โรคพาร์กินสัน คือโรคอะไร สาเหตุของโรค อาการของโรค การรักษา วิธีรักษา Parkinson

1. โรคพาร์กินสัน คือโรคอะไร ?

ในอดีตคนไทยน้อยคนที่จะรู้จักโรคนี้ ในยุคปัจจุบันคนไทยมี อายุเฉลี่ย ยืนยาวกว่าเดิมมาก คือ ผู้ชายอายุเฉลี่ย ถึง 63 ปี ส่วนผู้หญิงอายุเฉลี่ย 64 ปี (อดีตคนไทยเราอายุเฉลี่ยเพียง 45 ปี) ดังนั้นโรคในผู้สูงอายุจึงพบบ่อยขึ้นมากในคนไทยเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคทางระบบประสาทที่มีชื่อเรียกว่า โรคพาร์กินสัน

โรคพาร์กินสันนี้เป็นโรคที่รู้จักกันครั้งแรกในวงการแพทย์ในปี พ.ศ.2360 หรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว โดย นายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน แห่งประเทศอังกฤษ เป็นคนรายงานผู้ป่วยเป็นคนแรก โรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยซึ่งส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) มีอาการทางระบบประสาทที่เด่นชัด 3 ประการได้แก่
1.อาการ สั่น
2.อาการ เกร็ง และ
3.อาการ เคลื่อนไหวช้า

ในอดีตโรคดังกล่าวนี้รักษาไม่ได้ และอาการของผู้ป่วยจะเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนเคลื่อนไหวไม่ได้เลยต้องนอนอยู่กับเตียงตลอด ซึ่งในที่สุดก็จะเสียชีวิตเพราะ โรคแทรกซ้อน ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถรักษาโรคนี้ได้อย่างดี และสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นมาก จึงสมควรจะรู้จักโรคนี้ไว้บ้าง

2. สาเหตุของโรคพาร์กินสันมีอะไรบ้าง ?

โรคพาร์กินสันอาจเกิดได้จากสาเหตุต่าง ๆ มากมาย ได้แก่

1.ความชราภาพของสมอง ทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีนมีจำนวนลดลง ในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด และจัดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุจำเพาะแน่นอน มักพบในผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป และพบได้บ่อยพอ ๆ กันในเพศชายและเพศหญิง ไม่มีใครทราบว่าในอนาคตใครจะเกิดโรคนี้บ้างในช่วงวัยชรา แต่จากสถิติอุบัติการณ์เกิดโรคนี้ในต่างประเทศจะพบราว 1-5 % ในผู้ที่อายุเกิน 50 ปี สำหรับประเทศไทยเรายังไม่ทราบสถิติของโรคนี้

2.ยากล่อมประสาทหลัก หรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างสารโดปามีน ซึ่งผู้ป่วยโรคทางจิตเวชจำเป็นต้องได้ยากลุ่มนี้ เพื่อควบคุมอาการคลุ้มคลั่ง เพ้อหรือสับสน ยากลุ่มนี้ในอดีตใช้กันมากในปัจจุบัน ยานอนหลับรุ่นหลัง ๆ ปลอดภัยกว่าและไม่มีผลต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน

3.ยาลดความดันโลหิตสูง ในอดีตมียาลดความดันโลหิตที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ทำให้สมองลดการสร้างสารโดปามีน จึงเกิดโรคพาร์กินสันได้ อย่างไรก็ตามยาควบคุมความดันโลหิตสูงในระยะหลัง ๆ ส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย จึงไม่มีผลต่อสมองที่จะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันอีกต่อไป

4.หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีนมีจำนวนน้อยหรือหมดไป

5.สารพิษทำลายสมอง ได้แก่พิษสารแมงกานีสในโรงงาน พิษจากสารคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งสามารถทำให้เซลล์สมองเสื่อมและเกิดโรคพาร์กินสันได้

6.สมองขาดออกซิเจน ในผู้ป่วยจมน้ำ ถูกบีบคอ หรือมีการอุดตันในทางเดินหายใจ จากเสมหะหรืออาหารเป็นต้น

7.อุบัติเหตุศีรษะถูกกระทบกระเทือน หรือกระแทกบ่อย ๆ เช่น อุบัติเหตุรถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ นักมวยที่ถูกชกศีรษะบ่อยๆ จนเป็นโรคเมาหมัด เช่น โมฮัมหมัด อาลี เป็นต้น

8.การอักเสบของสมอง

9.โรคพันธุกรรม เช่น โรควิลสัน ที่มีโรคตับพิการร่วมกับโรคสมอง เนื่องจากมีธาตุทองแดงไปเกาะในตับและสมองมากจนเป็นอันตรายขึ้นมา

3. อาการของโรคพาร์กินสัน มีอะไรบ้าง ?

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันนั้น อาจมีอาการและอาการแสดงของโรคมากน้อยแตกต่างกันได้มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุผู้ป่วยระยะเวลาการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา โรคพาร์กินสันนี้นอกจากจะมีอาการเด่น 3 อย่างดังกล่าวแล้ว อาจเกิดมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมได้อีกดังในรายละเอียดังนี้

1.อาการสั่น ราว 60-70% ของผู้ป่วยจะมีอาการสั่นเป็นอาการเริ่มต้นของโรค อาการสั่นนี้จะมีลักษณะเฉพาะคือ สั่นมากเวลาอยู่นิ่ง ๆ แต่ถ้าเคลื่อนไหวหรือยื่นมือทำอะไรอาการสั่นจะลดลงหรือหายไป (ผิดจากอาการสั่นอีกแบบที่พบบ่อยในผู้สูงอายุทั่วๆ ไปที่จะสั่นมากเวลาทำงานอยู่เฉย ๆ ไม่สั่น) อาการสั่นในโรคพาร์กินสันนี้ถ้านับอัตราเร็วจะพบว่าสั่นราว 4-8 ครั้งต่อวินาที และอาจสั่นของนิ้วหัวแม่มือ-นิ้วมืออื่น ๆ คล้ายแบบปั้นลูกกลอน อาการสั่นของโรคอาจเริ่มเกิดขึ้นที่มือ, แขน, ขา, คาง, ศีรษะหรือลำตัวก็ได้ ระยะแรกของโรคอาจเกิดข้างเดียวก่อนและต่อมาจึงมีอาการทั้งสองข้างก็ได้

2.อาการเกร็ง จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยเฉพาะแขนขาและลำตัว โดยที่ผู้ป่วยไม่ได้เคลื่อนไหว หรือทำงานหนักแต่อย่างใด กล้ามเนื้อของร่างกายจะมีความตึงตัวสูงและเกร็งแข็งอยู่ตลอดเวลา จนผู้ป่วยบางรายต้องกินยาแก้ปวดเมื่อย หรือหายามาทา บรรเทาตามร่างกายส่วนต่างๆ หรือหาหมอนวดมาบีบคลายเส้นเป็นประจำ

3.อาการเคลื่อนไหวช้า ผู้ป่วยในระยะแรก ๆ จะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรช้าลงไปจากเดิมมาก ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวแบบเดิม เดินช้า และงุ่มง่าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้น ๆ ของการเคลื่อนไหว ในรายที่เป็นมากขึ้นอาจพบว่า อาจหกล้มบ่อย ๆ จนบางรายกระดูกต้นขาหัก, สะโพกหัก, หลังเดาะ, แขนหัก, หัวแตกเป็นต้น ในรายที่เป็นมากอาจเดินเองไม่ได้ต้องใช้ไม้เท้า หรือคนคอยพยุง

4.ท่าเดินผิดปกติ ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีลักษณะท่าเดินจำเพาะตัวที่ผิดจากโรคอื่น คือจะเดินก้าวสั้น ๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรก ๆ และต่อมาจะก้าวยาวขึ้นเรื่อยๆ จนเร็วมากและหยุดทันทีทันใดไม่ได้จะล้มหน้าคว่ำเลย นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเดินหลังค่อม, ตัวงอโค้งและแขนไม่แกว่งตามเท้าที่ก้าวออกไป มือจะชิดแนบตัวเดินแข็งทื่อแบบหุ่นยนต์

5.การแสดงสีหน้า ผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีใบหน้าแบบเฉยเมย ไม่มีอารมณ์เหมือนคนใส่หน้ากาก ไม่ยิ้มหัวเราะหน้าตาทื่อ เวลาจะพูดก็จะมีมุมปากยับเพียงเล็กน้อย เหมือนคนไม่มีอารมณ์

6.เสียงพูด ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพูดเสียงเครือ ๆ และค่อยมากฟังไม่ชัดเจน และยิ่งพูดนานไปๆ เสียงจะค่อยๆ หายไปในลำคอ บางรายที่เป็นไม่มากเสียงพูดจะค่อนข้างเรียบรัว และอยู่ในระดับเดียวกันตลอด ไม่มีพูดเสียงหนักเบาแต่อย่างใด

7.การเขียนของผู้ป่วยกลุ่มนี้จะทำได้ลำบาก และตัวเขียนจะค่อยๆ เขียนเล็กลงๆ จนอ่านไม่ออก

8.การกลอกตา ในผู้ป่วยโรคนี้ จะทำได้ลำบากช้า และไม่คล่องแคล่วในการมองซ้ายหรือขวา บนหรือล่าง ลูกตาจะเคลื่อนไหวแบบกระตุกไม่เรียบ

9.น้ำลายไหล เป็นอาการที่พบได้บ่อยอันหนึ่ง คือมีน้ำลายมาสออยู่ที่มุมปากสองข้างและไหลเยิ้มลงมาที่บริเวณคาง ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีลักษณะแบบมีน้ำลายมากอยู่ตลอดเวลา

credit manager.co.th ชุดความรู้สำหรับประชาชน ศ.นพ.นิพนธ์ พวงวรินทร์ สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคพาร์กินสัน สามารถรักษาได้

โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาทที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย อายุมากกว่า 55 ปี รองลงมาจากโรคหลงลืมคือโรคอัลไซเมอร์ สาเหตุของโรคพาร์กินสันโดยแท้จริงยังไม่เป็นที่ทราบแน่นอน แต่อาการของโรคพาร์กินสันโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นเนื่องมาจากเซลสมองในส่วนที่เรียกว่า Substantia nigra ที่ผลิตสารที่เรียกว่า โดปามีน (Dopamine) มีจำนวนลดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเคลื่อนไหวช้า ลำตัวแขนขาแข็ง สั่นตามมือและเท้า และเดินได้ลำบาก ในปัจจุบันเป็นที่ทราบว่าอาการของโรคพาร์กินสันยังสามารถคลอบคลุมไปถึงอาการนอกเหนือจากความเคลื่อนไหว ดังเช่น อาการท้องผูก ควบคุมปัสสาวะได้ลำบาก อาการหลงลืม หดหู่ เหนื่อยง่าย และรวมถึงสมรรถภาพทางเพศที่ลดน้อยลง เป็นต้น

ด้วยความก้าวหน้าทางการรักษาและวิจัยในโรคพาร์กินสัน โดยเฉพาะในช่วง 10 – 15 ปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้โรคพาร์กินสันเป็นโรคทางระบบประสาทที่สามารถรักษาได้และได้ผลดี ถึงแม้ว่าจะยังรักษาให้หายขาดไม่ได้ ตั่จจุบันมีวิธีรักษาที่มากมาย ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีการเคลื่อนไหวและสภาพจิตใจที่ดีขึ้น รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในปัจจุบันนอกเหนือจากยาในกลุ่มลีโวโดปา (Levodopa) ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนามของ Sinemet หรือ Madopar ยังมียาในกลุ่มอื่นๆ ดังเช่น กลุ่มยาที่ช่วยเพิ่มการทำงานของโดปามีน (Dopamine agonists) ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อของ Sifrol Celance Trivastal Bromocriptine เป็นต้น และกลุ่มยาที่ทำให้โดปามีนออกฤทธิ์ได้นานและดีขึ้น (COMT inhibitors and MAO-B inhibitors) ดังเช่น Comtan (Entacapone) หรือ Jumex (Selegiline) เป็นต้น และยังมียาอีกหลายตัว ซึ่งขณะนี้อยู่ในการทดลองในต่างประเทศ และมีโอกาสที่จะได้รับอนุญาตในเร็วๆ นี้ ดังเช่น Rotigotine patch หรือ Rasagiline เป็นต้น อาการของโรคพาร์กินสันที่ต่างกันไปในแต่ละคน ทำให้ยาที่ใช้มีความแตกต่างในแต่ละผู้ป่วย แต่หลักการรักษาจะเหมือนกัน คือการให้ยาจากหลายๆ กลุ่มในปริมาณที่น้อยที่สุดเพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้นาน และในระดับที่สม่ำเสมอที่สุด

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมียาที่ใช้ในการรักษาพาร์กินสันที่มากขึ้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือการรู้จักใช้ยาให้ถูกต้องให้เหมาะกับผู้ป่วยในแต่ละกลุ่ม หลักการรักษาโรคพาร์กินสันควรจะคำนึงถึงผลของการรักษาในระยะยาว โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในระยะเริ่มต้นและอายุน้อย ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีแล้วว่าการใช้ยาในกลุ่มลีโวโดปาเป็นระยะเวลานาน (ในผู้ป่วยระยะแรก มากกว่า 5 ปี) ในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง จะสามารถส่งผลห้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีปัญหาการตอบสนองต่อยาที่ไม่สม่ำเสมอในระยะยาว (On-Off Motor fluctuations) ผู้ป่วยในกลุ่มนี้บางครั้งจะแข็ง สั่น เดินลำบาก สลับกับการเคลื่อนไหวที่มากและยุกยิก (Dyskinesias) ดังนั้นการเลือกใช้ยารักษาโรคพาร์กินสัน รวมถึงวิธีการให้ยาที่ถูกต้องเพื่อลดการออกฤทธิ์ของยาเป็นช่วงๆ (Pulsatile stimulation) และทำให้ระดับยาสม่ำเสมอตลอดวัน (Continuous dopaminergic stimulation) เพื่อให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อยาอย่างสม่ำเสมอ และได้รับผลข้างเคียงจากยาให้น้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

นอกเหนือจากการรักษาโรคพาร์กินสันด้วยยา ในปัจจุบันโรคพาร์กินสันสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดตามที่รู้จักกันในชื่อของ DBS (Deep Brain Stimulation) การผ่าตัดแบบ DBS เป็นการผ่าตัดแบบใหม่ โดยอาศัยการฝังสายเพื่อกระตุ้นทางไฟฟ้าอย่างอ่อนในสมองส่วนที่เรียกว่า Globus Pallidus หรือ Subthalamic mucleus ส่งผลให้อาการสั่น แข็ง เคลคื่อนไหวยุกยิก ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่สำคัญมากที่สุด คือการเลือกผู้ป่วยที่เหมาะสมต่อการผ่าตัด (ไม่ใช่ว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทุกคนควรได้รับรักษาแบบ DBS) และรักษากับผู้ที่เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการรักษาแบบ DBS โดยแท้จริง เพื่อลดผลข้างเคียงจากการผ่าตัด ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 2-5% นอกเหนือจากนี้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแบบ DBS ที่ค่อนข้างสูงทำให้การผ่าตัดแบบนี้ยังไม่เป็นที่แพร่หลายในบางประเทศ

โรคพาร์กินสันในปัจจุบันสามารถรักษาได้ กลุ่มยาที่ใช้ในปัจจุบันมีมากกว่ายาที่มีเมื่อ 10 ปีที่แล้ว การรักษาที่ก้าวหน้าขึ้นส่งผลให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเคลื่อนไหวดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีอายุยืนยาวขึ้น สิ่งที่สำคัญคือผู้ป่วยโรคพาร์กินสันควรได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์ในการเลือกใช้ยาให้เหมาะสม กับกลุ่มผู้ป่วยและคำนึงถึงการรักษาในระยะยาว การผ่าตัดแบบ DBS ก็เป็นทางรักษาทางหนึ่งซึ่งเหมาะกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางกลุ่ม นอกเหนือากนี้การค้นพบยารักษาใหม่ๆ วิธีการรักษาแบบใหม่ๆ รวมถึงการวิจัยแบบปลูกถ่ายเซล (Transplantation) ทำให้ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันทุกคนมีความหวังและเห็นอนาคตของการรักษาที่จะได้ผลดีขึ้นไปเรื่อยๆ จนในที่สุดอาจทำให้เราสามารถรักษาโรคพาร์กินสันห้หายขาดได้ในอนาคต

ผู้เขียน นายแพทย์รุ่งโรจน์ ทิพยศิริ 2005-07-06


Create Date : 09 สิงหาคม 2553
Last Update : 9 สิงหาคม 2553 8:38:38 น. 0 comments
Counter : 12931 Pageviews.

SriSurat
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]




Online 30-03-2553 #2



Stats
Group Blog
 
 
สิงหาคม 2553
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
9 สิงหาคม 2553
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add SriSurat's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.