Group Blog
 
 
มิถุนายน 2553
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
27282930 
 
30 มิถุนายน 2553
 
All Blogs
 
ข้าวสังข์หยด จ.พัทลุง

ข้าวสังข์หยด จ.พัทลุง
ข้าวสังข์หยดพัทลุง เป็นข้าวพันธุ์สังข์หยดที่ปลูกในจังหวัดพัทลุง โดยไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูก ไม่มีการตรวจรับรองแปลงปลูกพืชตามระบบการจัดการคุณภาพ หากจะพูดง่ายๆ คือ ข้าวสังข์หยดที่ปลูกกันโดยทั่วไป
ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวสังข์หยดจีไอ (GI) ข้าวสังข์หยดสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ทั้ง 3 ชื่อ หมายถึง ข้าวสังข์หยดที่ผลิตตามระบบการตรวจรับรองการผลิตตามระบบการจัดการคุณภาพ (GAP) และภายใต้เงื่อนไขของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งจะเรียกกันตามถนัดของแต่ละคน แต่ถ้าให้ถูกต้องจริงๆ ต้องเรียกว่า “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” ขอเน้น มีคำว่าเมืองพัทลุงด้วย เพื่อให้เห็นความแตกต่างทั้งแต่ชื่อ ตลอดจนถึงคุณภาพด้วย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical indication ย่อว่า GI) โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศรับรองตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2549 ถือเป็นข้าวจีไอ หรือข้าวที่เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์พันธุ์แรกของประเทศไทย ในชื่อว่า “ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง” มีผลทำให้ข้าวสังข์หยดได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายในสิทธิของชุมชนผู้ผลิต เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาคุณภาพข้าวสังข์หยดที่ผลิตในท้องถิ่น เพิ่มมูลค่าของข้าวสังข์หยด เพราะเครื่องหมาย จีไอ เป็นเสมือนเครื่องหมายทางการค้าที่รับรองคุณภาพของข้าวสังข์หยด ส่งเสริมให้ผู้ผลิต ผู้แปรรูปในท้องถิ่นได้รักษามาตรฐานสินค้า ส่งเสริมอุตสาหกรรมในท้องถิ่น กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น สร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ทั้งยังสร้างชื่อเสียงแก่ชุมชน จังหวัด ตลอดถึงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น
ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง จะต้องปลูกในพื้นที่จังหวัดพัทลุงเท่านั้น ผู้ผลิตจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ก่อนเริ่มทำการผลิต ซึ่งจะต้องปลูกข้าวในฤดูนาปี ระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ใช้เมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ไม่มีสิ่งเจือปน จากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง หรือหน่วยงานอื่นที่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ การเก็บเกี่ยวต้องเก็บเกี่ยวในเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ในระยะพลับพลึง หลังจากเก็บเกี่ยวแล้ว จะต้องเก็บรักษาข้าวให้มีความชื้น 14-15 เปอร์เซ็นต์ ผู้ผลิตจะต้องมีระบบการบันทึกข้อมูลการจัดการ หรือสามารถตรวจสอบได้ ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ระบบการปลูกและคุณภาพข้าวเปลือก ข้าวสาร และที่สำคัญตามมาตรฐานข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง กำหนดให้ต้องขึ้นทะเบียน และการดูแลปฏิบัติให้เป็นไปตามระบบการจัดการคุณภาพ (GAP) และต้องผ่านการตรวจรับรองจากหน่วยงานตรวจรับรอง คือ ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรพัทลุง ส่วนผู้แปรรูปหรือโรงสี ก็ต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ก่อนทำการแปรรูปข้าว คงพอทำให้เข้าใจข้าวสังข์หยดมากขึ้น ในตอนที่ 2 จะเขียนเรื่องมาตรฐานข้าวเปลือก ข้าวสาร และแหล่งผลิต แหล่งแปรรูป แหล่งจำหน่ายหลังจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ในปี 2549 จังหวัดพัทลุง ได้ขับเคลื่อนการผลิตข้าวสังข์หยดทันทีภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด
ด้านนายไพรวัลย์ ชูใหม่ นักวิชาการสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ในปีการผลิต 2549/50 เกษตรกรในจังหวัดพัทลุง เข้าร่วมโครงการ 229 ราย พื้นที่ปลูก 342 แปลง เนื้อที่ 1,820 ไร่ ในอำเภอเมืองพัทลุง เขาชัยสน ควนขนุน ปากพะยูน และบางแก้ว เก็บเกี่ยวผลผลิต ตั้งแต่ปี 2550 ได้ 634.8 ตัน พอปีการผลิต 2550/51 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 22 กลุ่ม เกษตรกร 405 ราย พื้นที่ปลูก 2,549 ไร่ (ในพื้นที่ 5 อำเภอ เช่นเดียวกับปี 2549/50) มีการตรวจประเมินตามมาตรฐานการจัดการ คุณภาพ GAP และข้อกำหนด GI ปรากฏว่ามีเกษตรกร 365 ราย พื้นที่ปลูก 2,474 ไร่ ที่ผ่านการตรวจประเมิน และมีการรับสมัครโรงสีแปรรูปข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มีโรงสีที่ผ่านการตรวจประเมินจากคณะกรรมการ จำนวน 4 โรง คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขากลาง โรงสีโชคจาฤมล วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวชุมชนตำนาน และสหกรณ์การเกษตรแม่บ้านภักดีร่วมใจจำกัด ปีการผลิต 2551/52 เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 6 ตำบล 5 อำเภอ พื้นที่ 1,800 ไร่ ผลิตได้ 654 ตัน มีโรงสีผ่านการ
ประเมิน 3 โรง คือโรงสีสหกรณ์การเกษตรแม่บ้านภักดีร่วมใจจำกัด เลขที่ 209 หมู่ 6 ตำบลดอนประดู่ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง 08-1098-9686 โรงสีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเขากลาง เลขที่ 7 หมู่ 13 ตำบลปันแต อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง 08-7286-6446 และโรงสีวิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวซ้อมมือบ้านปาบ เลขที่ 4 หมู่ 7 ตำบลเขาเจียก อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง 08-1368-1381
ปีการผลิต 2552/53 ที่กำลังเข้าสู่ฤดูการทำนาอยู่ขณะนี้ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจาก 5 อำเภอ จำนวน 13 กลุ่ม คือ อำเภอเมืองพัทลุง เขาชัยสน ควนขนุน ป่าพะยอม และป่าบอน พื้นที่ปลูก 2,500 ไร่ ซึ่งแต่ละกลุ่มได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจมาตรฐานและข้อกำหนดต่างๆ กันไปแล้ว และเกษตรกรจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดการคุณภาพ GAP ตามเกณฑ์ 8 ข้อ และข้อกำหนด GI ที่กำหนด เพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวสังข์หยด ที่เป็นข้าวจีไอ ตามมาตรฐาน ดังนี้ข้าวเปลือกตามมาตรฐานข้าวสังข์หยดจีไอ จะต้องเป็นข้าวที่ปลูกในจังหวัดพัทลุงเท่านั้น ผู้ผลิตจะต้องขึ้นทะเบียนกับสำนักงานเกษตรอำเภอในท้องที่ และยอมรับเงื่อนไขการตรวจรับรองเมล็ดพันธุ์ที่จะต้องได้มาจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง ศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง ศูนย์ข้าวชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตร ที่ได้รับการการรับรองและผลิตเมล็ดพันธุ์ในจังหวัดพัทลุง เมล็ดพันธุ์ใช้ทำพันธุ์ไม่เกิน 3 ฤดูกาลปลูกปลูกในฤดูนาปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคม-ตุลาคม เก็บเกี่ยว ในระยะพลับพลึง เก็บรักษาข้าวให้มีความชื้น 14-15 เปอร์เซ็นต์ ไม่นำข้าวพันธุ์อื่นมาปลูก ปนในแปลงปลูกข้าวสังข์หยด มีการจัดการพันธุ์ปนตามระยะที่กำหนด ข้าวเปลือกที่ได้ต้องมีความสะอาด บรรจุกระสอบแยกต่างหาก มีสิ่งเจือปนได้ไม่เกินร้อยละ 5 ข้าวบริสุทธิ์ ร้อยละ 98 และจะต้องบันทึกการปฏิบัติทุกขั้นตอน สามารถตรวจสอบได้นายไพรวัลย์ ยังกล่าวอีกว่า ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง มี 2 ประเภท คือ ข้าวกล้องและข้าวซ้อมมือซึ่งมีแตกต่างกัน เพียงแต่ข้าวกล้องกะเทาะเปลือกออกเท่านั้น ส่วนข้าวซ้อมมือ มีการขัดหรือทำให้เยื่อหุ้มเมล็ดออกไปบ้าง แต่ไม่เกินร้อยละ 30 ทั้งข้าวกล้อง และข้าวซ้อมมือแยกเป็น 2 ชนิดคือข้าว 100 เปอร์เซ็นต์ และข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ โดยข้าว 100 เปอร์เซ็นต์ จะต้องมีข้าวเต็มเมล็ดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 มีข้าวหักไม่เกินร้อยละ 5 มีเมล็ดข้าวเสียไม่เกินร้อยละ 0.75 ข้าวเปลือกปนได้ไม่เกินร้อยละ 1 และสิ่งเจือปนอื่นๆ ไม่เกินร้อยละ 5 และข้าว 5 เปอร์เซ็นต์ มีเมล็ดข้าวเต็มเมล็ดไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ข้าวหักได้ไม่เกินร้อยละ 7 เมล็ดข้าวเสียไม่เกินร้อยละ 1 ข้าวเปลือกปนได้ไม่เกินร้อยละ 1 และสิ่งเจือปนอื่นๆ ไม่เกินร้อยละ 6 จะเห็นว่ามาตรฐานค่อนข้างละเอียด
ด้านนายนัด อ่อนแก้ว ประธานวิสาหกิจชุมชนเขากลาง ที่ได้เริ่มผลิตข้าวสังข์หยดจีไอ มาตั้งแต่ต้น บอกว่าไม่เป็นปัญหาในการปฏิบัติเลย จะเป็นผลดีกับเกษตรกรมากกว่า เพราะข้าวที่ผลิตตามมาตรฐาน GAP และ GI ทางกลุ่มขายได้ราคาดีกว่าข้าวสังข์หยดทั่วไปถึงเกวียนละ 1,000 บาท และผลผลิตเฉลี่ยของกลุ่มอยู่ที่ไร่ละ 395 กิโลกรัม กลุ่มผลิตแบบครบวงจร คือ สมาชิกรับพันธุ์ข้าวไปปลูก ตามขั้นตอนที่กำหนด เก็บเกี่ยวเสร็จ กลุ่มรับซื้อจากสมาชิกมาจัดการแปรรูปเป็นข้าวสังข์หยดจีไอ ขายที่ OTOP อบจ., OTOP ที่ห้างเทสโก้โลตัส และร้านค้าในจังหวัดพัทลุง ขายส่งกิโลกรัม 45 บาท ในปี 2552/53 กลุ่มมีพื้นที่ปลูกเพิ่มจาก 1,400 ไร่ เป็น1,600 ไร่ คาดว่าปีนี้จะผลิตได้ประมาณ 600 เกวียนด้านนายอัครเดช จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิตสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เกี่ยวกับการขยายพื้นที่ปลูกข้าวสังข์หยด GI ที่ขยายพื้นที่ปลูกออกไปค่อนข้างน้อย ทราบว่า ด้านปริมาณเมล็ดพันธุ์ ที่ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวพัทลุง ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวสังข์หยด ปีละ 50 ตัน จะสามารถปลูกในพื้นที่ประมาณ 3,000ไร่ ศูนย์ฯ สามารถขยายการผลิตได้อีก แต่ต้องมีการวางแผนร่วมกันกับเกษตรกรที่ต้องการเมล็ดพันธุ์ล่วงหน้า 1 ฤดูกาล และเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินแปลงปลูกมีน้อย และอีกส่วนหนึ่งคือความพร้อมของเกษตรกรเองที่จะผลิตตามมาตรฐาน ทั้งจีไอ และจีเอพี
สังข์หยด ข้าวดีมีตำนาน คนพัทลุงโบราณสานสืบมา
คนรุ่นใหม่ใส่ใจในคุณค่า พัฒนาสร้างชื่อเลื่องเมืองลุงเอย

ไสว รุยันต์/พัทลุง




Create Date : 30 มิถุนายน 2553
Last Update : 30 มิถุนายน 2553 20:45:38 น. 2 comments
Counter : 1081 Pageviews.

 
สวัสดีค่ะ

เป็นคนพัทลุงค่ะ รู้จักแต่ข้าวสังข์หยดแต่ไม่เคยทราบเรื่องราวของเค้าเลยค่ะ ดีใจจังที่ได้เข้ามาอ่าน ขอบคุณที่นำมาแบ่งปันกันนะคะ


โดย: mamminnie วันที่: 30 มิถุนายน 2553 เวลา:21:07:52 น.  

 
ผมจำหน่าย ข้าวสังข์หยด ก.ก.ละ 34 บาท ร้านฮ่องเต้ค้าข้าว ตรงข้ามธ.ธนชาติ ประตูขาว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช


โดย: devin วันที่: 30 เมษายน 2555 เวลา:18:42:40 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

gsarakun
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add gsarakun's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.