มีตนเป็นประทีป มีตนเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ,
มีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ

ซุ้มเฟื่องฟ้า
Location :
ชลบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Group Blog
 
 
พฤษภาคม 2554
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
28 พฤษภาคม 2554
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add ซุ้มเฟื่องฟ้า's blog to your web]
Links
 

 

แก้กรรมแนวพุทธ คำนำ

ในครั้งพุทธกาล มีภิกษุอธิบายเกี่ยวกับวิญญาณว่า วิญญาณ คือสภาพที่รับรู้อารมณ์ต่างๆ ได้
สื่อสารพูดคุยได้ เป็นผู้รับผลของกรรมดีกรรมชั่ว เป็นผู้ที่แล่นไป ท่องเที่ยวไป

พระพุทธเจ้าทรงเรียกภิกษุรูปนั้นมาสอบทันที

เมื่อได้ความตรงกันกับที่ถูกโจทก์แล้ว
ทรงตําหนิโดยการ เรียกภิกษุรูปนี้ว่า “โมฆะบุรุษ” ซึ่งแปลตามความหมายว่า
บุคคลอันเปล่า ไร้ประโยชน์ เป็นโมฆะ มีไว้ก็เท่ากับไม่มี

จากนั้น ทรงพยากรณ์ว่า การพูดผิดไปจากคําของตถาคตเช่นนี้
จะทําให้ประสพบาปมิใช่บุญเป็นอันมาก

คงไม่ใช่เรื่องยากเกินไปนัก ที่จะทําความเข้าใจว่า
วิญญาณ โดยนัยของขันธ์ห้านั้น ไม่ใช่ตัวสัตว์ ไม่ใช่บุคคล
เป็นแต่เพียงสิ่งที่มีกริยา “รู้” ได้ และ เป็นปฏิจจสมุปปันธรรม
คืออาศัยเหตุป้จจัยในการเกิดขึ้นมีอยู่

ส่วนสัตว์ บุคคลผู้ทํากรรม รับกรรมนั้น คือ ขันธ์ห้าอันประกอบด้วยอุปาทาน
ปรุงแต่งเสร็จไปแล้ว ว่าเป็นนี้ๆ เป็นนั้นๆ

คําถามอาจมีขึ้นว่า บุคคลประเภทไหนที่สนใจกรรม วิบากกรรมในขันธ์ห้า
( อันไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ) นี้

คําตอบก็คือ บุคคลที่ยังมีความเห็นในวิญญาณ ว่าคือ ผู้รับรู้ ผู้กระทํา ผู้รับผลของกรรม
คือผู้ท่องเที่ยวเวียนว่ายไป โดยนัยลักษณะเดียวกับภิกษุรูปนั้นในครั้งพุทธกาล

คําถามอาจมีขึ้นอีกว่า
จะมีบ้างไหมบางคน ที่ไม่สนใจ ไม่แยแส ไม่อยากรู้ ในเรื่องของกรรม
และวิบากของกรรมในแง่มุมต่างๆ ภายใต้ความเห็นว่าใช่ตัวตนในอุปาทานขันธ์

ไม่สนใจ การที่มีที่เป็นแล้วนี้ ว่าเกิดจากกรรมนี้ๆ ในภพโน้นๆ
ไม่แยแส แก้กรรมในภพโน้นๆ ที่ส่งผลอยู่นี้ ด้วยกรรมนั้นๆ
ไม่อยากรู้ ว่าทํากรรมแบบนั้นๆ แล้วจะได้รับผลแบบไหนๆ

คําตอบพึงมีว่า ผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ (ทิฏฐิสัมปันโน) มีอยู่
คือเข้าสู่แล้วในสัมมัตตนิยาม เข้าสู่แล้วในระบบที่ถูกต้อง
เป็นผู้ถึงแล้วซึ่งกระแส (โสตะ) คือทางอันเป็นอริยะ

ฐานะที่เป็นไปไม่ได้ ของผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ นั่นคือ
ยึดมั่นความตามเห็นขันธ์ในส่วนอดีต (ปุพพันตานุทิฏฐิ)
และยึดมั่นความตามเห็นขันธ์ในส่วนอนาคต (อปรันตานุทิฏฐิ)

พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า ผู้ที่ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิแล้วนี้ จะมีความรู้เข้าใจ
อันพิเศษเฉพาะ ซึ่งหาไม่ได้ในปุถุชนทั่วไป ทุกข์ จะค่อยๆ ดับไป ในทุกๆ ก้าวบนหนทาง
และเป็นผู้ที่จะไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา มีสัมโพธิเป็นเบื้องหน้าที่สุด

สังคมพุทธในวันนี้ แม้จะยังมีความเจริญในระบบธรรมวินัยอยู่ก็ตาม
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีบุคคลในข่าย “โมฆะบุรุษ” ดังครั้งพุทธกาลนั้น

โมฆะบุรุษนี้ คือผู้ที่ขับเคลื่อนการกระทําต่างๆ ที่ออกนอกแนวทางอริยมรรคมีองค์8 ไปเรื่อยๆ
และนําพาโลกไป ด้วยระบบคิดที่ปรารภขันธ์ห้าโดยความเป็นตน
โดยทั้งหมดนี้ ทําขึ้นภายใต้การอ้างถึงคําสอนของพระพุทธเจ้า

เราอาจเคยได้ยิน การอ้างถึงพระธรรมคําสอนในส่วนของศีลธรรม
ซึ่งเป็นเรื่องของข้อปฏิบัติที่ไม่เบียดเบียน อันนํามาซึ่งวิบากอันดีต่อตนเอง และหมู่สัตว์
อีกทั้ง ยังเป็นเหตุให้ได้บังเกิดในภพที่เต็มไปด้วยสุขเวทนา

ธรรมะ ในแง่มุมระดับศีลธรรมนี้ ได้ถูกเข้าใจไปว่าเป็นเพียงเครื่องมือ
ให้ได้มาซึ่งความสุขมีประมาณต่างๆ อันเป็นผลจากการกระทําที่ดีนั้น
และเพื่อให้มีภพต่อๆไปที่ดีเท่านั้น

ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ต่อระบบศีลธรรมนี้
เกิดจากการไม่รู้แจ้งแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ ในพุทธวจน

เรื่องทาน ศีล สวรรค์ เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ในอนุปุพพิกถา 5
ซึ่งพระพุทธองค์ทรงใช้แสดงต่อฆราวาส ผู้ที่ยังมีจิตจมอยู่ในความสุขแบบโลกๆ
ยังไม่พร้อมที่จะเข้าถึงอริยสัจได้ทันที

ทานกถา คือ การให้ การสละ, สีลกถา คือ ระบบศีลธรรม,
สัคคกถา คือ สุขแบบสวรรค์, กามาทีนวกถา โทษแห่งกาม
และ เนกขัมมานิสังสกถา คือ อานิสงส์แห่งการออกจากกาม

เมื่อผู้ฟัง มีจิตอ่อนโยน ปลอดนิวรณ์ นุ่มเบาควรแก่การแล้ว
จึงทรงแสดงอริยสัจสี่ อันเป็นจุดประสงค์หลักเพียงอันเดียว ของการเทศนาแต่ละครั้ง

สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ คือ การตัดทอนคําสอน โดยแยกย้ำเวียนวนอยู่เฉพาะเรื่อง ทานศีลสวรรค์

ยิ่งกว่านั้น…
หากบวกเข้าไปด้วยกับบุคคลที่ยังไม่พ้นการดํารงชีพด้วยมิจฉาอาชีวะแบบของสมณะ
คือ เลี้ยงชีพด้วยการทํานาย การทายลักษณะ การดูหมอ การดูฤกษ์ ดูดวง
และอื่นๆทั้งหลายทั้งปวง ที่รวมเรียกว่าติรัจฉานวิชา

ทั้งหมดนี้
จึงเป็นเสมือนขบวนการ ที่ผันแปรธรรมวินัย ให้กลายเป็นลัทธิใหม่อะไรสักอย่างที่ไม่ใช่พุทธ
แต่อ้างความเป็นพุทธ แล้วนําพาผู้คนที่หลงทางอยู่แล้ว ให้ยิ่งผูกติด พันเกี่ยวอยู่แต่ในภพ

หนังสือ พุทธวจน ฉบับ แก้กรรม โดยพระตถาคต
คือการรวมธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้เกี่ยวกับกรรม โดยผู้ศึกษาจะสังเกตเห็นได้ทันที คือ
การรู้ในเรื่องกรรม ว่า กรรมเป็นสิ่งที่บุคคลพึงทราบทั้งหมด 6 แง่มุมด้วยกันเท่านั้น
เป็นการรู้ที่จะนําไปสู่การหลุดพ้นจากระบบแห่งกรรมที่หมู่สัตว์ติดข้องอยู่มานานนับนี้

อริยมรรคมีองค์ 8 คือ หนทางให้ถึงความดับแห่งกรรม

โดยตัวของอริยมรรคเอง มีแล้ว ซึ่งการสร้างวิบากอันเป็นเลิศ
มีพร้อมแล้วซึ่งอานิสงส์คือการนําไปสู่การสลัดคืนอุปาทานขันธ์

นั่นคือ การกระทํากรรม เพื่อให้ระบบกรรมทั้งหมดทั้งปวงนั้น กลายเป็นโมฆะโดยสิ้นเชิง




 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2554
0 comments
Last Update : 28 พฤษภาคม 2554 6:56:34 น.
Counter : 787 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.