|
 |
| 1 |
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |
30 | 31 | |
|
|
 |
23 มีนาคม 2551
|
|
|
|
บทสัมภาษณ์ Alex St. John กับมุมมองของวงการเกมทั้งพีซีและคอนโซล

วันนี้ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของบุคคลผู้หนึ่งที่เคยปลุกปั้นเครื่องพีซีให้สามารถเล่นเกมได้จนมาถึงปัจจุบัน เขาคือ Alex St. John ผู้ที่เคยเป็นโปรแกรมเมอร์ของไมโครซอฟท์ผู้ร่วมพัฒนา Directx ปัจจุบันได้แยกตัวออกมาทำบริษัทของตัวเองคือบริษัท Wildtangent ซึ่งเป็นบริษัทเกมเช่นกัน แต่เน้นการทำเกมฟอร์มเล็ก ๆ แทน และในอีกไม่นานเขาก็จะเปิดตัวระบบใหม่ของเขาที่มีชื่อว่า Orb ซึ่งเป็นระบบที่จะทำให้เครื่องพีซีนั้นมีการจัดการในการเล่นเกมคล้ายคอนโซล จากการอ่านบทสัมภาษณ์ของเขาคร่าว ๆ นั้นมีรายละเอียดดังนี้ครับ
- ปริมาณการซื้อเครื่องพีซีต่อปีมีมากกว่าจำนวนเครื่องคอนโซลทั้งสามเครื่องรวมกัน รวมถึงนักเล่นเกมคอนโซลเกินกว่าครึ่งใช้เวลาในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มากกว่า นั่นหมายถึงตลาดของพีซีดูจะมีโอกาสมากกว่าเยอะ
- เขาได้พูดถึงสิ่งที่ Tim Sweeney แห่ง Epic Games ได้กล่าวไว้ว่า "พีซีดีทุกอย่าง แต่ไม่ใช่กับการเล่นเกม" ไว้ว่าเป็นสิ่งที่เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่ง โดยเขาได้กล่าวโทษทาง Microsoft และ Intel ที่มีความผิดพลาดในการทำตลาดของพีซี เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการดังนี้ - - ไมโครซอฟท์เอง เมื่อก่อนเคยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังในการซัพพอร์ทเกมพีซี คือการทำ os ออกมาให้รองรับตลาดได้ดีที่สุด แต่ปัจจุบันการบริหารของไมโครซอฟท์จากที่เคยเป็นเบื้องหลังของวงการเกม ปัจจุบันได้ออกมาทำตลาดเสียเอง ทำให้ความตั้งใจในการทำระบบปฏิบัติการลดน้อยลง จนทำให้ประสิทธิภาพในการติดต่อฮาร์ดแวร์ และความปลอดภัย (Security) ลดน้อยลง - - ส่วนทางฝั่งของอินเทล เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากฮาร์ดแวร์ โดยทางอินเทลไม่ยอมที่จะส่งการ์ดจอออนบอร์ดรุ่นที่ดี ๆ กว่านี้ออกมาสู่ตลาดผู้บริโภค ทำให้ตลาดของผู้บริโภคนั้น ความแรงของเครื่องจึงติดดินเกินไป คนที่มีการ์ดประสิทธิภาพสูงก็มีอยู่น้อย
- จากการที่ทั้งไมโครซอฟท์และโซนี่ต่างทุ่มทุนกันแบบไม่บันยะบันยังในศึกคอนโซลครั้งนี้ ทำให้ทั้งสองต้องบาดเจ็บสาหัสในเรื่องของรายได้ที่ขาดทุน หรือได้กำไรไม่คุ้ม วิธีที่จะต้องหาเงินคืนคือการขายเครื่องและเกมให้ได้มากที่สุด ดังนั้นเขาคาดว่าคอนโซลสองเครื่องนี้น่าจะอยู่ในตลาดนานกว่ายุคก่อน ๆ
- แต่ในทางกลับกัน บริษัทที่ทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในตอนนี้คือนินเทนโด ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ตระหนักแล้วว่า ความสวยงามทางด้านกราฟิคนั้นไม่ได้เป็นความแตกต่างที่ยั่งยืนเท่าไรนัก จึงตัดสินใจที่จะแยกตัวออกไปเน้นการระบบกลไกการควบคุมแบบใหม่แทน และก็ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ
- ตลาดของเกมพีซีในปัจจุบันสามารถทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำจากระบบออนไลน์ ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นกันชัด ๆ คือเกม World of Warcraft ที่สามารถทำรายได้มากถึงหนึ่งพันสองร้อยล้านเหรียญในแต่ละปี ซึ่งเหตุผลที่มีรายได้มากขนาดนี้ด้วยปัจจัยคือไม่สามารถละเมิดลิขสิทธิ์ได้ง่าย ๆ และอีกอย่างคือ community ที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายในตัวเกม และเป็นสิ่งที่เกมทั่วไปให้ไม่ได้ ปัจจุบันคอนโซลกำลังดำเนินแนวทางคล้าย ๆ กันนี้เช่นกัน แต่ระบบของคอนโซลต้องบอกว่ามีการ security ที่ดีกว่าพีซีมาก แนวโน้มในอนาคตจึงน่าจะเป็นการแจกจ่ายเนือ้หาของเกมผ่านการดาวน์โหลดทั้งหมด เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่เหล่าผู้ผลิตเกมต่าง ๆ ไม่ค่อยชอบระบบ DRM ของพวกคอนโซลสักเท่าไรนัก ฉะนั้นตลาดของพีซีน่าจะเหมาะกว่ากับเกมที่มี community ใหญ่ ๆ เช่น MMO ทั้งหลายแหล่
- แนวโน้มการใช้จ่ายของนักเล่นเกมในปัจจุบันมีพฤติกรรมการเล่นเกมที่ไม่แตกต่างไปจากการดูโทรทัศน์และเปลี่ยนช่องไปมาเพื่อดูรายการที่ต้องการ เกมเมอร์โดยมากเลือกที่จะจ่ายเฉพาะส่วนที่ตนเองต้องการจะเล่น มากกว่าที่จะซื้อเกมทีละ 50 เหรียญโดยเนื้อหาบางส่วนเขาแทบไม่ได้สนใจเลย และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธิ์ที่เกม MMO ดัง ๆ อย่าง WoW , Guild Wars ใช้เช่นกัน คือจ่ายตามที่อยากเล่น
- ปัญหาอย่างนึงของเกมพีซีคือ ผู้ใช้พีซีกว่า 90% มักจะไม่รู้ว่าเครื่องตนเองเล่นเกมนี้ได้หรือไม่ เนื่องจากเขาไม่ได้มีความรู้ในด้านคอมพิวเตอร์มากมายนัก สเปคขั้นต่ำที่ติดอยู่ข้างกล่องจึงแทบไร้ความหมายสำหรับบุคคลเหล่านี้ และเมื่อไม่รู้และซื้อมาเล่นแต่กลับไม่สามารถเล่นได้ ก็จะมีการบ่นประมาณว่า "ทำไมเล่นไม่ได้วะเนี่ย ไปซื้อคอนโซลมาเล่นแทนดีกว่า" จึงทำให้ตลาดของเกมพีซีส่วนหนึ่งถดถอยด้วยประการละฉะนี้
- ระบบ Orb ที่ทาง Wildtangent จะมีระบบการตรวจสอบสเปคเครื่องของผู้ใช้งานว่าสามารถที่จะเล่นเกมใดได้บ้าง และจะเปิดให้ทดสอบเกมนั้นกันก่อนคร่าว ๆ (เหมือน demo) ก่อนที่จะจ่ายเงินจริง ๆ เพื่อทำให้ผู้ใช้งานนั้นสามารถเห็นภาพได้สะดวก รวมถึงมีการจัดสเปคมาตรฐานของตัวเครื่องที่จะใช้ระบบนี้อีกด้วย โดยอ้างจากคนส่วนมากเป็นสำคัญ ซึ่งเขาคาดว่าในอนาคต หากเวลาไปซื้อคอมพิวเตอร์จากแบรนด์ใหญ่ๆ เช่น HP , Dell น่าจะมีการติดไว้เลยว่าเครื่องนี้สามารถเล่นเกมไหนของ Wildtangent ได้บ้าง
- ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกมนั้นขายได้มาก ๆ เกินกว่า 80% ของทุนสร้างเกิดขึ้นจากอาร์ทภายในเกมเป็นตัวช่วยสำคัญ และเขาก็จะเน้นการสร้าง Animation ให้กับตัวเกมมากกว่านี้ เพราะเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ที่ชอบเล่นเกมต้องการเกมที่มีการเคลื่อนไหวสมจริง
- เดิมทีแล้ว Directx ในช่วงแรก ๆ มีคอนเซปต์คือใช้การเชื่อมต่อที่เรียบง่าย และให้ประสิทธิภาพสูงสุด และไม่ซับซ้อนสำหรับผู้พัฒนา แต่ในปัจจุบันเขากล่าวว่ามันหลุดคอนเซปต์ไปเยอะมาก ๆ ทั้งในด้านประสิทธิภาพและความง่ายในการใช้
- ปัจจุบันทั้งซีพียูและจีพียูต่างแยกกันอยู่คนละตัว ทำให้การคำนวนทางด้านเวกเตอร์ และการเรนเดอร์นั้นดูไม่สอดคล้องกัน เช่นโลกในเกมอาจจะสวยงามแต่ท่าทางของตัวละคร การตอบสนองมันกลับไม่ได้เรื่อง เขามองว่าการที่ในอนาคตทั้งอินเทลและเอเอ็มดีจะรวมทั้งซีพียูและจีพียูเข้าไปในอันเดียวกัน (น่าจะภายในช่วงปี 2009) จะเป็นจุดฟื้นฟูอีกจุดหนึ่งของพีซี และในขณะนั้นก็จะเป็นขาลงของคอนโซลเช่นกัน
- สุดท้ายเขาได้กล่าวว่าตอนนี้เป็นยุคที่สำคัญ เปรียบได้เหมือนกับการสิ้นสุดของยุคน้ำแข็ง และเราไม่สามารถที่จะทราบได้ถึงอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร จะมีสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นแน่นอน แต่ก่อนการมาของสิ่งใหม่ ๆ จะต้องมีการสิ้นสุดของบางสิ่งบางอย่างก่อน ซึ่งอาจจะเป็นการสิ้นสุดของยุค 3d หรือของคอนโซลและพีซีก็เป็นได้
เนื้อหาจาก : ExtremeTech
Create Date : 23 มีนาคม 2551 |
|
0 comments |
Last Update : 23 มีนาคม 2551 17:25:59 น. |
Counter : 545 Pageviews. |
 |
|
|
| |
|
 |
Steyr Commando |
|
 |
|
|