ข้าราชการฝีปากกล้า นิยามค่าความภักดี
ข้าราชการฝีปากกล้า นิยามค่าความภักดี
"ระหว่างการก่อร้างสร้างตัวกับการรักษาทรัพย์สมบัติที่มีอยู่ อย่างไหนเป็นเรื่องยากกว่ากัน" เป็นคำถามที่ถังไท่จงมหาราชตั้งขึ้นถามเหล่าขุนนางในงานรื่นเริงที่จัดขึ้น
ขุนนางร่วมก่อตั้่งราชวงศ์ถังทุกคนที่ออกศึกมาต่างพร้อมกันกราบทูลว่า "ต้องเป็นการก่อร้างสร้างตัวที่ยากลำบากกว่าแน่นอน" ยกเว้นเว่ยเจิงคนเดียวที่เงียบอยู่ จนถังไท่จงต้องทรงตรัสถามว่าท่านเว่ยเจิงทำไมเงียบไป
เว่ยเจิงทูลตอบว่า "ทุกราชวงศ์ตั้งขึ้นมาได้ยามที่บ้านเมืองเป็นทุกข์เข็ญ แต่ทุกราชวงศ์ดังกล่าวต่างล่มสลายลงในขณะที่กษัตริย์องค์สุดท้ายทรงใช้ชีวิตอย่างเกษมสำราญสุดๆ" เมื่อสิ้นคำพูดของเว่ยเจิงทำให้งานท้ังงานเงียบกริบ แต่ได้ทำให้ถังไท่จงระลึกสัจธรรมขึ้นมาได้ ถึงกับตรัสยกย่องคำติงของเว่ยเจิง เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปีศักราชเจินกวนที่ 12 ครงกับ คศ. 638
เว่ยเจิง เกิดในตระกูลยากจนใน คศ. 580 ในเมืองหานตาน มลฑลเหอเป่ย หนึ่งปีก่อนการกำเนิดของราชวงศ์สุย ราชวงศ์สุยที่ปกครองโดยคนสกุลหยางได้ปราบปรามแคว้นต่างๆรวบรวมกลับมาอยู่ภายใต้การปกครองของคนจีนอีกครั้ง แต่ราชวงศ์สุยนั้นสั้นนักมีแค่สองราชกาล (คศ. 581 - 618) ก็เกิดจราจลขี้น จนในที่สุดก็มารวมกันได้อีกทีภายใต้ราชวงศ์ถังของหล่ียวน
เมื่อสมัยหนุ่มเว่ยเจิงเคยร่วมกับกลุ่มต่อต้านราชวงศ์สุยทำการสู้รบปลดแอกการปกครองของจักรพรรดิ์สุย ต่อมาได้เข้ามาอยู่ในกองทัพถังของหลี่ยวนภายใต้ราชบุตรองค์โตหลี่เจี้ยนเฉิง แต่ในยุคต้นของการสถาปนาราชวงศ์ถังคนที่เป็นกำลังสำคัญที่สุดในการบุกเบิกราชวงศ์กลายเป็นหลี่ซื่อหมินราชบุตรองค์รอง ที่เป็นทั้งนายทหาร นักการวางแผน
ภายหลังการสถาปนาราชวงศ์ถังได้มั่นคงแล้วหลี่ยวนได้สถาปนาดัวเองขึ้นเป็นถังไท่จู่ และได้ทรงสถาปนาหลี่เจี้ยนเฉิงขึ้นเป็นไท่จื่อหรือองค์รัชทายาท ส่วนหลี่ซื่อหมินผู้มีความดีความชอบมากที่สุดได้รับตำแหน่ง?ฉินหวาง ควบตำแหน่งผู้บัญชาการสูงสุด และตำแหน่งราชเลขานุการ นี่เป็นจุดเริ่มต้นของกรณีนองเลือดที่ประตูเสวียนหวู่เหมิน
เนื่องด้วยความก้าวหน้าที่เกินหน้าเกินตาพี่น้องของหลี่ซื่อหมิน ทำให้องค์ไท่จื่อหลี่เจี้ยนเฉิง และหลี่หยวนเจี๋ย น้องชายคนที่สามเกิดอาการระแวงหลี่ซื่อหมิน จึงได้เริ่มขบวนการริดรอนอำนาจหลี่ซื่อหมิน และเลยเถิิดถึงขั้นพยายามวางยาฆ่าหลี่ซื่อหมิน ซึ่งแผนการท้ังหมดคนที่เป็นต้นคิดก็คือเว่ยเจิงกุนซือของหลี่เจี้ยนเฉิงในขณะนั้น แต่ดวงของหล่ีซื่อหมินยังไม่ถึงฆาต แม้ไม่ถึงตายแต่ก็เล่นเอาหลี่ซื่อหมินเสียอำนาจการบังคับบัญชาไปเยอะ ทำให้หลี่ซื่อหมินตั้งเป้าเป็นศัตรูกับหลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่หยวนเจี๋ยอย่างเปิดเผย
ในที่สุดพี่น้องท้ังสามคนก็ไม่สามารถร่วมกันอยู่อย่างปกติสุขได้ ถังไท่จู่ทรงคิดที่จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยจึงได้เรียกตัวโอรสท้ังสามพระองค์เข้าวัง แต่เหตุการณ์กลับเลวร้ายกว่าที่คิด ขณะที่หลี่ซื่อหมินและทหารองครักษ์ขี่ม้าจะเข้าประตูเสวียนหวู่เหมิน เป็นเวลาพอดีกับที่หลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่หยวนเจี๋ยกำลังมาถึงประตูพอดี หลี่หยวนเจี๋ยเห็นหลี่ซื่อหมินเข้าก็ชักธนูยิงใส่หลี่ซื่อหมิน หลี่ซื่อหมินจึงยิงตอบกลับไปโดนหลี่เจี้ยนเฉิงองค์ไท่จื่อถึงแก่ความตาย ทำให้ทหารองครักษ์ของท้ังสองฝ่ายเข้าตะลุมบอน สุดท้ายทหารของหลี่ซื่อหมินสามารถสังหารหลี่หยวนเจี๋ยได้ ทำให้ทหารองครักษ์ของไท่จื่อยอมแพ้ ถังไท่จู่ทรงทราบข่าวก็ไม่รู้จะทำอย่างไร นอกจากแต่งตั้งให้หลี่ซื่อหมินกลับมาเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด และตำแหน่งรัชทายาท ต่อมาอีกสองเดือนจึงทรงสละราชอำนาจให้หลี่ซื่อหมินเป็นถังไท่จง จักรพรรดิ์องค์ที่สองของราชวงศ์ถัง เริ่มศักราชเจินกวน (คศ. 626)
หลังเหตุการณ์นั้นก็เกิดการฆ่าล้างครัวของหลี่เจี้ยนเฉิงและหลี่หยวนเจี๋ย และคนแรกที่อยู่ในบัญชีที่จะต้องถูกประหารต่อไปก็คือ เว่ยเจิง กุนซือตัวสำคัญในการวางแผนช่วงชิงอำนาจจากหลี่ซื่อหมิน ทันทีที่เว่ยเจิงถูกควบคุมตัวเข้ามาพบหลี่ซื่อหมิน พระองค์ทรงขู่ที่จะประหารเว่ยเจิงในฐานะที่วางแผนปองร้ายพระองค์ แต่เว่ยเจิงนอกจากจะไม่เกรงกลัวแล้วยังตอบกับไปว่า "เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความปรารถนาใคร่ได้ในราชสมบัติของพระองค์เอง จะกล่าวว่าตัวข้าพเจ้าเป็นสาเหตุให้เกิดการเข่นฆ่าระหว่างพี่น้องก็หาได้ไม่ ตัวข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษาขององค์ไท่จื่อหลี่เจี้ยนเฉิงก็ต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด"
แม้ตัวหลี่ซื่อหมินจะยังโกรธอยู่แต่ก็ชื่นชมในความจงรักภักดีและความกล้าหาญของเว่ยเจิงแทนที่จะประหารกลับแต่งตั้งให้เป็นขุนนางถวายคำเตือน รับใช้ใกล้ชิดพระองค์ ซึ่งพระองค์ก็ตัดสินพระทัยไม่ผิด เว่ยเจิงทำหน้าที่รับใช้พระองค์เป็นเวลาถึง 13 ปี วางรากฐานให้ราชวงศ์ถังเป็นราชวงศ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ถังไท่จงได้รับการยกย่องให้เป็นจักรพรรดิ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์จีน
ตัวเว่ยเจิงอุปนิสัยเป็นคนตรง และมีฝีปากกล้า ตลอดเวลาที่รับใช้ถังไท่จง ถวายคำคัดค้านถังไท่จงถึง 200 กว่าเรื่อง และทุกเรื่องเข้าขั้นคอขาดบาดตายท้ังนั้น ดังมีจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีการถกเถียงกันต่อหน้าพระที่นั่งถึงกฏหมายฉบับหนึ่ง เว่ยเจิงยืนยันหัวเด็ดตีนขาดไม่ยอมทำตามพระราชประสงค์ของถังไท่จง แถมยังวิจารณ์ติติงถังไท่จงอย่างไม่ไว้พระพักตร์ ถึงขั้นถังไท่จงที่ว่าเป็นจักรพรรดิ์ที่มีขันติธรรมเป็นเลิศในการฟังคำวิจารณ์ตัวเองแล้ว ยังไม่สามารถทนฟังได้ สั่งยกเลิกการประชุมกลางคัน แล้วเสด็จเข้าพระราชวังไป
เมื่อเสด็จเข้าถึงข้างใน ทรงพิโรธโกรธา คำรามด้วยพระสุรเสียงอันดังว่า "วันนี้ข้าต้องบั่นศีรษะ เจ้าเฒ่าหัวดื้อนั้นให้ได้" ประกอบกับขณะนั้นจ่างซุ่นไทเฮาพระราชินีทรงเฝ้าอยู่จึงได้ทรงซักถามถึงที่มาที่ไปของเหตุการณ์ แล้วก็ไม่ทรงตรัสว่าอะไร ทรงเสด็จเข้าข้างในแล้วย้อนกลับมาด้วยชุดฉลองพระองค์เต็มพระยศที่ใช้ในราชพิธีสำคัญเท่านั้น ถังไท่จงทรงแปลกพระทัยจึงตรัสถามถึงเหตุผลที่จ่างซุ่นฮองเฮาทรงทำเช่นนี้ "หม่อมฉันรู้สึกปลาบปลื้มแทนพระองค์ที่ทรงมีขุนนางที่จงรักภักดีเช่นนี้ ท่านเว่ยเจิงกล้าที่จะทูลทัดทานพระองค์โดยไม่กลัวราชภัย คนอย่างนี้พระองค์ควรจะทรงพอพระราชหฤทัยมากกว่าจะทรงกริ้ว เพราะคนอย่างท่านเว่ยเจิงนี่แหละที่จะทำให้ราชวงศ์ถังเจริญก้าวหน้าต่อไป" จ่างซุ่นฮองเฮาทรงตรัสตอบ ถังไท่จงแม้จะทรงพิโรธอยู่แต่ก็ทรงได้สติกลับมา ทรงเรียกตัวเว่ยเจิงเข้าเฝ้าแล้วให้ปฏิบัติตามแนวคิดของเว่ยเจิง
เว่ยเจิงได้เป็นที่วางพระทัยถึงขั้นได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในสภาขุนนาง มีชื่อติดในหนึ่งในยี่สิบสี่ขุนนางบนหอเกียรติยศ และได้รับพระราชานุญาติให้มีสิทธิพิเศษสามารถเข้าเฝ้ากราบทูลข้อราชกิจได้ทุกเวลาโดยไม่ต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติล่วงหน้า แสดงถึงความไว้พระทัยในตัวเว่ยเจิงอย่างยิ่ง ท้ังที่เว่ยเจิงเคยเป็นศัตรูวางแผนปองร้ายพระองค์มาก่อน
มีเรื่องเล่าว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งถังไท่จงทรงเล่นกับนกตัวโปรดอยู่ พอดีที่เว่ยเจิงเข้าเฝ้าตามสิทธิพิเศษ และตัวถังไท่จงเกรงใจเว่ยเจิงเนื่องด้วยเว่ยเจิงเคยถวายคำเตือนเรื่องที่พระองค์ทรงใช้เวลากับนกตัวโปรดมากจนเสียราชการงานใหญ่ ถังไท่จงเลยต้องซ่อนนอกไว้ในอกเสื้อ เว่ยเจิงกราบทูลนานไปหน่อย เมื่อทูลลากลับปรากฏว่านกตัวนั้นได้ตายไปแล้ว
ในปีเจินกวนที่ 10 (คศ. 636) จ่างซุ่นฮองเฮาราชินีคู่พระทัยได้สิ้นพระชนม์ลง ยังความโศรกเศร้าโทมนัสแก่ถังไท่จงเป็นอย่างมาก ถึงขั้นที่พระองค์ทรงสร้างอนุสรณ์สถานขึ้นเป็นที่ระลีก และทรงเสียพระทัยจนกระทบราชการ จนมีวันหนึ่งทรงปรารภถึงจ่างซุ่นฮองเฮาให้เว่ยเจิงฟังขณะประทับอยู่บนตำหนักที่เป็นอนุสรณ์ถึงจ่างซุ่นฮองเฮา เว่ยเจิงกลับทูลตอบกลับไปว่า "ข้าพระองค์นึกว่าที่พระองค์ขึ้นมาที่พระตำหนักนี้เพื่อถวายความเคารพต่อพระศพถังไท่จู่ซะอีก" (วัฒนธรรมจีนนั้นถือความกตัญญูต่อบุพการีเป็นสิ่งสำคัญสูงสุดแม้บุพการีจะเสียชีวิตไปแล้ว) ถังไท่จงทรงระลึกสติได้พระองค์จึงสั่งให้รื้ออนุสรณ์นั้นออกแล้วนำไปบริจาคสร้างวัด (แต่ถังไท่จงก็ไม่เคยทรงแต่งตั้งใครขึ้นเป็นฮองเฮาอีกแม้จะมีสนมมากมายก็ตาม)
เว่ยเจิงเป็นขุนนางคนสำคัญที่กล้ากระตุกหนวดมังกร เคยเอาคอพาดเขียงแม้กรณีที่ถังไท่จงทรงลำเอียงเข้าข้างพระโอรสองค์โปรด พระองค์ทรงขู่ขุนนางที่ขัดพระทัยพระโอรสของพระองค์ว่า "สมัยราชวงศ์สุย จักรรพรรดิ์สุยเหวินตี้ทรงโปรดพระโอรสมากถึงกับลงโทษขุนนางที่ขัดพระทัยพระโอรส พวกท่านไม่กลัวจะเป็นอย่างขุนนางเหล่านั้นหรือ" ขณะที่ขุนนางทุกคนต่างเงียบกันหมด ก็เป็นเว่ยเจิงคนฝีปากกล้านี่แหละทีี่ยื่นคอมาพาดเขียง เว่ยเจิงกล่าวสั้นๆว่า "หากบ้านเมืองยังปกครองด้วยกฏหมายอยู่ ข้าพระองค์ถึงจะกราบทูลต่อไป ข้าพระองค์ขอทูลถามก่อนว่า ขณะนี้ยังใช้กฏหมายปกครองบ้านเมืองอยู่หรือไม่" ถังไท่จงเจอคนจริงอย่างเว่ยเจิงเลยพระราชทานอนุญาติให้เว่ยเจิงพูดต่อ เว่ยเจิงกล่าวต่อว่า "ตัวข้าพระองค์ไม่เคยเกรงกลัวจะต้องรับเคราะห์กรรมเหมือนขุนนางเหล่านั้น แต่พระองค์เคยคิดไหมว่าจะต้องมีจุดจบแบบจักรพรรดิ์สุยเหวินตี้" (สุยเหวินตี้เป็นจักรพรรดิ์องค์สุดท้ายของราชวงศ์สุย สิ้นพระชนม์โดยถูกล้อมไว้แล้วถูกขุนพลของตัวเองปลงพระชนม์) ถังไท่จงเลยได้พระสติกลับมา แต่งตั้งให้เว่ยเจิงเป็นพระอาจารย์ของรัชทายาทอีกตำแหน่งหนึ่ง
ปีเจินกวนที่ 11 ถังไท่จงทรงปกครองแผ่นดินมานานถึง 11 ปี สร้างแผ่นดินจีนให้เป็นยุคทองขนาดมีคำกล่าวว่า ราษฎรออกจากบ้านโดยไม่จำเป็นต้องลั่นกุญแจบ้าน ทำงานเสร็จก็ทิ้งเครื่องมือไว้ตรงที่ทำงานได้ไม่ต้องกลัวหาย ทำให้พระองค์ทรงเคลิ้มๆไป หันมาหาความสุขส่วนพระองค์สร้างพระราชวังตามที่ต่างๆ มีความคิดที่จะทำสงครามขยายแสนยานุภาพไปเกาหลี ประกอบกับช่วงนั้นเว่ยเจิงป่วยกระเสาะกระแสะไม่สามารถเข้าเฝ้าได้หลายเดือน แต่ก็ตามข่าวว่าถังไท่จงมีอาการเสียสูญไปเหมือนกัน จึงเร่งเขียนฎีกาถวายท้ังๆที่ป่วยหนักอยู่ เนื้อหาฎีกากล่าวตักเตือนถังไท่จงให้ทรงระวังพระองค์ในการใช้ชีวิตอย่างสุขสำราญมากเกินไป พระองค์ทรงอ่านฎีกานั้นอย่างใจจดใจจ่อ ถึงกับปรารภว่า "ท่านเว่ยเจิงป่วยหนัก แต่ยังอดทนเขียนฎิกามาเตือนข้าเช่นนี้ จะต้องนำเรื่องนี้ไปแจ้งให้ทุกคนทราบไว้เพื่อเป็นตัวอย่าง และไม่ให้ใครเอาอย่างเหอเจิง" (เหอเจิงเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยซื่อหม่าเหยียน ปฐมจักรพรรดิ์ราชวงศ์จิ้น หลังจากทรงรวบรวมสามก๊กมาเป็นแผ่นดินเดียวกันได้ พระองค์ทรงใช้ชีวิตฟุ่มเฟือยแหลกเหลว เหอเจิงมีหน้าที่ต้องกราบทูลถึงความจริงและผลร้ายของการใช้ชีวิตพระองค์เช่นนี้ แต่กลับกลัวราชภัย เวลาเข้าเฝ้าก็เงียบไม่กล้าทูลทัดทานใดๆ สุดท้ายเมื่่อซือหม่าเหยียนสิ้นพระชนม์ก็เกิดจราจลขึ้นท้ังประเทศ ตัวเหอเจิงและครอบครัวถูกฆ่าตายในการจราจลนั้น)
เว่ยเจิงถวายการรับใช้ถังไท่จงจนถึงศักราชเจินกวนที่ 13 (คศ. 643) ก่อนจะสิ้นใจ ถังไท่จงทรงเสด็จไปเยี่ยมถึงบ้าน ทรงตกพระทัยที่เห็นสภาพบ้านของเว่ยเจิงซอมซ่อไม่สมฐานะอัคราชเสนาบดี เลยทรงดำริให้รื้อพระตำหนักของพระองค์มาสร้างบ้านให้เว่ยเจิง เว่ยเจิงทูลทัดทานว่าตัวเขาได้รับเบี้ยหวัดและบ้านช่องเพียงพอแล้ว แต่ถังไท่จงยืนกรานตามพระราชดำริ "ที่ข้าสร้างบ้านให้ท่านใหม่ไม่ใช่เพื่อให้ท่านอยู่อย่างเดียว แต่เพื่อเป็นการทำให้ความจริงยังปรากฏอยู่ว่า คนทำความดีย่อมต้องได้รับผลดีตอบแทน" เว่ยเจิงจึงยอมอยู่ในบ้านพระราชทาน
ก่อนเว่ยเจิงสิ้นใจ ทรงส่งองค์รัชทายาทไปปรนนิบัติเว่ยเจิง และยังทรงยกพระธิดาให้แต่งงานกับลูกชายของเว่ยเจิง เมื่อเว่ยเจิงสิ้นใจถังไท่จงทรงให้ฝังร่างเว่ยเจิงไว้ในสุสานหลวงใกล้กับสุสานที่เตรียมไว้ของพระองค์
วันที่ถังไท่จงทรงทราบข่าวการสิ้นใจของเว่ยเจิง พระองค์ทรงกล่าวถึงเว่ยเจิงอย่างเสียพระทัยว่า "คนเราใช้กระจกส่องดูรูปลักษณ์ตน ใช้ประวัติศาสตร์ส่องความเป็นไปบ้านเมือง ใช้ความเห็นของคนอื่นส่องดูจุดเด่นจุดด้อยของตนเอง วันนี้ท่านเว่ยเจิงจากไป ข้าเหมือนสูญเสียกระจกวิเศษบานหนึ่งไป"
ตลอดเวลาที่เว่ยเจิงถวายการรับใช้ถังไท่จง เว่ยเจิงไม่เคยกล่าวคำพูดใดแสดงออกถึงความภักดีของตน ในทางกลับกันเว่ยเจิงกลับกล้าพูดความจริง กล้าติติงถังไท่จง โดยไม่เกรงกลัวพระราชอาญา แม้เวลาผ่านมาเกือบ 1,400 ปี นักประวัติศาสตร์จีนก็ยังยกย่องให้เว่ยเจิงเป็นหนึ่งในตัวอย่างของนิยามคำว่า "ภักดี"
ปล. ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1. //en.wikipedia.org/wiki/Wei_Zheng 2. ถังไท่จงมหาราช, เล่าชวนหัว, บริษัทต้นอ้อ แกรมมี่จำกัด 3. ประวัติศาสตร์ราชวงศ์ถัง "ซุยถัง", กรมศิลปากร
Create Date : 26 ธันวาคม 2549 |
|
69 comments |
Last Update : 26 ธันวาคม 2549 10:15:37 น. |
Counter : 4898 Pageviews. |
|
 |
|
และหลังจากนั้นถังไท่จงก็ทรงต้องประสบเคราะห์กรรมในเรื่องราชโอรสแย่งชิงอำนาจกันเอง เหมือนครั้งที่พระองค์ยังเป็นองค์ชายอยู่ เป็นเหตุให้ต้องทรงปลดและเนรเทศพระโอรสองค์โตที่เป็นไท่จื่อออก แล้วแต่งตั้งหลี่จื้อ ราชโอรสองค์ที่สามขึ้นเป็นไท่จื่อ ท้ังที่เป็นโอรสที่มีแววไม่เอาไหนที่สุด ขณะที่เฝ้าพระอาการถังไท่จงกลับลอบมีชู้กับสนมคนโปรดของพระราชบิดา (ต่อมาคือหวู่เจ๋อเทียน หรือคนไทยคุ้นหูในชื่อบูเช็คเทียน) แต่ด้วยการสนันสนุนของเหล่า King Makers นำโดยจ่างซุ่นหวู่จี้ (พระเชษฐาของจ่างซุ่นฮองเฮา) และการขาดขุนนางอย่างเว่ยเจิงไป ทำให้ราชวงศ์ถังเดินเข้าสู่ยุคตกต่ำถึง 3 รัชกาล จนมาเรืองรองอีกครั้งในสมัยถังสวนจง (หลานย่าของหวู่เจ๋อเทียน)