Group Blog
 
 
กรกฏาคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
27 กรกฏาคม 2551
 
All Blogs
 
ภาวะโลกร้อน ระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ

ตัดต่อและเรียบเรียงจาก “CARBON CREDIT โลกสีดำจาก พิธีสารเกียวโต” ตีพิมพ์ครั้งแรกใน นิตยสาร a day weekly ฉบับที่ 043 ประจำวันที่ เขียนโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล
เรียบเรียงโดย สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์

“ระดับคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้น อุณหภูมิสูงขึ้น ธารน้ำแข็งละลาย มหาสมุทรร้อนขึ้นระดับน้ำทะเลสูงขึ้น น้ำแข็งทะเลบางลง ชั้นดินเย็นแข็งคงตัวละลาย เกิดไฟป่าบ่อยขึ้น ทะเลสาบเล็กลง หิ้งน้ำแข็งพังทลาย ทะเลสาบจับตัวเป็นน้ำแข็งช้าลง แห้งแล้งยาวนาน ธารน้ำในเขตภูเขาเหือดแห้ง ปริมาณหยาดน้ำฟ้าเพิ่มขึ้น ฤดูหนาวไม่หนาวจัด ฤดูใบไม้ผลิมาถึงเร็วขึ้น ฤดูใบไม้ร่วงมาถึงช้าลง ต้นไม้ออกดอกเร็วขึ้น ช่วงเวลาอพยพเปลี่ยนแปลง ถิ่นอาศัยเปลี่ยนไป นกทำรังเร็วขึ้น โรคภัยไข้เจ็บลุกลาม ปะการังฟอกขาว การทับถมของหิมะลดลง สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหายไป พืชและสัตว์ต่างถิ่นรุกราน แนวชายฝั่งสึกกร่อน ป่าในเขตภูเขาสูงแห้งแล้ง อุณหภูมิในเขตละติจูดสูงพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว…เกิดอะไรขึ้นกับโลกกันแน่”

นี่เพียงแค่บทเกริ่นนำของบทความไตรภาค “มหันตภัยแห่งอนาคต: สัญญาณเตือนภัยจากปรากฏการณ์ โลกร้อน ”ในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิค ชี้ให้เห็น ภาวะโลกร้อน ที่มีมนุษย์เป็นสาเหตุสำคัญ

และในขณะนี้ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในธรณีกาล กลับใช้เวลาเพียงชั่วอายุคนเท่านั้นเอง

ขณะที่นักวิทยาศาสตร์และนักสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก พยายามชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่ผิดปกติ เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกคนตระหนักในปัญหาที่ตัวเองมีส่วนร่วมก่อ โดยเฉพาะการบริโภคแบบ ‘สุด สุด’ ที่ทำให้ต้องขุดพลังงานฟอสซิลทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินขึ้นมาใช้ อันเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะเรือนกระจก และเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยด่วน ก่อนที่จะสายเกินแก้

ด้าน องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือสูงมาก และหากไม่ถึงขั้นวิกฤต คงไม่ออกมาเตือนว่า สภาพอากาศของ พ.ศ. 2546 ทั้งในยุโรป อเมริกา และเอเชียมีความเลวร้ายอย่างน่าตระหนก สภาพอากาศที่เกิดขึ้นทั่วโลกมีทั้งที่อุณหภูมิที่สูงสุดและต่ำสุด ปริมาณฝนมากที่สุด และเกิดพายุมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ในหลาย ๆ ส่วนของโลก ซึ่งสอดคล้องกับการพยากรณ์เกี่ยวกับ ปัญหาโลกร้อน

เช่นเดียวกับรายงานลับที่เพนตากอนส่งถึงประธานาธิบดีบุช เมื่อต้นปี 2547 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกในอีก 20 ปีนับจากนี้จะเป็นหายนะครั้งใหญ่ของโลกยิ่งกว่าภัยจากการก่อการร้าย จะคร่าชีวิตผู้คนหลายล้านทั้งจากภัยธรรมชาติและสงครามเพื่อความอยู่รอด เมืองใหญ่ในยุโรปจะตกอยู่ในสภาวะอากาศแบบไซบีเรีย หลายเมืองสำคัญที่อยู่ริมฝั่งน้ำจะจมน้ำ เกิดความแห้งแล้งและอดอยาก จนนำไปสู่การจลาจลและสงครามในที่สุด

กระนั้น คำเตือนของผู้เชี่ยวชาญระดับโลกทั้ง 2 ชิ้น ก็ไม่ได้ทำให้ผู้นำประเทศสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย 2 ประเทศมหาอำนาจที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก คือรวมกันมากกว่า 1ใน4 ของโลกเปลี่ยนท่าที

พิธีสารเกียวโต: ความหวังครั้งใหม่?

ภายหลังการลงนามในอนุสัญญา ให้มีผลบังคับใช้ของพิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) ภายใต้อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nation Framework Convention on Climate Change, UNFCCC) หลังจากที่เจรจายาวนานกว่าค่อนทศวรรษ

ศรีสุวรรณ ควรขจร เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ซึ่งเฝ้าสังเกตการณ์การเจรจานับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ระบุว่า “ชาวโลกยังคาดหวังมันเกินฐานะที่เป็นจริง”

จากความมุ่งหวังอย่างยิ่งยวดที่จะให้ทุกประเทศต้องร่วมรับผิดชอบลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ แต่เป้าหมายกลับต่ำเตี้ยเพียงว่า ในช่วงที่หนึ่ง (ภายในปี 2555) กลุ่มประเทศอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนมากปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาแต่ครั้งปฏิวัติอุตสาหกรรม จนถึงปัจจุบันนานนับศตวรรษ จะต้องเป็นผู้นำการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงเพียง 5.2 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณที่ตนปล่อยในปี 2533 ส่วนประเทศกำลังพัฒนาซึ่งเริ่มปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ไม่กี่ทศวรรษมานี้ ค่อยไปร่วมรับผิดชอบลดการปล่อยในช่วงที่สอง ซึ่งยังไม่รู้ว่าเมื่อไร

ทั้งที่ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีข้อสรุปกันมาหลายปีก่อนการประชุมสุดยอดทางสิ่งแวดล้อม ได้ระบุว่า หากมนุษยชาติจะหลีกเลี่ยงหายนะภัยทางสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจกให้ได้นั้น ปริมาณการปล่อยต้องลดลงถึง 70-80% ไม่ใช่เพียงแค่ 5-6 % และต้องดำเนินการโดยเร็ว คือภายใน 1 - 2 ปีนี้ ไม่ใช่ค่อย ๆ ลดในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

แต่หลายปีที่ผ่านมา “ในการเจรจาต่อรองที่กลุ่มประเทศต่าง ๆ ต้องชิงไหวชิงพริบเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตน โดยประเทศอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายได้เปรียบด้วยความเหนือกว่า (ประเทศกำลังพัฒนา) ในกระบวนการเจรจาต่อรอง บวกกับอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมสูง เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเลียม ที่เริ่มเข้ามาครอบงำกระบวนการของการประชุม”

ผลที่ได้คือ เนื้อหาในพิธีสารที่อ่อนปวกเปียก และมองประเด็นการสร้างภาระต่อบรรยากาศที่ไม่เท่าเทียมกันนี้ว่าเป็นเรื่องชอบธรรม เพราะเขา ‘รวย’ เขาจึงมี ‘สิทธิ’ ทำได้ นั่นคือ อนุญาตให้ใครจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ก็ได้ ตราบเท่าที่เขาสามารถไปซื้อ ‘คาร์บอนเครดิต’ ที่เกิดจากการดูดกลับคาร์บอนด้วยวิธีการบางอย่าง หรือที่ในพิธีสารเรียกว่า กลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) เช่น การปลูกต้นไม้ซึ่งอ้างว่าจะดูดคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปเป็นเนื้อไม้หรือใบไม้ ดังนั้น โรงไฟฟ้าถ่านหินอยากจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ล้านตันต่อปีก็ปล่อยไป ตราบเท่าที่โรงไฟฟ้านั้นปลูกต้นไม้หลายพันต้น

วิธีการที่ว่านี้ไม่เพียง ‘ไม่แก้ปัญหา’ แต่ยังเพิ่ม ‘ความอยุติธรรม’ ด้วยการปล่อยให้ประเทศและคนที่ใช้พลังงานอย่างบ้าคลั่งลอยนวล โดยไม่ได้สร้างความตระหนักรู้ให้ผู้บริโภคว่า เขาต้องลดการใช้พลังงาน หากต้องการเห็นโลกดีขึ้น เพื่อลูกหลานในวันข้างหน้า แต่การปลูกต้นไม้นี้กลับนำไปสู่ปัญหาเรื่องการยื้อแย่งที่ดินและน้ำ โดยเฉพาะในประเทศซีกโลกใต้

ในเมื่อประเทศรวยอยาก ‘ผลาญ’ ต่อ ประเทศยากจนก็อยากได้เงินจากการขายคาร์บอนเครดิต สิ่งที่เราจะเห็นในไม่ช้าก็คือ รัฐบาลประเทศที่จ้องจะขายคาร์บอนเครดิตจะไล่คนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นออกจากแผ่นดินของตัวเอง ตัดป่าธรรมชาติเพื่อสร้างสวนป่าด้วยไม้ตัดต่อพันธุกรรม ระบบนิเวศถูกตัดตอนลดความซับซ้อน ความหลากหลายทางชีวภาพถูกทำลาย ฯลฯ

Carbon Trade Fair

“คาร์บอนกำลังจะเป็นสินค้าสุดฮอตในตลาดโลก และจะเป็นสินค้าที่มีตลาดใหญ่ที่สุดด้วย” นี่จึงไม่ใช่การวิเคราะห์ที่เกินเลยจากความเป็นจริง ผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมประชุมเกี่ยวเนื่องกับสาระของพิธีสารเกียวโตหลายครั้ง ต่างบรรยายความรู้สึกตรงกันว่า ไม่ใช่เวทีประชุมเพื่อแก้ปัญหา ภาวะโลกร้อน อีกต่อไปแล้ว แต่มันเป็นมหกรรมแสดงสินค้าที่เรียกว่า ‘คาร์บอน’ หรือ Carbon Trade Fair มากกว่า

กลุ่มเครือข่ายผู้สนับสนุนสิ่งเหล่านี้ต่างคุยว่า ด้วยโครงการปลูกป่าเพื่อ ‘คาร์บอนเครดิต’ จะเป็นการเพิ่มการลงทุนในชนบท ซึ่งสามารถช่วยลดความยากจนได้ ผู้อ่านลองไปดูกันเลยดีกว่าว่า ‘การหากินกับอากาศ’ ครั้งนี้ ใครได้ประโยชน์กันบ้าง

บรรษัทอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนมีพฤติกรรมและการลงทุนผูกติดอยู่กับการทำเหมืองและการบริโภคเชื้อเพลิงฟอสซิล พยายามขวางไม่ให้ตัวแทนสหรัฐผูกมัดตัวเองเข้ากับการลดการปล่อยแม้เพียงปริมาณน้อยนิด โดยในการเจรจาพิธีสารเกียวโต บรรดาบรรษัทเหล่านี้สั่งให้ตัวแทนสหรัฐและประเทศร่ำรวยอื่น ๆ ยืนยันที่จะต้องมีสิ่งแลกเปลี่ยน คือการยอมให้มีการแลกเปลี่ยนค้าขายสิทธิหรือเครดิตในการปล่อยได้ เพื่อเป็นหนทางหนึ่งที่จะลดให้ได้ตามเป้าหมาย พวกเขาให้เหตุผลว่า อย่างน้อยนี่จะเป็นการถ่วงเวลาหรือหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำธุรกิจ

บริษัทผลิตไฟฟ้า มองการปลูกป่าว่า เป็นวิธีการราคาถูก และง่ายที่จะโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้บริโภคเห็นว่า พวกเขากำลังลดอยู่ คณะกรรมการผลิตไฟฟ้าของเนเธอร์แลนด์ได้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในการดำเนินโครงการปลูกป่าไม้ซุงในรัฐซาบาห์ของมาเลเซีย และการปลูกป่าสนและยูคาลิปตัสในเทือกเขาแอนดีสของเอกวาดอร์ โตเกียวอีเล็คตริคพาวเวอร์กำลังปลูกต้นไม้ในนิวเซาธ์เวลส์ ดีทรอยท์เอดิสันกำลังทำในอเมริกากลาง และซาสก์พาวเวอร์ของแคนาดากับแปซิฟิกพาวเวอร์ของออสเตรเลียก็กำลังทำอยู่ในประเทศของตัวเอง (อย่าไปถามว่าพวกนี้ได้ที่ดินในการปลูกป่ามาอย่างไร พวกเขาทำลายป่าธรรมชาติก่อนสร้างสวนป่าหรือไม่ และมีผลกระทบอะไรบ้าง)

บริษัทพลังงาน ขาใหญ่อีกราย พวกเขายืนยันที่จะผลาญพลังงานต่อไป โดยหวังไถ่บาปด้วยการปลูกป่าแทน บริษัทอเมริกันที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เซ็นสัญญามูลค่า 20 ล้านเหรียญสหรัฐกับคอสตาริกา ที่จะจ้างชาวนาให้ปลูกต้นไม้และดูแลเป็นเวลา 15-20 ปี อเมราดาแก๊สกำลังจะได้รับยี่ห้อ ‘Climate Care’ จากการปลูกป่าที่อูกันดา, ซันคอร์อีเนอร์จี (บริษัทขุดเจาะ กลั่นและขายน้ำมันของแคนาดา) วางแผนที่จะร่วมกับเซาเธิร์นแปซิฟิกปิโตรเลียมและเซ็นทรัลแปซิฟิกมิเนอรัลส์ในโครงการปลูกต้นไม้พื้นเมืองมากกว่า 180,000 ต้นในรัฐควีนส์แลนด์เพื่อ ’ชดเชย’ กับคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะปล่อยออกมาในอนาคต

บริษัทรถยนต์ หวังได้ภาพลักษณ์สีเขียวโดยการปลูกต้นไม้ ในอังกฤษ ลูกค้าที่ซื้อรถมาสดารุ่นเดมิโอจะได้โบนัสพิเศษ คือบริษัทจะปลูกต้นไม้ 5 ต้นเพื่อ ‘ชดเชย’ ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะรถปล่อยออกมาในปีแรก ดังนั้นลูกค้ามีสตางค์ก็ไม่เพียงแต่มีส่วนในการขุดเจาะ กลั่นน้ำมัน ทำเหมืองโลหะกับช่วยปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการไล่รื้อที่ดินเพื่อใช้ในการปลูกป่าที่พวกเขาอาจไม่เคยได้เห็นอีกด้วย

บริษัทนายหน้าและธนาคาร คาดหวังที่จะได้ค่าคอมมิสชั่นจากการเป็นนายหน้าตามตลาดคาร์บอนที่จะเปิดในชิคาโก ลอนดอนกับซิดนีย์ องค์กรอย่างสหพันธ์กักเก็บคาร์บอนนานาชาติและอเมริกันฟอร์เรสท์ก็กำลังวางแผนการตลาดค้าคาร์บอนเครดิต ธนาคารอย่างยูเนียนแบงก์ของสวิตเซอร์แลนด์ก็กำลังรอปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการปลูกป่า

บรรดานักวิชาการเพื่ออุตสาหกรรม แนวโน้มต่าง ๆ เหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้มีการตั้งสถาบัน สร้างงานและเกียรติยศให้กับมืออาชีพจำนวนมากมายที่อยากทำวิจัย รับรอง และบริหารโครงการปลูกป่า บริษัทที่ปรึกษาต่าง ๆ สามารถกอบโกยผลประโยชน์ในการตรวจสอบและรับรองโครงการเหล่านั้น

องค์กรโลกบาล วางแผนที่จะกอบโกยจากการค้าคาร์บอน โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างการเมืองที่มีอยู่ในมือ ยกตัวอย่าง ธนาคารโลกหวังประโยชน์ 2 ทางจากการสนับสนุนการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิลในประเทศกำลังพัฒนา แล้วก็คอย ‘เก็บกวาด’ ทีหลังจากโครงการปลูกป่า แล้วก็ยังใช้เงินทุนสนับสนุนจากบริษัทไฟฟ้ากับรัฐบาลยุโรปเหนือเพื่อพัฒนา ‘กองทุนคาร์บอนต้นแบบ’ (Clean Development Fund-CDF) ที่มีจุดประสงค์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับ ‘ตลาดก๊าซเรือนกระจกของโลก’ และมีโครงการต่าง ๆ สำหรับประเทศทางใต้อยู่เต็มมือ โดยวางแผนจะผลักดันให้มีธนาคารคาร์บอนหรือตลาดแลกเปลี่ยนคาร์บอนขึ้นมา อีกทั้งในเอกสารลับยังระบุว่า จะกินหัวคิว 5 เปอร์เซ็นต์ จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา

นักทำไม้อาชีพ เล็งผลเลิศจากการกลับมาบูมของการปลูกป่าคราวนี้ว่า เป็นหนทางที่จะยกระดับอาชีพที่อยู่ชายขอบและต่ำต้อยทางการเมืองของตนให้มีความสำคัญและรุ่งเรืองขึ้นมาได้ เช่น สมาคมป่าไม้อเมริกันก็เสนอทันทีว่า จะปลูกต้นไม้ 100 ล้านต้นเพื่อบรรเทาปัญหา ที่นอร์เวย์ บริษัทป่าไม้ทรีฟาร์มส์ได้ประกาศโครงการปลูกสนโตเร็วและยูคาลิปตัสบนเนื้อที่ 150 ตารางกิโลเมตรของทุ่งหญ้าในแทนซาเนีย บริษัทอ้างว่าภายในปี 2553 โครงการนี้จะเก็บคาร์บอนได้มากกว่าหนึ่งล้านตัน

นักวิจัยวิศวกรรมพันธุศาสตร์ ก็ยังคาดหวังที่จะมีลู่ทางการงานในตลาดปลูกป่าด้วย เพราะอุตสาหกรรมคาร์บอนที่กำลังโตอยากได้ต้นไม้ดัดแปลงพันธุกรรมที่มีสารลิกนินสูงเพื่อต้นไม้จะได้อยู่นานขึ้น (แต่อาจต้องตบตีกับอุตสาหกรรมกระดาษที่อยากได้ไม้ดัดแปลงพันธุกรรมที่มีสารลิกนินต่ำ)

นักวิชาการ จากสถาบันอย่างมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์กกับมหาวิทยาลัยฟลอริดาก็กำลังขะมักเขม้นอยู่กับการหาวิธีรับรองและตรวจสอบการดูดซับคาร์บอน หรือแม้แต่นักวิชาการไทยด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อมท่านหนึ่งเคยกล่าวว่า “หากประเทศไทยรับโครงการ CDM แต่ละหน่วยงานจะต้องไปหาซื้อเซฟใหญ่มาเก็บเงินที่จะไหลมาเทมา”

เจ้าหน้าที่รัฐในประเทศซีกโลกเหนือ (อุตสาหกรรม) หลายประเทศก็พากันตามกระแสอย่างขมีขมัน อย่างรัฐบาลออสเตรเลียหวังว่าการตั้งตลาดต่อรองเรื่องใบอนุญาตการปล่อยกับคาร์บอนเครดิตจะกระตุ้นเศรษฐกิจ, รัฐมนตรีเกษตรของรัฐนิวเซาธ์เวลส์ก็ตื่นเต้นกับ ‘อุตสาหกรรมพลวัตใหม่’ ซึ่งจะสร้างงานในพื้นที่ปลูกป่าใหม่ ๆ นับล้านเฮกตาร์ เงินบางส่วนจะมาจากบริษัทผลิตไฟฟ้าญี่ปุ่น

รัฐบาลประเทศทางใต้ หลายประเทศก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะแข็งขืนกระแสการปลูกป่าได้ อาร์เจนตินาก็คิดว่าจะได้เงินปีละ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการ ‘ดูแลรักษาป่าที่ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์’ ซึ่งปลูกด้วยเงินลงทุนต่างชาติ 4 พันล้านเหรียญบนพื้นที่ 10 ล้านเฮกตาร์ ซึ่งตอนนี้ส่วนใหญ่เป็นทุ่งหญ้า รัฐมนตรีประเทศแอฟริกันราว 26 คนได้เรียกร้องให้มีกองทุนพิเศษเพื่อเตรียมการงานบริหารจัดการ

เอ็นจีโอบางกลุ่ม ซึ่งตั้งตัวเองเป็นนายหน้าคาร์บอนและผู้เชี่ยวชาญการดูดซับคาร์บอน ก็หวังว่าจะได้การยอมรับจากผู้สนับสนุนหรือเพื่อนพ้องในรัฐบาลและธุรกิจว่าเป็น ผู้สนับสนุนแนวทาง ‘ตลาดเสรี’ ที่กำลังเป็นกระแสหลักในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ส่วนกองทุนปกป้องสภาพแวดล้อมกับพันธมิตรป่าฝนได้ร่วมกับ Forestry Research Institute ในการช่วยตรวจสอบบัญชีโครงการป่าคาร์บอนของซัน คอร์ปอเรชั่นในอเมริกากลางและที่อื่น ๆ

เอ้า…เอากันซะให้พอ

ภาวะโลกร้อน ภาวะสิ้นหวัง

ขณะที่คนบางกลุ่มกำลังหากินกับ ภาวะโลกร้อน อย่างขมีขมัน โลกไม่ได้อยู่เฉยให้พวกเขากอบโกย เพราะ “ระเบิดเวลาทางนิเวศกำลังเดินต่อไป” จากหนังสือพิมพ์ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษ รายงานว่า ได้ถึงภาวะนับถอยหลังเข้าสู่หายนะอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยโลกอาจเข้าสู่จุดที่ไม่สามารถกลับตัวได้ ภายในเวลาไม่เกิน 10 ปี นี่ไม่ใช่คำทำนายของนอสตาดามุส แต่เป็นรายงาน ‘การเผชิญความท้าทายของสภาพอากาศ’ ผลงานร่วมของ 3 สถาบันคือ สถาบันเพื่อการวิจัยนโยบายสาธารณะของอังกฤษ ศูนย์เพื่อความก้าวหน้าของอเมริกา และสถาบันออสเตรเลีย รายงานระบุว่า จุดอันตรายจะส่งสัญญาณเมื่ออุณหภูมิสูงเกิน 2 องศาเซลเซียส เหนืออุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี 1750 ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

ขณะที่ในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยได้สูงขึ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว 0.8 องศา และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งผลที่จะเกิดตามมาจากการเพิ่มขึ้นต่าง ๆ เหล่านี้อาจรวมถึงความล้มเหลวทางการเกษตร ความแห้งแล้งครั้งใหญ่ ตลอดจนโรคระบาดชุกชุม ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และป่าไม้แห้งตาย ผนวกกับข่าวร้าย พืดน้ำแข็ง (ice sheet) ขนาดมหึมาในด้านตะวันตกของแอนตาร์กติก มีมวลน้ำแข็งถึง 3.2 ล้านลูกบาศก์กิโลเมตร ที่กำลังสูญเสียเสถียรภาพ ซึ่งหากละลายทั้งหมด จะยกระดับน้ำทะเลทั่วโลกให้สูงขึ้นอีก 16 ฟุต หรือ 4.8 เมตร และหากรวมกับน้ำแข็งที่กรีนแลนด์และขั้วโลกเหนือที่กำลังหลอมละลายอย่างรวดเร็ว จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นอีก 20 ฟุต หรือ 5-6 เมตร รวมเหนือใต้แล้วอาจทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 12 เมตร

ทำให้นักวิทยาศาสตร์บางส่วนรวมทั้งนักรณรงค์ปัญหาภูมิอากาศ…สิ้นหวัง ซึ่ง ผศ.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยามหิดล ถอนหายใจเมื่อได้ยินคำถามว่า จาก ภาวะโลกร้อน ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นในขณะนี้ เราจะทำอย่างไรกันดี

เห็นแบบนี้แล้วก็เหนื่อยใจนะคะ เพราะคนกลุ่มใหญ่หวังเพียงแต่ผลประโยชน์ที่มีต่อตนเองเท่านั้น แม้หนทางอาจดูสิ้นหวังซเหลือเกิน แต่ก็ไม่อยากให้ทุกคนท้อแท้นะคะ สองมือของเพื่อนๆ นี่แหละที่จะทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้น


Why World Hot หยุด! ภาวะโลกร้อน



Create Date : 27 กรกฎาคม 2551
Last Update : 27 กรกฎาคม 2551 1:25:24 น. 0 comments
Counter : 188 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

love earth
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




WE LOVE EARTH
บล็อกนี้ทำขึ้นเพื่อให้เพื่อนๆ ได้ศึกษาปัญหาสภาวะโลกร้อน ที่กำลังอินเทรนด์มั่กๆ ค่ะในตอนนี้ อยากรณรงค์ให้เพื่อนๆ ช่วยกันดูแลโลกของเราให้น่าอยู่ เราจะได้พ่งพาโลกกลมๆใบนี้ไปอีกนานๆ ดูแลโลก เป็นหน้าที่ของทุกคนนะคะ คนรุ่นใหม่ไม่ทำร้ายโลกค่ะ
ที่ปรึกษา# อาจารย์เสาวนีย์ สงวนศัพท์ present by # นรินทร มูลพรม, พจมาน จัทร์เกษ , วิมล ล้อมวงค์, ฑิมพิกา ทูลแรง
: Users Online
Friends' blogs
[Add love earth's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.