bloggang.com mainmenu search
 ยังจำเขาได้ไหม วีรบุรุษนาม "นวมทอง ไพรวัลย์" ยอมตายเพื่อประชาธิปไตย

//www.youtube.com/watch?v=pvsEQlECEvg



การยึดอำนาจจากประชาชนเมื่อวันที่ 19 กันยา 2549 ไม่อาจจะถูกเรียกได้อย่างเต็มปากว่า เป็นการยึดอำนาจที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน หัวใจหลายล้านดวง ได้ออกมาประกาศเจตนารมณ์ไม่อาจยอมรับการกระทำในครั้งนั้นได้ หนึ่งในนั้น คือชายขับแทกซี่ ที่ชื่อ "นวมทอง ไพรวัลย์"
วีรกรรมการขับรถพุ่งชนรถถัง ยอมแลกชีวิตเพื่อการต่อต้านเผด็จการ แม้จะต้องพบกับคำสบประมาทที่ว่า "ไม่มีใครมีอุดมการณ์พอ ที่จะยอมตายเพื่อประชาธิปไตยได้" ซึ่งในที่สุด ก็ได้ถูกหักล้างลงไปอย่างราบคาบ ด้วยการกระทำอัตวินิบาตกรรมของลุงนวมทอง พร้อมจดหมายฉบับสุดท้าย "ชาติหน้าเกิดมา คงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก"
แม้ในตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา เรื่องราวและชื่อของลุงนวมทอง จะถูกทำให้ดูเลือนลางไปจากความทรงจำของผู้คนในสังคมนี้บ้าง แต่ก็ยังคงมีสามัญชนกลุ่มหนึ่ง ที่คอยหวนมารำลึกถึงวีรกรรมของลุงนวมทองอยู่สม่ำเสมอในทุกๆปี หนึ่งในนั้น ก็คือเรื่องราวของรูปปั้นเลือด ที่ศิลปินคนเสื้อแดงกลุ่มหนึ่งพยายามสร้างขึ้นมา พร้อมๆกับการชุมนุมเรียกร้องให้มีการคืนอำนาจประชาชนเมื่อปี 2553 สูญหายไปพร้อมกับการสลายการชุมนุม ถูกทหารนำไปทิ้งอยู่ในคูน้ำของกองพันทหารราบที่ 11 แต่ก็ถูกกู้คืนมาได้ในที่สุด
เดิมที ทีมงานศิลปิน มีความคิดที่จะนำรูปปั้นเลือดนี้ มาเป็นหนึ่งในชิ้นปฏิมากรรม ในพิพิธภัณฑ์การต่อสู้ของประชาชน ที่กำลังขอให้มีการจัดสร้างขึ้น แต่โครงการทุกอย่างก็ต้องหยุดชะงักลง พร้อมกับวิกฤติทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว และความตายของศิลปินหัวแรงหลัก อย่าง "ไม้หนึ่ง ก.กุนที" วันนี้ รูปปั้นเลือดของลุงนวมทอง ยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในสถานที่แห่งหนึ่ง โดยไม่รู้ว่าจะมีชะตากรรมเช่นไรต่อไป
แต่อย่างน้อย สิ่งที่เรามีเพื่อรำลึกถึงลุงนวมทองแล้วในวันนี้ คือสดมภ์อนุสรณ์เล็กๆ ในบริเวณที่ลุงนวมทองกระทำอัตวินิบาตกรรม หน้าสำนักพิมพ์ไทยรัฐ ซึ่งหากไม่มีใครสังเกต หรือรับรู้เรื่องราวของลุงนวมทองมาก่อน ก็จะไม่อาจทราบได้เลย ว่าเขา คือใคร? 
คำถามก็คือ เหตุใดสังคมไทยเลือกที่จะลืมบุคคลอันมีค่าคนหนึ่งของสังคม ได้อย่างง่ายดายเช่นนี้? คำตอบ อาจจะเป็นเพราะสังคมไทย ยังไม่ให้ความสำคัญต่อชีวิตของสามัญชนมากพอ ที่จะบันทึกเรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาลงไปในความรับรู้ของคนส่วนใหญ่ ตลอดจนบางครั้ง เลือกที่จะลบพวกเขา ให้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ เสียด้วยซ้ำ



Create Date :20 กันยายน 2557 Last Update :20 กันยายน 2557 20:29:46 น. Counter : 656 Pageviews. Comments :0