A Thai Brachypetalum Growers Mainly. <<< เรื่องรองเท้านารีไทยๆ ต้องยกให้เรา >>>
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
26 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
>> รู้ไว้ใช่ว่า (ขาวสตูล) <<

รองเท้านารีขาวสตูล (paphiopedilum niveum)



Photobucket

นานๆจะได้เขียนบทความน่าคิดสักที วันนี้ผมจะขอหยิบเอาเรื่องของรองเท้านารีขาวสตูลมาบอกเล่ากันสักหน่อยหนึ่งนะครับ รองเท้านารีขาวสตูลเป็นรองเท้านารีดอกสีขาวที่มีความสวยงามอีกชนิดที่อยากให้หลายๆท่านที่กำลังจะหันมาเลี้ยง หรือมีแล้วแต่ยังไม่ทราบรายละเอียดลึกๆของรองเท้าฯชนิดนี้ว่ามีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างไปจากชนิดอื่นอย่างไร ซึ่งผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับการแยกแยะไม้ตัวนี้ออกจากชนิดอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียง หรือแยกออกจากลูกผสมที่มีเชื้อของรองเท้านารีชนิดนี้อยู่ซึ่งมีความกลมกลืนใกล้เคียงจนเราเกือบแยกแยะกันไม่ออกครับ


ผมลองเซิร์ทหาข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับรองเท้านารีขาวสตูลในอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่ก็จะลงรายละเอียดของรองเท้านารีชนิดนี้คล้ายๆกัน เช่น แหล่งกำเนิดอยู่บริเวณไหน ลักษณะกลีบดอกสีขาว มีจุประสีม่วงแกมชมพูกระจายบนกลีบดอก ใต้ใบมีสีม่วง ฯลฯ เยอะแยะตามแต่จะให้ข้อมูลกันได้ ซึ่งข้อมูลส่วนใหญ่ก็จะคล้ายๆกันไป แต่ในภาคสนามจริงๆนั้น เกิดความสับสนกันเหลือเกินในการจะระบุชนิดของรองเท้านารีต้นใดต้นหนึ่งที่มีลักษระคล้ายคลึงกับรองเท้านารีขาวสตูล ภาคสนามที่ว่านี้อาจจะเป็น สนามประกวดกล้วยไม้ หรือตลาดกล้วยไม้ ที่เห็นมีรองเท้านารีดอกสีขาวก้านยาวๆใบลายๆวางอยู่


ข้อมูลที่หาได้จากหนังสือ สื่ออินเตอร์เน็ต คำบอกเล่าจากผู้ใหญ่หรือเซียนกล้วยไม้บางคนยังไม่เพียงพอกับการตอบคำถามว่า จะแยกแยะขาวสตูลออกจากรองเท้านารีชนิดอื่นหรือลูกผสมที่มีหน้าตาใกล้เคียงกับขาวสตูลได้อย่างไร เพราะบางครั้ง คนอาจเข้าใจผิดเพราะเห็นว่ามีลักษณะดอกทั่วไปเหมือนกันแต่ขาดหลักการไว้ยึดถือสำหรับการจำแนกแยกแยะว่าอย่างไหนขาวสตูลแท้ อย่างไหนลูกผสม


ประเด็นที่น่าสนใจมีดังนี้


1) ขาวสตูลเป็นรองเท้านารีก้านยาว แล้วก้านจะต้องยาวเท่าไรจึงถือว่าเป็นขาวสตูล

 


2) ขาวสตูลมีดอกสีขาว แต่ความขาวก็ยังแยกออกได้หลายขาว เช่นขาวด้านๆ ขาวแบบมันวาว ขาวอมน้ำนม แล้วสีขาวนี้สามารถส่อแววสตูลไม่แท้ด้วยหรือ

 


3) จำนวนดอกใน 1ก้านช่อนั้นต้องมีกี่ดอก เอามายึดถือได้แค่ไหนสำหรับความเป็นขาวสตูล


4) ประเด็นที่4นี้ จะลึกซึ้งอีกนิด บางคนดูลักษณะของโล่หรือstaminod ในทางพันธุศาสตร์ให้สิ่งนี้เป็นส่วนของอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งจะมีผลในการถ่ายทอดไปสู่อีกชนิดหนึ่งในลักษณะข่มกันได้อย่างชัดเจน


ทีนี้ผมจะมาเข้าทีละประเด็นนะครับ เริ่มจากประเด็นแรก


1)      ความยาวก้านช่อของรองเท้านารีขาวสตูล ยังไม่เคยมีการระบุว่าต้องยาวเท่าไรจึงจะเป็นรองเท้านารีขาวสตูลหรือไม่ใช่ขาวสตูล เพราะในธรรมชาตินั้นมีทั้งขาวสตูลแท้และลูกผสมในธรรมชาติที่มีเลือดขาวสตูลอยู่ด้วยเช่น รองเท้านารีช่องอ่างทองpaphio.godefroyae var. angtong   รองเท้านารีเกรยี่ป่าPaphio. Greyi หรือที่เป็นฝีมือมนุษย์ผสมขึ้น


ผมจึงสรุปว่า ความยาวก้านช่อจึงไม่ใช่ประเด็นในการจำแนกแยกชนิดให้กับรองเท้านารีขาวสตูลครับ


หมายเหตุ : รองเท้านารีช่องอ่างทอง เกิดจากการผสมกันระหว่างรองเท้านารี2ชนิดในธรรมชาติ คือ ขาวชุมพร กับ ขาวสตูล (อันนี้เป็นการวิเคราะห์จากนักวิชาการของเมืองนอก) ซึ่งผมมาวิเคราะห์ก็ว่าจริงครับ เพราะ บริเวณหมู่เกาะอ่างทอง หรือซีกฝั่งอ่าวไทย มีการกระจายตัวของรองเท้านารีขาวชุมพรและขาวสตูล จนอาจเกิดการผสมข้ามชนิดกันในธรรมชาติได้ แต่บางคนก็บอกว่า รองเท้านารีช่องอ่างทองน่าจะเป็นพันธุ์แท้ เป็นเอกเทศน์ของตัวเอง ไม่ได้เกิดจากการผสมกันในธรรมชาติ เพราะ บนหมู่เกาะอ่างทองนี้ไม่พบรองเท้านารีทั้งขาวชุมพรและขาวสตูล และหมู่เกาะก็อยู่ห่างไกลจากแผ่นดิน

 


                 ส่วนเกรยี่ในธรรมชาติ จะมีความแตกต่างจากช่องอ่างทองบางจุด คือ ขนาดดอก โดยส่วนใหญ่แล้วจะใหญ่กว่า ความขาวของสีพื้นจะมีความหลากหลาย เช่น ขาวสะอาดตา ขาวแบบขุ่นๆ ขาวอมน้ำนม เป็นต้น จุดประจะมีสีดำหรือน้ำตาลดำ เหตุผลที่แยกเกรยี่ออกจากช่องอ่างทอง ก็คือ แหล่งกระจายพันธุ์ เกรยี่จะกระจายพันธุ์บนแผ่นดินหรือบนเกาะทางฝั่งอันดามัน บริเวณที่มีทั้งเหลืองตรังpaphio.godefroyae forma. Leucochilum กับขาวสตูล ซึ่ง หากมองเรื่องการจับคู่กันในธรรมชาติ ระหว่างช่องอ่างทอง (ที่เกิดจากขาวชุมพรกับขาวสตูล) และเกรยี่(เหลืองตรังกับขาวสตูล) ก็น่าจะเดาได้ว่า คู่ผสมคู่ในที่น่าจะให้ขนาดดอกได้ใหญ่กว่า สีพื้นจะขาวสะอาดได้มากกว่า จุดประเป็นสีชมพูหรือสีน้ำตาลดำ เป็นต้น


             ทำไมเหลืองตรังจึงแตกต่างจากขาวชุมพร จากการสันนิษฐานของนักวิชาการทั้งฝรั่งทั้งจีนไต้หวันและญี่ปุ่น ต่างระบุเป็นเสียงเดียวกันว่า เหลืองตรังน่าจะเป็นลูกผสมในธรรมชาติ เพราะ มีความหลากหลายของสีพื้นดอก ขนาดดอก จุดประหรือลายบนดอก ตลอดจนฟอร์มดอกด้วย ต่างจากขาวชุมพรที่มีลักษณะดอกโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกันหมด สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ เหลืองตรังสามารถให้ดอกได้ใหญ่กว่าขาวชุมพร สีเหลืองของกลีบดอกมีมากกว่าซึ่งบางต้นเหลืองอมส้ม


           คงเข้าใจบ้างแล้วนะครับว่าทำไมเกรยี่ในธรรมชาติจึงมีความแตกต่างจากช่องอ่างทอง ทุกวันนี้ บางคนยังเข้าใจผิด เอาเกรยี่มาขายในนามช่องอ่างทอง อันนี้ก็ไปวิเคราะห์กันอีกทีครับ


2)      ความขาวของดอกขาวสตูล มีหลากหลายมาก หากดูกันจริงๆจะพบว่า สามารถพบเห็นได้ทั้งที่เป็นสีขาวใสสะอาดตาแต่สีด้าน ขาวเป็นมันวาว ขาวขุ่นๆหมองๆหรือขาวอมน้ำนม จะขาวแบบไหนก็เป็นไปได้ครับ เพราะมันก็คือความขาวของดอกสีขาว แต่บังเอิญรองเท้านารีช่องอ่างทอง เกรยี่ทั้งในธรรมชาติและฝีมือมนุษย์ ก็มีสีขาวด้วยสิ คงต้องมองหาจุดอื่นในการแยกแยะความต่างของขาวสตูลกับ3ชนิดที่ว่านี้ จุดที่ผมอยากให้ดูก็คือ บริเวณโล่ หรือstaminod อันนี้จะขอยกข้อ4)ข้ามมาพูดก่อนเลยนะครับ บริเวณโล่จะมีความต่างอย่างชัดเจนครับ และความต่างตรงนี้สามารถมองย้อนกลับไปที่ลูกผสมในธรรมชาติถึงเหตุที่มาของลูกผสมเหล่านี้ด้วย


บริเวณโล่หรือstaminod   ของรองเท้านารีขาวสตูลจะไม่มีจุดประใดๆเลยแม้แต่จุดเดียว หากมีแสดงว่าเลือดไม่แท้แล้วหล่ะ จากที่ผมได้กล่าวไว้ตอนต้นแล้วเรื่องโล่นี้ นักพันธุศาสตร์ระบุว่าเป็นบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ซึ่งมีลักษณะในการถ่ายทอดและมีการข่มกันเมื่อนำไปผสมข้ามชนิด เช่น เมื่อนำขาวสตูลไปผสมกับเหลืองปราจีน โล่ที่ปราศจากจุดประของขาวสตูลจะยังคงข่มโล่ที่มีจุดประของเหลืองปราจีนอย่างเห็นได้ชัด หรือ ลูกผสมที่ได้จะมีโล่ที่ไม่มีจุดประแบบขาวสตูลแต่ความมันวาวบนโล่จะยังคงโดนเหลืองปราจีนข่มไว้เช่นกัน(ลองสังเกตุกันดูนะครับ) และแม้แต่นำลูกผสมชั้นที่1นี้ไปผสมเข้าเหลืองปราจีนอีกที ความแรงของโล่ขาวสตูลก็ยังคงถ่ายทอดมาข่มโล่ของเหลืองปราจีนอีกในชั้นนี้ เอากับมันสิครับ เรียกได้ว่า จุดบนโล่ของเหลืองปราจีนต้องยอมแพ้ถึงยกที่2เลย


แต่พอนำขาวสตูลไปผสมกับเหลืองตรังหรือขาวชุมพร อันนี้ไม่ต้องทำด้วยน้ำมือมนุษย์ผมก็ตอบได้เลยครับว่า จุดประจะตามมาปรากฎบนโล่ของลูกผสมคู่นี้แน่ๆครับ แต่เมื่อนำลูกผสมขาวสตูลกับเหลืองตรังหรือขาวชุมพร ไปผสมกับขาวสตูลอีกที ตอนนี้จุดประบนโล่จะเริ่มน้อยลงมากแล้ว ถ้าไม่สังเกตุ ดูผิวเผินอาจนึกว่าเป็นขาวสตูลได้ เพราะฟอร์มดอกและก้านดอกจะเริ่มคล้ายขาวสตูลมากๆ เทคนิคนี้มีเซียนรุ่นเก๋าบางคนถ้าไม่มีความซื่อสัตย์ก็อาจสวมรอยได้ครับ อย่างที่ว่าครับ แค่เพียงมีจุดประแม้แต่จุดเดียวบนโล่ก็ถือว่าไม่แท้ คงผมคงพูดไม่ผิดนะครับ หรือในแง่ของการข่มกันของสีพื้นระหว่างเหลืองกับขาว สีขาวจะข่มเหลืองได้มากครับ เช่น ลูกผสมระหว่างขาวสตูลกับเหลืองปราจีน ลูกไม้ที่ได้ส่วนใหญ่จะออกสีขาว ส่วนน้อยที่พอมีจะอมเหลืองตามแต่เหลืองปราจีนจะถ่ายทอดมาได้ เพราะเหลืองปราจีนนั้นก็ยังมีทั้งที่เหลืองมากเหลืองน้อยครับ


แค่เพียงประเด็นของโล่หรือstaminod นี้ก็คงพอจะจำแนกขาวสตูลออกจากลูกผสมหรือขาวสตูลปลอมได้แล้วนะครับ แต่ยังมีบางประเด็นที่อาจเจอในอนาคต อันนี้กันโดนต้มกันนะ แต่ก็ยังยืนอยู่บนหลักการเดิมครับ คือ การใช้โล่เป็นตัวแยกแยะ เพราะ รองเท้านารีลูกผสมบางคอกที่เป็นฝีมือมนุษย์ ที่ทำมาหลายชั้น เช่น เอาขาวสตูลผสมเกรยี่ ได้ลูกไม้แล้วเอามาผสมขาวสตูลอีกที อันนี้เริ่มดูยากแล้วหล่ะครับ หากดูเฉพาะต้นที่หน้าตาเป็นขาวสตูลก็คงเถี่ยงกันไม่ขึ้นครับ เพราะหน้าตามันเนียนมากๆจนเป็นขาวสตูลดีๆนี่เอง จุดที่ผมแนะให้ลองมองก็คือ มองภาพรวมของคอกนั้นๆ เช่น มีลูกไม้น่าสงสัยเบอร์หนึ่ง พ่อแม่ไม้หน้าตาแปลกๆ สมมติเป็นเบอร์niv001 ได้ลูกไม้5ขวด ใน5ขวดคิดง่ายๆว่ามี100ต้น เลี้ยงรอดสัก60ต้น เอา60ต้นนี้แหละมาดูหน้าดอกว่าบริเวณโล่นั้นมีจุดประบ้างไหม แม้ว่าบางต้นจะเนียนแต่ถ้าเกิดจากการผ่านชนิดอื่นมาก่อนก็ต้องมีหลุดออกมาให้เห็นบ้างครับ บางทีไม่ต้องดูถึงต้นที่60ก็เจอแล้วหากว่าไม้คอกนี้มีปัญหาครับ การดูการกระจายตัวของไม้ในคอกนี้สามารถดูได้กับไม้ชนิดอื่นๆด้วย ขอเพียงเจ้าของไม้ที่มีไม้อยู่ในมือมีความบริสุทธิ์ใจยอมเปิดเผยให้ดูหลายๆต้น  อีกวิธีก็คือกลับไปดูที่รุ่นก่อนหน้าเช่น ลุงป้าน้าอาของไม้สายน่าสงสัยว่ามีปัญหาตามหลักการที่ว่านี้หรือป่าว ก็จะเข้าใกล้ความจริงเร็วขึ้นครับ

 


3)      จำนวนดอก จะมีตั้งแต่1ดอกจนถึง4ดอก ก็สามารถมีได้ครับ เพราะในธรรมชาติก็มีหลากหลายให้ได้เห็นกัน บางคนว่ามี1ดอกอาจไม่ใช่ขาวสตูลแท้ เพราะผิดธรรมชาติขาวสตูล ผมอดขำไม่ได้ จึงอยากถามว่า แล้วขาวสตูลที่เจอในธรรมชาติ3หรือ4ดอกนี่ถือว่าผิดธรรมชาติหรือไม่ เป็นคำถามที่อยากฝากไว้ให้ท่านคนนั้นคิดนะครับ


4)      นอกเหนื่อไปกว่านี้ก็เห็นจะมีลักษณะการขึ้นดอกที่แตกต่างจากรองเท้าฯตัวอื่นๆเมื่อเริ่มยืดช่อ กล่าวคือ เวลาที่รองเท้านารีขาวสตูลแทงซองดอกแล้วเริ่มยืดช่อขึ้นมาได้สักระยะหนึ่ง ดอกตูมเล็กๆจะโค้งหักลงคล้ายๆคนกำลังโค้งคำนับ พอเขายืดช่อจนสุดก็จะค่อยๆเงยดอกขึ้นแล้วยืดรังไข่จนยาวตึงจากนั้นก็เริ่มคลี่กลีบดอกออกเหมือนรองเท้าฯชนิดอื่นๆครับ


ทุกวันนี้การพัฒนาไม้ให้สวยตรงตามที่เราๆท่านๆชอบกันนั้น เราต่างก็แสวงหาลักษณะด้อยทางกรรมพันธุ์หรือยีนด้อยมาเลี้ยงกัน จึงไม่แปลกที่ลักษณะด้อยของไม้แต่ละชนิด ย่อมมีความแตกต่างจากลักษณะของไม้โดยทั่วๆไป(ลักษณะเด่น) เช่น ทรงหลังคา ทรงกระเป๋า ทรงกลีบดอก ทรงของโล่ จำนวนดอก ก้านช่อ รังไข่ ทุกส่วนที่ว่านี้ หากดูไม่ลึกซึ่ง เห็นน้อยหรือประสบการณ์แค่พอมี อัศวินก็อาจตกม้าตายก่อนจะถึงสนามรบได้ แต่หลักการที่ผมได้ให้ไว้ต่างๆนาๆ เป็นสิ่งที่ได้มาจากสถิติ ดูลักษณะภาพนอกที่ไม่ใช่ยีน เพราะยีนไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ สิ่งที่เรามองเห็นได้จึงเป็นรูปธรรม และรูปธรรมเหล่านี้แหละที่จะทำให้เราไม่โดนใครหลอกได้จากคนปลอมไม้เพื่อการค้าก็ดี หรือไม่ได้เจตนาก็ดี ครับ


 



ข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้อง


คลิกอ่านได้ที่นี่ครับ




Create Date : 26 พฤษภาคม 2552
Last Update : 26 พฤษภาคม 2552 15:53:52 น. 0 comments
Counter : 3676 Pageviews.

tpaphio
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สวัสดีครับพี่ๆเพื่อนๆทุกท่านที่แวะเข้ามาชมบล็อคแห่งนี้ เห็นประโยคต่างๆที่ผมเขียนเอาไว้ก็คงพอจะทราบกันแล้วนะครับว่าผมเลี้ยงกล้วยไม้ชนิดใด เอาเป็นว่าติดตามสาระต่างๆเกี่ยวกับรองเท้านารี(เน้นของไทยนะจ้ะ)กันได้เรื่อยๆที่นี่คร๊าบ...
Friends' blogs
[Add tpaphio's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.