bloggang.com mainmenu search
"บุกรุก"
ความผิดฐานบุกรุกนั้นเป็นความผิดเกี่ยวกับการเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 362 ซึ่งได้บัญญัติว่า ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การที่ผู้กระทำความผิดเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แม้จะอ้างเอาไปเพื่อเก็บหลักฐานในการต่อสู้คดีหรือฟ้องร้องคดี เกี่ยวกับการได้ทางจำเป็นหรือภาระจำยอมก็ตาม ไม่มีสิทธิโดยพลการอันที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น โดยที่เจ้าของที่ดินแปลงนั้นไม่ได้รับความยินยอม หากว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้ว การกระทำของผู้นั้นย่อมเป็นความผิดฐานบุกรุกได้

ทั้งนี้ ได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาได้พิพากษาเอาไว้ดังนี้ 

แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 จะบัญญัติให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงสาธารณะได้ สามารถที่จะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้ ซึ่งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นเป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่นจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ต้องยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมใช้ทางผ่านที่ดินของตนเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะได้เท่านั้น ไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมที่จะเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นหรือกระทำการใด ๆ ในที่ดินของผู้อื่นได้โดยพลการ ทั้งสิทธิในการใช้ทางจำเป็นตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากสภาพความจริงในขณะนั้นว่าเข้าเงื่อนไขตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 1349 และมาตรา 1350 บัญญัติไว้หรือไม่ด้วยผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ล้อมที่ดินของผู้อื่น และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกล้อมยังคงมีข้อโต้เถียงในข้อเท็จจริงกันอยู่ว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 ถูกที่ดินของผู้เสียหายล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้จริงหรือไม่ จึงจำต้องให้ศาลในคดีแพ่งชี้ขาดข้อเท็จจริงให้รับฟังเป็นยุติก่อนว่าตามสภาพของที่ดินพิพาทในขณะนั้นเข้าเงื่อนไขเป็นทางจำเป็นซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะใช้ทางนั้นได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวหรือไม่ การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปรังวัดและถ่ายรูปทางในที่ดินของผู้เสียหายโดยพลการ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งถือเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุขอันเป็นความผิดฐานบุกรุก

เป็นคำพิพากษาศาลฎีการที่ 1323/2564

บทความจาก ทนายเชียงใหม่ 

https://www.xn--42cgi4cjab1btnchd1exbza5gvad6dvnqc6f.com/

Tage:ทนายเชียงใหม่,ทนายความเชียงใหม่

 
Create Date :14 ธันวาคม 2564 Last Update :14 ธันวาคม 2564 22:01:46 น. Counter : 888 Pageviews. Comments :0