imagination is more important than knowledge.
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2553
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
20 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 

ประชาธิปไตยฝาท่อ




ใครๆ ที่ผ่านไปแถวลานพระราชวังดุสิต คงไม่พ้นที่จะต้องเงยหน้าชื่นชมพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือไม่ก็ยกมือไหว้พระบรมรูปทรงม้า แน่นอนทั้งสองอย่างสร้างขึ้นและตั้งตระหง่านอยู่ตรงนี้มานาน แสดงบารมีอันเป็นที่นับถือศรัทธาของคนไทยต่อสถาบันกษัตริย์ในฐานะผู้ปกครองสยามมายาวนาน

แต่มีใครสักกี่คนที่นึกถึงหรือรู้ว่า ณ สถานที่นั้นยังมีอีกสิ่งหนึ่ง สิ่งอันเป็นสัญลักษณ์ของเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในบ้านเมือง

มีใครสักกี่คนที่เมื่อผ่านไปแถวนั้นรู้ หรือระลึกถึงอนุสาวรีย์หนึ่งที่ฝังบนพื้นในรูปหมุด

หมุดประชาธิปไตย

พูดอย่างนี้ขึ้นมา อาจทำให้บางคนทำหน้าเหวอ... อะไรหว่า?

หมุดประชาธิปไตยเป็นหมุดทองเหลืองขนาดเล็กๆ สร้างขึ้นเมื่อหลังเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ เป็นหมุดแห่งการปฏิวัติที่ฝังไว้บนพื้นถนนด้านข้างลานพระบรมรูปทรงม้าฝั่งสนามเสือป่า ซึ่งเป็นตำแหน่งเดียวกับที่พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะปฏิวัติ ยืนอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ ๑ ต่อหน้าเหล่าทหาร

บนหมุดมีข้อความจารึกไว้ว่า

“ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ”

อนุสาวรีย์ในรูปหมุดชิ้นนี้ผ่านกาลเวลามายาวนานกว่า ๗๐ ปีแล้วหลังจากกลุ่มบุคคลหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า คณะราษฎร นำกำลังเข้ายึดอำนาจ และเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย

เมื่อแรกเริ่ม คณะราษฎรเกิดขึ้นจากกลุ่มคนเพียง ๗ คน คือ ๑. ร้อยโทประยูร ภมรมนตรี ๒.ร้อยตรีทัศนัย มิตรภักดี ๓. หลวงศิริราชไตรี ๔.นายปรีดี พนมยงค์ ๕. ร้อยโทแปลก ขีตตะสังคะ ๖.นายตั้ว ลพานุกรม ๗.นายแนบ พหลโยธิน เริ่มประชุมกันครั้งแรกที่หอพักแห่งหนึ่งบนถนน Rue do Sommerard ในฝรั่งเศส โดยทุกคนต่างตระหนักถึงความเสียหายของประเทศจากการปกครองโดยผู้ปกครองเดิม และเล็งเห็นความจำเป็นที่ประเทศต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตย มีรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุด เพื่อให้ราษฎรมีสิทธิมีส่วนในการปกครองและแก้ไขปัญหาของประเทศ

หลังทุกคนสำเร็จการศึกษากลับมา ก็เริ่มต้นเผยแพร่แนวความคิดประชาธิปไตย และหาแนวร่วมผู้มีอุดมการณ์ตรงกัน และคงด้วยสังคมไทยเวลานั้นเริ่มรับรู้การปกครองรูปแบบนี้บ้างแล้ว จึงทำให้การเผยแพร่อุดมการณ์ และแสวงหาพรรคพวกไม่ยากนัก

ในที่สุดก็ได้ผู้มีความคิดตรงกันและพร้อมร่วมเป็นร่วมตายราว ๑๑๕ คนทั้งจากฝ่ายทหารและพลเรือน ระดับแกนนำของกลุ่มได้เริ่มต้นประชุมวางแผนเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศ กระทั่งได้ความตกลงกันว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ จะเป็นวันกำหนดลงมือ



เช้าตรู่วันที่ ๒๔ กลุ่มนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของคณะราษฎรเริ่มต้นมุ่งหน้ายังหน่วยทหารสำคัญๆ ในพระนคร และลวงว่ากำลังเกิดขบถขึ้น ให้ผู้บัญชาการของหน่วยรีบนำทหารไปรวมกันที่ลานพระบรมรูป ด้วยความเป็นนายทหารผู้ใหญ่ ทำให้ผู้บัญชาการหน่วยทั้งหน่วยทหารยานเกราะ รถถัง เหล่านักเรียนนายร้อย ฯลฯ เกรงใจและหลงเชื่อนำกำลังมารวมกันตามคำสั่ง

และที่ลานพระบรมรูปนั้นเอง พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร ได้อ่านประกาศการเปลี่ยนแปลงการปกครองให้ทหารทั้งหลายฟัง เพื่อขอให้ร่วมกันทำภารกิจอันสำคัญยิ่ง ดังความตอนหนึ่งในประกาศ

“...เพื่อนทหารและพี่น้องทหารทั้งหลาย ในการที่ได้มาประชุมร่วมกันในวันนี้ ต้องถือได้ว่าเป็นวันศุภนิมิต และเป็นวันอันสำคัญของประวัติศาสตร์ ที่เราจะต้องร่วมกันเป็นร่วมกันตาย ร่วมกันกู้ชาติ กู้ประเทศ เพื่อทำการปฏิวัติพลิกแผ่นดิน โดยเข้ายึดพระมหานคร และจับตัวเจ้านายและบุคคลสำคัญไว้เป็นตัวประกันเพื่อประเทศชาติ จึงหวังว่าเราจะต้องช่วยกันเพื่อประโยชน์ของบ้านเมืองและเอกราช ตลอดจนเสรีภาพของปวงชนทั้งหลาย ขอให้ทุกคนจงปฏิบัติการโดยเคร่งครัด เพื่อประเทศและบ้านเมืองของเราที่จะอยู่รอดต่อไป”




แล้วพระยาพหลฯ ก็ถามเหล่าทหารทั้งหลายว่า

“ท่านผู้ใดเห็นด้วยกับคณะทหารบก ทหารเรือและพลเรือนแล้ว ขอให้ก้าวเท้าออกมาข้างหน้าหนึ่งก้าว”

หลังจากนั้นทหารกว่าสองพันนายก็ตบเท้าก้าวออกมา แม้หลักฐานที่เขียนขึ้นจากแต่ละฝ่ายยังไม่ตรงกันนักถึงสาเหตุการยินยอมร่วมมือของเหล่าทหาร ว่ามาจากความเต็มใจหรือถูกบังคับ แต่ที่เชื่อได้คือทหารเหล่านั้นได้แบ่งกำลังเข้ายึดจุดสำคัญต่างๆ จนสามารถยึดอำนาจการปกครองได้ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงนับแต่นั้น


๓ วันถัดมา ประเทศไทยก็มีรัฐธรรมนูญฉบับแรก รัฐธรรมนูญที่ประกาศว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองเป็นของประชาชน และทุกคนในประเทศมีความเท่าทียมกัน

๒๔ มิถุนายนจึงเป็นวันสำคัญของประชาธิปไตยไทย

ประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกส่งผ่านสู่คนรุ่นต่อมา ผ่านทางหลายรูปแบบ ทั้งตำราเรียน บันทึก นวนิยาย ฯลฯ และทางหนึ่งก็ผ่านทางอนุสาวรีย์รูปหมุดชิ้นนี้

อนุสาวรีย์รูปหมุดมิใช่เรื่องแปลกประหลาด ในต่างประเทศน่าจะมีให้เห็นได้ไม่ยาก ข้อดีของอนุสาวรีย์ลักษณะนี้ ก็คือผู้คนสามารถเข้าถึง เข้าไปสัมผัสอดีตได้โดยตรง จึงสร้างความใกล้ชิดเพื่อรับสารที่ผู้สร้างต้องการสื่อผ่านหมุดได้ง่าย ทว่าสำหรับหมุดประชาธิปไตยของไทยชิ้นนี้ ดูจะล้มเหลวในการกระทำอย่างที่ว่า เหตุหนึ่งคงไม่พ้นเพราะเป็นหมุดที่อยู่กลางถนน ไม่มีใครยินดีเสี่ยงชื่นชมอนุสรณ์แห่งประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยท่ามกลางรถเมล์ แท็กซี่ ที่เหยียบกันไม่ช้าไปกว่าตามถนนเส้นอื่น

ดังนั้นสารที่คณะราษฎรต้องการบอกมาถึงชนรู้หลังผ่านทางหมุดชิ้นนี้ จึงแทบไม่หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน หรืออย่างน้อยผู้คนปัจจุบันก็ไม่มีโอกาสเข้าไปรับสารนั้นได้โดยสะดวก

อีกทั้งการที่หมุดฝังอยู่บนพื้นลานพระราชวังดุสิต อันมีพระบรมรูปทรงม้าและพระที่นั่งอนันตสมาคมตระหง่านอยู่เบื้องหน้า เมื่อทั้งสองสิ่งนี้ไม่มีอดีตร่วมกับหมุดประชาธิปไตย จึงไม่แปลกที่แทบไม่มีใครมองเห็น หรือเลือกมองหาหมุดสำคัญชิ้นนี้เลย

หมุดร่วมสมัยประวัติศาสตร์การปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยจึงถูกมองข้าม แม้คำ ประชาธิปไตย ยังปลิวว่อนอยู่ทุกหัวระแหง มีให้ได้ยินกันทุกวันทั้งจากคนรอบข้างและจอโทรทัศน์ แต่รากฐานการเกิดขึ้นดูเหมือนได้รับการพูดถึงน้อยลงทุกที

ส่วนหนึ่งก็เพราะสื่อที่นำสารจากอดีต ไม่อยู่ในสายตาและความรับรู้ หรืออย่างน้อยก็ถูกทำให้ลดคุณค่าลง

หมุดประวัติศาสตร์ในวันนี้จึงกลายเป็นเพียงฝาท่อระบายน้ำมีลวดลาย สำหรับให้คนมองแกมสงสัยเวลานั่งรถเมล์ผ่านลานพระราชวังดุสิตเท่านั้นเอง


*******


จากคอลัมม์ กรุสยาม โดย ส. วินิจฉัยกุล ในวารสารแม็ก ฉบับที่ 1 มิถุนายน 2552




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2553
2 comments
Last Update : 29 ตุลาคม 2553 15:29:05 น.
Counter : 2739 Pageviews.

 

เพราะมันถูกทำให้กลายเป็นฝาท่อ

จึงถูก "เหยียบย่ำ" ได้ง่ายๆ ค่ะ

เศร้าใจแท้

 

โดย: น้ำตาลกรวดรูปแมว 15 พฤศจิกายน 2553 1:32:31 น.  

 

อย่าเศร้าใจคับ มนุษย์เราอยู่ได้ด้วยความหวัง.....

 

โดย: ส. วินิจฉัยกุล IP: 111.84.147.198 15 พฤศจิกายน 2553 10:24:55 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


มณีมรกต
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




สนทนา สอบถาม แลกเปลี่ยนความเห็นทางประวัติศาสตร์ หรือเรื่องอื่นๆ ได้ ณ ที่นี้
Friends' blogs
[Add มณีมรกต's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.