พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป
เรื่องพระสัทธรรมปฏิรูปนั้นมีมานานแล้ว ปัจจุบันปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุจากความเชื่อ ความศรัทธา ที่เชื่อศรัทธาตามๆ กันมา โดยขาดหลักเหตุผล ไม่มีการนำมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว

มีการปรารภเรื่องพระสัทธรรมจะเลือนหายไปนี้ไว้ล่วงหน้าแต่ครั้งพุทธกาล ที่พระมหากัสสปได้ทูลถามพระพุทธองค์ไว้ และมีพระพุทธวจนะทำนายไว้ ดังนี้

ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อม
เพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๑
ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑
ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ๑
ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ๑

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อม
เพื่อความฟั่นเฟือน เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรมฯ


เมื่อสิกขาบทได้ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามาอย่างมากมายในปัจจุบัน บัญญัติไปตามมติความรู้สึกนึกคิดขึ้นมาเอง กลับเป็นตัวทำให้พระสัทธรรมที่ถูกต้อง เที่ยงตรงตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ได้บิดเบือนเลือนลางหายไปทีละเล็กละน้อย และบุคคลผู้เข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริง (อริยบุคคล) กลับมีน้อยลงเป็นอย่างมาก จนน่าใจหาย น่าเป็นห่วง ต่อพระสัทธรรมที่ถูกบิดเบือนไป

มีความพยายามของผู้สอนรุ่นใหม่ๆ ได้ประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำที่บัญญัติขึ้นเอง เพื่อให้ฟังแล้วเป็นเรื่องสบายใจ เข้าถึงง่ายๆ และลัดสั้น ไม่ต้องลำบากลำบนในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานเพื่อให้เข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริง โดยมักอ้างว่าเป็นผู้มีปัญญาแต่ไม่มีเวลาที่จะปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา

คำสอนที่ปรากฎออกมามักเป็นไปในแนวให้กำลังใจเสียมากกว่า เช่น เพียงอาศัยความพยายามก็พอ ไม่ต้องเพียรเพ่งภาวนากรรมฐานใดๆ เพราะจะดูแข็งๆ ทื่อๆ จนกลายเป็น "อัตตกิลมถานุโยค" ไป ฯลฯ...

เมื่อได้มาพิจารณาตามพระพุทธวจนะ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงทำนายไว้ ก็เห็นจริงตามนั้น

๑.ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา

จะเห็นได้ว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ได้ลืมเลือนคำสั่งเสียที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ในอนาคตที่ว่า

"ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย
ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทน เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ฯลฯ"


จะเห็นได้ว่าปัจจุบันชาวพุทธกลับไปให้ความเคารพยำเกรงต่อภาพลักษณ์ รูปภาพ รูปปั้น รูปสมมุติต่างๆ ด้วยคำว่า "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่" ซึ่งเป็นเพียงความเชื่อ ความศรัทธา ที่เชื่อศรัทธาแบบตามๆ กันมา (งมงาย) ทั้งที่มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา (พระพุทธเจ้า)" ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย

๒.ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม

ข้อนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าชาวพุทธเคารพยำเกรงในพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริงแล้ว พระสัทธรรมจะไม่ปฏิรูปไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ทั้งๆที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันไว้อย่างรัดกุม อันมี "กาลามสูตร" ที่กล่าวถึง เรื่องราวความเชื่อต่างๆ ๑๐ ประการว่า

"อย่าปลงใจเชื่อ ให้ฟังและศึกษาด้วยดี ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข"

พระพุทธองค์ทรงเน้นให้สมาทาน (ปฏิบัติ) อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ทราบตามความเป็นจริง จนได้ผลออกมาว่า จิตของตนมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวง่าย ไม่ซัดส่ายไปมาตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่มากระทบ การสมาทานนั้นเป็นไปเพื่อการกำหนดรู้ว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์ นี่ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ นี่การดับทุกข์ แล้วค่อยเชื่อสิ่งที่ศึกษาและได้ยินได้ฟังมาก็ยังไม่สาย

๓.ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์

เมื่อกล่าวถึงพระสงฆ์แล้ว ย่อมมีข้อจำกัดเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ถูกพร่ำสอนให้เคารพยำเกรงในผ้ากาสาวพัสตร์ ส่วนมากมองข้ามพระธรรมคำสั่งสอน ต่อให้คนนุ่งเหลืองห่มเหลืองได้กระทำผิดหรือสอนผิดอย่างไร ถ้าไม่ใช่ถูกจับผิดในการกระทำผิดนั้นได้อย่างคาหนังคาเขา โอกาสรอดปลอดภัยมีมาก

ได้แต่รอให้ "ผลกรรม วิบากกรรม" เครื่องเศร้าหมองที่ได้กระทำไว้ มาจัดสรรเอง ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่า "เมื่อไหร่" สมมุติสงฆ์เหล่านั้น จึงยังอยู่รอดปลอดภัย ทั้งที่สอนผิดบิดเบือน จนพระสัทธรรมปฏิรูปไป

คำว่า "พระสงฆ์" นั้น คือผู้ซึ่งฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช เราเรียกว่า "สมมุติสงฆ์" หรือภิกษุ ต่อเมื่อนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ไปปฏิบัติตามด้วยความเพียรเพ่งพยายามอย่างจริงจังไม่ลดละ เข้าถึงธรรมแท้ เราเรียกว่า "อริยสงฆ์" หรือภิกษุอีกเช่นกัน

ในครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะนั้นมีพระอริยสาวกที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ ๖๐ รูป รวมพระองค์เข้าไปด้วยเป็น ๖๑ รูป ทรงเน้นออกไปสั่งสอนกุลบุตร กุลธิดา รูปละทิศ รูปละทาง อย่าไปซ้อนทางกัน ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

"พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น (ศีล)
งามในท่ามกลาง (สมาธิ)
งามในที่สุด (ปัญญา)"


"ศีล สมาธิ ปัญญา" สิกขา ๓ หรือที่เรียกว่า "อริยมรรคมีองค์ ๘"

วิถีแห่งอริยมรรค คือหนทางปฏิบัติเดียวที่จะกำจัดกิเลสและอุปกิเลสให้หมดสิ้น เป็นหนทางพ้นทุกข์เข้าสู่วิมุตติหลุดพ้น จิตสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติ "อริยมรรคมีองค์ ๘" อยู่ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์ ดังนี้

๔.ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา

ข้อนี้มีความสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ชี้ถูกชี้ผิดให้ จึงมีสิกขาบทใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามา ทำให้ "อริยะตราตั้ง" มีมากยิ่งขึ้น แต่ผู้เข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริงกลับน้อยลงมาก

"สิกขา" คือ ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อที่ต้องปฏิบัติ ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้บัญญัติ สิกขา ๓ (สมณสูตร)

"สิกขา ๓ นี้ ที่สิกขาบท ๑๕๐ นั้นรวมอยู่ด้วยทั้งหมดไว้ ดังนี้"

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ เป็นไฉน คือ
อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑


โดยเฉพาะอธิจิตตสิกขานั้น เป็นหลักใหญ่ หัวใจความสำคัญทางพระพุทธศาสนา

อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
บรรลุปฐมฌาณ มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เพราะวิตกและวิจารสงบไป จึงบรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย
สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อน ๆ ได้
จึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

นี้เรียกว่า อธิจิตตสิกขา


๕.ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ

เป็นข้อสรุปสุดท้ายที่ชัดเจนว่า เมื่อไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ แต่กลับไปยำเกรงในวิปัสสนา (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยไม่เอาสมาธิ บ้างก็เอาเพียงนิดหน่อยก็พอ ทั้งมีพระพุทธพจน์ทรงตรัสไว้ชัดเจนว่า

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"


บุคคลที่จะมีวิปัสสนาได้นั้น จำเป็นต้องมีสติจิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว จึงจะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ส่วนบุคคลที่มีจิตซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวายไม่ตั้งมั่น จะไปเอาวิปัสสนาปัญญา-รู้เห็นตามความเป็นจริงมาจากไหนได้

เนื่องจากไม่ยำเกรงในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ และสิกขาบทนั่นเอง ข้อที่ ๕ นี้ ก็ถูกมองเมินไปด้วยเช่นกัน แต่ในทางกลับกัน บุคคลใดที่ให้ความสำคัญในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพราะเคารพในสิกขา เข้าถึงอธิจิตตสิกขา (สัมมาสมาธิ) ย่อมหมดความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีวิปัสสนาปัญญา-รู้เห็นตามความเป็นจริงดังกล่าว

มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้แล ฯ
ภิกษุผู้มีความเพียร มีเรี่ยวแรง มีปัญญา เพ่งพินิจ
มีสติคุ้มครองอินทรีย์ พึงครอบงำทั่วทุกทิศ ด้วยอัปปนาสมาธิ
ประพฤติทั้งอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ฯลฯ

ภิกษุเช่นนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ
เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ถึงที่สุดของการปฏิบัติในโลก
ท่านผู้ประกอบด้วยวิมุตติอันเป็นที่สิ้นตัณหา ฃ
ย่อมมีจิตหลุดพ้นจากสังขารธรรม
เพราะวิญญาณดับสนิท เหมือนความดับของประทีป ฉะนั้น ฯ"


สรุปสุดท้าย พระพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำได้เพียงบางส่วน
ย่อมให้สำเร็จได้เพียงบางส่วน
ผู้ทำให้บริบูรณ์ ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์อย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสิกขาบททั้งหลายว่า ไม่เป็นหมันเลย ฯ"


"สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด
เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป
ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
ตราบนั้นทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป
และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น
ทองคำธรรมชาติจึงหายไปฉันใด
พระสัทธรรมก็ฉันนั้น
สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป"
สาธุฯ


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2559
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2560 13:57:49 น.
Counter : 732 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์