bloggang.com mainmenu search

 

 

ทิเบตดินแดนลึกลับ พบพืชพยากรณ์ลมมรสุมอินเดียได้แม่นยำ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบพืชบนขุนเขาทิเบตสามารถ ‘ทำนาย’ ลมมรสุมจะพัดมาได้ด้วยการคลี่ใบ – ภาพจาก Handout

       

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ - นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเป็นครั้งแรกว่า พืชบางชนิดมีความสามารถในการพยากรณ์อากาศ และยังอาจมีคุณสมบัติบางอย่าง ที่สามารถต่อกรกับภาวะโลกร้อนได้ดีกว่าที่เคยคิดกันมาก่อนอีกด้วย

พืชคุณสมบัติ อันน่ามหัศจรรย์นี้ เป็นพืชตระกูลหญ้าที่เด่น เช่น ต้นกกบ็อก ( bog sedge) ขึ้นอยู่บนที่ราบสูงทิเบต โดยมันสามารถทำนายการเกิดลมมรสุมอินเดีย และบอกให้ทราบได้ด้วยการคลี่ใบ ก่อนลมพายุจะพัดมาถึง

       รายงานผลการค้นพบครั้งนี้ เป็นการศึกษาร่วมกันระหว่างคณะนักวิทยาศาสตร์จีนและยุโรป พิมพ์เผยแพร่ในวารสาร ไซเอนทิฟิก รีพอร์ตส์ ( Scientific Reports) เมื่อเร็วๆ นี้

“ พวกมันดูเหมือนจะมีระบบพยากรณ์อากาศ ที่สลับซับซ้อน มันน่าพิศวงจริงๆ ” ศาสตราจารย์ หลัว เทียนซิง แห่งสถาบันวิจัยที่ราบสูงทิเบต ในสังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ที่กรุงปักกิ่งเปิดเผย โดยเขาเป็นหัวหน้านักวิจัยคณะนี้

       ลมมรสุมอินเดียจัดเป็นลมประจำฤดู ซึ่งมีกำลังแรงจัด และซับซ้อนมากที่สุดในโลก โดยในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดของปี จะมีลมพัดจากมหาสมุทรอินเดียไปยังภูมิภาคทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ หอบฝนมหึมาตกลงมา

ทว่าวันเวลาที่ลมมรสุมอินเดียจะมาถึง และกินเวลานานเท่าใดนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละปี

       ศาสตราจารย์หลัวและคณะใช้เวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลการสังเกต ที่ได้จากสถานีวิทยาศาสตร์ 5 แห่ง บนที่ราบสูงทิเบตนานกว่า 20 ปี และยังทำการทดลองอีก 7 ปีบนไหล่เขา อันห่างไกล ในเขต ดัมซุง ( Damxung) ของทิเบต เพื่อทดลองและพิสูจน์ทฤษฎี


ทิเบตดินแดนลึกลับ พบพืชพยากรณ์ลมมรสุมอินเดียได้แม่นยำ ต้นกกบ็อก ( bog sedge) บนที่ราบสูงทิเบต – ภาพจาก Handout

       

เรื่องหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์คณะนี้สนใจได้แก่ อุณหภูมิอากาศ ที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน จะรบกวนนาฬิกาชีวภาพของพืชหรือไม่

โดยผู้เชี่ยวชาญหลายคนวิตกว่า ระบบนิเวศบนที่ราบสูงทิเบตอาจอ่อนไหวเปราะบาง ต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เหตุผลหนึ่งก็เนื่องจากระดับความสูงของพื้นที่

       ทั้งนี้ ในฤดูหนาว ซึ่งอากาศเย็นและแห้งแล้ง พืชหลายชนิดจะม้วนใบเพื่อปกป้องตัวเอง บางคนเกรงว่า ในกรณีฤดูหนาว ที่มีอากาศอบอุ่นผิดกว่าปกติ พืชเหล่านี้อาจม้วนใบเร็วขึ้นก็เป็นได้

       ทว่าคณะของศาสตราจารย์หลัวค้นพบว่า พืชบนขุนเขาทิเบตกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมันคลี่ใบ ทั้งที่อุณหภูมิอากาศมีการเปลี่ยนแปลง

“ทิเบตเป็นดินแดน ที่เต็มไปด้วยความลึกลับ สภาพแวดล้อม ที่ไม่เหมือนใคร อาจทำให้ในช่วงวิวัฒนาการเมื่อหลายล้านปีก่อน พืชได้พัฒนาความสามารถพิเศษขึ้นมาก็ได้” ศาสตราจารย์หลัวอธิบาย

       เขาชี้ว่า พืชบนที่ราบสูงทิเบตมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเข้าใจกัน พวกมันอาจเผชิญการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกมาแล้วมากมายหลายครั้ง ก่อนมนุษย์พวกแรกจะอุบัติขึ้น

กระทั่งสามารถมีชีวิตรอดมาจนถึงยุคสมัยใหม่ และอาจติดอาวุธในการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนมากกว่าที่เรารู้ก็เป็นได้

       อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายคำถาม ที่นักวิทยาศาสตร์คณะนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า พืชตระกูลหญ้านี้สามารถพยากรณ์อากาศได้อย่างไร

เช่นนาฬิกาชีวภาพของมันเดินคล้องจอง กับจังหวะในการก่อตัวของไอน้ำเหนือมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอยู่ห่างกันหลายพันกิโลเมตรได้อย่างไร หรือว่า พืชบนที่ราบสูงทิเบตมีกลไกทางโมเลกุลพิเศษบางอย่าง

       หญ้าบางชนิดอาจมี “ขั้นตอนวิธีการ” ในการคำนวณเวลาการเกิดมรสุม เช่น คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เช่น องศาของแสงแดด และความเร็วลม โดยการทำแผนที่พันธุกรรมจะสามารถยืนยันเรื่องนี้ได้

คณะนักวิทยาศาสตร์สรุปในตอนท้ายด้วยว่า เรายังมีความรู้กันน้อย เกี่ยวกับพืชป่าอีกมากมายบนดินแดนหลังคาโลกแห่งนี้

ขอบคุณ MGR Online  

Handout

จันทรวารสิริสวัสดิ์ค่ะ    

Create Date :07 มีนาคม 2559 Last Update :7 มีนาคม 2559 15:31:55 น. Counter : 1345 Pageviews. Comments :0