bloggang.com mainmenu search
 วงการฟันธง เฟดลดวงเงิน QE ลงราว 1 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน จากเดิมที่ใช้วงเงินกระตุ้น ศก. 85,000 ล้านดอลลาร์/เดือน ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นตอบรับข่าวดีไปแล้ว เตือนระวัง Sell on Fact ที่แนวต้าน 1,450-1,500 จุด ด้าน ตลท.เผย เดือน ส.ค.เงินไหลออกจากหุ้น-บอนด์รวม 1 แสนลบ. ต่างชาติกระหน่ำขายหุ้นช่วงสี่โมงเย็น เหตุตลาดหุ้นไทยปิดทำการช้ากว่าภูมิภาค ส่งผล SET Index ร่วงลงมากที่สุดในภูมิภาค

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นทั่วโลกต่างพุ่งขึ้นขานรับการประกาศถอนตัวจากการชิงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ของนายลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังสหรัฐ ส่งผลให้สื่อมวลชนและนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่นางเจเน็ต เยลเลน จะก้าวขึ้นรับตำแหน่งประธานเฟดคนใหม่ ต่อจากนายเบน เบอร์นันเก้ ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งถือเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้น เนื่องจากนักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า นางเจเน็ต เยลเลน มีแนวนโยบายสนับสนุนให้มีการชะลอมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ในอัตราที่ช้าลง

โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยปิดการซื้อขายในระดับเกือบสูงสุดของวันที่ 1,455.11 จุด เพิ่มขึ้น 44.03 จุด หรือ 3.14% มูลค่าการซื้อขาย 55,206.03 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,027.82 ล้านบาท สถาบันซื้อสุทธิ 4,145.36 ล้านบาท บัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิ 1,579.74 ล้านบาท ขณะที่นักลงทุนทั่วไปขายสุทธิ 8,752.92 ล้านบาทวงการฟันธงเฟดลด QE 1-1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน

นายประสพสุข ดำรงชิตานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มทยอยลดขนาดวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนภายใต้มาตรการ QE อย่างระมัดระวัง โดยคาดว่าจะลดลงไปที่ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือน จาก 8.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน เพื่อไม่ให้ตลาดเงินตลาดทุนของโลกอยู่ในภาวะตื่นตระหนัก ทั้งนี้สาเหตุที่คาดว่าเฟดจะเริ่มชะลอมาตรการ QE ในเดือน ก.ย.นี้ เป็นไปตามสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ

อย่างไรก็ดี มองว่าการชะลอมาตรการ QE ในครั้งนี้ยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักรคุมเข้ม ซึ่งเชื่อว่าเฟดจะยังคงย้ำว่าอัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องในอีกหลายเดือนข้างหน้า ส่วนสัญญาณแรกของการเตรียมเข้าสู่วัฏจักรการคุมเข้มด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น อาจจะเริ่มขึ้นในปลายปี 2557 เป็นอย่างเร็ว โดยอัตราดอกเบี้ยของเฟดคงอยู่ที่ระดับ 0-0.25% นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.2551 นายประสพสุข มองว่าตลาดการเงินรับรู้ข่าวการชะลอมาตรการ QE ของเฟดมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังเชื่อว่าตลาดการเงินและตลาดทุนทั่วโลกยังคงต้องรับมือกับความผันผวนต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ตามสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงตลาดการเงินไทยและค่าเงินบาทที่เชื่อว่าจะเผชิญกับกระแสการชะลอ QE เช่นกัน อย่างไรก็ดี มองว่าทรัพยากรทางการเงินของไทยมีความเพียงพอในการรองรับกรณีเลวร้าย จากการผ่อนคลายมาตรการของเฟด

ทั้งนี้ข้อมูลจากการประเมินของศูนย์วิจัยกสิกรไทยและข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไทยยังคงมีความเพียงพอของสภาพคล่องเงินบาท โดยสินทรัพย์สภาพคล่องส่วนเกินของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ ก.ค.2556 อยู่ที่ 2.4 ล้านล้านบาท ขณะที่ตราสารหนี้คงค้างที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติ ณ ส.ค.2556 อยู่ที่เพียง 6.93 แสนล้านบาท ด้านความเพียงพอของสภาพคล่องสกุลเงินดอลลาร์ พบว่าเงินสำรองระหว่างประเทศรวมกับเงินฐานะสุทธิ ณ ส.ค.2556 อยู่ที่ 1.91 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่หนี้ต่างประเทศระยะสั้นสอยู่ที่เพียง 65,333 ล้านดอลลาร์ เงินสดหมุนเวียนในระบบอยู่ที่ 40,113 ล้านดอลลาร์ และมูลค่านำเข้าเฉลี่ย 3 เดือนอยู่ที่ 56,168 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมกันทั้ง 3 ส่วนจะอยู่ที่เพียง 1.62 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าระดับเงินสำรองคาด SET แรลลี่ระยะสั้น แนวต้าน 1500 จุด ระวัง Sell onFact นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.โนมูระพัฒนสิน เปิดเผยกับ " สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดวงเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ(QE) ลงราว 10,000 ล้านเหรียญฯต่อเดือน ซึ่งโพลล์ส่วนใหญ่ก็มองเช่นนั้น ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นตัวเลขที่ตลาดยอมรับได้ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการปรับลดวงเงินยังไม่มีใครระบุตัวเลขที่ชัดเจนได้ แต่เชื่อว่าในวันนี้ตลาดได้ตอบรับข่าวนี้ในเชิงบวกแล้ว

" ล่าสุดที่ SET ปรับขึ้นมา คาดว่าเฟดจะลดขนาดวงเงินในอัตราส่วนที่นักลงทุนยอมรับได้ซึ่งตามโพลล์ก็ 10,000 ล้านเหรียญฯ นักลงทุนคงพอรับได้ " นายชัยระบุ ทั้งนี้ หากทุกอย่างเป็นไปตามที่คาดการณ์ คาดว่า SET Index น่าจะบวกขึ้นไปได้ บริเวณแนวต้านที่ 1445-1450 จุด นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ " สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า คาดว่าเฟดจะปรับลดขนาด QE ลงประมาณ 10,000-15,000ล้านเหรียญฯ/เดือน และเชื่อว่าหากเป็นไปตามที่คาด ดัชนีตลาดหุ้นจะตอบรับในเชิงบวก เพราะการปรับลดในอัตราดังกล่าวถือว่าเป็นตัวเลขคาดการณ์ที่ปรับลดลงจากครั้งก่อนหน้าที่ตลาดคาดว่าจะปรับลดลงถึง 20,000ล้านเหรียญฯ/เดือน

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามที่คาด SET Index จะอยู่ที่ 1450-1500 จุด กลยุทธ์การลงทุน ควรเก็งกำไรตามโมเมนตัมของตลาด นายวิวัฒน์ เตชะพูลผล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายการตลาดลูกค้าส่วนบุคคล บล.ทิสโก้ เปิดเผยกับ " สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า คาดว่าเฟดจะลดขนาด QE ลงราว 10,000-15,000 ล้านเหรียญฯ/เดือน และหากเป็นไปตามที่คาด ประเมิน SET Index อยู่ที่ 1470 จุด

ด้านบทวิเคราะห์ บล.เคทีซีมิโก้ ระบุว่า ผลประชุมเฟด 17-18 กันยายน มีโอกาสเกิดขึ้น อาจเป็นไปได้ทั้ง 1.การคงขนาด QE ไว้ที่ระดับเดิม (Surprise ตลาด และเป็นปัจจัยบวกชั่วคราว ต่อ ทองคำ ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และกดค่าเงินดอลล์สหรัฐฯ อ่อนค่า ส่วนระยะยาว เป็นปัจจัยลบ เพราะทำให้การวิตกต่อการเร่งลดขนาดในอนาคต มีโอกาสสูงขึ้น) อิงตัวเลขเศรษฐกิจ 1Q56 GDP ถูกปรับลดลงอย่างมีนัย (เหลือ 1.1%q-q) ตัวเลขยอดขายบ้านที่ปรับลดลง จากวิตกดอกเบี้ยฯปรับสูงขึ้น และ*การจ้างงานเดือน ส.ค. ที่ชะลอลง 2.เฟดจะลดขนาด QE เป็นครั้งแรก และลดขนาดแบบค่อยเป็นค่อยไป (เป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ และอาจมี Sell onFact ) โดยรอยเตอร์โพลล่าสุด พบว่าการลดขนาดอาจมีเพียง $10bn/เดือน และจะเป็นการลดในส่วนพันธบัตรรัฐบาล เป็น $35bn.จากปัจจุบัน $45bn./เดือน และคง Mortgage-Base Securities ไว้ที่ระดับเดิม $40bn./เดือน ) อิง ยิลด์พันธบัตร 10 ปีสหรัฐฯ ลดลงเหลือ 2.89% (จากสูงสุด 3%) สะท้อนตลาดเริ่มคลายกังวลต่อการลดขนาด QE อย่างมีนัย และรายงานการว่างงานที่ลดลง และตัวเลขกิจกรรมทางธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น

ทั้งนี้คาดว่าเฟดจะเลือกตัดสินใจลดขนาดลง ด้วยปริมาณจำกัด $10bn (จาก $85bn./เดือน) และอาจไม่มีการลดแบบต่อเนื่อง(ปรับลดตามสถานะการณ์) ซึ่งถือว่าเป็น Best Case ของเรา และจะส่งผลให้ดัชนีตลาดฯ เกิดการแรลลี่ระยะสั้น โดยมีแนวต้านที่1433 จุด (ระดับ 2/3 ของกรอบ Fibonanci 1520-1260 จุด) หรือกรณีที่ดีกว่าคาด อาจขึ้นไปได้ถึง 1460 จุด (รูปแบบ RoundingBottom Pattern-U curve) ส่วนกรณี เฟดลดขนาดอย่างมีนัย (Worst Case) คาดดัชนีฯ จะลงไปทดสอบ 1230-1260 จุดจากแรงขายต่างชาติที่เพิ่มขึ้น (ต่างชาติ35%ไม่คิดว่าจะมีการลดขนาดอย่างมีนัย จะเป็นผู้ขายสุทธิ และยิลด์พันธบัตรสหรัฐฯ จะพุ่งขึ้น 10-15 Bps) ขณะที่การเลื่อนการลดขนาด QE ออกไป จะเป็นเพียงข่าวดีชั่วคราว และจะกดดันดัชนีฯ ลดลงมาที่บริเวณ 1260 จุดอีกครั้ง จากวิตกการลดขนาดที่มีปริมาณมากในช่วงเวลาที่มีจำกัด (เฟดจะลดขนาดเป็น ศูนย์ ภายในกลางปีหน้า)ตลท.เผยเดือน ส.ค. เงินไหลออกจากตลาดหุ้น-บอนด์ 1 แสนลบ.

ดร.ภากร ปีตธวัชชัย รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรและการเงิน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ในเดือนสิงหาคม นักลงทุนต่างชาติมีการขายสุทธิทั้งในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทยรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท แบ่งเป็นพันธบัตรรัฐบาล 20,000 ล้านบาท พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย 50,000 ล้านบาท และในตลาดหุ้น 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ในเดือนสิงหาคมดัชนีตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงมากที่สุดในภูมิภาค เพราะว่าตลาดหุ้นไทยมีการเปิดทำการนานที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นสิงคโปร์ อินโดฯ ฟิลิปปินส์ ทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจจะเข้ามาขายในตลาดหุ้นไทย หากประเมินว่าแนวโน้มตลาดหุ้นในวันต่อมาจะมีการปรับตัวลดลง และหากคาดว่าตลาดหุ้นจะเพิ่มขึ้น ต่างประเทศก็จะเข้ามาซื้อในตลาดหุ้นไทย " จึงทำให้ตลาดหุ้นไทยในช่วงประมาณ 16.00 น. มีความผันผวน เพราะตลาดเรามีการเปิดให้ซื้อขายในระยะเวลาที่นานกว่าประเทศเพื่อนบ้าน โดยเพื่อนบ้านปิด 16.00 น. แต่ไทยปิดตลาดราว 16.30 น. ทำให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาเล่นในช่วงท้ายตลาด จากความคาดการณ์ทิศทางตลาดในวันถัดไป" ดร.ภากร กล่าว

ประกอบกับตลาดหุ้นไทยมีสภาพคล่องการซื้อขายที่สูง ทำให้การเคลื่อนไหวเม็ดเงินทำได้ง่าย ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ตลาดหลักทรัพย์จะพยายามหานักลงทุนจากต่างประเทศที่มีความหลากหลายในการลงทุน ทั้งถือสั้น ยาว เพื่อลดความผันผวนของตลาดหุ้นไทย และนักลงทุนในประเทศ ที่มีทั้งลงทุนสั้น ยาว เพื่อให้ตลาดไม่ผันผวน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน เริ่มเห็นนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับมาซื้อในตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้แล้ว แต่ยังไม่มากเท่ากับที่ขายออกไป ซึ่งจากนี้ก็ต้องมีการติดตามข้อมูลข่าวารอย่างใกล้ชิด ทั้งผลประชุมเฟด ที่จะมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานภาวะการซื้อขายในตลาดหุ้นเดือนสิงหาคมว่า ในเดือนนี้นักลงทุนทุกกลุ่ม มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ หากพิจารณาจากสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายแยกตามกลุ่มผู้ลงทุน พบว่า นักลงทุนต่างประเทศและบริษัทหลักทรัพย์มีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงขึ้น ขณะที่ผู้ลงทุนบุคคลในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 48.18% ของมูลค่าการซื้อขายรวม ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำสุดในรอบ 76 เดือน นับจากเดือนพฤษภาคม 2550 (เมษายน 2550 อยู่ที่ 46.14%) ในเดือนสิงหาคม นักลงทุนต่างประเทศขายสุทธิใน SET และ mai รวม 39,994 ล้านบาท และในช่วง 8 เดือนแรก นักลงทุนต่างประเทศและบริษัทหลักทรัพย์ขายสุทธิที่ 115,837 ล้านบาท และ 10,787 ล้านบาท ตามลำดับขณะที่นักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนบุคคลในประเทศเป็นผู้ซื้อสุทธิ 70,975 ล้านบาท และ 55,649 ล้านบาท ตามลำดับ

ด้าน SET Index เดือนสิงหาคมปิดที่ 1294.30 จุด ลดลง 7.01% จากสิ้นปีก่อน และลดลง 9.05% จากเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในภูมิภาค สอดคล้องกับมาร์เก็ตแคปที่ปรับลดลงตามทิศทาง SET Index โดยมาร์เก็ตแคป SET อยู่ที่ 11,286,883 ล้านบาท ลดลง 8.64% จากเดือนก่อน และลดลง 4.60% จากสิ้นปีก่อน ส่วนมาร์เก็ตแคปของ mai อยู่ที่ 153,002 ล้านบาท ลดลง 14.42% จากเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้น15.02% จากสิ้นปีก่อน Forward P/E ratio ของ SET เดือน ส.ค.อยู่ที่ 12.57 เท่า ลดลงจาก 13.51 เท่าในเดือนก่อนหน้า และต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 13.06 เท่า สำหรับ mai อยู่ที่ 14.33 เท่า ลดลงจาก 16.91 เท่าในเดือนก่อนหน้า

มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันของ SET และ mai อยู่ที่ 40,003 ล้านบาท ลดลง 12.93% จากเดือนก่อน แต่เพิ่มขึ้น 36.23% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ในช่วงเดือนมกราคม-สิงหาคม 2556 มีมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 56,716 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89.99% จากช่วงเดียวกันปีก่อน


เรียบเรียง โดย นายศักดิ์ชาย งอกงาม
อีเมล์แสดงความคิดเห็น commentnews@efinancethai.com




ที่มา อีไฟแนนซ์ไทย วันที่ 17/09/13 เวลา 8:15:51
Create Date :17 กันยายน 2556 Last Update :17 กันยายน 2556 10:46:19 น. Counter : 887 Pageviews. Comments :0