= = จะจัดการพี่อิจฉาน้องเบบี๋อย่างไรดี by พี่ฟ่านและน้องมีฟา = =

นำแสดงโดย
น้องฟ่าน รับบท พี่ฟ่าน
น้องมีฟา รับบท น้องมีฟา
(จะบอกทำไมฟระ ก็เหมือนเดิม)

เล่าโดย เจ้าของกระทู้ ผู้เป็นน้าแท้ๆของสองสาว

หมายเหตุ : เรื่องที่เล่า เป็นเรื่องสมมติตามจินตนาการของเจ้าของกระทู้เท่านั้น ยืมตัวสองสาวมาเล่าเรื่องเฉยๆ

โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสอดแทรกแนวคิด การจัดการกับกรณีพี่ที่อิจฉาน้องเบบี๋
โดยที่ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้น สองศรีพี่น้องรักกันมากกกกกกกกก
มักรวมหัวกันเพื่อแย่งความสนใจพ่อจากแม่เสมอ.......... กร๊ากกกกกก (ถูกแม่สองสาวตีหัวหนึ่งที)

ต่อไปนี้น้องฟ่าน จะจูงมือพ่อๆแม่ๆทั้งหลายเข้าไปดูโลกภายในของพี่คนโต
ว่าหนูจะคิด รู้สึกอย่างไร ทำไมจึงเกิดกรณีพี่อิจฉาน้องขึ้นมาได้



ย้อนเวลากลับไปช่วงที่แม่ตั้งท้องน้องมีฟา ขณะที่พี่ฟ่านอายุได้ 1 ปีกว่าๆ

แม่คุยกับพี่ฟ่านเสมอ ถึงสมาชิกใหม่อย่างน้องมีฟาที่อยู่ในพุงโตๆของแม่ ให้พี่ฟ่านคุยกับน้อง จับพุงแม่เวลาน้องดิ้นบ่อยๆ

“เมื่อก่อนหนูก็เคยอยู่ในท้องแม่เหมือนน้องนี่แหละ อีกไม่นาน
น้องก็จะออกมาอยู่ด้วยกันกับเราจ้ะ หนูจะได้เป็นพี่ ได้ช่วยแม่ดูแลน้องไงจ๊ะ”

พี่ฟ่านพนักหน้างงๆ ไม่เข้าใจนัก รู้แต่ว่าน่าจะเป็นเรื่องดี เพราะแม่ดูมีความสุขเหลือเกิน เวลาพูดถึงน้องมีฟา

สรุป – เตรียมตัวพี่คนโตก่อนเสมอ ตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์

- อธิบายแบบสั้นๆ ง่ายๆ บ่อยๆในเชิงบวก

- ให้พี่ได้มีส่วนร่วมในการดูแล และมีปฏิสัมพันธ์กับน้องตั้งแต่เนิ่นๆ

- หากจำเป็นต้องเริ่มให้พี่แยกห้องนอนกับพ่อแม่ ควรเริ่มทำตั้งแต่น้องยังไม่คลอด แบบค่อยเป็นค่อยไป




หลังจากน้องมีฟาเกิดมา ทั้งพ่อแม่และญาติๆต่างมีความสุข ตื่นเต้น ดีใจกับสมาชิกคนใหม่ของครอบครัว

พี่ฟ่านเองก็ตื่นเต้นเช่นกัน ที่ได้ของเล่น เอ้ย..สมาชิกใหม่

พี่ฟ่านมายืน เลียบๆเคียงๆ ตอนที่แม่อุ้มน้อง มองอย่างไม่คลาดสายตา

“มองน้องแบบนั้น แม่รู้นะ ว่าคิดจะทำอะไร!” แม่เตือนพี่ฟ่านไว้ก่อน กลัวพี่ฟ่านมาแกล้งน้อง

หึ หึ ยิ่งทำให้พี่ฟ่านเกิดความสงสัย คับข้องใจ เอาไว้เผลอ แอบมาจับน้องดีกว่า

วันหนึ่ง ด้วยความสงสัย น้องฟ่านจึงแอบมาจับน้อง เอ๊..น้องตัวนิ่มจัง ลองกัดเท้าน้องดีกว่า

“อะแง้ๆๆๆ” น้องมีฟาร้องเพราะเจ็บ จนแม่เดินเข้ามาดู (ยังกะ Mr Fusion)

“ทำไมทำน้องอย่างนี้ แม่บอกแล้วใช่ไหม ไม่ให้แกล้งน้อง ถ้าทำอีกแม่จะไม่รักนะ”
แม่เอ็ดเสียงดัง จนพี่ฟ่านตกใจ ร้องไห้ครางเบาๆ เพราะกลัวแม่เอ็ดซ้ำ

แม่มักจะสาละวนกับการให้นมน้อง เปลี่ยนผ้าอ้อม และก็นอน (เอ่อ..)

จนไม่ค่อยได้มีเวลาคุย เล่นกับพี่ฟ่านเหมือนเคย
บางครั้งที่พี่ฟ่านเล่นซน
ก็ถูกคุณแม่ที่กำลังเหน็ดเหนื่อยเอ็ดอีก

ส่วนพ่อก็ออกไปทำงาน กว่าจะกลับมาก็ค่ำๆ

เวลาพ่อกลับมา พี่ฟ่านจะดีใจมาก แต่ทว่า

“พ่อขา พ่ออุ้ม พ่ออุ...” พี่ฟ่านร้องเรียกจะให้พ่ออุ้ม

“เดี๋ยวนะลูก พ่อเข้าไปดูน้องก่อน” พ่อตัดบทเดินลิ่วไปหาน้องมีฟา ผ่านหน้าพี่ฟ่านไป

“ชื่นใจพ่อจริงๆ เจ้าตัวเล็ก” พ่ออุ้มน้อง พลางกอดหอมอย่างเอ็นดู พี่ฟ่านมองตาละห้อย

เชอะ ไม่ง้อพ่อก็ได้ เดี๋ยวคุณปู่ คุณย่ามา แต่ทว่า........

ทุกคนที่มาเยี่ยม จะตรงลิ่วไปหาน้องมีฟา จนลืมให้ความสนใจกับพี่ฟ่านซึ่งยืนต้อนรับอยู่หน้าบ้าน




นี่มันเกิดอะไรขึ้นกับหนู

ก่อนหน้านี้ ทุกคนรักหนู ให้ความสนใจหนูคนเดียว

พอมีน้องขึ้นมา ทุกๆคนรอบตัวก็เปลี่ยนไป พี่ฟ่านรู้สึกหวั่นไหวกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว

พี่ฟ่านจึงมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเช่นกัน เพื่อรักษาสมดุล และปรับตัวกับสถานการณ์รอบตัวที่เปลี่ยนไป

พี่ฟ่านงอแงมากขึ้น ติดพ่อแม่มากขึ้น ไม่ยอมแยกห่าง แม้นาทีเดียว

ไม่ยอมออกไปเล่นนอกบ้าน พฤติกรรมถดถอย กลับมาดูดนิ้ว อึ ฉี่รดกางเกง ร้องอุแว้ๆแบบทารก
แกล้งมากัดเท้าน้องทุกครั้งที่มีโอกาส

พ่อกับแม่ไม่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น จึงยิ่งไปดุพี่ฟ่าน ยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายกว่าเดิม

สรุปประเด็นที่ได้จากสถานการณ์นี้

- การมีสิ่งใหม่ๆเข้ามาในบ้าน จะกระตุ้นพฤติกรรมอยากสำรวจของเด็ก เป็นเรื่องปกติ
ถ้าคุณไม่อยากให้เขาสำรวจแบบผิดๆ

ก็ต้องชักชวนเขาเข้ามาดูน้อง ภายใต้การดูแลของคุณ เช่น

เมื่อเห็นพี่ มายืนเลียบๆเคียงๆ เมื่อเจอน้องวันแรก

“ฟ่าน เข้ามาหาน้องสิจ๊ะลูก หนูลองจับน้องดูสิ แต่จับเบาๆนะ เพราะน้องตัวเล็ก ยังไม่แข็งแรงเหมือนหนู”

- การที่พ่อแม่โวยวาย ดุด่าลูก ทำเป็นเรื่องใหญ่โต เมื่อเห็นพี่แกล้งน้อง(ไม่ว่าพี่จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม)
จะเป็นการให้แรงเสริมให้พี่แกล้งน้องต่อไปมากขึ้น

เพราะอย่างน้อย เค้าได้รับความสนใจจากคุณเวลาแกล้งน้อง
แม้ว่าจะเป็นความสนใจเชิงลบก็ตาม (ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย)

และเขาจะเชื่อมโยงว่าเมื่อไหร่มียัยตัวเล็ก ฉันถูกแม่ดุทุกที พาลจะยิ่งไม่ชอบน้องเข้าไปอีก

ดังนั้น เมื่อเห็นพฤติกรรมแกล้งน้อง บอกเขาด้วยน้ำเสียงหนักแน่น ไม่ตวาด สั้นๆว่าทำไม่ได้
พร้อมกับดึงเขาออกมาจากการกระทำดังกล่าว

ห้ามๆๆๆๆๆๆขู่ลูกว่า แม่จะไม่รักเด็ดขาด เพราะจะยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า
เป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจเด็กอย่างมาก
อาจเกิดภาวะวิตกกังวลจากการจากพรากได้ (separation anxiety)

เด็กจะงอแงติดพ่อแม่มากขึ้น เพราะกลัวว่าถ้าพ่อแม่ลับตาไป เขาจะถูกทิ้งไปจริงๆ ตามจินตนาการของช่วงวัยนี้


- ยอมรับปฏิกิริยาของลูกคนโตที่เกิดขึ้น เพราะมันเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้ ที่เขาหวงพ่อแม่
เพราะเขามีความผูกพัน (ถ้าเด็กคนไหนไม่มีปฏิกิริยาอะไรเลย นี่สิ แปลก!!)

ซึ่งปฏิกิริยาเด็กที่เกิดขึ้น แต่ละคนมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นกับการเตรียมตัว การจัดการของพ่อแม่
และพื้นอารมณ์ดั้งเดิมของเด็ก ถ้าพ่อแม่ยิ่งไปดุ หัวเสียกับลูก มันก็ไม่เกิดประโยขน์อะไรขึ้นมา




พ่อแม่จึงหันกลับมาทบทวนเรื่องที่เกิดขึ้น และเข้าใจที่มาที่ไปของปัญหาพี่ฟ่าน การเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ จึงเกิดขึ้น

แม่ดึงพี่ฟ่านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลน้องมีฟามากขึ้น เพื่อใช้เวลาร่วมกันให้เป็นประโยชน์
และทำให้พี่ฟ่านรู้สึกว่า เค้าไม่ได้เป็นส่วนเกิน และภาคภูมิใจกับความสามารถของตัวเองที่ดูแลน้องได้ เช่น

“พี่ฟ่านจ๊ะ ช่วยแม่หยิบผ้าอ้อมน้อง มาให้แม่หน่อยสิลูก”

“ขอบใจจ้า หนูช่วยแม่ได้เยอะเลย เก่งมากลูก” แม่เอ่ยชมพี่ฟ่าน พร้อมกับกอดอุ่นๆหนึ่งที

ตอนเย็น เมื่อพ่อกลับมา

น้องฟ่านรอต้อนรับหน้าบ้านอีกเช่นเคย

“หวัดดีจ้า พี่ฟ่านวันนี้เป็นไงมั่งลูก” พ่อทักพี่ฟ่านพร้อมกับอุ้ม และหอมหนึ่งฟอด

“หนูระบายสีด้วย” ฯลฯ พ่อลูกคุยกันหอมปากหอมคอ

“เอ แล้ววันนี้น้องมีฟาเป็นยังไงบ้างน้า หนูพาพ่อไปดูน้องหน่อยสิ”

น้องฟ่านเดินจูงมือพ่อไปดูน้องด้วยกัน

“วันนี้ พี่ฟ่านช่วยแม่ดูแลน้องด้วยนะพ่อ แม่สบายขึ้นเยอะเลย” แม่เข้ามาเสริมทัพ

“โอ้โห จริงเหรอลูก เก่งมากเลย พ่อดีใจนะที่หนูช่วยแม่ดูแลน้อง เก่งอย่างนี้ต้องหอมอีกฟอด”

ตั้งแต่นั้นมา หากมีใครมาเยี่ยมน้องที่บ้าน ต้องทักพี่ฟ่านก่อน และให้พี่ฟ่านเป็นฝ่ายพาไปหาน้องเสมอ


พ่อแม่ใช้เวลาช่วงก่อนนอนหลังน้องมีฟาหลับไปแล้ว อ่านหนังสือนิทานร่วมกันสามคนพ่อแม่ลูก
โดยนิทานเป็นเรื่องหมีน้อยรักน้อง (ช่างใกล้เคียงกับชีวิตน้องฟ่านจริงๆ)

(สรุปว่าพ่อแม่ควรมีเวลา”special” เล็กๆน้อยๆ สำหรับพี่คนโต โดยที่ไม่มีน้องมาเกี่ยวข้องบ้าง
เพื่อชดเชยความรู้สึกขาดให้พี่คนโต)

บางครั้งพ่อจะพาพี่ฟ่านไปเที่ยวข้างนอกกันสองคนพ่อลูก พ่อจะสอนพี่ฟ่านให้นึกถึงคนที่บ้านเสมอ

“ฟ่าน หนูว่าน้องมีฟาที่รอเราอยู่ที่บ้าน ไม่ได้มาเที่ยวเหมือนเรา เค้าจะอยากได้อะไรน้า”

“เดี๋ยวถึงบ้านแล้ว หนูเอาไปให้น้องเลยนะ พ่อว่าน้องคงดีใจที่หนูซื้อของไปฝาก”

อย่าพูดคำว่า”เป็นพี่ ต้องเสียสละให้น้อง” บ่อยจนเกินไป

มันไม่ใช่ความผิดที่เกิดเป็นพี่คนโต มันเป็นข้อจำกัดที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

การตอกย้ำจุดนี้บ่อยๆ ยิ่งทำให้ตัวคนเป็นพี่ รู้สึกผิด รู้สึกไร้ซึ่งการควบคุม ไม่มั่นคงกับสถานภาพตัวเอง
(แล้วจะให้หนูทำยังไงล่ะ ก็เกิดมาเป็นคนโตแล้วนี่)

เพราะมีคำว่า พี่ต้องเสียสละ ค้ำคออยู่ตลอดเวลา
อาจทำให้เด็กมีปัญหาทางอารมณ์จากความคับข้องใจตามมาได้

นอกจากนี้อาจส่งผลให้น้องคนเล็กเกิดพฤติกรรมเอาแต่ใจได้ เพราะไม่เคยถูกขัดใจเลย



จบแล้วครับ (หมดมุก)

คงพอได้ไอเดียเอาไปใช้บ้างนะครับ


Create Date : 12 เมษายน 2553
Last Update : 12 เมษายน 2553 19:49:09 น. 3 comments
Counter : 2892 Pageviews.

 
น่ารักมาก


โดย: จูหน่านพ วันที่: 24 เมษายน 2553 เวลา:9:50:17 น.  

 
คร้าบบบ พี่ไปป์

ไซไคเด็กมิรู้เรื่องเลยฮะ แค่ของผู้ใหญ่ตอนนี้ก็วุ่นแล้ว


ช่วงนี้ อากาศร้อนมาก งานทั้งวอร์ด+คอนซัลท์ เด้นท์สามหายไป ที่เหลือรับกระอัก ข้าวปลาฝั่งสีลมก็ถูกปิดต้องพึ่งในโรง'บาล แถมยังมีพวกถ่อยมาส่งเสียงก่อกวนออกข่าวให้รู้สึกไม่ปลอดภัย กลับบ้านก็ต้องกลับเร็วขึ้นเพราะกลัวมันจะตูมตาม ก็ต้องเร่งงานในโรง'บาลให้เสร็จ ต้องคอยเช็คเส้นทางBTSรายวัน ลิโด้ก็ไม่กล้าไปดู แถมยังมีรอ present journal / seminar ในรอบ 1 เดือน

ฉะนั้นอย่าแปลกใจนะครับถ้าเห็นผมปากจัดหรือหัวรุนแรงผิดปกติในช่วงนี้ พอดีไม่ชอบเก็บ ชอบระบาย 555

ได้ข่าวว่าต้องปีนเข้าโรง'บาลหรอครับ อิ อิ


โดย: jonykeano วันที่: 27 เมษายน 2553 เวลา:0:56:26 น.  

 
สวัสดีคะหมอไปป์
ได้เอาเทคนิคไปใช้
ได้ผลเลยคะ วันแรกหยุดตีน้องเลย
แต่พอหลังๆ เริ่มจะมีแอบหยิกน้องบ้าง
แต่ก็ดีขึ้น รู้สึกว่าพอให้ความสนใจพี่มากขึ้น
อาการอิจฉาน้องน้อยลงเลยคะ
ไว้จะเข้ามาปรึกษาบ้างนะคะ
ขอบคุณคะ


โดย: ปะการังสีส้ม วันที่: 20 สิงหาคม 2553 เวลา:11:10:45 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

tpipe
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




Group Blog
 
<<
เมษายน 2553
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
12 เมษายน 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add tpipe's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.