|
| 1 | 2 | 3 |
4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 |
11 | 12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 |
18 | 19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 |
25 | 26 | 27 | 28 | 29 | 30 | |
|
|
|
|
|
|
|
ใครกันแน่ ที่รักเราจริง
ธรรมชาติของคนที่มีความรัก ไม่ว่าจะอยู่ในวัยไหน แม้มีคู่ครองอยู่กับตัวแล้วก็ตาม อยู่กันไปอยู่กันมามักจะเกิดความสงสัย ชักไม่ค่อยแน่ใจว่า คนที่เราอยู่ด้วยกันทุกวันนี่ รักกันจริงหรือเปล่า จึงมักจะถามหาความมั่นใจต่อกันเสมอ เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า โดยเฉพาะเมื่อยามข้าวใหม่ปลามันผ่านพ้นไปแล้ว ข้อสงสัยนี้เป็นที่มาของเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง ที่เล่าต่อๆ กันมาหลายยุคหลายสมัย แต่ฟังทีไรก็ได้แง่คิดทางธรรมที่ดีครับ แต่จะใช่ธรรมะสำหรับการครองเรือนหรือไม่ ต้องลองติดตามอ่านดูครับ เรื่องมีอยู่ว่า มีชายเศรษฐีคนหนึ่ง มีภรรยาที่สวยงามพร้อมกันถึง 4 คน ภรรยาคนที่หนึ่ง ไม่ได้รับความรักและความสนใจใยดี จากชายผู้นี้เท่าไร กลับเป็นภรรยาคนที่ 2 ที่ชายเศรษฐีรักมาก ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด ปรนนิบัติ ห่วงใย หาบ้านสวยๆ ให้อยู่ หาอาหารดีๆ ให้รับประทาน หารถแพงๆ ให้ขับ หาเครื่องประดับแก้วแหวนเงินทอง ทุ่มเทให้อย่างไม่อั้น ในขณะที่ภรรยาคนที่ 3 ก็ได้รับความรักเช่นเดียวกัน หาทั้งบ้าน ที่ดิน กิจการต่างๆ ที่เป็นทรัพย์สิน ให้ครอบครองอยู่เสมอมิได้ขาด ส่วนภรรยาคนที่ 4 ก็ได้รับความรัก เป็นห่วงเป็นใย ไม่น้อยกว่าคนที่ 2 และคนที่ 3 เช่นกัน อยู่มาวันหนึ่ง ชายดังกล่าว ป่วยหนัก และคิดว่าเหลือเวลาที่จะมีชีวิตอยู่น้อยเต็มที จึงอยากจะรู้ถึงความรู้สึกของบรรดาภรรยาทั้ง 4 ที่มีต่อตน ว่าคนไหนจะรักตนมากที่สุด เพราะได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้จนหมดสิ้น คิดดังนั้น ชายคนนี้จึงได้เรียกภรรยาคนที่ 2 ซึ่งรักมากที่สุด มาไต่ถามว่า "หากฉันต้องตายลงไป เธอจะทำยังไรกับฉัน" ภรรยาคนที่ 2 อึกอักอยู่ครู่หนึ่งก็ตอบว่า "เราคงต้องแยกจากกัน พี่ตายไปแล้วเราก็อยู่กันคนละส่วนน่ะซิ" เศรษฐีได้ฟังก็เสียใจมาก รู้สีกว่าภรรยาไม่ได้รักตน เท่าที่ตนได้ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างให้เลย จึงลองถามภรรยาคนที่ 3 ดู ด้วยคำถามเดียวกัน ก็ได้คำตอบว่า "เราก็ต้องสิ้นสุดกันลงไป ฉันก็คงจะอาลัยอาวรณ์ไม่น้อย" เศรษฐีก็ไม่ได้รู้สึกดีขึ้นเท่าไร จึงไปถามภรรยาคนที่ 4 ซึ่งตอบว่า "ฉันก็จะจัดการงานศพให้อย่างดีไม่ขาดตกบกพร่อง จะรักษาทรัพย์สมบัติของเธอไว้ให้อยู่ตลอดไป จะดูแลลูกของเราให้ดีที่สุด ขอเธออย่าได้ห่วงเลย" เศรษฐีก็รู้สึกดีขึ้น แต่ก็ยังว้าเหว่ว่าไม่มีใครทุกข์ร้อน หากตนต้องจากไป จึงลองไปถามภรรยาคนที่ 1 ซึ่งตนไม่ได้รัก ไม่ค่อยดูแลเอาใจใส่เท่าไร ภรรยาคนที่ 1 ตอบว่า "ฉันก็จะจักติดตามเธอไปทุกหนทุกแห่ง เธอจะไปอยู่ชาติไหน ภพไหน ฉันก็จะติดตามเธอไปไม่ให้คลาดคลา" เศรษฐีได้ฟังดังนั้น ก็ปลาบปลื้มมากว่า ภรรยาคนนี้นี่เองที่รักเราจริง ไม่ปล่อยให้เราตายจากไปคนเดียว พร้อมทั้งรู้สึกผิด ที่ไม่ได้ให้ความรักเท่าคนอื่นๆ หลังจากนั้นไม่นานเศรษฐีก็ตายจากไป ธรรมะเรื่องนี้ อาจารย์เรณู ทัศณรงค์ จากยุวพุทธิกสมาคม แห่งประเทศไทย ได้กรุณาเฉลยข้อธรรมว่าความจริงแล้ว ชายเศรษฐีผู้นี้ อุปมาก็คือตัวตนของเรานี่เอง ภรรยาคนที่ 2 ก็คือ ร่างกายของเรา ที่คนเราทุกคนต้องดูแล ขัดสีฉวีวรรณ หาเสื้อผ้าดีๆให้ใส่ หาเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ บำรุงบำเรอให้ครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ของใช้ ทรัพย์สินแพงๆ ก็เพื่อปรนเปรอให้กายนี้ ดำรงอยู่ได้ในโลก ภรรยาคนที่ 3 ก็หมายถึง ทรัพย์สมบัติพัสถาน บ้านที่ดินกิจการต่างๆ ที่หามาได้ในยามที่มีชีวิตอยู่ ส่วนภรรยาคนที่ 4 นั้นหมายถึง ครอบครัว ภรรยา สามี บุตร ธิดา ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง ที่มีความสัมพันธ์กัน ความผูกพันกัน สำหรับภรรยาคนที่ 1 ก็คือกรรมดีและกรรมชั่ว หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ บุญหรือบาปนั่นเอง ที่จะติดตามคนเราไปทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าเราจะไปอยู่ชาติใดภพใด บุญและบาปนี้ก็ยังคงติดตามเราไปทุกที่ เพื่อแสดงผลโดยไม่เลือกกาลเวลา สถานที่ หากทำแต่กรรมดี ก็จะส่งผลให้ผู้นั้นประสบแต่ความสุข สบาย เจริญอยู่ในศีลในธรรม จะทำกิจการใดก็สมความปรารถนา ในขณะที่ถ้าทำบาป สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะตรงกันข้ามกัน ต่างกันก็ตรงความรุนแรงของบาปนั้นเอง ว่าใครทำกรรมชั่วไว้มากน้อยแค่ไหน ท่านผู้อ่าน พอจะมองเห็นภาพแล้วน่ะครับว่า จริงๆ แล้วใครกันแน่ ที่รักเราจริง ภรรยาคนที่ 1 นั่นเองที่พร้อมจะไปกับเราทุกๆ ที่ ท่านทั้งหลายหากจะหันกลับมาเอาใจใส่ดูแล สร้างบุญสร้างกุศลให้กับเธอ ก็จะเป็นการดีไม่น้อยนะครับ สร้างได้ไม่ยากเลยครับ บุญสูงสุดนั้นอยู่ในกายในใจเราแล้ว เพียรหมั่นเจริญสติสัมปชัญญะให้บ่อยๆ ให้ต่อเนื่อง เท่าที่จะสามารถระลึกรู้ได้ นอกจากนี้ หากท่านใดจะมองในแง่ทางโลก คือหันมาให้ความสำคัญกับภรรยาคนที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว ไม่มีที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ก็จะเป็นเรื่องของการใช้ธรรมะเข้ามาครองเรือน ได้บุญได้กุศลทั้ง 2 อย่างครับ คนเราส่วนใหญ่มักชอบมีสอง หนึ่งไม่เคยพอ และที่สำคัญอะไรที่รู้ว่าเป็นของเราแน่ๆ มักไม่ค่อยทะนุถนอม ไม่ให้ความสำคัญ มักจะชอบลองของใหม่ เพลิดเพลินหลงใหลได้ปลื้มกับของสวยงามฉาบฉวยที่ผ่านเข้ามาชั่วครั้งชั่วคราว โดยลืมที่จะพิจารณาถึงสภาพความรู้สึก การสัมผัสภายในจิตใจที่จับต้องได้ยากด้วยกายหยาบ ดั่งคำสอนของครูบาอาจารย์ที่เคยฝากเอาไว้ว่า ข้าวหม้อ แกงหม้อก็พอแล้ว อย่าไปสรรหายำไก่นอกหม้อที่พิสดารเลย/b> ดีไม่ดีอาจได้ของแถมอย่างอื่นติดมาด้วย และที่สำคัญ คือ แม้หลายท่านอาจจะยังไม่เชื่อเรื่องภพชาติ เรื่องบุพเพสันนิวาส แต่หากได้เจอะเจอคนที่เรามั่นใจแล้วว่าเป็นคู่ชีวิตก็ควรจะให้เวลา ให้โอกาส ใช้เวลาอยู่กับเขาให้ดีๆ คอยดูแลเอาใจใส่ อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปแต่ละวันโดยไม่พยายามเก็บเกี่ยวสิ่งที่ดีที่สุด และอย่ามัวแต่ไปเพ่งเล็งจุดที่บกพร่อง ไม่ได้ดั่งใจ เมื่อเราได้มีสภาวะธรรมถึงระดับหนึ่ง ก็จะรู้ได้ว่าแม้แต่ตนเองยังบังคับบัญชาให้เป็นไปตามต้องการไม่ได้ แถมยังเต็มไปด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานมากมาย แล้วจะไปคาดหวังอะไรจากผู้อื่น กาลเวลานั้นหวนคืนมาไม่ได้ เปรียบเสมือนสายน้ำที่ไหลผ่านไป และเมื่อวันที่เราได้สำนึกรู้และตระหนักว่าใครกันแน่ที่รักเราจริง วันนั้นอาจจะสายเกินไปแล้วก็เป็นได้ อย่าต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ในชาติหน้าเลยนะครับ
ดนัย จันทร์เจ้าฉาย โดย ผู้จัดการออนไลน์ 8 กรกฎาคม 2545
Create Date : 15 มิถุนายน 2549 |
|
0 comments |
Last Update : 15 มิถุนายน 2549 13:34:57 น. |
Counter : 568 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|