BERSERK

BERSERKความมืดเอย...จงโอบล้อมไว้ด้วยข้า



ว่ากันว่านิทานหลายเรื่องที่พ่อแม่มักจะเล่าให้ลูกๆฟังก่อนนอน ซึ่งมักจะมีตอนจบเปี่ยมด้วยพลังที่สามารถอวยพรให้นอนหลับฝันดีนั้น แท้จริงแล้ว ของดั้งเดิมหรือต้นฉบับ( อันหากจะคิดจริงจัง ก็น่าจะต้องสืบย้อนโดยอาศัยหลักโบราณคคี )หาได้ปะปนด้วยพลังอวยพรเช่นว่าไม่ หากมันกลับเจือด้วยไอเลือด เคล้าจิตอาฆาต ข้นด้วยเงามืด จนบางทีเราอาจจะพูดได้ว่าชายที่ชื่อ วอลท์ ดิสนีย์ ได้ก่อคุปณูปการยิ่งใหญ่ไว้ให้โลกโดยการเล่นแร่แปรธาตุ ให้”นิทาน”เป็น”นิทานก่อนนอน” ก็น่าจะได้ เพราะหาไม่แล้ว โลกอาจไม่มีคำว่าแฮปปี้เอนดิ้งบรรจุไว้ในพจนานุกรม ?



ไม่ว่า เคนทาโร่ มิอุระ ( Kentarou Miura ) จะต้องการนำเสนอแก่นหรือแฝงสัญลักษณ์แบบในไว้ในผลงานเรื่อง Berserk ก็ตาม มองผ่านโดยมิต้องถ้วนถี่ เปลือกหรือบรรยากาศที่ใช้ห่อหุ้ม โชยกลิ่นแห่งสมมติฐานข้างต้น อย่างมิต้องสงสัย

เบอร์เซิร์กตีพิมพ์ตอนแรกในปี 1989 รวมเล่มฉบับแรกออกในปีถัดมา เปิดมาหน้าแรกเดาว่าผู้กำไม้เรียวจริยธรรมคงมือสั่นเส้นเลือดปูด กระนั้นจะเรียกว่าโชคดีที่ได้อ่านภาคไทยโดยสนพ.วิบูลย์กิจมาได้ 31 เล่มก็พูดได้ไม่เต็มปาก เนื่องจากตัวอักษรศีลธรรมพล่านหน้ากระดาษซะจนอดคิดไม่ได้ว่าฝั่งขะโน้นก็คงทำแบบเดียวกันมั้ง เล่มหลังๆเปลี่ยนมาใช้การแต่งภาพเฉพาะส่วนแล้ว คงเพราะเห็นว่าการมีเสียงนกร้องจิ๊บ-จิ๊บบริเวณหน้าอกสตรีนั้นแม้จะอ่านซ้ำเป็นรอบที่สี่ก็ยังดูตลกร้าย



นักดาบผู้ถือดาบขนาดมหึมาตามฆ่าปีศาจ ปีศาจมีทั้งในคราบมนุษย์ก่อนแปลงกายและทั้งที่มาเป็นตัวๆ สี่สิบกว่าหน้าถัดมาจึงแนะนำชื่อ”กัซ” กัซเกราะดำผ้าคลุมดำติดอาวุธพร้อมสรรพรวมแขนเหล็กน่าครั่นคร้าม ฆ่าปีศาจเสมือนปีศาจฆ่าคน ใครขวางก็ฆ่าด้วย ปีศาจถูกฆ่าแล้วเหลือซากทิ้งไว้เป็นร่างคน ตราประทับหลังต้นคอทำปฏิกิริยาเวลามีปีศาจในรัศมี จากนั้นไม่นานปีศาจถูกเอ่ยถึงด้วยคำว่า”สาวก”...อ่านครั้งแรกอาจพลาดสังเกตว่าพระเอกตาบอดข้างหนึ่ง

ก่อนจะกลายเป็นการ์ตูนดาร์คแฟนตาซีหาอ่านได้ทั่วไป มิอุระก็เผยไคลแม็กซ์ใหญ่ในเล่มสามด้วยการปรากฎตัวของ ห้า”ก็อดแฮนด์”เจ้าแห่งสาวก คนอ่านได้รู้ว่าบรรดาสาวกคืออดีตมนุษย์ที่ถวายตนรับใช้ก็อดแฮนด์ หนึ่งในก็อดแฮนด์คือเป้าหมายสูงสุดในการตามล่าของกัซ พลังใดไม่มีความหมายเลยเมื่ออยู่ต่อหน้ามัน-กรีฟีส ถึงตอนนี้คนอ่านอยากรู้เต็มแก่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างหนึ่งคนกับหนึ่งก็อดแฮนด์ ท่ามกลางบรรยากาศมืดหม่นได้ที่และความรู้สึกว่าความพยายามทั้งหมดของพระเอกเราสูญเปล่า มิอุระสนองคืนด้วยความเป็นมาก่อนหน้านี้ ที่ไม่ใช่เพียงฉากหรือช็อตแฟล็ชแบ็ค แต่เป็นการย้อนต้น(prequel)ซึ่งจะกินเนื้อที่กว่าสิบเล่มจากนี้ และจะไม่ใช่แค่ฉากสังหารหน้าคู่หรืออีโรติกดิบเถื่อนอีกต่อไป แต่คือความสลับซับซ้อนของผู้คนและยุคสมัย ที่อาจจะกลายเป็นสาเหตุของการมาถึงแห่งกลียุคกันเลย

นับเป็นกุศโลบายของคนเขียนที่ไม่เพียงนำเสนอภาคที่ไม่น่าอภิรมย์ของตัวเอกให้สัมผัสกันก่อน แต่ยังบังคับให้เรา”อยากเห็น”ปีศาจถูกผ่าเป็นเสี่ยงๆด้วย ต้องไม่ลืมว่าสามเล่มแรกนี้เปรอะไปด้วยเลือด,เซ็กส์,ไส้ -ไส้,เซ็กส์,เลือด เห็นได้ชัดว่าเป็นด้านมืดในตัวคนอ่านนั่นเองที่ลากให้ตามกันมาได้จนถึงนี่ กระทั่ง’ความเป็นคน’ของกัซถูกเผยให้เห็นก่อนจะเล่าย้อนต้นไม่กี่ช่องนั้นเอง ก็ราวกับด้านมืดของคนอ่านจะถูกดึงกลับด้วย แล้วสติก็ร้องว่า..ทั้งหมดนี้ล้วนต้องมีสาเหตุ... สงสัยว่า นี่จะเป็นวิธีเล่าเรื่องที่ผ่านการคำนวณมาแล้วอย่างดีเป็นแน่

....................................

ยุคกลาง-โลกที่อยู่หรือตายไม่แตกต่าง วัยสิบสาม-กัซ ผู้กวัดแกว่งดาบตั้งแต่หกขวบ ถูกชักชวนให้เข้าร่วมทัพโดยกรีฟีส เด็กหนุ่มวัยเดียวกัน แม่ทัพกองพันเหยี่ยว ทัพทหารรับจ้างอันลือชื่อ

กรีฟีส (ภาคอังกฤษสะกด Griffith )เป็นคนอ่านยาก ในความหมายว่าเป็นคนมีบุคลิกซับซ้อน แม้จะเปลือยล่อนจ้อนก็ยังอ่านยาก เข้าถึงจิตใจผู้คนและดึงดูดให้ติดตาม เป็นเลิศในยุทธศาสตร์และเพลงดาบ มีเป้าหมายที่คนธรรมดาไม่แม้แต่จะกล้าคิดถึง เสียแต่ว่าเขาทำคนเดียวไม่ได้




ตลอดนานปีที่อยู่กับเหยี่ยว กัซรู้สึกทั้งหลอมรวมและแปลก ทุกสิ่งในเหยี่ยวช่างสมบูรณ์แบบซะจนน่ากลัวจะสลายไปเมื่อยามลืมตาตื่น เขาผู้ถือกำเพียงดาบ ไม่เคยปฏิสังคมหรือถูกผู้คนห้อมล้อม คู่ควรกับเหยี่ยวแล้วหรือ การถูกโคลคัสกระแนะกระแหน หรือแคสก้า นายกองหญิงหนึ่งเดียวแห่งเหยี่ยวชังน้ำหน้า มิเพียงทำให้ใจเสียหรือถูกบั่นทอนอย่างปกติเท่านั้น ขณะเดียวกันในอีกมิติ เขารู้สึกว่ามันเท่ากับการถูกใครคนอื่น”แคร์”อย่างแท้จริง

หลอมรวมและแปลกแยก เป็นยุคทอง

แต่แล้ว การปรากฏขึ้นต่อหน้าของ นอสเฟอราตู ซ็อด ปีศาจสงครามอมตะ ที่ไม่เพียงจะทำให้ต้องใคร่ครวญว่าตำนานทั้งหลายในโลกที่เล่าสืบๆต่อกันมา อาจจะมีรากมาจากความจริงอย่างเกินจะรับได้แล้ว มันยังประกาศให้ใครต่อใครในบริเวณนั้นได้ยินทั่วกันว่าไม่ว่านี่จะได้ชื่อว่าเป็นยุคทองของใครหน้าไหน มันก็ใกล้ถึงกาลอวสาน

กองพันเหยี่ยวเติบใหญ่ขึ้นทั้งขนาดและฐานะ กระทั่งจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์จากการยุติสงครามร้อยปีของมิดแลนด์ได้สำเร็จ ขณะที่เหล่าผู้ติดตามยิ่งจงรักกรีฟีสผู้ควรคู่ด้วยเกียรติทั้งปวง กัซ กลับขออำลาจากเหยี่ยว...

ณ สายัณห์แห่งคราส กองพันเหยี่ยวล่มสลาย กรีฟีสเข้าเป็นหนึ่งในก็อดแฮนด์-นายเหนือหัวเหล่าสาวก เพียงสองที่รอดจากการถูกสังเวย แต่ภูตผีก็จะตามติดตราประทับบนร่างไปทุกๆราตรีตราบยังหายใจ แคสก้ากับกัซ ผู้ซึ่งยุคทองแห่งชีวิตได้พลิกผันเป็นยุคมืดนับแต่นั้น

..........................................

การร่ายยาวที่มาที่ไปทั้งหลายแหล่ส่งผลให้อภิมหาไคลแม็กซ์ในเล่มสิบสองต่อเนื่องถึงสิบสาม ทรงพลังอย่างเหลือเชื่อ หมดข้อสงสัยว่าทำไมต้องเสียเวลามากมายเพียงเพื่อจะเล่าเหตุการณ์ก่อนหน้าเล่มแรก จนการตัดเข้าสู่ปัจจุบัน(ออกจากภาคย้อนต้น)แทบจะเหมือนถูกปลุกให้ตื่นจากฝัน สาวกตัวใหม่รอท่าอยู่แล้ว และจากนี้ไปไม่มีใครกังขาในการกระทำของเขา

ตัวละครกรีฟีสอาจถือเป็นสัญลักษณ์ซ้อนสัญลักษณ์ ชั้นแรกเขาคือรูปเคารพหรือจุดศูนย์กลางที่ดึงดูดเหล่าผู้แสวงหา แม้ชาติกำเนิดสามัญ แต่รูปสมบัติและจิตสมบัติที่เขามีติดตัว ทำให้ยากต่อการถูกเทียบชั้นกับปุถุชนคนทั่วไป ซึ่งในทางกลับ นั่นจึงง่ายที่จะทำให้เหล่าผู้สักการะไม่ตระหนัก หลงลืม หรือกระทั่งไม่ใส่ใจ ว่าการฝากฝังทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับคนๆเดียว ไม่น่าจะใช่การลงทุนที่ให้ผลคุ้มค่าในระยะยาว

เหนือกว่านั้นอีกชั้น ตัวละครนี้กระทำการยั่วล้อฮีโร่ในข่ายผู้นำอยู่ในที ตัวละครซึ่งบุคคลิกละม้ายคล้ายคลึงกันอันพบเห็นได้เสมอในการ์ตูนแนวทางหลักของเด็กผู้ชาย พระเอกผู้มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ คุณธรรมหรือลูกบ้าของเขาดึงดูดมิตรสหาย เวลายิ่งนานสมาชิกติดตามยิ่งเพิ่มจำนวน แม้ศัตรูก็อาจกลับใจกลายเป็นเพื่อน...แต่แล้ววันหนึ่ง ฮีโร่ถูกด้านมืดกลืนเขมือบ เอาแล้วไง เหล่าสหายจะกระทำการใด? แตกกระสานซ่านเซ็น? หรือ ทำทุกอย่างเพื่อนำพาฮีโร่กลับคืนด้านสว่าง? หรือ...ตามเอาคืนให้สาสมกับสิ่งที่มันก่อ?

เรียกว่าน้อยครั้งจริงๆ ที่คนอ่านจะได้เห็นปฏิกิริยาในอย่างหลัง...

ไม่ต้องสงสัย โปรดัคชั่นหรืองานสร้างอันสมจริง มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนอ่านรู้ซึ้งและเข้าถึงด้านมืดประดามีของตัวเอก ใครไม่ใช่คนอ่านการ์ตูนคงสงสัยว่า”โปรดัคชั่น”จะใช้ หรือสามารถอ้างในงานเขียนการ์ตูนได้หรือ แฟนการ์ตูนคงตอบว่ายิ่งกว่าได้ ประวัติศาสตร์เปลี่ยนไปนับตั้งแต่โอซามุ เทะซึกะ คิดค้น cinematic style เพื่อใช้ในการเล่าเรื่อง และเมื่อกล้องในหนังสือการ์ตูนสามารถแพน( pan )ได้ หรือซูมเข้าออกได้ จึงพูดได้ว่าแทบทุกกลวิธีที่ผู้กำกับภาพยนตร์ทำกันบนแผ่นฟิลม์ นักเขียนก็ทำได้ดุจเดียวกันในหนังสือการ์ตูน นั่นช่วยอธิบายว่าทำไมเมื่อมังงะถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะฉายทีวี จึงแทบจะเป็นเพียงแค่การทำให้เคลื่อนไหวและใส่เสียงพากษ์เท่านั้น คนทำไม่ต้องเสียเวลาคิดเรื่องมุมกล้องหรือจังหวะตัดภาพเอาเสียเลย

ด้วยเหตุนี้โปรดัคชั่นในหนังสือการ์ตูนจึงสามารถเกิดขึ้นและจับต้องได้ เท่าๆกับที่แสงเงาสมจริงหรือรายละเอียดซับซ้อนของฉากหลัง สามารถทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงความยิ่งใหญ่ของงานสร้างได้ ยิ่งกว่านั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่มิอุระต้องอารัมภบทยืดยาวก่อนจะถึงจุดบรรจบในฉากถวายบรรณาการ เหตุผลหนึ่งก็เพื่อจะรอให้ลายเส้นหรือเทคนิคส่วนตัวทั้งของตนและทีมงาน-ทำงานเข้าที่หรืออยู่มือพอ เพื่อจะวาดให้ห้วงเวลานี้ออกมา”ใช่”ที่สุด

โดยลำพัง การอ้างถึงยุคกลาง ( Middle Ages-ประวัติศาสตร์ยุโรปในช่วงค.ศ.700-1500 โดยหลักๆได้แก่การติดตามการปกครองแบบรวมศูนย์และวิวัฒนาการแห่งศิลปะและการศึกษา ) ก็เอื้อให้เล่นกับความเป็นแฟนตาซีได้มาก จำพวกงานออกแบบอาวุธและชุดเกราะ ซึ่งมิอุระก็ไม่ปล่อยโอกาสนั้น แต่นอกเหนือแฟนตาซีเชิงกายภาพนั้นเล่าจะทำอย่างไรให้น่าชมน่าดูด้วย เมื่อเบอร์เซิร์กทำได้ จึงสมควรศึกษาว่านำกลไกอย่างไรมาใช้

อาทิ ลองพิจารณาว่าแท่นพิมพ์ของโยฮัน กูเตนแบร์ก จะไม่เกิดก่อนค.ศ. 1405 เรารู้ว่าการส่งต่อเรื่องราวหากไม่ด้วยลายลักษณ์ก็ต้องด้วยถ้อยคำ และทั้งที่ในบางแง่ สองขนบนี้เป็นวัฒนธรรมที่แยกแยะไว้ซึ่งชนชั้น แต่บางขณะจะเห็นว่าเรื่องแต่ง,คำปด,ข่าวลือ ฯลฯ อันแพร่ขยายโดยปากต่อปากนั้น ทำงานเปี่ยมประสิทธิภาพกว่ามากนัก มันจึงควรเป็นห้วงเวลาที่เทพยดาอารักษ์ และเหล่ายักษาแห่งป่าเขา มีเนื้อหนังหนักแน่นพอๆกับพระเจ้าศักด์สิทธิ์ผู้สถิตในคัมภีร์

จึงว่าถ้าหากอยู่ดีๆ มีภูตผีหรือเทพแถนออกมาเดินเหินให้เห็นกันจะๆ ไม่ต้องเดาเลยว่าชนชั้นไหนจะ”รับสภาพ”ได้เร็วกว่ากัน

ยังมีให้ขบกันได้อีกมาก อยู่ที่ว่าใครบ้าพลังกว่าใคร

นานวันเข้า นามแห่งนักรบดำถูกร่ำลือ แน่นอนว่ามิใช่ในแง่ดี เข้าถึงหูของศาสนจักรซึ่งกำลังวิตกในการคลืบเคลื่อนของลัทธินอกรีต หนึ่งในเนื้อเรื่องช่วงที่ดีที่สุดนี้อ้างอิงกรณีล่าแม่มดในยุคกลาง ชี้ให้เห็นกลไกซับซ้อนอันหนึ่งที่ชนชั้นนำใช้เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของชนชั้นอื่นออกจากหัวข้อของสงครามและความไม่เท่าเทียม -“พระผู้เป็นเจ้า” สัญลักษณ์ที่ศาสนจักรออกแบบขึ้นเพื่อรวมศูนย์ความศรัทธาของผู้คน ทว่ามันไม่เพียงไม่ช่วยให้กินอิ่มนอนหลับ แต่ถึงขั้นละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานทุกประเภท เนื่องจากใครเข้าข่ายปฎิเสธพระเจ้าจะถูกกล่าวหาว่านอกรีตโดยทันที ทั้งหมดนี้สะท้อนผ่านตัวละครตุลาการที่ทำหน้าที่ตัดสินและพิพากษาพวกนอกรีต ผู้มาในมาดทรงศีลแจ่มใส แต่จะเลือดขึ้นหน้าตาเหลือกกลับทุกคราหากเห็นใคร
”ละเมิด” พระผู้เป็นเจ้า ในตอนท้าย ตุลาการได้พลังจากสาวกแปรเปลี่ยนเป็นเทพยดามีปีก ยิ่งทำให้ผู้คนที่ถูกครอบงำด้วยความกลัวการถูกพิพากษาอยู่แล้ว เป็นอันกู่ไม่กลับ

ก่อนหน้านั้นเราจะได้เห็นว่าพวกนอกรีตมีอยู่จริง ในถ้ำแห่งหนึ่งไม่ไกล้ไม่ไกล

ร่างแปลงของตุลาการได้มาจากสาวก จึงเท่ากับมิใช่สาวก สำหรับก็อดแฮนด์ทั้งห้าแล้ว นี่เท่ากับปีศาจชั้นหางแถวหรือไม่ ที่แน่ๆในเรื่องสะท้อนว่าสัญลักษณ์ซึ่งใช้ความกลัวเข้าครอบงำ เป็นสัญลักษณ์ที่ทั้งบิดเบี้ยว ทั้งกลวงเปล่า แต่ราวตลกร้าย การพ่ายของตุลาการด้วยนักรบดำในฉากตัดสิน กลับงดงามดั่งการเสียสละของเทวฑูต ฝูงมหาชนเบื้องล่างแปรเปลี่ยนจากการถูกครอบงำ เป็นการศรัทธาอย่างบริสุทธิ์ใจโดยพร้อมเพรียง ซึ่งในอีกไม่กี่นาทีถัดมา...โดนเหล่าสาวกทุกตระกูลใช้เป็นเครื่องเฉลิมฉลองคืนแห่งคราส(อีกครั้ง) โดยถ้วนทั่ว

ถึงจะจำนวนน้อยนิดจนเทียบไม่ได้ แต่ก็ยังมีคนที่รู้สึกถึงการ”ลืมตาตื่น”ของตัวในตอนท้าย หนึ่งในนั้นถึงกับเลือกที่จะเข้าสู่เส้นทางเดียวกับคนที่ตนเคยป่าวประกาศว่าเป็นภัยพิบัติที่จะต้องถูกกวาดล้าง โดยรวมแล้วนั่นหมายความว่าชีวิตที่เหลือของพวกเขาจากนี้ ไม่น่าจะหวนมาทับซ้ำรอยเดิม

กล่าวถึงบรยากาศหม่นมืดเครียดเคร่ง ที่แม้ในห้วงยามตะวันทอแสง ใจก็ยังจดจ่ออาฆาต นึกไม่ออกว่าใครจะตามอ่านเรื่องนี้ได้ตลอดรอดฝั่ง หากมันปราศจากตัวละครจำพวก”ลายเส้นหลุด”ได้ทุกสถานการณ์โดยไม่สร้างความตะขิดตะขวง ซึ่งว่าไปแล้ว นี่คือตัวละครในแบบที่จะมัดใจคนอ่านได้เท่าๆกับฮีโร่ของเรื่องด้วยซ้ำ

แพ็ค เอล์ฟตัวจ้อย ปรากฏตัวตั้งแต่เล่มแรก ปรากฏนิดหน่อยในช่วงย้อนต้น ปรากฏอีกครั้งเมื่อกลับสู่ปัจจุบันและเอาคนอ่านอยู่หมัด พูดมากแม้ไม่มีใครฟัง การสลับไปมาระหว่างสภาพปกติกับเวอร์ชั่นแมงเกาลัดเป็นกิจวัตรก่อคุณูปการไว้อย่างมากในแง่การช่วยถ่วงดุลย์บรรยากาศ น่าขอบคุณที่ผู้เขียนคิดตัวละครนี้ขึ้นมา ดูวิวัฒนาการขั้นต้นได้ในเรื่องสั้นซึ่งภายหลังถูกเรียกว่า Berserk the Prototype ความยาว 48 หน้า อยู่ในท้ายรวมเล่ม14


สามสิบกว่าเล่มผ่านพ้นยังไม่เห็นมีใครทำก็อดแฮนด์ได้แม้แต่รอยข่วน จึงวางใจได้ว่ามันทั้งห้านี่แหละคือบอสใหญ่ของเรื่อง และหากกำจัด”บอสใหญ่”ได้ก็เป็นอันจบเกม สันติสุขคืนสู่โลก...ความหมายโดยทั่วไปควรเป็นเช่นนั้น

นักอ่านบางคนชอบสังเกตลูกเล่นหรือกลวิธีของนักเขียน ซึ่งนับเป็นความบันเทิงระหว่างบรรทัดโดยแท้จริง เท่าที่ผู้เขียนสังเกตเห็นในกรณีของมิอุระ เขาใช้เส้นเล็กแรหรือซอยตัดแสงเงา ในยามปกติมันดูอ่อนโยนสว่างไสวเหมือนภาพวาดประกอบนิทาน(คล้ายสีไม้หรือสีเทียนฝนบนกระดาษ) ในยามหม่นหมองก็ฉายภาพหลอกหลอนกดดัน แต่นั่นมันคนละเรื่องกับฉากหน้าคู่ พู่กันเบอร์ใหญ่หนาหนักดำเมื่อม หยาดหยดหมึกกระเซ็นสายคละคลุ้งกลิ่นคาว ราวกับเพื่อจะสนองเจตนาแห่งคนเขียนและคนอ่าน ผู้ต่างก็รอคอยซึ่งวินาทีทะลักล้นในด้านมืดแห่งตนออกมาเป็นคราครั้ง

และทุกๆครั้งด้วยนัยนี้ จึงวนกลับมายังคำถามที่ว่า ด้านมืดนั้นควรแก่การถลำลงหรือไม่ ? เพราะตามเรื่องชี้ให้เห็นว่านี่คือวิถีที่จะ”เข้าใกล้”ก็อดแฮนด์ได้รวดเร็ว ยิ่งฆ่า ยิ่งเหนือคน ยิ่งฆ่า เลเวลยิ่งเพิ่ม ปัญหาคือยังไม่ทันจะได้อ้าปากตอบคำถาม ขณะที่อีกสี่ก็อดแฮนด์ยังจะอยู่โยง ณ ที่เก่า มิอุระก็ส่งให้ เฟมุต-ปีกรัตติกาล-กรีฟีสแห่งอดีตไกลโพ้น กลับมาเกิดใหม่ในนามเหยี่ยวแห่งแสง แทบทุกคนในมิดแลนด์บังเกิดนิมิตพร้อมกันถ้วนหน้าถึงการจุติแห่งเหยี่ยว ผู้ที่ในคำทำนายกล่าวว่าจะมาขับไล่ทุกข์ทั้งปวงให้หมดไป เสียงเล่าลืออื้ออึง บางคนเชื่อมโยงถึงหนึ่งเหยี่ยวในอดีต บ้างไม่เชื่อ บ้างไม่ใส่ใจ แต่ทั้งหมดนั้นไร้ความหมายเมื่อได้พบกับตัว เพราะคราวนี้ แม้นอสเฟอราตู ซ็อด ยังกลายเป็นลูกแมว


จะเห็นว่าความมืดในเรื่องมิใช่เพียงด้านเลวร้ายที่ต้องถูกขับไล่โดยแสงสว่าง หรือเพียงเขตถิ่นดินแดนอันอโคจรตามขนบดั้งเดิม มันทั้งเล่นแร่แปรธาตุตัวเอง หรือถึงกับเปลี่ยนความลังเลของคนให้เป็นเป็นความเชื่อบริสุทธิ์ได้ นี่แทบจะทำให้คนอ่านต้องปฏิรูปความคิดของตัวทั้งกระบวน นับตั้งแต่ที่คิดว่าเข้าใจและเห็นด้วยในการกระทำของตัวเอกกัซ และโดยเฉพาะที่ว่านี่จะทำให้เขาเข้าไกล้พวกนั้นได้ เคนทาโร่ มิอุระ อาจจะอยากทลายความหมายทั่วไปของ ”บอสใหญ่” แบบไม่ให้เหลือเค้าเดิม ก็เป็นได้



หลายช่วงยังชี้ให้เห็นว่าด้านมืดในเบอร์เซิร์กซับซ้อนกว่าด้านมืดที่เอ่ยอ้างโดยหนังอย่างเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์หรือสตาร์วอร์ส อาจถึงขั้นหนักหนาสาหัสกว่า เป็นต้นว่ามีสาวกตัวหนึ่งตั้งกองทัพและอาณาจักรจริงๆขึ้นมาเพื่อครองโลก ( ซึ่งไม่นับเป็นความผิดในเมื่อมันคือ ”ปีศาจ” ) น่าสงสัยว่าจะเป็นการจัดฉากหรือการฮั๊วกับก็อดแฮนด์เพื่อให้เหยี่ยวคนใหม่ได้โชว์เหนืออีกโสตหนึ่ง น่าสงสัยกว่านั้นคือมันจะยุ่งยากเลียนการกระทำของมนุษย์ไปทำไม คือตั้งตนไว้ในตำแหน่งจักรพรรดิ,คลืบเคลื่อนโดยการยึดเมืองหรือประเทศ และใช้อาวุธทรงประสิทธิภาพในการกลืนชาติอย่างการสร้างเผ่าพันธุ์ใหม่เพื่อมิให้สืบหารากเหง้าเดิมได้ง่ายๆ

สุดท้ายเฉลยว่าพี่สาวกแกมีพลานุภาพจริง กระสันอยากครองโลกจริง ต่อให้ต้องงัดข้อกับอดีตนายเหนือหัวก็ตาม!

มันหลงใหลโลก หลงใหลมนุษย์ หลงใหลวิธีและสงครามในแบบมนุษย์ หมายความว่าบางอย่างซึ่งให้กำเนิดโดยมนุษย์นั้นเข้มข้นรสดีกว่ากว่าที่พวกมันมี- มากนัก?

ในทางกายภาพการได้เห็นฉากฆ่าฟันมากๆ มากจนเกินพอ ส่งผลให้รู้สึกไร้สาระ ไร้แก่นสาร เอียน อยากจะหนี แต่ในกรณีนี้เป็นที่เชื่อได้อย่างยิ่งว่าหากทนต่อไป น่าจะได้รู้ว่า ใยคนๆหนึ่ง(ที่ต่อให้บึกและถึกด้วย)ต้องกระโดดลงไปหามันเสียเอง เขามั่นใจในอะไร ?

มันอาจจะเป็นได้ทั้งการศึกษาให้ถ่องแท้ถึงแก่นใดๆ โดยใช้สิ่งเดียวที่ดูจีรังที่สุดสำหรับโลกห่วยๆที่เหมือนกองอ้วกบนภูเขาขยะนี้- เป็นสื่อ นั่นคือปล่อยให้ความมืดเข้าโอบล้อมเพื่อจะทลายมัน- จากศูนย์กลางภายใน เท่าๆกับที่อาจจะเป็นเพียงความโง่งมของสัตว์ตัวหนึ่ง ซึ่งจะไม่มีวันได้เป็นอะไรอื่นนอกเหนือจากนั้น

แต่ที่เห็นได้ชัดคือยิ่งนับวัน เขายิ่งต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งหมายถึงถ้าพ้นสภาพนี้ไปแล้ว ก็จะเป็นเวลาที่ความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป สิ่งเดียวที่ทำให้คงอุ่นใจได้ว่าเขายังไม่ก้าวล้ำเส้นเต็มตัว อาจได้แก่ดาบมหึมาอันเสมือนมีนัยยะทางเพศเด่นชัดนั้น ที่นอกจากสาวกเด็กสาวตนหนึ่งแล้ว มันยังไม่เคยฟาดฉับลงด้วยเด็กและสตรี เส้นทางซึ่งเคยคิดว่าต้องโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาตลอดกาลนี้กลับชักนำมิตรสหายมาสู่ แถมทุกคนในนั้นล้วนมีวาระและกับดักส่วนตัวทั้งสิ้น ทั้งหมดนี้จะช่วยทำนายว่าไม่ว่าเส้นทางของนักรบดำจะทาบทับกับเส้นทางเดิมของใครในวันก่อน ผลลัพธ์บั้นปลายของมัน ยังนับว่าควรค่าแก่การติดตาม

การ์ตูนทีวีออกฉายในปี 1997 จำนวน 25 ตอน จับความถึงฉากสังเวยกองพันเหยี่ยว บ้านเราเคยได้ดูลิขสิทธิ์ครบทุกตอน ยกช็อตที่ถูกแบน,เบลอ,บัง ทิ้งไปก็ยังเห็นว่ามาตรฐานในแบบอนิเมะทีวีไม่อาจและไม่น่าจะสร้างความตื่นตาได้แบบในหนังสือ น่าสนใจว่าหากเป็นมาตรฐานการ์ตูนจอใหญ่ จะสามารถทำได้หรือไม่

เคนทาโร่ มิอุระ และเบอร์เซิร์ก คว้ารางวัลโอซามุ (Osamu Tezuka Culture Award) ในปี 2002




ว่าไปแล้ว การเป็นฉบับแปลลิขสิทธิ์ก็มิใช่หลักประกันว่าจะได้อ่านกันจนตลอดรอดฝั่งเสมอไป ถูกจับหักดิบกันมานักต่อนักจนเคยชิน ทั้งที่จริงนั่นคือการถูกละเมิด ก็ในเมื่อให้เสพจนติดงอมแล้ว ใยจะมาหาญหักกันลงคอ?

กระนั้น นักอ่านจากประเทศที่มักใช้วลีจำพวก ”นี่เป็นเรื่องแต่ง อย่าเอาไปแข่งกับความจริง” เป็นยันต์(ขาดๆ)กันผี ก็ยังสามารถจะมีความรู้สึกมอบแด่ผลงานที่ตนพบพานได้ เป็นต้นว่า เรื่องนั้น ไม่ได้อ่านก็ไม่ถือว่าพลาดอะไร ,เรื่องนี้ อ่านแล้วไม่อยากให้จบ ( จบแล้วเหมือนจากพราก )

หรือ เรื่องนู้น..น ขอให้ได้อ่านจนจบ จะเอาอะไรว่ามา...

วานร


** ตีพิมพ์ครั้งแรก : เว็บไซต์ผู้จัดการ ; 2 พฤษภาคม 2551




 

Create Date : 06 มกราคม 2552
2 comments
Last Update : 10 มกราคม 2552 16:35:44 น.
Counter : 3087 Pageviews.

 

สุดยอดชอบมากๆๆๆๆๆ

 

โดย: นัท IP: 58.8.13.178 31 สิงหาคม 2554 14:47:53 น.  

 

ถ้าจะไม่เขียนต่อก้น่าเสียดาย แต่จะแต่งเรื่องเอาไว้ให้คนอื่นวาดต่อแล้วตัวเองคอยคุมการผลิตภาพก้น่าจะโอนะ อย่างน้อยก้ได้อ่านตอนจบ(ปัจจุบันรวมเล่ม 36 online ล่าสุดตอนที่ 333)

 

โดย: ant IP: 118.174.186.39 27 พฤษภาคม 2556 21:30:58 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


Our Magazine
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Group Blog
 
 
มกราคม 2552
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
6 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Our Magazine's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.