bloggang.com mainmenu search



บุรุษผู้รู้แจ้งเมื่อจะตามรักษาความจริง

ไม่ควรจะถึงความตกลงในข้อนั้นโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า

ถ้าแม้บุรุษมีศรัทธา(ความเชื่อ) เขากล่าวว่า ศรัทธาของเราอย่างนี้
ถ้าแม้บุรุษมีความชอบใจ(รุจิ) เขากล่าวว่า ความชอบใจของเราอย่างนี้
ถ้าแม้บุรุษมีการฟังตามกัน(อนุสสวะ) เขากล่าวว่า การฟังตามกันของเราอย่างนี้
ถ้าแม้บุรุษมีความตรึกตามอาการ(อาการปริวิตักกะ) เขากล่าวว่า ความตรึกตามอาการของเราอย่างนี้
ถ้าแม้บุรุษมีความทนได้ซึ่งความเพ่งด้วยทิฏฐิ(ทิฏฐินิชฌานขันติ) เขากล่าวว่า ความทนได้ซึ่งความเพ่งด้วยทิฏฐิของเราอย่างนี้
ดังนี้ ชื่อว่า ตามรักษาสัจจะ

แต่ยังไม่ชื่อว่าถึงความตกลงโดยส่วนเดียวก่อนว่า สิ่งนี้แหละจริงสิ่งอื่นเปล่า

การตรัสรู้สัจจะ
ได้ยินว่า ภิกษุในธรรมวินัยนี้เข้าไปอาศัยบ้านหรือนิคมแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว

ย่อมใคร่ครวญดูในธรรมสามประการ คือ

1.ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ
2.ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย
3.ในธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความหลง
เมื่อใด เขาใคร่ครวญเธออยู่ ย่อมเห็นแจ้งชัด ย่อมรู้ได้อย่างนี้ว่า
ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ,ความประทุษร้าย,ความหลง

ไม่มีจิตอันธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ,ความประทุษร้าย,ความหลงครอบงำ
เมื่อไม่รู้จะพึงกล่าวว่ารู้ ไม่มีเลย
เมื่อไม่เห็นจะพึงกล่าวว่าเห็น ไม่มีเลย

สิ่งใดพึงเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อทุกข์สิ้นกาลนานแก่ผู้อื่น พึงชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ไม่มีเลย

ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร เหมือนของบุคคลผู้ไม่โลภ,ไม่ประทุษร้าย,ไม่หลงฉะนั้น

ท่านผู้นี้แสดงธรรมใด
ธรรมนั้นลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต
ไม่หยั่งลงได้ด้วยความตรึก ละเอียด
บัณฑิตพึงรู้ธรรมนั้นอันบุคคลผู้ โลภ,ประทุษร้าย,หลง แสดงไม่ได้โดยง่าย

ย่อมเห็นแจ้งชัดว่าเธอบริสุทธิ์จากธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ,ความประทุษร้าย,ความหลง
เมื่อนั้น เขาย่อมตั้งศรัทธาลงในเธอนั้นมั่นคง
เขาเกิดศรัทธาแล้ว ย่อมเข้าไปใกล้
เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง
เขาเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม
ครั้นฟังแล้วย่อมทรงจำธรรม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้
เมื่อพิจารณาเนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมควรแก่การเพ่ง
เมื่อธรรมควรแก่การเพ่งมีอยู่ ย่อมเกิดฉันทะ
เกิดฉันทะแล้ว ย่อมขะมักเขม้น
ครั้นขะมักเขม้นแล้ว ย่อมเทียบเคียง
ครั้นเทียบเคียงแล้ว ย่อมตั้งความเพียร เป็นผู้มีใจแน่วแน่
ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งชัดด้วยกายและเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา
การตรัสรู้สัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

บุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

การเสพจนคุ้น การเจริญ การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นแล ชื่อว่าเป็นการบรรลุสัจจะ

การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

ธรรมมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ
(ธรรมที่มีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ มีเป็นลำดับไป ดังนี้ )

ความเพียรมีอุปการะมากแก่การบรรลุสัจจะ ถ้าไม่พึงตั้งความเพียร ก็ไม่พึงบรรลุสัจจะนี้ได้ แต่เพราะตั้งความเพียรจึงบรรลุสัจจะได้

ปัญญาเครื่องพิจารณามีอุปการะมากแก่ความเพียร ถ้าไม่พึงพิจารณา ก็พึงตั้งความเพียรนี้ไม่ได้ แต่เพราะพิจารณาจึงตั้งความเพียรได้

ความอุตสาหะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องพิจารณา ถ้าไม่พึงอุตสาหะ ก็พึงพิจารณาไม่ได้ แต่เพราะอุตสาหะจึงพิจารณาได้

ฉันทะมีอุปการะมากแก่ความอุตสาหะ ถ้าฉันทะไม่เกิด ก็พึงอุตสาหะไม่ได้ แต่เพราะฉันทะเกิดจึงอุตสาหะ

ธรรมที่ควรแก่การเพ่งมีอุปการะมากแก่ฉันทะ ถ้าธรรมทั้งหลายไม่ควรแก่การเพ่ง ฉันทะก็ไม่เกิด แต่เพราะธรรมทั้งหลายควรแก่การเพ่ง ฉันทะจึงเกิด
ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ มีอุปการะมากแก่ธรรมที่ควรแก่การเพ่ง ถ้าไม่พึงใคร่ครวญเนื้อความนั้น ธรรมทั้งหลายก็ไม่ควรแก่การเพ่ง แต่เพราะใคร่ครวญเนื้อความ ธรรมทั้งหลายจึงควรแก่การเพ่ง

การทรงจำธรรมไว้ มีอุปการะมากแก่ปัญญาเครื่องใคร่ครวญเนื้อความ ถ้าไม่พึงทรงจำธรรมนั้น ก็พึงใคร่ครวญเนื้อความนี้ไม่ได้ แต่เพราะทรงจำธรรมไว้ จึงใคร่ครวญเนื้อความได้

การฟังธรรมมีอุปการะมากแก่การทรงจำธรรม ถ้าไม่พึงฟังธรรม ก็พึงทรงจำธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะฟังธรรมจึงทรงจำธรรมไว้ได้

การเงี่ยโสตลงมีอุปการะมากแก่การฟังธรรม ถ้าไม่พึงเงี่ยโสตลง ก็พึงฟังธรรมนี้ไม่ได้ แต่เพราะเงี่ยโสตลงจึงฟังธรรมได้

การเข้าไปนั่งใกล้มีอุปการะมากแก่การเงี่ยโสตลง ถ้าไม่เข้าไปนั่งใกล้ ก็พึงเงี่ยโสตลงไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปนั่งใกล้จึงเงี่ยโสตลง

การเข้าไปหามีอุปการะมากแก่การเข้าไปนั่งใกล้ ถ้าไม่พึงเข้าไปหา ก็พึงนั่งใกล้ไม่ได้ แต่เพราะเข้าไปหาจึงนั่งใกล้

ศรัทธามีอุปการะมากแก่การเข้าไปหา ถ้าศรัทธาไม่เกิด ก็ไม่พึงเข้าไปหา แต่เพราะเกิดศรัทธาจึงเข้าไปหา


ขอขอบคุณ วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


สิริสวัสดิ์จันทรวาร เปรมปรีดิ์มานรมณีย์นะคะ
Create Date :10 ตุลาคม 2553 Last Update :28 ธันวาคม 2553 19:54:39 น. Counter : Pageviews. Comments :0