ข้าคือ...... " อ้ า ย จั น ! " I'm Jan The Man
Group Blog
 
 
มกราคม 2549
 
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
23 มกราคม 2549
 
All Blogs
 

โบราณคดีและหลักฐานทางโบราณคดี



โบราณคดี หมายถึง การศึกษาของโบราณทั้งที่เป็นโบราณวัตถุและโบราณสถาน โดยอธิบายผลแห่งการกระทำของโบราณนั้นได้ โบราณคดีจะเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องอาศัยการสันนิษฐาน การปะติดปะต่อเรื่องราว และไม่อาจยืนยันเป็นความจริงได้

โบราณคดี อาจหมายถึง การศึกษากิจกรรมของมนุษย์ในอดีตกาล ไม่ใช่การศึกษา พฤติกรรม แต่อาจตีความพฤติกรรมได้

โบราณคดีเป็นได้ทั้งศาสตร์ และศิลปะ กล่าวคือเป็นการศึกษาพิจารณาหาเหตุผลจากพยานหลักฐาน มีวิธีวิจัยและรวบรวมข้อมูลเป็นระบบแต่วิธีการรวบรวมข้อมูล และการเก็บรักษาข้อมูลเป็นงานศิลปะที่ต้องฝึกหัดและมีความชำนาญการเพียงพอ

โบราณคดีเป็นศาสตร์ที่พัฒนาการมายาวนานในยุโรป เนื่องมาจากความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับกำเนิด และที่มาแห่งบรรพบุรุษ เรื่องโบราณคดี จึงมีความพยายามที่จะย้อนไปถึงสมัยกรีก - โรมัน เมื่อประมาณ ๓๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ในยุคนี้เป็นเพียงการขุดพบและเก็บสะสม “ของเก่า” ที่สวยงาม แปลกประหลาด และหายาก ในขณะที่แนวความคิดเรื่องอดีตกาลของมนุษย์ยังวางอยู่บนพื้นฐานของเทววิทยา ตรรกวิทยา และปรัชญา ต่อมาเมื่ออาณาจักรโรมันเสื่อมอำนาจลง แนวความคิดเปลี่ยนไปจากตรรกศาสตร์และปรัชญาแบบกรีก ไปสู่คริสต์ศาสนา การศึกษาความเป็นมาของมนุษยชาติจากการค้นคว้าศาสตร์ต่าง ๆ หยุดชงักภายใต้กรอบจารีตทางศาสนาบนรากฐานของพระคัมภีร์ การสะสมของเก่ากลายเป็นกิจกรรมของวัดและวัง
ในยุคแห่งการสำรวจดินแดนในคริสตศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๓ จากการพบคนที่มีลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป ก่อให้เกิดคำถามที่พระคัมภีร์ไม่อาจตอบได้ การพบวัฒนธรรมบางแห่งก็เจริญสูงกว่าที่ชาวยุโรปจะยอมรับได้ว่ามีจริง การพบแหล่งโบราณคดีใหม่ ๆ มีการพัฒนาการขุดค้น การสะสมของโบราณขยายวงกว้างขึ้น และเริ่มหันมาสนใจเรื่องราวของของโบราณนั้น การสะสมของเก่าเปลี่ยนจากงานอดิเรกมาเป็นอาชีพ การศึกษาโบราณวัตถุมีสอนตามมหาวิทยาลัย และเกิดสมาคมขึ้นอย่างกว้างขวาง เป็นการอาศัยบันทึกทางประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ศิลปะเพื่อควบคุมมิติเวลา
การค้นพบโลกใหม่โดยโคลัมบัส ทำให้เกิดการศึกษาประวัติชาติพันธุ์ในแนวมานุษยวิทยา เกิดแนวคิดว่ามนุษย์มีแหล่งกำเนิดหลายแหล่ง และมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นสืบสายร่วมกันกับอดัมและอีฟ หลักฐานทางวัฒนธรรมล้วนแต่เป็นหลักฐานแบบก่อนประวัติศาสตร์ โทมัส เจฟเฟอร์สันบิดาแห่งโบราณคดี อเมริกาขุดค้นเนินฝังศพอินเดียนในรัฐเวอร์จิเนียร์ เป็นงานสนามที่มีระบบ ศึกษาชั้นดิน โครงกระดูก และหลักฐานต่าง ๆ ในแต่ชั้นดิน และความสนใจเรื่องก่อนประวัติศาสตร์นี้ได้แพร่ไปยังยุโรปเหนือ จนกระทั่ง ค.ศ.๑๘๓๓ จึงเกิดคำว่าก่อนประวัติศาสตร์
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ เป็นยุคแห่งภูมิปัญญา ทั้งทางด้านดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ปรัชญา สังคม ชีววิทยา งานโบราณคดีพัฒนาขึ้น การศึกษาชั้นดินได้นำไปสู่ข้อมูลที่เกี่ยวกับมิติเวลาซึ่งต่อมาเป็นกฏแห่งการทับถม (Law of Superposition) ในทางฝ่ายศาสนจักรพยายามกำหนดอายุว่าโลกสร้างขึ้น ๒๓ ตุลาคม ๔๐๐๔ ปีก่อนคริสตกาล
คริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เค้าโครงประวัติศาสตร์อยู่บนพื้นฐานการแบ่งยุคสมัยเชิงเศรษฐกิจสังคม แต่นักโบราณคดียังคงยึดการแบ่งยุคสมัยเชิงเทคโนโลยีซึ่งสืบทอดมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมัน จนถึงการแบ่งยุคไตรยุคของสแกนดินาเวีย ศาสนจักรเปลี่ยนแนวคิดอ้างหลักฐานซากสัตว์สูญพันธ์ที่พบเป็นการลงโทษจากเบื้องบนอันเป็นแนวคิดแบบ Catastrophism โดยยังยึด ๔๐๐๔ ปีก่อนคริสตกาล รูปแบบพืชสัตว์ใหม่ ๆ ถูกสร้างขึ้นมาใหม่
ในขณะที่เกิดทฤษฏี ๔๐๐๔ ปีก่อนคริสตกาล แสดงกฏการทับถมทางธรณีวิทยา แต่ยังไม่สามารถอธิบายการแยกสายพันธ์ และการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยา (วิวัฒนาการ) จนกระทั่งเกิดแนวคิดทางวิวัฒนาการในกลางคริสตศตวรรษที่ ๑๙
คริสตศตวรรษที่ ๒๐ เป็นยุคแห่งการค้นพบแหล่งโบราณคดี และหลักฐานสำคัญ ๆ ต่าง ๆ มากมาย เช่น ชุมชมทะเลสาปในสวิส(Swiss Lake Dweller) มนุษย์โครมันยอง (Cromagnon) เมืองทรอย มนุษย์ชวา การกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ การควบคุมมิติเวลากลายเป็นประเด็นสำคัญ เกิดการพยายามใช้ การจำแนกหลักฐาน(Typology)ควบคุมกาลเวลา การจำแนกระบบยุคสมัยทางเทคโนโลยีพัฒนาไปสู่การจำแนกโดยเศรษฐกิจสังคม แต่ก็ยังยึดแบบแรกพัมนาการต่อมาเป็นทฤษฏีการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมกับการอพยพ และต่อมาจึงปรับประเด็นมาศึกษาเชิงนามธรรม(Deductive) เช่น ระบบครอบครัว ระบบเครือญาติ สังคมการปกครอง ฯลฯ โดยการตีความจากหลักฐาน และ New Archaeology ซึ่งเป็น “ศึกษาเพื่อเข้าใจกระบวนการวัฒนธรรม รู้เรื่องอดีตให้สามารถนำไปใช้นอกจากด้านมานุษยวิทยา แต่กว้างไกลออกไป สามารถวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของระบบทางวัฒนธรรม และการมองภาพรวมทางวัฒนธรรม บนพื้นฐานเชิงนิรนัย”


โบราณคดีในประเทศไทย
ประเทศไทยเริ่มจากความสนใจเกี่ยวกับกำเนิดและความเป็นมาของบรรพบุรุษ ปรากฎในรูปของตำนานพื้นบ้านตามแนวฮินดู - พุทธ กับแนวความเชื่อท้องถิ่น ฯลฯ ในการทำนุบำรุงดูแลรักษาจะเป็นซึ่งเป็นสำนึกในเชิงศาสนา เช่น การรวบรวมชิ้นส่วนพระพุทธรูปหินมาซ่อม การบูรณะวัด การขุดดูฐานสิ่งก่อสร้างในวัด การออกกฎหมายควบคุม เช่น
กฎหมายตราสามดวงสมัยรัชกาลที่ ๑ กำหนดโทษในการทำลายโบราณสถาน โบราณวัตถุในพระศาสนา

ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๓ ยังไม่แยกวิชาประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดี ขอบเขตของการศึกษาเฉพาะสมัยประวัติศาสตร์ตั้งแต่สุโขทัยเป็นต้นมา มีการใช้ประวัติศาสตร์และประวัติศาสตร์ศิลปะควบคุมมิติเวลา (Temporal control) และใช้โบราณสถานและที่พบโบราณวัตถุควบคุมมิติสถานที่ (Spatial control) แบบเดียวกับยุคเรอเนสซองส์ในยุโรป เทคนิคภาคสนามเป็นการสำรวจแหล่ง โดยการขุดชันสูตรเช่นการขุดองค์พระปฐมเจดีย์ที่นครปฐม และการเก็บโบราณวัตถุ ซึ่งรวมถึงการเก็บจารึกอันเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์นอกเหนือจากการเก็บศิลปวัตถุ ผลงานสนามนำไปสู่การแปลความในรูปความเห็นส่วนบุคคล การศึกษาและการสะสมยังคงเป็นงานอดิเรกของเจ้านาย แต่จะเน้นการศึกษาของเก่ามากกว่าสะสมของเก่า

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เริ่มการขุดแต่ง - บูรณะพระปฐมเจดีย์ ออกกฏหมายควบคุมมิให้ขุดวัดหาทรัพย์สิน และเริ่มรวบรวมโบราณศิลปวัตถุ ที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์ ในปี ๒๔๐๒

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อเกิดคดีนายรัสต์มานน์ ลักลอบตัดพระกรพระเศียรพระศิวะไปเยอรมัน เมื่อตามกลับมาได้ โปรดฯ ให้รวบรวมศิลปวัตถุหัวเมืองมาไว้ในกรุงเทพฯ ทรงจัดตั้งหอมิวเซียมขึ้นที่พระที่นั่งสหทัยสมาคม (หอคอเดเดีย) ตั้งภัณฑรักษ์(ผู้ดูแลกิจการพิพิธภัณฑ์)คือนายทัด ศิริสัมพันธ์ (พลโท พระยาสโมสรสรรพการ) ในปี พ.ศ.๒๔๓๑ จึงได้ตั้งกรมพิพิธภัณฑ์ โดยมีพระเจ้าน้องยาเธอพระองค์เจ้าไชยานุชิต ทรงเป็นอธิบดี ในวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ โปรดฯให้ตั้งโบราณคดีสโมสร เพื่อศึกษาเรื่องราวเก่า ๆ และใช้เอกสารเป็นหลักในการค้นคว้า แต่ไม่มีการสืบทอดแนวการศึกษา โดยใช้หลักฐานโบราณวัตถุและโบราณสถานดังที่เคยทำกันมาในรัชกาลก่อน

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ ตั้งกรรมการหอพระสมุดสำหรับพระนคร รับผิดชอบดูแลโบราณสถาน โบราณวัตถุ ตรวจตรารักษาของโบราณ โดยแบ่งเป็นแผนกวรรณคดี แผนกโบราณคดี และแผนกศิลปากร
ในช่วงที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อทรงเข้าดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มงานโบราณคดีในระบบราชการโดยแฝงไว้กับงานเทศาภิบาล ทรงสำรวจแหล่งโบราณคดี

ในช่วงยุคของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง โบราณคดีเริ่มเป็นวิชาชีพ เป็นราชการ มีพระราชบัญญัติคุ้มครองโบราณวัตถุ จากการตั้งราชบัณฑิตสภา ทำให้โบราณคดีและประวัติศาสตร์แยกจากกันในการศึกษาค้นคว้า แต่แนวคิดทฤษฏีและองค์ความรู้ยังคงเดิม ประวัติศาสตร์ศิลปะมีบทบาทมากโดยเฉพาะเมื่อ ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ เข้ามาจัดแบ่งยุคสมัย และจัดพิพิธภัณฑ์ใหม่ และประวัติศาสตร์ศิลปะนอกจากจะคุมมิติเวลาแล้วกลายเป็นเนื้อหาหลักของโบราณคดี มีงานขุดค้น ขุดแต่ง ปรากฎชัด เช่น การขุดวัดพระศรีสรรเพชญ์ โดยพระยาโบราณราชธานินทร์ และพระยาโบราณนรานุรักษ์ โดยมีการกำหนดวิธีการชัดเจน ขยายเพดานความรู้ถึงทวาราวดี มีการจำแนกรูปลักษณะของโบราณวัตถุโดยให้ความสำคัญการจัดยุคสมัย มีการอบรม ศึกษา และแลกเปลี่ยนแนวคิด
พ.ศ. ๒๔๕๕ - ๒๔๗๔ มีการสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยหลายครั้งโดยชาวต่างประเทศเพื่อศึกษาวิวัฒนาการของมนุษย์

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง โบราณคดีพัฒนาขึ้นมาก มาสู่โบราณคดีอย่างแท้จริง จากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีการศึกษาอบรม ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ เปิดสอนวิชาโบราณคดีในโรงเรียนศิลปศึกษา ซึ่งต่อมาในปี ๒๔๙๘ เป็นคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร งานเทคนิคภาคสนามเป็นแบบแผน และแม่นยำขึ้น มีเทคนิคการค้นคว้ายังคงเป็นอุปนัย คือเอาหลักฐานมาสรุปตามระบบราชการมากกว่าเป็นนิรนัย คือการศึกษากว้าง ๆ เพื่อลักษณะเฉพาะมาตั้งสมมติฐานและหาหลักฐานมาสนับสนุน การแปลความสุดแต่หลักฐานจะพาไป มีการรวบรวมข้อมูลมาก แต่ไม่ปรากฎการพัฒนาแนวความคิดและทฤษฏี แนวคิดเกือบทั้งหมดเป็นตะวันตก และประวัติศาสตร์ศิลปะมีบทบาทมาก ในส่วนของเอกชนก็ได้เกิดองค์กรขึ้นคือ สยามสมาคมซึ่งเป็นองค์กรส่งเสริมการศึกษาวิจัยทางด้านศิลปศาสตร์ใน พ.ศ.๒๔๗๗


สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เสด็จทรงงานที่ ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์



การแบ่งยุคสมัยทางโบราณคดี
ยุคสมัยทางโบราณคดีเป็นการต่อเนื่องของยุคสมัยในประวัติศาสตร์การเกิดโลก ในช่วง ๔,๖๐๐ ล้านปีจนถึงปัจจุบัน โดยเป็นส่วนประกอบของยุคสมัยทางธรณีวิทยา และยุคสมัยทางโบราณชีววิทยา ซึ่งพอจะกล่าวถึงโดยสังเขปได้ดังนี้
ยุคสมัยทางธรณีวิทยาและโบราณชีววิทยา
๑. มหายุคพรีแคมเบรียน (Pre Cambrian)
๑.๑ ยุคอาร์เคโอโซอิก(Archaeozoic) อายุประมาณ ๓,๐๐๐ ล้านปี สภาพของโลกเป็นภูเขามากขึ้น เกิดชีวิตชั้นต่ำ สาหร่ายทะเลสีเขียวคราม
๑.๒ ยุคโปรเทอโรโซอิก(Proterozoic) อายุประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านปี ระดับน้ำทะเลลดลง ปรากฎแผ่นดินมากขึ้น สัตว์ชั้นต่ำ สาหร่ายทะเล
๒. มหายุคพาเลโอโซอิก(Palaeozoic)
๒.๑ ยุคแคมเบรียน(Cambrian) อายุประมาณ ๖๐๐ ล้านปี สาหร่ายทะเลเพิ่มมากขึ้น สัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง มีการพบซากดึกดำบรรพ์(Fossils)
๒.๒ ยุคออร์โดวิเชี่ยน(Ordovician) อายุประมาณ ๕๐๐ ล้านปี ปะการังเริ่มก่อตัว
๒.๓ ยุคซิลูเรี่ยน(Silurian) อายุประมาณ ๔๔๐ ล้านปี เกิดปลาไม่มีกราม และพืชบก ในยุคเดียวกันเมื่อประมาณ ๔๐๐ ล้านปี เกิดปลามีก้าง สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พืชมีเมล็ด และแมลง
๓. มหายุคเมโสโซอิก(Mesozoic)
๓.๑ ยุคคาร์บอนิเฟอรัส(Carboniferrous) อายุประมาณ ๓๕๐ ล้านปี มีพืชไร้ดอก พืชยืนต้นที่ให้ กำเนิดถ่านหิน สัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่คล้ายสัตว์เลื้อยคลาน
๓.๒ ยุคเปอร์เมี่ยน(Permian) อายุประมาณ ๒๗๐ ล้านปี เริ่มมีไดโนเสาร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ปรากฏลักษณะของทวีป
๓.๓ ยุคไทรอัสสิก(Triassic) อายุประมาณ ๒๒๐ ล้านปี เกิดการแยกตัวเป็นทวีป
๓.๔ ยุคจูราสสิก(Jurassic) อายุประมาณ ๑๘๐ ล้านปี เป็นยุคแห่งไดโนเสาร์
๓.๕ ยุคครีเตเชียส(Cretaceous) อายุประมาณ ๑๓๕ ล้านปี เกิดพืชดอก เริ่มมีสัตว์ปีก ไดโนเสาร์ค่อย ๆ สูญพันธุ์
๔. มหายุคซีโนโซอิก(Cenozoic)
๔.๑ ยุคเทอร์เทียรี่(Tertiary)
๔.๑.๑ สมัยพาลีโอซีน(Palaeocene) อายุประมาณ ๗๐ ล้านปี มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแบบปัจจุบัน
๔.๑.๒ สมัยอีโอซีน(Eocene) อายุประมาณ ๖๐ ล้านปี อเมริกาใต้แยกจากอัฟริกาใต้
๔.๑.๓ สมัยโอลิโกซีน(Oligocene) อายุประมาณ ๔๐ ล้านปี มีทุ่งหญ้าเกิดขึ้น มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่กินหญ้า เกิดพวกวานร (Apes) ปรากฎแนวของหิมาลัยชัดเจน
๔.๑.๔ สมัยไมโอซีน(Miocene) อายุประมาณ ๒๕ ล้านปี เกิดพวกโฮมินิดส์(Hominids)
๔.๑.๕ สมัยไพลโอซีน(Pliocene) อายุประมาณ ๑๐ ล้านปี วิวัฒนาการของโฮมินิดส์(Hominids)
๔.๒ ยุคควอเตอร์นารี(Quaternary)
๔.๒.๑ สมัยไพลสโตซีน(Pleistocene) อายุประมาณ ๒ ล้านปี เกิดยุคน้ำแข็งสลับอบอุ่น วัฒนาการของมนุษย์จากพวกออสตราโลพิเธซีนส์ (Australopithecines) มาสู่พวกมนุษย์เดินตัวตรง(Homo erectus) และมนุษย์ปัจจุบัน(Homo sapiens)
๔.๒.๒ สมัยโฮโลซีนส์(Holocene) อายุประมาณ ๑๐,๐๐๐ ปี เป็นสมัยที่สิ้นสุดยุคน้ำแข็งเข้าสู่ปัจจุบัน มนุษย์ได้มีพัฒนาการทางสังคมเข้าสู่สังคมเกษตรกรรม และพัฒนาต่อมาจนถึงปัจจุบัน




ยุคสมัยทางโบราณคดี
จะอยู่ในช่วงของยุคควอเตอร์นารี(Quaternary) ของธรณีวิทยา เนื่องจากเกิดรูปแบบของมนุษย์ในยุคนี้โดยพิจารณาจากการมีวัฒนธรรม และพัฒนาการทั้งด้านกายภาพ และวัฒนธรรมก็อยู่ในยุคนี้ ยุคสมัยทางโบราณคดีแบ่งได้กว้าง ๆ เป็น ๒ สมัย คือ
๑. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (Prehistory) หมายถึงสมัยที่เริ่มต้นตั้งแต่มนุษย์รู้จักดัดแปลงวัสดุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ อันหมายถึงการมีวัฒนธรรมซึ่งทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์ แต่ในช่วงสมัยนี้มนุษย์ยังไม่รู้จักตัวหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร ไม่มีการจดบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆได้ ดังนั้นเรื่องราวสมัยก่อนประวัติศาสตร์จึงเป็นการสันนิษฐานและการตีความจากหลักฐานทางโบราณคดี สมัยก่อนประวัติศาสตร์สามารถแบ่งย่อยได้ตามลักษณะวัสดุที่มนุษย์นำมาใช้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ ลักษณะของเครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม
การจำแนกยุคสมัยโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์โดยใช้ความแตกต่างของเครื่องมือเครื่องใช้ ที่มีลำดับพัฒนาการทางวัฒนธรรมครบถ้วน จะสามารถแบ่งย่อยได้ดังนี้
๑. ยุคหินแรก (Eolith) เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักดัดแปลงวัสดุธรรมชาติ
๒. ยุคหินเก่าตอนต้น(Lower Palaeolithic) ยุคแห่งการล่าสัตว์ เก็บอาหารกิน สังคมครอบครัว ร่อนเร่ตามฝูงสัตว์ มนุษย์รู้จักเทคนิคการกะเทาะหินอย่างหยาบๆมาใช้เป็นเครื่องมือ
๓. ยุคหินเก่าตอนกลาง(Middle Palaeolithic) ยุคแห่งการล่าสัตว์ จับสัตว์น้ำ เก็บอาหารกิน สังคมหมู่บ้านขนาดเล็ก เครื่องมือยังคงเป็นหินกะเทาะแต่มีขนาดเล็กลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
๔. ยุคหินเก่าตอนปลาย (Upper Palaeolithic) ยุคแห่งการล่าสัตว์ จับสัตว์น้ำ เก็บอาหารกิน สังคมหมู่บ้านขนาดเล็ก เครื่องมือจะมีขนาดเล็กลงมาก มีการกะเทาะโดยอ้อมหรือใช้ลิ่ม
๕. ยุคหินกลาง ( Mesolithic) ยุคแห่งการล่าสัตว์ จับสัตว์น้ำ เก็บสะสมอาหาร สังคมหมู่บ้านอาจะเริ่มต้นกสิกรรม เป็นเครื่องมือขนาดจิ๋ว (Microlith)
๖. ยุคหินใหม่ ( Neolithic) ยุคแห่งการกสิกรรม ทำภาชนะดินเผา สังคมหมู่บ้านขนาดใหญ่ เครื่องมือหินขัด มีการทำเครื่องปั้นดินเผาขึ้นใช้
๗. ยุคทองแดง (Chalcolithic) ยุคแห่งการกสิกรรม สังคมเมืองขนาดเล็ก รู้จักการนำเอาทองแดงมาทำเครื่องมือเครื่องใช้
๘. ยุคสำริด (Bronze) ยุคแห่งการกสิกรรม การพาณิชยกรรม สังคมเมือง และนครรัฐ รูจักการนำเอาทองแดงมาผสมกับดีบุกเป็นสำริดที่แข็งมากขึ้น
๙. ยุคเหล็ก (Iron) ยุคแห่งการกสิกรรมชั้นสูง การอุตสาหกรรมและพาณิชย์ สังคมแบบรัฐหรืออาณาจักร รู้จักถลุงเหล็กมาใช้ประโยชน์
๒. สมัยประวัติศาสตร์ (History) หมายถึงสมัยที่มนุษย์รู้จักการเขียน การบันทึกเรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรให้เราสามารถเข้าใจเรื่องราวต่างๆได้ชัดเจน โดยอาจใช้หลักฐานทางโบราณคดีมาเป็นหลักฐานสนับสนุน สมัยประวัติศาสตร์สามารถแบ่งย่อยได้ตามเรื่องราวในประวัติศาสตร์ เช่น การเปลี่ยนราชวงศ์ การย้ายเมืองหลวง เป็นต้น สมัยประวัติศาสตร์ (Historic Period) จะมีเวลาการเกิดและการจำแนกแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคของโลก บางครั้งมียุคสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์มาคั่น (Proto-historic period) เนื่องจากเกิดลายลักษณ์อักษรแต่ยังอ่านไม่ได้ หรือจับมาเป็นเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ไม่ได้ สมัยประวัติศาสตร์มักจะคาบเกี่ยวกับยุคสำริดหรือยุคเหล็กของการจำแนกยุคสมัยก่อนประวัติศาสตร์

หลักฐานเกี่ยวกับมนุษย์ในดินแดนประเทศไทย
ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันมีมนุษย์อยู่อาศัยมาเป็นเวลานานหลายหมื่นปี จากการพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์โบราณในภูมิภาคต่างๆของประเทศสะท้อนให้เห็นสภาพวิถีชิวิต เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี

หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวประวัติความเป็นมาของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบันเรียกว่า "หลักฐานทางประวัติศาสตร์" แบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิดคือ หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร
หลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร คือหลักฐานที่เป็นตัวหนังสือบันทึกเรื่องราวต่างๆในอดีต ตัวอย่างเช่น จารึก พงศาวดาร จดหมายเหตุ หรือข้อความที่เขียนลงบนกระดาษ ใบลาน ผ้า แผ่นหิน แผ่นโลหะ หรือตามผนังถ้ำ ผนังโบสถ์
หลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร คือหลักฐานที่เป็นวัตถุที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในอดีต หลักฐานเหล่านี้อาจเรียกว่า"หลักฐานทางโบราณคดี"



หลักฐานทางโบราณคดี (Archaeological Evidences)
หลักฐานทางโบราณคดีมีทั้งที่เป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีประโยชน์มากในการศึกษาหาความรู้และทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ หากหลักฐานเหล่านี้พบในสถานที่เดิมซึ่งถูกมนุษย์โบราณทอดทิ้งไว้ ฝังไว้ หรือซุกซ่อนไว้ และถูกค้นพบหรือขุดพบในชั้นดินที่ทับถมโดยกระบวนการทางโบราณคดีแล้วนำมาศึกษาวิเคราะห์ตีความทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางศิลปะ ก็จะเป็นประโยชน์ในการเป็นหลักฐานช่วยตรวจสอบ แก้ไข ยืนยัน และเพิ่มเติมเนื้อหาประวัติศาสตร์ที่มีการจดบันทึกได้

ชนิดของหลักฐานทางโบราณคดี
หลักฐานทางโบราณคดีสามารถจำแนกได้เป็น ๒ ชนิดคือ
1. หลักฐานที่มนุษย์ทำขึ้น (Artefacts) คือหลักฐานที่มนุษย์ในอดีตทำขึ้นโดยการดัดแปลงหรือใช้วัสดุตามธรรมชาติทำขึ้นตามความต้องการ ตัวอย่างเช่น บ้านเรือน อาวุธ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องประดับร่างกาย ประติมากรรม ฯลฯ

2. หลักฐานที่มนุษย์ไม่ได้ทำขึ้น (Non-artefacts) คือหลักฐานตามธรรมชาติที่มนุษย์ไม่ได้ดัดแปลง แต่มนุษย์ใช้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้เราสามารถเข้าใจสภาพและสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ในอดีตได้ ตัวอย่างเช่น ถ้ำ เพิงผา ชั้นดินที่ทับถม ซากพืช ซากสัตว์ ฯลฯ


การได้มาซึ่งหลักฐานทางโบราณคดี
๑. การพบโดยบังเอิญ เป็นการพบหลักฐานทางโบราณคดีเมื่อหลักฐานได้โผล่พ้นผิวดินขึ้นมา จากการเปลี่ยนแปลงลักษณะภูมิประเทศ จากธรรมชาติ เช่น การเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศ การเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำ การกัดเซาะของลม ฝน แม่น้ำลำธาร หรือจากการที่มนุษย์ขุดดินในการปลูกสร้างบ้านเรือนการทำเกษตรกรรม การขุดสระขุดคลอง หลักฐานที่ได้มาโดยวิธีการนี้มักจะไม่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการศึกษาเรื่องราวของมนุษย์ในอดีตมากนัก

๒. การพบโดยการดำเนินงานทางโบราณคดี เป็นการพบหลักฐานจากการดำเนินงานศึกษาค้นคว้าวิจัยตามกระบวนการทั้งทางวิทยาศาสตร์และทางศิลปะ โดยมีขั้นตอนการสำรวจ และขุดค้นเป็นขั้นตอนในการรวบรวมข้อมูล และหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในขั้นตอนนี้จะเป็นประโยชน์มากเมื่อนำมาศึกษาวิเคราะห์ ตีความ จนครบกระบวนการ จะสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ในอดีตได้

การพบหลักฐานแบบนี้จะพบในกระบวนการต่างๆระหว่างการดำเนินงานสำรวจ เช่น การพบระหว่างการเดินสำรวจ การพบโดยภาพถ่ายทางอากาศ การพบโดยใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ตัวอย่างเช่น เครื่องกระทุ้งฟังเสียงเครื่องเจาะแบบสว่าน เครื่องตรวจหาความต้านทานของดิน การวิเคราะห์ดินทางเคมี เครื่องตรวจแม่เหล็กไฟฟ้า หรืออาจเป็นการพบจากข้อความตำนานหรือนิทานพื้นบ้าน จากเอกสารโบราณ จากชื่อสถานที่
นอกจากการสำรวจแล้ว ยังมีการพบหลักฐานระหว่างการขุดค้นซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเป็นอันมาก และการพบในขณะดำเนินการวิเคราะห์

เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจะมีความหลากหลายที่เกี่ยวข้องกันมนุษย์ นับตั้งแต่ดิน หิน แร่ ซากพืช ซากสัตว์ ฯลฯ จึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยนักวิชาการสาขาต่างๆช่วยกันศึกษา วิเคราะห์ และตีความ อาทิเช่น นักธรณีวิทยา นักปฐพีวิทยา นักสัตววิทยา นักพฤกษศาสตร์ นักมานุษยวิทยา นักกายวิภาคศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ ฯลฯ รวมถึงการกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญทางด้านเคมีและฟิสิกส์ ซึ่งจะทำให้เราทราบเรื่องราวในอดีตของมนุษย์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

แต่เป็นที่น่าเสียดายที่หลักฐานทางโบราณคดีเป็นจำนวนมากถูกทำลายทั้งจากกระบวนการตามธรรมชาติและที่สำคัญอย่างยิ่งคือการทำลายของมนุษย์ที่ขุดคุ้ย โยกย้าย ทำลายหลักฐานดังกล่าวทั้งโดยไม่ได้ตั้งใจและโดยหวังจะนำเอาหลักฐานเหล่านั้นมาขาย สะสม หรือใช้ประโยชน์ส่วนตน จนทำให้หลักฐานสำคัญเกี่ยวกับบรรพชนอันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมต้องสูญหายหรือเสื่อมคุณค่าลงไป


ปัจจัยการเกิดหลักฐานทางโบราณคดี
ปัจจัยการดำรงชีวิตและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ก่อให้เกิดหลักฐานทางโบราณคดีหลงเหลือให้ศึกษาในปัจจุบัน นับตั้งแต่มนุษย์ได้มีวิวัฒนาการขึ้นมาบนโลก มนุษย์จำเป็นที่จะต้องดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมโดยอาศัยปัจจัยต่างๆเพื่อความอยู่รอด มีพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชนะธรรมชาติและเพื่อความอยู่รอด มีการถ่ายทอดทางวัฒนธรรม มีชีวิตอยู่ในสังคมที่มีการติดต่อกันระหว่างบุคคลและกลุ่มคน การตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จึงเป็นการรวมกลุ่มกันทางสังคมซึ่งอาจเป็นหน่วยย่อยขนาดครอบครัว ขยายตัวเป็นหมู่บ้าน เมือง และรัฐขนาดใหญ่ในที่สุด การรวมตัวกันตั้งถิ่นฐานของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆหลายประการ ได้แก่


๑. อาหาร ปัจจัยสำคัญที่สุดในการมีชีวิตรอดก็คือน้ำและอาหาร มนุษย์จะดิ้นรนเสาะแสวงหาแหล่งน้ำและแหล่งอาหารในการดำรงชีวิตและการตั้งถิ่นฐาน จนบางครั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหารยังก่อให้เกิดความขัดแย้งกันในสังคม และระหว่างสังคม ก่อให้เกิดการอพยพ โยกย้ายถิ่นฐาน อาหารของมนุษย์ในยุคเริ่มแรกจะเป็น เนื้อสัตว์ พืชและผลไม้ ตาที่จะล่าหรือแสวงหามาได้ ต่อมาจึงเกิดการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ขึ้น จากการหาอาหาร การเตรียมอาหาร และการบริโภค ได้หลงเหลือร่องรอยหลักฐานทางโบราณคดีต่างๆมากมาย หลักฐานเหล่านี้ซึ่งแตกต่างกันไปตามลักษณะของสิ่งที่จะล่า สิ่งที่จะหา ค่านิยมในรูปแบบ และชนิดของวัสดุที่ใช้ทำเครื่องมือนั้นๆ หลักฐานเกี่ยวกับอาหารการกินของมนุษย์ อาทิเช่น
๑.๑ หลักฐานจากการหา การล่า ตัวอย่างได้แก่ มีด ขวาน หอก ธนู ลูกกระสุน เบ็ด ฉมวก กับดักสัตว์ หรือร่องรอยที่ปรากฏบนกระดูกสัตว์ ฯลฯ
๑.๒ หลักฐานเกี่ยวกับการเพาะปลูกเลี้ยงสัตว์ ตัวอย่างได้แก่ เครื่องมือขุด เคียว คอกสัตว์ เพนียด เชือก โซ่ ฯลฯ
๑.๓ หลักฐานเกี่ยวกับการเก็บสะสมอาหาร ตัวอย่างได้แก่ หม้อ ไห ยุ้งฉาง ฯลฯ
๑.๔ หลักฐานในการบริโภค การเตรียมการบริโภค และของเหลือ ตัวอย่างได้แก่ หม้อ จาน ชาม กองไฟ เส้า มีด ช้อน ซ่อม ทัพพี กองขยะจากครัวเรือน ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ที่ใช้ในการทำเครื่องมือที่กล่าวมาข้างต้น ตัวอย่างเช่น
ค้อนหิน หินลับ หินดุ(เครื่องใช้ในการขึ้นรูปและตกแต่งลายภาชนะดินเผา) หินขัดผิวภาชนะ ฯลฯ
๒. เครื่องนุ่งห่ม จากการที่มนุษย์ต้องต่อสู้กับสภาพภูมิอากาศ เครื่องนุ่งห่มจึงมีความจำเป็นในการใช้ต่อสู้ความหนาวเย็น มนุษย์ได้พัฒนาเครื่องนุ่งห่มจากพืช เช่น ใบไม้ ฝ้าย และเส้นใยต่างๆ และเครื่องนุ่งห่มจากหนังสัตว์หรือขนสัตว์ที่ได้จากการล่าสัตว์มาเป็นอาหาร ต่อมาเครื่องนุ่งห่มไม่ได้เป็นเพียงเครื่องป้องกันความหนาวเย็น เท่านั้น แต่เป็นเครื่องประดับตกแต่งและเครื่องกำหนดสถานะในสังคมด้วย หลักฐานทางโบราณคดีเกี่ยวกับปัจจัยเครื่องนุ่งห่มของมนุษย์ที่หลงเหลือไว้จนถึงปัจจุบัน มักจะทำด้วยวัสดุที่มีความคงทนถาวร หรือเป็นวัสดุอุกรณ์ที่ใช้ในการทำเครื่องนุ่งห่ม อาทิเช่น
๒.๑ หลักฐานที่เป็นร่องรอยเครื่องนุ่งห่ม และการทำเครื่องนุ่งห่ม ได้แก่ แวดินเผา(เครื่องใช้ในการปั่นด้าย) รอยพิมพ์ของผ้าบนดิน บนสนิมโลหะ
๒.๒ หลักฐานที่เป็นเครื่องประดับ มักทำขึ้นจากวัสดุที่มีความคงทนถาวร เช่น หิน แก้ว เปลือกหอย เมล็ดพืช สำริด ทองคำ ฯลฯ ลักษณะของเครื่องประดับจะขึ้นอยู่กับเป้าหมายหรือหน้าที่ของเครื่องประดับ และค่านิยมในรูปแบบขณะที่ทำเครื่องประดับนั้นๆ

๓. ที่อยู่อาศัย มนุษย์ต้องการที่อยู่อาศัยเพื่อปกป้องตนเองจากภัยธรรมชาติ ภัยจากสัตว์ร้าย และภัยจากมนุษย์ด้วยกัน ที่อยู่อาศัยจึงเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการดำรงชีวิต จากถ้ำและเพิงผา มนุษย์ได้สร้างเพิงหรือกระท่อมอย่างง่ายๆด้วยวัสดุที่หาได้จากธรรมชาติ จากนั้นจึงพัฒนามาเป็นบ้านเรือน หลักฐานที่เป็นที่อยู่อาศัยจะสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ กิจกรรม ตลอดจนพัฒนาการทางสถาปัตยกรรม ได้แก่กรรมวิธีการก่อสร้าง แผนผัง วัสดุ และในบางครั้งยังสะท้อนแนวความคิด และความเชื่อของมนุษย์ในยุคสมัยนั้นๆ
๔. สวัสดิการและความปลอดภัย มนุษย์มีความต้องการที่จะดำรงชีวิตอยู่ในธรรมชาติอย่างปลอดภัย มีความสุขทั้งทางร่างกายและจิตใจ สิ่งที่ทำลายสวัสดิภาพและความปลอดภัยของมนุษย์นั้น นอกจากสัตว์ร้าย การเจ็บไข้ได้ป่วย และภัยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ด้วยกันเองยังประหัตประหารเอารัดเอาเปรียบกัน นอกจากนี้มนุษย์ยังต้องการสาธารณูปโภค สาธารณูปการที่สนองสวัสดิภาพและความปลอดภัยทั้งในขณะที่มีชีวิตอยู่ตลอดจนสิ้นชีวิตไปแล้ว หลักฐานที่สะท้อนให้เห็นความต้องการในสวัสดิภาพและความปลอดภัยของมนุษย์ ได้แก่
๔.๑ หลักฐานในการป้องกันตนเองจากภัยธรรมชาติ สัตว์ร้าย และมนุษย์ด้วยกันเอง รวมทั้งสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ได้แก่ อาวุธ คูเมือง กำแพงเมือง คันกั้นน้ำ เขื่อน บ่อน้ำ สระน้ำ
๔.๒ หลักฐานในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ได้แก่ ร่องรอยซากพืชที่เป็นยาสมุนไพร ร่องรอยที่ปรากฏบนโครงกระดูกมนุษย์ หินบดยาและสากบดยา
๔.๓ หลักฐานเกี่ยวกับการตาย ได้แก่ ร่องรอยที่ปรากฏบนโครงกระดูกมนุษย์ การจัดการศพ ความเชื่อและประเพณีต่างๆ


๕. ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มนุษย์มีการติดต่อสัมพันธ์กันระหว่างบุคคล สังคม โดยการสื่อสารติดต่อระหว่างกัน การเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกัน และการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการแพร่กระจาย การรับเอา การดัดแปลง และการผสมผสานทางวัฒนธรรม ปรากฏเป็นหลักฐานทางโบราณคดีที่เล่าเรื่องราว หรือสามารถนำมาแปลความเป็นเรื่องราวที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และระหว่างสังคมได้
๕.๑ หลักฐานเกี่ยวกับการติดต่อสื่อสาร หลักฐานด้านนี้จะปรากฏในรูปของตัวอักษรที่มนุษย์คิด
ขึ้นหรือรับเอามาใช้เป็นภาษาที่แตกต่างกัน ในบางครั้งจะพบว่ามีการใช้ตัวอักษรแบบเดียวกันในภาษาที่แตกต่างกัน หลักฐานที่พบได้แก่ จารึก บันทึก เอกสาร พงศาวดาร หนังสือ ตำรา
๕.๒ หลักฐานเกี่ยวกับการเดินทาง ได้แก่ รอยเท้า ร่องรอยเส้นทางโบราณ ถนนโบราณ พาหนะ และชิ้นส่วนยานพาหนะ
๕.๓ หลักฐานเกี่ยวกับการอพยพ มนุษย์จะมีการอพยพด้วยสาเหตุต่างๆกัน เช่น การอพยพตามฝูงสัตว์ การอพยพเพื่อหาพื้นที่เกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ การอพยพหนีภัยธรรมชาติ โรคระบาด หรือสงคราม หลักฐานการอพยพ ได้แก่ การแพร่กระจายทางวัฒนธรรม ความคล้ายคลึงทางวัฒนธรรม ตำนาน เรื่องเล่า และร่องรอยของการอพยพ
๖. ระบบสังคม เมื่อมีการรวมกลุ่มของมนุษย์มากขึ้น มีการแบ่งงานกันทำ มีการแลกเปลี่ยนผลผลิต มีสถานะที่แตกต่างกันในสังคม มนุษย์จึงจำเป็นที่จะต้องมีกติกาควบคุมสมาชิกในสังคม กำหนดมาตรฐานต่างๆในสังคม ก่อให้เกิดระบบจารีต ประเพณีต่างๆ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นกฎหมาย ก่อให้เกิดระบบการปกครองและชนชั้นต่างๆ นอกเหนืกจากกติกาสังคมแล้วการอยู่ร่วมกันก็จำเป็นที่จะต้องมีระบบคุณธรรม จารีต ประเพณี ซึ่งควบคุมจิตสำนึกของผู้คน ศาสนาและความเชื่อจึงมีส่วนเป็นอย่างยิ่งในการรักษาความสงบสุขในสังคม ซึ่งทั้งระบบสังคม ศาสนาและความเชื่อก่อให้เกิดหลักฐานต่างๆหลงเหลือไว้มากมาย
๖.๑ หลักฐานที่แสดงลักษณะการปกครอง เช่น ปราสาทพระราชวัง ป้อมค่าย ตราประทับ เงินตรา ราชลัญจกร เครื่องราชูปโภค เครื่องราชกกุธภัณฑ์
๖.๒ หลักฐานเกี่ยวกับศาสนาและความเชื่อ เช่น วัด โบสถ์ วิหาร เจดีย์ เทวาลัย มัสยิด สัญลักษณ์ รูปเคารพ ประติมากรรม เครื่องบริขาร
๖.๓ หลักฐานที่เป็นกติกาทางสังคม ได้แก่ ตุ้มกำหนดน้ำหนัก สายวัดขนาดและระยะ

๗. ศิลปะและการบันเทิง นอกเหนือจากความต้องการทางร่างกายของมนุษย์แล้ว มนุษย์ยังมีความต้องการทางจิตใจ ความงดงามของตนเอง ของผู้คนใกล้ชิด ของสิ่งแวดล้อม การแสดงความภาคภูมิใจ ความประทับใจในธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ การแสดงออกซึ่งความคิด ความหวัง จินตนาการ การใช้เวลาว่างในการสร้างสรร การละเล่น และการบันเทิงเริงใจ ก่อให้เกิดงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นสะภาพชีวิต สภาพแวดล้อม การแต่งกาย การล่าสัตว์ ตลอดจนพิธีกรรม
๗.๑ หลักฐานที่เป็นงานศิลปะ ได้แก่ ภาพเขียนสีหรือภาพสลักตามถ้ำและเพิงผา รูปปั้น ประติมากรรม จิตรกรรมฝานัง
๗.๒ หลักฐานที่สะท้อนการละเล่น ได้แก่ เบี้ย ลูกเต๋า งานประติมากรรมนูนต่ำที่แสดงภาพการเล่น
ดนตรี




 

Create Date : 23 มกราคม 2549
20 comments
Last Update : 22 ธันวาคม 2550 0:23:29 น.
Counter : 51506 Pageviews.

 

ประวัติศาสตร์ขงไทยมีตั้งเยอะคนไทยนี่เก่งจริงๆ

 

โดย: คน101 IP: 117.47.14.135 4 กุมภาพันธ์ 2551 19:17:27 น.  

 

คนไทยเก่งจิรงๆมีประวัติตั้งเยอะสุดยอด

 

โดย: สุดยอด IP: 117.47.14.135 4 กุมภาพันธ์ 2551 19:20:36 น.  

 

ยนานาบานบาบานานานาขชนจคจัคดกดะเคะพพะด่รำนไรคด่าก่นนๆรๆไน่หก่ๆนไกร่คไนกร่หๆร่กน่ๆร่รน่กนๆร่ไรกนนรไกร่ๆไรน่กรน่ไรก่รน่ๆร่นร่ไกค/นร่รนๆไรนก่รไกรน่ไรก่รนไกร่รนๆไนรก่ไรนก่รนๆไกรน่ๆรนไกรนๆไ

 

โดย: magister IP: 202.143.147.252 8 กุมภาพันธ์ 2551 16:13:43 น.  

 

คนสมัยก่อนเก่งจริงคนสมัยก่อนเก่งจริง

 

โดย: คน IP: 222.123.158.50 17 กุมภาพันธ์ 2551 16:23:42 น.  

 

 

โดย: เบ IP: 222.123.158.50 17 กุมภาพันธ์ 2551 16:24:50 น.  

 

เก่งมากคับที่รับรู้ประวัติศาสตร์ได้

 

โดย: แฟนต้า IP: 118.172.70.14 15 พฤษภาคม 2551 12:59:52 น.  

 

ประวัติศาสตร์ย้อนยุกต์มีจริง ๆ ค๊าาาาาาาาาา

 

โดย: เป๊บซี่ IP: 118.172.70.14 15 พฤษภาคม 2551 13:02:59 น.  

 

หลักฐานทางโบราณคดีเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมของคนในสมัยโบราณที่รู้จักพัฒนาตนเอง

 

โดย: ยูโด IP: 118.172.23.238 22 กรกฎาคม 2551 21:18:47 น.  

 

ทำได้ดีครับ

 

โดย: อานนท์ IP: 117.47.238.201 26 กรกฎาคม 2551 14:59:49 น.  

 

เก้งจริง รุ มาจากไหน

 

โดย: สุดยอดเลย IP: 118.173.200.246 30 ตุลาคม 2552 20:52:57 น.  

 

หลักฐานทางโบราณคดีหมายถึง

 

โดย: jj IP: 222.123.43.157 9 พฤศจิกายน 2552 15:12:14 น.  

 

ชอบมากมายก่ายกรอง

 

โดย: nacky IP: 202.29.5.62 14 กรกฎาคม 2553 16:55:54 น.  

 

เธอชื่ออะไรบอกจริงๆนะ

 

โดย: รอร่า IP: 182.93.141.221 31 พฤษภาคม 2555 11:19:40 น.  

 

อ๋อ อย่างนี้นี่เอง เข้าใจแล้ว

 

โดย: Choompu IP: 180.183.219.196 19 กรกฎาคม 2555 14:04:58 น.  

 

ขอบคุณข้อมูลดีๆ

 

โดย: fanta IP: 171.7.49.151 16 ตุลาคม 2555 20:34:11 น.  

 

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆนะค่ะ

 

โดย: ฮานะจัง IP: 122.155.42.251 12 ธันวาคม 2555 0:04:36 น.  

 

แวะมาขโมยข้อมูลไปใช้ครับ thank you

 

โดย: คนนอก IP: 203.209.83.16 13 มิถุนายน 2557 8:50:01 น.  

 

สุดยอดค่ะเนื้อหาเยอะมากเลยเก่งมากค่ะ

 

โดย: Mayree Youngkird IP: 1.46.3.92 25 มิถุนายน 2561 18:14:12 น.  

 

สุดยอดค่ะเนื้อหาเยอะมากเลยเก่งมากค่ะ

 

โดย: Mayree Youngkird IP: 1.46.3.92 25 มิถุนายน 2561 18:14:16 น.  

 

คนสวย

 

โดย: ตแัตตีเตดีเีจร IP: 223.207.243.243 26 กรกฎาคม 2564 9:04:56 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


อ้ายจัน
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add อ้ายจัน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.