ที่เก็บรูปของคนบ้าเที่ยว ...
Group Blog
 
All blogs
 

Basic 3rd ~~ Lens ~~

มาพูดถึงเรื่องเลนส์ดีกว่า ซึ่งมือใหม่หลายๆ คน ยังสับสนกับความหมายต่างๆ ของเลนส์ เช่น Zoom Wide Tele เลยขอพูดถึงตรงนี้ก่อน

โดยทั่วไปแล้วจะแบ่งช่วงของเลนส์เป็น 3 ช่วงคือ มุมกว้าง(Wide angle) , มาตรฐาน(Normal) และ ถ่ายไกล(Telephoto) โดยจะแบ่งจากทางยาวโฟกัสเทียบกับเส้นทะแยงมุมของ Image Sensor โดย
ถ้าทางยาวโฟกัสมากกว่ามากกว่าเส้นทะแยงมุม ก็จะเป็นเลนส์ถ่ายไกล(Telephoto lens)
ถ้าทางยาวโฟกัสเท่ากับเส้นทะแยงมุม ก็จะเป็นเลนส์ระยะมาตรฐาน(Normal lens)
แต่ถ้ายาวโฟกัสมากกว่าน้อยกว่าเส้นทะแยงมุม ก็จะเป็นเลนส์มุมกว้าง(Wide angle lens)





ซึ่งจากขนาดฟิล์มที่ 24*36 มม. ก็จะได้เส้นทะแยงมุมเท่ากับ 43 มม. แต่จำยาก เขาเลยกำหนดซะ ที่ 50 มม. ให้ถือว่าเป็นเลนส์ช่วงมาตรฐาน จะได้จำกันง่ายๆ
ซึ่งก็จะทำให้กำหนดได้คร่าวๆ ว่า
ตั้งแต่ราวๆ 40 มม. ลงไป จะถือเป็นช่วง มุมกว้าง (Wide) เช่น 35mm , 20mm , 8mm
ช่วง 40 - 60 มม. ก็จะถือเป็นช่วง มาตรฐาน(Normal) เช่น 40mm 50mm 60mm
และที่มากกว่า 60 มม. ก็จะเป็นช่วง ถ่ายไกล(TelePhoto) เช่น 85mm , 100mm , 300mm , 600mm

ส่วนคำว่าเลนส์ซูม ซึ่งหลายคนใช้สับสนกับเลนส์เทเล ก็ต้องอธิบายว่า เลนส์ซูมเป็นเลนส์ที่เปลี่ยนทางยาวโฟกัสได้ต่างกับเลนส์ที่กล่าวถึงด้านบนที่เปลี่ยนทางยาวโฟกัสไม่ได้เรียกว่าเลนเดี่ยว(Prime Lens) หรือบางคนเรีกยว่าเลนส์ฟิก ซึ่งเลนส์ซูมก็ยังแบ่งเป็นหลายๆ ช่วงอีก คือ
ช่วงมุมกว้าง เช่น 20-35mm
ช่วงมาตรฐาน เช่น 35-70mm(อันนี้ติด tele อ่อนๆ ด้วย)
ช่วงถ่ายไกล เช่น 70-300mm
ช่วงครอบจักรวาล เช่น 28-300mm
ช่วงกระโดด เช่น 20-35 แล้วไป 70-300 อันนี้ไม่มีผลิตนะครับ ใช้เปลี่ยนเลนส์เอา อิอิ

นอกจากนั้น ตามที่กล้อง Digital (ส่วนมากจะระดับ Compact) หลายๆยี่ห้อ มักจะโฆษณาว่า Zoom 10X Optical , Zoom 12X Digatal นั้น ทำให้หลายคนงง ว่าต่างกันอย่างไร และมันจะส่องไกลได้แค่ไหน
จึงขออธิบายให้เข้าใจแบบนี้ คือ
- คำว่า Zoom 10X นั้น ก็คือการนำระยะโฟกัสไกลสุดมาหารด้วยระยะโฟกัสใกล้สุดที่ซูมได้ เช่น 50-200 ก็จะได้ 4X แต่ 20-80 ก็ได้ 4X เท่ากัน ดังนั้นอย่าเพิ่งไปหลงคำว่ากี่X แต่ให้ดูด้วยว่าจะเอามาถ่ายแนวไหน ถ้าถ่ายวิว ให้เลือกระยะโฟกัสใกล้สุดน้อยๆ ไว้ก็จะยิ่งดี
- Optical Zoom คือ การซูมด้วยกระบอกเลนส์ ซึ่งทำให้ได้ภาพที่คุณภาพที่ความละเอียดเท่าเดิม
- Digital Zomm คือ การซูมด้วย Software ในกล้อง นั่นก็คือการ Crop ภาพนั่นเอง อ่าว งงอีกว่า Crop คืออะไร ก็คือการตัดภาพเอามาเฉพาะตรงที่เราซูมมาเท่านั้นเอง ซึ่งการทำแบบนี้ เราก็จะได้ภาพที่มีความละเอียดน้อยลง(ยิ่งซูมมากก็ยิ่งห่วยมาก) ซึ่งดูแล้วจะมีแต่ข้อเสีย แต่จริงๆ แล้วก็มีข้อดีอยู่(นิดนึง) ก็คือทำให้ภาพที่ได้มีขนาดเล็กลงประหยัดพื้นที่ในการจัดเก็บนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น บางกล้องยังบอกการซูมแบบรวมคือ เอา Optical มาคูณกับ Digital ทำให้ดูว่าซูมได้เยอะอีกด้วย ดังนั้น เวลาเลือกซื้อก็ควรจะลองพิจารณาดูถึงระยะซูมและชนิดการซูมด้วยก็ดีนะครับ

เลนส์อีกชนิดที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายแบบหลังสู้ฟ้า หน้ามุดดิน
นั่นก็คือ เลนส์ถ่ายใกล้หรือเลนส์ถ่ายใกล้(Macro Lens) เป็นเลนส์ที่สามารถถ่ายได้ใกล้มากกว่าปกติ ซึ่งจากโดยปกติแล้ว เลนส์ทั่วไปจะถ่ายใกล้สุดได้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถเอาจ่อเข้าไปใกล้ๆ วัตถุได้ แต่เลนส์มาโครจะถูกออกแบบมาให้ทำได้ จึงทำให้เราสามารถถ่ายภาพได้ดูใหญ่ขึ้น โดยเลนส์มาโครนั้นจะมีคุณสมบัติต่อท้ายว่า กำลังขยายเท่าไหร่ เช่น 1:1 ก็จะหมายความว่าถ่ายได้กำลังขยายเท่าวัตถุจริง เมื่อเทียบกับฟิล์ม 35มม. (นั่นก็คือถ้าเอาไปถ่ายวัตถุขนาด 24*36มม. ก็จะถ่ายได้เต็มเฟรมของฟิล์มพอดี เวลาอัดออกมาก็จะดูใหญ่เท่ากระดาษอัดเลย)
แต่ตัวเลนส์เองก็มีข้อเสียในการถ่ายในระยะปกติเหมือนกัน ซึ่งก็คือ การปรับระยะชัดในระยะปกติจะไม่แม่นเท่าเลนส์ธรรมดา เพราะจะมีช่วงการปรับตั้งแต่ระยะ 1 ม. จนถึง infinity จะสั้นมาก คือหมุนนิดเดียวระยะชัดก็เปลี่ยนไปเยอะมาก

แล้วก็มีคำถามว่า เลนส์มาโคร 50มม. 1:1 กับ 100มม. 1:1 ต่างกันอย่างไร
ก็ต้องให้มาพิจารณากันก่อน ว่ากำลังขยายเท่ากัน คือ 1:1 แต่ที่ความยาวโฟกัสต่างกัน ก็ทำให้การที่จะได้ขนาดภาพเท่ากัน เลนส์ 50มม. จึงจำเป็นต้องเข้าใกล้มากกว่าเลนส์ 100มม. ซึ่งสำหรับการถ่ายภาพแมลง ระยะห่างก็นับว่าสำคัญทีเดียว เพราะถ้าใกล้มาก มันอาจจะตื่นหนีไปก็ได้



นอกจากเลนส์ที่ว่ามาแล้ว ยังมีเลนส์อีกชนิดนึงที่ไม่ค่อยมีความนิยมนัก(แต่ก็ยังเห็นคนหามาใช้เนืองๆ) นั่นก็คือ เลนส์ตาปลา(Fisheye Lens)
เลนส์ตาปลาเป็นเลนส์ที่ให้ภาพในมุมกว้างมากๆ เช่น 12mm 8mm (แต่เลนส์มุมกว้างขนาดนี้แต่ไม่เป็นตาปลาก็มีนะ)และให้สัดส่วนที่ผิดปรกติ คือตรงกลางจะนูนบวม(เหมือนกับกระจกนูนที่ติดอยู่ตามทางแยกต่างๆ)



ชนิดของเลนส์ว่ากันไปครบแล้ว ก็แถมอีกหน่อย สำหรับการดู Spec ของเลนส์ซึ่งผมเองก็ยังไม่ค่อยรู้เรื่องด้วยซ้ำ(แต่ดันทุรังจะเล่าเท่าที่เข้าใจแหละ แหะๆ)
หลายคนอ่าน Spec ที่ร้านแล้วก็งง ว่าตูจะรู้เรื่องไหมว่า อะไรเนี่ย AF 17-35/3.5 APO G ไหนจะ EF 600/4L IS อีก ดูแล้วงงวุ้ย ซึ่งผมเองก็ยังงงกับหลายๆตัวเหมือนกัน ฮ่าๆๆ แต่เอาเป็นว่า ให้แบ่งดูง่ายๆ อย่างนี้นะครับ
1.สัญลักษณ์ข้างหน้าของเลนส์ จะบอกเม้าท์ของเลนส์(ก็คือเลนส์นี้ปากมันจะใส่กับ Body แบบไหนได้นั่นแหละ) เช่น ของ Canon ก็จะเป็น EF , Nikon ก็จะมี AF,AF-S,AIS(อันนี้จะเป็นรุ่นเก่า) , Pentax (อันนี้เล่นอยู่พอรู้ดี) ก็จะมี K , M , A , F , FA , FA-J , DA , DFA (เห็นรุ่นเยอะแบบนี้แต่ใช้กันได้เกือบหมดนะจะบอกให้)
2.ตัวเลขถัดมา จะบอกทางยาวโฟกัส เช่น 20มม. 50มม. 200มม. 35-70มม.
3.ตัวเลขที่อยู่หลัง / จะเป็นตัวเลขที่บอกขนาดรูรับแสงกว้างสุด เช่น 50/1.4 ก็หมายความว่าสามารถเปิดรูรับแสงได้ตั้งแต่ f/1.4 จนถึง f/22 , 28-200/3.8-5.6 ก็หมายความว่าที่ 28มม. จะเปิดกว้างสุดได้ที่ 3.8 แต่ที่ 200มม. จะเปิดกว้างสุดได้แค่ 5.6
4. สัญลักษณ์ต่อท้าย ไม่ว่าจะเป็น APO XR L LD ซึ่งอันนี้แหละที่งง เพราะจำไม่ได้ แล้วแต่ แต่ละยี่ห้อจะนิบามกัน เช่น
Canon จะมี L ซึ่งหมายถึงเลนส์เกรดโปรราคาก็โปรตามไปด้วย , USM(Ultra Sonic Motor) เป็นมอเตอร์ในเลนส์ที่ทำให้หมุนได้เร็วและเงียบ ฯลฯ
Nikon จะมี G ที่หมายถึงเลนส์ที่ปรับโฟกัสภายใน เราจะหมุนจากภายนอกไม่ได้ ทำให้ใช้กับกล้งแมนน่วลไม่ได้
Sigma จะมี APO จะหมายถึงการใส่ชิ้นเลนส์พิเศษเพื่อปรับความคลาดเคลื่อนสีที่ขอบภาพ(หรือปรับสัดส่วนหว่า แหะๆ)
Pentax มีกับเขาไหมหว่า แหะๆ เอาเป็นว่าแค่นี้แล้วกัน ชอบค่ายไหนก็ไปศึกษากันเอาเองเน้อ


ยาวอีกแล้ววุ้ย ตอนนี้ พอก่อนดีกว่าครับ

ขอขอบคุณเวป rpst-digital.org เป็นอย่างสูงสำหรับความรู้ทั้งหมด ที่ผมได้เรียนรู้ แล้วยังอนุญาตให้ผมนำมาลงให้เพื่อนๆ ได้ดูกันด้วย




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2548    
Last Update : 25 ธันวาคม 2548 12:23:05 น.
Counter : 1577 Pageviews.  

Basic 2nd ~~ ชนิดของกล้องและระบบของกล้อง ~~

เริ่มตอนที่สอง มาต่อกันเรื่องขนาดของภาพกันอีกนิด แต่เป็นเรื่องของสัดส่วนของภาพ


สัดส่วนของภาพที่อัดกระดาษออกมาตามมาตรฐาน คือ 4x6 นิ้ว ซึ่งเท่ากับว่าภาพมีสัดส่วน 1:1.5 กล้องดิจิตอลระดับมือสมัครเล่นจะมีสัดส่วนภาพอยู่ประมาณ 1600x1200 pixels หรือ 1:1.33 เพื่อให้เข้ากับจอมอนิเตอร์หรือ TV ทำให้เวลานำภาพไปอัดจึงต้องตัดส่วนภาพบนกระดาษไป ส่วนกล้องดิจิตอลระดับมืออาชีพ(จำพวก DSLR) จะมีสัดส่วนประมาณ 1:1.5 ซึ่งเท่ากับฟิล์มขนาด 35 มม.เวลานำไปอัดจึงไม่เป็นปัญหา


พูดถึงระดับของกล้องดิจิตอล ก็แบ่งเป็น 3 ระดับคือ
1.Compact - เป็นกล้องที่เน้นไปทาง สะดวกสบาย พกง่าย ถ่ายง่าย เรียกว่าอัตโนมัติแทบจะทั้งหมด แต่ปรับอะไรไม่ค่อยได้



2.Prosumer - เป็นกล้องที่ระบบการทำงานดีขึ้นมาหน่อย เช่น มีระบบวัดแสง ชดเชยแสง ปรับความชัดผ่านเลนส์ ระบบ Manual การต่อ Flash ภายนอก ซึ่งทำให้ยืดหยุ่นต่อการใช้งานมากขึ้น แต่ไม่สามารถเปลี่ยนเลนส์ได้



3.Professional - เป็นกล้องระดับมืออาชีพที่คล้ายกับกล้อง SLR ในระบบฟิล์ม แต่เปลี่ยนจากการใช้ฟิล์มมาเป็นการใช้เซ็นเซอร์รับแสง ซึ่งระบบการทำงานสามารถปรับได้ทั้งหมดตามความสามารถของผู้ถ่าย(กล้องดีคนถ่ายไม่เก่ง เอากล้อง compact ถ่ายออกมาก็อาจจะดีกว่าก็ได้นะ)




ต่อจากชนิดของกล้องก็จะมาว่ากันต่อเรื่องระบบการใช้งานภายในกล้องดีกว่า เรียงไปเป็นข้อๆ เลยแล้วกัน

1.ระบบจัดเก็บไฟล์รูป
โดยทั่วไปก็จะมีอยู่ 2 ชนิด ที่นิยม คือ JPEG , CCD-RAW (ส่วน TIFF จะไม่ขอพูดถึง เพราะไม่ค่อยมีคนใช้ และส่วนตัวไม่รู้ด้วย แหะๆ)
- JPEG ก็คือไฟล์รูปที่ถ่ายออกมาแล้วสำเร็จรูปเลย สามารถนำไปใช้ได้ทันที ใช้พื้นที่ในการจัดเก็บน้อย แต่ก็เอามาปรับแต่งอะไรไม่ได้มากนัก
- CCD-RAW เป็นไฟล์ของภาพที่เหมือนกับข้อมูลดิบที่ยังไม่ได้รับการปรุงแต่งและบีบอัดใดๆ เลย ซึ่งการจะนำไปใช้ จำเป็นต้องใช้ Software ของกล้องแต่ละตัว หรือใช้ Photoshop ที่ติด Plugins ที่สำหรับอ่านไฟล์ของกล้องนั้นๆ

2.ระบบปรับความชัดโฟกัส
โดยทั่วไปจะมีอยู่ 3 แบบ คือ
- ปรับเอง
- ปรับความชัดทีละภาพ (Single Auto Focus , AF-S) คือ ระบบปรับความชัดที่เมื่อเรากดปุ่มล๊อคโฟกัส(โดยทั่วไปคือการกดปุ่ม Shutter ไว้ครึ่งหนึ่ง) มันก็จะหาโฟกัสจนได้ แล้วจะไม่มีการหาโฟกัสใหม่อีก ก็จะทำให้เราสามารถจัดองค์ประกอบภาพได้หลังจากล๊อคโฟกัสแล้ว
- ปรับความชัดแบบต่อเนื่อง (Continue Auto Focus , AF-C) คือระบบปรับความชัดที่จะคอยหาโฟกัสอัตโนมัติตลอดที่เรากดปุ่มล๊อคโฟกัสค้างไว้ อีกทั้งอาจจะมีการคำนวณการหาโฟกัสล่วงหน้าของวัตถุที่เคลื่อนที่ด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว

3.ความไวชัตเตอร์
ก็คือระยะเวลาที่กล้องเปิดรูรับแสงนั่นเอง เปิดนานก็รับแสงได้มาก เปิดไม่นานก็รับแสงได้น้อย โดยปกติที่เรียกกัน 125 , 250 , 500 ก็จะหมายถึง 1/125 , 1/250 , 1/500 วินาทีนั่นเอง โดยถ้าเปิดนานๆ ก็จะมีหน่วยตามมา เช่น 1" ก็คือ 1 วินาที

4.ความไวแสง
จะพูดกันเป็น ISO เช่น ISO100 , ISO200 , ISO400 ถ้าจะถามว่า ที่มาของ ISO มาจากไหน
- ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน รู้แต่ว่า ไอ้คำว่า ISO มันก็แปลว่ามาตรฐาน เหมือนกับเราเรียก ISO9001 อะไรทำนองเนี้ยแหละ
แล้ว ISO100 มันคือขนาดไหน เอาอะไรวัดล่ะ
- อันนี้ต้องอ้างว่ามาจากฟิล์มครับ ซึ่งการผลิตฟิล์มนั้น มีออกมาความไวหลากหลายมาก ดังนั้นเขาจึงกำหนดมาตรฐานออกมาว่า เท่านี้แหละ เท่ากับ 100 และไวแสงมากกว่านี้เท่านึง ก็จะเป็น 200 ก็ว่ากันไป และนั่นก็เอามาใช้กับกล้อง digital ด้วย นั่นก็หมายความว่า ถ้าเอาฟิล์มที่ ISO100 มาวางแทน CCD ที่เราปรับความไวแสงไว้ที่ ISO100 เท่ากัน แล้วใช้ปริมาณแสงเท่ากัน เลนส์ตัวเดียวกัน ความไวชัตเตอร์เท่ากัน และรูรับแสงเท่ากัน เราก็จะได้รูปที่มีปริมาณแสงเท่ากันนั่นเอง
แบบนี้ยิ่งตั้งไวก็ยิ่งดีสิ ถ่ายง่าย ไม่ต้องกลัวสั่น
- ก็ใช่ครับ แต่ว่า ก็มีข้อเสียนะครับ คือ ยิ่งเราทำให้ CCD ไวแสงมาก CCD ก็จะยิ่งโดนรบกวนได้ง่าย ซึ่งจะทำให้เกิด noise คุณภาพของภาพก็จะลดลง

5.ระบบวัดแสง
มีอยู่หลายชนิด แต่ขอพูดถึงแค่สัก 4 ชนิดหลักก็พอ
- Spot แบบจุด เป็นระบบวัดแสงที่จะวัดแค่ตรงกลางภาพจุดเดียว(กินพื้นที่ราวๆ 2-3% ของภาพ) โดยจะไม่สนบริเวณนอกจุดนั้นเลย
- Center-Weight แบบเฉลี่ยน้ำหนักกลาง เป็นระบบวัดแสงที่นำค่าแสงรอบๆ จุดกลางมาคิดด้วยแต่อาจจะไม่มีน้ำหนักมากนัก(มากเท่าไหร่ต้องศึกษาจากตัวกล้องนั่นเอง) เช่น 60:40 , 80:20
- Average แบบเฉลี่ยทั้งภาพ เป็นระบบวัดแสงที่เฉลี่ยทั้งภาพเท่ากัน
- Multi-Segment แบบแบ่งส่วน เป็นระบบ ที่ฉลาดที่สุด โดยจะแบ่งภาพเป็นส่วนๆ (แล้วแต่กล้องอีกว่าจะแบ่งกี่ส่วน) จากนั้นจะนำมาคำนวณเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลที่กล้องเก็บไว้ แล้วออกมาเป็นค่าแสงที่เหมาะสม(หรือบางทีก็ไม่เหมาะนะ เหอๆ)




6.ระบบชดเชยแสง ก็คือการตั้งให้กล้องชดเชยแสงนั่นเอง เช่น เราตั้งไว้ที่ +1 กล้องก็จะคำนวณให้ภาพสว่างกว่าปกติ 1 stop นั่นเอง (1 Stop ก็คือ ปริมาณแสงที่เปลี่ยนไป 1 เท่าตัวนั่นเอง ไว้อธิบายละเอียดทีหลังนะ)

7.ระบบล๊อคค่าแสง เป็นปุ่มที่ให้กล้องจำค่าแสงตอนที่เรากดปุ่มนั้นไว้ บางกล้องกล้องก็เก็บไว้ 10 วิ หรือบางกล้องก็ล๊อคไว้ตราบเท่าที่เราล๊อคซัตเตอร์ไว้

8.ระบบถ่ายภาพ (Exposure Mode) คือระบบที่กล้องคำนวณและปรับ รูรับแสง และ/หรือ ความไวชัตเตอร์ให้อัตโนมัติ โดยจะแบ่งเป็นหลายๆโหมดดังนี้
- Program (P) เป็นโหมดที่กล้องปรับแบบอัตโนมัติทั้งหมด เรียกว่าให้กล้องคิดเองหมดว่าแบบนี้จะเป็นถ่ายวิวป่าวหว่า หรือว่าถ่ายดอกไม้หว่า อะไรทำนองนี้
- Macro (รูปดอกไม้) เป็นโหมดที่กล้องจะคำนวณค่าให้เหมาะสมกับการถ่ายระยะใกล้
- Protrait (รูปสาว) เป็นโหมดที่กล้องคำนวณค่าให้เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคล(หน้าชัดหลังเบลอ อะไรประมาณนั้น)
- Landscape (รูปภูเขา) เป็นโหมดที่กล้องคำนวณค่าให้เหมาะกับการถ่ายวิว(ชัดลึกไว้ก่อนมั้ง)
- Night Scene (รูปสาวมึนหัว) เป็นโหมดที่กล้องคำนวณค่าให้เหมาะกับการถ่ายภาพบุคคลในเวลากลางคืนให้ติดวิวข้างหลัง(ใช้แฟลช+ความไวชัตเตอร์ช้า)
- Sport (รูปวิ่งราว) เป็นโหมดที่กล้องคำนวณค่าให้เหมาะกับการถ่ายภาพเคลื่อนไหว(ใช้ AF-C และ ความไวชัตเตอร์สูงมากๆ)
- ความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติ Tv(หรือ A ในางกล้อง) เป็นโหมดที่กล้องจะปรับความเร็วชัตเตอร์ให้อัตโนมัติเมื่อเราเปลี่ยนค่ารูรับแสง เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการควบคุมระยะชัดลึกเอง
- ช่องรับแสงอัตโนมัติ Av(หรือ S ในบางกล้อง) เป็นโหมดที่กล้องจะปรับขนาดรูรับแสงให้อัตโนมัติเมื่อเราเปลี่ยนค่าความไวชัตเตอร์ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการถ่ายภาพที่เกี่ยวกับความเร็ว เช่น น้ำตก
- ปรับตั้งเอง M เป็นโหมดที่อยากได้อะไรก็ปรับเองแล้วกัน เก่งดีนัก กล้องบอกว่า ตูไม่ยุ่งก็ได้ฟะ แต่ใจดีช่วยบอกค่าแสงให้แล้วกัน ว่าที่เอ็งปรับน่ะ มันมากหรือน้อยเกินไปอยู่กี่ stop

9.ระบบสมดุลสีของแสง เป็นระบบที่กล้องจะชดเชยสภาพแสงให้ตามที่เราปรับ โดยจะมีหลายโหมด เช่น(จะยกไปเท่าที่จะนึกได้แล้วกัน)
- Auto ก็ให้กล้องคิดเองหมด กล้องดีสีก็สวย กล้องห่วยสีก็ตุ่นๆ ไม่ได้อารมณ์
- DayLight เหมาะกับสภาพแสงแดดตอนกลางวัน
- Shade เหมาะกับในร่มเงาของแสงตอนกลางวัน
- Cloud เหมาะกับการถ่ายภาพในเวลาที่แสงโดนเมฆบังหมด
- Fluorescent เหมาะกับการถ่ายภาพในสภาพแสงที่เป็นหลอดฟลูออเรสเซนท์ ซึ่งยังแบ่งได้ 3 ชนิดอีก คือ Daylight , WarmWhite , Cool White
- Incandescent หรือ Tungstan(เขียนถูกป่าวหว่า) สำหรับการถ่ายในแสงหลอดไส้ หรือกองไฟ
- Custom แบบเลือกเอง โดยเลือกโหมดแล้วใช้กล้องส่องไปหากระดาษขาวแล้วกดชัตเตอร์ กล้องจะทำการหาสมดุลแสงให้เอง

10.ระบบแฟลช ไม่ขอพูดถึงระบบทำงานของมัน ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไหนจะ TTL ที่หมายถึงให้แฟลชควบคุมแสงผ่านเลนส์ว่าใส่แสงไปนานแค่ไหนถึงจะพอ อะไรอีกก็ไม่รู้ วุ่นวาย ขอเอาแค่โหมดใช้งานแล้วกัน โดยจะแบ่งเป็น
- แก้ตาแดง ก็เอาไว้ถ่ายคนเวลากลางคืนไม่ให้น้องพันซ์มาร้องแซว
- Slow Speed Sync ก็คือใช้แฟลชคู่กับความเร็วชัตเตอร์ต่ำ เช่นในโหมดของการถ่ายบุคคลเวลากลางคืน
- High Speed Sync ใช้แฟลชกับความเร็วชัตเตอร์สูงๆ เหมาะกับการจับภาพเคลื่อนไหวให้หยุดนิ่ง
- แฟลชสัมพันธ์กับม่ายชัดเตอร์คู่หน้า/หลัง ขี้เกียจอธิบายว่าคู่หน้า/หลังคืออะไร แต่อยากให้เข้าใจว่า ถ้าเราใช้ความเร็วชัตเตอร์ 1/125 วิ แต่แฟลชมันไม่ได้ออกตลอดเวลา อาจจะออกแค่ 1/1000 วิ
โดยถ้าแฟลชสัมพันธ์กับคู่หน้า เมื่อเรากดชัตเตอร์ปุ๊บแฟลชก็จะยิงทันที พอครบ 1/1000 แล้วแฟลชก็จะหยุดแต่ม่ายชัตเตอร์ยังเปิดอยู่ ซึ่งจะส่งผลให้ถ้าคนวื่งอยู่ เราก็จะเป็นคนชัดด้านหลังสุด แล้วจะมีเงาเลื่อนไปด้านหน้า ยังกับคนวิ่งถอยหลัง
แต่ถ้าแแฟลชสัมพันธ์กับคู่หลัง เมื่อเรากดชัตเตอร์ แฟลชก็จะยังไม่ถูกยิง แต่พอเหลืออีก 1/1000 วิม่านจะปิด แฟลชถึงจะเริ่มยิงไปจนปิดม่านชัตเตอร์ ซึ่งจะส่งผลให้ถ้าคนวื่งอยู่ เราก็จะเป็นคนชัดด้านหน้าสุด แล้วจะมีเงาวิ่งตามหลัง เหมือนกับคนวิ่งด้วยความเร็วซะงั้น

11.ระบบถ่ายภาพต่อเนื่อง ก็คือระบบที่เรากดชัตเตอร์ค้างไว้ กล้องก็จะยิงชัตเตอร์รัวๆให้ตามกำลังที่มันจำทำได้นั่นเอง

12.ระบบถ่ายภาพคร่อม เป็นระบบที่กล้องจะถ่ายภาพชดเชยแสงไปทาง + และ - ให้อัตโนมัติ ทำให้เราได้ภาพมาก 3 ภาพ คือ ตามที่ตั้งค่าแสงไว้ มากว่า และน้อยกว่า โดยมากกว่าและน้อยกว่าเท่าไหร่เราก็กำหนดได้

13.ระบบถ่ายภาพแบบตั้งเวลา ก็จะแบ่งเป็น 2 แบบคือ
- ตั้งเวลาเฉยๆ ราวๆ 10 วิ หรือ 12 วิ มีเวลาพอให้วิ่งไปเก็กหล่อหน้ากล้องได้
- ตั้งเวลา 2 วิ พร้อมล๊อคกระจก ซึ่งใน DSLR นั้น ด้วยกลไกแล้วต้องมีการสะบัดกระจกขึ้นไปเพื่อเปิดทางให้แสงไปหาเซ็นเซอร์รับภาพได้ การสะบัดนี้แหละ ทำให้กล้องสั่นได้ ซึ่งก็ส่งผลกับความชัดของภาพ(แม้จะเล็กน้อยก็ตาม) กอปรกับแรงกดชัตเตอร์ก็มีผลด้วย ดังนั้นระบบนี้จึงเกิดขึ้นมเพื่อช่วยช่างภาพมืออาชีพโดยเฉพาะ โดยเมื่อเราใช้โหมดนี้แล้วกดชัตเตอร์ กล้องจะสะบัดกระจกขึ้นก่อน แล้วหน่วงเวลาไว้ 2 วิ ก่อนที่จะเปิดม่านชัตเตอร์ ทำให้ไม่เกิดแรงสะเทือนขึ้นเลย (โอวว พระเจ้ายอด มันจอร์จมาก)

14.ระบบเช็คชัดลึก อันนี้จะเป็นปุ่มเช็คระยะชัดลึกของภาพ โดยเมื่อกดแล้วกล้องจะทำการเปิดรูรับแสงตามที่เราตั้งไว้ขณะนั้น ทำให้เราเห็นภาพว่าออกมาแล้วจะชัดลึกแค่ไหน(ถ้าไม่เข้าใจ แนะนำให้อ่านเรื่อง Depth of field ที่ผมทำไว้)

15.ระบบสี คือช่วงความกว้างของสีที่ครอบคลุมถึง โดยทั่วไปกล้องจะมีให้เลือก 2 แบบ คือ Adobe RGB และ sRGB ต่างกันอย่างไร ดูรูปเอาเข้าใจง่ายกว่า




ร่ายยาวเลยตอนนี้ หมดยังหว่า คิดว่าคงหมดแล้วนะ ไว้แค่นี้แล้วกัน ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมไว้ตอนหลังแล้วกัน

ขอขอบคุณเวป rpst-digital.org เป็นอย่างสูงสำหรับความรู้ทั้งหมด ที่ผมได้เรียนรู้ แล้วยังอนุญาตให้ผมนำมาลงให้เพื่อนๆ ได้ดูกันด้วย




 

Create Date : 24 ธันวาคม 2548    
Last Update : 25 ธันวาคม 2548 12:22:59 น.
Counter : 1258 Pageviews.  

Basic 1st ~~ Light to Pixels ~~

ตอนแรกกะว่าจะไม่ลงเรื่อง Basic เพราะคิดว่าหาอ่านที่อื่นได้ แต่เอาเข้าจริงๆ ก็แนะนำคนที่ถามแบบเจาะลงไปเลยไม่ได้ว่าที่ไหน เพราะตัวเองก็ลืม แล้วก็รู้สึกว่าหลายๆ ที่น้ำจะเยอะ(ตัวเองรู้สึกไปเองมั้ง) ก็เลยคิดว่าจะสรุปเอาไว้ใน blog ตัวเองด้วยดีกว่า จะได้สะดวกที่สุด ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่ได้ถ่ายเก่งหรอก เพื่อนๆ ไปเที่ยวด้วยกันที่เคยถ่ายไม่เป็นมาถามผม ตอนนี้ เก่งกว่าผมกันหมดแล้ว (-_-')

เกริ่นซะยืดยาว เดี๋ยวก็เป็นน้ำเยอะอย่างที่ว่าเขาหรอก มาเข้าเรื่องเลยดีกว่า

คงต้องเริ่มจากกระบวนการเกิดภาพก่อน เริ่มจากแสงจากดวงอาทิตย์(เริ่มซะไกลหลายปีแสงเชียว) หรือที่อื่นๆ เช่น หลอดไฟ แฟลช เทียน สาดแสงส่องลงมา กระทบผิววัตถุ จากนั้นก็สะท้อนออกมาผ่านเลนส์ แสงก็จะหักเหแล้วรอดผ่านรูรับแสงไปกระทบกับ CCD หรือ CMOS (ต่อไปขอเรียกแค่ CCD แล้วกัน ง่ายดี) แล้ว CCD ก็จะทำการอ่านค่าแสงนั้นแล้วแปลงออกมาเป็นสัญญาณ Digital

แสง --> สะท้อนจากวัตถุ --> ผ่านเลนส์ --> ผ่านรูรับแสง --> CCD --> 0010011100101.....

ซึ่งใน CCD นี้จะแบ่งเป็นจุดเล็กๆ หลายล้านจุด (ก็ตามที่โฆษณาแหละ) แต่ละจุดก็จะรับแค่แสงในจุดพื้นที่หนึ่งแล้วแปลงมาเป็นสัญญาณดิจิตอล เฉพะจุดนั้นเพียงค่าเดียว แล้วก็จะมีหน่วยประมวลผล ทำหน้าที่แปลงสัญญาณดิจิตอลนั้นออกมาเป็นจุดสี จุดสีนี้ก็จะมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสเรียกว่า Pixel

ซึ่งเมื่อ Pixel หลายๆ อัน มาต่อกันตามตำแหน่งของมัน เราก็จะได้มาเป็นภาพ ดิจิตอล



ดังนั้นเมื่อเราพูดถึงภาพขนาด 1 Mpixel เราก็จะหมายถึงภาพนั้นมีความละเอียด 1 ล้านจุด ซึ่งมาจากความละเอียดด้านแนวตั้ง และความละเอียดด้านแนวนอน เช่น 1000 * 1000 Pixels

ซึ่งภาพขนาดนี้ ถ้าเอาไปอัดแบบมาตรฐานก็จะได้ ขนาดประมาณ 3*3 นิ้ว แต่ถ้าถามว่าเอาไปอัดให้ใหญ่กว่านี้ได้ไหม ก็ต้องบอกว่า ได้ แต่ภาพก็จะไม่ละเอียด เท่านั้นเอง เพราะว่ามันโดนเครื่องพิมพ์ขยายออกมา ดังรูป



ขอจบเรื่องเบื้องต้นของการถ่ายภาพตอนแรกไว้เท่านี้ก่อนดีกว่า อู้งานมานานแล้ว

ขอขอบคุณเวป rpst-digital.org เป็นอย่างสูงสำหรับความรู้ทั้งหมด ที่ผมได้เรียนรู้ แล้วยังอนุญาตให้ผมนำมาลงให้เพื่อนๆ ได้ดูกันด้วย




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2548    
Last Update : 19 ธันวาคม 2548 15:51:39 น.
Counter : 863 Pageviews.  

Depth of Field , Hyper Focus & Circle of Confusion

เรื่องแรกที่ทำในส่วนของการถ่ายรูปจะยากไปป่าวหว่า แต่คิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับคนถ่ายรูปพอสมควรเลย ก็เลยอยากเริ่มด้วยเรื่องนี้แหละ หลายๆ คน ที่ชอบถ่ายภาพ ก็คงชอบที่จะถ่ายแบบหน้าชัดหลังเบลอ เพื่อให้ Subject ดูเด่น เรื่องที่ผมจะพูดถึงก็เกี่ยวกับหน้าชัดหลังเบลอโดยตรงเลยล่ะ

มาเริ่มเลยดีกว่า

ก่อนอื่นขอพูดถึงหลักการเดินทางของแสงว่าก่อนที่จะมากระทบฉากหลังที่รับแสง(ฟิล์มหรือCCD) นั้น แสงจะเดินทางจากวัตถุ ผ่านมายังเลนส์ แล้วลอดผ่านรูรับแสงแล้วจึงมากระทบกับฉากหลัง ออกมาเป็นภาพถ่าย

ทีนี้มาทำความรู้จักความหมายของแต่ละคำกันก่อน (ไม่รู้คำอย่างเป็นทางการนะ เพราะไม่ได้เรียนโดยตรง อาศัยครูพักลักจำเอาน่ะ)

Depth of Field (DoF) ก็คือระยะชัดลึกจากจุดที่ใกล้สุดที่เริ่มชัดจนถึงไกลสุดที่ชัด โดยในทางปฏิบัติเรารู้กันว่าขึ้นอยู่กับขนาดของรูรับแสง

Circle of Confusion (CoC) (อันนี้อธิบายยากแฮะ) ถ้าแปลตามตัวอักษรก็แปลว่า วงกลมของความสับสน แต่แปลแล้วงง เหอๆ อธิบายอย่างนี้ดีกว่า
ก็คือ หลังจากแสงจากวัตถุที่ผ่านเลนส์มา เลนส์ก็จะทำหน้าที่รวมแสงไปที่จุดโฟกัส ซึ่งจะมีลักษณะเป็นจุด(dot ไม่ใช่ point)ที่ระยะโฟกัสของระนาบวัตถุนั้นซึ่งเป็นจุดที่มีขนาดและพื้นที่ และระยะก่อนหรือหลังระยะโฟกัส แสงตรงจุดนั้น ก็จะเริ่มมีขนาดขยายออกเรื่อยๆ ซึ่งจุดของแสงนี่แหละ ที่เราเรียกว่า Circle of Confusion


ซึ่งด้วยตาของเรานั้น CoC ต้องใหญ่ประมาณนึงก่อนถึงเรียกว่าเบลอ ดังนั้นเราจึงมองเห็นระยะชัดอยู่ช่วงหนึ่ง นั่นก็คือที่มาของ Depth of Field ซึ่งการที่เราปรับขนาดของรูรับแสง ก็จะส่งผลต่อขนาดของ CoC คือยิ่งแคบก็ยิ่งเล็ก ส่งผลให้ภาพก็ยิ่งชัดลึก และส่งผลให้ภาพคมขึ้นด้วย

แต่ว่าทำไมเรากลับเจอที่บอกว่าเลนส์จะคมที่สุดที่รูรับแสงแค่ช่วงนึงซึ่งไม่ใช่ที่แคบที่สุดล่ะ
อันนี้ต้องบอกว่ามันเป็นค่า Error ที่เกิดจากการฟุ้งของแสง หลังจากผ่านรูรับแสง ซึ่งมื่รูรับแสงแคบขึ้น % ของการฟุ้งจะมากขึ้นไปด้วย(ปริมาณการฟุ้งอาจเท่าเดิมแต่เมื่อเทียบเป็นอัตราส่วนกับรูรับแสงแล้วจะถือว่าสูงขึ้น)
ดังนั้นจะพบว่าเลนส์ส่วนใหญ่จะมีช่วงชัดสุดอยู่ที่รูรับแสงราวๆ f/9 – f/16


ต่อมา เราจะมาพูดถึง Hyper Focus (HF)
Hyper Focus ก็คือ เทคนิคการนำผลของ Depth of Field มาใช้ประโยชน์นั่นเอง แค่นี้ล่ะ แหะๆ
แต่เอามาใช้ยังไงนี่สิ ต้องมาดูวิธีใช้กัน


โดยหลักการของ HF แล้ว จะมีสูตรอยู่ว่า "ช่วงความชัดด้านหลังจุดที่เราโฟกัสจะมีระยะทางเป็นสองเท่าของช่วงความชัดด้านหน้าจุดที่เราปรับโฟกัส" แต่ในทางปฏิบัติของการใช้ มันก็ไม่ได้ไปมองมันเท่าไหร่
การใช้ HF จะมีสเกลที่ดูได้ง่าย ในเลนส์รุ่นเก่าๆ



จากรูปจะเห็นว่า มีตัวเลขที่ขีดสีเหลืองอยู่ ซึ่งขีดและตัวเลขนี้แหละจะเป็นสเกลที่บอกว่า ระยะชัดอยู่ตรงไหน
เช่นในรูป ถ้าใช้รูรับแสง f/11 ระยะชัดจะอยู่ที่ 4 ม. จนถึง infinity แต่ถ้าใช้รูรับแสง f/2.8 ระยะชัดจะอยู่ที่ราวๆ 7.5 ถึง 15 ม.

ทีนี้มาดูการใช้ HF
เราก็ต้องเริ่มมาดูก่อนว่า เราต้องถ่ายให้ชัดจากระยะไหนถึงไหน เช่น กอหญ้าอยู่ที่ 0.8 ม. จนถึง ภูเขาที่ infinity
จากนั้นเราก็มาหมุนปรับโฟกัสที่เลนส์ ให้ตรงกลางระหว่าง 0.8 กับ inf อยู่ตรงกับขีดกลาง แล้วเราก็ดูว่าที่ 0.8 กับ inf นั้น ตรงกับเลขอะไร
แล้วเราก็ปรับรูรับแสงไปที่ค่านั้น แล้วก็ถ่าย เราก็จะได้ภาพที่ชัดตั้งแต่ 0.8 – inf ดังรูป



นอกจากนั้นเรายังสามารถเพิ่ม DoF ได้โดยใช้เทคนิคของ HF ด้วย
เช่น เราต้องการถ่ายภูเขาที่ inf ถ้าเราไปโฟกัสที่ inf ตาม



จะเห็นว่า ระยะชัดจะอยู่ที่ 1.5 ม. ถึง inf
แต่เราต้องการให้ชัดลึกกว่านั้น เราก็ทำการปรับระยะโฟกัสให้ที่ inf มาอยู่ที่สเกลของ f/16 เราก็จะได้ระยะชัดเพิ่มขึ้นเป็น 0.8 ม. ถึง inf ตามรูป



จบแล้วครับ

ปล.ขอแถมรูปเกี่ยวกับรูปนี้ให้ไปดูกันหน่อย หวังว่าจะทำให้เข้าใจเรื่อง CoC และ DoF มากขึ้น




ขอได้รับความขอบคุณจ้า น้า artwork แห่งห้องแป้นแตก@pantipสำหรับความรู้เรื่องนี้ แถมยืมรูปมาลงอีก แหะๆ
กระทู้อ้างอิง
//topicstock.pantip.com/camera/topicstock/O3696309/O3696309.html




 

Create Date : 18 ธันวาคม 2548    
Last Update : 18 ธันวาคม 2548 15:29:15 น.
Counter : 2817 Pageviews.  


Redrum
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สาวกแป้นแตก


Friends' blogs
[Add Redrum's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.