ดูเหมือนมีตัวละคร 8 ตัวที่เราสามารถเรียกขานได้เพียงชื่อปลอมที่ใช้ในห้องแชท ประกอบด้วย Adriadne, Organizm(-:, Romeo-y-Cohiba, Nutscracker, Monstradamus, IsoldA, UGLI 666 และ Sartrik (ตอนก่อนจบมี Theseus กับ TheZeus โผล่มาสั้น ๆ) ต่างคนต่างตื่นขึ้นมาในห้องประหลาด ถูกขัง จำไม่ได้ว่ามาอยู่ที่นี่ได้อย่างไร มีมอนิเตอร์ คีย์บอร์ด กับห้องแชทที่ Adriadne สร้างทิ้งเอาไว้พร้อมข้อความ "I shall construct a labyrinth in which I can lose myself, together with anyone who tries to find me―who said this and about what?" แวบแรก เมื่อมองภาพรวมของคนที่เข้ามาในห้องแชท Pelevin ชวนให้เรานึกถึงความคิดทางปรัชญาความคิดหนึ่ง solipsism คุณมั่นใจได้อย่างไรว่าคนอื่นที่อ้างว่า exist นั้นแท้ที่จริงแล้ว exist ตามที่มันอ้าง เพราะทุกคนรับรู้และเชื่อในการมีอยู่ของคนอื่นผ่านข้อความแชท หรือว่าตามมุมมองของ epistemology เราเชื่อมั่นในความรู้ที่อยู่นอกจิตใจของเราได้หรือ จิตใจของผู้อื่นอาจไม่สามารถดำรงอยู่ภายนอกจิตใจของเรา นี่เป็นประเด็นหนึ่ง เรื่องที่ Pelevin เล่นใน The Helmet of Horror ไม่หยุดอยู่แค่ solipsism ทุกคนออกนอกห้องไปสำรวจสถานที่โดยรอบ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในรูปแบบของเขาวงกตแบบใดแบบหนึ่ง บางคนออกไปผ่านความฝัน บางคนยืนยันว่าเดินออกไปผ่านประตูทางกายภาพ บางคนออกไปผ่านจอมอนิเตอร์ แต่ละคนมีวิธีสร้างความรู้จากการสำรวจแตกต่างกันไป ใช้อดีตเป็นตัวตัดสินปัจจุบัน (ทำให้นักวิจารณ์บางคนตีความว่า หัวใจของเรื่องคือเรื่องของความทรงจำ หากสนใจ ลองดูบทความ Theseus Loses his Way: Viktor Pelevins Helmet of Horror and the Old Labyrinth for the New World ของ Alison Traweek แห่ง University of Pennsylvania) แต่ละคนใช้เครื่องมือไม่เหมือนกัน บางคนใช้ตรรกะและปรัชญา บ้างวิทยาศาสตร์ บ้างวาทกรรม บ้างศาสนา เพื่อบรรยายเขาวงกตที่เจอมา ด้วยความหวังว่ามันจะพาเราหลุดพ้นออกไปได้ จุดนี้ Pelevin ตอกย้ำความเป็นขยะของข้อมูลทั้งหมดอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการทำให้ผู้อ่าน (อย่างน้อย ฉันหนึ่งคนล่ะ) อดสงสัยไม่ได้ว่า อ่านเหี้ยอะไรอยู่เนี่ย งงและสับสนไปหมด ฉะนั้น ในมุมหนึ่ง ปริมาณข้อมูลจากหลากหลายเครื่องมือจำนวนมาก โดยตัวของมันเองก็เป็นเขาวงกต และอาจไม่นำพาเราไปสู่จุดไหนเลย