ในที่สุดเราก็ทำสำเร็จ เมื่อน้องทัณฑ์สามารถสอบผ่านเป็นนักเรียนตัวจริง ประเภททุนทั่วไปในโครงการเยาวชนเอเอฟเอสเพื่อการศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนานาชาติ ระยะ 1 ปี รุ่นที่ 62 (พ.ศ.2566-2567) ประเทศฝรั่งเศสภาคพื้นทวีปเหนือค่ะ เย้...มาดูกันว่าเราเตรียมตัวยังไงบ้าง
ความจริงต้องบอกว่าเราเตรียมตัวกันมาตั้งแต่น้องทัณฑ์เล็กๆ แล้วค่ะ เริ่มมาจากการเตรียมความพร้อมเรื่องภาษาอังกฤษ ซึ่งเราลงทุนให้ลูกเรียนกับสถาบันสอนภาษาที่มีครูฝรั่งเจ้าของภาษาสอนเอง ตอนนั้นน้องทัณฑ์อายุประมาณ 5 ขวบ เขาเรียนหลักสูตรของ Oxford ตั้งแต่อนุบาลสามจนถึงประถมห้า หลังจากนั้นแม่ต้องให้หยุดเรียนเพื่อมาติวสอบเข้า IP ของโรงเรียนสตรีภูเก็ต 1 ปี เมื่อเข้าได้แล้วความรู้ด้านภาษาก็พัฒนาไปเร็วมาก
ม.1 สอบผ่าน CEFR ระดับ A1, ม.2 สอบผ่าน A2 และปีสุดท้ายที่เรียน IP ก็สอบผ่าน B1-B2 ค่ะ จากนั้นมาเรียนมัธยมปลาย เขาก็ออกจากโปรแกรม IP เพื่อมาเรียนศิลป์ภาษาอังกฤษ-เยอรมัน โดยตรง ม.4 ก็สอบวัดระดับภาษาเยอรมันผ่าน A1 ระดับ good เรียบร้อย พอช่วงปิดเทอมก่อนขึ้นม.5 ก็ได้เข้าร่วมโอลิมปิกวิชาการภาษาเยอรมันระดับ A2 จนได้เหรียญทองแดง แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ได้สอบ CEFR ภาษาอังกฤษอีกนะคะ คิดว่าจะกลับไปสอบก่อนเข้ามหาวิทยาลัยเลย
ทีนี้กลับมาเรื่อง AFS ต้องบอกอย่างภาคภูมิใจก่อนว่าน้องทัณฑ์มั่นใจภาษาอังกฤษของตัวเองมาก เขาก็เลยจะชิลด์ๆ แต่พ่อก็บอกไม่ควรประมาทนะ พ่อเลยซื้อข้อสอบ AFS ย้อนหลังมาให้ทำ 5 ปี ปรากฏว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 73% (ต่ำสุด 68 สูงสุด 80 ค่ะ) เขายิ่งมั่นใจว่าสอบข้อเขียนผ่านแน่
ปีนี้ด้วยภาวะโควิด ทาง AFS จึงมีการสอบข้อเขียนผ่านทางระบบออนไลน์ค่ะ โดยมีข้อสอบทั้งหมด 50 ข้อเท่านั้น หลังจากสอบเสร็จน้องทัณฑ์ออกมาบอกว่าน่าจะได้เกิน 40 ข้อ เธอมั่นใจจริงๆ
หลังจากประกาศผลสอบข้อเขียนก็ผ่านจริงค่ะ จากนั้นต้องกรอกข้อมูลเพื่อสัมภาษณ์ในรอบต่อไป แล้วยังมีการเลือกประเทศด้วย ขั้นตอนนี้แหละที่ไม่เหมือนกับปีก่อนๆ อย่างแรกคือ มีการแบ่งโควต้าตามจังหวัดค่ะ และจังหวัดภูเก็ตไม่มีประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมันให้เลือกเลย ฮืออออออ กติกาคือ คุณมีสิทธิ์เลือกสามประเทศ ถ้าไม่ได้ประเทศแรกคุณก็มีสิทธิ์เลือกประเทศที่สองและสามตามมา
ทีนี้เอาความต้องการของเราก่อนนะ เมื่อไม่มีประเทศที่ใช้ภาษาเยอรมัน เราก็เริ่มแพนิค พอมาดูประเทศอื่นส่วนใหญ่ก็ใช้ภาษาอังกฤษ แต่น้องทัณฑ์เขามั่นใจภาษาอังกฤษของตัวเองแล้ว เขาก็ไม่อยากไปประเทศที่ใช้ภาษาที่สอง ที่สำคัญเขาขอเป็นประเทศในทวีปยุโรป เพราะเขาชอบศิลปะ วัฒนธรรม กับประวัติศาสตร์ทางนั้นมาก ในที่สุดก็เหลือแค่ประเทศเดียวคือ ฝรั่งเศสค่ะ
เกาทัณฑ์ตัดสินใจเลือกลำดับเดียวค่ะ โดยไม่เลือกประเทศอื่นเลย...
แต่ AFS ก็ยังใจดีมีทิ้งท้ายในใบสอบสัมภาษณ์ว่า หากในจังหวัดคุณไม่มีโควต้าประเทศที่ต้องการให้เลือก คุณอยากไปประเทศไหน ตรงนี้แหละที่เกาทัณฑ์ใส่ว่า ประเทศเยอรมันค่ะ
ตรงนี้มันก็ยังมีเงื่อนไขอยู่นะคะว่า ถ้าคุณพลาดฝรั่งเศสที่เลือกไว้ โดยไม่ได้เป็นตัวจริง แต่อยู่ในสถานะตัวสำรอง รายชื่อของคุณจะถูกโยนเข้าไปแข่งขันในระดับภาคและระดับประเทศต่อ นั่นหมายความว่าคุณก็ยังเป็นตัวสำรองของคนที่เลือกประเทศเยอรมันไว้ ถ้ามีตัวจริงของคนที่เลือกเยอรมันเขาสละสิทธิ์ไป คุณจึงจะมีสิทธิ์เป็นลำดับถัดไป แต่นั่นก็คือการต่อคิวแบบไม่รู้ว่าเราอยู่ตรงไหนเลยค่ะ
ทีนี้พ่อกับแม่ก็เลยต้องมาคุยกับเขาว่า ถ้าเราไม่มีคู่แข่งในสนามภูเก็ตเลย นั่นหมายความว่าเรามีสิทธิ์เป็นตัวจริงสูงมาก แล้วถ้าเป็นตัวจริงของฝรั่งเศสแล้ว การไม่เอาคือการสละสิทธิ์ทั้งหมด ไม่สามารถเป็นตัวสำรองได้ด้วย แล้วอย่างนี้ถ้าได้จริงๆ ลูกจะเอาไหม เขาตอบว่าเอา
ซึ่งถ้าได้จริงมันก็มีเงื่อนไขพ่วงท้ายอีกค่ะว่า คุณต้องเรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสเพิ่มเติมจำนวน 60 ชั่วโมง แล้วต้องมีใบรับรองจากสถาบันที่ทาง AFS ยอมรับด้วยค่ะ เมื่อเข้าใจตรงกันทุกอย่างแล้ว เด็กก็ยอมรับว่าเลือกฝรั่งเศสไปเลย ได้ก็เอาเลย ไม่รอลุ้นด่านต่อไปให้เครียด
แล้วก็ถึงวันสัมภาษณ์ ทาง AFS ขอให้นักเรียนแต่งกายสุภาพ โดยไม่มีเครื่องแบบหรือเครื่องหมายแสดงชื่อสถาบันการศึกษาเพื่อป้องกันการมีอคติ คุณเกาทัณฑ์ก็จัดชุดนี้ไปเลยค่ะ
ในวันนั้นเราเลยรู้มาว่าไม่มีคนเลือกฝรั่งเศสเลย นอกจากเรา งั้นเบาใจแล้วว่าไม่มีคู่แข่ง ก็แข่งกับตัวเองนี่แหละ
เกาทัณฑ์สัมภาษณ์เป็นคนสุดท้าย ใช้เวลานานมากกกกก พอออกมาจากห้องก็เล่าให้ฟังว่า...มีคนสัมภาษณ์ 3 คน ส่วนใหญ่พูดภาษาไทย ส่วนภาษาอังกฤษใช้วิธีให้เด็กแนะนำตัวเอง น้องทัณฑ์พูดมากจนเขาต้องเบรค เขาถามทำไมพูดภาษาอังกฤษได้ดีมาก เธอบอกว่าพ่อแม่ส่งเรียนกับครูฝรั่งตั้งแต่ 5 ขวบ เรียนเปียโนตอน 3 ขวบก็เลยเล่นดนตรีเป็นหลายอย่าง ตอนนี้พูดได้ 3 ภาษา เพิ่งได้เหรียญทองแดงโอลิมปิกระดับประเทศมา ถ้าได้ไปฝรั่งเศสอย่างที่ขอไว้ก็จะกลายเป็นภาษาที่ 4
เสียดายที่ไม่ได้โชว์ทักษะภาษาเยอรมันกับฝรั่งเศสให้คณะกรรมการฟัง ทั้งที่อุตส่าห์เตรียมตัวไป เห็นเขียนบทพูดไว้เป็นหน้าๆ ในไอแพดเลย
คำถามมีรายละเอียดและเฉพาะเจาะจงลงไปในประเทศที่เราเลือกไว้มาก เช่น ถ้าโดนบูลลี่คุณจะทำยังไง ถ้าพาสปอร์ตหายจะติดต่อใคร สุดพีคอยู่ตรงที่ถ้าคุณโดนสาวๆ ฝรั่งเศส French Kiss คุณจะทำยังไง เพราะมันคือวัฒนธรรมของเขา 😁😁😁 ไม่บอกว่าเด็กตอบว่ายังไง
จากนั้นเราก็รอผลสัมภาษณ์ค่ะ...แล้วก็ได้ลำดับแรก ลำดับเดียวนั่นแหละ ฝรั่งเศสสสสสสส แล้วไม่ใช่การใช้ภาษาที่สามด้วย แต่ต้องเรียกว่าเป็นการไปใช้ชีวิตเพื่อใช้ภาษาที่สี่ของตัวเองค่ะ...
แล้วก็ถึงเวลาเดินทางขึ้นไปประชุมผู้ปกครองและนักเรียนตัวจริงที่ผ่านการคัดเลือกรุ่นที่ 62 ตื่นเต้นๆ
ในงานมีบูธของประเทศต่างๆ ครบครัน เราแวะที่บูธฝรั่งเศสเพื่อคุยกับรุ่นพี่ที่เคยไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน พี่ให้ความรู้ดีมาก ประทับใจเลยขอถ่ายรูปมาด้วยค่ะ
หลังจากนี้คือการเตรียมความพร้อมเรื่องเอกสารเป็นหลัก งานหนักมากค่ะ แล้วจะมาเล่าเป็นระยะๆ นะคะ