ธรรมะเพื่อมุ่งสู่สุคติภูมิเป็นเบื้องต้น และมุ่งสู่พระนิพพานเป็นเป้าหมายสูงสุด
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
19 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 

งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อชาสุภัทโทมีหนังสือแจกให้คนละเล่ม

งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อชาสุภัทโทมีหนังสือแจกให้คนละเล่ม



งานพระราชทานเพลิงศพหลวงพ่อชาสุภัทโทมีหนังสือแจกให้คนละเล่มขนาด16หน้ายกชื่อใต้ร่มโพธิญาณ
แม้จะเป็นหนังสือเล่มเล็กมีเพียง117หน้าแต่ก้ได้สาระน่าจดใจไว้เป็นแนวปฎิบัติ
เมือ่พิจารณาในการอ่านนักปฏิบัติธรรมจะมองเห็นแง่มุมต่างต่างอย่างสมบูรณ์ว่าควรจะปฏิบัติตนอย่างไร
จึงจะประสบความสำเร็จในธรรมอย่างหลวงพ่อชาสุภัทโท

ไม่ใช่แค่ประวัติโดยละเอียดเท่านั้นที่ได้จากหนังสือเล่มนี้แต่จะได้คติธรรมและรับรู้
ธรรมะจากหลวงพ่อมากมาย

ผู้เรียบเรียงได้เอาคำพูดคำบอกเล่าของหลวงพ่อที่สนทนาธรรมกับศิษย์และประชาชนที่เข้าไปสนธนาธรรม
มาประกอบไว้ด้วย

สำหรับผู้พลาดโอกาสอันเหมาะงามในการพบหลวงพ่อเชื่อว่าได้อ่านหนังสือใต้ร่มโพธิญาณแล้ว

คงได้ข้อคิดทีผุดพรายขึ้นกลางใจไม่น้อย




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2554
18 comments
Last Update : 19 ธันวาคม 2554 10:35:07 น.
Counter : 908 Pageviews.

 

ใต้ร่มโพธิญาณเป็นหนังสือชีวประวัติของหลวงพ่อที่เรียบเรียงขึ้นมาใหม่เล่าย้อนถึงลักาณะความเป็นอยู่ทางครอบครัว

จริต นสัยความนึกคิดในวัยเด็กและวัยหนุ่มเพื่อให้เห็นการเปลี่ยนแปลงเป็นระยะซึ่ง แสดงให้รู้ว่าในเบื้องต้นหลวงพ่อก้มีชีวิตเช่นเราท่านทั้วไป
แต่ด้วยการรู้จักมองโลกในแง่เป็นบทเรียนจึงทำให้จิตใจของทานค่อยค่อยคล้อยสู่ทางธรรมในที่สุด

เมื่ออออกบวชแล้วก็ใช่ว่าหนทางในชีวิตพระจะราบรื่นไปหมดหลวงพ่อผ่านความยากลำบากในทางปฎิบัตืมาทุกแง่มุม

ซุ่งท่านมัดเล่าประสบการณืแทรกในธรรมเทศนาอยู่เสมอเพ่อเป็นคติและให้กำลังใจศิษย์

แม้ครูบาอาจารย์เองเมื่อเริ่มปฎิบัติใหม่ใหม่ก็ผจญกับปัญหาแทบเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน

ดังที่ท่านมักกล่าวว่า
ชน
ความสะอาดก็อยู่ในความสกปรกเช่นพื้นตรงนี้มันเปื้อนเมื่อเราเอาผ้าเช็ดถู

ความสะอาดก็เกิดขึ้น
จิตใจที่วุ่นวายก้ทำให้สงบได้อริยชนก็มาจากปุถุชน



ใต้ร่มโพธิญาณ
พระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)

ชีวประวัติหลวงพ่อชา สุภทฺโท
วัดหนองป่าพง
ต.โนนผึ้ง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี


คำนำ


เช้า ตรู่วันครู ปี 2535 หลวงพ่อละสังขาร ไปตามกฎธรรมชาติ ศิษย์ต่างรำลึกว่า..... หลวงพ่อมิได้จากไปไหน ภาพลักษณ์แท้จริงของท่านคือ ปฏิทาอันงดงาม และธรรมคำสอนที่ลึกซึ้ง แต่ง่ายต่อการเข้าใจ ยังปรากฏอยู่กับเราตลอดเวลา

คณะศิษย์จึงร่วมเรียบเรียงหนังสือเล่ม นี้ขึ้น จากงานเขียนเก่าของครูบาอาจารย์ จากธรรมเทศนาของหลวงพ่อในแถบเสียง และการบอกเล่าจากญาติมิตรของท่าน โดยมุ่งหมายให้เรื่องราวเหล่านี้ เป็นเช่นบทศึกษา แก่ผู้แสวงหาชีวิตที่งดงาม ผู้มีปัญญา ย่อมค้นพบสัจธรรมในสรรพสิ่ง และยังอาจพบเห็นสารธรรม จากหนทางชีวิตของหลวงพ่อ ในหนังสือเล่มนี้

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:36:50 น.  

 

พระโพธิญาณเถร (หลวงพ่อชา สุภทฺโท) ได้ถือกำเนิดในสกุล ช่วงโชติ เมื่อวันศุกร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2461 ท่านเป็นบุตรคนที่ 5 ของพ่อมา แม่พิมพ์ ช่วงโชติ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 10 คน

ครอบครัวของท่านประกอบอาชีพกสิกรรม มีฐานะมั่นคง บิดามารดามีอัธยาศัยโอบอ้อมอารี มักเอื้อเฟื้อทั้งวัตถุและไมตรีแก่เพื่อนบ้านเสมอ รวมทั้งมีใจบุญสุนทานเข้าวัดฟังธรรมอยู่เป็นประจำ อันเป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของชาวชนบทอีสานโดยทั่วไป

หลวงพ่อเติบ โตในบรรยากาศอบอุ่นมั่นคงของครอบครัวใหญ่ แวดล้อมด้วยหมู่วงศาคณาญาติ ที่ต่างพึ่งพาอาศัย เคารพ รัก นับถือกันและกัน ครอบครัวของท่านจึงเป็นครอบครัวหนึ่งในชนบทที่มีความสงบสุขตามอัตภาพ

ใน วัยเด็ก หลวงพ่อมีรูปลักษณ์น่าเอ็นดู ด้วยรูปร่างอ้วนกลมพุงพลุ้ย และปากกว้างที่เชิดขึ้น เล็กน้อย เพื่อนๆ จึงขนานนามท่านว่า "อึ่ง" น้องชายของท่านเล่าถึงลักษณะและอุปนิสัยของ พี่ชายว่า "เป็นคนมีรูปร่างลักษณะแม้ไม่หล่อ แต่ก็ไม่ขี้เหร่ ดูได้ทั้งวันไม่น่าเบื่อ และเป็นคนพูดเก่ง อารมณ์ดี ชอบสนุก รวมทั้งมีอารมณ์ขัน ชอบนำเรื่องตลกมาเล่าให้เพื่อนๆ ได้หัวเราะครื้นเครงอยู่เสมอ"

นอกจากมีนิสัยชอบเป็นผู้นำที่มี คุณธรรมแล้ว บางครั้งยังชอบเล่นเป็นพระอีกด้วย หลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า "ตอนเด็กๆ คิดอยากจะเล่นเป็นพระ ก็เลยตั้งตนเป็นสมภารขึ้นมา เอาผ้าขาวม้ามาห่มเป็นจีวร ถึงเวลาฉันเพลก็ตีระฆังแก๊งๆ ให้เพื่อนๆ ที่เล่นเป็นโยมอุปัฏฐาก เอาน้ำมาให้ฉัน แล้วรับศีลรับพร" ท่านเล่าถึงอดีตและหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:37:22 น.  

 

"...ตอนนั้นอายุประมาณสิบห้าสิบหกปี เบื่อ.. ไม่อยากอยู่กับครอบครัว คิดอยากจะไปอยู่คนเดียวเรื่อยๆ ไม่รู้ทำไมถึงคิดอย่างนั้น เป็นอยู่หลายปีเหมือนกัน ไม่รู้มันเบื่ออะไร มันอยากไปไหนๆ คนเดียว เป็นอย่างนั้นอยู่ระยะหนึ่งแล้วก็มาบวช อันนี้มันเป็นนิสัยหรือบารมี แต่เราไม่รู้จักมัน แต่ก็มีความรู้สึกอย่างนี้ตลอดมา..."

หลังจากใช้ชีวิตทางโลกอยู่หลายปี วันหนึ่งในฤดูร้อนของปี พ.ศ. 2482 ขณะนั้นนายชา อายุ 21 ปี ได้ตัดสินใจบอกความในใจของตนต่อบุพการี

พ่อ มาและแม่พิมพ์ ต่างปลาบปลื้มยินดีในเจตจำนงของบุตรชายที่ประสงค์จะออกบวช เพราะชาวพุทธมีคติว่า การบวชพระให้ลูกชายเป็นบุญกุศลอันประเสริฐยิ่ง จึงบอกข่าวแก่ญาติมิตรบ้านใกล้เรือนเคียง มาร่วมตระเตรียมงานบวชบุตรชายของตน พร้อมทั้งนำนายชาไปฝากเป็นนาคฝึกหัดและเรียนรู้ความเป็นอยู่ของพระ ที่วัดก่อนอก

ตะวันบ่าย 13.55 นาฬิกา ของวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2482 นายชาได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์เป็นพระภิกษุชา มีฉายาว่า สุภทฺโท (ผู้เจริญด้วยดี) โดยมี ท่านพระครูอินทรสารคุณ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูวิรุฬสุตการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการสวน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดก่อใน ตำบลธาตุ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อบวช แล้วได้จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดก่อนอกสองพรรษา

หลวงพ่อเคยพูดถึงความรู้สึกของท่านตอนบวชใหม่ๆ เพื่อให้เป็นคติแก่บรรดาสานุศิษย์ว่า

"เรา บวชมาก็ไม่ได้ปรารถนาว่าจะมาอยู่อย่างนี้ ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นครูอาจารย์ใคร ไม่ได้นึกจะหนีจากวัฏสงสารอันนี้ ก็บวชธรรมดาไปอย่างนั้นแหละ... แต่พอบวชเข้ามาแล้ว ได้เรียน ได้ปฏิบัติ ก็เกิดศรัทธาขึ้น ครั้งแรกก็เกิดวิตกถึงความเป็นอยู่ของสัตว์โลกทั้งหลาย... น่าสลดสังเวช... คนเราเกิดมาแล้วประเดี๋ยวก็ตายไปทั้งนั้น ทิ้งบ้าน ทิ้งข้าวของให้ลูกหลานแย่งกันทะเลาะกัน

เมื่อเราเห็นแล้วก็เข้าถึงจิตใจเรา เกิดสลดสังเวชในความเป็นอยู่ ทั้งของคนจน คนรวย ทั้งคนโง่ คนฉลาด อยู่ในโลกก็เป็นอย่างนี้

ธรรมะ หรือความรู้สึกนี้เต็มอยู่ในใจของเรา ไม่รู้จะพูดให้ใครฟัง เมื่อจิตมันตื่นขึ้นมาแล้ว อะไรก็ตื่นตาม พบสิ่งต่างๆ ก็ตื่นอยู่เสมอ

เรา สำนึกอยู่เสมอว่า เราได้รู้จักธรรมะ เรียกว่ามันสว่างขึ้นแล้ว ทำให้มองเห็นอะไรหลายๆ อย่าง เวลานั้นก็มีธรรมะ มีปิติอิ่มใจ ... และเมื่อยิ่งศึกษาไป... ปฏิบัติไป ก็ยิ่งมีศรัทธา ยิ่งอิ่มใจยิ่งสงบ และมีปัญหามากขึ้นทุกที...

พอออกพรรษา พระเณรที่บวชพร้อมๆ กันก็พากันสึก เรามองเห็นว่า เอ... ไอ้พวกนี้ มันยังไงกันหนอ แต่ก็ไม่ได้พูดกับเขา เพราะยังไม่ไว้ใจความรู้สึกของตัวเอง

พวกที่ จะสึกพากันตื่นเต้น บางทีก็เอาเครื่องแต่งตัวมาใส่ เราเห็นว่าพวกนี้ บ้าหมดแล้ว แต่เขาว่ามันดี มันสวย สึกแล้วจะต้องไปทำอย่างนั้น อย่างนี้...

ตอนนั้นภายในใจเราคิดว่า นี่มันโง่มาก บวชมันบวชยาก สึกมันสึกง่าย พวกนี้บุญน้อยเห็นทางโลกมีประโยชน์มากกว่าทางธรรมะ เราก็เห็นไป แต่ไม่พูด ได้แต่มองจิตของตัวเอง ไม่กล้าพูดให้เพื่อนเขาฟังว่า คิดอย่างนั้นมันผิด ไม่กล้าพูด เพราะว่าตัวเราก็ยังเป็นของไม่แน่เหมือนกัน ไม่รู้ว่าศรัทธาของเราจะยั่งยืนยาวไปถึงขนาดไหน...

พอเพื่อนสึกไป แล้วก็ทอดอาลัย ไม่มีใครอยู่ด้วย ก็เอาหนังสือปาฏิโมกข์มาท่องสบาย ไม่มีใครมาล้อเลียน ก็ตั้งใจว่าจะพยายามปฏิบัติ ให้มีความนึกคิดเห็นโทษเห็นภัยของโลกอยู่เสมอ ไม่ให้คลายความเพียร ไม่ให้เปลี่ยนศรัทธา จะให้มันสม่ำเสมออย่างนี้...

แต่การบวช... ไม่ใช่ทุกข์นะ ยิ่งพรรษาหนึ่งพรรษาสอง หรือเป็นพระหนุ่มเณรน้อยนี่ยิ่งทุกข์มาก ผมนี่มันเคยทุกข์มามาก ทุกข์กับอาหารการกิน นี่ก็ยิ่งทุกข์ อยากกินตำส้มมะละกอ อยากกินนั่น กินนี่ อยากกินทุกอย่างนั่นแหละ น้ำลายนี่ไหลยืดเลย คนกำลังกินกำลังนอน กำลังสนุก เอามายึด มาขังเอาไว้ มันก็ทุกข์มาก เหมือนกับน้ำกำลังไหลไปขวางเอาไว้ ยิ่งไปกันใหญ่ เอาได้ก็ดี เอาไว้ไม่ได้ก็พัง

บวชปีแรกไม่คอยได้อะไร มีแต่อยากกินนั่นกินนี่ วุ่นวายไปหมดแย่เหลือเกิน บางครั้งนั่งคิดอยู่เหมือนกับได้กินกล้วยจริงๆ รู้สึกเหมือนได้หักกล้วยเข้าปากอยู่อย่างนั้น... มันเป็นของมันเอง

แต่ ถ้าเราพิจารณาดีๆ เรื่องเหล่านี้ คือเรื่องของการปฏิบัติทั้งนั้น ยิ่งยาก ยิ่งลำบาก นั่นแหละดี สิ่งไหนไม่ยากไปทำมันทำไม ใครๆ ก็ทำได้หรอก... สิ่งที่ยากๆ คือการปฏิบัตินี่ต้องทำให้มันได้...

บางคนมาพูดว่า ถ้าออกบวชตั้งแต่อายุน้อยๆ ไม่ได้สร้างครอบครัวเหมือนหลวงพ่อคงปฏิบัติง่าย ไม่ต้องคิดอะไรมาก ว่าไปนั่น คนพูดอย่างนี้ อย่ามาพูดอยู่ใกล้ๆ นะเดี๋ยวโดนไม้ตะพดหรอก... แหม พูดยังกับว่าเราไม่มีหัวใจ เรื่องการปฏิบัติฝืนจิตใจตน ไม่ใช่เรื่องย่อยๆ นะ มันเรื่องของชีวิตทั้งชีวิตนั่นแหละ..."

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:37:59 น.  

 

การจำพรรษาอยู่ที่วัดก่อนอก หลวงพ่อได้ศึกษาปริยัติธรรม และสอบนักธรรมตรีได้ในปีนั้น การเล่าเรียนทำให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้งศรัทธาในพุทธประวัติและพระธรรมคำสอน ยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้ท่านตั้งปณิธานอย่างแน่วแน่ว่า จะมอบชีวิตไว้ใต้ร่มโพธิญาณ หลวงพ่อเล่าถึงความรู้สึกก่อนจะตัดสินใจอย่างนี้ว่า

"ก่อนที่ผมจะ ปฏิบัติ ผมมีความคิดว่า ศาสนาตั้งอยู่ในโลก ทำไม ? บางคนทำตาม บางคนไม่ทำ บางคนทำแบบนิดๆ หน่อยๆ แล้วเลิก หรือผู้ไม่เลิกก็ไม่ประพฤติปฏิบัติเต็มที่ นี่เป็นเพราะอะไร ก็ความไม่รู้นั่นเอง ผมจึงอธิษฐานในใจว่า เอาละชาตินี้ เราจะมอบกายใจอันนี้ให้มันตายไปชาติหนึ่ง แล้วจะทำตามคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกประการเลย จะทำให้มันรู้แจ้งในชาตินี้ แม้ว่าจะทุกข์ยากลำบากขนาดไหน ก็ต้องทำ... ไม่เช่นนั้นก็จะสงสัยอยู่เรื่อยไป ทำไมมันยุ่งยากนัก วัฏสงสารนี้..."

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:38:37 น.  

 

การบวชเรียนตั้งแต่วัยหนุ่มฉกรรจ์ ซึ่งเป็นวัยที่สภาพร่างกายมีความสมบูรณ์พร้อมต่อพฤติกรรมทางธรรมชาติ บางอย่าง ดังนั้น การเผชิญหน้ากับสัญชาติญาณอันรุนแรง จึงเป็นสิ่งที่ภิกษุทุกรูปจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับอุบายและปัญญาของแต่ละคนว่า จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคนั้นได้อย่างไร

ในพรรษาที่ 8 ที่วัดเขาวงกฏนี้ หลวงพ่อได้ทดลองค้นหาวิธีเอาชนะกามราคะหลายวิถีทาง ดังท่านเล่าว่า "พรรษานั้นผมไม่มองดูหน้าผู้หญิงเลย พูดก็พูดด้วย แต่ไม่ดูหน้า แต่ในใจนะ มันอยากจะดูแทบตาย..."

"ไม่มองหน้าผู้หญิง ตลอดพรรษา คิดว่ากิเลสมันคงจะโทรมไปแล้ว ออกพรรษาไปบิณฑบาตที่ลพบุรี ก็ทดลองดูหน้าเขา โอ้ย... เกือบตาย แข้งขาอ่อนหมด เห็นเครื่องแต่งตัว เห็นอะไรวูบวาบไปหมด แหม... นึกว่าเมื่อไรหนอ มันจะหมดกิเลส ท้อใจเลยนะ"

"...การ ปฏิบัติไม่ใช่อย่างนั้น ไม่ใช่การหลบ มันต้องสู้ ต้องพิจารณาหรือภาวนาให้รู้เรื่องตามความเป็นจริง แต่ครั้งแรกก็ต้องห่างไว้ก่อน และต้องสำรวมมากๆ"

นอกจากนั้น หลวงพ่อยังเล่าถึงความรู้สึกของท่าน ที่ถูกกิเลสมารหลอกล่อจนเกือบถลำเข้าบ่วงของมันว่า...

"สมัย ผมออกปฏิบัติใหม่ๆ พรรษายังไม่มาก พอปฏิบัติไปมันก็คิดห่วงโลก อยากจะกลับไปอีกนั่นแหละ จะไปสร้างโลกสักพักหนึ่งคงดีมั้ง มันจะได้รู้เรื่องอะไรดี พระพุทธเจ้าท่านก็ยังมีราหุล นะ..."

"ก็ นั่งภาวนาไปเรื่อยๆ เลยเกิดความรู้ขึ้นมาว่า คิดอย่างนี้ก็ดีเหมือนกัน แต่เรานี้คงจะไม่เหมือนพระพุทธเจ้าละมั้ง ถ้าออกไปแล้วน่ากลัวจะจมลงไปในโคลนเลย... นี่ ความคิดมันต่อต้านกันเรื่อยมา ตั้งแต่หกเจ็ดพรรษาถึงยี่สิบพรรษานี่ โอ้ย ! มันรบกันขนาดหนัก"

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:39:14 น.  

 

ในระหว่างที่จำพรรษาที่วัดเขาวงกฏ หลวงพ่อได้ฟังเรื่องราวของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต จากโยมคนหนึ่ง ซึ่งเคยไปนมัสการหลวงปู่มั่นที่สำนักป่าหนองผือนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เกิดความรู้สึกเลื่อมใส และตั้งใจว่าจะต้องไปศึกษาแนวทางปฏิบัติจากท่าน

ยามเย็นวันแรกที่ ไปถึง ได้เข้ากราบนมัสการหลวงปู่พร้อมศิษย์ของท่านเพื่อฟังธรรมร่วมกัน หลวงปู่มั่นได้ปฏิสันถารสอบถามเกี่ยวกับอายุ พรรษา และสำนักที่เคยได้ศึกษาปฏิบัติ จากนั้นท่านก็ให้โอวาทและปรารภถึงเรื่องนิกายทั้งสอง คือ ธรรมยุติและมหานิกาย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลวงพ่อสงสัยอยู่มาก

หลวงปู่มั่นกล่าวว่า "การประพฤติปฏิบัตินั้น หากถือเอาพระธรรมวินัยเป็นหลักแล้ว ก็ไม่ต้องสงสัยในนิกายทั้งสอง"

เมื่อ คลายความสงสัยในเรื่องนิกายแล้ว หลวงพ่อได้กราบเรียนถามปัญหากับหลวงปู่มั่น ซึ่งหลวงพ่อถ่ายทอดบทสนทนาของท่านกับหลวงปู่มั่นให้ศิษย์ฟังว่า

"เกล้ากระผมเป็นผู้ปฏิบัติใหม่... ไม่รู้จะปฏิบัติอย่างไร... มีความสงสัยมาก ยังไม่มีหลักในการปฏิบัติเลยครับ"

"มันเป็นยังไง" หลวงปู่มั่นถาม

"ผม หาทางปฏิบัติ... ก็เลยเอาหนังสือวิสุทธิมรรคขึ้นมาอ่าน มีความรู้สึกว่ามันจะไปไม่ไหวเสียแล้ว เนื้อความในสีลานิทเทส สมาธินิทเทส ปัญญานิทเทสนั้น ดูเหมือนไม่ใช่วิสัยของมนุษย์จะทำได้ ผมมองเห็นว่ามนุษย์ทั่วโลกนี้ มันจะทำตามไม่ได้ครับ มันยาก มันลำบาก มันเหลือวิสัยจริงๆ..."

หลวงปู่มั่นจึงกล่าวให้ฟังว่า...

"ท่าน... ของนี้มันมากก็จริงอยู่ ถ้าเราจะกำหนดทุกๆ สิกขาบทในสีลานิทเทสนั้น นะมันก็ลำบาก แต่ความจริงแล้ว สีลานิทเทสก็คือสิ่งที่บรรยายออกมาจากใจของคนเรานั่นเอง ถ้าหากว่าเราอบรมจิตของเราให้มีความละอาย มีความกลัวต่อความผิดทั้งหมด เราก็จะเป็นคนที่สำรวมสังวรระวัง เพราะมีความละอายและเกรงกลัวต่อความผิด...

เมื่อเป็นอย่างนั้น ก็จะเป็นเหตุให้เราเป็นคนมักน้อย และสติก็จะกล้าขึ้น จะยืนเดิน นั่ง นอนอยู่ที่ไหน มันจะตั้งอกตั้งใจมีสติเต็มเปี่ยมเสมอ ความระวังมันก็เกิดขึ้น...

อะไรทั้งหมดที่ท่านศึกษาในหนังสือน่ะ มันขึ้นต่อจิตทั้งนั้น ถ้าท่านยังไม่อบรมจิตของท่านให้มีความรู้ มีความสะอาดแล้ว ท่านจะมีความสงสัยอยู่เรื่อยไป...

ดังนั้น ท่านจงรวมธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้าไว้ที่จิต สำรวมอยู่ที่จิต อะไรที่เกิดขึ้นมา ถ้าสงสัย... ถ้ายังไม่รู้แจ้งแล้วอย่าไปทำ... อย่าไปพูด... อย่าไปละเมิดมัน"

คืนนั้น... หลวงพ่อนั่งฟังธรรมร่วมกับศิษย์ของหลวงปู่มั่น จนกระทั่งถึงเที่ยงคืน จิตใจเกิดความสงบระงับเป็นสมาธิ ความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าจากการเดินทางได้อันตรธานไปสิ้น...

คืน ที่สอง... หลวงปู่มั่นได้แสดงปกิณกธรรมต่างๆ ให้ฟังอย่างละเอียดลึกซึ้ง จนหลวงพ่อคลายความลังเลสงสัยในวิถีทางการปฏิบัติ มีความปลาบปลื้มปิติในธรรมอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:39:54 น.  

 

จากการได้พบหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ในครั้งนั้น เป็นประสบการณ์สำคัญที่นำวิถีชีวิตของหลวงพ่อเข้าสู่กระแสธรรมปฏิบัติอย่าง ถูกต้องและมั่นคง หลวงพ่อเล่าถึงบรรยากาศของการได้สัมผัสหลวงปู่มั่น และสำนักป่าหนองผือนาใน แก่พระเณรในเวลาต่อมาว่า...

"...ที่ผมได้ ความรู้ความฉลาด จนได้มาแบ่งปันพวกท่านทั้งหลายนั้น ก็เพราะผมได้ไปกราบครูบาอาจารย์มั่น... ไปพบท่าน แล้วก็เห็นสภาพวัดวาอารามของท่าน ถึงจะไม่สวยงาม แต่ก็สะอาดมาก

พระ เณรตั้งห้าสิบหกสิบ เงียบ ! ขนาดจะถากแก่นขนุน (แก่นขนุนใช้ต้มเคี่ยว สำหรับย้อมและซักจีวร) ก็ยังแบกเอาไปฟันอยู่โน้น... ไกลๆ โน้น เพราะกลัวว่าจะก่อกวนความสงบของหมู่เพื่อน... พอตักน้ำทำกิจอะไรเสร็จ ก็เข้าทางจงกรมของใครของมัน ไม่ได้ยินเสียงอะไร นอกจากเสียงเท้าที่เดินเท่านั้นแหละ

บางวันประมาณหนึ่งทุ่ม เราก็เข้าไปกราบท่านเพื่อฟังธรรม ได้เวลาพอสมควรประมาณสี่ทุ่มหรือห้าทุ่มก็กลับกุฏิ เอาธรรมะที่ได้ฟังไปวิจัย... ไปพิจารณา เมื่อได้ฟังเทศน์ท่าน มันอิ่ม เดินจงกรมทำสมาธินี่... มันไม่เหน็ดไม่เหนื่อย มันมีกำลังมาก

ออก จากที่ประชุมกันแล้วก็เงียบ ! บางครั้งอยู่ใกล้ๆ กัน เพื่อนเขาเดินจงกรมอยู่ตลอดคืนตลอดวัน จนได้ย่องไปดูว่าใคร ท่านผู้นั้นเป็นใคร ทำไมถึงเดินไม่หยุดไม่พัก นั่น... เพราะจิตใจมันมีกำลัง

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:40:36 น.  

 

หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์ที่ป่าช้าในครั้งนั้นว่า...

" ...วันนั้นตอนบ่ายๆ ตั้งใจว่าคืนนี้จะไปภาวนาในป่าช้า พอจะไปจริงๆ ใจชักไม่อยากไปซะแล้ว ก็บังคับมัน คิดว่าถ้าจะตายก็ยอมตายเพราะมันลำบากนัก มันโง่นัก พูดในใจอย่างนี้...

พอไปถึงป่าช้า ปะขาวแก้วจะมาพักใกล้ๆ ก็ไม่ยอม ให้ไปอยู่ไกลๆ โน่น ความจริงแล้วอยากให้มาอยู่ใกล้ๆ เป็นเพื่อนกัน แต่ไม่เอาเดี๋ยวตัวเองจะอาศัยเขา กลัวนักก็ให้มันตายเสียในคืนนี้ พอค่ำลงเขาหามศพมาฝังพอดี ทำไมถึงเหมาะเจาะอย่างนี้... คิดอยากจะหนี... เขานิมนต์ให้สวดมาติกา ก็ไม่เอา เดินหนีไป... มันกลัว... เดินก็แทบไม่รู้สึกว่าเท้าแตะดิน

สักพักก็เดินกลับมา เขาเอาศพฝังไว้ใกล้ๆ แล้วยังเอาไม้ไผ่ที่หามศพมาทำเป็นร้านให้นั่ง... จะทำอย่างไรดี... หมู่บ้านกับป่าช้าก็ไม่ใช่ใกล้ๆ กัน ห่างกันตั้งสองสามกิโล

พอตะวันตกดิน ใจหนึ่งก็บอกให้เข้าไปอยู่แต่ในกลดท่าเดียว จะเดินไปหาหลุมศพ ก็เหมือนมีอะไรมาดึงขาเอาไว้ ความรู้สึกกลัวกลับกล้ามันฉุดรั้งกันอยู่

พอ มืดสนิทจริงๆ ก็มุดเข้ากลดทันที รู้สึกเหมือนมีกำแพงเจ็ดชั้น เห็นบาตรตั้งอยู่ข้างๆ ก็รู้สึกดีใจ ได้อาศัยบาตรเป็นเพื่อน นั่งอยู่ในกลดทั้งคืน ไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย นั่งเงียบอยู่ จะง่วงก็ไม่ง่วง มันกลัว ทั้งกลัวทั้งกล้า นั่งอยู่อย่างนั้นตลอดทั้งคืนเลย

พอสว่างขึ้น ก็รู้สึกว่าเรารอดตายแล้ว ดีใจจริงๆ ภายในใจเราอยากให้มีแต่กลางวันเท่านั้น ไม่อยากให้มีเวลากลางคืนเลย อยากฆ่ากลางคืนทิ้ง มันจะได้มีแต่กลางวัน...

ตอนเช้าไปบิณฑบาตคน เดียว หมาวิ่งตามหลังมาจะกัด แต่ก็ไม่ไล่ จะกัดก็กัดไปเลย ให้มันกัดให้ตายซะ หมาก็งับผิดงับถูก โยมชาวภูไท ไม่รู้จักไล่หมา เขาว่าผีมันมากับพระ หมาจึงได้เห่าได้กัด เขาจึงไม่ไล่มัน ช่างมัน ! เมื่อคืนนี้ก็กลัวจนเกือบตายทีหนึ่งแล้ว ตอนเช้านี้หมาจะกัด ก็เลยปล่อยให้มันกัดซะ ถ้าหากว่าแต่ก่อนเราเคยกัดมัน ก็ปล่อยให้มันกัดคืนซะ แต่มันก็งับผิดงับถูกอยู่อย่างนั้น

กลับจาก บิณฑบาตก็ฉัน พอฉันเสร็จ แดดออกมาบ้างรู้สึกอบอุ่นได้เดินจงกรม และพักผ่อนเอาแรงบ้าง คืนนี้จะได้ภาวนาให้เต็มที่ คงไม่มีอะไรน่ากลัว เพราะได้ทดลองมาคืนหนึ่งแล้ว

พอบ่ายๆ ชาวบ้านหามศพมาอีกแล้ว เป็นผู้ใหญ่เสียด้วย เขาเอามาเผาไว้ใกล้ๆ ด้านหน้ากลด แล้วก็กลับบ้านกันหมด ช่วงหัวค่ำศพที่ถูกเผามีกลิ่นเหม็นตลบอบอวล จะเดินจงกรมไปข้างหน้าก็ก้าวไม่ออก ที่สุดเลยเข้าไปในกลด... นั่งหันหลังให้กองไฟ ไม่คิดอยากนอนเลย ตาตื่นแข็งอยู่อย่างนั้น ตกดึกประมาณสี่ทุ่ม มีเสียงอยู่ข้างหลังในกองไฟดังเหมือนตกลงมา หรือหมาจิ้งจอกมากินซากศพ แต่ฟังอีกที เหมือนเสียงควายดังครืดคราดๆ...

พอ สักพัก มีเสียงเหมือนคนเดินเข้ามาหาทางด้านหลัง เดินหนักเหมือนควาย แต่ไม่ใช่... แต่จะเข้ามาก็ไม่เข้า เดินโครมๆ ออกไปทางปะขาวแก้ว นานประมาณครึ่งชั่วโมง เดินกลับมาอีกแล้ว เหมือนคนเดินจริงๆ ตรงดิ่งเข้ามาเหมือนจะเหยียบเราอย่างนั้นแหละ... หลับตาสนิทไม่ยอมลืมตา ให้มันตายทั้งหลับตานี่แหละ

มันมาถึงใกล้ๆ หยุดกึก ! ยืนนิ่งอยู่เงียบๆ ข้างหน้ากลด รู้สึกเหมือนกับว่ามันเอามือที่ถูกไฟไหม้คว้าไปมาอยู่ข้างหน้า...

ตาย คราวนี้ละ ! พุทโธ ธัมโม สังโฆ ลืมหมด มีแต่ความกลัวอย่างเดียว เต็มแน่นเอี๊ยดอยู่ในใจ ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยมีความกลัวเหมือนครั้งนี้เลย มันกลัวมาก เปรียบเหมือนกับน้ำที่เราเทใส่ในโอ่ง เทใส่มากจนเต็มมันก็ล้นออกมา ความกลัวเหมือนกัน มันกลัวมากจนหมดกลัว แล้วก็ล้นออกมา... ใจหนึ่งเลยถามว่า...

ที่กลัวมากกลัวมายนัก มันกลัวอะไร?

กลัวตาย อีกใจหนึ่งตอบ

แล้ว ความตายมันอยู่ที่ไหน... ทำไมกลัวเกินบ้านเมืองเขานัก... หาที่ตายดูซิ มันอยู่ไหน ความตายอยู่กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง แล้วจะหนีไปไหนจึงจะพ้นมันล่ะ... วิ่งหนีก็ตาย... นั่งอยู่ก็ตาย เพราะมันอยู่กับเราไปไหนมันก็ไปด้วย เพราะความตายมันอยู่กับเรา... กลัวหรือไม่กลัว... ก็ตายเหมือนกัน หนีมันไม่ได้หรอก...

พอคิดได้ อย่างนี้เท่านั้น สัญญาพลิกกลับ... ความคิดก็เปลี่ยนขึ้นมาทันที ความกลัวทั้งหลายเลยหายไป ปานพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ อัศจรรย์เหลือเกิน ความกลัวมากๆ มันหายไปได้ ความไม่กลัวมันกลับมาแทนในที่เดียวกันนี้ โอ... ใจมันสูงขึ้น... สูงขึ้นเหมือนอยู่บนฟ้านะ... เปรียบไม่ถูก

พอเอาชนะความกลัวได้แล้ว ฝนเริ่มตกทันทีเลย ลมพัดแรงมาก แต่ก็ไม่กลัวตายแล้ว ไม่กลัวต้นไม้กิ่งไม้มันจะหักลงมาทับ ไม่สนใจมันเลย...

ฝน ตกลงมาหนักเหมือนฝนเดือนสี่ พอฝนหยุด... เปียกหมดทั้งตัว นั่งนิ่งไม่กระดิกเลย... ร้องไห้... นั่งร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้มลงมา เพราะเกิดนึกไปว่า ตัวเรานี่ทำไมเหมือนคนไม่มีพ่อมีแม่แท้ มานั่งตากฝนยังกับคนไม่มีอะไร ยังกับคนสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง คนที่เขามีบ้านอยู่ดีๆ เขาคงจะไม่คิดหรอกว่า จะมีพระมานั่งตากฝนอยู่ทั้งคืนอย่างนี้ เขาคงจะนอนห่มผ้าสบาย คิดไปวิตกไป เลยสังเวชชีวิตของตน ร้องไห้น้ำตาไหลพรากๆ เอ้า... น้ำไม่ดีนี่ให้มันไหลออกมาให้หมด... อย่าให้มันมีอยู่

เมื่อคิดได้ อย่างนี้... เมื่อชนะความรู้สึกแล้ว ก็นั่งดูจิตดูใจอยู่อย่างนั้น ความรู้เห็นสารพัดเรื่องเกิดขึ้นมา... พรรณนาไม่ได้ คิดถึงพระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ วิญญูชนพึงรู้ได้เฉพาะตน... ความทุกข์ที่นั่งตากฝน... ความกลัวที่มันหายไป ความรู้สึกต่อมาเป็นอย่างไร ก็รู้แต่เฉพาะเราเอง ใครอื่นจะมารู้ด้วย... นั่งพิจารณาอยู่อย่างนี้จนสว่าง จิตมีกำลังศรัทธาขึ้น

ส่วางขึ้นมา ลืมตาครั้งแรกมองไปทางไหนเหลืองไปหมด ลุกไปปัสสาวะเพราะมันปวดตั้งแต่เมื่อคืน ปวดจนหายปวดไปเฉยๆ... ปัสสาวะออกมามีแต่เลือด รู้สึกตกใจเล็กน้อย คิดว่าไส้หรืออะไรข้างในคงขาดหมดแล้ว... ขาดก็ขาด... ตายก็ตายไปซิ... ตายเพราะการปฏิบัติอย่างนี้ก็พอใจตาย แต่ตายเพราะไปทำความชั่วซิไม่ค่อยดี ตายเพราะปฏิบัติแบบนี้ตายก็ตาย...

ในใจมันแย้งกันอยู่อย่างนี้ ใจหนึ่งมันเบียดเข้ามาว่าเป็นอันตราย อีกใจหนึ่งมันสู้ มันค้าน และตัดขึ้นมาทันที

คืนนั้นฝนตกทั้งคืน วันรุ่งขึ้นจับไข้สั่นไปทั้งตัว แต่ก็อดทนออกไป บิณฑบาตในหมู่บ้าน บิณฑบาตก็ได้แต่ข้าวเปล่าๆ...

หลัง คืนสยองผ่านไป โดยมิรู้ว่าอาคันตุกะลึกลับผู้นั้นคือใคร เหตุใดจึงมาเยี่ยมเยือนด้วยอาการดุร้ายน่ากลัวเช่นนั้น... หลวงพ่อไม่กล่าวถึงมัน ท่านกลับเน้นให้ศิษย์มองเห็นคุณค่าของการต่อสู้ให้ถึงที่สุด... สู้ชนิดเอาชีวิตเข้าแลก แล้วปัญญาความรู้แจ้งเห็นจริงจะเกิดขึ้นตรงนั้น ดังคำที่หลวงพ่อมักใช้ปลุกใจลูกศิษย์ว่า

ไม่ดีก็ให้มันตาย... ไม่ตายก็ให้มันดี !"

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:41:16 น.  

 

การแยกจากหมู่คณะในระยะแรกๆ รู้สึกเป็นอิสระมาก ไม่ห่วงกังวลต่อสิ่งใด ได้เร่งความเพียรเต็มที่ สำรวมระวังอินทรีย์ (คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ตลอดเวลา แม้ไปบิณฑบาตก็ไม่มองหน้าใคร เพียงแต่รู้ว่าเป็นหญิงหรือชายเท่านั้น

เสร็จจากการขบฉันเก็บ บริขารแล้ว หลวงพ่อเดินจงกรมทันที ปฏิบัติสม่ำเสมอเช่นนี้อยู่หลายวัน จนเท้าบวมเป่งขึ้นเพราะเดินจงกรมมาก จึงหยุดเดินแล้วนั่งสมาธิอย่างเดียว ใช้ความอดทนระงับความเจ็บปวดอยู่ถึงสามวัน เท้าจึงเป็นปกติ

ใน ระหว่างนั้นไม่ยอมพบปะกับใครทั้งสิ้น เพราะเห็นการคลุกคลี คือ ความเนิ่นช้าของการประพฤติธรรม อยู่มาวันหนึ่ง กิเลสที่หลบไปเพราะเกรงอำนาจสมาธิธรรม ได้กลับออกมารบกวนจิตใจให้วิตกว่า...

"เราอยู่คนเดียวเช่นนี้ ถ้าได้เณรตัวเล็กๆ หรือผ้าขาวสักคนมาอยู่ด้วยคงดีนะ เพื่อจะได้ใช้อะไรเล็กๆ น้อยๆ"

...แต่ภาวะความคิดก็แย้งกันเองว่า...

"เอ ! ตัวแกนี่สำคัญนะ เบื่อเพื่อนมาแล้ว... ยังอยากได้เพื่อนมาทำไมอีกเล่า ?"

"เบื่อก็จริงแต่เบื่อเฉพาะคนไม่ดี ส่วนเวลานี้ต้องการเพื่อนที่ดีๆ"

"คน ดีอยู่ที่ไหนล่ะ ? เห็นไหม หาคนดีได้ไหม เพื่อนร่วมทางกันมาก็คิดว่าเขาไม่ดีทั้งนั้น คงคิดว่าตัวเองดีคนเดียวละมั้ง จึงหนีเขามานี่"

จากนั้นก็ถามและ ตอบตัวเองอีกว่า... "คนดีอยู่ที่ไหน... คนดีอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราดี ไปไหนมันก็ดี เขาจะนินทา สรรเสริญ จะว่าอะไร ทำอะไร เราก็ยังดีอยู่ แต่ถ้าเรายังไม่ดี เขานินทา เราก็จะโกรธ ถ้าเขาสรรเสริญ เราก็ยินดี... ก็หวั่นไหวอยู่อย่างนั้น

เมื่อรู้ว่าคนดีอยู่ที่ไหนแล้ว เราจะมีหลักในการปล่อยวางความคิด เราจะไปอยู่ที่ไหน... คนเขาจะรังเกียจ หรือเขาจะว่าอะไร ก็ถือว่าไม่ใช่เขาดีหรือเขาชั่ว เพราะดีหรือชั่วอยู่ที่ตัวเรา... เราย่อมรู้จักตัวเราเองยิ่งกว่าใคร..."

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:41:47 น.  

 

ขณะที่พักอยู่ที่บ้านหนองกา อำเภอศรีสงคราม แม้จิตจะเคยผ่านภาวะที่สุดของสมาธิ จนจิตใจแปลกแตกต่างจาปกติจิตก็ตาม แต่หาใช่ว่ารากเหง้าของกิเลสจะถุกกำจัดสิ้นไปไม่ เพราะสมาธิมีอำนาจเหนือกิเลสบางอย่างเท่านั้น ไม่อาจระงับกิเลสที่สะสมนอนเนื่องในจิตใจได้ทั้งหมด

ในขณะนั้น บริขารของหลวงพ่อคร่ำคร่าแทบจะใช้ไม่ได้ จึงเกิดความอยากได้ของใหม่ จนใจกระวนกระวาย ท่านเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นว่า...

"ตอนไป อยู่ศรีสงคราม บริขารเราเก่ามาก จะขอใครก็ไม่ได้เพราะไม่มีญาติ ไม่มีใครปวารณา จิตมันดิ้นรนกระวนกระวาย... ในเวลานั้นบาตรที่ใช้มีขนาดเล็กมากและยังรั่วอีกหลายรู พระที่วัดหนองกาท่านสังเกตเห็น จึงนำบาตรขนาดใหญ่แต่มีรูรั่วด้วยมาถวาย ฝาบาตรก็ไม่มี...

นึกขึ้นได้ สมัยเป็นเด็กไปเลี้ยงควายเห็นเพื่อนเอาเถาวัลย์มาถักเป็นหมวก เลยให้เขาเอาหวายมาให้ แล้วเหลาให้แบนอันหนึ่ง กลมอันหนึ่ง แล้วถักเป็นวงๆ ได้ฝาบาตรใช้เหมือนกัน แต่ดูแล้วเหมือนกระติบใส่ข้าวเหนียว เวลาไปบิณฑบาตมองดูฝาบาตรตัวเองรู้สึกขวางหูขวางตา ใครเห็นเขาเรียกว่า พระบาตรใหญ่

จึงทำมาใหม่... ทำทั้งกลางวันกลางคืน ตอนนั้นคิดผิดเพราะอยากได้มาก กลางคืนจุดไต้ ทำอยู่ในป่าคนเดียว สานไปสานมา มือไปชนไต้ที่จุดไว้ ขี้ไต้ตกใส่มือ ไฟไหม้หนังหลุดหมด มีแผลเป็นอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้...

จึงรู้สึกตัว เอ... นี่เรากำลังทำอะไร... คิดผิดแล้วนี่ บวชมาเพื่อเอาบริขาร บาตร จีวร แค่นี้หรือ ถึงขนาดทำจนไม่ได้หลับได้นอน

เลย มานั่งพิจารณาอยู่ แล้วก็เดินจงกรม เดินไปยังคิดถึงฝาบาตรอีกนั่นแหละ เดินจนจวนสว่างรู้สึกเหนื่อย จึงพักมานั่งสมาธิ นั่งก็คิดอีก พอเคลิ้มไปนิดหนึ่ง เห็นเป็นภาพพระพุทธเจ้าองค์ใหญ่ท่านบอกว่า... มานี่จะเทศน์ให้ฟัง... เข้าไปกราบท่าน ท่านก็เทศน์เรื่องบริขารให้ฟังว่า เครื่องบริขารทั้งปวงเป็นเพียงเครื่องประดับขันธ์ห้าเท่านั้น...

สะดุ้ง ตื่นตัวสั่นเทาเลย เสียงนั้นยังติดอยู่ในใจจนทุกวันนี้... เข็ดหลาบเลย... ความอยากได้จนไม่รู้จักตัวเองนี่ ที่นี้เลยเลิกทำแบบนั้นมาทำเป็นเวลา... ทำแล้วพัก... เดินจงกรม... นั่งสมาธิด้วย

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:42:18 น.  

 

สัจธรรมในป่าช้า

กลางป่าช้าข้างวัดหลวงตา มีศาลาเล็กๆ หลังหนึ่งตั้งอยู่ท่ามกลางหลุมฝังศพที่เรียงรายเกลื่อนกลาด หลวงพ่อมักหลีกเร้นมานั่งสมาธิ พิจารณาสภาวธรรมอยู่ที่ศาลาหลังนั้นอยู่เสมอ ความวังเวงและหลุมฝังศพรวมทั้งกองกระดูกช่วยให้จิตใจสงบระงับ เกิดธรรมสังเวชในความเป็นไปของสัตว์โลก ที่ต่างถูกกระแสกรรมนำมาเกิด ถูกความแก่ชราต้อนไป ถูกความเจ็บไข้รุมเร้าเบียดเบียน แล้วบีบคั้นให้ตายในที่สุด

วันหนึ่งขณะหลวงพ่อนั่งอยู่บนศาลาใน ป่าช้า มีกาตัวหนึ่งบินมาจับที่กิ่งไม้ใกล้ๆ แล้วส่งเสียงร้อง กา กา หลวงพ่อไม่ได้ใส่ใจ เพราะคิดว่ามันคงร้องไปตามประสาสัตว์

การู้ว่า หลวงพ่อไม่สนใจ จึงร่อนลงมายืนบนพื้นศาลาตรงหน้าท่าน มันคาบหญ้าแห้งมาวางแล้วร้อง กา กา แสดงอาการเหมือนจะส่งหญ้าให้ หลวงพ่อเห็นกิริยามันแปลกๆ จึงหันมามองและคิดในใจว่า "เจ้าจะบอกอะไรเราหรือ ?" เมื่อกาเห็นท่านสนใจ ก็ทิ้งหญ้าแห้งไว้แล้วบินหายไป หลังจากนั้นสามวัน ชาวบ้านได้หามศพเด็กชายคนหนึ่งป่วยเป็นไข้ตายมาเผาข้างๆ ศาลานั้น

สาม สี่วันต่อมา อีกาบินมาหาหลวงพ่อที่ศาลานั้นอีก ครั้งแรกเกาะอยู่บนกิ่งไม้ เมื่อเห็นหลวงพ่อไม่สนใจ กาก็บินลงมาที่พื้นแล้วแสดงกิริยาเหมือนครั้งแรก พอหลวงพ่อหันมาดู มันก็บินหนีไปอย่างเคย

จากนั้นไม่กี่วัน ชาวบ้านหามศพมาอีก คราวนี้เป็นพี่ชายของเด็กที่ตายไปเมื่อไม่นานนั่นเอง ซึ่งเกิดป่วยกระทันหัน ตายตกตามกันอย่างน่าประหลาดใจ กาตัวนั้นเป็นทูตมรณะจริงๆ เพราะอีกสามวันเท่านั้น มันได้บินมาส่งข่าวหลวงพ่ออีกครั้ง แล้วไม่กี่วันพี่สาวของเด็กชายทั้งสองที่ตายไปก่อนนั้นมีอันต้องป่วยตายไป อีกคน

ทุกข์ใดๆ ในโลก ดูเหมือนจะโถมทับลงมาที่พ่อแม่ของเด็กเหล่านั้นทั้งหมด เพราะช่วงเวลาเพียงสองอาทิตย์ ต้องสูญเสียลูกๆ ที่รักดังแก้วตาดวงใจไปถึงสามคน จึงต่างร่ำไห้ด้วยความโศกเศร้าอาลัย

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:42:48 น.  

 

หลวงพ่อเห็นสภาพของคนเหล่านั้น ยิ่งเกิดความสลดสังเวชในความเป็นจริงของชีวิต ได้น้อมนำเหตุการณ์นั้นมาเตือนตนมิให้ประมาท พิจารณาเห็นว่าความทุกข์โศกย่อมเกิดจากของที่เรารักและหวงแหน

สัจธรรม ในป่าช้าเร่งเร้าให้หลวงพ่อไม่ยอมเนิ่นช้าในการปฏิบัติ ท่านเพิ่มเวลาในการภาวนามากขึ้น ลดเวลาพักผ่อนลง มุ่งหน้าทำความเพียร แม้ฝนตกพรำๆ ก็เหยียบย่ำน้ำเดินจงกรมอยู่อย่างนั้น

วันหนึ่งเกิด นิมิตว่าได้เดินไปยังที่แห่งหนึ่ง พบคนแก่นอนป่วยร้องครวญครางปานจะขาดใจ หลวงพ่อหยุดพิจารณาดู แล้วเดินต่อไประหว่างทางพบคนป่วยหนักจวนตาย ร่างกายซูบผอมเหลือเพียงหนังหุ้มกระดูก นอนหายใจรวยรินอยู่ริมทาง ได้หยุดดูแล้วเดินผ่านไปไม่ไกลก็พบคนตายนอนหงายขึ้นอืด ตาถลน ลิ้นจุกปาก และมีหนอนชอนไชอยู่เต็มร่าง เกิดความสลดสังเวชเป็นอย่างยิ่ง

พอ ตื่นขึ้นมา ภาพนั้นยังติดตามติดใจไม่เลือนลาง รู้สึกเบื่อหน่ายต่อชีวิต อยากหลุดพ้นออกจากกองทุกข์นี้โดยเร็ว จึงคิดจะปลีกตัวขึ้นไปทำความเพียรบนยอดเขาสักเจ็ดวัน หรือสิบห้าวัน จึงจะลงมาบิณฑบาต แต่มีปัญหาว่าบนยอดเขาไม่มีน้ำดื่ม พอดีนึกถึงกบจำศีลในรู มันกินน้ำเยี่ยวของตัวเอง ยังมีชีวิตอยู่ได้ จึงทดลองดูบ้างแต่ไม่ได้ผล เพราะน้ำปัสสาวะนั้นเมื่อดื่มซ้ำเข้าไปหลายๆ ครั้ง พอตกถึงกระเพาะก็ไหลออกมาทันที

เมื่อคิดว่าไม่อาจไปอยู่บน ยอดเขาได้ จึงทดลองอดอาหาร ฉันวันเว้นวันสลับกันไป ทำอยู่ประมาณสิบห้าวัน ขณะอดอาหารรู้สึกว่าร่างกายร้อนดังถูกไฟแผดเผา มีอาการทุรนทุรายแทบทนไม่ได้ จิตใจกระสับกระส่ายไม่สงบ จึงล้มเลิกวิธีนี้เพราะไม่ถูกกับจริต

ต่อมาได้นึกถึงอปัณณกปฏิปทา (ข้อปฏิบัติไม่ผิด) คือ โภชเนมัตตัญญุตา การรู้จักประมาณในการฉันอาหารให้พอสมควร ไม่มากหรือน้อยเกินไป อินทรียสังวร สำรวมระวัง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ถูกกิเลสครอบงำ ชาคริยานุโยค ทำความเพียรสม่ำเสมอ ไม่เกียจคร้านหรือเห็นแก่หลับนอนจนเกินไป

เมื่อน้อมใจไปถึงทาง ดำเนินนี้จึงหยุดวิธีทรมานตน กลับมาฉันอาหารวันละครั้งดังเดิม แล้วทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง การบำเพ็ญภาวนาก้าวหน้าขึ้นมาก จิตใจสงบระงับปราศจากนิวรณ์ การพิจารณาธรรมก็แตกฉานแจ่มแจ้ง ไม่ติดขัด

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:43:18 น.  

 

ต้นปี พ.ศ. 2492 หลังจากหลวงตาและคณะละทิ้งสำนักไปได้เจ็ดวัน หลวงพ่อได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ภูลังกา อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ในระหว่างนั้น การปฏิบัติสมาธิภาวนาของท่านมีอันต้องสะดุดหยุดอยู่กับที่ คล้ายกับเดินไปถึงจุดๆ หนึ่ง แล้วเดินต่อไปไม่ได้

หลวงพ่อฟื้นความหลังให้ลูกศิษย์ฟังว่า

"...ขณะ นั้นคิดว่า ใครหนอจะช่วยเราได้ ก็นึกถึงอาจารย์วัง ท่านอยู่ที่ภูลังกา ก็ไม่เคยพบท่านหรอก แต่ได้คิดว่าพระองค์นี้ท่านคงจะมีดีอย่างใดอย่างหนึ่งแน่ จึงขึ้นไปอยู่บนยอดเขาอย่างนั้น"

หลวงพ่อเดินธุดงค์ขึ้นสู่ภูลังกา ได้พบท่านอาจารย์วังดังปรารถนา ท่านพำนักอยู่กับเณรน้อยสองรูป ปลูกกุฏิเล็กๆ ตามพลาญหินและเงื้อมผา มีที่หลีกเร้นเหมาะแก่การภาวนามาก คืนหนึ่งหลังเสร็จจากกิจวัตรส่วนตัว หลวงพ่อได้ขอโอกาสสนทนาและถามปัญหาธรรม ที่ตนขัดข้องต่อท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อได้ถ่ายทอดให้ศิษย์ฟังว่า

"ที่ผมขึ้นมากราบท่านอาจารย์ ครั้งนี้ เพราะผมจนปัญญาแล้ว คล้ายๆ กับว่าเราเดินไปบนสะพานที่ทอดยาวไปในแม่น้ำ เราเดินไปแล้วก็หยุดอยู่ไม่มีที่จะไปอีก พอหันเดินกลับมา บางทีก็เดินเข้าไปอีก นี่เป็นสมาธินะครับ ไปถึงตรงนั้นแล้วมันก็จบอยู่ไม่มีที่ไป เลยต้องหันกลับมาอีก กำหนดไปต่อก็ไปไม่ได้ บางทีกำหนดไปเหมือนมีอะไรมาขวางอยู่ แล้วก็ชนกึ๊กอยู่ตรงนั้น เป็นอาการอย่างนี้มานานแล้ว มันคืออะไรครับ"

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:43:47 น.  

 

ท่านอาจารย์วังตอบว่า

".... มันเป็นที่สุดแห่งสัญญาแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ไม่ต้องไปไหน ให้ยืนอยู่ตรงนั้นแหละ ให้กำหนดอยู่ตรงนั้น มันจะแก้สัญญา มันจะเปลี่ยนเอง ไม่ต้องไปบังคับมันเลย ให้เรากำหนดรู้ว่าอันนี้มันเป็นอย่างนี้ เมื่อมีความสุขอย่างนี้แล้ว จิตมีอาการอย่างไรก็ให้รู้ว่าเป็นอย่างนั้น ให้รู้เข้ามา ถ้ารู้จักแล้ว เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน เปลี่ยนสัญญา คล้ายๆ กับว่าสัญญาของเด็กเปลี่ยนเป็นสัญญาผู้ใหญ่ อย่างเด็กมันชอบของเล่นอย่างนี้ พอโตขึ้นมาเห็นของชิ้นเก่านี้ไม่น่าเล่นเสียแล้ว ก็เลยไปเล่นอย่างอื่น นี่มันเปลี่ยนอย่างนี้"

ท่านอาจารย์วังเสริมต่ออีกว่า

"...มัน เป็นได้ทุกอย่างก็แล้วกันเรื่องสมาธินี่ แต่จะเป็นอะไรก็ช่างมันเถอะ อย่าไปสงสัย เมื่อเรามีความรู้สึกอย่างนี้ เดี๋ยวมันก็ค่อยเปลี่ยนไปเอง ให้กำหนดรู้และเพ่งตรงนี้ แต่อย่าเข้าใจว่ามันหมดนะ เดี๋ยวจะมีอีก แต่ให้วางมัน รู้ไว้ในใจแล้วปล่อยวางเสมอ อย่างนี้ไม่เป็นอันตราย กำหนดอยู่อย่างนี้ให้มีรากฐาน อย่าไปวิ่งตามมัน พอเราแก้อันนี้ได้ มันก็ไปได้"

หลวงพ่อเรียนถามอีกว่า

"ทำไมบางคนไม่มีอะไรขัดข้องในการภาวนาล่ะครับ ?"

"อัน นี้เป็นบุพกรรมของเรา ต้องต่อสู้กันในเวลานี้ ตอนจิตมันรวมนี่แหละ สิ่งที่เกิดขึ้นมาไม่ใช่ของร้ายอย่างเดียวนะ ของดีของน่ารักก็มี แต่เป็นอันตรายทั้งนั้น อย่าไปหมายมันเลย" ท่านอาจารย์วังตอบ

เหมือน บอกทางแก่คนหลงทาง หลังจากสนทนาธรรมกับท่านอาจารย์วัง หลวงพ่อเกิดความเข้าใจในความละเอียดลึกซึ้งของธรรมปฏิบัติมากขึ้น ครั้นพูดคุยเรื่องต่างๆ กันพอสมควร หลวงพ่อก็กราบลาท่านอาจารย์วังกลับที่พัก

ในขณะพักอยู่บนภูลังกา หลวงพ่อได้เร่งความเพียรอย่างหนัก พักผ่อนเพียงเล็กน้อย ไม่คำนึงถึงเวลาว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน คงยืนหยัดปฏิบัติไปอย่างต่อเนื่อง จิตพิจารณาเรื่องธาตุและสมมุติบัญญัติอยู่ตลอดเวลา หลวงพ่อพักอยู่ที่ภูลังกาได้สามวัน ก็กราบลาท่านอาจารย์วัง เดินลงมาถึงวัดแห่งหนึ่งตั้งอยู่เชิงเขา พอดีฝนตกจึงหลบเข้าไปนั่งสมาธิที่ใต้ถุนศาลา

ทันใดนั้น จิตเกิดความตั้งมั่นขึ้น แล้วมีความรู้เห็นตามมาเหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง ดูอะไรเปลี่ยนไปหมด กาน้ำวางอยู่ข้างๆ ก็ดูเหมือนไม่ใช่กาน้ำ บาตรก็ดูเหมือนไม่ใช่บาตร ทุกๆ อย่างเปลี่ยนสภาพไปหมด ต่างกันราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธาตุ เป็นของสมมุติขึ้นทั้งนั้น แล้วน้อมเข้ามาดูตัวเอง ดูทุกสิ่งในร่างกายก็เห็นว่าไม่ใช่ของเรา ล้วนแต่เป็นของสมมุติทั้งหมด

การได้พบกับอาจารย์วังครั้งนั้น หลวงพ่อได้ความกระจ่างในทางธรรมปฏิบัติยิ่งขึ้น ท่านจึงให้อุทาหรณ์แก่บรรดาศิษย์ว่า

"...คน เราจะไปภาวนาคนเดียวมันก็ได้อยู่หรอก แต่บางคนอาจจะวกวนไปมาจนช้า ถ้ามีใครชี้บอกทางให้มันไปเร็ว และมีลู่ทางที่จะพิจารณามากกว่า..."

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:44:20 น.  

 

ต้นปี พ.ศ. 2493 หลวงพ่อได้รับจดหมายจากพระมหาบุญมี ซึ่งเป็นเพื่อนที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน ส่งข่าวเรื่องหลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ให้ทราบ จึงออกเดินทางจากบ้านสวนกล้วย สู่กรุงเทพฯ ได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่วัดปากน้ำประมาณ 7 วัน จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ใน ระหว่างปี พ.ศ. 2493 - 2494 ซึ่งเป็นพรรษาที่สิบสองและสิบสาม หลวงพ่อได้จำพรรษาอยู่ที่ วัดใหญ่ชัยมงคล ได้พบกัลยาณมิตรสองท่าน คือ พระอาจารย์ฉลวย (ปัจจุบันพำนักอยู่ที่วัดเขาต้นเกตุ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และหลวงตาแปลก

ครั้งหนึ่งขณะอยู่ที่วัด นั้น หลวงพ่ออาพาธหนัก ท้องทางด้านซ้ายบวมขึ้น มีความเจ็บปวดมาก ทั้งโรคหืดที่เคยเป็นก็กำเริบซ้ำเติมอีก ได้รับความทุกข์ทรมานมาก จึงปรารภกับตัวเองว่า

"เรานี้อยู่ห่างไกลญาติพี่น้อง เงินทองก็ไม่มี และยังมาป่วยหนักอีก จะไปโรงพยาบาลก็คงต้องเป็นภาระยุ่งยากแก่ผู้อื่น ไม่ไปดีกว่า จะใช้ธรรมโอสถรักษา ถ้าหายก็หาย ถ้าไม่หายก็ให้ตายไป"

หลวงพ่อเล่า ว่า... เมื่อปลงตกเช่นนี้ จึงทอดอาลัยในชีวิตแล้วอดอาหาร ดื่มเพียงน้ำเปล่า บ้างไม่ยอมพักผ่อนหลับนอน เดินจงกรมสลับกับนั่งสมาธิตลอดวัน ร่างกายเกิดความอ่อนเพลียมาก แต่จิตใจกลับเข้มแข็งไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด

รุ่งเช้า พระเณรไปบิณฑบาต หลวงพ่อก็เดินจงกรมและนั่งสมาธิ เมื่อเพื่อนพระเณรกลับมานั่งฉันอาหาร หลวงพ่อได้พิจารณาดูจิตเกิดคิดผิดว่า การฉันอาหารเป็นเรื่องยุ่งยาก ท่านให้ความเห็นเรื่องการอดอาหารแก่ศิษย์ว่า

"การอดอาหารนั้น ระวังให้ดี บางทีจะทำให้เราหลงได้ เพราะจิตอาจคิดผิดเห็นเพื่อนๆ เขาฉันอาหารแล้วคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นภาระที่ทำความลำบากแก่ตนเอง เมื่อคิดอย่างนี้อาจจะไม่ยอมฉันอาหาร จึงเป็นทางตายได้ง่ายๆ เหมือนกัน"

หลวงพ่ออดอาหาร เร่งความเพียรอย่างหนักถึง 8 วัน โรคร้ายนั้นได้หายไป และไม่กลับมากำเริบอีก ท่านอาจารย์ฉลวยเฝ้าสังเกตอาการด้วยความเป็นห่วง ครั้นเห็นว่าเพื่อนอดอาหารนานพอสมควรแล้ว จึงมาขอร้องให้ฉันอาหารดังเดิม

จาก ประสบการณ์ในครั้งนั้น หลวงพ่อยังได้แนะนำลูกศิษย์อีกว่า "เมื่อเราอดอาหารนานหลายๆ วัน เวลากลับมาฉัน ต้องระวังอย่าเพิ่งฉันมากในวันแรกๆ เพราะธาตุขันธ์ยังไม่เป็นปกติ ถ้าฉันมากอาจตายได้ เพราะอาหารไม่ย่อย ควรฉันวันละน้อย และเพิ่มขึ้นไปทุกวันจนเป็นปกติ"

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:45:02 น.  

 

การอาพาธของหลวงพ่อทุกครั้ง มักผ่านพ้นไปได้ด้วยความอดทน และกำลังใจที่เกิดจากความคิดที่ถูกต้อง รวมทั้งการทอดอาลัยในสังขารร่างกาย "หายก็เอา ตายก็เอา ถ้าคิดอยากหายอย่างเดียวทุกข์แน่" ท่านจะให้กำลังใจแก่ศิษย์ด้วยคำพูดเช่นนี้เสมอ หรือบางครั้งก็หยิบยกเอาเหตุการณ์ที่ได้เผชิญและฝ่าฟันมาเล่าเป็นคติ ดังครั้งหนึ่ง...

ระหว่างรอนแรมโดดเดี่ยวอยู่ในป่า เขตสกลนครกับนครพนม หลวงพ่อเกิดอาพาธหนัก นอนซมเพราะพิษไข้อยู่ผู้เดียวบนภูเขา ไข้สูงมากจนลุกไม่ขึ้น รู้สึกอ่อนเพลียมากจนม่อยหลับไป พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นก็เป็นเวลาพลบค่ำ ขณะนอนลืมตาคิดถึงสภาพความลำบากยากไร้ของตนอยู่ ได้ยินเสียงเก้งร้องดังก้องภูเขา จึงตั้งปัญหาถามตัวเองว่า "อีเก้งและสัตว์ป่าต่างๆ มันป่วยเป็นไหม ? มันป่วยเป็นเหมือนกัน เพราะมันก็มีสังขารร่างกายเหมือนเรานี่แหละ"

มันมียากิน... มีหมอมาฉีดยาให้หรือเปล่า ?

เปล่า... ไม่มีเลย... มันคงหายอดไม้ใบหญ้าตามมีตามได้

สัตว์ป่ามันไม่มียากิน ไม่มีหมอรักษา แต่ก็ยังมีลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์ต่อมาเป็นจำนวนมาก มิใช่หรือ ?

ใช่.... ถูกแล้ว !"

พอ หลวงพ่อพิจารณาได้ข้อคิดเช่นนี้ ก็มีกำลังใจดีขึ้นมาก พยายามลุกตะเกียกตะกายไปเอาน้ำในกามาดื่ม แล้วลุกขึ้นนั่งทำสมาธิ จนอาการไข้ทุเลาลงเรื่อยๆ รุ่งเช้าก็มีกำลังออกไปบิณฑบาตได้

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:45:35 น.  

 

หลวงพ่อจำพรรษาร่วมกับพระเณรหลายรูป มีพระเที่ยงกับพระทองดีรวมอยู่ด้วย ท่านได้นำหมู่คณะประพฤติปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ บางวันเดินจงกรมนั่งสมาธิตลอดวันตลอดคืน โดยให้ข้อคิดแก่ศิษย์ว่า

"อย่า พากันติดในสมมุติบัญญัติจนเกินไป ที่ว่าเป็นกลางวันกลางคืนนั้นมันเป็นการสมมุติของชาวโลกเท่านั้นเอง เมื่อกล่าวโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีกลางวัน กลางคืน ไม่มีข้างขึ้น ข้างแรม

ฉะนั้น เรามาสมมุติกันใหม่ ให้กลางวันเป็นกลางคืน ให้กลางคืนเป็นกลางวันก็ได้ ถ้าเราคิดได้ว่า กลางวันหรือกลางคืนก็ไม่แตกต่างอะไรกัน เราก็จะทำความเพียรโดยไม่อ้างเวลา"

วันหนึ่ง หลวงพ่อสังเกตเห็นพระเที่ยงฉันยาบางอย่างอยู่เป็นประจำ จึงถามว่า

"ท่านเที่ยง ฉันยาพวกนี้มานานแล้วหรือ ?"

"กระผมฉันมาหลายปีแล้วครับ"

"แล้วมันดีขึ้นไหม ?"

"พอทุเลาลงบ้างครับ"

หลวงพ่อนิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วพูดขึ้นว่า

"เอ้อ... ฉันยาพวกนี้ก็นานแล้ว ยังไม่เห็นว่ามันจะหายสักที... เอามันโยนทิ้งไปซะ แล้วมาฉันยาขนานใหม่กัน คือ ฉันอาหารให้น้อย นอนให้น้อย และพูดให้น้อย แล้วทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิให้มาก ลองทำดูนะ ถ้ามันไม่หาย เราก็ยอมตายไปซะ..."

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:46:12 น.  

 

วันหนึ่ง ขณะทำความเพียรอยู่บนภูกอย ท่านรู้สึกปวดฟันมาก รวมทั้งเหงือกก็อักเสบบวมขึ้นทั้งข้างล่างและข้างบน จึงหยิบเอาว่านยาสมุนไพรมาฝนกับน้ำแล้วฉันตามมีตามได้ แต่ความเจ็บปวดก็เพียงแต่ทุเลาลงเล็กน้อยเท่านั้น

หลวงพ่อจึงตั้ง จิตพิจารณาว่า "เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่มีใครหลีกหนีความเจ็บป่วยนี้ไปได้" แล้วพยายามแยกกายกับใจออกเป็นคนละส่วน... แม้กายจะมีอาการเจ็บป่วย แต่ก็ไม่ปล่อยให้ใจป่วยด้วย เพราะหากปล่อยให้ใจกังวลในร่างกาย ก็จะเป็นทุกข์ถึงสองขั้น หลวงพ่อเฝ้าดูและต่อสู้กับความรู้สึกเจ็บปวดนี้นานถึงเจ็ดวัน อาการเหงือกบวมจึงทุเลาและหายไป

พอออกพรรษา หลวงพ่อลงมาพักที่วัดถ้ำหินแตก แล้วให้พระเณรแยกย้ายกันไปภาวนาในป่าตามลำพัง โดยกำหนดให้เจ็ดวันมารวมกันที่วัดครั้งหนึ่ง หลวงพ่อพาลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น จนกระทั่งถึงปลายเดือนสามของปี พ.ศ. 2497 แม่พิมพ์ (มารดาของหลวงพ่อ) พร้อมกับผู้ใหญ่ลา (พี่ชาย) และญาติมิตรชาวบ้านก่ออีกห้าคน ได้เดินทางมานิมนต์หลวงพ่อให้กลับไปโปรดญาติโยมทางบ้านก่อบ้าง

หลวง พ่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้วที่จะได้ให้ธรรมานุเคราะห์แก่ผู้มีพระคุณ จึงรับนิมนต์ และให้แม่พิมพ์กับญาติมิตรขึ้นรถกลับไปก่อน จากนั้นหลวงพ่อได้เรียกลูกศิษย์มาประชุมกัน แล้วมอบให้พระเที่ยง พระทองดี กับพระ เณรบางส่วนอยู่ดูแลสำนัก (ต่อมาพระเที่ยงได้ติดตามไปอยู่กับหลวงพ่อที่ป่าพง ส่วนพระทองดีไปศึกษาปริยัติที่กรุงเทพฯ)

เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อกับพระเณรอีกส่วนหนึ่งก็อำลาชาวบ้านป่าตาว ออกเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ

 

โดย: โชติช่วงชัชวาล 19 ธันวาคม 2554 10:46:53 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


บุญกุศลศีลทานภาวนา
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add บุญกุศลศีลทานภาวนา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.