ดังนี้ครับ

1. ฟาโรห์อาห์โมซิสที่ 1(Ahmose)
2. ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 1(Amenhotep l)
3. ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 1(Thutmose l)
    - พระองค์เป็นต้นเหตุให้ฟาโรห์อาณาจักรใหม่ถูกฝังอยู่ที่หุบเขากษัตริย์
    - พระบิดาแห่งพระนางฮัตเซปซุต

4. ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 2(Thutmose ll)
5. พระนางฮัตเซปซุต (Hatshepsut)
    - กษัตริยามเหสีแห่งฟาโรห์ธุตโมซิสที่2

6.
ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3(Thutmose lll)
    - พระองค์ได้รับสมญานามว่านโปเลียนแห่งอียิปต์
    - พระโอรสแห่งฟาโรห์ธุตโมซิสที่2 และพระสนม

7.
ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 2(Amenhotep ll)
8. ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 4(Thutmose lV)
9. ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3(Amenhotep lll)
    - มีมเหสีเป็นสามัญชนชื่อพระนางไทเย พระมารดาแห่งฟาโรห์อัคเคนาเทน

10.ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4(อัคเคนาเทน) (Amenhotep lV (Akhenaten))
    - พระบิดาแห่งฟาโรห์ตุตันคาเมน
    - มีพระมเหสีผู้เลอโฉมพระนางเนเฟอร์ตีติ (Nefertiti)
    - พระชายาคียา (Kiya)

11.ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamen)
    - ยุวฟาโรห์ผู้เลื่องชื่อก้องโลก

12.อัย (Ay)
13.โฮเรมเฮ็บ (Horemheb)

ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) เดิมชื่อ ตุตันคาเตน ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชนมายุเพียงประมาณ 10 ชันษา ครองราชย์ในช่วงปี 1334-1323 ก่อนคริสตกาลก่อนขึ้นครองราชใช้พระนาม ตุตันคาเตน ตุตัน + อาเตน (สุริยเทพ) หรือสุริยเทพอวตารลงมา ในยุคของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 ผู้เป็นพระบิดาก็เปลี่ยนพระนามเป็น อัคเคนาเตน ด้วยความที่พระองค์เลื่อมใสต่อเทพอาเตนอย่างมากถึงขนาดปฏิรูปศาสนาในอียิปต์ที่เชื่อกันมาเป็นพันๆ ปีเลยทีเดียว อัคเคนาเตนพยายามให้ประชาชนหันมาศรัทธาต่อเทพอาเตนเพียงองค์เดียว แถมยังย้ายราชธานีไปยังอีกที่นึง สร้างความโกรธเคืองให้เหล่านักบวชเป็นอย่างมาก หลังจากอัคเคนาเตนสิ้นพระชนม์ลง ศาสนสถานและชื่อต่างๆ ของอัคเคนาเตน เทพอาเตนก็ถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก ตุตันคาเตน จึงเปลี่ยนพระนามไปเป็น ตุตันคาเมนหรือตุตันคามุน เพื่อยกย่องเทพ อามุน ตามความศรัทธาเดิมของชาวไอยคุปต์


มันมี่ฟาโรห์ตุตันคาเมน


ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) ทรงย้ายราชธานีกลับไปยังนครธีบส์ตามเดิม ทิ้งร้างราชธานีของพระบิดาพร้อมความทรงจำในวัยเด็กของพระองค์ไว้เบื้องหลัง ก่อนตุตันคาเมนได้ขึ้นครองราชย์อียิปต์เกิดความวุ่นวายมากมายถึงขั้นเกิดสงครามกลางเมืองเลยทีเดียว เพราะเนื่องจากกลุ่มอำนาจเก่ายังคงต้องการผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองและศาสนาไปเหมือนเดิม เมื่อกลุ่มอำนาจเก่าได้รับชัยชนะจึงได้ผลักดันให้ ตุตันคาเมน ขึ้นครองราชย์ในที่สุด

ซึ่งช่วงก่อนหน้านั้นก็ปรากฏชื่อพระนามของฟาโห์อยู่บ้างเช่น ฟาโรห์สเมนคาเร ซึ่งครองราชย์ต่อจากอัคเคนาเตน แต่ทรงครองราชย์ได้ถึงปีก็สิ้นพระชนม์ จากนั้นก็ปรากฏ ฟาโรห์เนเฟอรูอาเตน ซึ่งเป็นอิสตรี ขึ้นครองราชย์ต่ออีกราวสองปีก่อนเกิดการปฏิวัติ และแต่งตั้งยุวฟาโรห์องค์ใหม่พระนามตุตันคาเมน ในที่สุด

ฟาโรห์ตุตันคาเมนได้อภิเษกสมรสกับองค์หญิงอังเคเซนามุน (Ankhesenamun) ซึ่งเป็นพระธิดาองค์หนึ่งของพระนางเนเฟอร์ตีติ ซึ่งก็คือพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันนั่นเอง ตุตันคาเมน และ อังเคเซนามุน มีพระธิดาด้วยกัน 2 พระองค์ แต่ก็สิ้นพระองค์ในเยาวัยทั้งหมด เมื่อทรงครองราชย์ได้ราว 9 ปี ตุตันคาเมน ก็สิ้นพระชนม์ ไร้ซึ่งผู้สืบราชย์บัลลังก์ เชื่อกันว่าการสิ้นพระชนม์ของ ตุตันคาเมนมีนักบวชที่ชื่อ อัย อยู่เบื้องหลังซึ่งต่อมา อัย ได้ถือโอกาสยึดอำนาจทางการทหารและบังคับอภิเษกสมรสกับ อังเคเซนามุน และตั้งตนเป็นฟาโรห์สืบราชย์สมบัติ ส่วนพระนางอังเคเซนามุนก็ดูเหมือนจะหายสาบสูญไปจากหน้าประวัติศาสตร์อียิปต์หลังจากนั้น เพราะพบหลักฐานน้อยมากที่จะยืนยันถึงชีวประวัติของพระนาง


ภายหลัง ตุตันคาเมน สิ้นพระชนม์ อัย พยายามลบทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งพระนามของ ตุตันคาเมน ตามสถานที่ต่างๆ ทำให้นักโบราณคดีอียิปต์ไม่มีทราบพระนามของพระองค์มาก่อนเลย สุสานก็ถูกปิดตายนับจากนั้นมาก่อนที่ ฮาวเวิร์ด คาร์เตอร์ จะมาขุดค้นพบสุสานของพระองค์ที่หลับไหลมานานกว่า 3,300ปี จนเป็นที่เลื่องลือจนปัจจุบันนี้ครับ




Create Date : 16 ธันวาคม 2557
Last Update : 17 ธันวาคม 2557 16:57:21 น.
Counter : 11818 Pageviews.

0 comment
ฟาโรห์ตุตันคาเมน (Tutankhamun) ตอนที่ 1
ตุตันคาเมน (Tutankhamun) ฟาโรห์ที่ประวัติศาสตร์อียิปต์มีบันทึกไว้น้อยมากเกี่ยวกับประวัติของพระองค์ จนเมื่อถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน ปี 1922 ชื่อฟาโรห์ตุตันคาเมนก็โด่งดังไปทั่วโลก เมื่อฮาวเวิร์ด คาร์เตอร์ นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ได้ขุดค้นพบสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมน ที่ถูกฝังอยู่ใต้พื้นพสุธาอันแห้งระแหงของ หุบเขากษัตริย์ สุสานที่รอดพ้นสายตาประดุจเหยี่ยวเวหาของนักสำรวจมานานกว่า 3,300 ปี ถูกเปิดเผยขึ้นจนโด่งดังในชั่วพริบตา


ฮาวเวิร์ด คาร์เตอร์ ได้รับการสนับสนุนในการสำรวจจาก ลอร์ด คาร์นาวอน คาร์เตอร์เข้าไปสำรวจที่หุบเขากษัตริย์อยู่หลายครั้งแต่กลับไม่พบหลักฐานอะไรใหม่เลย จนกระทั้งมาเจอทางเข้าที่อยู่ต่ำลงมาจากสุสานฟาโรห์รามเซส มีขั้นบันไดลงไป คาร์เตอร์ขุดสำรวจลงไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบประตูที่ปิดผนึกไว้อย่างแน่นหนา ไม่มีใครสำรวจมาก่อน คาร์เตอร์จึงตัดสินใจเปิดเข้าไป ถึงกับตะลึงเพราะภายในเต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้มากมายและส่วนมากก็ทำขึ้นจากทองคำ ส่วนอีกห้องถัดไปก็ถูกปิดไว้เช่นกันนั่นคือห้องเก็บโลงพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมน ซึ่งถูกบรรจุไว้อย่างแน่นหนาและหลายชั้น คาร์เตอร์ได้ถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานการค้นพบนี้ทั้งหมด ทำหมายเลขติดไว้ที่ทรัพย์สมบัติทุกชิ้น และค่อยขนเคลื่อนย้ายไปวางไว้ที่สุสานของฟาโรห์เซติที่ 1 ก่อนเพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบ เล่าว่าคนงานใช้เวลากว่าสัปดาห์ในการขนย้ายทรัพย์สมบัติทองคำเหล่านั้น



โล่งพระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมนถูกเปิดขึ้นอย่างระมัดระวัง เพราะอย่าลืมว่าพระศพที่ถูกเก็บไว้นานถึง 3,300 ปีย่อมเปราะบางเป็นธรรมดา โล่งพระศพถูกบรรจุไว้ในชั้นดินเผาถึง 3 ชั้น จนเจอหีบศิลาเปิดเข้าไปแต่ก็ยังไม่เจอมัมมี่ แต่เจอโลงศพที่แกะสลักให้มีรูปร่างคล้ายคน เมื่อทำการเปิดโลง ปรากฎว่าพบโลงศพอีกใบอยู่ชั้นใน โลงชั้นในทำด้วยทองคำแท้ๆแกะสลักอย่างสวยงาม และเมื่อเปิดโลงศพทองคำก็ปรากฎแก่สายตา ร่างมัมมี่ที่ใบหน้าถูกปกปิดด้วยหน้ากากทองคำแกะสลักเสมือนใบหน้าของฟาโรห์ตุตันคาเมน มัมมี่สภาพที่สมบูรณ์ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าลินินนับพันหลา พันไปมาหลายๆ ชั้นและแต่ละชั้นก็ยังวางเครื่องประดับหรือเครื่องรางไว้มากมาย กระทั่งเปิดร่างมัมมี่อายุกว่า 3,300 ปี และเมื่อนักวิทยาศาสตร์ทำการตรวจสอบปรากฎว่าร่างมัมมี่มีอายุราวๆ 17-19 ปี ตอนที่สิ้นพระชนม์ แน่นอนแล้วว่ายุวกษัตริย์ครองราชย์เมื่ออายุได้เพียง 10-12 ปีเท่านั้น



นอกจากนั้นยังค้นพบโถคาโนปิค 4 ใบซึ่งบรรจุอวัยวะภายในของฟาโรห์ตุตันคาเมน บนฝาโถมีรูปสลักรูปสตรีสันนิษฐานว่าคือพระนางไคย่า พระมารดาของฟาโรห์ตุตันคาเมน และโลงศพขนาดเล็กอีกจำนวน 2 ใบบรรจุมัมมี่เด็กไว้ ซึ่งนักโบราณคดีกล่าวว่าน่าจะเป็นพระธิดาสองพระองค์ของตุตันคาเมนซึ่งสิ้นไปในวัยเด็ก ตลอดจนภาพสลักต่างๆ ที่ชัดเจนก็คือ ภาพสลักพระนางอังเคเซนาเมน กำลังถวายดอกบัวให้ฟาโรห์ตุตันคาเมนซึ่งพบในโลงพระศพ และภาพแกะสลักบนบัลลังก์ทองคำตุตันคาเมนรินเครื่องหอมใส่พระหัตถ์พระนางอังเคเซนาเมน

นอกจากเป็นข่าวดังในยุคนั้นถึงการขุดค้นพบสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมนแล้ว อีกข่าวดังอีกข่าวคือเรื่องคำสาปของสุสานตุตันคาเมน ผู้ที่มาร่วมในการขุดสุสานก็มีอันเป็นไปอย่างปริศนาทีละคน ไม่เว้นแม้แต่ ลอร์ด คาร์นาวอน ก็ถึงแก่ความตายก่อนหน้าที่จะทำการเปิดหีบพระศพด้วยซ้ำ ยกเว้นแต่คาร์เตอร์ เท่านั้นที่ไม่เป็นอะไร มีคำกล่าวไว้ว่าในขณะที่กำลังก้าวเข้าไปในห้องบรรจุพระศพ คาร์เตอร์ได้พบแผ่นดินเผาเขียนเป็นภาษาเฮียโรกริฟฟิกไว้ว่า "ความตายย่อมโบยบินมาสู่เจ้า ผู้ที่บังอาจบุกรุกสุสานขององค์ฟาโรห์" แต่คาร์เตอร์เก็บแผ่นจารึกดังกล่าวไว้ เพราะกลัวว่าคนงานคนอื่นๆ จะกลัวและหนีไปกันหมด ปัจจุบันทรัพย์สมบัติของฟาโรห์ตุตันคาเมนถูกเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ไคโร ประเทศอียิปต์ครับ

ทราบเรื่องราวการขุดค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมนกันแล้ว อย่าลืมติดตามตอนต่อไปกันนะครับ คราวหน้าผมจะเล่าถึงประวัติของฟาโรห์ตุตันคาเมนให้ทุกท่านทราบกัน 

10.39 PM 5/3/2014



Create Date : 06 มีนาคม 2557
Last Update : 6 มีนาคม 2557 10:32:58 น.
Counter : 7834 Pageviews.

0 comment
หุบเขากษัตริย์ สุสานฝังศพฟาโรห์แห่งอียิปต์
หุบเขากษัตริย์ (The Valley of the Kings) สาเหตุที่เรียกหุบเขานี้ว่า หุบเขากษัตริย์ เพราะเนื่องจากใช้เป็นที่ฝังศพของฟาโรห์และเชื้อพระวงศ์ ในยุคราชวงศ์ใหม่ของอียิปต์โบราณ (ราชวงศ์ที่ 18-20) โดยหุบเขาแห่งนี้ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำไนล์ ตรงข้ามกับเมืองธีปส์ หรือเมืองลักซอร์ในปัจจุบัน รายล้อมไปด้วยทะเลทรายอันร้อนระอุ หุบเขาที่ซับซ้อนทำให้เหมาะสำหรับการสร้างสุสานเพื่อให้รอดพ้นจากการถูกทำลาย

จากการค้นพบสุสานที่หุบเขากษัตริย์แห่งนี้ นักโบราณคดีขุดพบมากถึง 64 แห่ง ลึกลงไปยังแบ่งออกเป็นห้องเล็กๆ บางสุสานมีห้องที่ซับซ้อนเป็นอย่างมาก แถมยังมีการสร้างหลุมพรางเพื่อป้องกันพวกโจรที่จะมาขโมยทรัพย์สมบัติภายในสุสาน ในบรรดาสุสานทั้งหมดที่ผมอ่านเจอ มีห้องมากที่สุดถึง 120 ห้อง ซึ่งเป็นของฟาโรห์รามเซสที่ 2 (Ramses ll) แต่ก็นั่นแหละครับ ตอนที่นักโบราณคดีค้นพบสุสานแห่งนี้ ภายในก็เหลือเพียงร่างอันไร้วิญญาณของรามเซสที่ 2 เท่านั้น ส่วนทรัพย์สมบัติอื่นๆ ไม่มีเหลือไว้แล้ว บางสุสานที่ค้นพบจะเหลือเพียงรูปปั้นขนาดเล็ก  ซึ่งแทบทุกสุสานของฟาโรห์จะต้องมี เพื่อเป็นตัวแทนของข้าทาสที่จะตามรับใช้ฟาโรห์ในโลกหน้า บางสุสานร่างมัมมี่ก็ถูกทำลายไปอย่างน่าเสียดาย และนอกจากจะถูกทำลายโดยมนุษย์แล้ว ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่มาทำลายสุสาน ซึ่งทำให้ยากมากขึ้นในการปะติดปะต่อเรื่องราวต่างๆ ทางประวัติศาสตร์

เมื่อมีการขุดค้นพบสุสาน เพื่อให้ง่ายในการจดจำนักโบราณคดีจะทำการตั้งชื่อสุสานว่า KV และตามด้วยลำดับในการขุดค้นพบ เช่น KV1, KV25 เป็นต้น สำหรับนักโบราณคดีแล้วหุบเขาแห่งนี้ ถือว่าเป็นที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะหลังจากมีการขุดค้นพบสุสานไปแล้วมากมาย จนหลายๆคนคิดว่าคงไม่มีสุสานเหลือให้ค้นพบอีกแล้ว ก็มีข่าวโด่งดังไปทั่วโลกอีกครั้งช่วงที่มีการค้นพบสุสานของฟาโรห์ตุตันคามุน (Tutankhamun) ซึ่งถือเป็นสุสานที่มีความสมบูรณ์แบบมากๆ ทรัพย์สมบัติทุกชิ้นของพระองค์ยังคงวางอยู่ที่เดิม สุสานที่รอดพ้นจากสายตาโจรขโมยมาได้เป็นพันๆ ปี อย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งๆ ที่สุสานของพระองค์ไม่ได้มีความซับซ้อนอะไรมากมาย สมบัติเกือบทุกชิ้นทำขึ้นจากทองคำแท้ๆ แต่ก็มีเรื่องเล่าน่าสะพรึงกลัวเกี่ยวกับคำสาปในสุสาน เพราะตอนที่มีการขุดข้นพบไม่นาน ผู้ที่มีส่วนในการขุดครั้งนั้นก็เสียชีวิตอย่างปริศนา สำหรับเรื่องราวประวัติของฟาโรห์ตุตันคามุน ผมจะมาเล่าในครั้งต่อไปอย่างละเอียดนะครับ



สาเหตุที่ฝังศพฟาโรห์ไว้ที่หุบเขาแห่งนี้ เพราะเนื่องจากแต่เดิมที่มีการฝั่งศพไว้ในที่โล่งแจ้ง หรือฝังไว้ใต้พีระมิดนั้น ทำให้ง่ายต่อการโจรกรรมสมบัติ จนในยุคของฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 1 (Thutmose I) ฟาโรห์องค์ที่สามแห่งราชวงศ์ที่ 18 ได้สร้างสุสานของพระองค์ไว้ที่หุบเขากษัตริย์ และสั่งให้ย้ายมัมมี่ของฟาโรห์ยุคก่อนๆ ไปไว้ที่หุบเขาแห่งนี้ด้วย เพื่อให้รอดพ้นจากสายตาของพวกหัวขโมย ภายหลังจากนั้นที่แห่งนี้จึงกลายเป็นแหล่งรวมของสุสานของฟาโรห์และราชวงศ์มากมาย และด้วยความแออัดของสุสานในยุคแรกๆที่มีการฝังศพไว้ที่นี่ คนงานจะทำการขุดลึกลงไปในหุบเขา เป็นขันบรรได ตรงๆ เข้าไป ไม่มีความซับซ้อนมากนัก จนเกิดปัญหาขึ้นเมื่อทำการสร้างสุสานใหม่ เพราะขุดไปทะลุกันบ้าง ขุดแล้วทำให้สุสานหล่นทับกันบ้าง วิศกรยุคโบราณจึงได้มีการสร้างสุสานใหม่เป็นรูปตัว L เพื่อหลีกเลี้ยงปัญหาดังกล่าว แถมยังมีการสร้างสุสานให้มีหลายๆ ห้อง ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นด้วย  สำหรับผมหวังเพียงว่านักโบราณคดีจะสามารถขุดค้นพบสุสานใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อจะได้ศึกษากัน

ครั้งต่อไปผมจะไล่เรียงทั้งประวัติ และการขุดค้นพบสุสานของฟาโรห์ที่มีชื่อเสียงแต่ละองค์ให้อ่านกันนะครับ



Create Date : 15 มกราคม 2557
Last Update : 15 มกราคม 2557 12:38:22 น.
Counter : 6348 Pageviews.

1 comment
ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 (Amenhotep IV) กษัตริย์ผู้พลิกประวัติศาสตร์

ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 (Amenhotep IV) หรือ อัคเคนาเตน (Akhenaten) ก่อนจะเล่าถึงพระราชประวัติของอัคเคนาเตน ผมขอย้อนไปเล่าถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นก่อนรัชสมัยของอัคเคนาเตน ตลอดจนบรรพบุรุษของอัคเคนาเตนด้วยนะครับ ในยุคหลังรัชสมัยของธุตโมซิสที่ 3 (นโปเลียนแห่งอียิปต์) ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของ ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 2, ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 4 และฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ลองสังเกตุดูนะครับพระนามของฟาโรห์ในแต่ละรัชสมัยนอกจากจะตั้งตามบรรพบุรุษ แล้วยังถือว่าเป็นการตั้งชื่อเพื่อแสดงถึงความเคารพแด่เทพเจ้าอีกด้วย เช่น "ธุตโมซิส" แปลว่า "ธ็อธได้เกิดแล้ว" เพื่อเป็นเกียรติแก่เทพเจ้าธ็อธ เทพเจ้าแห่งตัวอักษร เป็นต้น

อียิปต์โบราณนอกจาก ธีบส์ แล้ว เมืองหลวงอีกแห่งหนึ่งจะตั้งอยู่ที่เมืองเมมฟิสครับ โดยถ้าจะเปรียบเทียบแล้ว เมมฟิส ก็คือศูนย์กลางของการบริหารประเทศ ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศ บนจุดที่แม่น้ำไนล์แตกออกตรงสามเหลี่ยมปากแม่น้ำไนล์ ปัจจุบันโบราณสถานที่เมมฟิสค่อนข้างเหลืออยู่น้อย เพราะเนื่องจากที่ตั้งอยู่บนที่ลุ่มปากแม่น้ำทำให้น้ำท่วมบ่อยครั้ง บ้านเมืองในยุคนั้นก็สร้างจากอิฐตากแห้ง พอน้ำท่วมแน่นอนครับอิฐก็แปลสภาพไปเป็นโคลนตามเดิม น่าคิดว่าสมัยนั้นเมมฟิสคงจะเป็นอีกเมืองหลวงหนึ่งที่แออัด และวุ่นวายที่สุดในโลกอีกเมืองหนึ่ง ปัจจุบันมีซากเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้นครับ ต่างจากธีบส์ที่เป็นเมืองแห่งสิ่งปลูกสร้างอย่างแท้จริง อย่างสถานที่สำคัญๆที่ยังเหลืออยู่ให้เห็นในปัจจุบันส่วนมากก็จะตั้งอยู่ที่ธีบส์นะครับ ซึ่งวิหารสำคัญสร้างสำหรับสรรเสริญเทพเจ้า และเพื่อฟาโรห์ได้ทำพิธีสรรเสริญต่อพระเจ้า ตลอดจนพิธีกรรมสำคัญต่างๆ

ในยุคของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 เมมฟิส และ ธีบส์ รุ่งเรืองไม่น้อยไปกว่ายุคใดๆ มีหลักฐานจารึกบนหินที่สลักเป็นรูปร่างเหมือนแมลงสแครบ (หน้าตาคล้ายๆ แมลงเต่าทอง) ถ้าใครเคยดูหนังเดอะ มัมมี่ น่าจะพอนึกออกนะครับแมลงปีกแข็งๆ ตัวสีดำๆ นะครับ ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าแมลงนี้แสดงถึงความโชคดีครับ ซึ่งจารึกนั้นไปบอกว่า ...ราชินีของเรา พระนางไทเย บิดาของนางชื่อ ยูยา มาดาของนางชื่อ ตูยา นางเป็นราชินีแห่งกษัตริย์ผู้ทรงอำนาจ...ไม่ต้องอาศัยนักประวัติศาตร์ถ้าเราได้อ่านคำจารึกที่ค้นพบนี้ก็เป็นที่ทราบกันครับว่า พระนางไทเย เป็นสามัญชน แถมยังได้เป็นถึงพระราชินีแห่งฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 อีกด้วย

ไทเยให้กำเนิดพระโอรสและพระธิดาถึง 6 พระองค์ เป็นพระโอรส 2 พระองค์ และพระธิดา 4 พระองค์ ตามหลักฐานที่พบพระโอรสองค์โตตั้งพระนามตามบรรพบุรุษว่า ธุตโมซิส แต่ประวัติจะค่อนข้างมีน้อยนะครับ เท่าที่ผมอ่านเจอจะทราบเพียงว่าพระโอรสองค์นี้ อเมนโฮเทปที่ 3 ได้แต่งตั้งให้เป็นหัวหน้านักบวชในเมืองเมมฟิส และสิ้นพระชนม์ด้วยวัยพรรษาที่ไม่มากนัก สร้างความเศร้าโศกให้ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 เป็นอย่างมาก เพราะดูเหมือนกับว่าฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 จะประสงค์ให้พระโอรสพระองค์นี้ขึ้นครองราชย์ แต่ลืมนึกไปหรือเปล่าว่าพระองค์มีพระโอรสอีกหนึ่งองค์ที่ชื่อฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 หลักฐานที่กล่าวถึงฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 ในช่วงยุคสมัยของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 นั้นมีน้อยมาก พูดง่ายๆ คือดูเหมือนกับว่าฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ไม่ได้ทรงรักเจ้าชายอเมนโฮเทปที่ 4 เท่าใดนัก มีแต่ผู้เป็นแม่ที่ถึงอย่างใดก็รักลูกเสมอ ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ทรงประชวร ในระหว่างนี้พระนางไทเย จึงจำเป็นต้องตัดสินใจบางอย่าง พระนางได้ทรงเลือกให้อเมนโฮเทปที่ 4 ขึ้นสำเร็จราชการร่วมกับพระบิดา จวบจนฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 ได้สิ้นพระชนม์ในเวลาต่อมา

สิ้นยุคของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 เรื่องราวต่างๆ ที่จะได้จารึกไว้บนฝาผนังวิหาร และกระดาษปาปิรุส ในช่วงรัชสมัยของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 3 มีอยู่มากมาย ที่สำคัญจารึกส่วนมากจะอยู่ที่เมืองธีบส์ซึ่งฝนตกน้อยกว่าเมืองเมมฟิส ความชื้นก็น้อยกว่า ทำให้ร่องรอยอารยธรรมยังหลงเหลือให้นักประวัติศาสตร์ได้ค้นพบ แปล และตีพิมพ์ไว้ โชคดีสำหรับผู้สนใจรุ่นหลังอย่างผมจริงๆ เลยครับ

รัชสมัยของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 (อัคเคนาเตน)

ร่องรอยจารึก รูปแกะสลักต่างๆ ในยุคของฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 (อัคเคนาเตน) มีรูปทรงที่แปลกตาไปจากยุคก่อนและหลังโดยสิ้นเชิง เพราะรูปทรงพระพักต์จะดูยาวๆ และรูปทรงที่เน้นชีวิตชีวามากขึ้น มีรูปสลักที่แสดงให้เห็นถึงอาริยบถต่างๆ ในชีวิตประจำวันของพระองค์ ซึ่งอียิปต์ไม่เคยมีมาก่อนนะครับ จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ทำให้ผมสนใจประวัติอัคเคนาเตนไม่น้อยเลยทีเดียวครับ พระองค์เป็นพระบิดาของฟาโรห์ตุตันคาเมน ฟาโรห์ที่ใครๆ ต่างรู้จักกันดี

ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 4 เป็นโอรสองค์สุดท้ายของอเมนโฮเทปที่ 3 กับพระนางไทเย ขึ้นปกครองอียิปต์ในช่วง 1,340 ปีก่อนคริสตกาล อภิเษกสมรสกับ เนเฟอร์ติตี แปลว่า "การมาของคนสวย" หญิงรูปงามที่เป็นสัญลักษณ์ของอียิปต์กิตติศัพท์ความเลอโฉมของพระนางเนเฟอร์ติตี เลื่องลื่อมาจวบจนปัจจุบัน ดูได้จากรูปปั้นครึ่งตัวที่ค้นพบ

อียิปต์โบราณปกติแล้วฟาโรห์จะต้องทำหน้าที่สนับสนุนนักบวช เพื่อทำพิธีสรรเสริญต่อพระเจ้า ฟาโรห์จะสวมหมวกสีขาวของอียิปต์บน และหมวกสีแดงของอียิปต์ล่างเพื่อยืนยันการปกครองเหนือดินแดนทั้งสอง แต่อเมนโฮเทปที่ 4 ไม่ได้จัดพิธีปกติที่เคยมีมา ไม่มีรูปปั้นเทพเจ้าใดๆ ที่ชาวอียิปต์คุ้นเคยมาเป็นพันปีก่อนหน้า

ปีที่ 5 ในรัชสมัยของอเมนโฮเทปที่ 4 พระองค์ได้เปลี่ยนพระนามเป็น อัคเคนาเตน แปลว่า เพื่อประโยชน์ของเทพอาเตน ถือเป็นการยืนยันที่แน่ชัดเลยครับว่าอเมนโฮเทปที่ 4 ขอเคารพเทพเจ้าเพียงองค์เดียว คือ เทพอาเตน (ดวงอาทิตย์) แน่นอนครับว่าการจัดสินใจของพระองค์ครั้งนี้ต้องสร้างความไม่พอใจให้กับเหล่าบรรดานักบวชแน่นอน และยิ่งความเชื่อที่มีมานานเป็นร้อยเป็นพันปี แล้ววันหนึ่งอเมนโฮเทปที่ 4 ก็มาเปลี่ยนแปลง บอกกับทุกคนว่าอย่าไปเชื่อ ให้เชื่อและศรัทธาแด่เทพอาเตนเพียงองค์เดียว ผมว่ามันไม่ง่ายเลยนะครับสำหรับยุคนั้น

และในช่วงหลังจากนั้นไม่นานอัคเคนาเตน ก็ได้ประกาศว่าจะย้ายเมืองหลวงไปที่  อาร์มาน่า (Amarna) หลายคนคิดว่าอัคเคนาเตน บ้าไปแล้ว เมืองธีบส์ที่เจริญรุ่งเรืองมีทุกสิ่งอย่าง แล้วพระองค์จะย้ายไปยังทะเลทรายอันแห้งแล้งทำไมกัน เมืองอามาร์น่า หรือปัจจุบันคือ เทล เอล อามาร์น่า มีเพียงทะเลทราย ไร้ผู้คนอาศัยอยู่ แต่อเมนโฮเทปที่ 4 กล่าวว่าที่นี่เป็นดินแดนอันบริสุทธิ์ และยังไม่มีมลทิน เหมาะแก่การสร้างเมืองเพื่อบูชาเทพอาเตน วิหารต่างๆ ที่สร้างขึ้นจึงไม่มีหลังคา เปิดโล่ง เพื่อให้พระอาทิตย์ส่องลงมา เหมาะในการทำพิธีบูชาเทพอาเตน อัคเคนาเตน สร้างเมืองอามาร์น่าในฝันจนสำเร็จ จากจารึกต่างๆ ที่พบอัคเคนาเตน ดูมีความสุขมากกับที่นี่ พระองค์มีพระราชินีที่เลอโฉมเคียงข้างกายเสมอ อัคเคนาเตน และพระนางเนเฟอร์ติตี มีพระธิดาองค์หนึ่งที่ปรากฏคือ "อังเคเซนาเมน" และพระโอรสที่เกิดจากพระชายาอีกองค์คือ "ตุตันคาเมน"

อัคเคนาเตน ครองราชย์ถึงปีที่ 17 ก็สิ้นพระชนม์ เป็นโอกาสให้ผู้ที่คิดต่าง และไม่เห็นด้วยกับความคิดของออัคเคนาเตน แต่แรกได้โอกาสเปลี่ยนธรรมเนียมปฏิบัติไปเป็นแบบเดิม ปล่อยให้ความฝัน การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตายไปพร้อมกับอัคเคนาเตน ร่อยรอยต่างๆ ที่เมืองอามาร์น่าก็แทบไม่มีเหลือให้เห็นอีกเลย ปัจจุบันมีเพียงรากฐานของเมืองเท่านั้น ดูเหมือนว่ามีคนจงใจจะล้างทุกอย่างเกี่ยวกับอัคเคนาเตน ออกไปจนหมดสิ้น ส่วนพระนางเนเฟอร์ติตี จะเป็นอย่างไรหลังจากนั้นก็ไม่มีหลักฐานจารึกไว้เช่นกัน ดูเหมือนพระนางจะหายไปจากประวัติศาสตร์ยุคนั้นอย่างไร้ร่องรอย...

แหมวันนี้มาซะยาวเลยนะครับ คงไม่เบื่อที่จะอ่านนะครับ พดดีมีเวลาเขียนเลยเล่าซะยาวเลย ประวัติน่าสนใจไม่น้อยเลยครับสำหรับอัคเคนาเตน ไว้คราวหน้าถึงคิวของ ฟาโรห์ตุตันคาเมน แล้วละครับ ขอเวลาไปรวบรวมข้อมูลแล้วจะกลับมาเขียนให้อ่านกันเพลินๆ นะครับ

Perzius 13/7/2013




Create Date : 13 กรกฎาคม 2556
Last Update : 13 กรกฎาคม 2556 17:01:25 น.
Counter : 9658 Pageviews.

0 comment
ธุตโมซิสที่ 3 ฟาโรห์นักรบสมญานาม "นโปเลียนแห่งอียิปต์"

เมื่อฮัตเซปซุตสิ้นพระชนม์ในปีที่ 22 ในรัชสมัยของพระนาง ธุตโมซิสที่ 3 ก็ขึ้นปกครองอียิปต์ในช่วงปี 1479-1425 ก่อนคริสตกาล มีรูปภาพสลัก และข้อความภาษาอียิปต์โบราณมากมายที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถในด้านศึกสงครามของฟาโรห์หนุ่มพระองค์นี้ พระองค์ได้รับชัยชนะเรื่อยมาจนเป็นผู้นำทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของอียิปต์ พระองค์นำทหารทำการรบทางตอนเหนือของอียิปต์ถึง 14 ครั้ง จนได้สมญานามว่า “นโปเลียนแห่งอียิปต์”



ฟาโรห์นักรบผู้ยิ่งใหญ่ ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) ฟาโรห์ผู้ไม่เคยพ่ายแพ้สงคราม พระองค์ชาญฉลาดทรงเป็นนักรบที่เก่งกล้า พระองค์เชี่ยวชาญในการขี่ม้า ยิงธนู และล่าสัตว์ รัชสมัยของพระองค์ศัตรูต่างกล่าวขวัญ และยำเกรงกันไปทั่วทุกเม็ดทราย บุรุษผู้น่ายำเกรงนี้เป็นโอรสแห่งฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 2 (Thutmose ll) ในช่วงวัยเยาว์พระองค์กลับต้องมาสูญเสียพระบิดาไป และตามธรรมเนียมแล้วฟาโรห์องค์ต่อไปที่จะต้องขึ้นครองบัลลังก์ แต่ด้วยวัยที่ยังเยาว์นัก ภาระหน้าที่ทั้งหมดจึงต้องตกเป็นของพระนางฮัตเซปซุต (Hatshepsut) พระมารดาเลี้ยง ที่ต่อมาได้ตั้งตนเป็นฟาโรห์หญิงองค์แรกแห่งแดนไอยคุปต์

สำหรับเรื่องราวของพระนางฮัตเซปซุต (Hatshepsut) ผมได้เขียนไว้แล้วก่อนหน้านี้นะครับ ลองอ่านดู เพราะเรื่องราว 2 รัชสมัยนี้จะเชื่อมโยงกัน

ในช่วงรัชสมัยของพระนางฮัตเซปซุต ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) ก็ขึ้นปกครองอียิปต์ตามสิทธิ์อันชอบธรรมที่พระองค์ควรได้รับ หรือควรจะได้รับเมื่อนานมาแล้ว ช่วงที่ฮัตเซปซุตครองราชย์อยู่นั้นฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) ไม่ได้ทรงพอพระทัยมากนัก เพราะมีหลักฐานว่าหลังการสิ้นพระชนม์ของฮัตเซปซุต ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) ได้สั่งให้ทำลายรูปเคารพ และรูปสลักของพระนางฮัตเซปซุตเกือบหมดสิ้น ซึ่งตามความเชื่อของชาวอียิปต์โบราณว่าการทำลายพระนาม หรือชื่อของผู้ใด เสมือนเป็นการทำให้ผู้นั้นไม่สามารถเดินทางไปยังภพหน้าได้ เหตุใดฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) ถึงได้ตัดสิ้นใจเยี่ยงนั้น

ด้วยอำนาจของฮัตเซปซุตที่ถึงแม้จะเป็นอิสตรีแต่ในช่วงรัชสมัยของพระนางจะด้วยการทูตหรืออย่างไรไม่ทราบศัตรูกลับยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของอียิปต์ พร้อมส่งเครื่องบรรณาการด้วยเจตจำนงค์ยอมสวามิภักดิ์ต่ออียิปต์



เมื่อฮัตเซปซุตสิ้นพระชนม์ ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) พบว่าตัวเองต้องเผชิญหน้ากับเจ้าชายแห่ง Kadesh และ Megiddo ซึ่งมีกองทัพขนาดใหญ่ พร้อมญาติของพวกเขาที่อาศัยอยู่ในซีเรียกลับปฏิเสธที่จะจ่ายส่วย แถมประกาศว่าตัวเองได้เป็นอิสระจากอียิปต์ ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) ได้รวมพลเดินทัพข้ามทะเลทรายไซนายไปยังเมืองกาซา ซึ่งยังจงรักภักดีต่ออียิปต์เพื่อกดดัน ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ถูกบันทึกไว้บนผนังของวิหารคาร์นัค เป้าหมายแรกในการจู่โจมคือเมือง Megiddo ทางตอนเหนือ ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) ใช้เส้นทางแคบๆ ระหว่างหุบเขาเพื่อพรางตาศัตรู พระองค์สามารถนำทัพไปถึงจุดหมายได้อย่างปลอดภัย กองทัพฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) สามารถล้อมเมือง Megiddo ไว้ได้จนหมดสิ้น และในที่สุดกษัตริย์ Megiddo ก็สิ้นฤทธิ์ส่งบุตรชายบุตรสาวของตนเพื่อขอเจรจาสงบศึก และยอมสวามิภักดิ์ต่ออียิปต์เช่นเดิม



ในปีที่ 33 แห่งการครองราชย์ ธุตโมซิสทำสงครามไปทางด้านแม่น้ำยูเฟรตีส และได้รับชัยชนะเหนือกษัตริย์ของมินตานนิ ทรงตั้งหลักศิลาจารึกถึงชัยชนะครั้งนี้ไว้ด้วย ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) ได้รับสมญานามจากนักประวัติศาสตร์ว่า "นโปเลียนแห่งอียิปต์" เนื่องด้วยพระปรีชาสามารถในด้านการทำศึกสงครามของพระองค์ ที่ทำให้อียิปต์แผ่แสนยานุภาพยิ่งกว่ารัชสมัยใดๆ ทั้งเหนือ ใต้ ออก ตก ตามหลักฐานพบว่าพระองค์ได้ยกทัพไปทำศึกสงครามกับประเทศต่างๆ เช่น ซีเรีย นูเบีย คานาน มิแทนนี่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าแต่ละประเทศในดินแดนแถบนี้มีทั้งภูเขา ทะเลทราย แม่น้ำ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคทั้งสิ้น ในยุคที่ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) ปกครองแผ่นดินอียิปต์ต่างร่มเย็นเป็นสุขเป็นอย่างมาก ไร้ซึ่งสัตรูแผ้วพาน เพราะฟาโรห์ผู้เกรียงไกรได้ขับไล้ไปจนหมดสิ้น



ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) สิ้นพระชนม์ในวัย 54 พรรษา มีการขุดค้นพบมัมมี่ของพระองค์ที่เดีย แอล-บาฮารี่ ด้านบนวิหารของพระนางฮัตเซปซุต พระองค์ถูกฝังรวมกับฟาโรห์องค์อื่นๆ แห่งราชวงศ์ที่ 18 และ 19 บนหุบเขากษัตริย์ เช่น ฟาโรห์อาห์โมซิสที่ 1, ฟาโรห์อเมนโฮเทปที่ 1, ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 1, ฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 2 (พระบิดา), ฟาโรห์เซติที่ 1, ฟาโรห์รามเซสที่ 2 เป็นต้น

ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) เวลานั้นอียิปต์มีกองทัพที่ยิ่งใหญ่ จนเป็นที่หวาดกลัวไปทั่วตะวันออกกลาง พระนามฟาโรห์ธุตโมซิสที่ 3 (Thutmose lll) เป็นที่กล่าวขานไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน หลังจากนั้น พระองค์ได้ยกระดับความรุ่งเรืองให้บ้านเมือง และยกระดับความน่าภาคภูมิใจให้ราชวงศ์ที่ 18 แห่งอียิปต์สืบจากนั้น จวบจนบัดนี้หลักฐานต่างๆ ก็ยังคงหลงเหลืออยู่

Perzius 12/7/2013




Create Date : 12 กรกฎาคม 2556
Last Update : 13 กรกฎาคม 2556 13:00:52 น.
Counter : 3522 Pageviews.

4 comment
1  2  

seeyoujapan
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]



ใครจะนึกครับว่า Web Designer อย่างผมจะมีอีกมุมของผู้ที่หลงไหลในเรื่องราวของประวัติศาสตร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประวัติศาสตร์อียิปต์