สัมมาทิฏฐิ มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น
![]() สัมมาทิฏฐิ มีเฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ยังมีความเชื่อตามๆ กันมาในชาวพุทธแบบที่ต้องปลอบใจตนเองว่า เพียงมีความเชื่อ ศรัทธาในเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ แค่นี้ก็ได้ชื่อว่า ตนเองมีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นหนึ่งในอริยมรรคแล้ว ทั้งๆ ที่ความจริงเป็นเพียงแค่พื้นฐานสำคัญของบุคคลที่ได้ชื่อว่า "เป็นคนดีศรีสังคม" เท่านั้น เพราะทุกศาสนานั้น ล้วนสอนให้ ละชั่ว ทำความดี บุคคลที่เข้าใจในความคิดที่ตกผลึกเหล่านี้ ส่วนใหญ่มักเป็นบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากรู้จักที่จะหลีกเลี่ยงสิ่งที่มาขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของตน เป็นบุคคลที่รู้จักรักษาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตน ด้วยการเปลี่ยนอารมณ์จากขุ่นมัว ให้ผ่องใสได้โดยนึกถึงบุญกุศล คุณงามความดี หรือสิ่งที่เป็นมงคล ซึ่งเป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปในทุกๆ ศาสนากระทำได้โดยไม่ยาก แต่ก็แปลกที่ยังมีบุคคลบางพวก ชอบกล่าวหาบุคคลที่มีความเห็นไม่ลงกับตนเองว่าเป็น "มิจฉาทิฏฐิ" ทั้งๆ ที่ตนเองก็ยังไม่มี "สัมมาทิฏฐิ" ที่ตรงต่ออริยมรรคเลย เมื่อพิจารณา "โอวาทปาติโมกข์" ที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงในวันมาฆะปุรณมีบูชา ดูว่าต่างไปจากศาสนาอื่นๆ ตรงไหน ๑.ละชั่ว ๒.ทำความดี ๓.ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากกิเลส (เครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย) ความแตกต่างนั้นอยู่ที่ข้อที่ ๓ ที่เป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งในการชำระจิตของตน แม้ปัจจุบันศาสนาอื่นๆ ที่มีอยู่ เริ่มเล็งเห็นความต่าง และได้เลียนแบบไปบ้างแล้ว แต่ถึงจะเลียนแบบยังไง ถ้ายังเข้าไม่ถึงสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ แล้ว คงยากที่จะได้ "สัมมาทิฏฐิ" เพียงแค่ศึกษาลูบคลำตำรับตำราแบบที่ชาวพุทธในปัจจุบันเข้าใจกัน แล้วคิดไปว่าตนเองรู้ซึ้งถึงสัมมาทิฏฐิในอริยมรรค ต้องถือว่าคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ถ้าเชื่อว่าการเข้าถึงอริยมรรคได้ง่ายๆ แบบที่รู้ๆ กันจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์นั้น ขอบอกตามตรงได้เลย เป็นเพียงการให้กำลังใจของพ่อแม่ครูบาจารย์เท่านั้น สรุปสุดท้ายนี้ ขอยกเอาพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ดังนี้ "ดูกรวัจฉะ ควรแล้วที่ท่านจะไม่รู้ ควรแล้วที่ท่านจะหลง เพราะว่าธรรมนี้ เป็นธรรมลุ่มลึก ยากที่จะเห็น ยากที่จะรู้ สงบระงับ ประณีต ไม่ใช่ธรรมที่จะหยั่งถึงได้ด้วย ความตรึก ละเอียด บัณฑิตจึงจะรู้ได้" เมื่อรู้ความจริงดังที่มีพระพุทธพจน์รจนาไว้ จงช่วยกันถนอมรักษาให้ดี อย่าปล่อยให้ความมักง่าย สบายๆ ลัดสั้น มาเป็นเครื่องกั้นความหลุดพ้น ที่สามารถค้นหาได้ในตนเอง เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน ธรรมภูต ดูกายดูใจแบบไหนที่ถือว่า "ผิด" ...
![]() ดูกายดูใจแบบไหนที่ถือว่า "ผิด" ไปจากความเป็นจริง ดูกายดูใจแบบไหนที่ถือว่า "ผิด" ไปจากความเป็นจริง เมื่อมีที่ผิดแสดงว่าการดูกายดูใจแบบที่ถูกต้องตามความเป็นจริงย่อมมีอยู่เป็นของคู่กัน (ทิวนิยม) บริบทในเรื่องการ "ดูกาย" นี้เป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่หมายถึงกายที่มีรูปร่างให้จับต้องได้ แต่เป็นกายในกายที่เป็นภายใน ที่เรียกว่า อทิสมานกาย, นามกาย หรือทิพยกาย คือ กายทิพย์ เป็นกายในกายที่ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ทุกรูป-นามที่ยังมีชีวิตินทรีย์ เป็นกายที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิด การ "ดูกายดูใจ" ที่เป็นเรื่องกำลังฮอตฮิตติดตลาดในหมู่นักปฏิบัติธรรมรุ่นใหม่ เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องง่าย สบายๆ และลัดสั้น ไม่ต้องเพียรเพ่งฌาน ทำเป็นรูปแบบก็พอ เพียงตื่นรู้ไหลไปตามความคิด แล้ว "สติ" จะเกิดขึ้นเองได้นั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ การสะดุ้งรู้ตัวว่าเผลอ ไม่ใช่สติ แต่เป็นเพียงสัญญาอารมณ์ที่รู้ว่าเผลอ ไม่ใช่ "สัมมาสติ" ในอริยมรรค การดูกายดูใจแบบที่สอนกันอยู่นั้น เป็นการฝึกสั่งสมอบรมระวัง "สังวรสำรวมอินทรีย์" ให้มากขึ้น เพื่อให้กาย-ใจพร้อมเหมาะสมกับการ "ภาวนามยปัญญา" เพื่อให้รู้จัก "จิต" ที่แท้จริง เพื่อก้าวพ้นอาการของจิต หรือจิตสังขาร อันเป็นนามกายที่คอยปรุงแต่งกาย-ใจไปต่างๆ นานา เราเปรียบ "กาย" เหมือนบ้านที่ได้อาศัย เราคือจิตที่เข้ามาอาศัยร่างกายนี้อยู่ มีช่องทางรับรู้อารมณ์ทั้งภายนอกภายในอย่างละ ๖ ช่องทาง-คู่กัน แต่ละช่องทางนั้น ล้วนรับอารมณ์มาลงที่ใจ เพราะใจเป็นช่องทางรับอารมณ์ของ "จิต"... มีพระพุทธพจน์รับรองชัดเจนว่า "มโน(ใจ)" ไม่ใช่ "จิต" สรุปสุดท้ายว่า เมื่อไม่มีพื้นฐานการ "ภาวนามยปัญญา" เพื่อเข้าถึงกายในกาย(จิต) การดูกายก็ติดอยู่เพียงหนังที่หุ้มอยู่ ดูใจก็ติดอยู่ที่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิด นานวันเข้ารู้สึกเบากาย-เบาใจ เกิดจากความคุ้นชิน(เฉย)ต่ออารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้น ฉลาดแบบโลกๆ รู้จักการเปลี่ยนอารมณ์ความนึกคิดของตนไปในทิศทางที่ชอบ ที่ดี ที่เป็นกุศลเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการปล่อยวางอารมณ์ ส่วนการดูกาย-ดูใจที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ท่านได้สอน มักต้องปูพื้นฐานในด้าน "ภาวนามยปัญญา" หรือ "กรรมฐาน" ให้รู้จักฐานที่ตั้งของสติ(สติปัฏฐาน)เกิดขึ้นก่อน ทำให้การดูกาย-ดูใจนั้น เข้าถึง กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เมื่ออยู่เป็นสุขด้วยนามกาย (สัมมาสมาธิฌานที่ ๓) รู้จักละสุขนั้น มาที่อุเบกขา สติปาริสุทธิง (สัมมาสมาธิฌานที่ ๔) จิตบริสุทธิ์ มีสติกุมเฉยอยู่ เป็นตทังควิมุตติ (หลุดพ้นช่วยคราว) เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน ธรรมภูต จิต คือ ตน
![]() จิต คือ ตน ทำไมจิตคือตน ถ้าจิตไม่ใช่ตน (อนัตตา) จะมีจิตที่เป็นธาตุรู้ไปเพื่ออะไร? แม้ในพระสูตรต่างๆ ที่ได้กล่าวถึงเรื่องรูป-นาม (ขันธ์ ๕) จะกล่าวถึงเฉพาะ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่านั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตนของเรา เป็นอนัตตาธรรม ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน เมื่อมีที่ "ไม่ใช่" ที่ "ใช่" ก็ต้องมี เพราะเป็นของคู่กัน (ทวินิยม) ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในสังขารทั้งหลาย ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมสิ้นกำหนัด เพราะสิ้นกำหนัด จิตก็พ้น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็รู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี". (อนัตตลักขณสูตร) สภาพธรรมเดิมของ "จิต" คือ ธาตุรู้ ผู้รู้ ในพระอภิธรรมปิฎก (ตำรา) ได้นิยาม "จิต" ไว้ว่า มีหน้าที่ รู้ จำ นึก คิด ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่จิตได้เข้ามาอาศัยอยู่ในโลกแล้ว สภาพเดิมของ "จิต" ในพระสูตรนั้นกล่าวไว้ว่า จิตเป็นเพียง "ธาตุรู้" เมื่อถูกอวิชชาครอบงำจิต จิตก็รู้ผิดไปจากความเป็นจริง นั่นคือ เมื่อรับรู้เรื่องอะไร มักมีอุปาทาน-ยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์เหล่านั้นไปเสียหมด จิตแบบนี้มักวุ่นวาย สับสน ซัดส่าย หวั่นไหวไปมา พึ่งพาอาศัยไม่ได้ ไม่ใช่ตน เพราะถูกอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เข้ามาปรุงแต่ง ครอบงำอยู่ อะไรล่ะที่เรียกว่า "ตนหรือที่พึ่ง" พอพูดถึงตน คนทั่วไปมักจินตนาการไปเองเรียบร้อยว่า ต้องเป็นอะไรที่มีตัวตน จับต้องได้ มีรูปร่างให้มองเห็นเท่านั้น ทั้งๆ ที่คำว่า "ตน" มีความหมายหลายนัยยะ เช่น นัยยะที่แปลว่า "ที่พึ่ง ที่อาศัย" อย่างคนโบราณมักสอนลูกหลานว่า "เมื่อไหร่เอ็งถึงจะเป็นตัวเป็นตนสักที" ทั้งๆ ที่ผู้ถูกกล่าวถึงก็นั่งหัวโด่อยู่ตรงหน้า แต่กลับถูกถามว่าเมื่อไหร่จะเป็นตัวเป็นตน เป็นเรื่องแปลกมั้ย? ไม่เลย เพราะเราเข้าใจได้ว่า สิ่งที่ผู้หลักผู้ใหญ่กล่าวถึงนั้น คือ ความรับผิดชอบต่อชิวิตตนเองและผู้อื่น นั่นหมายถึง ขณะเวลานั้นจิตใจของผู้ถูกกล่าวถึง ยังหลงไหลไปอยู่กับอารมณ์ความรู้นึกคิดปรุงแต่งรอบข้าง ไม่สนใจที่จะรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น จึงพึ่งพาอาศัยไม่ได้ ต่อเมื่อกลับจิตกลับใจ ใช้ "สติ" พิจารณาว่าอะไรควรหรือไม่ควรได้แล้ว นั่นแหละ จึงได้ชื่อว่า "เป็นตัวเป็นตน" อะไรล่ะที่ได้ชื่อว่า "เป็นตัวเป็นตน" ถ้าไม่ใช่ "จิต" เพราะจิตเป็นนาย คอยสั่งการในเรื่องราวต่างๆ ให้ร่างกายที่จิตเข้ามาอยู่อาศัยนั้น ทำตามความประสงค์ของตน ดังมีพระสูตรกล่าวไว้ดังนี้ "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง มีธรรมเป็นเกาะ มีธรรมเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งอยู่ อย่างนี้แล ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวไปในโคจรซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในโคจร ซึ่งเป็นวิสัยอันสืบมาจากบิดาของตน มารจักไม่ได้โอกาส มารจักไม่ได้อารมณ์ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุญนี้เจริญขึ้นอย่างนี้ เพราะเหตุถือมั่นธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล ฯ" ยังมี "พระพุทธภาษิต" ที่ได้ทรงตรัสไว้ "จิตที่อบรมดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้" แสดงให้เห็นว่า จิตของตนสามารถฝึกฝนอบรมให้รู้ถูก ที่เรียกว่า รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง จิตไม่เคยดับตายหายสูญ ส่วนที่ต้องตายหายสูญไปนั้นเป็นรูปร่างกายที่จิตอาศัยในแต่ละภพชาติ มีพระบาลีตรัสไว้ดังนี้ "จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะไม่เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้" บุคคลที่ได้ชื่อว่า บัณฑิต ตามพระบาลีธรรมบท ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ย่อมต้องฝึกฝนตนคือ จิต "ปริโยท เปยฺย อตฺตานํ จิตฺตกิเลเสหิ ปณฺฑิโต บัณฑิตพึงชำระตนคือจิต ให้บริสุทธิ์ปราศจากกิเลส" เมื่อได้ยินคำว่า "บัณฑิต" ผู้คนทั่วไปมักเข้าใจว่าต้องเป็นบุคคลที่มีการศึกษาสูง เพราะเคยเห็นป้ายผ่านตามาบ่อยๆว่า "ยินดีต้อนรับบัณฑิตใหม่" จึงเข้าใจว่า ต้องจบปริญญาตรี โท เอก หรือ มีปริญญาหลายใบต่อกันไปยาวเป็นหางว่าว ทั้งที่บุคคลเหล่านั้นยังถูกอาบย้อมไปด้วย อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ยังหวั่นไหวไปตามอารมณ์กิเลสความรู้สึกนึกคิดต่างๆ มีตัวอย่างเมื่อนานมาแล้ว บุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นด็อกเตอร์ มีปริญญาหลายใบ บรรลุแก่โทสะ คว้าไม้กอล์ฟกระหน่ำตีภรรยาด้วยขาดสติ จนถึงแก่ชีวิต เมื่อถูกนักข่าวถามว่า มีเจตนาทำให้เสียชีวิตหรือไม่? ได้คำตอบว่าไม่เลย เพียงแต่ตีแรงไปหน่อยไม่นึกว่าจะเสียชีวิต สรุปสุดท้ายว่า จิต คือ ตนนั้น เป็นจิตที่เราพึ่งพาอาศัยได้ ไม่ออกนอกลู่นอกทาง จิตแบบนั้นเป็นจิตที่ทรงคุณค่าควรกราบไหว้ ส่วนจิตที่ไม่ใช่ตน (อนัตตา) นั้น ย่อมเป็นจิตที่หลงไหลได้ปลื้มไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้น มักแสดงอาการของจิตออกมาในรูปของ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดเป็นอนัตตา พวกเธอพึงละสิ่งนั้นเสีย" แล้วอย่าคะเน (วินิจฉัย) ไปเองว่า แม้พระนิพพานก็เป็นอนัตตา เพราะย่อมขัดแย้งกับพระบรมศาสดา ที่ทรงกล่าวไว้ว่า "ภิกษุมีตนเป็นเกาะ มีตนเป็นที่พึ่ง ไม่มีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่ง" ดังนี้ เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน ธรรมภูต การฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมโดยฉับพลัน จริงหรือ???
![]() การฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมโดยฉับพลัน จริงหรือ??? การฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมโดยฉับพลันที่เกิดขึ้นในครั้งพุทธกาล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริง ย่อมต้องมีเหตุมีผลรองรับในการที่บรรลุอย่างฉับพลันนั้น เสมือนบุรุษผู้ฝึกม้ามาอย่างโชกโชนชำนาญแล้ว สามารถปราบพยศม้าที่เจอหน้ากันครั้งแรกได้ฉันใด เช่นเดียวกับบุคคลผู้ฝึกฝนอบรมจิตที่ได้สั่งสมมาอย่างพากเพียรชำนาญในการเข้าออกรูปฌาน-อรูปฌานจนเป็นวสี เมื่อพบเจอสัมมาฌาน(สัมมาสมาธิ) ย่อมเข้าถึงและบรรลุได้โดยฉับพลันฉันนั้นเช่นกัน ย่อมเชื่อถือเรื่องนี้ได้อย่างหมดหัวใจ แบบไม่ต้องสงสัย ถ้าเราเชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นบุคคลแรกที่บรรลุธรรมฉับพลันด้วยการทำสัมมาสมาธิเพียงครั้งเดียวในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ ใต้ต้นสาระ ... แต่ก่อนหน้านั้น พระพุทธองค์ได้ทรงเพียรอบรม "จิต" มาอย่างยิ่งยวด พากเพียรอย่างมากมายมาหลายภพหลายชาติ โดยเฉพาะพระชาติสุดท้ายที่จะเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยแล้ว ทรงออกแสวงหาโมกขธรรมจากครูบาอาจารย์ทั้งหลาย โดยเฉพาะอาจารย์อาฬารดาบส อาจารย์อุทกดาบล ที่มีความชำนาญอย่างยิ่งในอรูปฌานที่ ๗ และ ๘ เมื่อพระพุทธองค์ทรงเข้าสำนักท่านไป เพียงแค่ฟังครั้งเดียวก็ทำได้ชำนาญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอาจารย์เลย "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อมาไม่นาน เราเรียนธรรมนั้นได้รวดเร็ว ชั่วขณะหุบปากเจรจาปราศรัยเท่านั้น เราก็กล่าวญาณวาทและเถรวาทได้" จนอาจารย์ออกปากชมและชวนให้อยู่ช่วยสอนในสำนัก "ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาฬารดาบส กาลามโคตร อุทกดาบส รามบุตร ทั้งที่เป็นอาจารย์ของเรา ก็ยกย่องเราผู้เป็นศิษย์ให้สม่ำเสมอกับตน และบูชาเราอย่างโอฬาร ด้วยประการฉะนี้" เมื่อตอนสำเร็จเป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใหม่ๆ ทรงเล็งพระญาณว่าจะมีใครบรรลุธรรมได้บ้าง ทรงระลึกถึงอาจารย์ทั้งสอง "พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระดำริว่า เราจะพึงแสดงธรรม แก่ใครก่อนหนอ ใครจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน ครั้นแล้วทรงพระดำริต่อไปว่า อาฬารดาบส กาลามโคตร,อุทกดาบส รามบุตรและนี้แลเป็นผู้ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีคือกิเลสในจักษุน้อยเป็นปกติมานาน ถ้ากระไร เราพึงแสดงธรรมแก่อาฬารดาบส กาลามโคตร,อุทกดาบส รามบุตรก่อน เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้ได้ฉับพลัน" พระพุทธองค์ทรงได้ออกปากกล่าวไว้ว่า อาจารย์ทั้งสองได้ "ฉิบหาย" ไปจากกุศล (ธรรม) อันยิ่งใหญ่แล้ว เพราะถ้าเพียงแค่ได้ฟังจากพระพุทธองค์ก็บรรลุธรรมได้โดยฉับพลัน แต่ในปัจจุบันมักชอบมีการแอบอ้างการบรรลุธรรมแบบฉับพลัน ทั้งที่ขาดเหตุผลมารองรับ ผู้ฟังก็มักเชื่อเพียงเพราะเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ บุคลิกดี พูดจาไพเราะ แอบอ้างพ่อแม่ครูบาอาจารย์มารับรองตน มักอ้างในสิ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ เช่น มีบุญเก่าสั่งสมมาแล้วหลายภพหลายชาติ ทั้งๆ ที่ในชาติปัจจุบันที่รู้อยู่เห็นอยู่ตำตา ยังไม่สามารถอธิบายเรื่องการปฏิบัติธรรมกรรมฐานสัมมาสมาธิได้อย่างถูกต้อง เพียงอาศัยอ้างปัญญาที่ตนเองมี ฉลาดในการพูดเท่านั้น ก็บรรลุได้นั้น เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ เพราะขาดเหตุผลอย่างยิ่ง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับพระพุทธองค์ที่ทรงบรรลุธรรมในพระชาติสุดท้ายที่ต้องพากเพียรด้วยความยากลำบากแล้ว ดูเหมือนบุคคลที่แอบอ้างเหล่านั้นได้ลบหลู่ภูมิปัญญาของพระพุทธองค์ว่าด้อยกว่าตนเองเสียอีก ...เวรกรรมมีจริง ธรรมใดถ้าไม่ทำก็ไร้ค่า เจริญในธรรมทุกๆท่านครับ ธรรมภูต วิสาขบูชาพาหลุดพ้น
![]() น้อมถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันวิสาขบูชา ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ล้วนมีวันประสูติ วันตรัสรู้ วันปรินิพพาน เกิดขึ้นในวันเดียวกัน และทุกๆ พระองค์ล้วนทรงสอนธรรมเพื่อความหลุดพ้นจากทุกข์เช่นเดียวกัน ทรงสอนหัวใจพระพุทธศาสนาเหมือนกันทุกๆ พระองค์ เราชาวพุทธย่อมรู้ดีว่า หัวใจพระพุทธศาสนานั้นมีอะไรบ้าง ท่องจำกันจนขึ้นใจและตอบได้คล่องปาก แต่กลับนำไปปฏิบัติได้ไม่ครบทุกข้อ ส่วนใหญ่แล้วปฏิบัติกันเพียงข้อ ๑ และข้อ ๒ เท่านั้น ก็คิดกันไปเองว่าพอเพียงแล้วสำหรับการปฏิบัติธรรมนำไปสู่ความหลุดพ้น แค่นี้ก็ได้ชื่อว่าเป็นคนดีศรีสังคมเหนือบุคคลอื่น บางคนยังหลงภูมิอกภูมิใจในความดีที่ติดอยู่นั้น และพากันมองเมินในข้อ ๓ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ด้วยความเกียจคร้านที่จะลงมือปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อประคองจิตของตนอย่างจริงจังนั่นเอง เพราะเรื่องปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เหมือนยาขมเป็นความยากลำบากสำหรับปุถุชนคนกิเลสหนา จิตไม่มีกำลังเพียงพอที่จะปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เป็นกิเลสแขกจรเข้ามา ทำให้จิตของตนถูกครอบงำและหลงใหลไปตามอารมณ์อุปกิเลสที่เป็นแขกจรเหล่านั้นได้ง่าย แต่กลับหลงใหลได้ปลื้มไปกับภูมิรู้ ภูมิธรรมที่เกิดจากสุตะ จินตะ เป็นความรู้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในจิตของตน เป็นเพียงภูมิรู้ ภูมิธรรมที่เกิดจากความคิดที่นำไปคิดแล้วคิดเล่าเฝ้าแต่คิด จนความคิดนั้นตกผลึก เป็น "สัญญา" ไม่ใช่ "ปัญญา" ที่แท้จริง โดยไม่เคยนำไปพิจารณาเปรียบเทียบกับผลที่เกิดขึ้นจริงเลย ...ฯลฯ... พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก ล้วนทรงสอนหัวใจพระพุทธศาสนา เหมือนกันหมดทุกๆ พระองค์ดังนี้ ๑.สพฺพปาปสฺส อกรณํ คือ การไม่ทำบาปให้เกิดขึ้นด้วยประการทั้งปวง ๒.กุสลสฺสูปสมฺปทา คือ การทำกุศลให้ถึงพร้อม ๓.สจิตฺตปริโยทปนํ คือ การชำระจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เอตํ พุทฺธาน สาสนํ นี่เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายทุกๆ พระองค์ สำหรับผู้ที่ได้เคยผ่านการปฏิบัติธรรมตามพระพุทธโอวาทมาอย่างจริงจัง ย่อมจะแยกออกได้ว่า ในพระพุทธศาสนานั้นมีแต่เรื่องของ "จิตกับอารมณ์" เท่านั้น ไม่มีอะไรอื่น นอกเหนือไปจากการสอนเรื่อง "จิตกับอารมณ์" นี้เลย ผู้ปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาย่อมเห็นได้เองว่า หัวใจพระพุทธศาสนาในข้อที่ ๑ และข้อที่ ๒ นั้น พระพุทธองค์ได้ทรงกล่าวถึงการให้ละความชั่ว ที่เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่จิตของตน ในฝ่ายอกุศล (อกุศลจิต) และการให้ทำความดี ที่เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นที่จิตของตน ในฝ่ายกุศล (กุศลจิต) ตามลำดับ ส่วนในข้อ ๓ นั้น พระองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า จิต ของผู้ปฏิบัติธรรม ย่อมชำระให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว ปราศจากอุปกิเลสทั้งหลาย (กุศลและอกุศล) ได้จริง และพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ก็ทรงตรัสสั่งสอนเช่นเดียวกัน ปัญหาหลักอยู่ที่ว่า เราจะปฏิบัติธรรมอย่างไร? จึงจะชำระจิตของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว หมดจดหลุดพ้นจากการถูกครอบงำด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่ทำให้จิตของตนเศร้าหมองลงได้ เหตุเพราะจิตของตนที่ยังไม่ได้อบรมฝึกฝนภาวนา เป็นจิตปถุชนคนกิเลสหนา มักชอบแส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปรู้รับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ และยึดถือเอาอารมณ์ความรู้สึกเหล่านั้นเข้ามาสู่จิตของตน จนเกิดความความเศร้าหมองขึ้นที่จิตนั่นเอง การปฏิบัติเพื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากอุปกิเลสเครื่องเศร้าหมองได้มากเพียงไร จิตของเราก็จะมีพลังอำนาจมากยิ่งขึ้นในการที่จะต่อสู้ฟาดฟันกับอุปกิเลสทั้งหลาย อันนี้คือผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเพื่อชำระจิตของตน ในข้อที่ ๓ แห่งหัวใจพระพุทธศาสนานั่นเอง มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า เดิมทีนั้น จิตมีสภาพประภัสสรผ่องใส ที่เศร้าหมองไป เหตุเพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง ผู้ที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนามาพอสมควร ย่อมรู้ดีว่ามีพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึง ทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ (คือผู้ที่ติดข้องในอารมณ์) ทั้งหลาย ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ หรืออริยมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง เมื่อยังมีผู้เดินตามทางนี้ (อริยมรรค ๘) อยู่ โลกย่อมไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์ ในการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น พระพุทธองค์ทรงกล่าวไว้ในมหาจัตตารีสักกสูตร ทรงเชิดเอา สัมมาสมาธิ เป็นใหญ่เป็นประธานในอริยมรรคทั้งหลาย สัมมาสมาธิของพระอริยมีองค์ประกอบอีก ๗ องค์ ทรงยกให้สัมมาทิฐิ (การรู้เห็นตามความเป็นจริง) เป็นใหญ่เป็นประธาน องค์แห่งสมาธินั้น ประกอบไปด้วย สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ นั่นคือ เมื่อทั้ง ๓ องค์ทำหน้าที่ร่วมกัน จิตย่อมรวมตัวลงสงบเป็นสมาธิ ตั้งมั่นชอบโดยลำพังตนเองได้ โดยไม่ต้องอิงอาศัยอารมณ์ใดๆ ที่เป็นรูปฌาน และอรูปฌานเลย เมื่อได้พิจารณาองค์ประกอบแห่ง องค์สมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา) เทียบเคียงกับพระโอวาทซึ่งเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา (ละชั่ว ทำดี ทำจิตให้ผ่องแผ้ว) พิจารณาด้วยความรอบคอบไม่ประมาท จะเห็นว่าลงกันได้เป็นอย่างดี ดังรายละเอียด ต่อไปนี้ "สัมมาวายามะ" ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ -ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น-ไม่ให้เกิด -ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้หมดไป -ยังกุศลที่ยังไม่เกิด-ให้เกิดขึ้น -ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น เราพอจะเห็นเค้าเงื่อนได้ว่า องค์แห่ง "สัมมาวายามะ" นั้น เป็นการปฏิบัติตามหัวใจพุทธศาสนา ในข้อ ๑ ละบาปทั้งปวง (ละชั่ว) และข้อ ๒ สร้างกุศลให้เกิดขึ้น (ทำดี) "สัมมาวายามะ" ความเพียรชอบ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติภาวนาต้องมี เพราะเป็นองค์ประกอบสำคัญ เพื่อทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้ง่ายขึ้น และเพื่อให้เข้าถึงหัวใจพระพุทธศาสนาในข้อที่ ๓ ซึ่งต้องอาศัยองค์ธรรมอีกสององค์ประกอบด้วย คือ สัมมาสติ และ สัมมาสมาธิ (หรือ อธิจิตตสิกขา) "สัมมาสติ" ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต ธรรม หรือที่เรียกว่า สติปัฏฐาน ๔ คือ ฐานที่ตั้งของสติที่ต้องเจริญให้เกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่อง เนืองๆไม่ขาดสายในที่สุด โดยต้องเริ่มต้นด้วยการนั่งปฏิบัติธรรมสมาธิภาวนา อานาปานสติ พิจารณาจากกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า... เพื่อให้เข้าถึงจิตที่เป็นธรรมอันเอก ณ ภายใน ผุดขึ้นมาให้ประจักษ์ชัด สัมมาสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา เป็นเรื่องเดียวกัน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่ เธอบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เธอมีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌานที่พระอริยทั้งหลาย สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มี "สติ" อยู่เป็นสุข เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า สัมมาสมาธิ หรือ อธิจิตตสิกขา มีพระพุทธพจน์รับรองไว้อย่างชัดเจนว่า สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถา ภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว (สัมมาสมาธิ) ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ) ดังนี้ นั่นคือ เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างจริงจัง จากการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนามา จนจิตของตนมีฐานที่ตั้งสติ (สติปัฏฐาน) อย่างมั่นคงหรือมีกรรมฐานแล้ว ย่อมต้องคอยประคองจิตของตนไม่ให้แส่ส่าย กวัดแกว่ง กลอกกลิ้ง ดิ้นรน ฯลฯ ออกไปหาอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลาย ที่ทำให้จิตของตนเศร้าหมอง ยิ่งประคองจิตของตนได้มากเท่าไหร่ ยิ่งปล่อยวางอารมณ์ได้มากยิ่งขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งอันนี้ต้องอาศัยความเพียรอย่างยิ่งในการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาให้เกิดความชำนาญ เพื่อจะได้รู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) เมื่อมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว (สมาธิอบรมปัญญา) ก็อาศัยพลังปัญญาที่เกิดขึ้นจากการได้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น นำมาเพื่อปล่อยวางอารมณ์อุปกิเลสทั้งหลายออกไปจากจิตของตน (ปัญญาอบรมสมาธิ) สรุป พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ทรงอุบัติขึ้นมาในโลกนี้ ล้วนทรงสอนเรื่องอธิจิต (อธิจิตฺเต) เพื่อชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย โดยการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา (อธิจิตตสิกขา) เพื่อให้จิตเกิดปัญญา หลุดพ้นจากการครอบงำของอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน ไม่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสเป็นแขกจร เจริญในธรรมทุกๆท่านครับ ธรรมภูต |
ในความฝันของใครสักคน
![]() ![]() ![]() ![]() ![]() หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์ Group Blog All Blog
|
||
Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved. |