bloggang.com mainmenu search


ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ไม่สนถูกนักข่าวคว่ำบาตร บอกไม่ต้องไปทำข่าวเขาก็ได้พร้อมกับเปิดเลกเชอร์นักข่าวฟิลิปปินส์ 3 ประเภทจากกลุ่มเสนอความจริง-กลุ่มกระบอกเสียง-กลุ่มรับเงินอย่างเดียวใครไม่ให้ก็เขียนทำลาย

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 สื่อฟิลิปปินส์หลายฉบับรายงานว่าเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนนายร้อดริโก้ อาร.ดูเตอร์เต้ ว่าที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เปิดแถลงข่าวอีกครั้งที่ทำเนียบมาลากันยังแห่งภาคใต้ (the Malacañang of the South) ที่ตั้งอยู่ในตำบลพานากัน เมืองดาเวา พร้อมกับเปิดเลกเชอร์แจกแจงนักข่าวฟิลิปปินส์มี 3 ประเภท

“แมก บอยคอต นา กาโย”นายดูเตอร์เต้เริ่มเป็นภาษาตากาล้อคพร้อมกล่าวว่า “ผมไม่สนใจหรอก หากไม่มีใครมาทำข่าวผม”  

ทั้งนี้เมื่อวันอังคารที่ผ่านมานายดูเตอร์เต้ประกาศว่านักข่าวที่ฉ้อฉลสมควรตาย เป็นเหตุให้สื่อจากหลายสำนักออกแถลงประณามจนถึงประกาศคว่ำบาตรหรือบอยคอต ประกอบด้วย The National Union of Journalists of the Philippines ,กลุ่มสื่อต่างชาติหลายประเทศรวมทั้ง the Committee to Protect Journalists และ Reporters San Frontieres

นายดูเตอร์เต้กล่าวว่าตนอยากให้เป็นประวัติศาสตร์ของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ไม่ต้องมาทำข่าวตน นี่เป็นการขอร้อง ไม่ต้องกลับมาอีกเลย จากนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่าสถานการณ์เริ่มเครียดขึ้นมาทันทีในระหว่างที่ผู้สื่อข่าวจำนวนมากต้องรอถึง 3 ชั่วโมงก่อนที่นายดูเตอร์เต้จะปรากฎตัวแถลงข่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าทุกคนหวังว่านายดูเตอร์เต้จะเข้ามากล่าวขออภัย  ต่อสิ่งที่เขาได้แถลงไปวันอังคารที่ผ่านมาแต่กลับกระหน่ำราวกับยิงกระสุนใส่นักข่าว “อย่าคิดว่าผมมานี่เพื่อที่จะมาอวยนักข่าว นั่นไม่ใช่ธุระของผม ในกรณีเรื่องที่ถูกฆ่า (นักข่าว) มันเกิดขึ้นได้ทุกแห่ง”นายดูเตอร์เต้กล่าว

จากนั้นก็เปิดเลกเชอร์ว่าสื่อของฟิลิปปินส์มี 3 พวกโดยกลุ่มแรกเป็น“พวกนักรบที่เหมือนทำสงครามครูเสด,พูดความจริง,แฉมันหมดเปลือกให้สาธารณะได้รับรู้  บางครั้งก็โจมตีธุรกิจขนาดใหญ่หรือผู้ที่ซ่อนความจริงไม่นำออกมาเปิดเผยแก่ประชาชน พวกนี้เขาจะไม่รับเงิน(ซองขาว)”

นายดูเตอร์เต้กล่าวอีกว่า “นักหนังสือพิมพ์พวกนี้ถือว่าตัวเองเป็นนักวิชาชีพและบอกความจริงให้โลกได้รับรู้ นักข่าวพวกนี้ไม่ค่อยตาย เพราะความคิดเห็นของเขาน่าเคารพนับถือและพวกเขามีความชอบธรรม”

นักข่าวประเภทที่สองทำตัวเป็นกระบอกเสียงที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ( the mouthpieces of vested interests ) พวกนี้จะเป็นได้ทุกอย่าง บางทีเราก็เรียกว่าเป็นนายหน้าที่ต่อเชื่อมกับธุรกิจและการลงทุน พวกเขาจะออกมาปกป้อง (ผลประโยชน์) นักข่าวพวกนี้อาจจะเรียกว่านักประชาสัมพันธ์หรือพวก the PROs (public relations officers) ก็ได้

ส่วนพวกที่สามนายดูเตอร์เต้กล่าวว่าพวกนี้เหมือน“สื่ออีแร้ง”(the vultures of journalism)พร้อมกับวาดภาพว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่ชีวิตชั้นต่ำจะเรียกว่าต่ำทรามก็ได้ “ยอมรับเงินจากแหล่งผิดกฎหมาย,รับเงินแล้วก็ปิดปากเงียบ กลุ่มนี้เป็นพวกตะกละแบบไม่สิ้นสุด เมื่อเขาได้รับไปแล้วจากนั้นก็จะขออีก  หากไม่ได้พวกนี้ก็จะพูดมาก สามารถทำลายคนและครอบครัวผู้อื่นได้ -เขาจะต้องตาย”นายดูเตอร์เต้กล่าว

นายดูเตอร์เต้กล่าวอีกว่าขอหนังสือพิมพ์อย่าได้มายุ่งกับตน ตอนนี้เรามาเปิดใจกัน และเราจะต้องไม่ปฏิเสธความจริง “นักข่าวประเภทที่ 3 เป็นพวกทำเงิน(จากวิชาชีพของตัวเอง),เหมือนได้เงินค่าปรับและตบทรัพย์จากประชาชน แต่พวกนี้ก็(ยัง)ได้รับเกียรติเพราะเป็นนักข่าว”

“อย่าคิดว่าคุณอยู่ในทุ่งแห่งความบริสุทธิ์ และผมก็ไม่อาจคุ้มครองนักข่าวได้ทั่วฟิลิปปินส์”นายดูเตอร์เต้กล่าวพร้อมกับแนะนำว่า นักข่าวก็เหมือนทหารจะต้องเสี่ยงต่อการถูกฆ่า “หลายคนพูดความจริงและหนักแน่น เหมือนกับเขาเชิญอันตราย(มาหาเขา)”

ดูเตอร์เต้ยังเปรียบเปรยว่าภาพนี้เหมือน“การเสแสร้ง”(hypocrisy)ว่ามีมาตรฐานทางจริยธรรมสูงกว่าคนอื่นที่ยังมีอยู่ในโบสถ์แคธอลิค โดยเขาเห็นว่าเป็นพวกเจ้าเล่ห์ที่พล่ามโว(bullshitry)มากกว่า

“เมื่อเขาลงมือทำ มันก็ดูดี, เช่นเมื่อขอรถยนต์ให้กับประธานและได้รถอเนกประสงค์ (SUV)มา,แต่ก็จะมีข้อยกเว้นเช่นคุณบอกว่ามันเป็นการกุศล,รถหรูหราเพื่อการกุศล โถท่านบิชอปที่รัก ? นี่หรือมาตรฐานทางจริยธรรมอันสูงส่ง”ดูเตอร์เต้เน้น

รายชื่อผู้ช่วยงานประธานาธิบดี

ในวันที่ 2 มิถุนายนนายดูเตอร์เต้ยังเปิดเผยชื่อบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งประกอบด้วย Martin Andanar  พิธีกรข่าวจากสถานีทีวีมาทำหน้าที่เลขาธิการประธานาธิบดีฝ่ายสื่อสาร( Secretary of the Presidential Communications Operations Office)โดยมีนาย Eduardo del Rosario เป็นรองฯ นาย Christopher “Bong” Go ที่ปรึกษาพิเศษอยู่ในสำนักงานthe Presidential Management Staff.

มีรายงานว่าดูเตอร์เต้จะแต่งตั้งบุคคลเข้ารับหน้าที่ฝ่ายบริหารให้ครบทุกตำแหน่งก่อนพิธีสาบานตนวันที่ 30 มิถุนายนนี้

ทำเนียบมาลากันยังภาคใต้

ปกติแล้วทำเนียบมาลากันยังจะอยู่ที่กรุงมะนิลา เป็นที่พักของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เหมือนทำเนียบขาวเป็นที่พักของประธานาธิบดีสหรัฐ  ปัจจุบันฟิลิปปินส์มี “ทำเนียบมาลากันยังแห่งภาคใต้” หรือ the Malacañang of the South

ตามประวัติสร้างโดยนายเฮอร์โมยีนส์ เอ็บดาเน รัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการระหว่างปี 2005-2006 และแล้วเสร็จปี 2007 ทำไว้เป็นที่พักของประธานาธิบดีกลอเรีย อาร์โรโย่ ขณะที่เธอเดินทางมายังเมืองดาเวา  ทำเนียบนี้อยู่ติดชายทะเลทาด้วยสีขาว หลังคาสีเขียวและรั้วสีส้ม  ค่าก่อสร้าง 24 ล้านเปโซ (ประมาณ 15 ล้านบาท)

นายคริสทอเฟอร์ “บอง” โก  ผู้ช่วยดูเตอร์เต้เปิดเผยในวันแถลงข่าวว่าขณะนี้อาคารทั้งหมดกำลังได้รับการปรับปรุงซ่อมแซมเล็กน้อย“จะเก็บไว้เป็นที่ทำงานและรับแขกบ้านแขกเมือง”นายโกกล่าว

ที่มา thaitribune
Create Date :03 มิถุนายน 2559 Last Update :3 มิถุนายน 2559 17:37:17 น. Counter : 227 Pageviews. Comments :0