Economic Review
Group Blog
 
 
ตุลาคม 2550
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
8 ตุลาคม 2550
 
All Blogs
 
ผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษีต่อภาคการผลิตไทย

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการเพื่อคาดการณ์ผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษีใน 5 มาตรการได้แก่ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) มาตรการอุปสรรคทางการค้าด้านเทคนิค (Technical Barriers to Trade: TBT) มาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) มาตรการสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Trade-Related Environmental Measures) และมาตรฐานแรงงาน (Trade and Labour Standard) จากการสำรวจโดยวิธีสัมภาษณ์ผู้ประกอบการใน 9 กลุ่มสินค้า จำนวน 400 ตัวอย่าง

1) ลำดับผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษีต่อกลุ่มสินค้าต่างๆ
การจัดลำดับผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษีต่อกลุ่มสินค้าต่างๆ จะพิจารณาผลกระทบทั้ง 5 มาตรการ จากการสอบถามพบว่า มาตรการที่ผู้ประกอบการทุกกลุ่มสินค้าได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เฉลี่ยร้อยละ 42.24 โดยกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ SPS มากที่สุดเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกันทั้ง 5 มาตรการได้แก่ ปศุสัตว์ ประมงและประมงแปรรูป ผักผลไม้ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และ ยาและเครื่องสำอาง
สำหรับมาตรการที่ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบรองลงมา คือ มาตรการอุปสรรคทางการค้าด้านเทคนิค ซึ่งมีกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ TBT มากที่สุด ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์และชิ้นส่วน และเฟอร์นิเจอร์และวัสดุภัณฑ์ไม้

2) การคาดการณ์ผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษี พิจารณาเฉพาะมาตรการ SPS และ TBT
การคาดการณ์ผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษีในส่วนนี้เป็นการคาดการณ์ผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษี โดยเฉพาะมาตรการ SPS และ TBT ของปี 2550 ซึ่งจะพิจารณา 3 ด้าน ได้แก่ การจ้างงาน ต้นทุนการผลิต และการส่งออก

ด้านการจ้างงาน
การคาดการณ์ผลกระทบของการจ้างงานพบว่า มาตรการ SPS ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในกลุ่มผักผลไม้ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืชมากที่สุด คือ ทำให้มีการจ้างงานลดลง ร้อยละ 9.09 รองลงมาเป็น กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มสินค้าปศุสัตว์ ซึ่งมีการจ้างงานลดลง ร้อยละ 7.85 และ ร้อยละ 7.62 ตามลำดับ สำหรับมาตรการ TBT จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนมากที่สุด คือ ทำให้มีการจ้างงานลดลงร้อยละ 9.00 รองลงมาเป็นกลุ่มสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมาตรการ TBT จะทำให้มีการจ้างงานลดลง ร้อยละ 8.47 และ 7.81 ตามลำดับ แต่เมื่อพิจารณากลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากทั้ง 2 มาตรการ คือกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และวัสดุภัณฑ์ไม้ จะพบว่ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะมีการจ้างงานลดลง ร้อยละ 15.52 ในขณะที่กลุ่มเฟอร์นิเจอร์และวัสดุภัณฑ์ไม้ มีการจ้างงานลดลงร้อยละ 14.50 และเมื่อพิจารณารวมทุกกลุ่มสินค้าจะเห็นได้ว่ามาตรการที่มิใช่ภาษี ที่เป็นมาตรการประเภท SPS จะทำให้การจ้างงานลดลงเฉลี่ยร้อยละ 7.15 ส่วนมาตรการ TBT จะทำให้การจ้างงานลดลงร้อยละ 8.09
ด้านต้นทุนการผลิต
สำหรับด้านต้นทุนการผลิตการคาดการณ์ผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษีพบว่า ในส่วนของมาตรการ SPS กลุ่มสินค้าประมงและประมงแปรรูปได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตมากที่สุด โดยมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.08 คิดเป็น 291.42 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มผักผลไม้ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ซึ่งมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.94 และ 7.69 คิดเป็น 793.83 และ 161.70 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนผลกระทบของมาตรการ TBT ที่มีต่อต้นทุนการผลิตนั้น กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการที่มิใช่ภาษีมากที่สุด คือร้อยละ 8.03 คิดเป็นมูลค่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น 1,929.35 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และเฟอร์นิเจอร์และวัสดุภัณฑ์ไม้ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.50 และ 7.31 โดยคิดเป็นมูลค่า 749.84 และ 72.46 ล้านบาทตามลำดับ
นอกจากนี้เมื่อพิจารณากลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากทั้งมาตรการ SPS และ TBT จะพบว่ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มจะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.44 ส่วนกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และวัสดุภัณฑ์ไม้ มีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.51 โดยคิดเป็นมูลค่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเท่ากับ 1,543.67 และ 114.09 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาทุกกลุ่มสินค้าจะพบว่า มาตรการ SPS จะทำให้กลุ่มสินค้าที่ทำการสินค้ามีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6.83 และคิดเป็นมูลค่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 1,477.57 ล้านบาท ส่วนมาตรการ TBT จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.21 คิดเป็นมูลค่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นรวม 3,602.92 ล้านบาท

ด้านการส่งออก
สำหรับการคาดการณ์ผลกระทบของมาตรที่มิใช่ภาษีที่มีผลต่อการส่งออก จะพบว่ากลุ่มสินค้าประมงและประมงแปรรูปได้รับผลกระทบจากมาตรการ SPS มากที่สุด โดยมีการส่งออกลดลงร้อยละ 7.42 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ลดลง 257.59 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มปศุสัตว์ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 6.56 และ 5.85 คิดเป็น 67.13 และ 58.02 ล้านบาท ส่วนสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ TBT จะพบว่ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีการส่งออกลดลงมากที่สุด คือ ร้อยละ 7.33 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ลดลงเท่ากับ 75.01 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งมีการส่งออกลดลงร้อยละ 7.00 และ 6.75 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ลดลงเท่ากับ 2,772.95 และ 758.39 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และวัสดุภัณฑ์ไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่ประสบกับมาตรการที่มิใช่ภาษีทั้งมาตรการ SPS และ TBT นั้นจากผลการศึกษาจะเห็นได้ว่า กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีการส่งออกลดลงรวมทั้งสิ้น ร้อยละ 13.89 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ลดลง 142.14 ล้านบาท และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และวัสดุภัณฑ์ไม้มีการส่งออกลดลงร้อยละ 10.47 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ลดลง 100.72 ล้านบาท
และเมื่อพิจารณาทุกกลุ่มสินค้าจะพบว่า มาตรการ SPS จะทำให้การส่งออกลดลงเฉลี่ยร้อยละ 5.53 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ลดลงรวมทั้งสิ้น 528.64 ล้านบาท ในขณะที่มาตรการ TBT จะทำให้การส่งออกลดลงเฉลี่ยร้อยละ 6.52 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกที่ลดลงรวมทั้งสิ้น 3,868.35 ล้านบาท และทั้ง 2 มาตรการจะทำให้การส่งออกมีมูลค่าลดลงรวมกัน 4,396.99 ล้านบาท





3) การคาดการณ์มูลค่าการส่งออกที่ลดลงจากมาตรการที่มิใช่ภาษี
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาการคาดการณ์ผลกระทบของมาตรการ NTMs ต่อการส่งออกแยกตามประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

สหรัฐอเมริกา
สำหรับการคาดการณ์ผลกระทบของมาตรการ NTMs ต่อการส่งออกเมื่อพิจารณาตามประเทศคู่ค้าที่สำคัญ จากตารางที่ 6 จะพบว่าการส่งออกไปอเมริกามีมูลค่าลดลงมากที่สุด คิดเป็น 707.72 ล้านบาท รองลงมาเป็น สหภาพยุโรป 669.35 ล้านบาท และ ญี่ปุ่น 576.39 ล้านบาทตามลำดับ โดยกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังอเมริกาลดลงมากที่สุด ได้แก่ กลุ่มประมงและประมงแปรรูป ผักผลไม้ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และกลุ่มเฟอร์นิเจอร์และวัสดุภัณฑ์ไม้

ญี่ปุ่น และ สหภาพยุโรป
สำหรับกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกไปญี่ปุ่นลดลงมากที่สุด มีเพียง 2 กลุ่ม เท่านั้น คือ อาหารและเครื่องดื่ม และยาและเครื่องสำอาง และกลุ่มสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกไปสหภาพยุโรปลดลงมากที่สุด คือ กลุ่มปศุสัตว์ และกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน

4) ผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษีที่มีต่อภาคการผลิตในสาขาต่างๆ
การลดลงของมูลค่าการส่งออกอันเนื่องมาจากมาตรการ NTMs ทำให้ภาคการผลิตในสาขาอื่นๆ ได้รับผลกระทบต่อเนื่องกันไป โดยการลดลงของมูลค่าการส่งออกของกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ภาคการผลิตในสาขาต่างๆ ลดลงมากที่สุด ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการผลิตที่ลดลงเท่ากับ 3,360.61 ล้านบาท รองลงมาเป็นกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน และกลุ่มประมงและประมงแปรรูป มูลค่าการผลิตที่จะลดลง 919.10 และ 316.31 ล้านบาท ตามลำดับ

สำหรับภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกอันเนื่องมาจากมาตรการ NTMs มากที่สุดคือ การผลิตในสาขาโลหะประดิษฐ์ ซึ่งคิดเป็นมูลค่าการผลิตที่ลดลง 3,674.11 ล้านบาท รองลงมาเป็นการผลิตในสาขาประมง และสาขาสิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ซึ่งมีมูลค่าการผลิตที่ลดลง 271.17 และ 252.65 ล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ผลกระทบจากการลดลงของมูลค่าการส่งออกอันเนื่องมาจากมาตรการ NTMs จะทำให้มูลค่าการผลิตรวมในสาขาต่างๆ ลดลงรวมกันทั้งสิ้น เท่ากับ 5,327.41 ล้านบาท

5) ลำดับความรุนแรงของมาตรการที่มิใช่ภาษี
จากการคาดการณ์ผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษีในด้านต่างๆ ข้างต้น จึงนำมาจัดลำดับความรุนแรงของมาตรการที่มิใช่ภาษี โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านมูลค่าต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น มูลค่าการส่งออกที่ลดลง และมูลค่าการผลิตของภาคการผลิตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ลดลงอันเนื่องมาจากจากการลดลงของการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่มิใช่ภาษี

ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของมาตรการที่มิใช่ภาษี โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านต้นทุนการผลิต มูลค่าการส่งออก และมูลค่าการผลิตของภาคการผลิตอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อนำมาจัดลำดับความรุนแรงของมาตรการที่มิใช่ภาษีจะพบว่า สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการที่มิใช่ภาษีมากที่สุด ในขณะที่กลุ่มปศุสัตว์จะเป็นกลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการที่มิใช่ภาษีน้อยที่สุด

เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ต้นทุนของการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า ที่มากที่สุดและมีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดจากมาตรการที่มิใช่ภาษี เนื่องจากอาจเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนการผลิตหรือปรับตัวตามกฎระเบียบและมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศคู่ค้า ประกอบกับการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ต้นทุนการผลิตที่สูง สำหรับผลกระทบด้านการส่งออกก็เช่นเดียวกัน ถ้าผู้ประกอบการไม่สามารถปรับตัวตามกฎระเบียบหรือมาตรการที่มิใช่ภาษีของประเทศคู่ค้าได้แล้ว ย่อมจะทำให้การส่งออกมีมูลค่าลดลงตามไปด้วย


Create Date : 08 ตุลาคม 2550
Last Update : 8 ตุลาคม 2550 15:36:29 น. 0 comments
Counter : 647 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

dFLY
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




อ่านแล้วรวยกันทุกคนครับ
Friends' blogs
[Add dFLY's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.