Fujiko F. Fujio SF Collection

Fujiko F. Fujio SF Collection
คิดถึงอาจารย์



เมื่อตอนที่ โมโตโอะ อาบิโกะ และ ฮิโรชิ ฟุจิโมโตะ ประกาศยุติและอำลานามปากกาที่ใช้ร่วมกันมาเกือบสี่ทศวรรษในปี 1988 (ไม่รวมห้วงเวลาที่ทั้งคู่จับมือร่วมสร้างผลงานในสมัยเยาว์วัย)นั้น เป็นเวลาที่โดราเอมอนกำลังอยู่ในช่วงของการไต่เต้าเป็นดารายอดนิยมจากมังงะไปเป็นการ์ตูนทางโทรทัศน์และอนิเมะจอเงิน

ก่อนหน้านั้น สองคนได้เลิกสร้างผลงานในนามร่วมกันก่อนที่โดราเอมอนในตอนปฐมฤกษ์จะคลอดออกมาในปี 1970 ไม่นาน ฟุจิโอะนั้นได้ชื่อว่าเป็นคนไม่กังวลกับเรื่องหยุมหยิม ขณะที่อาบิโกะก็คิดว่าเป็นการไม่ยุติธรรมที่จะคงนามปากกาเดิมไว้ อันเท่ากับจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจว่าผลงานที่ออกมายังคงเป็นผลงานร่วมสร้างอยู่ เรื่องของเรื่องก็คืออาบิโกะนั้นได้ปลีกตัวไปทำงานสาขาอื่น แต่บางครั้งบางคราวก็กลับมาช่วยเขียนงานบ้าง ดังนั้นถึงแม้ว่างานในช่วงท้ายๆก่อนการมาถึงของโดราเอมอนจะเป็นแรงงานของฟุจิโกะเสียส่วนใหญ่ แต่สัญญาใจที่ว่านี้ดูจะผูกพันแน่นหนากว่ามาก ดังนั้นเมื่อจังหวะเหมาะเดินทางมาถึง(ซึ่งนานกว่าอีกเกือบสองทศวรรษให้หลัง) นาม “ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ” ก็ได้แตกตัวออกเป็นสอง ด้วยวิธีการเล่นอักขระอย่างน่าเอ็นดูดังที่ทราบกันดี นั่นคือ โมโตโอะ อาบิโกะ จะใช้ “ฟุจิโกะ ฟุจิโอะ A.” ส่วนฮิโรชิ ฟุจิโมโตะ จะถือนาม “ฟุจิโกะ F. ฟุจิโอะ”

แม้ว่าในระดับนานาชาติ ชื่อชั้นของอาบิโกะจะไม่ได้อยู่ในระดับเดียวกับอีกคน เท่าที่ผู้เขียนทราบ ในไทยยังไม่เคยตีพิมพ์ผลงานของเขาในรูปเล่มลิขสิทธิ์ ยังไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อมีการเล่าชีวประวัติของอีกฝ่ายในหลายๆแง่มุม ก็มักจะไม่มีชื่อของอาบิโกะปรากฏขึ้นมาด้วย ซึ่งนับว่าน่าเศร้าเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าทั้งคู่คบหากันเป็นเพื่อนตั้งแต่ชั้นประถม กอดคอกันเข้าวงการ และร่วมทุกข์สุขกันมากว่าค่อนชีวิต แต่อะไรก็ไม่ร้ายเท่ากับที่บางแห่งถึงกับกำหนดวัยสิ้นอายุขัยให้แก่ทั้งคู่อย่างเสร็จสรรพ ในกรณีนี้ไม่ว่าจะมองจากมุมไหน ช่างดูไม่ห่างจากโศกนาฏกรรม


อาบิโกะในวัยปัจจุบัน

ในช่วงการไต่ระดับของโดราเอมอน ในแง่ยุคสมัยถือว่าคาบเกี่ยวกับการล่มสลายของการ์ตูนไทยแนวจักรๆวงศ์ๆ และคอมิคฝั่งตะวันตก(นำเข้า)ที่จำกัดวงคนอ่านจากราคาที่สูงและแหล่งจำหน่ายที่มีไม่กี่แห่งในบ้านเรา ถือเป็นการเปิดช่องให้ ‘ทางเลือกที่สาม’ โดยปริยาย ซ้ำยังเป็นทางเลือกที่มีความหลากหลายในตัว ที่ชวนให้คิดและน่าจะถือเป็นคำถามสำคัญ คือทุกวันนี้ที่ญี่ปุ่นถือว่าตลาดของตัวเอง(ทั้งมังงะและอนิเมะ)นั้นตันและอิ่มตัวแล้ว แต่งานเก่ายังเอาออกทำเงินได้ทั่วไป (ในขณะที่งานใหม่ๆแม้จะนิยมทันทีในบ้านตัวเอง ก็ยังต้องใช้เวลาในการทำตลาดที่อื่น) นี่ถือเป็นข้อพิสูจน์หรือไม่ว่า อุตสาหกรรมการ์ตูนของญี่ปุ่น ไม่ขึ้นตรงต่อแบบแผนของโลกโลกาภิ
วัตน์ มันไม่ ‘มาเร็ว-ไปเร็ว’ เหมือนสินค้าทุนนิยมชนิดอื่น ?

นักเขียนที่มีชื่อและงานขายดี สำหรับคนอ่านแล้วมีสถานะเป็นดารา โดยพฤตินัย นักอ่านบ้านเรายกสถานะให้ ‘คนเขียนโดเรมอน’ มีคำว่าอาจารย์นำหน้าชื่อ ฟุจิโกะ F. ฟุจิโอะ จึงเป็นอาจารย์นักเขียนการ์ตูนมังงะคนต้นๆของนักอ่านบ้านเรา ไม่ว่าจะเพราะได้รับอิทธิพลจากญี่ปุ่นมาหรือด้วยความรู้สึกร่วมอันแรงกล้าก็ตาม

Fujiko F. Fujio SF Collection เป็นชุดรวมเรื่องสั้นขนาดสี่เล่ม พากษ์ไทยออกโดยเนชั่นคอมิคส์ ประทับหน้าปกว่า Path of Fujiko F. Fujio ‘รวมผลงานอมตะ ฟุจิโอะ SF คอลเลคชั่น’ และมีชื่อตอนโปรยตามหลัง รูปเล่มหรูหรา ราคาฟู่ฟ่า ส่วนปกมีขอบบนล่างล้นจากตัวเล่มทำให้กระดาษหงิกงอ คงกะจะให้เก็บแบบวางนอนไว้บนหัวเตียง-เพราะวางตั้งแล้วกระดาษปกจะยับ ขณะที่เขียนนี้ออกวางแผงถึงเล่มสาม ต่อไปจะของเรียกงานชุดนี้ว่า SF



นักอ่านที่พอจะระแคะระคายบริบทของระบบบรรณาธิการมังงะ ที่จะคอยเคี่ยวให้นักเขียนออกงานให้ทันกำหนด จะเชื่อว่าเรื่องสั้นคือกรรมวิธีที่นักเขียนใช้เยียวยาหรือบำบัดจิตใจตนเอง มิเช่นนั้นแล้ว ไฉนต้องหาเรื่องใส่ตัวทั้งๆที่มีตอนต่อไปของเรื่องยาว(ซึ่งต้องลงให้ทันสัปดาห์ต่อสัปดาห์)รอท่าอยู่ และ/หรือถึงจะมีการเขียนตุนเป็นสต็อกไว้แล้ว ไม่ดูฉลาดกว่าหรือหากจะเอาเวลาที่ออมได้ ถอนมาใช้เพื่อการพักผ่อนเสีย ?

เว้นแต่ว่า บางคนจะถืองานเป็นการพักผ่อนแบบเต็มความหมาย

ตอนที่ 1 เล่ม 1 “คุณซูเปอร์” เล่าเรื่องครอบครัวที่จู่ๆลูกสาวก็กลายเป็นยอดมนุษย์ สนุกสนานอลเวง ผู้เขียนไม่เข้าใจมุขในช่องสุดท้าย เดาว่าคงเป็นมุขร่วมสมัยในตอนที่เขียนเรื่องนี้

ที่เหลือจากนั้นไม่มีสะดุด มารู้ตัวก็จบเล่มแล้ว ตอนแล้วตอนเล่าผันผ่านแบบเดียวกับสมัย ‘โดเรมอน’ เปี๊ยบ 'โดเรมอน'ในที่นี้คือไตเติ้ลที่ใช้กันสมัยการ์ตูนละเมิดลิขสิทธิ์ มีสะกดโดราเอมอนบ้างเหมือนกัน ทว่าแม้แต่อนิเมชั่นที่ฉายในยุคนั้นก็ยังสะกดแบบแรก นัยว่าออกปากสะดวกลิ้นกว่ามาก ในยุค ‘โดเรมอน’ นั้น เด็กๆจะตามซื้อเล่มออกใหม่ทุกสัปดาห์(สัปดาห์ละหลายๆสนพ.) แม้จะมีตอนใหม่จริงๆมากสุด4-5 ตอน และที่เหลือเป็นตอนเก่าที่แถเอามารวมให้เต็มเล่ม

ลายเส้นคุ้นชินในเรื่องราวใหม่หมาดจาก SF ให้ความรู้สึกประหนึ่งทะยานไปกับไทม์แมชชีนแท้ๆ ไม่ผิดไปได้

เราคุ้นเคยกันว่า SF ย่อจาก Sci-Fi ย่ออีกทีจาก Science Fiction หรือนิยายวิทยาศาสตร์ แต่ฟุจิโกะได้ระบุว่า SF ในกรณีนี้มีนิยามแคบกว่านั้น มันเป็นเป็นตัวย่อของทับศัพท์อังกฤษจากภาษาญี่ปุ่น Sukoshi(เล็กน้อย) และ Fushigi(มหัศจรรย์,แปลก,ประหลาด)

ในช่วงที่ฟุจิโกะเริ่มเขียนงานได้ไม่ต่อเนื่องเพราะสภาพร่างกายย่ำแย่ หน้าการ์ตูนโดราเอมอนที่ขาดหายถูกแทนที่ด้วยลายเส้นของบรรดาผู้ช่วยที่ ‘ปลอมเส้น’ ได้เหมือนที่สุด แต่ว่ากันว่าแฟนเดนตายยังสามารถบอกความแตกต่างได้ ซึ่งถือเป็นกรณีเล็กๆที่คนจับผิดภาคภูมิใจ ในช่วงเวลาซึ่งสนพ.สังกัด ปิดข่าวการเจ็บป่วยไว้ (กระทั่งเมื่อเสียชีวิต ข้อมูลที่เปิดเผยหลังจากนั้นจึงทำให้ทราบได้ว่างานในช่วงใดบ้างที่ถูกดูแลโดยลูกทีม -ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักในชื่อ Fujiko Production)

เมื่อนำมโนทัศน์นี้มาเชื่อมโยงกับชุดเรื่องสั้น เป็นไปได้ว่า SF หรือ Sukoshi Fushigi นี่เอง ที่อาจเป็นองค์ประกอบอันไม่สามารถปลอมหรือเลียนแบบได้ เนื่องจาก SF หาใช่เนื้อหนังซึ่งจับต้องได้ในเชิงฟิสิกส์หรือกายภาพ...

ในภาพรวม เรื่องสั้นชุดนี้นอกจากจะให้ทั้งโครงเรื่องที่คุ้นเคย(เพื่อนจากต่างมิติ,การท่องอวกาศ,เรื่องตะลุยอนาคต ฯลฯ) และโทนเรื่องที่หลากหลาย(วิถีชีวิตมนุษย์เงินเดือน,เรื่องระทึกขวัญ,สงครามจิตวิทยา ฯลฯ)แล้ว ยังมีข้อพิเศษบางประการ อยากให้นักอ่านร่วมกันสังเกตพอเพลินๆ

เช่น ในเรื่องบางตอนมีตัวละครหน้าตาคุ้นๆ อันถือเป็นกลเม็ดสำหรับให้คนอ่านเห็นถึงสายใยจักรวาลของคนแต่งเรื่อง และตระหนักว่าผลงานแต่ละเรื่องต่างเป็นส่วนหนึ่งของกัน แต่การที่ตัวละครหน้าตาคุ้นๆได้รับบทชูโรงเสียเอง(จากที่เคยแค่เดินผ่านฉากในเรื่องเอกอื่นๆ) ทำให้คนอ่านต้องตระหนักยิ่งกว่านั้น หรือเป็นไปได้ว่าสำหรับคนเขียนแล้ว ตัวละครทุกตัวมีความเท่าเทียมกัน เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล มีชีวิตและเรื่องราวของตัวเองเหมือนกัน เสียแต่ว่าคนแต่งเรื่องถือสิทธิ์ขาดในการเปิดเผยเรื่องราวนั้นสู่คนอ่าน-ตามแต่เขาจะพอใจ

หรือ แม้จะรู้ว่าโลกนี้ไม่มีอะไรใหม่ แต่ด้วยกาลที่มาก่อนจึงทำให้กลายเป็นจุดเล็กๆที่ชวนให้ระแวง(?) อาทิ เรื่องของคนธรรมดาที่กลายเป็นยอดมนุษย์(อีกแล้ว) และในที่สุดก็มีพลังถึงขั้นกำจัดใครก็ได้เพียงแค่คิด ในช่องหนึ่งถึงกับแสดงให้เห็นว่าคนที่อยากกำจัดมีมากจนต้องมีการลิสต์ชื่อลงบนกระดาษ (เพื่อจะได้กำจัดไม่ตกหล่น) !?!

หรือ ตอนอวสานของโดราเอมอนที่เคยเป็นปริศนาอันดับหนึ่งของนักอ่าน แม้เรื่องที่ว่า ‘ทั้งหมดเป็นความฝันของโนบิตะ’ จะถูกเผยว่าเป็นการ์ตูนโด
จินขายดี(และลอกลายเส้นได้เหมือน) แต่ก็ยังมีเรื่องลือว่าแท้จริงแล้วต้นฉบับที่เขียนไม่เสร็จเพราะความด่วนสิ้นอายุขัยของฟุจิโกะ คือคำตอบของปริศนานี้ ด้วยว่านั่นคือโดราเอมอนตอนสุดท้ายของแท้(ในความหมายว่า”อวสาน”) นั่นอาจจะกลายสถานะเป็นเรื่องเล่าไม่รู้จบในเวลาอันใกล้ ทว่า “ละครโรงเล็ก ผีน้อย Q ทาโร่” ใน SF เล่ม1 ถูกนำเสนอด้วยลายเส้นหนาและแข็ง แสดงถึงการเติบโตและเอาจริงในชีวิตของเหล่าเพื่อนซึ่งครั้งหนึ่งเคยเล่นหัวกันมา แต่ด้วยความที่คิวทาโร่มีโทนเรื่องใกล้เคียงโดราเอมอนมาก ...อ่านจบแล้วก็ให้เชื่อจริงจังเหลือเกิน ว่าตอนอวสาน“จริงๆ”ของเรื่องหลังอาจจะถูกคิดเอาไว้แล้ว และถ้าเกิดได้ตีพิมพ์เผยแพร่ขึ้นมาจริงๆ..มันยากจะเชื่อว่าอารมณ์ที่ได้รับ จะห่างไกลจากที่เรื่องนี้มอบให้

ในการอ่าน SF ครั้งแรกๆ หลายคนคงจะเห็นตรงกันว่ามีบรรยากาศผิดจากงานเรื่องยาวอื่นๆของ ‘อาจารย์’ อยู่โข แต่เมื่อจับทางได้แล้ว จะพบว่าแม้อาจจะไม่เข้มข้นเท่า แต่ในเรื่องยาวทั้งหมดที่ได้อ่านกันมา ต่างก็มีบรรยากาศเดียวกันนี้ หว่านโปรยไว้อย่างถ้วนทั่ว

นิยามแท้ๆแห่ง SF ของอาจารย์ อาจเป็นภาพนามธรรมยากสาธยาย แต่เข้าใจว่าคนที่ทำงานแล้ว มีครอบครัวแล้ว หรือแม้แต่ใกล้เกษียณแล้ว และยังหวนกลับไปอ่านโดราเอมอน(และอื่นๆ)อยู่เป็นครั้งคราว จะสามารถเข้าใจนิยามนี้ได้ ส่วนใครที่เห็นว่าแมวอ้วนกับของวิเศษ เป็นแต่เรื่องหลอกเด็ก(ให้อยู่เฉยๆกับที่) คงยาก(หรือไม่ประสงค์พยายาม)จะทำความเข้าใจ

หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ หากใครรู้จัก ‘ อาจารย์ ’ ผ่านเจ้าแมวอ้วนเป็นส่วนใหญ่ (หรือทั้งชีวิต)...

มีเหตุผลอยู่น้อยข้อมากๆ ที่จะพลาด SF ครั้งยิ่งใหญ่นี้




วานร




 

Create Date : 07 มกราคม 2552
3 comments
Last Update : 8 มกราคม 2552 14:06:11 น.
Counter : 3045 Pageviews.

 

เข้ามาซึมซับแฟนคลับเดนตายอีกท่านครับ

เจอคนคอเดียวกันเหมือนเจอเพื่อน..555

 

โดย: granun 8 มกราคม 2552 18:29:29 น.  

 

ผมสะสมเหมือนกัน แต่เป็นชุดนี้ครับ

 

โดย: granun 8 มกราคม 2552 19:56:13 น.  

 

Hello,

New club music, private server MP3/FLAC, Label, LIVESETS, Music Videos https://0daymusic.org
Available only on our secure FTP server.

0daymusic Team

 

โดย: Jessegoord IP: 51.210.176.129 31 มีนาคม 2567 23:10:57 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Our Magazine
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
มกราคม 2552
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
7 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Our Magazine's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.