กุมภาพันธ์ 2554
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728 
 
13 กุมภาพันธ์ 2554
 

พี่น้องทหารพรานเสี่ยงตายขายชีวิต

พี่น้องทหารพรานเสี่ยงตายขายชีวิต


          ภาพสะท้อนทหารกัมพูชาแบกลูกกระสุนปืนใหญ่ไปเก็บในฐานที่มั่น บริเวณปราสาทพระวิหาร บางคนก็นอนพักเอาแรงข้างเครื่องยิงจรวด ... ให้นึกถึงทหารพรานไทยซึ่งเป็นแนวหน้า


          ๖ ปีกับชีวิตทหารพรานไทยแนวตะเข็บชายแดนไทยเขมร ไม่ต้องถามถึงความสบาย...ส่วนใหญ่มีแต่ความลำบาก เสี่ยงชีวิต


          อดีตหัวหน้าทหารพราน ชั้นประทวน ประจำการแนวปราสาทพระวิหาร ต่อเนื่องชายแดนไทย-กัมพูชา จังหวัดศรีสะเกษ วัย ๕๒ ปี บอก


          “ทหารพรานถือเป็นทหารประชาชน เข้าใจง่าย ๆ พวกเราเป็นทหารรับจ้าง อาสาสมัครทหารพรานรับจ้างเป็นลูกจ้างรายปี ใครมีความผิดก็ต้องลาออก เขียนใบลาออกพร้อมเอาไว้ตั้งแต่วันที่สมัคร ดังนั้น จะจ้างต่อเนื่องก็ต่อเมื่อปฏิบัติหน้าที่เป็นทหาร” อดีตทหารพรานคนนี้คือเจ้าหน้าที่โครง ที่เข้ามาเป็นหัวหน้าชุด หัวหน้าหน่วยทหารพรานอาสาสมัครเหล่านี้อีกทีหนึ่ง


          “เราจะปฏิบัติงานตามแนวตะเข็บชายแดน พื้นที่ที่ต้องรักษาความสงบ แต่อยู่กับประชาชน จึงเรียกกันว่าเป็นทหารประชาชน” ทหารพรานอยู่แนวหน้า แต่ความเสี่ยงที่ว่านี้อาจจะอยู่ล้ำกว่าแนวหน้าด้วยซ้ำไป ปัญหาแนวหน้า แนวชายแดนคือพื้นที่ปฏิบัติการ แนวสันปันน้ำก็คือเขตแดน ทหารพรานก็ปฏิบัติหน้าที่ตามภูมิประเทศ ยึดเอาแนวสันเขาลูกนี้ลูกนั้น


          “แต่...ก็มีเหมือนกันที่ฝ่ายตรงข้ามก็กล่าวหาว่าเราล้ำเขตแดนแต่ในความเป็นจริงต่างคนก็ต่างล้ำดินแดนกันและกันนั่นแหละ”


          ความลำบากยากเย็นทั้งชีวิตที่เป็นทหารมา ๓๑ ปีเต็ม ชีวิตทหารพรานลำบากมาก หนึ่ง...เสียสละมาเป็นทหารพรานแล้ว พูดถึงค่าตอบแทนก็น้อย สอง...ทิ้งลูกเมีย ทิ้งครอบครัวมาห่างไกล ส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้กลับ


          อดีตทหารพรานนายนี่เป็นอดีตทหารที่อยู่กรุงเทพฯ แล้วก็ย้ายมาเป็นทหารพรานอยู่ทางภาคอีสาน และก็ย้ายมาอยู่ที่ชายแดนศรีสะเกษ


          “ลูกน้องทหารพรานแต่ละคนน่าสงสาร บางคนอายุ ๕๐ กว่าแล้ว ลูกเมียกว่าจะได้เจอหน้าก็สี่...ห้าเดือนครั้ง เห็นหน้ากันนานที่สุดก็ไม่เกิน ๕ วัน” อาหารการกิน...น้ำท่า อยู่ในป่าเขา...อาหารก็จัดสรรกันเองในหน่วย จะมีเบี้ยเลี้ยงส่วนหนึ่งวันละ ๔๕ บาท แต่ละคนก็เฉลี่ยรวมซื้อกันกินวันละ ๒๐ กว่าบาท กินต่อมื้อต่อคนก็ตกอยู่ที่ ๗ บาท...วันหนึ่งก็ตกไม่เกิน ๓๐ บาท


          เราอยู่รวมเป็นชุด เป็นกลุ่ม ๕ คน ก็วันละ ๑๐๐ กว่าบาท ซื้อของมากินกัน อาหารแต่ละมื้อก็จัดสรรมาได้ตามภูมิประเทศ ถ้าวันไหนมีใครไม่อยากกินก็ให้ลงไปในเมือง ไปซื้อไก่มาสักตัว ก็กินได้แล้ว วัน...สองวัน


          ที่พักก็จะเป็นแบบชั่วคราว ปักเต้นท์ สร้างกระต๊อบ เอาผ้าเต้นท์ผ้ายางมุงเอา หรือไม่ถ้าง่าย ๆ ก็ผูกเปล ปูด้วยผ้าเต้นท์


          ถึงคราวจะอาบน้ำ เวลาปกติก็ไม่มีปัญหาจะอาบเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะไม่ได้มีความระแวงต่อกัน...แต่ถ้าอยู่ในช่วงเข้าเวร สถานการณ์ตึงเครียดก่อนหน้านี้ ถ้าใครเคยมาที่มออีแดง เคยขึ้นเขาพระวิหารที่ประตูเหล็กก็ต่างเข้าเวรตามปกติ


          หมุนเวียนเข้าเวร จะอาบน้ำ จะกิน จะพักไม่มีปัญหา สับเปลี่ยนกันได้ แต่ถ้ามีเหตุปะทะลำบากแน่ ประสบการณ์กลางปี ๕๑ จากที่เคยไปอยู่ ๗ วัน...เหม็นตัวเองไม่ได้อาบน้ำ


          “น้ำ...ถึงจะมีให้อาบ แต่ในยามวิกฤตก็ใช้ฟุ่มเฟือย...ข้าวก็กินข้าวเหนียวปั้น ใส่ถุงไว้ กินกับกุนเชียงท่อน...เนื้อ เก็บตุนเอาไว้ได้นานหลายวัน”


          สถานการณ์รบ  ทหารพรานรบมาหมดแล้ว เริ่มต้นคือฝึกคนให้เป็นนักรบ แล้วฝึกนักรบให้เป็นยอดนักรบ แล้วก็ทำอย่างไร? ให้ยอดนักรบต้องไม่ตาย นั่นคือการเอาตัวรอด จะด้วยวิธีการใดก็แล้วแต่ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่คับขัน เราต้องไม่ตายก่อน ไม่ว่าจะปะทะหรือไม่ปะทะก็แล้วแต่


          “ช่วงเวลานี้...จะกิน ขอโทษทีเถอะนะ น้ำไม่มีก็ต้องเอาเยี่ยวตัวเองกินแทนน้ำ”


          สภาพภูมิประเทศในพื้นที่รับผิดชอบตลอดแนวตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชาจังหวัดศรีสะเกษ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบ...ภูเขา แต่ละชุดจะหมุนสลับสับเปลี่ยนกันไปไม่มีใครได้เปรียบใคร ผู้ใหญ่ให้ความเป็นธรรมเท่า ๆ กัน “ตรงปราสาทก็ไปอยู่ จะหมุนกันไปครั้งละสี่เดือนบ้าง ห้าหกเดือนบ้าง...ในพื้นที่ยากลำบาก หรือบางพื้นที่ก็อาจปักหลักอยู่เป็นปี”


          ภูมิประเทศบริเวณนี้ ถามถึงความได้เปรียบเสียเปรียบ...ถ้าเป็นจุดที่เกิดเหตุปะทะปัจจุบันนี้ ฝ่ายเราถือว่าเสียเปรียบ...กำลังเขมรส่วนใหญ่เข้าอยู่ตรงปราสาทพระวิหารเราจะทำอะไรได้ไม่มาก “คืนวันเสาร์ที่ผ่านมา ที่ฝ่ายโน้นยิงจรวดเข้ามาก็เพราะรู้ว่าเราไม่สามารถยิงอาวุธหนักขึ้นไปบนปราสาทได้” “เราซึ่งได้ชื่อว่าเป็นนักรบ ผู้ที่เสียสละแล้วซึ่งชีวิตต่อคนส่วนมากให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ ก็ต้องทำทุกอย่าง”


          ปัจจุบัน “ทหารพราน” ก็เป็นนักรบเหมือนทหารลาย ทำได้ทุกอย่าง จับได้ทุกอาวุธ แบ่งเขตรับผิดชอบเป็นจุด ๆ ไป มีทั้งสนับสนุน รบพุงอยู่หน้าแนวร่วมกับทหารลาย


          ชีวิตทหารรับจ้าง ทำเพื่อตัวเองหรือเพื่ออะไร?


          “เราพูดกันเองว่าเป็นทหารรับจ้าง แต่การรับจ้างที่ว่านี้คือ รับจ้างประเทศชาติ ความเป็นจริงก็ไม่ได้รับจ้างหรอก แล้วก็ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง...ทุกคนถ้าทำเพื่อตัวเอง จะไม่เสียสละอย่างนี้”


          ชีวิตทหารพรานแนวชายแดน ๖ ปีเต็มที่ผ่านมาไม่นานนี้ อดีตทหารพรานนายนี้ ยอมรับว่าผู้ที่จะมาเป็นทหารพรานต้องมีความเสียสละมาก ต้องชมน้ำใจพวกเขาเลยว่า เป็นผู้ที่มีความเสียสละจริง ๆ


          เบี้ยรายวัน ช่วงที่ยังเป็นทหารพรานอยู่ ลูกน้องทหารพรานในกลุ่มจะมีเงินที่เรียกว่าค่าตอบแทน ไม่ใช่เงินเดือนนะ มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ ๘,๐๐๐ เศษ ๆ บวกกับเบี้ยเลี้ยง ๑,๒๐๐-๑,๔๐๐บาท


          รายรับเกือบหมื่นบาท ในชีวิตจริง ส่วนตัวก็แทบจะเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว ถ้ามีลูกมีเมียด้วย


ภาระจะหนักหนาสาหัสขนาดไหน


เทียบกับหัวหน้ายาม รปภ. ทำงานในกรุงเทพฯ อย่างต่ำก็น่าจะมีรายได้วันละกว่า ๓๐๐ บาท ทำงานไม่ต้องเสี่ยงก็มีรายได้มากกว่าแล้ว


          ความเสี่ยงมีมาก ช่วงเวลาปกติ...ก็ต้องเข้าตรวจพื้นที่อยู่ตลอดเวลา เฝ้าพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ได้มีการรบมากมาย แต่พอมีเหตุการณ์ยิงกัน รบกัน...ทหารพรานก็ปะทะก่อน แล้วทหารลาย (ทหารชุดลายที่อยู่ตามในค่ายทหาร) ที่เป็นทหารราบ จะตามมาทีหลัง


          ท้ายนี้...อดีตหัวหน้าทหารพรานประจำการแนวปราสาทพระวิหารอยากจะขอวิงวอนไปยังผู้บังคบบัญชาทหารหน่วยเหนือ ให้มองลงมายังหน่วยทหารให้มาก โดยเฉพาะขวัญกำลังใจของกำลังพลทุกชั้นยศ


          “พูดง่าย ๆ ว่า...ในความรู้สึกของผมที่ผ่านมา รู้สึกว่าถูกปล่อยปละละเลยมาก...เพิ่งจะรู้จักว่าทหารพรานมีชีวิตอยู่ ก็ต่อเมื่อรบกัน”


          “ทหารพรานก็ใช้ชีวิตเหมือนทหารอื่น แต่ขวัญกำลังใจ...ดูเหมือนว่าแทบจะไม่มีเอาเลย แต่เสี่ยงกว่าเยอะ ทหารพรานเป็นผู้ที่เสียสละเอาชีวิตมาค้ำประกันคนในเมือง”


          ผมเคยพูดกับลูกน้องพรรคพวกเพื่อนฝูงว่า “เราเป็นพวกที่ขายชีวิต ถ้าไม่มีเหตุการณ์เขาก็ไม่รู้จักเรา”


          นี่คือสิ่งที่น่าจะอยู่ในหัวใจทหารพรานส่วนใหญ่...หรืออาจจะทั้งหมด เพราะคงไม่มีใครอยากให้ชื่อทหารพรานได้รับการกล่าวถึงตอนที่ “พี่น้องทหารพรานเสียชีวิต...ตายไปแล้ว หลังเกิดเหตุปะทะ”


          ความสูญเสียถึงจะเลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อทหารพรานเลือกที่จะเสียสละแล้ว ก็อยากให้ชีวิตที่พวกเขาขายไปแล้ว ได้รับกำลังใจหล่อเลี้ยงอยู่บ้าง


          ดังบทกลอนที่โพสต์เตือนใจไว้ว่า


ยามที่ศึกประชิดติดบ้าน             ทหารพรานพร้อมหน้ากล้าสุดแสน


ลาดตระเวนเสี่ยงตายอยู่ชายแดน             ด้วยหวงแหนแผ่นพื้นธรณี


ถึงสูญเสียดวงตาแขนขาขาด                   สิ้นชีวาตม์ยอมได้ไม่ถอยหนี...


รักษาชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ปฐพี                แผ่นดินนี้ใครอย่ากล้าล้ำเข้ามา


ด้วยดวงจิตสำนึกระลึกถึง                      สุดซาบซึ้งตรึงใจในคุณค่า


ทหารพรานเกรียงไกรในพนา                  สมนามว่า “นักรบประชาชน”


          ขอเชิญชวนแนวหลังทั่วทั้งนั้น      บำรุงขวัญกำลังใจให้เป็นผล


“ทหารพราน” คือลูกหลานเราทุกคน        จะสู้จนขาดใจไม่ถอยเลย


ที่มา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันเสาร์ที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๓ ปีขาล






Free TextEditor




 

Create Date : 13 กุมภาพันธ์ 2554
0 comments
Last Update : 13 กุมภาพันธ์ 2554 14:42:56 น.
Counter : 1096 Pageviews.

 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

Darun_405
 
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Darun_405's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com