Group Blog
 
 
กันยายน 2554
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
16 กันยายน 2554
 
All Blogs
 
เปิดทัศนะ "หมอเบิร์ท" เลี้ยงลูกอย่างไรโตไปไม่คิดสั้น! (พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์)

เปิดทัศนะ "หมอเบิร์ท" เลี้ยงลูกอย่างไรโตไปไม่คิดสั้น! พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์

ในยุคที่โลกซับซ้อน และเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เด็กรุ่นหลัง ๆ จึงถูกแรงเหวี่ยงของโลกสมัยใหม่ซัดหัวทิ่มหัวตำอยู่ตลอดเวลา หากพ่อแม่ยังเฉยชา และไม่รีบสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับลูก นอกจากเด็กจะถูกเหวี่ยงให้ล้มง่าย ๆ แล้ว ยังขาดเรี่ยวแรงที่จะยืนตรงขึ้นมาใหม่ได้ด้วยตัวเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ อาจนำไปสู่การหนีปัญหามากกว่าเผชิญปัญหา ส่งผลให้แนวโน้มที่เด็กจะคิดสั้นฆ่าตัวตายย่อมเกิดได้สูง โดยสถิติเด็กไทยฆ่าตัวตายทั่วประเทศเคยสำรวจพบปีละ 600 คน เฉลี่ยวันละ 2 คน โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นมีความเสี่ยงสูงสุด สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด และน้อยใจพ่อแม่

ความน่าเป็นห่วงข้างต้น ทีมงาน Life & Family ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ หรือ "หมอเบิร์ท" จิตแพทย์โรงพยาบาลศรีธัญญา อดีตนางสาวไทยปี 2542 โดยเธอสะท้อนให้ฟังว่า เด็กรุ่นใหม่มีการนับถือตัวเองน้อยลง มีการจัดการกับความกังวลและความเครียดต่าง ๆ ได้ไม่ค่อยดี ทำให้ล้มแล้วลุกยาก ขาดพลังที่จะต่อสู้กับปัญหา ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และผู้ใหญ่ในสังคมที่ขาดความเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก

"เด็กทุกคนเกิดมาเป็นเจ้าหญิงเจ้าชาย แต่พอค่อย ๆ เติบโตมา พ่อแม่เองนั่นแหละที่เริ่มเปลี่ยนให้พวกเขากลายเป็นกบ ซึ่งเรากำลังพูดถึงเรื่องความมั่นใจ และความภูมิใจในตัวเอง หรือ Self ของเด็ก เนื่องจากเด็กทุกคนมีความเชื่อมั่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่เมื่อผู้ใหญ่ในสังคมตัดสินเขาจากผลงาน เช่น ไม่สวย หรือพ่อแม่ชอบแต่จับผิด และไม่ค่อยชมเชย

เป็นไปได้ที่เด็กจะค่อย ๆ สะสมความไม่มั่นใจจนกลายเป็นความน้อยใจและไม่เชื่อมั่นในคุณค่าของตัวเอง ทำให้ Self ข้างในไม่แข็งแรง โอกาสที่เด็กจะรับมือ หรือทนอยู่กับสภาพปัญหาต่าง ๆ ย่อมเกิดได้น้อยลง ดังนั้นผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ หรือเปล่าที่ทำให้เด็กมองข้ามคุณค่าในตัวเองที่มีมาตั้งแต่เกิดเหล่านั้นไป" คุณหมอเบิร์ทขยายภาพของปัญหาพร้อมกับตั้งคำถามต่อสังคมถึงปัญหาที่เกิดขึ้น

นอกจากเรื่องของคุณค่าในตัวเด็กที่ควรให้ความสำคัญแล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังต้องเข้าใจลูกตามวัย และคอยปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนทั้งการแสดงออก และใช้คำพูดอย่างเหมาะสมด้วย โดยเฉพาะในเด็กวัยรุ่นที่กำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต และมีปัจจัยเรื่องฮอร์โมนเข้ามาเกี่ยวข้อง

"พอลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น มันมีเรื่องปัจจัยฮอร์โมน และพัฒนาการตามวัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่พ่อแม่บางท่านยังคงยึดติดอยู่กับแนวการเลี้ยงลูกตอนเด็ก คือ บอกอะไรก็ต้องเชื่อฟัง แต่พอโตเป็นวัยรุ่น กลับดื้อดึง ไม่เชื่อฟังเหมือนแต่ก่อน ตรงนี้ถ้ายิ่งไปกดดัน หรือต่อว่ามากเกินไป เด็กจะรู้สึกอึดอัด และน้อยใจจนไม่อยากทำอะไร เพราะเด็กรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่รัก และไม่เข้าใจ ยิ่งมีภูมิคุ้มกันทางใจต่ำด้วยแล้ว เด็กยิ่งมีความเสี่ยงต่อการคิดสั้นได้สูง" คุณหมอเบิร์ทเผย

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เด็ก และวัยรุ่นมีอัตราการคิดฆ่าตัวตายนั้น มีงานวิจัยหลาย ๆ ชิ้นระบุว่า เกิดจากการขยายตัวของสังคม และสภาพการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวัตถุ หรือให้เงินใช้แทนการเอาใจใส่ดูแล หรือตามใจเด็กมากเกินไป จนทำให้เด็กไม่รู้จักการปรับตัวเอง และขาดทักษะในการแก้ปัญหา

สอดรับกับงานวิจัยของกรมสุขภาพจิตเรื่อง "ปัจจัยด้านครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กับการพยายามฆ่าตัวตายของประชาชนจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย" ที่เคยเก็บข้อมูลจากครอบครัวผู้พยายามฆ่าตัวตายในทุกอำเภอของจังหวัดตรังจำนวน 30 ครอบครัว และครอบครัวที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันจำนวน 30 ครอบครัวเมื่อปี 2551 พบว่ามี 5 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญดังต่อไปนี้

1. การสื่อสารในครอบครัวที่ไม่เข้าใจกัน มีการใช้คำพูดที่รุนแรง คำด่าทอ เช่น “มึงโง่” โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่มักได้ฟังคำพูดจากพ่อแม่ ผู้ปกครองหรือญาติว่า "อยู่ไปก็ไม่ได้ทำประโยชน์ให้ใคร ให้ไปตายเสีย" คำพูดเหล่านี้อาจสร้างความน้อยใจให้เกิดขึ้นกับลูกโดยที่ไม่มีใครรู้

2. สัมพันธภาพในครอบครัวที่พ่อแม่ลูก หรือคนในครอบครัวเดียวกันไม่มีการพูดคุย ปรึกษาหารือกันและกัน และไม่มีเวลาให้กันอย่างเพียงพอ ทำให้ไม่ทราบเรื่องราวความเป็นไปในชีวิตของแต่ละคน จึงไม่สามารถช่วยกันคิดแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น นำไปสู่การคิดว่าหาทางออกไม่เจอของใครคนใดคนหนึ่ง จนคิดแก้ปัญหาในทางที่ผิดด้วยการฆ่าตัวตาย

3. วิธีการเลี้ยงดูแบบกดขี่ สั่งการ โดยพ่อแม่มักคิดเองว่าลูกต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่ฟังความต้องการหรือความคิดเห็นของอีกฝ่าย

4. การปรับตัวของสมาชิกในครอบครัวต่อปัญหาเศรษฐกิจและความเครียด เกิดการแสดงออกหรือมีท่าทีที่ทำให้สัมพันธภาพของคนในครอบครัวห่างไกลกันมากขึ้น

5. บทบาทของสมาชิกในครอบครัว สมาชิกบางคนอาจรู้สึกตนเองไม่มีคุณค่าที่จะอยู่ในครอบครัวต่อไป ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการถูกตอกย้ำความไร้ค่าจากสมาชิกคนอื่น ๆในครอบครัวเดียวกัน

ดังนั้น วิธีที่จะช่วยเด็กดับทุกข์ทางใจแทนการดับชีวิตตัวเองนั้น คุณหมอเบิร์ทให้แนวทางว่า คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกต และเข้าใจพฤติกรรมลูกตามวัย โดยเฉพาะลูกวัยรุ่นที่มักจะคัดค้าน และอยากออกเสียง จึงไม่ควรแสดงพฤติกรรม หรือโต้ตอบด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม และแทงใจดำ เพราะวัยรุ่นเป็นช่วงวัยที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่วัยผู้ใหญ่ เขาจึงต้องการเหตุผล และต้องการความรัก และคนเข้าใจ

"เวลาที่ไม่อยากให้ลูกทำอะไร ควรมีการนั่งพูดคุยกันว่า ที่ไม่ให้ทำเพราะอะไร พร้อมกับเปิดโอกาสให้ลูกได้เป็นผู้ตัดสินใจเองเหมือนกับเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง นอกจากนี้ หน้าที่ของพ่อแม่ต้องทำให้ลูกเชื่อ และมองชีวิตตามความเป็นจริง เช่น ผิดได้ พลาดได้ พ่ายแพ้ได้ ไม่กลัวการผิดหวัง แต่เด็กทุกวันนี้กลัว และกดดัน เพราะไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวัง พอไปเจอกับสถานการณ์จริงกลับรับสภาพไม่ได้ นั่นเพราะภูมิคุ้มกันทางใจไม่มี ดังนั้นครอบครัวคือจุดเปลี่ยนทุกอย่าง" คุณหมอเบิร์ทสรุป




Create Date : 16 กันยายน 2554
Last Update : 16 กันยายน 2554 20:44:49 น. 0 comments
Counter : 2479 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

tangmo_tsu
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




Friends' blogs
[Add tangmo_tsu's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.