นึกอะไรที่น่าจะเป็นประโยชน์ได้ก็จะเขียนไว้
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2549
 
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
2627282930 
 
27 พฤศจิกายน 2549
 
All Blogs
 

เรื่องชั่วๆของอเมริกา สอนกันมาให้เอาเปรียบ (แบ่งมา)

(แบ่งมา)

25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี 2549 (Censored 2007 : The Top 25 Censored Media Stories of 2005-2006)
Project Censored เป็นโครงการวิจัยทางด้านสื่อมวลชนของมหาวิทยาลัยโซโนมาสเตท สหรัฐอเมริกา มีเป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับบทบาทของสื่อมวลชนอิสระในสังคมประชาธิปไตย รวมทั้งวิพากษ์วิจารณ์การปิดกั้นข่าวและเซ็นเซอร์ตัวเองของสื่อมวลชนกระแสหลักของสหรัฐ โครงการนี้คอยติดตามข่าวที่ตีพิมพ์หรือเผยแพร่ในสื่อต่างๆ ทั้งกระแสหลักและอิสระ จากนั้นจะคัดข่าวจำนวน 25 ข่าวประจำปี ที่โครงการเห็นว่ามีความสำคัญ แต่กลับถูกสื่อกระแสหลักมองข้าม รายงานเพียงผิวเผิน หรือไม่ยอมนำเสนอ

กระบวนการคัดสรรข่าวเริ่มจากเปิดให้นักหนังสือพิมพ์ นักวิชาการ บรรณารักษ์และประชาชนทั่วโลก เสนอข่าวที่คิดว่ามีความสำคัญเข้ามา ซึ่งมีประมาณ 700-1000 ข่าวต่อปี จากนั้น คณาจารย์ นักศึกษาและสมาชิกในชุมชนมหาวิทยาลัยกว่า 200 คน จะร่วมมือกันทำวิจัยทั้งหัวข้อข่าว เนื้อหา ความน่าเชื่อถือของข้อมูลและความสำคัญของข่าวนั้นๆ จนคัดกรองเหลือ 25 ข่าวที่เห็นว่าสำคัญที่สุด ส่งต่อไปให้คณะผู้ตัดสินของโครงการลงคะแนนจัดอันดับ

ข่าวที่ไม่เป็นข่าวทั้ง 25 ข่าวจะได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือ Censored : The News That Didn’t Make the News ที่ออกเป็นประจำทุกปี และกลายเป็นประเด็นใหญ่ประจำปีในวงการสื่อมวลชนอิสระของสหรัฐอเมริกา

จากโครงการ Project Censored 2007
มหาวิทยาลัย Sonoma State สหรัฐอเมริกา
//www.projectcensored.org
แปลและเรียบเรียงโดย ภัควดี วีระภาสพงษ์

อ่านย้อนหลัง --> 25 ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี 2548 (Censored 2006 : The Top 25 Censored Media Stories of 2004-2005)
//www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X4876441/X4876441.html



1. อนาคตของเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตไม่อยู่ในความสนใจของสื่อกระแสหลัก

ตลอดปีที่แล้วและปีนี้ (ค.ศ. 2005-6) มีการโต้แย้งและเชือดเฉือนกันอย่างเผ็ดร้อนเกี่ยวกับอนาคตของอินเตอร์เน็ต ทว่าความขัดแย้งทั้งหมดกลับดำเนินไปโดยที่สาธารณชนแทบไม่มีโอกาสรับรู้เลย

ในสหรัฐอเมริกา สงครามชักเย่อครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างกลุ่มบริษัทเคเบิลฝ่ายหนึ่งกับผู้บริโภคและผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (Internet Service Provider—ISP) อีกฝ่ายหนึ่ง โดยฝ่ายหลังยืนยันว่าตนคือผู้สนับสนุน ‘ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต’ แม้จะมีกระบวนการทางด้านนิติบัญญัติและมีคำวินิจฉัยออกมาจากศาลสูงสุดตลอดปี ค.ศ. 2005 และต่อเนื่องมาในปี ค.ศ. 2006 แต่ดูเหมือนสื่อกระแสหลัก ทั้งหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ต่างพร้อมใจกันตกข่าวเรื่องนี้อย่างเหลือเชื่อ

สื่อมวลชนกระแสหลักที่ทำข่าวเรื่องนี้ มักตีกรอบว่านี่เป็นข้อถกเถียงเกี่ยวกับ ‘การออกกฎข้อบังคับเพื่อกำกับดูแลอินเตอร์เน็ต’ แต่คำว่า ‘การออกกฎข้อบังคับ’ ในที่นี้อาจทำให้เกิดความเข้าใจไขว้เขวไปได้ กลุ่มที่สนับสนุน ‘ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต’ ไม่ได้สนับสนุนการออกกฎข้อบังคับเพื่อกำกับดูแล ‘เนื้อหา’ ของข้อมูลข่าวสารในอินเตอร์เน็ต แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ การมีข้อบังคับตามกฎหมายให้บริษัทเคเบิลต้องอนุญาตให้ไอเอสพีสามารถเข้าถึงการใช้สายเคเบิลของบริษัทเหล่านี้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (เรียกว่าข้อตกลง ‘common carriage’) นี่เป็นรูปแบบที่ใช้กันในอินเตอร์เน็ตแบบเรียกเลขหมาย (dial-up internet) และเป็นวิธีการที่ผู้ให้บริการด้านเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตต้องการรักษาเอาไว้ รวมทั้งต้องการหลักประกันด้วยว่า บริษัทเคเบิลต้องไม่มีอำนาจในการกลั่นกรองหรือขัดขวางเนื้อหาใดๆ ในอินเตอร์เน็ตหากไม่มีคำสั่งศาล

ฝ่ายที่สนับสนุน ‘ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต’ กล่าวว่า หากปราศจากการออกกฎข้อบังคับของรัฐบาลในเรื่องนี้แล้ว สายเคเบิลก็จะตกอยู่ใต้อำนาจของบริษัทเคเบิล ไอเอสพีทั้งหลายจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้บริการเป็นจำนวนมากเพื่อใช้สายเคเบิล ซึ่งจะทำให้ค่าบริการอินเตอร์เน็ตแพงขึ้น ผู้บริโภคที่มีฐานะการเงินดีจะเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตที่ดีกว่า ส่วนผู้บริโภคที่ไม่สามารถจ่ายค่าบริการได้ก็ต้องเสียเปรียบ อีกทั้งบริษัทเคเบิลยังสามารถกลั่นกรองเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตได้ตามใจชอบด้วย

ส่วนในฝ่ายของบริษัทเคเบิลก็โต้แย้งว่า พวกเขาเสียเวลาและเงินลงทุนไปจำนวนมากในการวางสายเคเบิล รวมทั้งการขยายความเร็วและปรับปรุงคุณภาพ หากปล่อยให้ไอเอสพีใช้สายเคเบิลได้ฟรี บริษัทก็ต้องใช้เวลามากขึ้นในการคืนทุน ดังนั้น บริษัทเคเบิลจึงควรเก็บค่าธรรมเนียมได้ มิฉะนั้นแล้ว มันจะลดทอนศักยภาพในการแข่งขันและนวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมเคเบิล ส่วนเรื่องการกลั่นกรองเนื้อหาในอินเตอร์เน็ตตามใจชอบนั้น บริษัทเคเบิลปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง

กระนั้นก็ตาม มีตัวอย่างที่ชี้ไปในทิศทางตรงกันข้าม อาทิ ในปี ค.ศ. 2005 บริษัทโทรศัพท์ในนอร์ธแคโรไลนาขัดขวางไม่ให้ผู้บริโภคใช้บริการวอยซ์โอเวอร์ทางอินเตอร์เน็ต (อย่างเช่น Yahoo Messenger, Skype, ฯลฯ) ซึ่งมีราคาถูกกว่าการใช้โทรศัพท์ ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน บริษัทเคเบิลของแคนาดาบล็อคเว็บไซต์ที่สนับสนุนสหภาพแรงงานของบริษัทเคเบิล ซึ่งกำลังมีข้อพิพาทด้านแรงงานกับบริษัท ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2006 บริษัท Cox Communications ไม่ยอมให้ผู้ใช้บริการเข้าเว็บไซต์ของ Craig’s List โดย Cox อ้างว่าเป็นความผิดพลาดของระบบรักษาความปลอดภัย แต่ในภายหลังพิสูจน์ได้ว่า เป็นเพราะเว็บไซต์ Craig’s List ให้บริการประกาศรับสมัครงานที่เป็นคู่แข่งกับ Cox ต่างหาก

คำวินิจฉัยของศาลสหรัฐฯ ในการฟ้องร้องระหว่างบริษัทเคเบิลกับไอเอสพี ดูเหมือนจะเป็นไปในทางที่เอื้อต่อบริษัทเคเบิลมากกว่า โดยมีหลายคดีที่ศาลตัดสินว่า บริษัทเคเบิลไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลง ‘common carriage’ ต่อไอเอสพีเหมือนบริษัทโทรศัพท์ ทำให้บริษัทโทรศัพท์อ้างว่า การตัดสินเช่นนี้ทำให้บริษัทเคเบิลได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม และเริ่มเรียกร้องขอเป็นอิสระจากข้อตกลงนี้บ้าง

ส่วนในสภาคองเกรสได้ผ่านกฎหมาย Communications Opportunity, Promotion and Enhancement (COPE) Act ออกมาแล้ว ฝ่ายที่สนับสนุนกล่าวว่า กฎหมายนี้จะช่วยส่งเสริมนวัตกรรมและการวางสายอินเตอร์เน็ตไฮสปีดให้ขยายตัวมากขึ้น แต่ฝ่ายที่สนับสนุน ‘ความเป็นกลางของอินเตอร์เน็ต’ มองว่า กฎหมายฉบับนี้เปิดช่องให้บริษัทโทรศัพท์และเคเบิลสามารถเลือกเฟ้นเฉพาะลูกค้าในละแวกร่ำรวย และยกเลิกข้อบังคับของส่วนการปกครองท้องถิ่นที่เคยบังคับให้บริษัทเคเบิลทีวีต้องให้บริการแก่ผู้มีรายได้ต่ำและชนกลุ่มน้อยด้วย ปัจจุบัน กฎหมายนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภาสหรัฐฯ

แนวโน้มทางนโยบายของคณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ (Federal Communications Commission—FCC) ดูเหมือนเป็นไปในทางเปิดเสรีและลดข้อบังคับให้แก่บริษัทด้านเทเลคอมและสื่อสารมวลชนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้บรรษัทขนาดใหญ่เข้ามาควบคุมอินเตอร์เน็ตได้ หากเป็นเช่นนั้นจริงในอนาคต ผู้ให้บริการด้านเนื้อหาที่มีกระเป๋าหนัก (ซึ่งแน่นอน ส่วนใหญ่เป็นบรรษัทธุรกิจ) ย่อมเป็นฝ่ายครอบงำแบนด์วิธไปเกือบทั้งหมด นั่นจะเป็นจุดล่มสลายของการมีเวทีสาธารณะที่มีความเป็นประชาธิปไตย ความเสมอภาคและเสรีภาพสูงสุดเท่าที่มนุษยชาติเคยสร้างสรรค์ขึ้นมา




2. บรรษัทฮัลลิเบอร์ตันมีส่วนพัวพันกับการขายเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้อิหร่าน

นักข่าว เจสัน ลีโอโปลด์ (Jason Leopold) แห่ง Global Research.ca อ้างแหล่งข่าวในบรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน (Halliburton) ว่า เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว (2005) นี้เอง ฮัลลิเบอร์ตันเพิ่งขายส่วนประกอบสำคัญของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ให้แก่บริษัทโอเรียนทอล ออยล์ คิช (Oriental Oil Kish) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของอิหร่าน

นอกจากนั้น ตลอดปี ค.ศ. 2004-5 ที่ผ่านมา ฮัลลิเบอร์ตันยังมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไซรุส นัสเซรี รองประธานกรรมการบริหารของบริษัทดังกล่าว นัสเซรีเป็นบุคคลสำคัญในคณะพัฒนานิวเคลียร์ของอิหร่านด้วย ในปลายเดือนกรกฎาคม 2005 นัสเซรีถูกรัฐบาลอิหร่านสอบสวนในข้อหาให้ความลับด้านนิวเคลียร์ของอิหร่านแก่ฮัลลิเบอร์ตัน เจ้าหน้าที่รัฐบาลอิหร่านตั้งข้อหานัสเซรีว่ารับสินบนถึง 1 ล้านดอลลาร์จากฮัลลิเบอร์ตันเป็นค่าตอบแทน

ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทโอเรียนทอล ออยล์ คิชกับฮัลลิเบอร์ตันเปิดเผยออกมาในเดือนมกราคม 2005 เมื่อบริษัทประกาศว่าได้ทำสัญญาเหมาช่วงในโครงการขุดเจาะก๊าซกับบริษัทสาขาของฮัลลิเบอร์ตันที่จดทะเบียนในหมู่เกาะเคย์แมน ฮัลลิเบอร์ตันอ้างว่าโครงการนี้เป็นโครงการสุดท้ายที่บรรษัทจะลงทุนในอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ฮัลลิเบอร์ตันมีประวัติการลงทุนในอิหร่านมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 ในสมัยที่รองประธานาธิบดีเชนีย์เป็นประธานกรรมการบริหารของบรรษัท โดยใช้วิธีจดบรรษัทสาขาในหมู่เกาะเคย์แมน แล้วใช้เป็นข้ออ้างว่าไม่ใช่บริษัทสัญชาติอเมริกัน เพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายของสหรัฐฯ ที่ไม่ให้บริษัทเอกชนทำธุรกิจกับประเทศที่รัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาเป็นรัฐผู้ร้าย เช่น ลิเบีย อิหร่าน ซีเรีย เป็นต้น

รัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีคลินตันมีคำสั่งห้ามไม่ให้เอกชนลงทุนในอิหร่านมาตั้งแต่ ค.ศ. 1995 รวมทั้งห้ามมิให้บริษัทธุรกิจสหรัฐฯ ทำธุรกิจด้านบริการที่ ‘เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมน้ำมันอิหร่าน’ ด้วย ความสัมพันธ์ทางธุรกิจของฮัลลิเบอร์ตันกับบริษัทอิหร่านจึงเป็นการหลบเลี่ยงกฎหมาย ฮัลลิเบอร์ตันนั่นเองที่แอบขายเครื่องหมุนเหวี่ยง (centrifuges) ให้อิหร่าน จนอิหร่านสามารถดำเนินโครงการเสริมสมรรถภาพให้แร่ยูเรเนียมได้

เพื่อหาทางสกัดยับยั้งไม่ให้ฮัลลิเบอร์ตันและบรรษัทอเมริกันอื่นๆ ดำเนินธุรกิจกับประเทศที่รัฐบาลกลางคว่ำบาตร วุฒิสมาชิกของสภาคองเกรสจึงเสนอให้แก้ไขกฎหมายเพื่อลงโทษบรรษัทอเมริกันที่หลบเลี่ยงกฎหมายด้วยการไปจดทะเบียนบริษัทสาขาในต่างประเทศ




3. มหาสมุทรโลกตกอยู่ในอันตรายขั้นวิกฤต

ข้อมูลจากสมุทรศาสตร์, ชีววิทยาทางทะเล, อุตุนิยมวิทยา, ประมงศาสตร์และวิทยาธารน้ำแข็ง ชี้ให้เห็นว่า ท้องทะเลของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางเลวร้าย ความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและองค์ประกอบทางเคมีของทะเล บวกกับมลภาวะและการทำประมงอย่างมักง่าย กำลังทำให้แหล่งกำเนิดชีวิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกตกอยู่ในอันตรายร้ายแรง

ใน ค.ศ. 2005 นักวิจัยจากสถาบันสมุทรศาสตร์พบหลักฐานชัดเจนว่า มหาสมุทรกำลังร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว อุณหภูมิของน้ำในช่วงครึ่งไมล์จากพื้นผิวทะเลสูงขึ้นมากตลอด 40 ปีที่ผ่านมา อันเป็นผลลัพธ์จากก๊าซเรือนกระจกที่มนุษย์ก่อขึ้น

ปรากฏการณ์โลกร้อนที่เห็นได้ชัดที่สุดคือการละลายของน้ำแข็งในทวีปอาร์กติก อัตราการละลายของน้ำแข็งก่อให้เกิดวังวนของผลกระทบที่สะท้อนกลับไปกลับมา มันเร่งอัตราการเพิ่มขึ้นของพื้นผิวน้ำที่สะท้อนกลับไปเร่งให้อุณหภูมิสูงขึ้นและการละลายมีมากขึ้น เมื่อน้ำทะเลที่ขั้วโลกจืดลงและน้ำทะเลในเขตร้อนเค็มกว่า วงจรของการระเหยและการตกตะกอนก็เร่งเร็วขึ้น ซึ่งยิ่งกระตุ้นปรากฏการณ์เรือนกระจกมากขึ้นไปอีก วงจรที่เร่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ นี้อาจแก้ไขกลับคืนได้ยากหรือไม่ได้เลย

มลภาวะที่สั่งสมมากขึ้นยังเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของน้ำทะเลและทำลายชีวิตสัตว์น้ำ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา มหาสมุทรต้องดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึงประมาณ 118 พันล้านเมตริกตัน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ยังถูกปล่อยเพิ่มสู่บรรยากาศอีก 20-25 ตันทุกๆวัน ความเป็นกรดที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เพิ่มขึ้นกำลังเปลี่ยนแปลงความสมดุลของค่า PH ในมหาสมุทร การศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นว่า หากเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ เปลือกและโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตในน้ำทุกชนิด นับตั้งแต่ปะการังไปจนถึงหอยและแพลงก์ตอน จะละลายภายใน 48 ชั่วโมงหากต้องสัมผัสกับสภาพความเป็นกรดของทะเลในปี ค.ศ. 2050 ปะการังคงสูญพันธ์จนหมด และที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าคือแพลงก์ตอน ไฟโตแพลงก์ตอนเป็นตัวดูดซับก๊าซเรือนกระจก ผลิตออกซิเจนและเป็นผู้ผลิตอาหารปฐมภูมิของห่วงโซ่อาหารในทะเล ปรอทที่เกิดจากของเสียในอุตสาหกรรมเคมีและถ่านหินมีการออกซิไดซ์ในอากาศและตกลงสู่ก้นทะเล เมื่อสัตว์ทะเลกินเข้าไป สารปรอทจะแทรกเข้าไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารเป็นทอดๆ กระทั่งสัตว์ทะเลที่เป็นผู้ล่าเหยื่อ เช่น ปลาทูนาหรือปลาวาฬ มีปริมาณสารปรอทสูงกว่าน้ำทะเลถึง 1 ล้านเท่า อ่าวเม็กซิโกมีปริมาณสารปรอทสูงสุด โดยมีสารปรอทราว 10 ตัน ไหลลงสู่ทะเลทางแม่น้ำมิสซิสซิปปีทุกปี และอีก 10 ตันจากการขุดเจาะนอกชายฝั่ง

นอกจากสารปรอทแล้ว แม่น้ำมิสซิสซิปปียังพาไนโตรเจน (ส่วนใหญ่จากปุ๋ย) ลงสู่มหาสมุทรด้วย ไนโตรเจนกระตุ้นให้พืชและแบคทีเรียที่บริโภคออกซิเจนเติบโตในน้ำ ก่อให้เกิดสภาพที่เรียกกันว่า hypoxia หรือ เขตมรณะ เขตมรณะคือพื้นที่ในมหาสมุทรที่ปริมาณออกซิเจนต่ำเกินกว่าสิ่งมีชีวิตในทะเลจะดำรงชีพอยู่ได้ ในปี ค.ศ. 2001 พื้นที่ทะเลจำนวนมากในอ่าวเม็กซิโกกลายเป็นเขตมรณะไปแล้วเกือบ 8,000 ตารางไมล์ ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่เขตมรณะเกือบทั้งหมดจากที่มีอยู่ 150 เขต (และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ) ในโลก มักอยู่ตรงปากแม่น้ำ ชายฝั่งสหรัฐฯ นั้นมีอยู่เกือบ 50 เขตด้วยกัน แม้ว่าไนโตรเจนส่วนใหญ่อาจเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติในแม่น้ำ แต่ฟอสฟอรัสจากน้ำเสียและไนโตรเจนจากท่อไอเสียรถยนต์ยิ่งซ้ำเติมภาวะนี้ให้สาหัสมากขึ้น

พร้อมกันนี้ การประมงสัตว์น้ำทะเลที่พุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2000 เริ่มตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ทั้งๆ ที่เทคโนโลยีการเดินเรือและการทำประมงแบบเข้มข้นมีความก้าวหน้ามาก ‘ประสิทฺธิภาพ’ ในการทำประมงทะเลทำให้ชีวิตสัตว์ทะเลลดน้อยถอยลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน เรือประมงใหญ่ๆ มักจับสัตว์น้ำที่ไม่ต้องการถึง 25% แล้วทิ้งสัตว์น้ำเหล่านี้ที่ตายแล้วหรือใกล้ตายกลับลงทะเล นอกจากนั้น เรืออวนลากยังกวาดพื้นทะเลเรียบเหี้ยนราวกับรถไถ ทำลายระบบนิเวศท้องทะเลมากกว่าการตัดไม้ทำลายป่าแต่ละปีถึง 150 เท่า การเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลก็ไม่ดีไปกว่า ปลาแซลมอนเลี้ยงน้ำหนักทุก 1 ปอนด์ ต้องกินปลาที่จับมาจากทะเลถึง 3 ปอนด์ ลูกสัตว์ทะเลก็อยู่ในภาวะอันตราย ทั้งนี้เพราะระบบบริบาลตามธรรมชาติถูกทำลายลง

ในขณะที่วิทยาศาสตร์ในปัจจุบันสอนเรามากมายในห้องเรียนเกี่ยวกับระบบนิเวศวิทยาและการเกื้อกูลชีวิตในธรรมชาติ แต่การปฏิบัติของมนุษย์ในโลกภายนอกกลับทำลายระบบที่โอบอุ้มมนุษย์เองอย่างไม่บันยะบันยัง




4. คนหิวโหยและไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา

จำนวนคนอดอยากและไร้ที่พำนักในเมืองใหญ่ๆ ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มมากขึ้นในปี ค.ศ. 2005 แม้รัฐบาลจะอ้างว่าเศรษฐกิจดีขึ้นก็ตาม รัฐบาลบุชจึงพยายามปกปิดข้อเท็จจริงนี้ ด้วยการวางแผนจะยกเลิก ‘การสำรวจรายได้และการเข้าร่วมโครงการสงเคราะห์’ (Survey of Income and Program Participation) ของสำนักสำมะโนประชากร โดยอ้างว่าการสำรวจนี้ใช้งบประมาณมากเกินไป

กระนั้นก็ตาม มีนักเศรษฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ทั่วประเทศถึง 415 คน ยื่นจดหมายถึงสภาคองเกรสคัดค้านการยกเลิกการสำรวจนี้ แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลบุชพยายามยกเลิกการสำรวจและการจัดทำสถิติที่ฟ้องถึงการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว ในปี ค.ศ. 2003 รัฐบาลบุชเคยพยายามยกเลิก ‘รายงานสถิติการเลิกจ้างคนงาน’ และในปี ค.ศ. 2004-5 ก็พยายามไม่ให้มีการเก็บสถิติเกี่ยวกับการจ้างและการไล่คนงานผู้หญิงออก




5. คองโกกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เพื่อรับใช้ความไฮเทคของชาวโลก

โศกนาฏกรรมในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ซึ่งมีประชากรตายไปแล้ว 6-7 ล้านคน นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1996 เป็นต้นมา เป็นผลจากการรุกรานและสงครามที่มหาอำนาจตะวันตกหนุนหลัง เพื่อเข้าไปควบคุมแร่อันมีค่ามหาศาลของประเทศนี้ ไม่ว่าจะเป็นเพชร, ดีบุก, ทองแดง, ทองคำ และที่สำคัญที่สุดคือ โคลแทน (coltan) และไนโอเบียม (niobium) สองแร่ธาตุที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไฮเทคอื่นๆ และโคบอลท์ แร่ธาตุสำคัญในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์, เคมี, อวกาศและอาวุธ

โคลัมโบแทนทาไลท์ (Columbo-tantalite) หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า โคลแทน มีอยู่ในผืนดินอายุเก่าแก่กว่าสามหมื่นล้านปีในเขตริฟท์แวลลีย์ของแอฟริกา แทนทาลัมที่สกัดมาจากแร่โคลแทนใช้ผลิตตัวเก็บประจุ ซึ่งเป็นอุปกรณ์เล็กจิ๋วที่จำเป็นอย่างยิ่งในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 80% ของแหล่งแร่โคลแทนในโลกพบอยู่ในประเทศคองโก ส่วนแร่ไนโอเบียมก็เป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมไฮเทคเช่นกัน

ความเฟื่องฟูของธุรกิจเครื่องใช้ไฮเทคในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ราคาของโคลแทนพุ่งสูงขึ้นเกือบ 300 ดอลลาร์ต่อปอนด์ ใน ค.ศ. 1996 กองกำลังทหารของประเทศรวันดาและอูกันดา ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง บุกเข้ามาในภาคตะวันออกของประเทศคองโก พอถึงปี ค.ศ. 1998 กองทัพของสองประเทศนี้ก็ยึดครองและควบคุมพื้นที่ทำเหมืองไว้ได้ ในระยะเวลาอันสั้น กองทัพรวันดากอบโกยเงินจากการทำเหมืองได้ถึงราว 20 ล้านเหรียญต่อเดือน แม้ว่าราคาของโคลแทนจะตกลงมาบ้างในระยะหลัง แต่รวันดายังคงผูกขาดการทำเหมืองและการค้าโคลแทนในคองโกเอาไว้ โดยมีข่าวการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่การทำเหมืองออกมาเป็นระลอก

โคลแทนที่นำออกมาขายให้ผู้ซื้อต่างชาติส่วนใหญ่ขนส่งผ่านทางประเทศรวันดา ผู้รับซื้อโคลแทนจะสกัดมันเป็นผงแทนทาลัม แล้วขายผงวิเศษนี้ให้บริษัทโนเกีย, โมโตโรลา, คอมแพค, โซนี ฯลฯ เพื่อใช้ในการผลิตโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อื่นๆ

การวิเคราะห์ภูมิศาสตร์การเมืองในประเทศคองโก รวมทั้งเหตุผลที่ชาวคองโกต้องทนทุกข์ยากลำบากในสงครามที่ไม่รู้จักจบสิ้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1996 จำต้องเข้าใจถึงบทบาทของบรรษัทข้ามชาติที่พัวพันอยู่ในอาชญากรรมทั้งหมดนี้

กระบวนการทั้งหมดมีบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยในทุกระดับ นับตั้งแต่บรรษัทเหมืองแร่ Cabot Corp. และ OM Group ของสหรัฐอเมริกา, HC Starck ของเยอรมนี และ Nigncxia ของจีน การข่มขืน การสังหารหมู่และการติดสินบน เป็นส่วนหนึ่งในเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่บรรษัทข้ามชาติเหล่านี้คอยหนุนหลัง กระนั้น ในรายงานด้านสิทธิมนุษยชนกลับไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงบรรษัทเหมืองแร่ข้ามชาติเหล่านี้เลย

แซม บอดแมน ซีอีโอของคาบอท ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของประธานาธิบดีบุชในเดือนธันวาคม 2004 ระหว่างที่บอดแมนเป็นซีอีโอ คาบอทเป็นบรรษัทที่สร้างมลภาวะมากที่สุดบรรษัทหนึ่งของสหรัฐฯ ส่วนรองประธานฝ่ายบริหารคนปัจจุบันของบรรษัทโซนีก็เคยเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของบิล คลินตัน

ไม่น่าประหลาดใจที่โศกนาฏกรรมในคองโกย่อมไม่ช่วยส่งเสริมการขายให้แก่โทรศัพท์มือถือ, เพจเจอร์, คอมพิวเตอร์หรือเครื่องเพชร อันที่จริง โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องควรมีสติกเกอร์ติดไว้เขียนว่า: “คำเตือน! อุปกรณ์นี้ใช้แร่ธาตุจากแอฟริกากลาง แร่ธาตุเหล่านี้หายาก ใช้แล้วหมดไป เงินที่ได้จากการขายถูกนำไปใช้ในสงครามนองเลือดเพื่อการยึดครอง และทำให้สัตว์ป่าหายาก (ลิงกอริลลา) สูญพันธุ์ ขอให้ทุกท่านใช้อย่างมีความสุข” ผู้บริโภคต้องได้ข้อมูลข่าวสารเพื่อตระหนักว่า มีความเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างอุปกรณ์ไฮเทคที่ทำให้ชีวิตของเราสะดวกสบายและทันสมัย กับความรุนแรง, กลียุคและการทำลายล้างที่สร้างความหายนะแก่โลกของเรา




6. การคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางของสหรัฐฯ ที่ร้องเรียนการทุจริตในหน่วยงานของตน ชักไม่ได้รับการคุ้มครองที่ดีเสียแล้ว

ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมายอย่างหนึ่งที่เรียกว่า ‘whistleblower’ นั่นคือการคุ้มครองพนักงานหรือลูกจ้างในกิจการและหน่วยงานต่างๆ ที่ร้องเรียนเรื่องการประพฤติทุจริตในองค์กรของตนเอง กฎหมาย ‘whistleblower’ นี้ยังครอบคลุมถึงการคุ้มครองเจ้าหน้าที่และข้าราชการในหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เปิดโปงการทุจริตในหน่วยงานที่ตนสังกัด โดยมี ‘สำนักงานที่ปรึกษาพิเศษของสหรัฐอเมริกา’ (U.S. Office of Special Counsel—OSC) ทำหน้าที่คุ้มครองและสอบสวนคดีที่ข้าราชการร้องเรียนเกี่ยวกับหน่วยงานของตนเอง

ทว่าตั้งแต่ประธานาธิบดีบุชแต่งตั้งนายสก๊อต บล็อช เป็นที่ปรึกษาพิเศษเพื่อกำกับดูแล OSC ในปี ค.ศ. 2004 เป็นต้นมา มีการร้องเรียนเพียงแค่ 1.5% เท่านั้นที่มีการส่งต่อให้สอบสวน ส่วนอีกกว่า 1,000 คดี ถูกพับเก็บไปโดยไม่เคยเปิดพิจารณาด้วยซ้ำ มิหนำซ้ำ บล็อชยังตั้งกฎขึ้นมาใหม่ ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ติดต่อกับผู้ร้องเรียน หากหลักฐานที่ยื่นประกอบไม่สมบูรณ์เพียงพอ ทำให้ผู้ร้องเรียนในหลายร้อยคดีไม่มีโอกาสแม้แต่ชี้แจงการร้องเรียนของตน

เรื่องที่น่าขันก็คือ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 2005 เจ้าหน้าที่ประจำในหน่วยงาน OSC รวมตัวกันเป็นองค์กรเพื่อร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่ของบล็อช ซึ่งเป็นเจ้านายของตนเอง เจ้าหน้าที่ในสังกัดของบล็อชกล่าวหาว่าเขาละเมิดกฎเกณฑ์ที่ตัวเองควรเป็นผู้รักษา บังคับเจ้าหน้าที่ให้ปิดบังความจริง ตั้งพวกพ้องเข้ามาทำงาน เลือกปฏิบัติ และกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชาที่ไม่เห็นด้วยกับตน จนมีเจ้าหน้าที่ลาออกไปถึงหนึ่งในห้า แต่หน่วยงานรัฐบาลซึ่งขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีที่รับคำร้องเรียนนี้ กลับดองเรื่องไว้หลายเดือนกว่าจะดำเนินการต่อ

คติสอนใจจากเรื่องนี้คือ ‘ใครจะเป็นคนเฝ้าสุนัขเฝ้าบ้าน?




7. กองทัพสหรัฐฯ ทรมานนักโทษจนเสียชีวิตในอัฟกานิสถานและอิรัก

เอกสารการชันสูตรศพนักโทษของกองทัพสหรัฐฯ จำนวน 44 คนในอัฟกานิสถานและอิรักเมื่อเดือนตุลาคม 2005 มีนักโทษ 21 รายที่ระบุว่าถูกสังหารเสียชีวิต นักโทษเหล่านี้ตายระหว่างหรือหลังจากถูกทหารหรือหน่วยข่าวกรองทางทหารของสหรัฐฯ นำมาตัวมาสอบปากคำ การชันสูตรชี้ให้เห็นว่า มีการทรมานนักโทษอย่างรุนแรง

พลตรีเจนิส คาร์ปินสกี ผู้บัญชาการที่รับผิดชอบคุกคุมขัง 17 แห่งในอิรักระหว่างเหตุอื้อฉาวอาบูกราอิบในปี ค.ศ. 2003 ให้การเมื่อเดือนมกราคม 2006 ต่อหน้า ‘คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อสืบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่รัฐบาลบุชเป็นผู้ก่อ’ เมื่อถูกถามว่าความรับผิดชอบในการทรมานนักโทษนี้สามารถสาวไปถึงผู้สั่งการเบื้องบนได้ถึงระดับไหน คาร์ปินสกีตอบว่า “รัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหมย่อมไม่สามารถมอบอำนาจลงมาได้หากปราศจากความเห็นชอบของรองประธานาธิบดี”

ตามตัวบทกฎหมายของสหรัฐฯ นั้น ห้ามการทรมานอย่างเด็ดขาด แม้กระทั่งในระหว่างสงครามก็ตาม




8. เพนตากอนได้รับการยกเว้นจากกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร

ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2005 สภาคองเกรสผ่านกฎหมายที่รับรองให้ ‘เอกสารด้านยุทธการ’ ของหน่วยงานข่าวกรองของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสาร (Freedom of Information Act) ซึ่งหมายความว่า ต่อจากนี้ไป เอกสารเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน

กฎหมายคุ้มครองเสรีภาพของข้อมูลข่าวสารคือเครื่องมือที่กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน สื่อมวลชนหรือบุคคลใดๆ ใช้เพื่อการเข้าถึงเอกสารของรัฐบาลกลาง กฎหมายนี้เองที่ช่วยเปิดโปงการทรมานนักโทษในอัฟกานิสถานและอิรัก ซึ่งรวมไปถึงเหตุอื้อฉาวที่อาบูกราอิบด้วย หากหน่วยงานของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ สามารถปกปิดเอกสารเหล่านี้ ย่อมหมายความว่า การทำร้ายนักโทษและพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ จะมีมากขึ้นในอนาคต




9. ธนาคารโลกสนับสนุนทางการเงินแก่การสร้างกำแพงกั้นอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ทั้งๆ ที่ศาลโลกมีมติออกมาในปี ค.ศ. 2004 เรียกร้องให้รื้อกำแพงกั้นอิสราเอล-ปาเลสไตน์และชดเชยค่าเสียหายให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ แต่การก่อสร้างกำแพงกลับเร่งมือยิ่งขึ้น แนวกำแพงกั้นนี้รุกลึกเข้าไปในดินแดนของปาเลสไตน์ ช่วยให้อิสราเอลผนวกดินแดนไปเป็นของตนได้มากขึ้นและแบ่งแยกดินแดนของปาเลสไตน์ออกเป็นส่วนๆ

ในรายงานของธนาคารโลกที่ออกมาในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 ได้แสดงวิสัยทัศน์ถึง ‘การพัฒนาเศรษฐกิจ’ ของปาเลสไตน์ โดยไม่เอ่ยถึงการสร้างกำแพงที่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ พร้อมกันนั้น ธนาคารโลกวางเค้าโครงนโยบาย ‘เขตการค้าเสรีตะวันออกกลาง’ (Middle East Free Trade Area—MEFTA) ให้แก่ปาเลสไตน์ โดยธนาคารโลกเสนอให้การสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เพื่อการส่งออกและอยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลังยึดครองอิสราเอล เขตอุตสาหกรรมนี้จะก่อสร้างบนที่ดินรอบกำแพง ชาวปาเลสไตน์ที่ถูกกักขังอยู่หลังกำแพงและไร้ที่ดินทำกิน สามารถทำงานเพื่อรายได้ต่ำมายังชีพ

ธนาคารโลกยังเสนอให้สร้างประตูและด่านตรวจไฮเทคที่ควบคุมโดยกองทัพอิสราเอลตลอดแนวกำแพง เพื่อให้สามารถควบคุมชาวปาเลสไตน์และขนถ่ายสินค้าได้โดยสะดวก นอกจากนี้ยังมีระบบถนนกั้นกำแพงและอุโมงค์สำหรับให้คนงานชาวปาเลสไตน์เดินทางไปทำงานได้ แต่เดินทางไปที่อื่นไม่ได้ โรงงานนรกจะกลายเป็นช่องทางยังชีพที่ไม่มีทางเลือกอื่นมากนักสำหรับชาวปาเลสไตน์ที่ถูกจองจำอยู่ในชุมชนที่ถูกตัดขาดออกจากกันในเขตเวสต์แบงก์

ธนาคารโลกระบุชัดเจนว่า ค่าแรงในปัจจุบันของชาวปาเลสไตน์สูงเกินไปสำหรับภูมิภาคนี้ ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่น ทั้งๆ ที่ค่าแรงของชาวปาเลสไตน์ต่ำกว่าค่าแรงเฉลี่ยในอิสราเอลถึงสามส่วนสี่ ดังนั้น นอกเหนือจากการถูกยึดครองและถูกบังคับขับไล่แล้ว ชาวปาเลสไตน์กำลังจะตกเป็นอาณานิคมทางเศรษฐกิจอีกด้วย เขตอุตสาหกรรมนี้ย่อมเป็นผลประโยชน์ของอิสราเอลในการผลิตสินค้าราคาถูกเพื่อส่งออก

ธนาคารโลกมีแผนที่จะให้ปาเลสไตน์กู้ยืมเงินเพื่อนำมาสร้างโครงสร้างพื้นฐานตามนโยบาย MEFTA สาเหตุเบื้องหลังไม่ใช่เพราะความใจดีของธนาคารโลก แต่เป็นเพราะอิสราเอลไม่สามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารโลกเพราะมีรายได้ต่อหัวประชากรสูงเกินไป นั่นหมายความว่า ชาวปาเลสไตน์จะต้องแบกหนี้เพื่อนำเงินมาสร้างด่านตรวจไฮเทคเพื่อกักขังตัวเอง ทั้งๆ ที่พวกเขาต่อต้านการสร้างกำแพงกั้นนี้ด้วยซ้ำ

นี่เป็นครั้งแรกที่ธนาคารโลกแสดงอาการกระเหี้ยนกระหือรือที่จะเข้าไปหนุนหลังอิสราเอลในการยึดครองดินแดนของปาเลสไตน์ อดีตประธานธนาคารโลกคนก่อนคือ นายเจมส์ วูล์ฟเฟนโซน เคยปฏิเสธโครงการนี้มาแล้ว แต่ประธานธนาคารโลกคนปัจจุบันคือ นายพอล วูล์ฟโฟวิทซ์ ซึ่งมีแนวคิดอยู่ในสายอนุรักษ์นิยมใหม่ตกขอบ คงต้องการมีผลงานชิ้นโบดำระหว่างดำรงตำแหน่ง

ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ฝ่าฝืนคำวินิจฉัยของศาลโลก และสนับสนุนเงินจำนวน 50 ล้านดอลลาร์ในการก่อสร้างประตูตามแนวกำแพง โดยอ้างว่าเพื่อ ‘ช่วยตอบสนองความจำเป็นของชาวปาเลสไตน์’ สหรัฐอเมริกากำลังผลักดันการเจรจาเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีกับหลายประเทศในอาหรับ กระทั่งเจ้าชายซาอุด อัล-ไฟซาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย ก็เคยออกมาแสดงความวิตกในเรื่องนี้




10. การขยายสงครามทางอากาศในอิรักสังหารชีวิตพลเรือนมากขึ้น

มีการคาดการณ์กันอย่างกว้างขวางว่า ประธานาธิบดีบุชอาจจะถอนกองทหารอเมริกันออกจากอิรักในปี ค.ศ. 2006 นี้ สืบเนื่องจากคะแนนนิยมที่ตกต่ำลงและความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกันในพรรครีพับลิกันของเขาเอง แต่ประเด็นที่ไม่ค่อยมีการเอ่ยถึงในวงกว้างก็คือ การถอนทหารอเมริกันออกมาจะแทนที่ด้วยกำลังทางอากาศของกองทัพอเมริกัน

การสู้รบและยึดครองอิรักสร้างความอ่อนล้าในหมู่ทหารชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก แต่การใช้กำลังทางอากาศเข้าไปแทนที่ทหารราบก็ทำให้กองทัพไม่ค่อยสบายใจเหมือนกัน โดยเฉพาะนายทหารระดับผู้บัญชาการกองทัพอากาศคัดค้านเรื่องนี้เสียงแข็ง ทั้งนี้เพราะเกรงจะตกเป็นเครื่องมือในการทำลายล้างกันเองของฝ่ายต่างๆ ในอิรัก

อย่างไรก็ตาม สถิติจากศูนย์บัญชาการกองทัพอากาศสหรัฐฯ (U.S. Central Command Air Forces—CENTAF) ชี้ให้เห็นปริมาณภารกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างมากของกองกำลังทางอากาศ นอกจากนี้ อากาศยานของกองทัพเรือสหรัฐฯ ยังออกปฏิบัติภารกิจมากกว่า 21,000 ชั่วโมงและทิ้งระเบิดกว่า 26 ตันลงในเมืองฟัลลูจาห์เพียงเมืองเดียวในเดือนพฤศจิกายน 2004

ความหายนะที่เกิดจากกองกำลังทางอากาศของอเมริกันในขณะนี้ก็แย่พออยู่แล้ว โดยเฉพาะการทิ้งระเบิดลงในเขตเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ยุทธวิธีที่ใช้ระเบิดหนักขนาด 500 และ 1,000 ปอนด์ ถล่มใส่เมืองเพื่อกำจัดกลุ่มนักรบต่อต้านสหรัฐฯ แค่หยิบมือหนึ่ง เป็นปฏิบัติการที่ใช้มานานแล้วในอิรัก The Lancet วารสารทางการแพทย์ของอังกฤษ ประเมินไว้ในเดือนตุลาคม 2004 ว่า 85% ของคนที่ถูกฆ่าตายในอิรักเป็นฝีมือของกองกำลังผสมของสหรัฐฯ (ดู ‘ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี พ.ศ. 2547-48 อันดับที่ 2) และ 95% ของการถูกสังหารที่มีรายงานบันทึกไว้ เกิดมาจากปืนกลเฮลิคอปเตอร์ ขีปนาวุธ และอาวุธทางอากาศอื่นๆ

The Lancet ประเมินว่า มีพลเรือนชาวอิรักเสียชีวิตไปในการยึดครองแล้วกว่า 300,000 คน นี่เป็นตัวเลขเมื่อเกือบสองปีก่อน และผู้ประเมินก็ยอมรับว่าเป็นตัวเลขที่ประเมินในขั้นต่ำมาก

จากการสำรวจพบว่า ชาวอิรักถึง 82% ต่อต้านการยึดครองของสหรัฐฯ อย่างรุนแรง ไม่มีอะไรจะผลักดันให้ชาวอิรักเข้าร่วมขบวนการต่อต้านสหรัฐฯ ได้ดียิ่งไปกว่าการทิ้งระเบิดและขีปนาวุธที่ฆ่าผู้บริสุทธิ์ อีกหลายปีข้างหน้าเมื่อสื่อกระแสหลักในสหรัฐฯ ลืมตาตื่นขึ้นมาและยอมรับเสียทีว่า ชาวอิรักมีความรู้สึกต่อต้านชาวอเมริกันอย่างรุนแรง สื่อก็คงจะตั้งคำถามอย่างไร้เดียงสาอีกว่า “ทำไมพวกเขาถึงเกลียดเรานัก?” ยิ่งการยึดครองอิรักล้มเหลวมากเท่าไร สหรัฐฯ ก็จะยิ่งใช้กองกำลังทางอากาศมากขึ้น แล้วสงครามอิรักก็คงจบลงไม่ต่างจากสงครามเวียดนามอันน่าอัปยศในกาลก่อน




11. อันตรายของอาหารดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการยืนยัน

การศึกษาวิจัยหลายชิ้นในระยะหลังยืนยันตรงกันว่า อาหารดัดแปลงพันธุกรรมมีอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์

· การวิจัยของสภาวิทยาศาสตร์รัสเซียที่เผยแพร่ออกมาในเดือนธันวาคม 2005 พบว่า แม่หนูที่กินถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรม ลูกอ่อนของมันจะตายหลังจากเกิดได้เพียง 3 สัปดาห์ มากกว่าลูกหนูที่เกิดกับแม่ที่กินถั่วเหลืองธรรมชาติถึง 6 เท่า ลูกหนูที่เกิดจากแม่ที่กินถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมยังมีน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่ามาตรฐานอย่างรุนแรงมากกว่าถึง 6 เท่าเช่นกัน

· ในเดือนพฤศจิกายน 2005 สถาบันวิจัยเอกชนในออสเตรเลียหยุดพักการพัฒนาถั่วดัดแปลงพันธุกรรมไว้ชั่วคราว หลังจากพบว่ามันมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของหนูทดลอง


· ในฤดูร้อน ค.ศ. 2005 คณะวิจัยชาวอิตาเลียน นำโดยนักชีววิทยาด้านเซลล์สิ่งมีชีวิตแห่งมหาวิทยาลัยอูร์บิโน ตีพิมพ์รายงานยืนยันว่า ถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมทำให้เกิดความผิดปรกติของเซลล์ตับ รวมทั้งความผิดปรกติของเซลล์อื่นๆ ในหนูทดลอง

· เดือนพฤษภาคม 2005 การตรวจสอบผลการวิจัยของมอนซานโตที่ทดลองกับข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร The Independent ของอังกฤษ

ผลการทดลองของมอนซานโตชิ้นนี้เป็นความลับและเป็นที่ถกเถียงกันมาก ดร. อาร์ปัด ปุสไต (ดู ‘ข่าวที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี พ.ศ. 2543’ อันดับ 7) หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์อิสระจริงๆ ไม่กี่คนที่เชี่ยวชาญด้านพันธุกรรมพืชและอาหารสัตว์ ได้รับการขอร้องจากรัฐบาลเยอรมันให้ตรวจดูเอกสารการวิจัยของมอนซานโต ที่เลี้ยงหนูทดลองด้วยข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมเป็นระยะเวลา 90 วัน (ก่อนสรุปรวบรัดว่าไม่มีอันตรายและนำสินค้าออกวางตลาด)

การศึกษานี้พบว่ามีความแตกต่าง ‘อย่างมีนัยสำคัญในเชิงสถิติ’ ระหว่างน้ำหนักของไตและตัวแปรบางอย่างในเลือดของหนูที่กินข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมกับหนูที่ไม่ได้กิน นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากในยุโรปแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบทางด้านสุขภาพและความปลอดภัย หากข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมของมอนซานโตเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร

ชาวอเมริกันบริโภคถั่วเหลืองและข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมของมอนซานโตอย่างกว้างขวาง แม้ว่าองค์การอาหารและเกษตรกรรมของสหประชาชาติจะมีข้อสรุปว่า “ในหลายกรณี อาหารดัดแปลงพันธุกรรมถูกวางขายในตลาดทั้งๆ ที่ประเด็นเรื่องความปลอดภัยยังไม่ชัดเจน”

ในเมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ หรือยุโรปยังไม่ยอมวิจัยเรื่องอาหารดัดแปลงพันธุกรรมอย่างจริงจัง การศึกษาด้านพิษวิทยาของอาหารจีเอ็มโอส่วนใหญ่จึงเป็นการวิจัยของบรรษัทที่ผลิตและส่งเสริมการบริโภคจีเอ็มโอ ความน่าไว้วางใจของงานวิจัยประเภทนี้ยังน่าเคลือบแคลง การวิจัยของนักวิทยาศาสตร์อิสระจึงได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ

กระนั้นก็ตาม ในเดือนพฤษภาคม 2006 องค์การการค้าโลกหรือ WTO ก็ยังมีมติว่า กลุ่มประเทศยุโรปละเมิดกฎเกณฑ์ทางการค้าระหว่างประเทศด้วยการสั่งห้ามนำเข้าอาหารดัดแปลงพันธุกรรม




12. เพนตากอนวางแผนกลับมาผลิตทุ่นระเบิดอีกครั้ง

เกือบทุกประเทศในโลกยอมรับว่าควรยกเลิกการใช้ทุ่นระเบิดสังหารบุคคล (antipersonnel mines) รัฐบาลอเมริกันในสมัยประธานาธิบดีคลินตันก็เคยแสดงความเห็นพ้องในเรื่องนี้ สหรัฐฯ ผลิตทุ่นระเบิดสังหารบุคคลครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 1997 แม้จะไม่ยอมลงนามร่วมกับอีก 145 ประเทศในสนธิสัญญายกเลิกการใช้ทุ่นระเบิด หรือที่เรียกกันว่า อนุสัญญาออตตาวา แต่ก็เคยแสดงเจตจำนงว่าอาจจะร่วมลงนามในอนาคต

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลบุชกลับลำในเรื่องนี้อย่างหน้าตาเฉยในเดือนกุมภาพันธ์ 2004 โดยล้มเลิกแผนการที่จะร่วมลงนามในสนธิสัญญานี้ทั้งหมด แถมยังประกาศว่า “สหรัฐอเมริกาจะไม่ร่วมลงนามในอนุสัญญาออตตาวา เพราะเงื่อนไขของอนุสัญญานี้ทำให้เราต้องเสียสมรรถภาพด้านการทหารที่จำเป็นไป” และยังบอกอีกว่า “สหรัฐอเมริกาจะพัฒนาทุ่นระเบิดสังหารบุคคลและทุ่นระเบิดดักรถถังต่อไป”

Human Rights Watch รายงานว่า ทุ่นระเบิดแบบใหม่ของสหรัฐฯ จะทำงานได้หลายแบบ มีทั้งแบบใหม่ที่ทหารสามารถตัดสินใจสั่งการให้จุดระเบิดได้ (‘man-in-the-loop’) หรือแบบเดิมที่ทุ่นจะจุดระเบิดเมื่อมีบุคคลเข้าใกล้หรือสัมผัสโดน (victim-activation)

หากสหรัฐฯ กลับมาใช้ทุ่นระเบิดอีกครั้ง อาจมีผลพวงตามมาสองทางคือ ทางแรก 145 ประเทศที่ลงนามในอนุสัญญาออตตาวาจะยังยึดมั่นในสนธิสัญญาต่อไป และไม่ให้ความช่วยเหลือหรือเข้าร่วมปฏิบัติการทางทหารในกรณีที่มีการใช้ทุ่นระเบิด หรืออีกทางหนึ่งที่เลวร้ายกว่านั้นก็คือ ประเทศต่างๆ ในโลกอาจละทิ้งสนธิสัญญาและหันกลับมาใช้ทุ่นระเบิดกันอีก




13. หลังฐานใหม่ที่ยืนยันถึงอันตรายของยาฆ่าหญ้า ‘ราวด์อัพ’

การศึกษาวิจัยล่าสุดจากสองฟากมหาสมุทรแอตแลนติกแสดงให้เห็นว่า ยาฆ่าหญ้า ‘ราวด์อัพ’ ซึ่งเป็นยาฆ่าวัชพืชที่ใช้กันมากที่สุดในโลก มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ที่นำทีมโดยศาสตราจารย์ไจลส์-เอริค เซราลีนี (Gilles-Eric Seralini) จากมหาวิทยาลัยกัง (Caen) ในฝรั่งเศส พบว่า เซลล์ในรกมนุษย์มีปฏิกิริยาต่อยาฆ่าหญ้า ‘ราวด์อัพ’ ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่าที่ใช้กันทั่วไปในปัจจุบันด้วยซ้ำ

การศึกษาประชากรที่เป็นเกษตรกรในเมืองออนตาริโอ ประเทศแคนาดา ชี้ให้เห็นว่า การสัมผัสกับสารไกลโฟเซท (glyphosate) ซึ่งเป็นสารประกอบสำคัญในราวด์อัพ ทำให้ความเสี่ยงต่อการแท้งลูกเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ศาสตราจารย์เซราลีนีกับคณะจึงตัดสินใจวิจัยถึงผลกระทบของยาฆ่าวัชพืชที่มีต่อเซลล์ของรกในครรภ์มนุษย์เพิ่มเติม การวิจัยของพวกเขายืนยันความเป็นพิษของไกลโฟเซท หลังการสัมผัสสารนี้ในความเข้มข้นต่ำเป็นเวลา 18 ชั่วโมง เซลล์รกของมนุษย์จำนวนมากจะเริ่มตาย นี่อาจอธิบายได้ว่าทำไมเกษตรกรสตรีที่ใช้สารพวกนี้จึงมักคลอดลูกก่อนกำหนดหรือแท้งลูก

คณะของศาสตราจารย์เซราลีนีศึกษาต่อถึงผลกระทบทางพิษวิทยาของสูตรยาราวด์อัพ ซึ่งนอกจากมีไกลโฟเซทเป็นสารประกอบสำคัญ ยังมีสารเคมีอื่นๆ ผสมลงไปด้วย ผลการศึกษาพบว่า สารเสริมเหล่านี้ทำให้ความเป็นพิษของยาราวด์อัพมีมากกว่าสารไกลโฟเซทเดี่ยวๆ เสียอีก

การศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่เผยแพร่ออกมาในเดือนเมษายน ค.ศ. 2005 จากมหาวิทยาลัยพิทสเบิร์กระบุว่า ราวด์อัพเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป้าหมายของยาฆ่าหญ้านี้ด้วย นักชีววิทยาพบว่า ราวด์อัพมีอันตรายถึงตายต่อสัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก ในงานวิจัยที่ถือว่าเป็นการศึกษาที่ครอบคลุมมากที่สุดเกี่ยวกับผลกระทบของยาฆ่าหญ้า/แมลงที่มีต่อสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ ได้ข้อสรุปว่า ราวด์อัพทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำลดลงไปถึง 70% และทำให้จำนวนลูกอ๊อดลดลงไปถึง 86% จนทำให้กบบางชนิดใกล้สูญพันธุ์แล้ว

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่ชี้ว่า ราวด์อัพกระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์ที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็ง และทำให้เกิดอันตรายในตับของหนูทดลอง

มอนซานโต ผู้ผลิตยาฆ่าหญ้าราวด์อัพ มักโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ของตนปลอดภัยต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ผลการวิจัยชี้ไปในทางตรงกันข้าม นอกจากนี้ มอนซานโตยังเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายพืชเศรษฐกิจดัดแปลงพันธุกรรมที่ทนทานต่อยาฆ่าหญ้า และทำให้มีการใช้ยาฆ่าหญ้ามากขึ้น แทนที่จะลดลงอย่างที่บรรษัทเคยอ้างเอาไว้




14. กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ

ทำสัญญากับบริษัท KBR เพื่อสร้างศูนย์กักกันในสหรัฐฯ



บริษัท KBR ซึ่งเป็นบริษัทสาขาของฮัลลิเบอร์ตันประกาศเมื่อต้นปี ค.ศ. 2006 ว่า มันได้รับสัญญามูลค่า 385 ล้านดอลลาร์จากกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเพื่อก่อสร้างศูนย์กักกันในสหรัฐอเมริกา โดยแต่ละศูนย์สามารถกักขังผู้คนได้ราว 5,000 คน



ในคำแถลงต่อผู้สื่อข่าว บรรษัทฮัลลิเบอร์ตันอ้างว่า ค่ายกักกันนี้มีไว้ใช้ในกรณีที่มีผู้อพยพลักลอบเข้ามาในสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก หรือ ‘ไว้รองรับพัฒนาการที่รวดเร็วของโครงการใหม่ๆ’ ซึ่งเป้าหมายประการหลังนี้ มีนักข่าวอิสระหลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ศูนย์กักกันอาจมีไว้เพื่อกักกันพลเมืองชาวอเมริกัน ในกรณีที่รัฐบาลบุชประกาศกฎอัยการศึก หากมีการก่อวินาศกรรมคล้ายเหตุการณ์ 9/11 ขึ้นอีกในสหรัฐฯ



หลังจากเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา รัฐบาลบุชก็ใช้กฎอัยการศึกอ่อนๆ อยู่แล้วในการหน่วงเหนี่ยวคุมขังชาวตะวันออกกลาง ชาวมุสลิม และผู้ต้องสงสัยอื่นๆ ปัจจุบัน การหน่วงเหนี่ยวคุมขังผู้ต้องสงสัยว่าจะเป็นผู้ก่อการร้ายครอบคลุมถึงชาวอเมริกันทั่วไปด้วย โดยเฉพาะชาวอเมริกันผิวดำ



แม้จะมีเสียงวิจารณ์ตอบโต้ว่า นักข่าวกลุ่มนี้อาจหวาดระแวงมากเกินไป แต่เราไม่ควรลืมคำพูดของโธมัส เจฟเฟอร์สันที่เคยกล่าวไว้ว่า “แม้แต่ภายใต้รูปแบบการปกครองที่ดีที่สุด เมื่อเวลาผ่านไปและในกระบวนการที่ค่อยๆ เกิดขึ้น ผู้อยู่ในอำนาจสามารถแปลงร่างกลายเป็นทรราชได้เสมอ”




15. สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ

ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอุตสาหกรรมเคมี



โครงการวิจัยของสำนักคุ้มครองสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ (U.S. Environmental Protection Agency—EPA) กำลังพึ่งพิงเงินทุนจากบรรษัทธุรกิจมากขึ้น ปัจจุบันสภาอุตสาหกรรมเคมีอเมริกันเป็นหุ้นส่วนใหญ่ในการทำงานวิจัยของ EPA



นักวิทยาศาสตร์ของ EPA เริ่มบ่นให้ได้ยินว่า บรรษัทธุรกิจเข้ามามีอิทธิพลต่อโครงการวิจัยผ่านการสนับสนุนทางการเงิน บรรษัทเข้ามากำหนดวาระของประเด็นว่าควรทำวิจัยเรื่องอะไรบ้างและจะนำเสนอผลการวิจัยอย่างไร ทำให้ EPA ล้าหลังในประเด็นต่างๆ ที่บรรษัทไม่ต้องการให้ทำการวิจัย เช่น เรื่องการขนย้ายขยะพิษข้ามทวีปและนาโนเทคโนโลยี เป็นต้น การดำเนินงานของ EPA จึงเกิดการทับซ้อนของผลประโยชน์ เพราะหน่วยงานรับเงินจากบรรษัทที่ตนเองมีหน้าที่เข้าไปกำกับดูแล



การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการกำกับดูแลสาธารณสุขในระยะยาวจึงหลุดไปจากความสำคัญลำดับต้นๆ ของ EPA เพราะอุตสาหกรรมเคมีไม่สนใจให้ทุนสนับสนุนงานประเภทนี้ ในขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมพยายามผลักดันให้มีการนำมนุษย์มาทดลองความทนทานที่มีต่อยาฆ่าแมลงและสารพิษอื่นๆ ยิ่งรัฐบาลบุชกำลังเสนอให้ตัดงบประมาณของ EPA ลงอีก ก็จะทำให้ EPA ต้องพึ่งพิงและตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของอุตสาหกรรมเคมีมากขึ้น




 

Create Date : 27 พฤศจิกายน 2549
1 comments
Last Update : 1 ธันวาคม 2550 23:10:13 น.
Counter : 651 Pageviews.

 

16. เอกวาดอร์และเม็กซิโกท้าทายสหรัฐฯ

ในประเด็นศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ


สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศเดียวในโลกที่คัดค้านการลงสัตยาบันแก่ศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (International Criminal Court—ICC) ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์ที่จะนำตัวบุคคลที่ถูกกล่าวหาเป็นอาชญากรสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติมาดำเนินคดี



ปัจจุบันมีนานาประเทศทั่วโลกให้สัตยาบันรับรองศาลนี้ ประเทศล่าสุดคือเม็กซิโกที่ให้สัตยาบันเป็นประเทศที่ 100 พอดี สหรัฐอเมริกาพยายามตอบโต้ด้วยการชักจูงประเทศต่างๆ ให้ลงนามในข้อตกลงความคุ้มกันทวิภาคี (Bilateral Immunity Agreements—BIA) ซึ่งจะคุ้มครองสหรัฐฯ ให้มีสิทธิไม่ต้องถูกฟ้องร้องในศาลดังกล่าว โดยแลกกับการได้รับเงินสนับสนุนด้านการทหารและเศรษฐกิจ



ในปี ค.ศ. 2005 ประธานาธิบดีอัลเฟรโด ปาลาเซียว แห่งเอกวาดอร์ ยืนยันไม่ยอมลงนามในข้อตกลง BIA แม้ว่าวอชิงตันข่มขู่ว่าจะยกเลิกเงินช่วยเหลือทางทหารถึง 70 ล้านดอลลาร์ก็ตาม ส่วนเม็กซิโกที่เพิ่งให้สัตยาบันรับรองศาล ยืนยันไม่ยอมลงนามในข้อตกลง BIA ต่อให้ต้องสูญเสียเงินช่วยเหลือทางทหารถึง 3.6 ล้านเหรียญ เงินสนับสนุนทางเศรษฐกิจอีก 11 ล้านเหรียญ และเงินช่วยเหลือในสงครามต่อต้านยาเสพย์ติดอีก 11.5 ล้านเหรียญก็ตาม



สหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าล่ารายชื่อในข้อตกลง BIA ต่อไป ทั้งกับประเทศที่ให้สัตยาบันและไม่ได้ให้สัตยาบันต่อศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ แต่แม้จะกดดันขนาดไหน สมาชิกของ ICC ถึง 53 ประเทศก็ยืนยันไม่ยอมลงนามในข้อตกลง



ประเทศอื่นๆ ที่กำลังจะถูกตัดความช่วยเหลือเพราะการแข็งขืนต่อสหรัฐฯ ก็คือ โบลิเวีย ซึ่งจะสูญเสียเงินช่วยเหลือทางการทหารไปถึง 96% และเคนยา ที่ยินยอมสูญเงินสนับสนุนทางเศรษฐกิจราว 8 ล้านดอลลาร์



อนึ่ง ในการสำรวจความคิดเห็นของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์พบว่า เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนชาวอเมริกัน (69%) เห็นว่า สหรัฐฯ ไม่ควรได้รับข้อยกเว้นพิเศษในสนธิสัญญาใดๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 60% สนับสนุนให้สหรัฐฯ ร่วมลงสัตยาบันในศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ




17. การยึดครองอิรักเป็นการส่งเสริมโอเปก



ในทัศนะของนักข่าวอย่าง เกรก พาลาสต์ (Greg Palast) การรุกรานอิรักไม่ใช่การมุ่งทำลายโอเปก อย่างที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมใหม่อ้าง แต่เป็นการเข้าไปมีอิทธิพลในโอเปกต่างหาก



ตราบที่ความไม่สงบในอิรักยังยืดเยื้อไปเรื่อยๆ การแปรรูปอิรักให้เป็นเขตการค้าเสรีเต็มตัวคงเป็นไปไม่ได้ และอาจไม่ใช่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการยึดครองอิรักด้วย



ในเดือนธันวาคม 2003 กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ร่างเค้าโครงในชื่อ ‘ทางเลือกต่างๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันอิรักอย่างยั่งยืนในระยะยาว’ แผนการนี้ชี้นำให้อิรักรักษาระบบโควตาการผลิตน้ำมันต่อไปเพิ่มส่งเสริมความสัมพันธ์ภายในโอเปก นอกจากนี้ยังเสนอทางเลือกในการจัดการอุตสาหกรรมน้ำมันในอิรักด้วยโมเดลหลายรูปแบบ อาทิ โมเดลแบบซาอุดีอาระเบีย ซึ่งรัฐบาลเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมทั้งหมด ไปจนถึงโมเดลแบบอาเซอร์ไบจัน ซึ่งเปิดเสรีให้กลุ่มบรรษัทน้ำมันระหว่างประเทศเข้าไปดำเนินการ โดยโมเดลแบบอาเซอร์ไบจันดูจะได้รับความชื่นชอบมากกว่า



เนื่องจากผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทน้ำมันผูกพันแน่นแฟ้นกับโอเปก การผลิตน้ำมันเกินกว่าโควตาที่โอเปกกำหนดหรือบ่อนทำลายโอเปกลง จึงไม่น่าจะสอดรับกับผลประโยชน์ของกลุ่มบรรษัทน้ำมัน มันจะทำให้เศรษฐกิจของอิรักพังทลายเร็วเกินไปและทำให้สถานะของสหรัฐฯ ในตลาดโลกพลอยง่อนแง่นไปด้วย



นับตั้งแต่การรุกรานอิรักเมื่อ ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา บรรษัทน้ำมันมีกำไรพุ่งพรวดอย่างเห็นได้ชัด บรรษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ทำกำไรชนิดทำลายหรือเกือบทำลายสถิติเป็นทิวแถว ในค.ศ. 2005 กำไรของห้าบรรษัทเพิ่มขึ้นถึง 113 พันล้านดอลลาร์ เฉพาะเอ็กซอนโมบิลบรรษัทเดียวสามารถทำกำไรในหนึ่งปีได้มากที่สุดเป็นประวัติการณ์




18. นักฟิสิกส์ตั้งข้อสงสัยต่อการถล่มของตึกเวิลด์เทรดในวินาศกรรม 9/11



หลังจากศึกษาวิจัยเหตุวินาศกรรม 9/11 มามากพอแล้ว สตีเวน อี โจนส์ ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของมหาวิทยาลัยบริกแฮมยัง ได้ข้อสรุปว่า คำอธิบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการถล่มลงมาของตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ไม่สอดคล้องกับกฎของฟิสิกส์ ศาสตราจารย์โจนส์เรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการระหว่างประเทศที่เป็นอิสระเข้ามาสอบสวนเรื่องนี้ด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์



ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งข้อสงสัยต่อการที่ตึกเวิลด์เทรดสามตึกถล่มลงมาในแนวตั้งอย่างสมบูรณ์เรียบร้อย ราวกับมีการวางระเบิดที่แกนกลางตึก อีกทั้งยังมีโลหะหลอมเหลวจำนวนมากในพื้นที่ใต้ดินของตึกด้วย นอกจากนี้ ตึก WTC7 ที่ไม่ได้ถูกเครื่องบินพุ่งชน กลับถล่มลงมาราวกับถูกวางระเบิดตามหลักการทำลายอาคารของมืออาชีพ ในตึกหลังนี้มีสำนักงานราชการลับ กระทรวงกลาโหม สำนักงานด้านความมั่นคงหลายหน่วยงาน รวมทั้งเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการแต่งบัญชีของบรรษัทเอนรอนถูกทำลายพร้อมกันไปด้วย



ศาสตราจารย์โจนส์อ้างว่า สถาบันด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีแห่งชาติ (National Institutes of Standards and Technology) บิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อสร้างภาพจำลองในคอมพิวเตอร์ให้สอดคล้องกับเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้น ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งข้อสังเกตบางประการดังนี้คือ:



- ไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่ตึกซึ่งมีโครงสร้างเป็นเหล็กถล่มลงมาเพราะไฟไหม้ ไม่ว่าก่อนหรือหลังเหตุการณ์ 9/11 แต่การวางระเบิดสามารถตัดโครงสร้างเหล็กให้ทลายลงมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


- ตึก WTC7 ที่ไม่ได้ถูกเครื่องบินพุ่งชน ถล่มลงมาใน 6.6 วินาที ใช้เวลานานกว่าวัตถุชิ้นหนึ่งตกจากหลังคากระทบพื้นเพียงแค่ .6 วินาที “ทำไมจึงไม่มีการทรงมวลของโมเมนตัม ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานของฟิสิกส์” ศาสตราจารย์โจนส์ตั้งคำถาม “ผมหมายถึง ขณะที่พื้นชั้นบนหล่นลงมากระทบกับพื้นชั้นล่าง—และส่วนโครงสร้างที่เป็นเหล็กซึ่งยังดีอยู่—การถล่มต้องชะลอช้าลงบ้างจากมวลที่รองรับแรงกระแทกอยู่ด้านล่าง”




- จากข้างต้น “ถ้าเช่นนั้น ทำไมชั้นบนของตึกจึงถล่มลงมารวดเร็วขนาดนั้นและยังรักษาโมเมนตัมในการพังทลายได้อย่างไร?” เขาบอกว่า ความขัดแย้งนี้ “คลี่คลายได้โดยง่ายหากตั้งสมมติฐานถึงการใช้ระเบิดทำลายตึก เพราะระเบิดจะทำลายโครงสร้างชั้นล่างอย่างรวดเร็ว รวมถึงโครงเหล็กที่รับน้ำหนักด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดการพังทลายแบบถล่มลงมารวดเดียวและรวดเร็ว”


- ถ้าการถล่มของตึกไม่ได้เกิดจากแรงระเบิด ก็ต้องมีคอนกรีตแตกหักกองอยู่เป็นจำนวนมาก แต่วัสดุก่อสร้างตึกส่วนใหญ่กลายเป็นผงเหมือนแป้ง เราจะเข้าใจสภาพที่ประหลาดนี้ได้อย่างไรหากไม่อธิบายด้วยระเบิด?


- โครงสร้างเหล็กบางส่วนหลอมละลายหายไป แต่มันต้องอาศัยอุณหภูมิเกือบ 5,000 องศาฟาเรนไฮต์ในการหลอมเหล็กจนระเหย วัตถุต่างๆ ในสำนักงานหรือน้ำมันดีเซลไม่มีทางทำให้เกิดอุณหภูมิที่สูงขนาดนั้น ไฟที่เกิดจากน้ำมันเครื่องบินลุกไหม้อย่างมากก็แค่ไม่กี่นาที ส่วนวัสดุติดไฟในสำนักงานน่าจะไหม้หมดภายในเวลาแค่ 20 นาที


- โลหะหลอมเหลวที่พบในซากตึกอาจเป็นผลมาจากปฏิกิริยาของระเบิดที่ใช้กันทั่วไป เช่น ระเบิดเธอร์ไมต์ (thermite) ตึกที่ถล่มโดยไม่ได้ใช้ระเบิดไม่มีทางทำให้โลหะจำนวนมากขนาดนั้นหลอมเหลว


- มีพยานจำนวนมากทั้งภายในตึกและบริเวณใกล้ตึกให้ปากคำว่า ได้ยินเสียงระเบิดดังติดๆ กันอย่างรวดเร็ว และเสียงระเบิดที่ว่านี้ดังมาจากจุดที่ต่ำกว่าตรงที่เครื่องบินพุ่งชนมาก


ในเดือนมกราคม 2006 ศาสตราจารย์โจนส์และกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มนักวิชาการผู้แสวงหาความจริงของเหตุการณ์ 9/11’ เรียกร้องให้นานาชาติสอบสวนเหตุวินาศกรรมครั้งนี้ รวมทั้งกล่าวโทษรัฐบาลสหรัฐฯ ว่ามีการปกปิดข้อมูลจำนวนมาก “เราเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงปกปิดข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างยิ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในวันที่ 11 กันยายน” คือคำกล่าวในแถลงการณ์ของกลุ่ม “เราเชื่อว่าเหตุการณ์ทั้งหมดอาจเป็นการจัดฉากโดยฝีมือของรัฐบาล เพื่อหลอกลวงประชาชนชาวอเมริกันให้สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลทั้งภายในและต่างประเทศ”



นักวิชาการกลุ่มนี้ประกอบด้วยศาสตราจารย์โจนส์และศาสตราจารย์จิม เฟทเซอร์ ศาสตราจารย์สอนวิชาปรัชญาแห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา พร้อมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญอีก 50 คน อาทิ โรเบิร์ต เอ็ม โบว์แมน อดีตผู้อำนวยการโครงการป้องกันทางอวกาศที่เรียกว่า ‘สตาร์วอร์ส’ ของสหรัฐฯ และมอร์แกน เรย์โนลด์ส อดีตหัวหน้าเศรษฐกรประจำกระทรวงแรงงานในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช สมัยแรก



19. การทำลายป่าดงดิบเลวร้ายกว่าที่คาด



การพัฒนาด้านเทคโนโลยีถ่ายภาพจากดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า ป่าดงดิบอเมซอนถูกทำลายมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ถึงสองเท่า ความเสียหายส่วนใหญ่เกิดมาจากการลักลอบตัดไม้แบบเลือกตัดเป็นบางต้น



การใช้ดาวเทียมตรวจสอบการตัดไม้ทำลายป่าที่ผ่านมามักทำได้เฉพาะการทำลายป่าเป็นบริเวณกว้าง โดยไม่สามารถตรวจจับการลักลอบตัดไม้เฉพาะต้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นใหม่สามารถตรวจจับการตัดไม้ได้ละเอียดมาก เมื่อนำเทคโนโลยีนี้มาวิเคราะห์ป่าอเมซอนจากช่วงปี ค.ศ. 1999-2002 ช่วงเวลาแค่ 4 ปีพบว่า ปัญหาการทำลายป่าเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและสูงกว่าที่เคยประเมินไว้มาก โดยเฉพาะการตัดไม้เฉพาะต้น ทำให้ป่าถูกทำลายไปถึง 4,600-8,000 ตารางไมล์ต่อปี



การตัดไม้เฉพาะต้น (selective logging) เป็นการตัดไม้เศรษฐกิจไปแค่ไม่กี่ต้น โดยไม่แตะต้องต้นไม้ที่เหลือ มักเชื่อกันว่าการตัดไม้วิธีนี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยรักษาป่าได้ดีกว่าการทำลายป่าจนเตียนโล่ง จึงยังไม่มีกฎหมายออกมากำกับดูแลอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่การตัดไม้วิธีนี้ทำลายป่าได้ไม่แพ้กัน



ไม้มะฮอกกานีขนาดใหญ่สามารถขายได้หลายร้อยดอลลาร์ เป็นแรงจูงใจที่สูงมากสำหรับประเทศอย่างบราซิลที่ประชากรหนึ่งในห้าดำรงชีวิตอยู่ในความยากจน แต่การตัดไม้เศรษฐกิจเพียงบางต้นสามารถสร้างความเสียหายแก่บริเวณโดยรอบ ทั้งการที่ไม้ล้มทับต้นไม้อื่นๆ หรือเมื่อตัดไม้ขนาดใหญ่ไปแล้ว ทำให้แสงแดดส่องลงไปถึงป่าชั้นล่างและเผาพื้นป่าจนแห้ง ทำให้เกิดไฟป่าได้ง่าย



นอกจากนี้ การชักลากไม้จากป่ายังทำให้มีการถางป่าเป็นถนน จากการศึกษาพบว่า ถนนเหล่านี้มักจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และกระตุ้นให้มีการทำลายป่ามากขึ้น ดังนั้น การตัดไม้จึงเป็นด่านหน้าของการรุกที่ป่าเพื่อนำมาใช้ในวัตถุประสงค์อื่น การทำลายป่าดงดิบส่งผลให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในเมื่อการตัดไม้เฉพาะต้นเป็นการทำลายป่ามากกว่าที่คาดไว้ การทำนายภาวะโลกร้อนจึงต้องประเมินใหม่ด้วย


20. น้ำขวด: ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก



ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินรวมกันถึง 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับน้ำขวด ด้วยความเชื่อ—ที่ส่วนใหญ่เป็นความเชื่อผิดๆ ว่า—น้ำขวดดีกว่าน้ำก๊อก การบริโภคน้ำขวดทั่วโลกพุ่งขึ้นถึง 41 พันล้านแกลลอนในปี ค.ศ. 2004 มากกว่าปี ค.ศ. 1999 ถึง 57%



“แม้แต่ในพื้นที่ที่น้ำประปาดื่มได้อย่างปลอดภัย ความต้องการน้ำขวดก็ยังเพิ่มขึ้น ทั้งๆ ที่มันก่อให้เกิดขยะอย่างไม่จำเป็นและสิ้นเปลืองพลังงานอย่างมหาศาล” เป็นรายงานของเอมิลี อาร์โนลด์ นักวิจัยแห่งสถาบันนโยบายโลก (Earth Policy Institute)



“แน่นอน น้ำดื่มสะอาดราคาเหมาะสมเป็นหัวใจสำคัญต่อสุขภาพของชุมชนโลก” อาร์โนลด์ยืนยัน “แต่น้ำขวดไม่ใช่คำตอบในโลกพัฒนาแล้ว อีกทั้งมันไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชากรอีก 1.1 พันล้านคนที่ขาดแคลนแหล่งน้ำด้วย การพัฒนาและขยายระบบน้ำประปาที่สะอาดและปลอดภัยต่างหาก น่าจะเป็นคำตอบของการมีแหล่งน้ำที่ยั่งยืนในระยะยาว” สมาชิกขององค์การสหประชาชาติเห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องหาทางลดจำนวนประชากรที่ขาดแคลนแหล่งน้ำดื่มลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ. 2015 เพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ ชุมชนโลกต้องเพิ่มงบประมาณในการจัดทำน้ำประปาจาก 15 พันล้านดอลลาร์ต่อปีในขณะนี้ขึ้นไปอีก 2 เท่า แม้ว่าตัวเลขจะดูมากมาย แต่ถือว่าจิ๊บจ๊อยเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายถึง 100 พันล้านดอลลาร์ต่อปีไปกับน้ำขวด



น้ำประปาส่งมาถึงเราได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่น้ำขวดต้องขนส่งเป็นระยะทางไกล หลายครั้งต้องข้ามพรมแดน ใช้ทั้งเรือ รถไฟ เครื่องบินและรถบรรทุก เท่ากับสิ้นเปลืองน้ำมันไปเป็นจำนวนมาก



ยกตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2004 เพียงปีเดียว บริษัทน้ำในเฮลซิงกิส่งน้ำขวดสัญชาติฟินแลนด์ถึง 1.4 ล้านขวดลงเรือรอนแรมไปซาอุดีอาระเบียที่ไกลออกไปถึง 2,700 ไมล์ และแม้ว่าน้ำขวด 94% ที่ขายในสหรัฐอเมริกาจะผลิตขึ้นภายในประเทศก็ตาม แต่ชาวอเมริกันก็ยังนำเข้าน้ำขวดจากฟิจิที่ไกลออกไปตั้ง 9,000 กิโลเมตร เพื่อตอบสนองสิ่งที่อาร์โนลด์เรียกว่า ‘น้ำขวดเพื่อความเท่และความเทศ’



การบรรจุน้ำลงขวดต้องสิ้นเปลืองน้ำมันอีกเช่นกัน ขวดน้ำส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกที่ได้จากน้ำมันดิบ “เฉพาะการผลิตขวดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวอเมริกัน ก็ต้องใช้น้ำมันไปถึง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อปี เท่ากับน้ำมันที่เติมให้รถราว 100,000 คันวิ่งได้ทั้งปี” อาร์โนลด์ตั้งข้อสังเกต



พอดื่มน้ำหมดขวด ขวดน้ำก็กลายเป็นขยะ ขวดน้ำพลาสติก 86% ในสหรัฐฯ ลงเอยในถังขยะ การเผาขวดก่อให้เกิดสารพิษ เช่น ก๊าซคลอรีน และขี้เถ้าที่มีโลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์และสัตว์ หากกำจัดด้วยการฝังดิน ขวดน้ำต้องใช้เวลาย่อยสลายถึง 1,000 ปี



ทั่วทั้งโลก พลาสติกราว 2.7 ล้านตันหมดไปกับการผลิตขวดน้ำทุกปี ในขณะเดียวกัน ชุมชนที่เป็นแหล่งน้ำต้องเสี่ยงกับการขาดแคลนน้ำเสียเอง ในอินเดีย มีมากกว่า 50 หมู่บ้านที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ หลังจากบรรษัทโคคา-โคลาเข้ามาดูดน้ำไปขายเป็นน้ำขวดยี่ห้อ Dasani ปัญหาคล้ายคลึงกันเกิดขึ้นในรัฐเท็กซัสและในเขตเกรทเลกของอเมริกาเหนือ



ชาวอเมริกันบริโภคน้ำขวดต่อหัวมากที่สุดในโลก แต่ปริมาณการบริโภคกำลังพุ่งสูงขึ้นในประเทศที่มีประชากรหนาแน่น เช่น ในเม็กซิโก อินเดียและจีน แน่นอน ผู้ที่ได้กำไรจากน้ำขวดมากที่สุดย่อมเป็นบริษัทเอกชนผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำขวดนั่นเอง



คำถามสำคัญที่เราควรถามก็คือ ถ้าหากระบบน้ำประปาสาธารณะสามารถผลิตน้ำดื่มที่มีคุณภาพได้ในราคาประหยัดกว่าแล้ว อะไรคืออุปสรรคที่ทำให้ไม่เกิดการลงทุนในเรื่องนี้ทั้งในประเทศร่ำรวยและยากจน และประชาชนอย่างเราจะเอาชนะอุปสรรค์เหล่านี้ได้อย่างไร?

21. การทำเหมืองทองคำคุกคามธารน้ำแข็งโบราณในเทือกเขาแอนดีส



บาร์ริคโกลด์ (Barrick Gold) บรรษัทเหมืองทองคำข้ามชาติยักษ์ใหญ่ มีแผนการที่จะละลายธารน้ำแข็งสามแห่งในเทือกเขาแอนดีสเพื่อทำเหมืองแร่ทองคำ ประชาชนและเอ็นจีโอจำนวนมากทั้งในชิลีและทั่วโลกกำลังต่อต้านการเปิดเหมืองนี้ เพราะมันจะทำลายแหล่งต้นน้ำของเกษตรกร



เมื่อปลายปี ค.ศ. 2005 นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมขนน้ำแข็งมากองไว้นอกสำนักงานใหญ่ของบรรษัทบาร์ริคโกลด์ในกรุงซานติอาโก ก่อนหน้านี้เมื่อตอนต้นปี ประชาชนหลายพันคนเดินขบวนตะโกนคำขวัญว่า “เราไม่ใช่อาณานิคมของอเมริกาเหนือ” และชูก้อนทองคำปลอมที่มีคำว่า ‘ทองคำสกปรก’



การทำเหมืองทองครั้งนี้จะสร้างความเสียหายร้ายแรงแก่ระบบนิเวศวิทยาในบริเวณนั้น สร้างมลภาวะต่อแม่น้ำฮวสโก รวมทั้งแหล่งน้ำใต้ดินด้วย เพราะการทำเหมืองทองคำของบาร์ริคโกลด์จะมีการใช้ไซยาไนด์ ไซยาไนด์เป็นสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิต ประชาชนและนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเกรงว่า ไซยาไนด์จะรั่วไหลลงไปในระบบน้ำตามธรรมชาติและก่อปัญหามลพิษแก่ระบบนิเวศวิทยาปลายน้ำทั้งหมด การก่อสร้างเหมืองจะเริ่มลงมือในปี ค.ศ. 2006 และดำเนินการเต็มที่ใน ค.ศ. 2009



บาร์ริคโกลด์เป็นบรรษัทสัญชาติแคนาดาและเป็นบรรษัทเหมืองทองคำที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก เคยมีประวัติเลวร้ายมาก่อนในด้านการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมทั้งกรณีฝังคนงานเหมือง 50 คนทั้งเป็นในแทนซาเนีย จอร์จ ดับเบิลยู บุช เคยเป็น ‘ประธานกิตติมศักดิ์’ ในคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศของบาร์ริคโกลด์ช่วงปี ค.ศ. 1995-1999



22. กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ

ใช้จ่ายเงินหลายพันล้านดอลลาร์โดยไม่มีการเปิดเผย



งบประมาณด้านความมั่นคงกว่า 8 พันล้านดอลลาร์ถูกแจกจ่ายให้แก่มลรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกานับตั้งแต่เหตุวินาศกรรม 9/11 เป็นต้นมา แต่ทั้งหมดนี้เป็นงบลับที่สาธารณชนไม่มีทางรู้ว่าใช้จ่ายไปอย่างไรและในเรื่องอะไร



กระทรวงและมลรัฐต่างๆ อ้างว่า การใช้จ่ายต้องเป็นความลับเพื่อไม่ให้ฝ่ายผู้ก่อการร้ายรู้จุดอ่อน แต่สิ่งนี้ต้องแลกมาด้วยความโปร่งใสและการตรวจสอบ ประชาชนไม่สามารถควบคุมเจ้าหน้าที่รัฐบาลและข้าราชการได้ ในบางมลรัฐ เช่น โคโลราโด ทั้งๆ ที่ไม่มีแผนความมั่นคงแห่งมาตุภูมิเลยแม้แต่แผนเดียว แต่กลับใช้งบประมาณนี้ไปแล้ว 130 ล้านดอลลาร์ จนวุฒิสมาชิกประจำรัฐนี้ต้องตั้งคำถามว่า “คุณใช้จ่ายเงินไปตั้ง 130 ล้านดอลลาร์เพื่อความมั่นคงแห่งมาตุภูมิทั้งๆ ที่ไม่มีแผนเฮงซวยอะไรเลยได้ยังไงวะ?” จนเดี๋ยวนี้ยังไม่มีคำตอบอย่างเป็นทางการจากรัฐโคโลราโด



23. บรรษัทน้ำมันสหรัฐฯ หาทางทำลายพิธีสารเกียวโตในยุโรป



กลุ่มกรีนพีซได้หลักฐานเอกสารที่เปิดโปงให้รู้ว่า อุตสาหกรรมน้ำมันสหรัฐฯ สนับสนุนทางการเงินแก่นักล้อบบี้ให้หาทางยกเลิกพิธีสารเกียวโตในยุโรป โดยวางแผนชักจูงกลุ่มธุรกิจ นักการเมืองและสื่อมวลชนในยุโรปให้คล้อยตามว่า สหภาพยุโรปควรยกเลิกข้อผูกมัดที่มีภายใต้พิธีสารเกียวโต ซึ่งครอบคลุมมาตรการลดก๊าซที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกและความเปลี่ยนแปลงของบรรยากาศ



24. หุ้นบรรษัทฮัลลิเบอร์ตันของรองประธานาธิบดีเชนีย์

มีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 3000% เมื่อปีที่แล้ว

มูลค่าหุ้นของประธานาธิบดีดิ๊ก เชนีย์ในบรรษัทฮัลลิเบอร์ตัน พุ่งขึ้นจาก 241,498 ดอลลาร์ใน ค.ศ. 2004 เป็นกว่า 8 ล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2005 เป็นการเพิ่มขึ้นมากกว่า 3,000% พร้อมๆ กับที่ฮัลลิเบอร์ตันร่ำรวยจากสัญญามูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ที่ทำกับรัฐบาลสหรัฐฯ โดยไม่ต้องผ่านการเสนอราคาประมูลหรือตรวจสอบบัญชี



ฮัลลิเบอร์ตันได้สัญญาการทำงานกว่าหมื่นล้านดอลลาร์ในอิรัก ได้รับสัญญาก่อสร้างเพื่อฟื้นฟูเมืองหลังพายุแคทรีนาอีกหลายโครงการโดยไม่มีการตรวจสอบ นอกจากนี้ บริษัทสาขาในต่างประเทศของฮัลลิเบอร์ตันยังหลีกเลี่ยงกฎหมายสหรัฐฯ เพื่อทำธุรกิจกับอิหร่าน (ดูข่าว #2) แม้ว่ารองประธานาธิบดีเชนีย์จะอ้างว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับฮัลลิเบอร์ตันแล้ว แต่เขายังรับบำนาญจากบรรษัทนี้อีกปีละราว 200,000 เหรียญ



ปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนทำนองเดียวกันนี้ยังเกิดขึ้นกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม นายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ ซึ่งมีหุ้นอยู่ในบรรษัทเทคโนโลยีชีวภาพ Gilead Sciences ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตรยาทามิฟลูที่ใช้รักษาไข้หวัดนก รัฐบาลสหรัฐฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งที่สั่งซื้อยานี้ ในปี ค.ศ. 2005 เพนตากอนสั่งซื้อยาทามิฟลูด้วยมูลค่าถึง 58 ล้านดอลลาร์ และสภาคองเกรสกำลังพิจารณาจัดซื้อยานี้ในมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์



25. กองทัพสหรัฐฯ ในปารากวัยคุกคามความมั่นคงของภูมิภาคละตินอเมริกา



กองทหารสหรัฐฯ ยกพลเข้ามาในปารากวัยพร้อมเครื่องบินและอาวุธยุทโธปกรณ์ในเดือนกรกฎาคม 2005 ไม่นานหลังจากที่วุฒิสภาปารากวัยลงนามให้กองทหารอเมริกันได้รับความคุ้มกันจากศาลอาชญากรรมระหว่างประเทศ (ดู #16)



แม้ว่าสหรัฐฯ และรัฐบาลปารากวัยจะปฏิเสธเสียงแข็งว่า ไม่มีความคิดที่จะก่อตั้งฐานทัพอเมริกันในปารากวัย แต่ฐานทัพอากาศมาริสกัล เอสติการ์ริเบีย ที่ตั้งห่างจากประเทศโบลิเวียและอาร์เจนตินาเพียง 124 ไมล์ และห่างจากจุดเชื่อมต่อชายแดนสามประเทศระหว่างบราซิล ปารากวัยและอาร์เจนตินาเพียง 200 ไมล์ กลับมีการขยายจนรองรับเครื่องบินรบขนาดใหญ่ได้หลายลำ ทั้งๆ ที่กองทัพอากาศปารากวัยมีเครื่องบินรบขนาดเล็กแค่ไม่กี่ลำ ฐานทัพแห่งนี้ยังรองรับกำลังพลได้ 16,000 นาย มีระบบเรดาร์ขนาดใหญ่ โรงเก็บเครื่องบินขนาดมหึมา และหอควบคุมการจราจรทางอากาศ ทางขึ้นลงของเครื่องบินยังใหญ่กว่าที่สนามบินนานาชาติในกรุงอะซุนซิโอนที่เป็นเมืองหลวงของปารากวัยด้วยซ้ำ ใกล้กับฐานทัพมีค่ายทหารที่เพิ่งขยายขนาดเมื่อเร็วๆ นี้



สหรัฐฯ ใช้ข้ออ้างของการเคลื่อนกำลังพลครั้งนี้ว่า ในเขตที่เป็นจุดเชื่อมต่อชายแดนสามประเทศนั้น มีเครือข่ายผู้ก่อการร้ายที่เชื่อมโยงกับกลุ่มเฮซบอลเลาะห์และกลุ่มฮามาสในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ค่อยขึ้นเลย



การที่ฐานทัพแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ทำให้โบลิเวียไม่สบายใจ โบลิเวียมีประวัติยาวนานของการที่ประชาชนประท้วงการขูดรีดของสหรัฐฯ เนื่องจากโบลิเวียมีแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่เป็นที่สองในอเมริกาใต้ และประธานาธิบดีโมราเลสเพิ่งออกกฤษฎีกาโอนแหล่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดกลับมาเป็นของชาติเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2006 นี้เอง



เมื่อนายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ไปเยือนปารากวัยในเดือนสิงหาคม 2005 เขาบอกกับผู้สื่อข่าวว่า “มีหลักฐานชัดเจนว่าทั้งคิวบาและเวเนซุเอลาเข้าไปพัวพันกับสถานการณ์ในโบลิเวียในหนทางที่ไม่สร้างสรรค์” นักวิเคราะห์ทางทหารของอุรุกวัยและโบลิเวียยืนยันว่า ภัยคุกคามของการก่อการร้ายมักเป็นข้ออ้างของสหรัฐฯ ในการใช้กำลังทหารแทรกแซงและเข้ามาผูกขาดทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาคละตินอเมริกา



ในขณะที่รัฐบาลปารากวัยเอาใจออกห่างจากเพื่อนบ้านด้วยการเปิดประเทศให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาปฏิบัติการทางทหารในใจกลางทวีปอเมริกาใต้ แต่ประชาชนและองค์กรเอกชนในปารากวัยกลับประท้วงการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ อย่างดุเดือด



ปารากวัยเป็นประเทศผู้ผลิตถั่วเหลืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก พร้อมกับที่ธุรกิจเกษตรนี้ขยายตัวออกไป เกษตรกรยากจนก็ถูกขับไสไล่ส่งออกไปจากที่ดิน เกษตรกรจึงรวมตัวกันประท้วง ปิดถนนและบุกเข้ายึดที่ดินกลับคืนมา พวกเขาต้องเผชิญกับการปราบปรามกดขี่จากกองทัพ ตำรวจและกองกำลังกึ่งทหารรับจ้าง



กลุ่มสิทธิมนุษยชนในปารากวัยรายงานว่า การปราบปรามเกษตรกรอย่างรุนแรงที่สุดมักเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีกองทหารของสหรัฐฯ ตั้งอยู่ นำไปสู่การเสียชีวิตของเกษตรกรถึง 41 ราย โดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่า กองทัพสหรัฐฯ เป็นผู้ให้คำแนะนำแก่ตำรวจและทหารชาวปารากวัยถึงวิธีจัดการกับกลุ่มเกษตรกร รัฐบาลสหรัฐฯ มีประวัติโชกเลือดยาวนานในการเข้าไปช่วย ‘ปราบจลาจล’ ในละตินอเมริกา



การที่หลายประเทศในอเมริกาใต้เริ่มเลี้ยวซ้ายย่อมทำให้สหรัฐอเมริกาไม่พอใจ หากเป็นสมัยก่อน สหรัฐฯ คงใช้การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ หนุนหลังให้เกิดการรัฐประหารหรือเข้าไปใช้กำลังทางทหารแทรกแซงโดยตรงแล้ว แต่ละตินอเมริกายุคนี้ก็ไม่เหมือนยุคก่อน หลายประเทศพยายามจับมือกันอย่างใกล้ชิด อาทิ อาร์เจนตินา บราซิล เวเนซุเอลาและโบลิเวีย ลงนามในข้อตกลงร่วมกันที่จะช่วยโบลิเวียพัฒนาแหล่งอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเพียงสามวันก่อนที่ประธานาธิบดีโมราเลสจะออกกฤษฎีกาโอนกิจการพลังงานกลับมาเป็นของชาติ บรรษัทข้ามชาติทั้งหลายจะพอใจหรือไม่พอใจ พวกเขาก็ต้องจำใจทำธุรกิจในโบลิเวียต่อไป แม้ว่าจะต้องจ่ายให้รัฐบาลโบลิเวียเพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 4 เท่า และหากบรรษัทข้ามชาติสัญชาติอเมริกันหรือยุโรปคิดจะถอนตัวจากโบลิเวีย ก็มีบรรษัทสัญชาติจีนและรัสเซียจ่อคิวต่อแถวอย่างกระเหี้ยนกระหือรืออยู่แล้ว



รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่พอใจในความเป็นไปที่เกิดขึ้น รัมสเฟลด์กล่าวหาชาเวซว่าเป็นฮิตเลอร์และเป็นอันตรายต่อระบอบประชาธิปไตยในภูมิภาค ความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐฯ เริ่มหลั่งไหลเข้าไปในโคลอมเบียและปารากวัย กระนั้นก็ตาม ประชาชนในอีกหลายประเทศก็เริ่มท้าทายสหรัฐฯ มากขึ้น เอกวาดอร์ปั่นป่วนตลอดเวลาด้วยการประท้วงที่เรียกร้องให้ขับไล่บรรษัทน้ำมันต่างชาติออกไปและยุติการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ รวมทั้งประท้วงการมีฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ตั้งอยู่ที่เมืองมันตาด้วย



สื่อกระแสหลักมักเลือกเสนอข่าวด้านเดียว ไฟแนนเชียลไทมส์ อ้างว่า ประเทศส่วนใหญ่ในอเมริกาใต้กำลังปฏิเสธ ‘ระบอบประชาธิปไตย’ เพราะในโลกทัศน์ของสื่อกระแสหลักพวกนี้ ระบอบประชาธิปไตยคือตลาดเสรีและลัทธิเสรีนิยมใหม่ แต่ในโลกทัศน์ของชาวอเมริกาใต้ สองอย่างนี้แยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิง พวกเขาไม่ได้ต่อต้านประชาธิปไตย แต่ต่อต้านนโยบายทางเศรษฐกิจที่สร้างความยากจนข้นแค้นให้พวกเขามาตลอดหลายศตวรรษ

credit : นาซ่าโพส - [ 13 พ.ย. 49 16:12:24 ] ณ หว้ากอ

 

โดย: S(2) 27 พฤศจิกายน 2549 17:04:24 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


S(2)
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add S(2)'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.