
ฉบับแปลภาษาไทยจาก
Einstein: His Life and Universe คณะแปลนำทีมโดย ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ร่วมกับ พี่หมู ธวัชชัย ดุลยสุจริต อาจารย์ต่าย เยาวลักษณ์ ภูอภิรมย์ และศล ผมไม่ค่อยชอบคำนิยมของคุณ ว. วชิรเมธี เลย เพราะเขาไม่ได้เขียนนิยมหนังสือของไอแซคสัน แต่เขียนขึ้นตามความเข้าใจของตัวเอง เช่น คุณ ว. ว่า "สิ่งที่ผู้เขียนใคร่จะกล่าวถึงในที่นี้มีเพียงประเด็นเดียวคือ สภาพแวดล้อมที่ทำให้ไอน์สไตน์สามารถคิดทฤษฎีสำคัญๆ ระดับโลกขึ้นมาได้ นั่นก็คือ การมีวิถีชีวิตที่สันโดษ ง่าย งามธรรมดาอย่างยิ่ง" มี 3 ประเด็นที่ผมอยากชี้ให้ดูเล่ห์ของข้อความนี้ (1.) การวิเคราะห์ของ ว. กับของไอแซคสันไม่ตรงกัน การวิเคราะห์ของไอแซคสันกรณีปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมสู่การค้นพบทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ คุณอ่านได้ที่หน้า 135 แล้วนำมาเปรียบเทียบกับโควตนี้ของ ว. ดูอีกครั้ง (2.) หลังจากคุณอ่านจบเล่มแล้ว ขอให้ตอบคำถามว่า ไอน์สไตน์มีวิถีชีวิตที่สันโดษจริงหรือ? สันโดษคืออะไร? สันโดษคือความยินดีหรือพอใจเท่าที่ตนมีอยู่หรือเป็นอยู่ ผมมั่นใจว่า ใครก็ตามที่อ่านจบจะพบว่าในด้านสันโดษนี้ เขาก็เหมือนกับเรา ๆ นี่แหละครับ คือสันโดษบางเรื่อง ไม่สันโดษบางเรื่อง (3.) หลุมพรางของการโยงความดีให้เป็นเหตุไปสู่ความสำเร็จที่เป็นผล เมื่อว่ากันตามตรงแล้วเราไม่มีหลักฐานว่าผลดังกล่าวเกิดจากความดีนั้น ๆ หรือกระทั่งว่าความดีนั้น ๆ เป็นเหตุของผลดังกล่าว ผมกำลังบอกว่า ถ้าสันโดษ ง่าย และงามธรรมดาอย่างยิ่งเป็นเหตุที่เพียงพอให้คิดทฤษฎีสำคัญ ๆ ได้แล้วไซร้ เรามีทฤษฎีสำคัญ ๆ เพียบแน่ เพราะประชากรบนโลกส่วนใหญ่โดยค่าเฉลี่ยแล้วนั้นสันโดษ ง่าย และธรรมดาอย่างยิ่ง ผมพนันว่า คุณสามารถนึกถึงเพื่อนที่สันโดษ ง่าย และงามธรรมดาอย่างยิ่งได้หลายคนแน่ ๆ นึกออกกันใช่มั้ยครับ ยังมีอีกตอน คุณ ว. ว่าไอน์สไตน์ไม่ใช่นักวิทยาศาสตร์ประเภทปิดหูปิดตา (หน้า x) อันนี้แกมองไอน์สไตน์วิเศษไป คนก็คือคนนะครับ ยังไงตัวเองก็ต้องปิดหูปิดตาในบางเรื่องอยู่ดี เรื่องการเมือง ไอน์สไตน์ไร้เดียงสามาก เรื่องควอนตัม ไอน์สไตน์ปิดหูปิดตาถึงขั้นเปรียบเทียบตัวเองกับนกกระจอกเทศที่มุดหัวอยู่ในทรายเพราะไม่อยากเผชิญหน้ากับปิศาจควอนตัม ดังจดหมายถึง de Broglie ด้วยคำนิยมที่แกเขียน ตอนนี้ ผมไม่เชื่อว่าคุณ ว. อ่านไอน์สไตน์ของไอแซคสันจนจบเล่ม
แต่คงไม่กล้าจัดหนักอ่ะ