Group Blog
 
 
มิถุนายน 2551
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
30 มิถุนายน 2551
 
All Blogs
 
พันธมิตรกับการปลุกจิตสำนึกทางการเมือง

โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช 29 มิถุนายน 2551 11:43 น.

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 สังคม-การเมืองไทยเรามีลักษณะอย่างไร นี่เป็นคำถามสำคัญเพราะการเปลี่ยนระบอบการเมืองของสังคมอื่นๆ มีปัจจัยเอื้ออำนวยหลายปัจจัยที่ทำให้การพัฒนาทางการเมืองดำเนินไปในทิศทางที่เข้าสู่สภาวะของประชาธิปไตย

แต่สังคมไทยเราขาดปัจจัยเหล่านั้น เพราะเราไม่เคยมีประสบการณ์ที่สั่นสะเทือนจิตสำนึกของประชาชน ในประเทศอื่นๆ ประสบการณ์ที่สร้างจิตสำนึก และการรวมตัวจัดตั้ง (แม้จะเป็นไปอย่างลับๆ) ทางการเมืองก็คือ การตกเป็นอาณานิคม อีกอย่างหนึ่งก็คือการพ่ายแพ้สงครามเหมือนอย่างญี่ปุ่น

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ บทบาทของกลุ่มเศรษฐกิจที่ต้องการเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายของรัฐ กลุ่มเศรษฐกิจที่ประกอบด้วยพ่อค้าในประเทศไทยเป็นคนเชื้อสายจีน คนเหล่านี้อพยพย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่เมืองไทย โดยจิตใต้สำนึกที่ต้องการกลับบ้านเกิด ทำให้เขาเป็นคนที่มีชีวิตอยู่อย่างเป็นการ “ชั่วคราว” ไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง เพราะถูกรัฐบาลเพ่งเล็งและกีดกันอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็คือ ไม่มีจิตสำนึกของความเป็นชาติ

พัฒนาการของจิตสำนึกทางการเมืองไทยเกิดขึ้นอย่างล่าช้าเพราะขาดสื่อที่จะเผยแพร่ และเกิดขึ้นในวงจำกัดของผู้มีการศึกษา ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเทียนวรรณที่มีความคิดทางการเมือง และต้องการเผยแพร่ความคิดนั้น ฝ่ายคอมมิวนิสต์ก็มีบทบาทในทางลับตั้งแต่ พ.ศ. 2470 แต่งานของเทียนวรรณก็อ่านกันอยู่ในหมู่คนนับจำนวนร้อยเท่านั้น

ต่อมาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีนักหนังสือพิมพ์อย่าง กุหลาบ สายประดิษฐ์ เริ่มเขียนบทความทางการเมือง และที่ชัดเจนมากกว่าใครๆ ก็คือ งานของ ม.ร.ว.นิมิตมงคล นวรัตน ซึ่งถือว่าเป็นงานความคิดทางการเมืองที่เป็นระบบมากที่สุด

กลไกทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทำหน้าที่ระดมความสนับสนุนแบบชั่วคราวเพื่อการเลือกตั้ง และเนื่องจากพรรคการเมืองขาดความต่อเนื่อง เพราะมีการปฏิวัติรัฐประหารบ่อยๆ พรรคการเมืองก็ไม่อาจสร้างจิตสำนึกทางการเมืองขึ้นได้ ประชาชนเป็นสมาชิกพรรคการเมืองน้อยมาก ไม่ค่อยเสียค่าสมาชิก หรือบริจาคเงินให้พรรค ก่อให้เกิด “คณาธิปไตย” เพราะคนกลุ่มน้อยมีบทบาทในพรรค ในรูปของการให้ทุนสนับสนุนหรือไม่ก็เป็นบุคคลที่มีฐานสนับสนุนทางการเลือกตั้งอย่างมั่นคง ประชาชนไม่มี “ความภักดี” ต่อพรรคการเมืองใดๆ ทำให้พรรคไม่อาจมีฐานสนับสนุนของมวลชนได้ จึงขาดพลังและความชอบธรรม

เมื่อมีพรรคไทยรักไทย ผู้นำและแกนนำในการดำเนินงานได้วางรูปแบบให้พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคมวลชน จึงได้เน้นความสำคัญของประชาชน รูปแบบนี้เป็นการผสมผสานแนวทางมวลชนของพรรคคอมมิวนิสต์กับแนวทางการตลาด วิธีการนี้นับว่าได้ผลเพราะนอกจากสังคมจะเข้าสู่ระบบทุนนิยมแล้ว การเลือกตั้งก็ยังต้องอาศัยทุนจำนวนมาก พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองแรกของไทยที่ทำการสำรวจความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาเป็นนโยบายในการเลือกตั้งและนโยบายของรัฐบาล นี่คือการใช้แนวทางธุรกิจสมัยใหม่เป็นหลัก ด้วยการถือว่าประชาชนเป็น "ลูกค้า"

สิ่งที่พรรคไทยรักไทยทำเพื่อปิดช่องว่างทางการเมือง ก็คือ การเดินแนวทางมวลชน เนื่องจากพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยสลายตัวไป แต่นิสิตนักศึกษาได้รับการจัดตั้ง และเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่มีจิตสำนึกทางการเมืองสูง มีประสบการณ์ในการเคลื่อนไหว คือ มี “ทักษะทางการเมือง” ซึ่งขาดแคลนในสังคมไทย พรรคไทยรักไทยจึงเติบใหญ่ และสามารถชนะการเลือกตั้งได้

แต่เนื่องจากพรรคไทยรักไทยต้องการได้อำนาจอย่างรวดเร็ว จึงใช้วิธีซื้อประชาชนด้วยนโยบายประชานิยม แทนที่จะสร้างจิตสำนึกทางการเมืองให้แก่ประชาชน ความภักดีของประชาชนที่มีต่อพรรคไทยรักไทย (และทักษิณ) จึงมีความเปราะบางเพราะวางอยู่บนฐานของผลประโยชน์

บทบาทที่สำคัญที่สุดของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือ การสร้างจิตสำนึกทางการเมืองซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน

ประวัติการเมืองไทยในวงกว้าง และในระยะเวลาที่ยาวต่อเนื่อง การปลุกจิตสำนึกทางการเมืองนี้เป็นการต้านการเมืองแบบตัวแทน และต้านการฉ้อฉล การใช้อำนาจรัฐ เพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง เนื่องจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มีสื่อครบวงจร มีกลุ่มบุคคลที่ให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และความเห็นทางการเมืองอย่างเป็นระบบ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ช่องว่างทางการเมืองด้านจิตสำนึกทางการเมืองได้รับการเติมเต็ม โดยประเด็นที่ทำให้เกิดจิตสำนึกร่วมกัน คือ การรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ และการรักษาดินแดนของชาติ

ณ วันนี้การเมืองไทยจึงเปลี่ยนไป โดยเฉพาะในด้านจิตสำนึกของประชาชนที่ไม่เคยมีการปลุกสร้างมาก่อน บทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในแง่นี้ นับว่าเป็นการวางรากฐานทางการเมืองที่สำคัญยิ่งในรอบ 75 ปีนี้ และจะต้องยกระดับ ตลอดจนขยายขอบเขตของจิตสำนึกสาธารณะนี้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นต่อไป





Create Date : 30 มิถุนายน 2551
Last Update : 30 มิถุนายน 2551 20:57:26 น. 2 comments
Counter : 335 Pageviews.

 
บทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะดำรงบทบาทของตัวเอง สร้างจิตสำนึกทางการเมืองแบบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมให้แก่ประชาชน ได้ตลอดรอดฝั่งต่อไปได้อีกหรือไม่ ต้องเอาใจช่วยและจับตาเฝ้าดู อย่างตลอดเวลาเพื่อขยายจิตสำนึกสาธารณะให้กว้างขวางต่อไป


โดย: บอย ลาดกระบัง (pp965 ) วันที่: 1 กรกฎาคม 2551 เวลา:22:17:39 น.  

 
มันแค่ประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น


โดย: เสรีภาพ กับ ความยุติธรรม IP: 192.168.10.102, 112.142.113.158 วันที่: 29 มิถุนายน 2552 เวลา:17:29:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

pitasanu
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Education is life long learning
การศึกษา เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
Friends' blogs
[Add pitasanu's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.