ด้วยพระนามของอัลเลาะห์ผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ
Group Blog
 
 
ธันวาคม 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
15 ธันวาคม 2550
 
All Blogs
 
สายอ่อน - สายแข็ง




โดย อัล อัค


เราอาจจะเข้าใจผิดไปมาก ถ้าเราเข้าใจง่ายๆว่า มุสลิมะฮฺที่คลุมหน้าคือคนที่สุดโต่ง หรือการกั้นม่านในการประชุมในองค์กรมุสลิมบางแห่งเป็นความสุดโต่ง ... แต่ความสุดโต่งที่แท้จริงมิได้อยู่ในการปฏิบัติศาสนาแบบเข้มงวด แต่อยู่ที่การ “บังคับ” ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้คนอื่นๆปฏิบัติศาสนาในความเข้าใจของตนเอง โดยที่ความเข้าใจนั้นๆยังมีความแตกต่างกันในหมู่ปราชญ์อิสลามชั้นแนวหน้าอยู่ ...

หากว่าเป็นประเด็นที่ถือว่าเป็น “อิจญมาอฺ” หรือเป็นมติเอกฉันท์ เช่น เรื่องความจำเป็นต้องละหมาด 5 เวลา ... แล้วคนใดคนหนึ่งไปเรียกร้องให้คนอื่นๆปฏิบัติตาม รูปแบบนี้ไม่เรียกว่าความสุดโต่ง
แต่ความสุดโต่ง เกิดจากการไปกำหนดให้คนอื่นๆให้เหมือนกับตนเองในเรื่องความเข้าใจในมุมมองที่แตกต่างกัน เช่น หากว่านักวิชาการระดับนำของโลกมุสลิมยังมีข้อคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องฮิญาบว่า จะปิดหน้าหรือเปิดหน้า หรือจะปิดตาหรือเปิดตา(กรณีการปิดหน้าด้วยกัน) แล้วยังมีมุสลิมะฮฺที่ปฏิบัติตามทรรศนะหนึ่งไปบังคับ(ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม)ให้มุสลิมะฮฺคนอื่นๆปฏิบัติเหมือนตน นี่คือความสุดโต่ง ...
นอกจากนี้ ไม่จำเป็นว่าคนที่ไปกดดันคนอื่นจะเป็นสายแข็งกว่าเสมอไป เป็นไปได้ว่าคนที่บังคับคนอื่นให้ทำตามอาจเป็นทรรศนะสายอ่อน(กว่า) ... ทั้งสายอ่อนและสายแข็งจึงมีโอกาสกลายเป็นคนสุดโต่งได้อย่างเท่าเทียมกัน


สายอ่อนในที่นี้หมายถึง คนที่พอใจที่จะปฏิบัติตามกรอบของศาสนาที่ผ่อนปรน ซึ่งง่าย(ไม่ใช่มักง่าย)กับตัวเอง ถือตามเจตนารมณ์ที่ได้จากตัวบท สายแข็งในที่นี้หมายถึง คนที่พอใจที่จะใช้ชีวิตในกรอบของศาสนาอย่างเข้มงวดกับตัวเอง ซึ่งทั้งสองทิศทางนี้ได้มาจากฟัตวาของอุละมาอ์มุจญตะฮิดด้วยกันทั้งสิ้น และลักษณะทั้งสองแบบเช่นนี้ เป็นธรรมชาติที่แตกต่างกันในตัวมนุษย์


ในบรรดาเศาะฮาบะฮฺท่านนบี เราจะพบคนที่มีบุคลิกที่แตกต่างทั้งสองแบบนี้ เช่นระหว่าง ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ กับท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ เล่ากันว่าขณะที่ท่านทั้งสองไปทำฮัจญฺ ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร จะทำทุกอย่างตามที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม ได้เคยทำ จนกระทั่งท่านต้องเบียดเสียดกับฮุจญาตจากอัฟริกาเพื่อเข้าไปจูบหินดำ แม้ว่าจะทำให้ได้รับบาดเจ็บก็ตาม แต่เมื่อท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อับบาส เห็นคนแออัดเช่นนั้น ท่านก็ไม่ได้เข้าไป ท่านเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องทำกันถึงให้เลือดตกยางออก
ธรรมชาติสองแบบนี้พบได้แม้กระทั่งในพี่น้องที่คลานตามกันมา ดังในกรณีของนบีมูซา อะลัยฮิส สลาม ที่มีบุคลิกแข็งกร้าวกับพี่น้องของท่านคือนบีฮารูน อะลัยฮิส สลาม ที่มีบุคลิกนุ่มนวล หรือกรณีความแตกต่างระหว่างท่านฮะซัน เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ และฮูซัยนฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ หลานรักทั้งสองของท่านนบี ท่านฮะซันนั้นมีลักษณะประนีประนอม โดยละทิ้งตำแหน่งคอลีฟะฮฺ ทั้งที่ท่านได้รับการบัยอะฮฺมาแล้ว เพื่อเอกภาพของประชาชาติ แต่ท่านฮุซัยนฺนั้นเป็นคนยอมหักไม่ยอมงอ จนกระทั่งทำให้ท่านและครอบครัวถูกสังหารกลายเป็นชะฮีดในที่สุด


แต่ต้องย้ำในที่นี่เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็คือ ไม่ว่าสายอ่อนหรือสายแข็งที่ว่ามานี้ ต่างก็ปฏิบัติตาม “กรอบของศาสนา” ไม่ใช่สายอ่อนสายแข็งตามความเข้าใจของหลายๆคนที่ว่า สายอ่อนก็คือ คนที่หละหลวมในการปฏิบัติศาสนา ไม่ได้สนใจขอบเขตการห้ามระหว่างชายหญิง ไม่ได้สนใจในเวลาละหมาด เช่นเดียวกันสายแข็งก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เคร่งเกินกว่าที่นบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัม กำหนดเอาไว้ อย่างเห็นการพูดคุยระหว่างชายหญิงเป็นสิ่งฮะรอมทุกกรณี ...
ลักษณะที่ละเลยจนหย่อนยานและเคร่งจนคลั่งนั้น ไม่ได้อยู่ในกรณีที่เรากำลังพูดกันถึงกันอยู่ ท่านฮะซัน อัลบัศ รียฺ ได้กล่าวว่า “ศาสนานี้(อิสลาม)อยู่ระหว่างพวกที่เลยเถิดกับพวกที่หย่อนยาน”
สาเหตุความสุดโต่งจึงอยู่ที่ทรรศนะและความเข้าใจในอิสลามที่ไม่ครบสมบูรณ์ การขาดความรู้เรื่อง “กรอบของศาสนา” จนก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า สิ่งที่ตนยึดถืออยู่เป็นความตายตัวในการปฏิบัติศาสนา


พวกเราที่เคร่งครัดบางคนห้ามปรามมุสลิมะฮฺไม่ให้ไปมัสญิด หรือไปร่วมการรับฟังความรู้ที่จัดขึ้นโดยองค์กรต่างๆ ด้วยความซีเรียส กลัวว่าจะทำบาปเรื่องการปะปนระหว่างชายหญิง แต่ขณะเดียวกันพวกเราได้แต่มองดูเด็กมุสลิมะฮฺเข้าโรงหนัง โดยหมดปัญญาที่จะไปห้ามปรามอะไรได้เลย
ในทำนองเดียวกัน พวกเราอีกกลุ่มหนึ่งกลับพูดจาดูถูกผ้าคลุมหน้าของมุสลิมะฮฺ กล่าวหาว่าใช้เฉพาะในทะเลทรายบ้าง มาจากคริสเตียนบ้าง เมื่อไปที่ใดที่มีการกั้นม่านแบ่งแยกชายหญิงก็แทบจะทำใจรับไม่ได้ ...


ปรากฏการณ์เหล่านี้เกิดจากการละเลยต่อเนื้อหาคำสอนอิสลามที่เป็นระบอบระเบียบ ขาดความเข้าใจกรอบของการปฏิบัติที่แตกต่างกัน และการไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องที่จำเป็นกว่า ดังมีเหตุการณ์แปลกประหลาดหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคม เช่นมีพี่น้องบางท่านถกเถียงกันอย่างเอาเป็นเอาตายในเรื่องการรับประทานอาหารว่าจะใช้ช้อนหรือมือ หรือประเด็นว่าจะรับประทานแยกจานหรือใช้ถาดรวม แม้แต่เรื่องที่มีคนเสนอว่าให้นั่งฟังบรรยายบนพื้นดีกว่านั่งเก้าอี้ โดยอ้างว่าเป็นซุนนะฮ หรือบางครั้งมุสลิมะฮฺที่มารับฟังความรู้ แต่แต่งกายยังไม่ถูกต้องตามหลักการอิสลาม ถูกตำหนิจากคนที่เคร่งครัด ทั้งที่เธอเพิ่งหันมาสนใจอิสลามเมื่อไม่กี่วันมานี่เอง
ฉะนั้น บางครั้งการเอาแต่เข้มงวดกับหลักการบางข้อ การกำหนดรูปแบบการปฏิบัติของตนให้คนอื่นๆ โดยไม่รู้จักลำดับความสำคัญและการรักษาประโยชน์ในการทำงานเพื่ออิสลามก็เป็นการทำลายโอกาสที่ดีๆในการดะอฺวะฮฺไปอย่างน่าเสียดาย
ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะ ซัลลัมได้เตือนเอาไว้ว่า “พวกท่านจงระวังความเกินเลย แท้จริงผู้คนก่อนหน้าพวกเท่าได้พินาศไปแล้ว เนื่องจากความเกินเลยในเรื่องศาสนา” (รายงานโดยนะซะอียฺ, อิบนุ มาญะฮฺ, อะหฺมัด)


การทำตัวให้อยู่ในสายกลางเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่ต้องเริ่มจากการผูกติดตัวเองเข้ากับการศึกษาหาความรู้ในอิสลามอย่างต่อเนื่อง อย่างจริงจัง อย่างมีแบบแผน มีขั้นตอน และตลอดไป เพราะความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งที่มีต่อศาสนา ทำให้เรารับรู้ขอบเขต เงื่อนไข ในภาวะที่แตกต่างกันได้
ทางสายกลางนั้นอยู่กับความรู้ ส่วนความสุดโต่งนั้นคู่กับความบกพร่องในความรู้ !!!







Create Date : 15 ธันวาคม 2550
Last Update : 15 ธันวาคม 2550 0:40:08 น. 0 comments
Counter : 428 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

inyus
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




**หากยังมีเวลาที่คิดท้อ เอาเวลาที่ว่ามาใช้สร้างประโยชน์ดีกว่า**
Friends' blogs
[Add inyus's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.