ความตายอันแสนสุข

เรื่องราวความตายและการเรียนรู้ที่จะปฏิบัติ "หน้าที่ประการเดียวของมนุษย์อย่างสมบูรณ์แบบ นั่นคือการมีความสุข" (หน้า 213) ของปาตริส แมร์โซ ในภาคสอง-ความตายพร้อมสติสำนึก-ผมไม่แน่ใจว่านั่นเป็นความสุขจริง ๆ หรือความสุขที่เกิดจากการขบคิดหาเหตุผลแล้วสรุปเอาเองด้วยความเงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวว่าเป็นความสุข ในช่วงตอนท้ายที่ป่วยไข้ "เขาได้ยินเหมือนเสียงเพรียกหาอันอ่อนหวาน" อันเป็นเหตุให้ความกลัวตายสลายหายไปและมั่นใจว่า "เขาจะพบเหตุผลจากการตายจากทุกสิ่งที่เคยเป็นเหตุผลแห่งการดำรงชีวิตของเขาเอง" (หน้า 207) ผมกลับคิดว่าวิธีในการแสวงหาความสุขรวมถึงการใช้ชีวิตของเขาน่าเบื่อ (อาจเป็นเพราะเขาเป็นคนที่มีความสุขยาก) ไม่น่าตื่นตาตื่นใจ และไร้แก่นสาร (ขออนุญาตพูดแบบนี้โดยไม่ตอบคำถามว่าแก่นสารคืออะไร) ตรงนี้ต่างหากที่ผลักดันให้เขายอมรับความคิดว่านั่นคือความสุข จึงวิเคราะห์ออกมาเพียงปริมาณ แต่ไม่มองมิติคุณภาพของความสุข กามูอาจจะไม่ได้คิดผิดนะครับ แต่กามูสร้างแมร์โซให้แยกระหว่างการมีความสุขมากกับการมีความสุขประณีตไม่ออก ชะตากรรมของตัวละครจึงเป็นแบบนั้น ดำรงอยู่บนความขัดแย้ง (ซึ่งเราสามารถนำปรัชญาพุทธศาสนามาอธิบายประเด็นนี้ได้กระจ่างครับ) แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วกามูจะบอกผ่านแมร์โซถึงความสุขจากความสงบร่วมกับธรรมชาติ แต่ผมว่ากลับลำสายเกินไป คนที่พูดกับตัวเองว่าไม่กลัว คือคนที่กำลังคิดถึงความกลัว สำหรับภาคแรก-ความตายตามธรรมชาติ-ที่เป็นตัวมอบปัจจัยแก่ภาคหลัง ส่วนตัวผมรู้สึกว่าลีลากลวิธีการเล่าของสองภาคนี้แตกต่างกัน (จำนวนแมวก็แตกต่างกัน) ผมชอบสไตล์ภาคแรกมากกว่า ภาคแรกตัวละครดูชัดเจนกว่า แม้เราไม่อาจมั่นใจได้ว่าถ้าแมร์โซไม่ฆ่าซาเกรอส์แล้วเขาจะมีความสุขน้อยลง หรือไม่สมบูรณ์แบบจริงหรือ
ผมให้    
Create Date : 19 มิถุนายน 2553 |
Last Update : 19 มิถุนายน 2553 11:36:17 น. |
|
2 comments
|
Counter : 1731 Pageviews. |
 |
|
|